ไม่ไปเยี่ยม..เมื่อถูกจับ ตอนการศึกษาของเด็กต่างด้าว
ผู้จัดการโครงการครูข้างถนน มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก
เมื่องานของครูข้างถนน มีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน ในการดำเนินการช่วยเหลือ กลุ่มแรกคือกลุ่มเด็กเร่ร่อน (ไทย) เด็กเร่ร่อนที่อายุต่ำกว่า 11 ปี กลุ่มเด็กเร่ร่อนวัยรุ่น ครอบครัวเร่ร่อนวัยรุ่น กลุ่มที่ครูข้างถนนให้ความสำคัญที่ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันเลย คือกลุ่มแม่และเด็กเร่ร่อนต่างด้าว ที่ขอเงินบนถนน จนพวกเขาถูกกล่าวหาในการจับกุม หรือข้อหาที่ติดตัวกลุ่มเด็กเหล่านี้คือ "ค้ามนุษย์" ข้อกล่าวหานี้ส่งผลให้เด็กต้องถูกพรากจากครอบครัวด้วยกฎหมาย
ทุกครั้งที่ครูลงทำงานคำถามจะมาเป็นพ่วงเลย ตั้งแต่ข้อกล่าวหาว่า เป็นพวก "ส่งเสริมการค้ามนุษย์" "ป้ามหาภัย" "คนของประชาสงเคราะห์" "ไอ้พวกสายสืบ" สิ่งเหล่านี้ใช้เวลาในการทำงานกับกลุ่มเป้าหมายกว่า 4-5 ปี ถึงรู้ว่าครูไม่ใช่สิ่งที่พวกเขากล่าวหา พอรู้ว่าครูเป็นที่พึ่งได้ สิ่งที่ต้องการให้ช่วยเหลือมีมากมาย จึงต้องมีการจัดลำดับที่จะให้การช่วยเหลือ สิ่งที่กรณีศึกษาและเด็กต้องการ คือเรื่อง "การศึกษา"
คำถามแรก เด็กต่างด้าวเรียนได้ด้วยหรือ.!!!!!!!!!!!
คำตอบจากครู เด็กเรียนได้ทุกคน มีอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กรองรับ กฎหมายในประเทศมีรองรับด้วยเหมือนกัน มติครม.ปี 2535 แก้ไข ปี 2548
คำถาม สอง ครูไม่กลัวติดคุกหรือ !!!!!
คำตอบจากครู ครูไม่ได้ทำอะไรผิดจากกฎหมาย หรืออนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กเลยนะ
คำปราศรบ ถ้าครูติดคุก....ฉันคนหนึ่งไม่ไปเยี่ยมหรอกนะ....
คำอุทานจากครู ฉันทำตามสิทธิของเด็กที่ควรจะได้รับ ทั้งการศึกษา การรักษาพยาบาล การได้ใบรับรองการเกิด การมีสิทธิอาศัยในประเทศไทย การมีงานทำ การเดินทางของเด็ก
สิทธิของเด็ก ตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ทางด้านการศึกษา ด้วยประเทศไทยได้ลงนามเป็นภาคีของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2535 และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก มีผลบังคับใช้ในประเทศไทย ตั้งแต่เมื่อ 26 เมษายน 2535 เป็นต้นมา อนุสัญญามีทั้งหมด 54 ข้อ โดยมีหลักสำคัญคือ การไม่เลือกปฏิบัติและประโยชน์สูงสุดของเด็ก
สิ่งที่ทุกประเทศต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก คือการออกกฎหมายให้สอดคล้องกับ อนุสัญญา และ ทุกประเทศต้องมีการรายงานผลการดำเนินงานด้านเด็กทุก 5 ปี ต่อคณะกรรมการด้านสิทธิเด็กสหประชาชาติ
