โอกาสทางการศึกษา กับภาระของครอบครัว
ผู้จัดการการโครงการครูข้างถนน มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก
ในช่วงปลายเดือนเมษายน จนถึงต้นเดือนมิถุนายน ของทุกปี โครงการครูข้างถนน/โครงการเด็กก่อสร้างเคลื่อนที่ ที่ลุยงานกันในพื้นที่ ต้องมาบริหารจัดการ 2 -3 เรื่องด้วยกันตั้งแต่
- สำรวจเด็กที่ต้องการเข้าเรียน เพื่อการทำประวัติของเด็ก เป็นรายบุคคล ทั้งกลุ่มที่มีเอกสาร/กลุ่มที่ไม่มีเอกสาร ทั้งเด็กเร่ร่อนไทย/เด็กเร่ร่อนต่างด้าว และเด็กลูกกรรมกรก่อสร้าง
- ประสานงานกับโรงเรียน เพื่อนำเด็กเข้าไปสมัครเรียน เด็กที่เข้าใหม่ ทั้งชั้นอนุบาล/ประถมศึกษาปีที่ 1
- ประสานงานกับโรงเรียน ในกรณีที่ต้องจ่ายค่าใช้จ่ายที่โรงเรียน ทั้งจังหวัดปทุมธานี/นนท์บุรี/สมุทรปราการ สิ่งที่ต้องจ่าย คือ ค่าอุบัติเหตุ/ ค่าครูสอนภาษา/ค่าคอมพิวเตอร์ สำหรับเด็กอนุบาล คือ ค่าครูพี่เลี้ยง/ค่าที่นอนสำหรับเด็กที่เรียนหนังสือ
- ประสานงานกับทางโรงเรียนที่เด็กเคยเรียน และกำลังจะย้ายไปเรียนที่ใหม่ เพราะแหล่งก่อสร้างของพ่อแม่ ย้ายที่ทำงาน ในแต่ละปี การย้ายต้องเสร็จก่อน เดือนมิถุนายน
- ประสานงานหาอุปกรณ์การเรียน/กระเป๋านักเรียน พร้อมชุดนักเรียน ชุดลูกเสือ/ชุดยุวกาชาด สำหรับทางโครงการฯ ขอพิจารณาเป็นรายครอบครัว เริ่มตั้งแต่ ยายดูแลตามลำพัง สำหรับชุดนักเรียน ครูยังเน้นไปที่โรเรียนเพราะมีค่าชุดนักเรียนที่จ่ายให้เบิกกับโรงเรียน กลุ่มที่แม่เลี้ยงเดียว/พ่อเลี้ยงเดียว/กลุ่มที่เด็กเลี้ยงเด็ก (เด็กเป็นหัวหน้าครอบครัว ) ดูเฉพาะกรณีศึกษาที่หนักจริง จริง ในส่วนนี้ครูใช้เงินที่ขอมาจากกองทุนวิจิตรพงศ์พันธุ์ ในแต่ละปี
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปี 2565
ด้วยทางโครงการฯทั้ง 2 โครงการ เข้าลุยพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ แคมป์คนงานก่อสร้าง ที่เซนทาโร วิภาวดี มีเด็กที่เข้าเรียนโรงเรียนประชาอุทิศ 5 คน เหลือเรียนต่อเนื่อง 4 คนเท่านั้น / แคมป์คนงานก่อสร้างพฤกษ์ลดา-ชัยพฤกษ์ 345 เด็กที่พ่อแม่ทั้งชาวพม่า และกัมพูชา (นำเข้าเรียนที่โรงเรียนชุมชนไมตรีอุทิศ จำนวน 14 คน เด็กไทยที่เรียนต่างจังหวัด 5 คน) และ แคมป์คนงานก่อสร้างสะพานสูง ที่ผู้ปกครอง นำเด็กเข้าเรียนที่โรงเรียนวัดบัวขาวแล้ว จำนวน 7 คน (ส่วนมากเป็นคนไทย) อีก 2 คนเป็นชาวกัมพูชา ที่ต้องย้ายและเข้าใหม่ 1 คน สิ่งที่เป็นภาระของผู้ปกครอง คือเข้าเรียนฟรีตามนโยบาย แต่เสียสตางค์ จำนวนมาก ที่เป็นเหตุทำให้ผู้ปกครองไม่ยอมให้เข้าเรียน
