เรื่องเล่า ห้องเรียนข้างถนน...ลงพื้นที่จริงเห็นของจริง
นางสาวทองพูล บัวศรี
ผู้จัดการโครงการครูข้างถนน มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก
ด้วยได้รับการติดต่อมาจาก นักเรียนของโรงเรียนปัญโญทัย ซึ่งเป็นการศึกษาทางเลือกสำหรับกลุ่มเด็กเน้นกระบวนการศึกษาของจริงสัมผัสสภาพปัญหาที่เป็นจริง
ครูจิ๋วจึงนัดคุยรายละเอียดในการลงงานจริงๆกับครูจิ๋ว จำนวนกว่า 3 เดือนด้วยกัน เพื่อต้องการให้เด็กๆ ได้นำสิ่งที่เห็นด้วยตา สัมผัสด้วยใจ ได้พูดคุยกับกรณีศึกษา เป็นเรื่องราวในการถ่ายทอดการเรียนรู้เป็นเรื่องเล่า
ออกแบบเป็นเรื่องเล่า พูดถึงเด็กด้อยโอกาสในสังคม โดยเน้นการเขียนเป็นเรื่องเล่า จนกลายเป็น “คุณเห็นพวกเขาไหม” เด็กที่ถูกสังคมเมิน
นักเรียนเป็นกลุ่ม ได้แก่ คุณจิดาภา ศรีอรุโณทัย, คุณนันทิชา พงศ์สร้อยเพชร,คุณลัทธพล อัครพฤทธิ์, คุณสกรรจ์ เกียรติบุญศรี เรื่อง เด็กเร่ร่อน “ไร้บ้าน หรือไร้ตัวตน”
เด็กเร่ร่อน หรือเด็กไร้บ้าน คือเด็กที่ไม่มีบ้านหรือที่อยู่ที่ปลอดภัยเป็นหลักแหล่ง อาศัยอยู่อย่างหลบๆซ่อนๆตามข้างถนน ทางรถไฟ ป้ายรถเมล์ ตอม่อทางด่วน ใต้สะพานลอย รูปลักษณ์ภายนอกดูไม่ค่อยสะอาด ผมยาว มีพฤติกรรมที่พูดจาหยาบคาย ชอบโกหกก้าวร้าวไม่ไว้ใจคน เพราะต้องใช้ชีวิตอย่างหวาดระแวง ต้องคอยหลบเลี่ยงตำรวจหรือเจ้าหน้าที่ที่ตามจับกุม ชอบความท้าทาย ชอบเสี่ยงตาย ติดเพื่อน ติดสิ่งเสพติด สมาธิสั้น ฯลฯ
เด็กเร่ร่อนเป็นหนึ่งในกลุ่ม “เด็กที่ตกอยู่ในสภาวะเสี่ยง” สาเหตุที่เด็กกลุ่มนี้เป็นกลุ่มเสี่ยง เพราะสามารถถูกชักจูงได้ง่าย เด็กกลุ่มนี้มักจะมีปัญหาและความผิดปกติในจิตใจ ซึ่งนำไปสู่ความเสี่ยงที่ทำให้เด็กเข้าถึงยาเสพติดหรือสิ่งผิดกฎหมายได้ง่ายมาก และเมื่อเข้าไปอยู่ในสังคมนั้นแล้ว ก็ยากต่อการที่จะดึงพวกเขาออกมา
เด็กเร่ร่อนสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่ เด็กที่เร่ร่อนมาตามวิถีของครอบครัว เด็กที่หนีออกจากบ้านที่มีปัญหามาเร่ร่อนเอง และกลุ่มสุดท้าย ได้แก่ เด็กต่างด้าวไร้สัญชาติ ซึ่งข้ามชายแดนมากับพ่อแม่ที่มาเป็นแรงงานรับจ้าง
สาเหตุที่เด็กเหล่านี้ออกมาอยู่ตามท้องถนน มีการเร่ร่อนตามครอบครัวมาจากรุ่นสู่รุ่น ซึ่งประเภทนี้มักจะมาจากปัญหาทางเศรษฐกิจหรือสภาวะการเงินในครอบครัวที่ไม่เอื้ออำนวย ทำให้ต้องออกมาอยู่อย่างเร่ร่อนไร้บ้าน เพื่อลดค่าใช้จ่ายเรื่องที่อยู่อาศัย นอกจากประเภทดังกล่าว ส่วนใหญ่แล้ว เด็กมักจะหนีออกจากบ้านมาเร่ร่อนด้วยตนเอง เพราะต้องการอิสระ อยากรู้อยากลอง แต่สาเหตุที่เป็นปัญหา คือในบ้านขาดความอบอุ่น พ่อแม่ไม่รักกัน ติดยาเสพติด ใช้ความรุนแรง ใช้แรงงาน เลี้ยงดูลูกอย่างไม่ถูกวิธี กดดันลูก