banner
พุธ ที่ 24 เดือน ตุลาคม พ.ศ.2561 แก้ไข admin

ใบรับรองการเกิด/ใบเกิด เด็กต่างด้าว

 

นางสาวทองพูล บัวศรี

ผู้จัดการโครงการครูข้างถนน  มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก

 

          ด้วยต้องรับผิดชอบงาน สองโครงการ คือ โครงการครูข้างถนน และโครงการโรงเรียนเด็กก่อสร้างเคลื่อนที่  เป็นที่ปรึกษาโครงการศูนย์เด็กก่อสร้าง   โดยมีกลุ่มเป้าหมาย เด็กเร่ร่อนไทย/และเด็กเร่ร่อนต่างด้าว   กับเด็กลูกกรรมก่อสร้างไทย/กับเด็กลูกกรรมก่อสร้างต่างด้าว

          แผนงานที่ต้องดำเนินการอีกเรื่องที่สำคัญ คือกลุ่มเด็กเร่ร่อนต่างด้าว กับเด็กลูกกรรมกรก่อสร้างต่างด้าว   คือเด็กที่มาเกิดในประเทศไทยต้องมีใบรับรองการเกิด/ใบเกิด

          คำถามของผู้ปกครอง     ครูฉันอยากได้ใบเกิดจะต้องทำอย่างไร

          คำตอบของครู              เธอพาลูกคลอดที่ไหน!!!!!

          คำตอบของผู้ปกครอง     พากันไปคลอดที่โรงพยาบาล   ฉันพาลูกหนีฉันไม่มีเงินจ่ายค่าคลอด

           -ฉันค้างค่าคลอดที่โรงพยาบาล  เขาเลยให้ใบแจ้งหนี้แทนใบรับรองการเกิด

           -ฉันอ่านภาษาไทยไม่ได้  ไม่รู้ขั้นตอนฉันจึงได้แต่นอนกอดใบรับรองการเกิด

         ครู   สรุปว่าทุกคนยังไม่มีใบเกิดใช่ไหม   ครูเองมีกรณีศึกษาจำนวน เป็นร้อยเหมือนกัน ดำเนินการได้ไม่กี่กรณีเอง   เพราะการหาหลักฐานมันยาก

          แต่ครูไม่ได้ช่วยเหลือให้เด็กเหล่านี้เป็นคนไทยนะ    แต่ครูต้องการให้พวกเขาทุกคนได้ใบเกิด  จะได้เข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานต่างๆ

          การทำงานของครูข้างถนน ครูสอนลูกกรรมก่อสร้าง  ขาข้างหนึ่งเสี่ยงเรื่องการติดคุก ติดตาราง  แต่สำหรับคนทำงานอย่างครู ใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องในการทำงานช่วยเหลือเด็ก  เพราะเด็กเหล่านี้มีที่ยืนในสังคม  เขาเหล่านั้น คือ"พลเมืองอาเซียนที่มีคุณภาพ"

          รับรองได้มีปฏิญญา กติการะหว่างประเทศ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ที่กล่าวถึงเรื่องนี้โดยเฉพาะ  กฎหมายไทยก็ให้ความสำคัญเรื่องนี้ไว้ด้วย

          ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights) ค.ศ. 1948 

          ข้อ 6

          "บุคคลทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการยอมรับนับถือว่าเป็นบุคคลตามกฎหมายในทุกสถานที่ "

          กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ค.ศ. 1966 (ICCPR)

          ข้อ 24

          1.เด็กทุกคนย่อมมีสิทธิในมาตรการต่างๆเพื่อการคุ้มครองเท่าที่จำเป็นแก่สถานะแห่งผู้เยาว์ ในส่วนของครอบครัวของตน สังคม และรัฐ โดยปราศจากการเลือกปฏิบัติอันเนื่องจากเชื้อชาติ ผิว เพศ ภาษา ศาสนา เผ่าพันธุ์แห่งชาติหรือสังคม ทรัพย์สิน หรือกำเนิด

