banner
พฤหัสบดี ที่ 24 เดือน กันยายน พ.ศ.2558 แก้ไข admin

ป่วยรักษาได้ เมื่อเป็นไทยแล้ว

 

คุณป้าท่านหนึ่งได้ขอความช่วยเหลือผ่านทางโรงพยาบาลศิริราช  เพราะตนเองขาดสิทธิในการรักษาพยาบาลฟรี เนื่องจากขาดหลักฐานแสดงว่าเป็นคนไทย ทาง รพ.ศิริราช  จึงได้ประสานมาที่มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก เพื่อขอความช่วยเหลือ

        หลังจากที่มูลนิธิฯได้รับแจ้ง ได้ลงพื้นที่สอบข้อเท็จจริง และได้ความว่า  ป้าแดงเกิดที่อำเภอเมือง  จังหวัดอุดร(ปัจจุบันเป็นอำเภอกุดจับแล้ว) แต่ได้ไปแจ้งชื่อตนเองว่า นางอารี...... เกิดวันที่  ๑๓  เมษายน  ๒๕๐๓  เรียนจบชั้น ม.ศ. ๓ ที่โรงเรียนกุดจับประชาสรรค์  ครั้นได้เช็คฐานข้อมูลแล้วไม่ชื่อดังกล่าว  จึงได้นัดป้ามาพบที่มูลนิธิฯ เพื่อที่จะเดินทางไปที่ จ.อุดรฯ ติดตามหาญาติพี่น้องและโรงเรียนที่ป้าเคยเรียน  

 เดินทางครั้งแรกในวันที่  ๑๐  มิ.ย. ๕๓  เมื่อเดินทางไปถึงอำเภอเมืองที่ป้าบอกว่ามารดาเคยมาอาศัยอยู่   ไปถึงบ้านพบแต่ลูกๆหลานๆ  ซึ่งมีคนรู้จักป้าน้อยมาก  จากนั้นจึงเดินทางไปที่อำเภอกุดจับ ที่ป้าบอกว่าเรียนหนังสืออยู่ที่โรงเรียนกุดจับประชาสรรค์ ในชั้น ม.ศ. ๑-๓  ผลปรากฏว่าค้นหาทางทะเบียนนักเรียน ค้นเท่าไหร่ก็ไม่เจอ

 เริ่มหมดความหวังแล้วหรือ ? ครูบุ๋มจึงให้กำลังใจว่า “ลองไปดูโรงเรียนที่ป้าเคยเรียนในชั้นประถมดูซิ....?  ใช้เวลาเดินทางประมาณชั่วโมงได้   ระหว่างเดินทางนั้นป้าก็ได้บ่นว่าคงไม่มีโอกาสแน่ๆเลย  พวกเราลงจากรถประจำทางเมื่อมาถึงโรงเรียนแห่งหนึ่งที่ป้าบอกว่าเคยเรียนอยู่ที่นั่น ป้าแสดงความดีใจออกมาแล้วบอกกับครูบุ๋มว่า “ให้ใช้ชื่อ  “แดง  ชินพะวอ ” ดูว่าจะเจอหรือเปล่า  เดินทางไปถึง ร.ร.พบกับอาจารย์ท่านหนึ่ง  ซึ่งป้าเองก็ไม่ทราบว่าเป็นอาจารย์ที่เคยสอนป้าในสมัยเด็ก และมีเพื่อนๆของป้านั่งคุยกันอยู่หลายคน ทุกคนมองมาที่ป้าแล้วพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “ใช่แดงหรือเปล่า”  ป้าตอบว่า “ใช่”   เริ่มมีความหวังแล้วซิป้า จากนั้นอาจารย์ จึงพาป้าไปพบกับท่านผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหัวขั้ว  เพื่อออกหลักฐานรับรองการศึกษา ให้กับป้าเพื่อที่จะไปดำเนินการขอเพิ่มชื่อ   อาจารย์บอกกับป้าแดงว่ามีญาติอยู่ใกล้โรงเรียนนะ  เป็นญาติทางมารดาที่เหลืออยู่  จึงได้พาพวกเราไปพบ   ระหว่างนั้นป้ารู้สึกตื่นเต้นมาก ไม่คิดว่าจะได้เจอกัน เพราะตนเองออกจากหมู่บ้านนี้ไปนานมาก 

