banner
อาทิตย์ ที่ 24 เดือน กรกฏาคม พ.ศ.2565 แก้ไข admin

กล่องห้องสมุดโรงเรียนเด็กก่อสร้างเคลื่อนที่




 นางสาวทองพูล   บัวศรี

ผู้จัดการโรงเรียนเด็กก่อสร้างเคลื่อนที่ มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก

 

          ด้วยโครงการโรงเรียนเด็กก่อสร้าง ดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 5 แล้ว  การทำงานจึงปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับเด็กลูกกรรมกรก่อสร้าง การสอน  การเขียน  การฟัง การพูด  เป็นภาษาไทย  การเข้าถึงแคมป์งาน  มีบางแห่ง  ที่ไม่ให้ทางโรงเรียนเด็กก่อสร้างเคลื่อนที่เข้าไปทำกิจกรรม 


          ด้วยเหตุผลสำคัญ คือ ไม่รู้จักครูที่ทำกิจกรรมในแต่ละแคมป์งาน   เพราะด้วยคนงานก่อสร้างมีเพียงแค่  40  เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ที่ถูกกฎหมาย  แม้กระทั่งบริษัทรับเหมาก่อสร้างขนาดใหญ่  และคนงานก่อสร้างเองก็ไม่ยอมที่จะบอกว่าต้องการให้ครูช่วยเหลือ

          ในช่วงปี 2563 จนถึงปัจจุบัน  สิ่งที่เกิดขึ้น  คือ คนงานก่อสร้างติดโควิด-19  จนถึงขั้นสั่งปิดแคมป์การทำงาน  คนงานก่อสร้างต้องหยุดงาน  เป็นช่วงที่ทางโรงเรียนเด็กก่อสร้างเคลื่อนที่ ได้แบ่งปันถุงยังชีพไปตามบ้านพักคนงานก่อสร้างในพื้นที่ต่างๆ  กว่า 7,000 ถุง  พร้อมยาฟ้าทะลายโจร  และยาฮัวเหลียน  ที่ส่งให้คนงานก่อสร้าง  โดยเฉพาะกลุ่มที่เข้าเมืองผิดกฎหมาย


 

          สำหรับเด็กที่ติดโควิด-19  ส่วนหนึ่งส่งเข้าไปยังศูนย์กักตัวเกียกกาย  และรักษาตามสิทธิของพ่อ หรือแม่  แต่บางครอบครัวก็ติดกันยกแคมป์งานก่อสร้างกันเลย

          สำหรับเด็กต่างชาติที่ไม่ได้รับสิทธิ  ทางโรงเรียนเด็กก่อสร้างเคลื่อนที่ ก็จัดหายาทั้งฟ้าทะลายโจร/ยาพาราเซต  สารพัดยาต้มแทนน้ำ ตั้งแต่ น้ำตะไคร้/น้ำขิง/น้ำกระชาย   แม้ใบฟ้าทะลายโจร    รักษากันจนหาย  ใช้การรักษาแบบหมอเถื่อน   สิ่งเหล่านี้ ทางทีมงานจึงได้ใจจากคนงานก่อสร้าง แม้กระทั่งกับผู้รับเหมา  ว่าทีมงานมีความจริงใจกับคนงานก่อสร้างทุกคน

 

          สำหรับต้นปี 2565  ถึงแม้สถานการณ์โควิด-19  ยังมีระลอก 4,5  การเข้าไปทำกิจกรรมกับเด็กก็ไม่ได้บรรลุ   เพราะทุกแหล่งก่อสร้าง ยังไม่ให้เข้าไปทำกิจกรรมเหมือนช่วงแรก   สิ่งที่พอจะปรับได้ ในช่วงนี้

          1. ทุกแห่งแคมป์คนงานพยายามจะลงไปเยี่ยมเยียน พร้อมกับ  นำถุงยังชีพ ไปประคองกันไว้ก่อน  ด้วยสาเหตุ คือ ครอบครัวไหน ติดโควิด-19  ก็ไปรักษาตัว ตามที่โรงพยาบาลประจำตำบลแห่งนั้น  แล้วมากักตัวต่อในแคมป์อีก 5 วัน  โดยเฉลี่ย 15 วัน ครอบครัวเหล่านั้นไม่มีรายได้เข้ามาเลย  แต่การอยู่การกิน  ยังต้องมีให้กิน เพราะมีลูก   ทางโครงการฯ  จึงสนับสนุนถุงยังชีพไปก่อน  จนกว่าจะหาย  แล้วมีรายได้เข้า  คนงานเหล่านี้ เป็นลูกจ้างรายวัน  พร้อมที่จะถูกไล่ออกตลอดเวลา  ไม่มีความแน่นอน


 

          2. การประสานงานเรื่องใบรับรองการเกิดของเด็กที่เกิดที่โรงพยาบาล ในตอนออกจากโรงพยาบาลผู้ปกครองไม่ได้รับใบรับรองการเกิดกลับมาด้วย จึงเป็นปัญหาทำให้เด็กไม่มีใบเกิด ซึ่งมีผลกับเด็กในเรื่องการรับวัคซีนตามสิทธิที่เด็กควรจะได้รับ  และเมื่ออายุถึงเกณฑ์จะเป็นส่วนหนึ่ง ของการได้เข้าเรียน  ตามอนุสัญญาว่าสิทธิเด็ก และมติ ครม.ว่าด้วยเด็กไม่มีเอกสารสามารถเข้าเรียนได้  ตาม ปี พ.ศ. 2535  แก้ไข มติ ครม. ในปี พ.ศ.2548