          2.เด็กทุกคนย่อมมีหลักฐานทางทะเบียนทันทีที่ถือกำเนิดและย่อมได้รับการตั้งชื่อ

          3.เด็กทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับสัญชาติ

 

          อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก   ที่กล่าวไว้คือ  มาตรา 7

          1.เด็กจะได้รับการจดทะเบียนทันทีหลังการเกิด  และจะมีสิทธิที่จะมีชื่อนับแต่การเกิด  และมีสิทธิจะได้สัญชาติ และเท่าที่จะเป็นไปได้ สิทธิที่จะรู้จัก และได้รับการเลี้ยงดูจากบิดามารดาของตน

          2.รัฐภาคีจะประกันให้มีการปฏิบัติตามสิทธิเหล่านี้ตามกฎหมายภายในและพันธกรณีของรัฐภาคี ที่มีอยู่ภายใต้ตราสารระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกรณีที่เด็กจะตกอยู่ในสถานะไร้สัญชาติ

          มาตรา 8

          1.รัฐภาคีรับที่จะเคารพต่อสิทธิของเด็ก ในการรักษาเอกลักษณ์ของตนไว้รวมถึงสัญชาติ ชื่อ และความสัมพันธ์ทางครอบครัวของตนตามที่กฎหมายรับรองโดยปราศจากการแทรกแซงที่มิชอบด้วยกฎหมาย

          2.ในกรณีที่มีการตัดเอกลักษณ์บางอย่าง หรือทั้งหมดของเด็กออกไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย  รัฐภาคีจะให้ความช่วยเหลือและความคุ้มครองตามสมควร  เพื่อให้เอกลักษณ์ของเด็กกลับคืนมาโดยเร็ว

         

          ได้มีความเห็นทั่วไป ฉบับที่ 21 (2560) เกี่ยวกับเด็กเร่ร่อนบนท้องถนน จากคณะกรรมการด้านสิทธิเด็ก  เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2560  (General comment No.21 (2017)  on children in Street  situations )  ได้กล่าว มาตรา 7 การจดทะเบียนการเกิด/ใบสูติบัตร และมาตรา 8 การยืนยันตัวตน

          การขาดหลักฐานยืนยันตัวตนส่งผลด้านลบแก่การคุ้มครองสิทธิสำหรับเด็กเร่ร่อนบนท้องถนน ในด้านการศึกษา สุขภาพและการให้บริการด้านสังคมอื่นๆ  ด้านศาลยุติธรรม  การรับมรดก และคืนสู่ครอบครัว  อย่างน้อยรัฐควรการจดทะเบียนการเกิด/ใบสูติบัตร นั้นเข้าถึงง่ายและรวดเร็วสำหรับเด็กทุกเพศทุกวัย  เด็กเร่ร่อนบนถนนควรได้รับการสนับสนุนให้ได้รับเอกสารแสดงตนทางกฎหมาย  ในการแก้ปัญหาชั่วคราวรัฐ   และรัฐบาลท้องถิ่นควรอนุญาตให้มีการแก้ปัญหารูปแบบใหม่และมีความยืดหยุ่น  เช่น การจัดเตรียมบัตรประจำตัวที่ไม่เป็นทางการ ซึ่งเชื่อมโยงกับบุคลากร/ที่อยู่ของประชาสังคม  เพื่อให้เด็กๆสามารถเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐาน และการคุ้มครองในระบบยุติธรรมได้  ควรใช้แนวทางใหม่เพื่อเอาชนะความท้าทายที่เด็กเร่ร่อนบนท้องถนนต้องเผชิญ  ซึ่งมักเปลี่ยนแปลงเร็วและผู้ที่ไม่มีความสามรถในการเก็บรักษาเอกสารประจำตัวให้ปลอดภัย โดยไม่สูญหายหรือเสียหายหรือถูกขโมย

 

          ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สำหรับในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  ได้มีการประชุมหา เรื่อง แนวปฏิบัติที่ดี ในการแก้ปัญหาภาวะไร้สัญชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  โดยเป็นรายงานการประชุมผู้เชียวชาญระดับภูมิภาค เรื่อง แนวปฏิบัติที่ดี ในการระบุขอบเขต การป้องกัน การลดภาวะไร้สัญชาติ และการคุ้มครอง คนไร้สัญชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้   ณ. กรุงเทพมหานคร  เมื่อวันที่ 28-29  ตุลาคม 2553    โดยสรุปสิ่งที่ต้องดำเนินการของสมาชิก

          ข้อแนะนำสำหรับการแก้ไขปัญหาภาวะไร้สัญชาติในอนาคต

          1.ระบุประชากรไร้สัญชาติ  รวบรวมข้อมูลรอบด้านเพื่อประเมินสถานการณ์ความรุนแรงของปัญหา และองค์ประกอบแวดล้อมของปัญหานี้ทั่วภูมิภาค

          2.ศึกษาวิเคราะห์ข้อกฎหมายในภูมิภาค เพื่อให้กฎหมายที่เกี่ยวกับประเด็นสัญชาติมีความโปร่งใสและสามารถใช้ในการพิสูจน์สัญชาติของแรงงานข้ามชาติและผู้ที่เป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ได้

          3.จัดประชุมระดับภูมิภาคระหว่างเจ้าหน้าที่ทะเบียนราษฎร เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดีในการจดทะเบียนเกิด และรายละเอียดเฉพาะเกี่ยวกับการป้องกันปัญหาไร้สัญชาติในบริบทนี้

          4.จัดทำเอกสารประจำตัวให้กับคนไร้สัญชาติ  อาจออกเอกสารดังกล่าวได้ ในระหว่างการประมวลภาพรวมของประชากรไร้สัญชาติ เพื่อเป็นหลักประกันว่าทุกคนมีหลักฐานประจำตัว

          5.สานต่อโอกาสเพื่อความร่วมมือในภูมิภาคภายใต้กรอบทวิภาคีและพหุภาคี โดยใช้แนวคิดที่ว่าไม่มีวิธีการใดที่จะใช้แก้ปัญหาได้ทุกที่ การนำแนวทางที่รับทราบจากการแลกเปลี่ยนมาใช้และมีการปรับให้เหมาะกับสถานการณ์ในแต่ละประเทศ

          6.สนับสนุนในคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ร่วมหาแนวทางในการแก้ปัญหานี้ ผ่านการทำงานเกี่ยวกับการย้ายถิ่น และการร่างปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน

          7.เปิดโอกาสให้คนไร้สัญชาติมีส่วนร่วมในการสนทนาทั้งในระดับชาติ และระดับภูมิภาค เพื่อให้พวกเขาได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็นในการกำหนดยุทธศาสตร์เพื่อการแก้ปัญหาที่พวกเขาเผชิญ

          8.เผยแพร่ข้อมูลต่อสาธารณสุขมากขึ้น รวมถึงการนำเสนอ "หน้าตา" ที่แท้จริงของปัญหานี้ผ่านสื่อ

          9.ติดตามแนวทางปฏิบัติที่ดีที่เกิดขึ้นในภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง เพื่อรับทราบเนื้อหาที่อาจเป็นประโยชน์ในการแก้ปัญหาไร้สัญชาติต่อไป

 

สำหรับประเทศไทยได้มีการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รัฐธรรมนูญราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 โดยเฉพาะ

มาตรา 4  ศักดิ์ความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลย่อมได้รับความคุ้มครอง

มาตรา 27 บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมายมีสิทธิและเสรีภาพและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน

ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน

การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลไม่ว่าด้วยเหตุความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ความพิการ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคมความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือเหนุอื่นใด จะกระทำมิได้