หรือบังคับให้เรียนหนัก ทำให้เด็กรู้สึกต้องแบกรับภาระ รู้สึกขาดความรัก รู้สึกไร้ค่า ทำให้เลือกที่จะออกมาอยู่ข้างถนนและเพื่อนร่วมชะตาเดียวกันเรียกว่าสถานการณ์ “บ้านร้อน” ซึ่งปัญหานี้เกิดจากการที่พ่อแม่ไม่มีวุฒิภาวะ ความรู้ หรือความพร้อมในการเลี้ยงดูลูก โดยที่ส่วนหนึ่งอาจจะมาจากปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อม หรือพ่อแม่ที่ได้รับการเลี้ยงดูแบบเดียวกันนี้มาจากพ่อแม่รุ่นก่อนอีกทีหนึ่ง ปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาเรื้อรังในสังคมไทยที่สืบทอดต่อๆกันมาจากรุ่นสู่รุ่น โดยที่ผลของการกระทำเหล่านั้นก็มาตกอยู่กับเด็กที่เป็นผลผลิตจากคนรุ่นก่อน
อาชีพของเด็กเร่ร่อน มีมากมายหลายแบบ ตั้งแต่การขอทาน เก็บขยะขาย ขายดอกไม้ ขายพวงมาลัย ขายบริการทางเพศ หรืออาชีพที่เกี่ยวกับอาชญากรรม เช่น ลักทรัพย์ ปล้นจี้ เป็นตัวกลางส่งยาเสพติด สาเหตุมาจากการที่เด็กเหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่มีใบเกิดหรือเอกสารประจำตัว หรือเพราะเป็นเด็กต่างด้าว ทำให้ไม่สามารถเข้าโรงเรียน รับการรักษาพยาบาล เข้าถึงสิทธิพื้นฐานต่างๆพลเมือง หรือสามารถประกอบอาชีพที่สุจริตได้
ปัญหาและข้อจำกัดต่างๆในชีวิตของพวกเขามีอยู่มากมายตั้งแต่
1.สภาพสังคม การถูกสังคมรังเกียจ ดูถูก ทำให้พวกเขาไม่มีโอกาสหรือพื้นที่ในสังคมให้ยืนอยู่ได้เท่าเทียมกับผู้อื่นเมื่อไม่มี “ทางเลือก” บนเส้นทางชีวิตที่สุจริต สิ่งที่เหลืออยู่จึงมีเพียง “ทางรอด” และด้วยเหตุผลที่ว่าอาชีพเหล่านี้สามารถหารายได้ได้มากกว่าอาชีพสุจริต ทำให้พวกเขาหันไปหารายได้จากการทำงานไม่สุจริตใน “สังคมสีเทา” บ้างก็ทำตามคำชักชวนของเพื่อน บ้างก็ทำตามความอยากรู้อยากลองของตนเอง และเมื่อไม่มีความรู้ บ้างก็ถูกผู้ใหญ่เร่ร่อนล่อลวงไปเข้าสู่การทำอาชีพผิดกฎหมาย หรือบ้างก็มาจากปัญหาด้านจิตใจ เมื่อเด็กมีช่องว่างในจิตใจ เด็กก็ต้องการที่จะหาอะไรมาเติมเต็ม เช่น เด็กขาดความรักความอบอุ่นจากครอบครัว พวกเขาจึงหันไปเสพยา ดมกาว เมื่อเห็นภาพหลอนของพ่อแม่หรือเกิดอาการ "ดึงดาว" เขาก็จะเอื้อมมือไปหาแม่ ดึงแม่ลงมา แล้วจินตนาการว่าได้อยู่ด้วยกัน เป็นต้น
2.การทำงานของเจ้าหน้าที่ที่ไม่สุจริต มีเรื่องผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง ตามจับกุมเด็ก รับสินบน แล้วก็ปล่อยให้เด็กออกมาตามเดิม หรือธุรกิจ "การรับจ้างติดคุก" ระหว่างเด็กกับเจ้าหน้าที่เพื่อเป็นหน้าเป็นตา และคะแนนปฏิบัติงานให้กับเจ้าหน้าที่
