โควิด-19 เด็กเร่ร่อน ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (ตอนที่ 2)
นางสาวทองพูล บัวศรี
ผู้จัดการโครงการครูข้างถนน มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก
เมื่อประเทศไหนมีคำประกาศให้ทุกคนหยุดทำงานที่บ้าน สำหรับครูเองพวกจะลงพื้นที่ให้ได้ เพราะรู้อยู่เต็มอกว่ากรณีศึกษาที่เป็นเด็ก เร่ร่อนเด็กไทยถาวร/เด็กเร่ร่อนไทยชั่วคราว/เด็กเร่ร่อนต่างด้าว ต่างคนอดแทบไม่มีอะไรกิน เมื่อนักท่องเที่ยวไม่มีมา เด็กเหล่านี้ก็ขาดรายได้ หรือเงินที่พอจะมาซื้อข้าวกิน ก็ไม่มีเลย
แม้แต่อาหารที่เคยมีอยู่ในถังขยะก็หาไม่ได้เลย ชีวิตอย่างไรก็ไม่อดตายหรอกครู เสียงเหล่านี้เคยเล่าขานให้ครูตลอดจ๊ะ
วันที่ 17 มีนาคม 2563 หาของอะไรได้ ครูขนขึ้นรถของตัวเองก่อนเลย บนถนนเหมือนเมืองร้างผู้คนไปเลย คือมีรถวิ่งไม่กี่คัน ที่สำคัญคือการขับรถในกรุงเทพมหานคร ไม่เคยใช้รถส่วนตัว เพราะกลัวจะไปชนรถคนอื่นเขา ครั้งนี้เป็นครั้งแรก
จุดแรกที่ลง คือ ชุมชนโค้งรถไฟยมราช 3 ครอบครัวที่มีลูกเยอะ และเลี้ยงเด็ก
ครอบครัว ยายเตี้ย มีเด็กกว่า 10 คน ที่ยายต้องรับผิดชอบหลาน สำหรับครูมีข้าวสารกรอกหม้อไว้ก่อนสำคัญกว่าสิ่งอื่นๆ ทั้งหมด หลานกินกันที่ละกาละมัง ส่วนมากก็กินข้าวคลุกน้ำปลา น้ำซอส หรือบางครั้งก็มีไข่เจียวเสริม ประทังกันไปก่อน
ครอบครัว เปิ้ล มีลูกกว่า 7 คน คนโตออกจากโรงเรียนมาช่วยแม่ ร้อยพวงมาลัยขาย บอกว่าอยากเรียน กศน. กศน.เปิดมา 2 รอบ แล้ว เด็กน้อยของครูก็ยังไม่ได้เรียน แต่เด็กคนอื่นๆ ได้ย้อนกลับไปเรียนอีกครั้ง มีข้าวสารไว้ในหม้อที่หุงสำคัญมาก ลูกฉันมันกินข้าวทีละกาละมัง แม่เปิ้ลพูดถึงลูกๆ แบบเห็นภาพเลยค่ะ
ครอบครัว ปุ๋ยดูแลหลาน กว่า 10 คน 3 ครอบครัว ครอบครัวของพี่ชาย/ครอบครัวตัวเอง/และครอบครัวของน้องสาว ต่างคนที่เป็นหลักไปเที่ยวไกลถึง ฮ่องกง (เข้าเรือนจำ มีข้อหาลักทรัพย์/ติดยาเสพติด) ต่างคนต่างมีหน้าที่ ที่ตัวเองกระทำรับกรรมกันไป แต่เด็กเหล่านี้ก็ต้องมาอยู่รวมกัน มีอะไรก็แบ่งกันกินตามยถากรรม บางครั้งก็หิวจนตาหลายไปเลย กินกันแต่น้ำ
สำหรับครอบครัวที่มีเด็กอยู่ในความดูแล ครูรีบจัดการไม่ให้อดก่อน
จุดที่สอง คือ ใต้ทางด่วนสุขุมวิท 1 มีครอบครัวไทย/ครอบครัวต่างด้าว และมีเด็กเร่ร่อนวัยรุ่นสลับกันมาอยู่ด้วยจำนวนกว่า 21 คน
