banner
อังคาร ที่ 18 เดือน พฤษภาคม พ.ศ.2564 แก้ไข admin

หาทางออกให้เด็ก เมื่อพ่อแม่ติดโควิด-19 (กลุ่มเด็กเร่ร่อนต่างด้าว)

 

นางสาวทองพูล  บัวศรี

ผู้จัดการโครงการครูข้างถนน  มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก

 

          กลุ่มเป้าหมายของการทำงานของโครงการครูข้างถนน  คือกลุ่มแม่และเด็กเร่ร่อนต่างด้าว  ซึ่งครูได้ประเมินไว้ว่า  ถ้าติดโควิด-19 เป็นเรื่องใหญ่แน่นอน  เพราะมีการเคลื่อนย้ายตลอดเวลา  เพราะทั้งออกไปขอทาน/ขายพวงมาลัย หลายแห่ง แต่ละแห่งที่เดินทางไป ในขณะนี้ติดโควิด-19 ให้ระนาว 

          ครูเองพูดคุยกับทีมงานได้แค่สองวันเท่านั้น  มีการโทรประสานงาน กว่า 6 ครอบครัว  ที่อาศัยอยู่ในชุมชนพัฒนาบ่อนไก่  โดยการเช่าบ้านคืนละ 50 บาทอยู่ด้วยกันกว่า สิบครอบครัว  แต่ตอนนี้ติดแล้วหกครอบครัวที่มีเด็กอยู่ในครอบครัว

          สำหรับครูเองต้องประสานงานกันแต่ครอบครัวของเด็กเร่ร่อนต่างด้าวเหล่านี้ วิธีการช่วยเหลือไม่เหมือนกันเลย  ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของครอบครัวที่อยู่ในโรงพยาบาลสนาม


 

          ครอบครัวที่ หนึ่ง ได้ไปตรวจโควิด-19  โดยการอ้อนวอนของตรวจว่าเป็นกลุ่มเสี่ยง (เพราะคนต่างด้าวไม่ใช่กลุ่มเป้าหมาย  แต่ครูให้เหตุผลว่า ถ้าติดในชุมชน  กลุ่มแม่และเด็กเร่ร่อนต่างด้าวชุดนี้เป็นกลุ่มเสี่ยงสูง  อ้อนวอนมากกว่า 3 ครั้ง  จึงให้มีการตรวจ) แล้วรู้ผลการตรวจ เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2564 เอาลูกชายไปด้วยที่โรงพยาบาลสนามที่สนามกีฬา ใกล้มาบุญครอง  ลูกชายตรวจเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2564 แม่เด็กมีความกังวลโทรศัพท์หาครูว่า ถ้าลูกไม่ติดโควิด-19 ของฝากเด็กชาย ณรงค์ (นามสมมุติ) ไว้กับครูได้ไหม  จนกว่าแม่จะรักษาตัวหายแล้วกลับมารับ

           เมื่อครูรู้เรื่องทั้งหมด  แล้วก็คาดการณ์ไว้แล้วว่า จะมีกรณีศึกษาเหล่านี้ คือพ่อ/แม่ติด  เด็กไม่ติดจะเอาไปไว้ไหน   ครูก็รีบประสานงานหาทางออกทันทีกับทีมบ้านพักเด็กและครอบครัวกรุงเทพ ทางบ้านพักฯ ให้ครูประสานงาน ผอ.ต่าย ซึ่งทางกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้มีการเตรียมพื้นที่ 4 แห่งรองรับกรณีศึกษาเหล่านี้  แต่ทางท่าน ผอ.ต่าย ได้อธิบายว่า

            1.เด็กจะต้องถูกตัวมาแล้ว 14 วัน

            2.ผลการตรวจของเด็ก ต้องเป็นลบ มีเอกสารยืนยันมาจากทางสาธารณะสุข ชัดเจน

            3.แม่ของเด็กยังอยู่ในระหว่างการรักษาตัว พร้อมมีผลตรวจของแม่ชัดเจน รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลที่ไหน  อาการเป็นอย่างไร

            ทางทีม กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)ถึงจะรับเด็กไปดูแลต่อ สถานที่ตั้งก็อยู่ในสถานสงเคราะห์บ้านราชวถี 

            ช่วงบ่ายโมง รู้ผลว่าเด็กติดโควิด-19 เหมือนแม่ และกำลังเตรียมตัวไปโรงพยาบาลต่างจังหวัด

             เช้านี้(10 พฤษภาคม 2564)  แม่เด็กโทรบอกว่าอยู่โรงพยาบาลสมุทรสาคร ตึก 38 ปี ไม่มีแพมเพิส /นม ด้วยเด็กเริ่มมีอาการท้องเสีย ต้องใช้เยอะ ต้องอยู่อย่างต่ำก็ 14 วัน ครูเองก็ประสานงานหลายหน่วยงาน