สำหรับสิทธิเด็กด้านการศึกษาของเด็กทุกคนที่อยู่ในประเทศ โดยใช้คำกล่าวที่ว่า " เด็กทุกคนที่อยู่ในราชอาณาจักรไทย ต้องได้รับการคุ้มครองร่างกายชีวิต เสรีภาพ และสวัสดิภาพของเด็ก ต้องได้รับสวัสดิการสังคมแก่เด็ก ต้องได้รับการคุ้มครองสิทธิทางแพ่ง ต้องได้รับกาคุ้มครองเด็กที่มีปัญหาความประพฤติหรือกระทำความผิดทางอาญา ได้รับการคุ้มครองของเด็กด้อยโอกาสเหมือนเด็กปกติทั่วไปทั้งการอุปการะเลี้ยงดู เป็นต้น
สิ่งที่ปรากฏในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก เกี่ยวกับทางด้านการศึกษา คือ มาตรา 28
1.รัฐภาคียอมรับสิทธิของเด็กที่จะได้รับการศึกษา และเพื่อที่จะให้สิทธินี้บังเกิดผลตามลำดับ และบนพื้นฐานของโอกาสที่เท่าเทียมกัน รัฐภาคีจะ
(ก)การจัดการศึกษาระดับประถมเป็นภาคบังคับที่เด็กทุกคนสามารถเรียนได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
(ข)สนับสนุนการพัฒนาของการศึกษาระดับมัธยมในรูปแบบต่างๆ รวมถึงการศึกษาสายสามัญและสายอาชีพ จัดการศึกษาให้แพร่หลายและเปิดกว้างแก่เด็กทุกคน และดำเนินมาตรการที่เหมาะสม เช่น การนำมาใช้ซึ่งการศึกษาแบบให้เปล่า และการเสนอให้ความช่วยเหลือทางการเงินในกรณีที่จำเป็น
(ค)ทำให้การศึกษาในระดับสูงเปิดกว้างแก่เด็กทุกคนบนพื้นฐานของความสามารถ โดยทุกวิธีการที่เหมาะสม
(ง)ทำให้ข้อมูลข่าวสาร และการแนะนำทางการศึกษาและอาชีพ เป็นที่แพร่หลาย และเปิดกว้างแก่เด็กทุกคน
(จ)ดำเนินมาตรการเพื่อสนับสนุนการเข้าเรียนอย่างสม่ำเสมอ และลดอัตราการออกจากโรงเรียนกลางคัน
2.รัฐภาคีจะดำเนินมาตรการที่เหมาะสมที่จะประกันว่า ระเบียบวินัยของโรงเรียนได้กำหนดขึ้น ในลักษณะที่สอดคล้องกับศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ของเด็กและสอดคล้องกับอนุสัญญานี้
3.รัฐภาคีจะส่งเสริมและสนับสนุนความร่วมมือระหว่างประเทศ ในส่วนที่เกี่ยวกับการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อที่จะเกื้อกูลต่อการขจัดความเขลาและการไม่รู้หนังสือทั่วโลก และเอื้ออำนวยให้ได้รับความรู้ทางวิชาการและทางเทคนิค และวิธีการสอนสมัยใหม่เกี่ยวกับเรื่องนี้ ความต้องการของประเทศกังพัฒนา จะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ
มาตรา 29 ในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
1.รัฐภาคีตกลงว่า การศึกษาของเด็กจะมุ่งไปสู่
(ก) การพัฒนาบุคลิกภาพ ความสามารถพิเศษ และความสามารถทางด้านร่างกายและจิตใจของเด็ก ให้เต็มศักยภาพของเด็กแต่ละคน
(ข) การพัฒนาความเคารพต่อสิทธิมนุษยชน และเสรีภาพขั้นพื้นฐานและต่อหลักการที่วางไว้ในกฎบัตรสหประชาชาติ
(ค) การพัฒนาความเคารพต่อบิดดามารดาของเด็ก เอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม ภาษา และค่านิยมของเด็กนั่นเอง และต่อค่านิยมของชาติที่เด็กนั้นอาศัยอยู่ และต่อค่านิยมของชาติถิ่นกำเนิดของเขา และต่ออารยะธรรมอื่นๆที่แตกต่างไปจากเขาเอง
