รักแบบผิดๆ....พาลูกหนี
นางสาวทองพูล บัวศรี
ผู้จัดการโครงการครูข้างถนน มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก
ครูอยู่ไหน......ช่วยลูกฉันด้วย
ลูกฉันมันถูกจับ......................
ฉันไม่เคยแยกจากลูกเลย ลูกฉันมันไปเดินเล่น...
ฉันกลับไปส่งลูกชายที่ ปอยเปต กลับมาถึงชุมชน เพื่อนทุกคนบอกว่าลูกฉันถูกจับ
ครู....ฉันไม่รู้ว่าลูกฉันถูกส่งตัวไปที่ไหน....ช่วยฉันด้วย... ดราม่าของแม่มาเต็ม
โทรศัพท์แบบถี่ยับ ทุกชั่วโมง โทรมาก็โอดครวญ เปี่ยมจะขาดใจตาย
งานนี้เริ่มต้นก่อนว่า หน่วยงานไหนเป็นหน่วยงานที่จับ จึงโทรหาเจ้าหน้าที่นักสังคมสงเคราะห์ บ้านพักเด็กและครอบครัวกรุงเทพมหานคร
ขั้นที่ 1 เช็คว่าเด็กอยู่บนถนนคืน วันพุธที่ 5 กุมภาพันธ์ 2563 เด็กมากันเอง สองพี่น้อง แล้วมาเจอน้องมินท์ อีกเด็กครอบครัว วิ่งเล่นกันบนถนน พร้อมขอเงินนักท่องเที่ยวไปด้วย วิ่งกันจนเป็นที่ปวดหัว และสร้างความรำคาญ กับผู้คนที่เดินผ่านไป-ผ่านมา บังเอิญมีทีมกองกำกับการสวัสดิภาพเด็กและสตรี ลงพื้นที่มาพอดี พร้อมรถตู้ เด็กเหล่านี้ถูกรวบตัวไปพร้อมกัน จำนวน 7 คน
ขั้นที่ 2 คัดกรองกันที่ สน.ทองหล่อ แล้วส่งตัวไปบ้านพักเด็กและครอบครัวกรุงเทพมหานคร จำนวน 3 คน มีน้องเด็กหญิงซาน (นามสมมุติ) เด็กส่าน (นามสมมุติ) เด็กหญิงมินท์ (นามสมมุติ) โดยมีน้องซานกับน้องส่าน เป็นพี่น้องกัน สำหรับน้องมินท์ เป็นน้องสาวของเด็กหญิงดำ ที่ออกมาขอเงินทุกคืน
ขั้นที่ 3 แม่เด็กตามหาน้องทั้งสาม คน จนพบที่บ้านพักเด็กและครอบครัวกรุงเทพมหานคร แล้วแม่พูดคุยกับทีมนักสังคมสงเคราะห์ ว่ารู้จักครูจิ๋ว ทางนักสังคมสงเคราะห์ก็ให้นัดหมายครูมาคุยเพื่อว่าจะเอาอย่างไรกับครอบครัวนี้ แต่ครูเองมีงานที่ต้องทำแบบเร่งด่วนมาก ครูจึงคุยให้ส่งเด็กไปยังหน่วยงานที่ใกล้ที่พักของครอบครัวเด็กให้มากที่สุด
สำหรับแม่เด็กใช้คำว่า “จิก” จิก จิก ทุกชั่วโมง จนหมดเวลาที่แม่นัดกับนักสังคมสงเคราะห์ คือเวลา บ่ายสาม ครูเองก็ยังอยู่ที่โรงพยาบาลเพราะเด็กป่วย แม่เองก็ร้องไห้อย่างหนักว่าไม่เคยที่จะพรากจากลูกเลย ถูกจับก็จับด้วยกัน ส่งเข้ารับการคุ้มครองสวัสดิภาพก็ไปอยู่ด้วยกัน เสียงคร่ำครวญที่ออกมาจากปากแม่ ครูเองก็บอกว่าอย่าแสดงละครกับครูเลย ครูเบื่อแล้ว แล้วก็นัดเวลาที่ทีมงานนักสังคมสงเคราะห์จะมาเยี่ยมครอบครัว และนัดคุยกันทั้งแม่กับครู คือ วันอังคารหน้า(4 กุมภาพันธ์ 2563) เด็กทั้ง 3 คน ได้ถูกส่งตัวไปยังบ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดสมุทรปราการ ตั้งแต่ วันศุกร์ที่ 31 มกราคม 2563 โดยมีทีมงานสังคมสงเคราะห์ ดูแลอย่างใกล้ชิด เพราะเด็กทั้ง 3 คน มีอาการอยากหนี แต่ให้ความร่วมมือในกิจกรรมที่ทางทีมงานบ้านพักเด็กและครอบครัวฯเป็นอย่างดี เด็กเลยต้องนอนที่บ้านพักเด็กและครอบครัวฯ ตั้งแต่คืนวันศุกร์,เสาร์,อาทิตย์,วันจันทร์