               1.ประสานงานผ่านคุณจอย กองคุ้มครองฯ กรมกิจการเด็กและเยาวชน ประสานงานไปยังหัวหน้าบ้านพักเด็กและครอบครัวสมุทรสาคร โดยทางหัวหน้าบ้านพักฯ ส่งแพมเพิสกับนม สำรองไว้ที่หัวหน้าตึก ไว้สำหรับเด็กทุกคน เพราะส่วนมากครอบครัวส่งมาจากคลองเตย ไม่ได้เตรียมสิ่งของ

              2.ครูเองก็ประสานงาน กับน้องเปีย ศูนย์โควิด-19 ของไทยพีบีเอส ว่าต้องการแพมเฟิสกับนม ทาง น้องเปียประสานงานกับทีม ของ มูลนิธิฯรักษ์ไทย ที่อยู่ในพื้นที่ ได้นำไปส่งให้แม่กับเด็กเรียบร้อย พร้อมเครื่องใช้ส่วนตัวยาสีฟัน แปรงสีฟัน สบู่ ยาสระผม เจล ผ้ากากอนามัย เป็นชุดสำหรับคนป่วยในโรงพยาบาล

              สำหรับครู ขอบคุณ ทุกหน่วยงานที่ช่วยกรณีศึกษาแบบทันท่วงที ขอบคุณมากค่ะ

  

              ครอบครัวที่ 2 เป็นชาวกัมพูชา ที่มาทำงานบนท้องถนน มีลูก 5 คน ได้เข้าเรียนแล้ว 4 คน (ที่ศูนย์เด็กเล็ก/และโรงเรียนสังกัด กทม.) ถือว่าครอบครัวที่ให้ความสำคัญกับการศึกษาของลูก มีแม่/พ่อ/ยาย   ได้ตรวจโควิด-19 เมื่อเช้าวันที่ 9 พฤษภาคม 2564 แบบเชิงรุกที่ชุมชนบ่อนไก่ ไปถึงสามครั้งอ้อนวอนของตรวจ บอกหน่วยงานว่าเป็นกลุ่มเสี่ยง ครั้งที่ 1-3  หน่วยที่ตรวจบอกว่าตรวจเฉพาะคนไทยเท่านั้น  กรณีศึกษาเอาโทรศัพท์ให้ครูพูด  ครูเน้นย้ำว่า แม่พร้อมเด็กทุกคนเป็นกลุ่มเสี่ยงสูง เพราะมีการเคลื่อนตัวทุกพื้นที่  เป็นกลุ่มเสี่ยงที่ต้องได้ตรวจ

              ผลออกมาตอนเช้า วันที่ 10 พฤษภาคม นี้ สรุปคือติดโควิด-19  ทั้งครอบครัว คือ 8 คน เด็ก 5 คน ผู้ใหญ่ 3 คน รอรถมารับใช้เวลากว่า 6 ชั่วโมง บังคับลูกให้นั่งนิ่ง ลูกก็จะเล่นซน

เมื่อ รถมารับครอบครัวนี้อยู่ในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์  โดยแยกออกเป็นห้อง

               ห้องที่ 1 มียาย เจ้าซี อายุ 6 ปี กับ เจ้าลือ อายุ 4 ปี

               ห้องที่ 2 มีพ่อ เจ้าบุญเก่ง อายุ 12 ปี/ เจ้ารี อายุ 8 ปี(มีความอยากรู้ อยากเห็น อยู่ไม่นิ่ง มีพลังเยอะมาก )

               ห้องที่ 3 มีแม่ กับน้องคนเล็ก คือเจ้าซิม

               เมื่อได้ห้องที่พักเรียบร้อยแล้ว ทางพยาบาล สอนให้เด็กวัดไข้/วัดอ๊อกซิเจนในเลือด โดยวัดที่ปลายนิ้ว /บันทึกการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย มีไอแห้ง แห้ง ไหม /มีหอบไหม/ ปวดหัวหรือเปล่า มีอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย หรือเปล่า /ท้องเสีย ถ่ายเป็นน้ำหรือก้อนแข็ง  เด็ก เด็ก ช่วยแม่/พ่อ/ยาย ได้มากในการบันทึกข้อมูลให้กับทีมพยาบาล สำหรับครูคือปลื้มค่ะ ผลมาจากการเรียน ได้มีโอกาสเรียนหนังสือ ได้ไปโรงเรียน