แต่สถานกาณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ปกครองในยามนี้ และต้องประสบภัยส่งผลกระทบ กระเทือนไปถึงเด็ก เริ่มตั้งแต่
(1) ผู้ปกครองของเด็กเหล่านี้ถูกไล่ออกจากงาน ไม่มีงานทำ /ไม่มีรายได้ โดยเฉพาะรายได้ที่ต้องมาดูแลคนในครอบครัว พอให้มีการกินแบบอิ่มท้อง กลุ่มคนเหล่านี้ ครูเรียกว่า “กลุ่มคนจนแบบเฉียบพลัน”
(2) ผู้ปกครองเด็ก/ครอบครัวของเด็ก เกิดภัยอุบัติแบบเฉียบพลัน ซึ่งได้แก่
-ผู้ปกครองเด็ก คนที่เป็นเสาหลักของครอบครัว เกิดตายจากการติดโควิด-19 ทำให้บุคคลที่เหลืออยู่ ไม่มีที่พึ่งพา และก็ยังเป็นผู้เยาว์เสียเป็นส่วนใหญ่ ส่งผลเหล่านี้ไปยัง ตา/ยายา/ย่า หรือญาติที่ต้องเลี้ยงดูเพิ่มมากขึ้น
- ผู้ปกครองเด็ก ครอบครัวของเด็ก ที่อยู่ในช่วงวัยรุ่น เกิดการติดยาเสพติดด้วยกันทั้งคู่ เกิดภาวะไม่เอาลูก หรือบางครอบครัวลูกต้องหอบหิ้วชีวิตเหล่านี้ ไปอาศัยอยู่กับญาติ แค่อาศัยที่นอน เรื่องการอยู่การกิน/นมของเด็ก/การเรียนของเด็ก เด็กต้องหาอาหารกันเอง หรือต้องจ่ายเป็นค่าอาหารสำหรับสามคนพี่น้อง ถ้าเด็กอยากเรียน ค่าใช้จ่ายพร้อมอุปกรณ์การเรียนเอง ภาระทุกอย่างตกอยู่ที่เด็ก คนที่เป็นหัวหน้าครอบครัว
- ผู้ปกครองหลายครอบครัวของเด็กใช้ความรุนแรงกับเด็ก หรือบางครอบครัว เกิดความเครียดในครอบครัว ทำร้ายซึ่งกันและกัน ทั้งการด่า ทอ จนถึงการทำร้ายร่างกาย
- ผู้ปกครองหลายครอบครัวที่ต้องการให้เด็กออกมาทำงานช่วยเหลือ โดยให้เด็กออกไปขอทาน/ขายดอกจำปี-จำปา/ขายพวงมาลัย ตามสี่แยกยมราช สี่แยก อสมท. หรือบางคนต้องออกไปรับจ้างตามที่ต่างๆ
- มีเด็กบางคนทีใช้เด็กเป็นผู้ขายยาเสพติด ด้วยเหตุผล ถ้าเด็กต่ำกว่า 12 ปี เมื่อเด็กกระทำความผิดทางอาญา ไม่ต้องรับโทษ กระบวนการในการดูแลเด็กเหล่านี้ยังมีความไม่ชัดเจน ทำให้เด็กตกเหยื่อของผู้ใหญ่
(3) เด็กตกเป็นผู้ก่ออาชญากรรมเอง เช่นการลักขโมยสิ่งของ เพื่อต้องการเอาเงินไปซื้อยาเสพติด หรือบางคนเอาไปเติมเงินเพื่อเล่นเกม