เด็กเองก็คอยทั้งครูจิ๋วและแม่ แต่ที่ชัดเจนครูจะไปเยี่ยมในวันอังคารแน่นอน ได้คุยกับแม่อย่างชัดเจน
ขั้นที่ 4 ทางทีมนักสังคมสงเคราะห์ จำนวน 2 คน ได้ขอโทรศัพท์ คุยกับครูมุ้ยที่อยู่ในชุมชนเดียวกับแม่เด็กของน้องซานและน้องส่าน โดยทางครูมุ้ยได้พานักส่งคมสงเคราะห์มาเยี่ยมบ้านแม่ของเด็ก ว่ามีที่อยู่ชัดเจนแค่ไหน
สภาพที่พักของแม่เด็กชอบพาลูกนอนที่สะพานลอยทุกคนในชุมชนรู้ดีว่าแม่เอาเงินที่ลูกหามาได้ เอาไปเล่นการพนัน และสิ่งที่เกิดขึ้นคือการเช่าที่นอนเพียงกลางวันเท่านั้น นอกนั้นอาศัยสะพานลอย
แต่การพูดคุยกับนักสังคมสงเคราะห์เอง ทราบข้อมูล รายละเอียด ความคิดเดียวกันจะยังไม่คืนลูกไปให้แม่ แต่ทุกหน่วยงานต้องการส่งเด็กให้ได้เรียนที่ประเทศต้นทาง โดยให้เด็กได้มีโอกาสเข้าเรียนฝึกอาชีพสัก 3 ปี เพื่อการยืดอายุของเด็กที่จะมาใช้ถนนในประเทศไทยเป็นสถานที่ทำมาหากินแบบไม่มีคุณภาพ การศึกษาก็เข้าไม่ถึง เรียนก็ไม่ได้เรียน
แม่เด็กเองยืนยันว่าดูแลได้ ไม่เอาเด็กมาอีกแล้ว จะให้เด็กได้เรียนหนังสือที่กัมพูชา ขอลูกคืน แต่งานนี้ดูรูปการแล้ว เจ้าหน้าที่ของบ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดสมุทรปราการ มีการสงเคราะห์คือ ส่งคืนหน่วยงานขององค์กรเอกชนในการดำเนินการส่งกลับไปประเทศต้นทาง
ขั้นที่ 5 สำหรับครูเอง ทุกวันอังคารมีเรียน โดยเฉพาะเช้าที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563 มีงานเรียนที่ต้องทำเป็นทั้งผู้แนะนำวิทยากรบนเวที ผู้แนะนำการอภิปรายวิทยากรบนเวที ซึ่งถือว่าภารกิจวันนี้หนักมากสำหรับในการเรียน เพราะมีวิทยากรมืออาชีพ สำหรับครูจิ๋ว ก็ทำได้แบบฉบับไม่เหมือนใคร ลดความกังวล แต่ที่แน่ๆมีงานตอนบ่ายรออยู่แถมอยู่ไกล เดินทางอย่างไร (มีความกังวล)
เมื่อเรียนจบงานวันนี้ก็ได้ลืมมือถือไว้ที่ห้องเรียน แต่ตัวครูเองเดินทางไปบ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดสมุทรปราการ ด้วยการเดินทางจากรถแท็กซี ไปที่หมอชิตต่อด้วยรถไฟฟ้า ไปลงที่ สำโรง ด้วยด้วยมอเตอร์ไซด์รับจ้าง ต้องนั่งเรือข้ามไปฝั่งพระประแดง จนถึงบ้านพักเด็กและครอบครัวฯ บ่ายสาม
สำหรับแม่เด็กนัดหมายกันอย่างดีว่า มาเจอกันที่บ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดสมุทรปราการ แต่แม่เด็กเหมาแท็กซีไป สถานคุ้มครองฝึกอาชีพบ้านเกร็ดตระการ คนละสถานที่ คนละแห่ง..