-ครอบครัว อุ้ม กับ กร ที่อาศัยตอม่ออยู่ มีลูกกับคนกร 2 คน น้องปอ กับน้องแป้ง และมีลูกที่ติดกับนางอุ้มมาอีก 3 คน เป็นเด็กผู้ชายที่เร่ร่อนพร้อมเพื่อนๆ ที่มีการย้ายตัวเองไปเรื่อยๆ แต่เมื่อโควิด-19 มาเด็กเร่ร่อนวัยรุ่นเหล่านี้ เคยขอเงินนักท่องเที่ยว ต้องผันตัวเองออกไปเก็บขยะ หรือแกะเส้นสายไฟ ที่ได้มาประทังชีวิต อาหารที่ได้กินคือ เมื่อครูลงมาจะหอบหิ้ว ข้าวสาร/อาหารแห้ง ครั้งนี้ลงอาหารไว้ 5 ชุดก่อน เพราะยังไม่รู้ว่าสถานการณ์จะยาวนานแค่ไห
-ครอบครัวน้องอาทกับน้องเมย์ มีลูกเล็กอายุ 7 เดือน มาสร้างบ้านอยู่บนพื้นดินโดยใช้ไม้รองเป็นที่นอน ปูด้วยแผ่นไม้อัด ล้อมเป็นห้องด้วยแผ่นพลาสติด มีที่นอนที่เก็บมาได้ ไม่มีห้องครัว แต่ในห้องมีเศษถุงพลาสติคเต็มไป หน้าห้องที่พักก็เต็มไปด้วยเศษขยะ ตัวเด็กเองก็ต้องนอนกับแม่อยู่ในห้องพัก สิ่งสำคัญทำให้มีอาหารกินอย่างน้อย วันละ 1 มื้อ
-เด็กเร่ร่อนวัยรุ่นที่สลับกันมาอยู่ อย่างน้อยต้องมีอาหารวันละ 1 มื้อ เด็กเหล่านี้มาอาศัยที่นอนที่ใต้ทางด่วน อยู่กันเป็นกลุ่มเป็นก้อน
จุดที่สาม ที่ครูคำนึงเป็นอย่างมาก คือครอบครัวของน้องฝน แม่ชื่อดา มีลูก 6 คน
-ด้วยครอบครัวนี้ ไม่สามารถหารายได้เลย เพราะงานทุกอย่างหยุดหมด แม่เคยทำงานที่ตลาดสำโรง คือการเข็นผัก แต่เมื่อเกิดโควิด-19 ตลาดปิดไม่มีการเคลื่อนไหว ทุกคนอยู่แต่ในห้องพัก ออกจากพื้นที่ เพราะต้องห้าม รายได้ไม่มีแต่ทุกวันต้องจ่ายต้องกิน
-สำหรับเด็ก จำนวน 4 คน ที่ต้องเรียนหนังสือ ทุกอย่างเหมือนหยุดนิ่ง แต่คนเราก็ต้องกินวันละ 3 มื้อ
-สำหรับการศึกษา พี่คนโต กำลังจบ ม.3 ซึ่งต้องหาที่เรียน ลูกคนโตอยากเรียนต่อพณิชยการ ซึ่งค่าเล่าเรียนแพงมาก ทางครอบครัวเองไม่มีค่าเล่าเรียนแน่นอน สำหรับครูเองก็ไม่ใช่สิ่งที่อยากให้เด็กได้เรียน เพราะมีประสบการณ์ในการเรียนเพราะใช้เองจำนวนมาก
-สำหรับน้องคนที่สอง กำลังจะจบ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ต้องเรียนต่อ การรับสมัคร การสอบเรียนต่อ เป็นสิ่งที่สับสน ความต้องการของเด็กอยากเรียนเหมือนเด็กทั่วไป แต่ความเป็นจริงคือเด็กต่างด้าวที่ไม่มีเอกสาร และเด็กเองก็ไม่กล้าที่จะไปสมัครเรียนเอง
สำหรับครอบครัวนี้คือการพยุงให้ผ่านพ้นไปด้วยดี อยู่รอดปลอดภัย พร้อมการให้คำปรึกษาในการดำเนินชีวิต
สิ่งเหล่านี้คือจุดเริ่มต้น ที่ครูต้องมาปรับโครงการครูข้างถนน และโครงการโรงเรียนเด็กก่อสร้างเคลื่อนที่
ทุกอย่างต้องเริ่มดำเนินการอย่างต่อเนื่อง