3.นโยบายการแก้ไขปัญหาที่ไม่ตรงจุด เช่น การจับกุมเด็กที่ต่ำกว่า 18 ปี แล้วส่งเด็กไปยังสถานสงเคราะห์ ซึ่งมีกฎระเบียบและตารางเวลาที่ชัดเจนและเข้มงวด จากเด็กเร่ร่อนที่เคยใช้ชีวิตอย่างอิสระ เมื่อต้องมาอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ข้อบังคับ จึงทำให้รู้สึกต่อต้าน และสุดท้ายก็หลบหนีออกมา หรือการจับกุมเด็กที่มีอายุมากกว่า 18 ปี ขึ้นไป เด็กจะถูกส่งตัวไปยังสถานพินิจหรือคุก ซึ่งสังคมในคุก อย่างที่เรารู้กันว่ามีสภาพความเป็นอยู่ที่เลวร้ายและเสื่อมโทรม เด็กเข้าไปรับสิ่งต่างๆเหล่านั้นออกมา สภาพจิตใจและพฤติกรรมก็แย่ลงกว่าเดิม ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาให้ดีขึ้นเลย
สถานการณ์ของเด็กเร่ร่อนในปัจจุบันนี้(ข้อมูลจาก ปี พ.ศ. 2559) จำนวนของเด็กเร่ร่อนในกรุงเทพมหานครทั้งเด็กไทยและต่างด้าวมีประมาณ 50,000 คน ซึ่งกำลังขยายจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆในขณะที่ผู้ดูแลหรือให้การช่วยเหลือในด้านนี้กลับน้อยลงทุกวัน ส่วนรูปแบบการช่วยเหลือที่มีในปัจจุบัน ได้มีการเปิดบ้านหรือสถานสงเคราะห์ต่างๆที่ไว้รองรับเด็ก ยกตัวอย่างรูปแบบ เช่นมีบ้านเปิด (Open Home) ที่รับเด็กเข้ามาอยู่ในความดูแลจนถึงอายุ 18 ปี ลักษณะเหมือนเป็นบ้านพัฒนาเด็ก และบ้านแรกรับ(Drop-in Center) เป็นศูนย์เปิดให้เด็กเข้า-ออกเมื่อไรก็ได้ โดยจะมีปัจจัย 4 ที่จำเป็นไว้พร้อมเพื่อรองรับเด็กและเยาวชน นอกจากการจัดตั้งสถานที่รองรับเด็กแล้ว ได้มีการเริ่มโครงการ "ครูข้างถนน" ซึ่งเป็นวิธีการที่เจ้าหน้าที่ทำงานเชิงรุกเข้าถึงตัวเด็กทำให้เข้าช่วยเหลือได้ทั่วถึง และเจาะจงมากขึ้นแต่ก็ดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นนั้น บุคลากรและความช่วยเหลือก็กำลังลดน้อยลงทุกวัน
มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก
หลังจากที่พวกเราได้ไปสัมภาษณ์ครูจิ๋ว หรือครูทองพูล บัวศรี หนึ่งในบุคลากรจากโครงการครูข้างถนนของมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก จนพอจะรวบรวมข้อมูลของเด็กเร่ร่อนมาได้บ้างแล้ว พวกเราก็มีโอกาสได้ติดตามครูจิ๋วไปลงพื้นที่ติดตามเด็กอยู่หลายครั้ง ทุกครั้งที่ลงพื้นที่ ครูจิ๋วจะมีกระเป๋าสองใบเสมอ ใบหนึ่งบรรจุขนมและเครื่องอุปโภค บริโภค ที่จำเป็น อีกใบหนึ่งเป็นกระเป๋าเอกสารของครูจิ๋วเอง ครูจิ๋วได้พาพวกเราออกเดินไปตามทางรถไฟเก่า สองข้างทางมีบ้านขนาดเล็กเรียงกันแน่น บนทางรถเดินรถไฟมีก้อนหินขรุขระทำให้ก้าวเดินได้ยาก ขณะที่เราเดินเข้าไป เราจะรู้สึกได้ถึงสายตาที่มองมาด้วยความหวาดระแวงแกมสงสัย ผู้คนบางกลุ่มก็ตั้งวงดื่มเหล้า หรือบ้างก็ตั้งวงพนันเล่นกันกับเจ้าหน้าที่กันอย่างโจ่งแจ้ง