ครูเองได้คุยกับทีมงานนักสังคมสงเคราะห์ คำถามแรก คือครูรู้จักกับครอบครัวเด็กได้อย่างไร งานนี้มีความรู้สึกว่า คำถามแบบการใช้อำนาจเลยนะ แต่สำหรับครูทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ ตอบด้วย
(1) ครูทำงานในฐานะผู้จัดการโครงการครูข้างถนน และเจ้าหน้าที่ครูข้างถนน มูลนิธิสร้างสรรค์
เด็ก หน้าที่สำคัญคือการลงพื้นที่ในภาคสนาม อาทิตย์ละ 3 ครั้ง บางอาทิตย์ก็มากกว่านี้ แต่บางอาทิตย์ ก็ลุยในช่วงกลางคืน ครูจะลงครอบครัวขอทานจำนวนมาก ที่ออกมาขอทานในช่วงค่ำคืน บางครอบครัวก็มากลางวัน บางครอบครัวมาเช้ามืดจนถึงเวลา แปดโมงเช้า สำหรับครอบครัวนี้ เจอกันมานานตั้งแต่ ปี 2556 แล้ว แล้วก็ตามติดชีวิตของเด็กมาตลอด จนดีใจที่แม่ยอมให้ลูกคนที่สอง เช้าเรียน วัดมหาวงษ์ เรียนได้ 2 เดือน แม่ก็เอาออกมาขอทาน
การหาตัวเด็กไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะแม่จะพาลูกเข้า-ออก ประเทศแบบง่ายดายมาก เข้า-ออก เป็นว่าเล่น แต่ก็หลบหลีกการถูกจับมาได้ตลอด
(2) เมื่อวันพุธที่แล้วครูเองพื้นที่กลางคืนเพื่อเฝ้ากรณีศึกษา 2-3 กรณีศึกษา ที่เด็กเหล่านี้ลุกล้ำ
นักท่องเที่ยวแบบประชิดตัว (เทคนิคจะขอเงินนักท่องเที่ยวซึ่งเป็นชาวตะวันตก ถือว่าเป็นการสร้างความรำคาญ และเด็กตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์อีกครั้ง )มีการส่งคลิปเข้ายูทูป โด่งดังกันพร้อมสมควร แล้วมีการแท็กมาหาครูด้วย งานนี้ต้องลงพื้นที่แบบนั่งเฝ้า แล้วก็เจอกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นั่งคุยกันทำความเข้าใจกัน ว่าครูไม่ช่วยใครทั้งนั้นเมื่อถูกจับ เพราะทุกคน ทุกครอบครัว ทำผิดกฎหมาย แต่หน้าที่จะทำให้เด็กได้เข้าสิทธิขั้นพื้นฐานที่เด็กทุกคนควรที่จะได้ ทั้งด้านการศึกษา ด้านสาธารณสุข ฝ่ายเจ้าหน้าที่ คุยต่อว่าครูต้องทำอะไรบ้างเมื่อพบพวกเขาเหล่านั้น
สิ่งที่ครูต้องทำ คือบันทึกพบเด็กกับแม่ครั้งที่เท่าไร ต้องการความช่วยเหลืออะไร แล้วนั่งคุยกันเพื่อหาทางออกกันที่ละกรณีศึกษา บางกรณีศึกษาครูก็แค่นั่งรับฟังสิ่งที่พวกเขาอยากเล่าให้ครูฟัง เช่นครูฉันต้องมาเพราะไม่มีค่าเช่าบ้าน ครูลูกฉันมันป่วย (ป่วยจริง/ป่วยปลอมก็สืบอีกครั้งหนึ่ง)
ครูเวลาเจอพวกเขาเหล่านี้โกหก ครูทำอย่างไร ครูก็เฉยๆนะ ทุกคนเอาตัวรอดกันทั้งนั้น แต่ครูมีการซ้อนแผน เดี๋ยวก็สารภาพกันเอง ด้วยเงื่อนไขของลูก ที่ต้องเรียน ต้องพาไปหาหมอ หรือบางครั้งก็ต้องคุยหาทางออกด้วยกัน
ทุกกรณีคือเมื่อถูกหน่วยงานราชการจับ ครูจะยุติบทบาท ยกเว้นการส่งกลับ เป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานกันมากกว่า ครูย้อนถามไปว่า แล้วพวกน้องๆทุกคนเคยนั่งเฝ้าเด็กไหม ไม่เคยรู้ที่มา-ที่ไป ของเด็ก ได้แค่สอบถามตามหลักสหวิชาชีพ ครูหันไปถามต่อรู้ได้อย่างไรว่าที่เขาพูดมาเขาบอกความจริง......ทุกเรื่อง