               แต่ความกังวลของแม่ คือ ครูฉันไม่มีเงินจ่ายนะ ห้องพักที่นอนเป็นห้องที่ดีมาก แบ่งสัดส่วน แต่อาหารแล้วแต่จัดให้ ถ้าต้องเสียเงิน แล้วครอบครัวฉันจะทำอย่างไร

              ครูบอกว่าไม่เสียค่าใช้จ่าย ใจเย็น เย็น รักษาตัวให้งาน เรื่องอื่น ค่อยมาหาทางแก้

              ครอบครัวที่ สาม สี่ และห้า  เป็นผู้ใหญ่ไม่มีเด็ก กระบวนการจึงส่งตามช่องทาง

 

 

              ครอบครัวที่หก เป็นการหาทางออกและเน้นประโยชน์สูงสุดให้เด็ก ด้วยครอบครัวนี้ เป็นครอบครัวที่ หก เป็นกลุ่มแม่และเด็กเร่ร่อนต่างด้าว อยู่ในชุมชนบ่อนไก่ แม่/พ่อ/ลูก 2 คน ไปตรวจเชื้อโควิด-19.เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2564 รู้ผลเมื่อตอนเช้า วันที่ 12 พฤษภาคม 2564  ทางโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ รับพ่อกับแม่ เด็ก 2 คน ต้องหาที่อยู่ เพราะเด็กไม่ติดโควิด-19

              งานนี้เริ่มดำเนินการตั้ง แปดโมง ยี่สิบเจ็ดนาที โดยดำเนินตามขั้นตอน ดังนี้

              1.ครูโทรหา ผอ.ต่าย  ผู้รับผิดชอบ การตั้งสถานที่ดูแลเด็กที่ไม่ติดโควิด-19 โดยครูเล่าเรื่องรายละเอียดของเด็กและครอบครัวทั้งหมด พร้อมส่งข้อมูลให้ประกอบการประชุม หาทางออก และแนวทางในการช่วยเหลือ ซึ่งใช้เวลารอคอย แต่สำหรับครูงานนี้ต้องดื้นให้สุดฤทธิ์ สุดเดช ไม่ยอมจำนนแน่นอน

               2.ประสานกับทีม ดร.ธนพร ศรียากูล คณะทำงานคนไร้บ้าน ซึ่งทำงานหาทางออกในการแก้ไขคนไร้บ้าน/เด็กเร่ร่อน ให้เข้าถึงสวัสดิ์การ    แต่ให้มีการประสานกับท่าน ผอ.อุเทน เล่ารายละเอียดพร้อมส่งข้อมูลให้ แต่ต้องประสานงานกับท่าน ผอ.ต่าย (ความคืบหน้ายังไม่มี)

              3.ประสานงานและส่งข้อมูล ให้ทีมงานผู้ว่า กทม. เพื่อหาสถานที่รองรับเด็ก 2 คน ที่ไม่ติดโควิด-19 (ซึ่งรู้ว่ากำลังวุ่น) ต้องให้รับทราบไว้เป็นข้อมูลเบื้องต้น  เพราะผู้ว่าราชการจังหวัดสามารถประกาศ ตั้งโรงพยาบาลสนามได้


             4.ประสานงานทาง คุณเปีย ศูนย์ประสานโควิด-19 ไทยพีบีเอส ในการหาเครือข่ายฝากเด็กไว้ 14 วัน ระหว่างกักตัวเฝ้าดูอาการ 14 วัน พร้อมอาหารการกินตลอดจนต้องหาเด็กไปตรวจอีก 2 ครั้ง

             5.ทางหน่วยงานพยาบาล ตึก14 ชั้น  ของ รพ.จุฬาลงกรณ์ โทรมาบอกว่า เขาจะดูแลเด็ก 2 คน ได้ถึงแค่สี่โมงเย็นเท่านั้น

              เรื่องใหญ่มาก แต่ละหน่วยงานไม่มีใครรับเด็กเลย โทรหาองค์กรในคลองเตย ไม่มีหน่วยงานไหน ปิดหมด ขอความรู้กับหน่วยงานที่อยู่ในภาคสนามเกิดเหตุการณ์แบบนี้ เอาเด็กไปไว้ไหน

ทางหน่วยงานแก้ไขโดยเช่าบ้านให้เด็กอยู่ หาคนที่ติดโควิดมาแล้ว รักษาจนหายแล้ว จ้างให้เขามาดูแล ในปัจจุบันเขาดูแลได้แค่ สามครอบครัว เพราะค่าใช้จ่ายสูงมาก