สถานการณ์เหล่านี้ส่งผลกับเด็กและเยาวชนที่รุมเร้า กับครอบครัวของเด็ก
เมื่อเปิดเรียน การศึกษาคือการสร้างโอกาส แต่ในขณะเดียวกันกลายเป็นภาระของครอบครัว
ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น เมื่อเด็กต้องไปเรียนในโรงเรียนอีกครั้ง ซึ่งพ่อแม่ของเด็กเองก็ประสบปัญหา จากจากที่ไม่มีงานทำ ทางเศรษฐกิจไม่มีรายได้เข้ามาเลย รายการที่ต้องจ่ายของครอบครัว
(1) ค่าใช้จ่ายที่โรงเรียน ต้องจ่าย เช่น ค่าประกันอุบัติเหตุ / ค่าห้องเรียนคอมพิวเตอร์/ค่าบำรุงคอมพิวเตอร์/ค่าครูสอนภาษา อังกฤษ จีน / ค่าบำรุงห้องสมุด/ค่าบำรุงลูกเสือ/ค่าสหกรณ์ ฯลฯ เริ่มตั้งแต่ 520-750 บาท (แล้วแต่โรงเรียนเป็นคนกำหนด )
สำหรับเด็กอนุบาล ต้องจ่ายเพิ่มค่าครูพี่เลี้ยง ตั้งแต่ 1,200-1,500 บาท ต่อปี
ค่าชุดที่นอนสำหรับเด็ก เสียเพิ่ม ตั้งแต่ 350จนถึง 500 บาท แล้วแต่การจัดซื้อ
(2) ค่าใช้จ่ายเกี่ยวชุดนักเรียนที่ต้องจ่าย สำหรับ ชุดนักเรียน 2 ชุด เข็มขัด 1 เส้น รองเท้า 1 คู่
ในระดับชั้นอนุบาล เริ่มตั้งแต่ 1,040 บาท จนถึง 1,500 บาท
ในระดับชั้นประถมศึกษา ปีที่ 1-3 เฉลี่ย 1,450 - 1,650 บาท
ในระดับชั้นประถมศึกษา ปีที่ 4-6 เฉลี่ย 1,550 - 1,750 บาท
ในระดับมัธยม ปีที่ 1-3 เฉลี่ย 1,650 - 18,50 บาท
สำหรับชุดลูกเสือ พร้อมอุปกรณ์ เฉลี่ย 1,500-1,850 บาท แล้วแต่ขนาดของตัวเด็ก ถ้าเป็นไซส์ใหญ่ ก็ขนาดเพิ่มขึ้น
สำหรับชุดเนตรนารี พร้อมอุปกรณ์ เฉลี่ย 1,200-1,650 บาท
(3) ค่าเดินทางพาหนะเด็กไปโรงเรียน อย่างน้อย วันละ 20 บาท กรณีที่เด็กเดินไปเอง
สำหรับเด็กโดยทั่วไป ที่ชุมชนโค้งรถไฟยมราช เฉลี่ย วันละ 50-80 บาท
สำหรับเด็กมัธยม ทั่วไป วันละ 100-150 บาท (บางคนต้อเสียค่ามอเตอร์ไซด์รับจ้าง )
การเปิดเรียนครั้งนี้ กับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น จึงกลายเป็นภาระของครอบครัว
ตัวอย่างในการร้องขอชุดนักเรียน/รองเท้า/ชุดเนตรนารี/ค่าบำรุงการศึกษา
ครอบครัวที่ 1 ครูคะ หลานหนูอยากเรียนต่อแล้วคะ เมื่อสองปีที่แล้ว จำใจต้องออกมาเพราะยายป่วย แม่ของเด็กติดคุก เอาน้องของหลานที่เพิ่งเกิดในเรือนจำเอาออกมาเลี้ยง ค่าใช้จ่ายทั้งหมด จึงไม่พอกับรายได้ น้องชายคนเล็กถูกรถชน แล้วก็ออกจากโรงเรียนกลางคัน แล้วแถมด้วยไปพาผู้หญิงมาดูแลด้วย