ขนาดครูลงประจำกับเขาสิ่งที่ได้มา บางครั้งยังไม่พูดความจริง บางเรื่องต้องรู้จากคนอื่นด้วยซ้ำ ทุกหันมองหน้าครู แล้วพยักหน้า..... การสร้างความไว้วางใจกันใช้เวลายาวนานนะคะ
เมื่อคุยกันรู้ที่มาที่ไปแล้ว ขอเอกสารว่าครูเป็นคนของมูลนิธิสร้างสรรค์เด็กจริง มีบัตรประจำตัวของมูลนิธิฯตั้งแต่สิ้นปีที่แล้ว ให้เจ้าหน้าที่ไปทำเอกสารต่อ เพราะต้องสอบปากคำ ที่เดินทางไกลแสนไกลมาก สิ่งที่ร่วมกันตัดสินใจแล้วจะดำเนินการช่วยเหลือกรณีศึกษาครั้งนี้
1.ทุกคนเห็นด้วยว่าจะไม่คืนเด็กให้แม่ ยกการลงเยี่ยมของนักสังคมสงเคราะห์ พร้อมพูดคุยกับแม่แบบไม่มีการว่างแผน และแม่ก็ไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง
2.ให้ทางมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก รับเด็กแบบส่งไปที่องค์กรเอกชน ทางกัมพูชาได้ไหม ครูจิ๋วตอบว่าได้ ครูขอเวลา 1 อาทิตย์ในการประสานงานกับองค์กรเฟรนด์ ประเทศไทย ที่จะส่งเด็กไปเรียนและฝึกอาชีพที่ CWCC เป็นองค์กรเอกชนด้านผู้หญิงและเด็ก เพื่อการอ่านและฝึกอาชีพ
3.ครูโทรคุยกับองค์กรเฟรนด์ทันที ทุกคนเห็นด้วย ให้องค์กรเฟรนด์ประสานงานทันทีเลย อาทิตย์หน้าทุกอย่างพร้อม ขอเป็นวันจันทร์หรือ วันพฤหัสบดีเป็นอย่างช้า สายตาที่มองไปที่เด็ก ทุกคนร้องไห้ แต่เป็นทางออกที่ดีที่สุดแล้วสำหรับประโยชน์สูงสุดของเด็ก
4.ครูก็เดินทางกลับ หวังว่าทุกอย่างจะมีการเตรียมความพร้อมในระดับหนึ่ง และสิ่งสำคัญ เด็กจะได้กลับไปสู่การศึกษาอีกครั้ง คือความฝันของคนทำงาน
ขั้นตอนที่ 6 ในวันพรุ่งขึ้น วันพุธที่ 5 กุมภาพันธ์ 2563 ความฝันที่ฝันกันทุกหน่วยงาน สลายไปทันที่ เมื่อเวลา 9.00 น. เมื่อแม่เด็กไปเยี่ยมลูกที่บ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดสมุทรปราการ
โทรศัพท์ดังลั่นแต่เช้า ว่า ครูจิ๋ว แม่กับเจ้าซาน/เจ้าส่าน แล้วเอาเด็กที่มาด้วยกัน หายไป หายไปตอนแปดโมงห้าสิบค่ะ ดูจากกล้องวงจรปิด
ตอนนี้ทีมงานของบ้านพักเด็กและครอบครัวฯ ลงไปที่บ้านในชุมชน ทุกคนบอกว่าไม่เห็นแม่กับเด็ก ไม่รู้ไม่เห็นทั้งนั้น
สำหรับแม่เด็ก น้องซาน/น้องส่าน ไปกับแม่และกลับกัมพูชาเลย แม่โทรมาตอนหกโมงเย็นกลับถึงปอยเปตแล้ว ขอโทษครู ทำให้ครูจิ๋วเดือดร้อน แต่แม่ต้องทำแบบนี้ ไม่อยากให้พรากลูก แล้วพรากทีเดียว 2 คน แล้วฉันจะอยู่อย่างไร
ครูเงียบฟังอย่างเดียว แม่เด็กก็ร้องไห้ทางโทรศัพท์ ครูเงียบ แล้วบอกคำเดียว รักถูกหรือรักผิด กันแน่
ถ้าแม่รักลูกจริงๆ ลูกทั้ง 2 คน ต้องได้เรียนตามสิทธิของเด็ก รักแบบแม่คือรักแบบผิดๆ เอาเด็กไว้ใกล้ตัว ให้ขอทานเลี้ยงแม่ แล้วแม่บอกว่ารัก
สำหรับครู แม่ไม่ได้รักลูกอย่างแท้จริง แม่เอาประโยชน์กับเด็กมากกว่า....