              ครูเองคิดหนัก แต่ก็ต้องตัดสินใจเหมือนกัน เพื่อนประโยชน์ของเด็ก 2 คน

               6.เวลาประมาณบ่ายโมงครึ่ง ครูตัดสินใจโทรหา ท่าน ปลัดพัชรี (ปลัด พม.) เล่าเรื่อง กรณีศึกษา กับ เด็ก 2 คน ท่านโทรหา อธิบดี ดย. ส่งเรื่องกลับไป ผอ.ต่ายอีกครั้ง

                7.เวลาไม่คอยแล้ว ครูตัดสินใจเองโดยโทรหา ครูมุ้ย ให้หาบ้านเช่าที่ชุมชน หาอาสาสมัครช่วยดูแล 14 วัน ทั้งหาอาหาร ยา ดูอาการ เรื่องเงิน ครูจัดการเอง ได้ทำบุญอีกแล้ว เพราะไม่มีทางอื่นแล้ว  หาทางออกจนไม่มีทางออก   ก็ต้องตัดสินใจ

               8.เวลา บ่ายสองครึ่ง ทาง ผอ.ต่าย โทรกลับว่า กำลังหาบ้านให้เด็ก 2 คน เป็นบ้านของคุณหมอท่านหนึ่ง ที่ไม่ได้ใช้ กำลังพาสาธารณสุข และทีมงาน กทม. ดูสภาพบ้าน พร้อมการจัดการ อยู่บริเวณศึกษานารี เป็นบ้านที่ไม่ได้ใช้ คุณหมอให้ใช้แต่ต้องปรับปรุงอีกหลายเรื่อง ทั้งที่นอน/ห้องน้ำ คนที่ต้องดูแล ระยะยาว

                  ทาง ผอ.ต่าย ให้ครูนำส่ง แต่ครูออกไปไม่ได้ ด้วยภาวะที่เสี่ยง หารถที่จะนำเด็ก กำลังประสานงานต่อกับ 1300 ให้นักสังคมสงเคราะห์ดำเนินการ พร้อมทั้งพูดคุยหาทางออกเรื่องรถ จะต้องทำอย่างไร เตรียมรถแบบไหน เพราะเด็กเป็นกลุ่มเสี่ยง  พร้อมทั้งแนวปฎิบัติในการดำเนินการในขณะที่จะพาเด็กไปขึ้นรถ พร้อมทั้งการพาเด็กมาตรวจ


                  ในขณะที่แนวทางกันอยู่  เรื่องการเตรียมรถรับ-ส่ง  ว่าต้องทำอะไรบ้าง ฉีคยาฆ่าเชื้อไหม ต้องเอาคุณหมอไปรับด้วยไหม  เพราะยังไม่มีแนวปฏิบัติ 

                   9.ทางประธานชุมชนพัฒนาบ่อนไก่ โทรประสานงานหาทางที่จะดูแลเด็ก ที่สำคัญให้เด็กกลับมาอยู่ในชุมชนก็ไม่ได้ กลัวเรื่องการละเมิด มีน้องเมย์อาสาสมัคร ประสานงานกับศูนย์สาธารณะสุข 16 ซึ่งทางหน่วยงานก็หาที่พักไม่ได้

                   10. เมื่อเวลา บ่ายสามสิบนาที ทางพยาบาลโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โทรมาบอกว่า คุณหมอเจ้าของไข้พ่อ/แม่เด็ก ได้หาเตียงให้เด็กได้แล้ว หมอใช้เวลาหลายชั่วโมงหาเตียงให้เด็ก คุณหมอไม่อยากให้เด็กเดินทางออกไปนอกโรงพยาบาล และไม่ต้องการแยกพ่อ/แม่ แยกกับลูก แต่อยู่คนละชั้น แต่ตึกเดียวกัน

                ทุกอย่างโล่งไปหมด กราบขอบคุณ คุณพระ  คุณเจ้า สมกับคำว่า "ประโยชน์สูงสุดของเด็ก"

                ครูรีบโทรหา ทุกหน่วยงานที่ประสานเบื้องต้น รีบโทรหา ปลัดพัชรี ก่อน ซึ่งท่านบอกว่ามีอะไรให้โทรหาท่านโดยตรง   และยังบอกตัวอย่างของครู ต้องปรับงานใน พม.พร้อม หาแนวทางในการช่วยเหลือ

                สำหรับครู ช่วงเวลา 5-6 ชั่วโมง ถึงแม้จะเครียดแต่คือบทเรียนในทำงานครั้งนี้

          ในช่วง สัปดาห์นี้ ต้องปิดตำราที่เรียนกันมาในการช่วยเหลือกรณีศึกษากันเลย   แต่ต้องเอาชีวิตจริงมาหาทางออกร่วมกัน   โดยเฉพาะคำว่า “เราจะรอดปลอดภัยไปด้วยกัน”