              3.ทางโรงเรียนเด็กก่อสร้างเคลื่อนที่ เน้นการประสานงาน นำเด็กเข้าสู่ระบบโรงเรียน  พร้อมทั้งจัดหาชุดนักเรียน พร้อมอุปกรณ์การเรียนให้กับเด็ก  ปีนี้นำเด็กเข้าเรียนได้จำนวนมาก

       4.ทางโรงเรียนพยายามประสานงานกับผู้รับเหมาก่อสร้าง ในการสร้าง “กล่องห้องสมุด” ในแหล่งก่อสร้าง   เพราะด้วยเหตุผลสำคัญ  คือด้วยแต่ละสถานที่มีพื้นที่จำกัด  และการจัดเป็นห้องสมุดเป็นห้อง  ก็ขาดคนดูแลต้องอาศัยผู้ปกครองของเด็กที่จะพาเด็กมาใช้บริการ  ในปี 2565 นี้ ได้ดำเนินการ สำหรับ กล่องห้องสมุด  จำนวน 2 แห่ง

          1.ที่แหล่งก่อสร้างแคมป์คนงานโรงพยาบาลคลองสามวา  ของบริษัท 33 จำกัด  ระยะการก่อสร้างเป็นเวลา 3 ปี  ด้วยเด็กที่ติดตามพ่อ/แม่ มา ส่วนมากเป็นเด็กพม่า (สัญชาติมอญ)  และเด็กกัมพูชา  จำนวน 13-17 คน แล้วแต่ช่วงในการมีงานทำ  ในแคมป์นี้มีเด็กพม่า 2 คน ที่ได้ไปเรียนโรงเรียนลำกระดาน  ในชั้นประถมศึกษา ปีที่ 1  แต่ยังมีเด็กที่อยู่ในแคมป์จำนวนกว่าอีกสิบคน  แคมป์นี้ผู้ปกครองเด็กเรียกร้องพร้อมทั้งทำกล่องเอาไว้ติดกับร้านค้า  


          เมื่อทางโรงเรียนเด็กก่อสร้างเคลื่อนที่ นำอุปกรณ์การเรียน/หนังสือ เครื่องเล่นที่ได้รับบริจาคมา และมีบางส่วนที่ซื้อตามงบประมาณที่ได้รับมา  และหนังสือตามรอย อักษรพยัญชนะ/สมุดระบายสี   เด็กต่างเข้ามุมตามความต้องการของตนเอง 

          กลุ่มที่เล่น  รื้อทุกอย่างที่เล่นได้  นำรถมาไถกับพื้นดิน  บางคนของนำไปกอดด้วยในที่นอน  แล้วก็นำมาคืนที่กล่อง  เอาของเล่นชิ้นใหม่ไปเล่นต่อ  สลับกันไปในแต่ละวัน  บางคนก็ฟ้องว่าคนนั้นเล่นจนพัง  

          สำหรับกลุ่มที่จะไปโรงเรียน จะชอบการเขียนตามรอย  เตรียมตัวเอง เพื่อไปโรงเรียน  หัดระบายสี  หัดฝึกการอ่านผสมคำ  บางครั้งได้คนขายของที่ร้านค้า  เป็นคนฝึกการอ่าน  ตั้งแต่ ก-ฮ   หรือบางคน ก็หัดอ่านผสมสระ     

            

          2.แคมป์คนงานก่อสร้างบริษัทก่อสร้างหมู่บ้าน โนริเนบ วิภาวดี   ส่วนมากเป็นคนงานก่อสร้างที่รับเหมากันเอง เป็นหลักในการก่อสร้างหมู่บ้าน   ส่วนมากเป็นชาวกัมพูชา และพม่า   แคมป์แห่งนี้มีเด็กที่ได้รับโอกาสทางการศึกษา ที่โรงเรียนประชาอุทิศจำนวน 4 คน (เด็กพม่า 1 คน  เด็กกัมพูชา จำนวน 3 คน)  และยังมีเด็กอยู่ในแคมป์ก่อสร้างอีก 10 กว่าคน ที่ยังไม่ได้เรียน

          สำหรับกล่องห้องสมุด เป็นตู้ที่ทำฝาปิด  วันที่ทางโรงเรียนเด็กก่อสร้างไปจัดกล่องห้องสมุด   เด็กน้อย 1 คน ที่อยู่ใกล้ที่สุด  มาเล่นของเล่นอย่างสนุกสนาน  แล้วบอกว่า เอาไปห้อง   เสียงแม่เด็กบอกว่า เอาไปแค่ชิ้นเดียว   รอพี่ๆ กลับจากโรงเรียนแล้วมาเล่นด้วยกัน

          แม้ในครั้งนี้ทางโรงเรียนเด็กก่อสร้างเคลื่อนที่  จะทำได้เพียงกล่องห้องสมุด  แต่ก็กลายเป็นสิ่งที่เด็กๆ ต้องการ  และกลายเป็นศูนย์เรียนรู้ของเด็กๆ