เดินต่อไปอีกสักระยะ ครูจิ๋วก็พาเราเลี้ยวตามแนวรั้วริมถนนเข้าไปยังประตูเหล็ก ซึ่งเป็นทางเข้าไปยังใต้ทางด่วน เราทุกคนต่างตื่นตัวและระวัง เพราะข้างใต้นั้นทั้งมืด อับชื้น และมียุง ชุกชุม ทุกก้าวที่เหยียบลงไป จะมีขยะหรือไม่ก็โคลนชื้นแฉะอยู่ ใต้เท้า เราเริ่มเกิดความสงสัยว่า ในที่แบบนี้ มีคนอาศัยอยู่ด้วยหรือ !! เมื่อเดินลึกเข้าไป เราก็เห็นเพิงพักที่ถูกสร้างขึ้นอย่างง่ายๆอยู่บนตอม่อ เมื่อครูจิ๋วร้องเรียก ก็มีเด็กวัยรุ่นประมาณ 2-3 คน ออกมาต้นรับ ครูจิ๋วปืนขึ้นไปนั่งอยู่บนนั้น หยิบนมและขนมต่างๆในกระเป๋าให้กับเด็กๆ สิ่งของที่ครูจิ๋วนำมาให้เด็กๆเหล่านี้เป็นช่องทางหนึ่งในการสร้างความไว้วางใจ นอกจากนั้นครูจิ๋วยังได้พูดคุยไถ่ถามเรื่องราวของพวกเขาด้วยท่าทีที่สนิทสนม ในระหว่างที่พูดคุย ครูจิ๋วจะจดบันทึกข้อมูลไว้ตลอด และพยายามสอน ตักเตือน ให้แนวทางการใช้ชีวิตและความรู้ด้านกฎหมายกับเด็กๆและผู้ปกครอง
นอกจากเด็กกลุ่มนั้น เราก็ได้พบครอบครัวหนึ่งที่อาศัยอยู่ใต้ทางด่วนเช่นกัน ที่นอนของเขามีเพียงฟูกเก่าๆวางอยู่บนพื้นดินคลุกฝุ่นเท่านั้น ซึ่งเมื่อครูจิ๋วเข้าไปพูดคุยด้วย ผู้เป็นแม่ก็จะถามอยู่เสมอว่า "นี่ไม่ได้จะมาจับใช่ไหม" ซึ่งมันสะท้อนถึงสิ่งที่สังคมได้กระทำลงไป จนมันถึงขั้นฝังลึกลงไปยังจิตใจของพวกเขา เมื่อพูดคุยไปนานพอสมควร พวกเราก็กลับออกมา ครูจิ๋วบอกพวกเราว่าข้อมูลเกือบทั้งหมดที่พวกเขาพูดมาเป็นเท็จ เพราะเด็กเหล่านี้ไม่ไว้ใจใครและระแวงไปหมดเสียทุกอย่าง การทำงานแบบนี้ จะต้องอาศัยความใจเย็นและความอดทนสูง แต่ละกรณีอาจใช้เวลานานกว่าสองปีถึงสามปี
"การทำงานกับเด็กๆนั้นขึ้นอยู่กับว่าเราจะใช้สายตาหรือหัวใจในการมอง"
จากการได้ติดตามครูจิ๋วลงพื้นที่ทำให้พวกเราได้เห็นสภาพความเป็นจริงๆของเด็กเร่ร่อน ทำให้เราได้รู้เลยว่า เราไม่เคยรู้จักพวกเขาจริงๆ ถ้าเช่นนั้น แล้วสังคมล่ะ !!! ในตัวเมืองที่ดูมีความเจริญนั้น กลับมีคนจำนวนมากที่ต้องใช้ชีวิตอยู่กันตามข้างถนน และถูกห้อมล้อมด้วยวงจรสีเทา เป็นภาพสะท้อนว่าสังคมเรา มีความเจริญเพียงด้านวัตถุเท่านั้น ถ้าเราได้รู้จักพวกเขา เราก็ควรที่จะหยิบยื่นโอกาสให้กับพวกเขา เพราะพวกเขาก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคม เหมือนๆกับเรา
สิ่งที่นักเรียนทั้งสี่คนได้เขียนเป็นเรื่องเล่า ถือได้ว่าการจัดห้องเรียนข้างถนน ได้ส่งผลกลับนักเรียนที่ลงมาเห็นของจริง สภาพปัญหาเป็นจริงๆ ให้เกิดความรู้สึกที่ติดตัวนักเรียนไปอีกยาวไกล จนพวกเขาเหล่านี้มีงานทำ มีโอกาส พวกเขาเหล่านี้จะให้โอกาสเด็กได้มีที่ยืน บทเรียนของเด็กเร่ร่อนวัยรุ่นในรุ่นเดียวกับพวกเขา ครอบครัวเร่ร่อน ได้ส่งผลให้เห็นว่าคนไร้ที่อยู่อาศัย แวดล้อมด้วยกองขยะ เอาก็คือคนไทยเหมือนกับพวกเราทุกคน
ขอเพียง "ให้โอกาสกับเด็กเร่ร่อน ครอบครัวเร่ร่อน มีที่ยืนบนสังคม"