มาตรการที่รัฐกำหนดขึ้นเพื่อขจัดอุปสรรคหรือส่งเสริมให้บุคคลสามารถใช้สิทธิหรือเสรีภาพได้เช่นเดียวกับบุคคลอื่น หรือเพื่อคุ้มครองหรืออำนวยความสะดวกให้แก่ สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ หรือผู้ด้อยโอกาสย่อมไม่ถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมตามวรรคสาม

พระราชบัญญัติทะเบียนราษฎร พ.ศ.2534 แก้ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551

มาตรา ๑๓ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคสามของมาตรา ๑๘ แห่งพระราชบัญญัติ

การทะเบียนราษฎร พ.๒๕๓๔ในกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน การแจ้งตามวรรคหนึ่งจะแจ้งต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งแห่งท้องที่อื่นก็ได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง


             มาตรา ๑๔ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๙ แห่งพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.๒๕๓๔

และให้ใช้ความต่อไปนี้แทนมาตรา ๑๙ ผู้ใดพบเด็กในสภาพแรกเกิดหรือเด็กไร้เดียงสาซึ่งถูกทอดทิ้งให้นำตัวเด็กไปส่งและแจ้งต่อพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ซึ่งปฏิบัติงานในท้องที่ที่พบเด็กนั้นโดยเร็ว เมื่อพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจหรือเจ้าหน้าที่ดังกล่าวได้รับตัวเด็กไว้แล้วให้บันทึกการรับตัวเด็กไว้ ในกรณีที่พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจรับเด็กไว้ ให้นำตัวเด็กพร้อมบันทึกการรับตัวเด็กส่งให้เจ้าหน้าที่ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ในเขตท้องที่ ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ดังกล่าวได้รับตัวเด็กไว้หรือได้รับตัวเด็กจาก  พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจแล้ว ให้แจ้งการเกิดต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งและให้นายทะเบียนออก ใบรับแจ้ง ทั้งนี้ ตามระเบียบและแบบพิมพ์ที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนดบันทึกการรับตัวเด็กตามวรรคหนึ่งให้ทำเป็นสองฉบับและเก็บไว้ที่เจ้าหน้าที่ผู้รับตัวเด็กหนึ่งฉบับและส่งมอบให้กับนายทะเบียนผู้รับแจ้งหนึ่งฉบับ โดยให้มีรายละเอียดเกี่ยวกับรายการบุคคลของผู้ที่พบเด็ก พฤติการณ์ สถานที่และวันเวลาที่พบเด็ก สภาพทางกายภาพโดยทั่วไปของเด็ก เอกสารที่ติดตัวมากับเด็ก และประวัติของเด็กเท่าที่ทราบ และในกรณีที่ไม่อาจทราบสัญชาติของเด็กให้บันทึกข้อเท็จจริงดังกล่าวไว้ด้วย

มาตรา ๑๕ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๑๙/๑ มาตรา ๑๙/๒ และมาตรา ๑๙/๓แห่งพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.๒๕๓๔  “มาตรา ๑๙/๑ เด็กเร่ร่อนหรือเด็กที่ไม่ปรากฏบุพการีหรือบุพการีทอดทิ้งซึ่งอยู่ในการอุปการะของหน่วยงานของรัฐหรือหน่วยงานเอกชนที่จดทะเบียนตามกฎหมายโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการสงเคราะห์ช่วยเหลือเด็กตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด ถ้าเด็กยังไม่ได้แจ้งการเกิดและไม่มีรายการบุคคลในทะเบียนบ้านให้หัวหน้าหน่วยงานหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากหัวหน้าหน่วยงานเป็นผู้แจ้งการเกิดต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งแห่งท้องที่ที่หน่วยงานนั้นตั้งอยู่ และให้นายทะเบียนออกใบรับแจ้ง ทั้งนี้ ตามระเบียบและแบบพิมพ์ที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนด


                     มาตรา ๑๙/๒ การพิสูจน์สถานะการเกิดและสัญชาติของเด็กตามมาตรา ๑๙ และมาตรา ๑๙/๑ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง ในกรณีที่ไม่อาจพิสูจน์สถานะการเกิดและสัญชาติได้ ให้นายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นจัดทำทะเบียนประวัติและออกเอกสารแสดงตนให้เด็กไว้เป็นหลักฐาน ตามระเบียบที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนด

                        มาตรา ๑๙/๓ ผู้มีสัญชาติไทยซึ่งเจ้าบ้านหรือบิดามารดามิได้แจ้งการเกิดให้ตามมาตรา ๑๘อาจร้องขอต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งเพื่อแจ้งการเกิดได้ตามระเบียบที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนด  และให้นำความในมาตรา ๑๙/๒ มาใช้บังคับโดยอนุโลมในกรณีที่บุคคลตามวรรคหนึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะ ให้บิดามารดาหรือผู้ปกครองแจ้งแทนได้แต่สำหรับกรณีของบิดามารดาให้นายทะเบียนผู้รับแจ้งดำเนินการให้ต่อเมื่อได้ชำระค่าปรับตามที่นายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นเปรียบเทียบตามมาตรา ๔๗ (และมาตรา ๕๑ แล้ว

                 มาตรา ๑๖ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๒๐ แห่งพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎรพ.๒๕๓๔ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทนมาตรา ๒๐ เมื่อมีการแจ้งการเกิดตามมาตรา ๑๘ มาตรา ๑๙ มาตรา ๑๙/๑ หรือมาตรา ๑๙/๓ ทั้งกรณีของเด็กที่มีสัญชาติไทยหรือเด็กที่ไม่ได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตามกฎหมายว่าด้วยสัญชาติ ให้นายทะเบียนผู้รับแจ้งรับแจ้งการเกิดและออกสูติบัตรเป็นหลักฐานแก่ผู้แจ้งโดยมีข้อเท็จจริงเท่าที่สามารถจะทราบได้สำหรับการแจ้งการเกิดของเด็กที่ไม่ได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตามกฎหมายว่าด้วยสัญชาติให้นายทะเบียนผู้รับแจ้งออกสูติบัตรให้ตามแบบพิมพ์ที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนด โดยให้ระบุสถานะการเกิดไว้ด้วย

                      มาตรา ๑๗ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๒๐/๑ แห่งพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.๒๕๓๔มาตรา ๒๐/๑ ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้สัญชาติไทยแก่กลุ่มบุคคลใดหรือให้กลุ่มบุคคลใดแปลงสัญชาติเป็นไทยได้ หรือกรณีมีเหตุจำเป็นอื่น และบุคคลดังกล่าวจำเป็นต้องมีหนังสือ

รับรองการเกิด ให้กลุ่มบุคคลดังกล่าวยื่นคำขอหนังสือรับรองการเกิดตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่

ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนด

 

            จากข้อมูลดังกล่าว ทั้งปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights) ค.ศ. 1948, กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ค.ศ. 1966 (ICCPR),  อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ,  ความเห็นทั่วไป ฉบับที่ 21 (2560) เกี่ยวกับเด็กเร่ร่อนบนท้องถนน จากคณะกรรมการด้านสิทธิเด็ก  เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2560  (General comment No.21 (2017)  on children in Street  situations )   ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สำหรับในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  ได้มีการประชุมหา เรื่อง แนวปฏิบัติที่ดี ในการแก้ปัญหาภาวะไร้สัญชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  โดยเป็นรายงานการประชุมผู้เชียวชาญระดับภูมิภาค เรื่อง แนวปฏิบัติที่ดี ในการระบุขอบเขต การป้องกัน การลดภาวะไร้สัญชาติ และการคุ้มครอง คนไร้สัญชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้   ณ. กรุงเทพมหานคร