 ภาพที่ได้เจอทุกคนสวมกอดกัน ร้องไห้   ทำให้ชาวบ้านแตกตื่นกัน   จากนั้นทางเจ้าหน้าที่งานทะเบียนได้นัดให้เจ้าบ้าน /ผู้ใหญ่บ้าน / อาจารย์ เพื่อที่จะนัดสอบปากคำเบื้องต้น  หลังจากนั้นทางเจ้าหน้าที่ฯ จึงให้ผู้ใหญ่บ้านทำการประชาคมหมู่บ้านก่อนว่ามีใครรู้จักนางสาวแดง  ชินพะวอ  ผลคือที่ประชุมยืนยันว่ารู้จัก

จากนั้นพวกเราจึงได้เดินทางกับกรุงเทพฯ ประมาณ ๓๐ วัน ผู้ใหญ่บ้านได้แจ้งมาว่านายอำเภอให้พาป้าแดงลงไป เพื่อให้ชาวบ้านชี้ตัวว่าเคยเห็น รู้จักไหม...?   คณะเราจึงได้เดินทางไปรอบที่  ๒   เมื่อวันที่ ๑๕ พ.ย. ๕๓   แต่ครั้งนี้เราใช้รถมูลนิธิฯ และนำเสื้อผ้าไปบริจาคให้กับชาวบ้านด้วย คณะเราไปถึงที่บ้านจึงนัดชาวบ้านในวันรุ่งขึ้นของวันอาทิตย์ เพราะทุกคนจะอยู่บ้านกัน  ชาวบ้านต่างก็เป็นเพื่อนเก่าของป้าที่เคยเรียนเมื่อสมัยเด็กมาเป็นพยานรับรองให้    ทุกคนดีใจที่ได้เจอเพื่อนเก่า  ต่างก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “ ทำไมปล่อยเรื่องไว้นานจัง ไม่รีบทำ”  ทางผู้ใหญ่บ้านเก็บภาพ และให้บรรดาเพื่อนต่างลงรายชื่อไว้เป็นหลักฐาน และนำส่งเสนอเจ้าหน้าที่งานทะเบียนต่อไป  จากนั้นจึงเดินทางกลับเพื่อรอผลการอนุมัติจากท่านนายอำเภอ

จนกระทั่งเย็นของวันที่  ๒๒  มี.ค.  ๕๔  ทางญาติของป้าแดงได้โทรศัพท์มาบอกว่า มีข่าวดีมาบอกนะทางอำเภอได้เพิ่มชื่อป้าแดงเข้าทะเบียนบ้านให้แล้ว ให้ครูบุ๋มพาป้าแดงมาถ่ายบัตรประชาชนได้เลย วันไหนก็ได้   ครูบุ๋มไม่รอช้ารีบติดต่อกับป้าแดง ให้เตรียมตัวลงไปที่อุดรอีกครั้ง เราเดินทางกลางคืนของวันอาทิตย์ที่  ๒๗ มี.ค. ไปเช้าอีกวันใหม่ ระหว่างเดินทางป้าแดงก็ตื่นเต้นตลอดทาง บอกว่านอนไม่หลับเลยตั้งแต่ครูบุ๋มโทรไปบอก ดีใจมากๆ ขอบคุณ ครูนิด-ครูบุ๋ม ที่ช่วยให้ป้ามีชีวิตอีกครั้งหนึ่ง ป้าจะทำความดีถวายในหลวงว่าป้าได้ทำบัตรประชาชนแล้ว