หลานจำเป็นต้องออกจากโรงเรียน มาสองปีเต็ม เขาอายุยังเพียง 14 ปี ปีนี้ยายอนุญาตให้เรียน กับไปเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 1 ใหม่ แต่หนูไม่มีเงินเลย ที่จะซื้อชุดนักเรียน/รองเท้า/กระเป๋า/ และอุปกรณ์ สำหรับกรณีนี้ คนเดียว กว่า 2,200 บาท ครูขอบคุณนะที่สร้างโอกาสให้เด็กอีกครั้ง
ครอบครัวที่ 2 เป็นยายกับตา ที่ดูแลหลาน 4 คน หลานคนโต ต้องออกจากโรงเรียน ได้เรียนแค่ชั้นประถมศึกษา ปีที่ 4 แล้วออกมาขายของที่ ขายดอกจำปี ที่แยกโค้งรถไฟยมราช และมีบางครั้งก็นำสินค้าไปขายที่ซอยนานาในช่วงกลางคืน
ส่วนหลานคนที่ 2 ตอนนี้เรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที 2 โรงเรียนกิ่งเพชร ตัวใหญ่ขึ้นมาก เสื้อผ้าที่เคยมีคับไปหมด ต้องซื้อใหม่ทั้งหมด
หลานคนที่ สาม จบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เข้าเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่โรงเรียนกิ่งเพชร ตัวใหญ่เหมือนกัน เฉพาะกางเกงตัวเดียวก็ราคาแพงกว่าที่โรงเรียนจ่ายให้ทั้งชุด ราคากางเกง 525 บาท เสื้อนักเรียนเบอร์ 40 ราคา 250 บาท ชุดเดียว 750 บาท เงินที่หลานๆ ช่วยกันหามากยังไม่พอกับชุดนักเรียน หนึ่งเลย
หลานคนที่ สี่ ฉันเพิ่งไปรับมันมา พ่อเอาไปอยู่ด้วย 2 สอง พ่อมีอาชีพเลี้ยงม้าแข่ง เวลาม้าไปแข่งที่ไหนก็เอาลูกไปด้วย เด็กเลยไม่ได้เรียนหนังสือ อายุ 10 ปีแล้ว แต่ต้องมาเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ใหม่ หลานเลยกลายเป็นเด็กโข่งประจำชั้นเรียน
แค่ตัวอย่าง 2 ครอบครัว ครอบครัวเด็กอยากให้เรียนหนังสือ แต่ติดขัดด้วยชุดนักเรียน รองเท้า กระเป๋า ชุดลูกเสือ-เนตรนารี ที่ต้องใช้เงินทั้งหมดที่หามา ก็ยังไม่พอกับค่าชุดต่างๆของเด็ก ทางโครงการผลักดันให้เด็กได้รับโอกาสทางการศึกษา แต่ค่าใช้จ่ายกลับกลายเป็นภาระของครอบครัว ความจำเป็นของทางโครงการครูข้างถนนและโรงเรียนเด็กก่อสร้างเคลื่อนที่ก็จำเป็น ที่ต้องพึ่งพางบประมาณ จากหน่วยงานภาครัฐและองค์กรธุรกิจ ตลอดจนประชาชนทั่วไป
ขอบคุณทุกหน่วยงานที่สร้างที่ยืนให้กับเด็กๆ
การศึกษา เป็นหนทางที่จะพ้นจากความยากจน อ่าน ออก เขียน ได้ มีวุฒิทางการศึกษา ก็ขึ้นอยู่กับ การได้มีโอกาสเลือกงานที่จะทำ