            สำหรับในประเทศได้มี รัฐธรรมนูญราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560  พร้อมด้วยพระราชบัญญัติทะเบียนราษฎร พ.ศ.2534 แก้ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551  และได้มีระเบียบปฏิบัติอีกหลายฉบับโดยเฉพาะ เรื่องหลักปฏิบัติในการดำเนินให้เด็กต่างด้าวที่เกิดในประเทศไทยต้องได้ใบรับรองการเกิดและใบเกิด

ในการทำงานของครูทั้งในบทบาทของครูข้างถนน และครูโรงเรียนเด็กก่อสร้างเคลื่อนที่ ที่พบปัญหาของเด็กที่เกิดในประเทศไทย ที่ไม่ได้ใบรับรองการเกิด/ใบเกิด  ทำงานอย่างเต็มที่ พร้อมทั้งเรียนรู้ในการใช้กติการะหว่างประเทศ และกฎหมายในประเทศไทยให้เด็กทุกคนได้รับใบรับรองการเกิด/ใบเกิด  เพื่อสิทธิขั้นพื้นฐาน

เพราะครูได้ปฏิบัติตามสิทธิมนุษยชน จึงไม่กลัวการถูกจับ หรือการถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ส่งเสริมการค้ามนุษย์  ดังหลายๆๆบุคคลกล่าวอ้างมา  ความสำคัญในการทำงานที่เป็นปัญหาในขณะนี้คือการเข้าถึงแม่และเด็กเร่ร่อนต่างด้าว/แม่และเด็กลูกกรรมกรก่อสร้างต่างหากที่เป็นประเด็นในการทำงาน   ซึ่งต้องมีตัวเชื่อม คนเข้าใจ  สร้างความไว้วางใจ ให้แม่ที่ไปดำเนินการ เพื่อให้เด็กทุกคนได้ใบเกิด.. อีกประเด็นหนึ่งคือการบังคับใช้กฎหมายของประเทศไทย ทั้งสถานพยาบาล สำนำเขต/อำเภอ  ที่ยังไม่ดำเนินการมีอีกจำนวนมาก




ครูเองมีบทความที่เกี่ยวข้องเรื่องสิทธิการศึกษา...ในเว็บไซด์ ของมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก   ได้แก่

          (1)เรื่อง สถานการณ์การคุ้มครองเด็กต่างด้าวที่เดินทางเข้าประเทศไทยโดยลำพังหรือแยกจากผู้ปกครอง ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล     เผยแพร่เมื่อ วันที่ 10 มิถุนายน 2558

          (2)เรื่อง ขอพื้นที่ให้เด็กเร่ร่อนได้มีที่ยืน...ในสังคม    เผยแพร่เมื่อ วันที่ 10 มิถุนายน 2558

          (3)เรื่อง ใบเกิด..ความสำคัญกับเด็กเร่ร่อนต่างด้าว   เผยแพร่เมื่อ วันที่ 13 สิงหาคม 2558

          (4)เรื่อง  ถานการณ์ของเด็กเร่ร่อน กลุ่มแม่และเด็กเร่ร่อนต่างด้าว ปี 2559  เผยแพร่เมื่อ วันที่  29  ธันวาคม 2559

          (5)เรื่อง  แม่จำเป็น...   เผยแพร่เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2561

          (6)เรื่อง ใบรับรองการเกิด/ใบเกิด...ลูกกรรมกรก่อสร้างต่างด้าว เผยแพร่เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม  2561 

          จากที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมด ที่เป็นปฏิญญา กติการะหว่างประเทศ กฎหมายในประเทศได้เอื้อให้กับ “เด็กทุกคนได้ราชอาณาจักร”  ต้องได้รับการคุ้มครอง ปกป้อง ดูแล และพัฒนา  สิ่งสำคัญคือการมีตัวตนทั้งทางกฎหมาย และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์   ในบทบาทของครูเมื่อมีโอกาสได้ทำ ทำอย่างเต็มที่เรียนรู้สิ่งที่มีการเปลี่ยนแปลง  เพื่อให้เด็กทุกคนได้มีที่ยืนบนสังคม