(ง) การเตรียมเด็กให้มีชีวิตที่มีความรับผิดชอบในสังคมที่เสรีด้วยจิตสำนึกแห่งความเข้าใจกัน สันติภาพ ความอดกลั้น ความเสมอภาคทางเพศ และมิตรภาพในหมู่มวลมนุษย์ทุกกลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มคนชาติ กลุ่มศาสนา ตลอดจนในหมู่คนพื้นเมืองดั้งเดิม
(จ) การพัฒนาความเคารพต่อสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ
2.ไม่มีความตอนใดในข้อนี้หรือในข้อ 28 ที่จะได้รับการตีความให้เป็นการก้าวก่ายเสรีภาพของบุคคลและขององค์กร ในการจัดตั้งและอำนวยการสถาบันทางการศึกษา แต่ทั้งนี้จะต้องเคารพต่อหลักการที่ระบุไว้ใน วรรค 1 ของข้อนี้เสมอ และต่อเงื่อนไขที่ว่าการศึกษาที่ให้ในสถาบันเหล่านั้นต้องเป็นไปตามมาตรฐานขั้นต่ำที่รัฐได้วางไว้
ได้ความเห็นทั่วไป ฉบับที่ 21 (2560) เกี่ยวกับเด็กเร่ร่อนบนท้องถนน จากคณะกรรมการด้านสิทธิเด็ก เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2560 (General comment No.21 (2017) on children in Street situations ) ได้กล่าว F กิจกรรมทางการศึกษา สันทนาการ และด้านวัฒนธรรม
มาตรา 28 การศึกษา
การศึกษาที่เข้าถึงได้ง่าย ไม่มีค่าใช้จ่าย ปลอดภัย สอดคล้อง และมีคุณภาพนั้นเป็นสิ่งสำคัญ ในการป้องกันไม่ให้เด็กตกอยู่ในสถานการณ์เร่ร่อนบนท้องถนน และปฏิบัติตามสิทธิของเด็กเร่ร่อนบนท้องถนน สำหรับเด็กหลายคนการศึกษาเป็นจุดเชื่อมเครือข่ายุดท้ายกับสังคมที่กว้างขึ้น รัฐควรให้การสนับสนุนอย่างเพียงพอซึ่งรวมถึงการสนับสนุนบิดามารดา ผู้ดูแลและครอบครัวเพื่อให้มั่นใจว่าเด็กเร่ร่อนบนท้องถนนสามารถอยู่ในโรงเรียนได้ และมีสิทธิในการได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ ทางเลือกในการศึกษาที่หลากหลายเป็นสิ่งจำเป็น ซึ่งรวมถึง "การศึกษามือสอง" (second-chance education) ชั้นเรียนชดเชย โรงเรียนเคลื่อนที่ การฝึกอบรมวิชาชีพ ที่เชื่อมโยงกับการวิจัยตลาด และการสนับสนุนในระยะยาวสำหรับการสร้างรายได้และการก้าวสู่การศึกษาอย่างเป็นทางการ โดยการร่วมมือกับภาคประชาสังคม ครูควรได้รับการฝึกอบรมเกี่ยวกับสิทธิเด็กและเด็กเร่ร่อนบนท้องถนน และวิธีการสอนที่มีเด็กเป็นศูนย์กลาง
มาตรการ 29 จุดมุ่งหมายการศึกษา
จุดมุ่งหมายของการศึกษาสำหรับเด็กเร่ร่อนบนท้องถนนควรสอดคล้องกับมาตรา 29 และประกอบด้วยการ อ่าน ออก เขียน ได้ การคำนวณ ทักษะความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ทักษะการดำเนินชีวิต การศึกษาเรื่องสิทธิเด็ก การยอมรับในความหลากหลาย และการศึกษาเพื่อสร้างความเป็นพลเมือง การศึกษาดังกล่าวเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง ในปฏิบัติตามสิทธิเด็กเพื่อการคุ้มครอง การพัฒนา และการมีส่วนร่วม ซึ่งรวมถึงการเสริมสร้างความเข็มแข็งในการดูแลตัวเองและเพิ่มขีดความสามารถในการจัดการต่อสถานการณ์ที่มีความเสี่ยง เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กกลายเป็นเด็กเร่ร่อนในท้ายที่สุด และสำหรับเด็กเร่ร่อนเองด้วย รัฐควรมีมาตรการเพื่อจัดหาการศึกษาเกี่ยวกับสิทธิเด็กที่มีคุณภาพและไม่มีค่าใช้จ่าย และทักษะการใช้ชีวิตที่เป็นสากลให้แก่เด็กทุกคนผ่านหลักสูตรของโรงเรียน และการศึกษานอกระบบ และการศึกษาข้างถนนเพื่อเข้าถึงเด็กที่ไม่ได้ไปโรงเรียน
มาตรการ 31 การพักผ่อน การละเล่น และสันทนาการ
คณะกรรมการเน้นถึงสิทธิในการพักผ่อน การละเล่น และสันทนาการ และการเข้าร่วมกิจกรรมทางศิลปะและวัฒนธรรม เด็กเร่ร่อนบนท้องถนน ใช้ความคิดสร้างสรรค์ของตนเพื่อสร้างสถานที่สำหรับการละเล่น รัฐควรให้แน่ใจว่าพวกเขาจะไม่ได้รับการเลือกปฏิบัติในสวนสาธารณะและสนามเด็กเล่น ยกตัวอย่าง เช่น การแต่งกาย และใช้มาตรการต่างๆเพื่อช่วยการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ และการฝึกซ้อมกีฬา รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกเคลื่อนที่ด้านกีฬา และสันทนาการ
สิ่งที่กล่าวไว้ในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ระบุชัดเจนในเรื่องการศึกษา ทั้งกลุ่มเด็กเร่ร่อนต่างด้าว ลูกกรรมกรก่อสร้างต่างด้าวก็เช่นเดียวกัน มีสิทธิทางการศึกษาทุกคน และในประเทศไทยยังมีกฎหมายที่กำหนดให้รัฐต้องดำเนินการทางด้านการศึกษา
1.รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ระบุไว้ใน หมวด 5 หน้าที่ของรัฐ มาตรา 54 รัฐต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลาสิบสองปี ตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับอย่างมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย
รัฐต้องดำเนินการให้เด็กเล็กได้รับการดูแลและพัฒนาก่อนเข้ารับการศึกษาตามวรรคหนึ่ง เพื่อพัฒนาร่างกาย จิตใจ วินัย อารมณ์ สังคม และสติปัญญาให้สมกับวัยโดยส่งเสริมและสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคเอกชนเข้ามีส่วนร่วมในการดำเนินการด้วย
รัฐต้องดำเนินการให้ประชาชนได้รับการศึกษาตามความต้องการในระบบต่างๆ รวมทั้งส่งเสริมให้มีการเรียนรู้ตลอดชีวิต และจัดให้มีการร่วมมือกันระหว่างรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชนในการจัดการศึกษาทุกระดับ โดยรัฐมีหน้าที่ดำเนินการ กำกับส่งเสริม และสนับสนุนให้การจัดการศึกษาดังกล่าวมีคุณภาพและได้มาตรฐานสากล ทั้งนี้ ตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติซึ่งอย่างน้อยต้องมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการจัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติ และการดำเนินการและตรวจสอบการดำเนินการให้เป็นไปตามแผนการศึกษาแห่งชาติด้วย
การศึกษาทั้งปวงต้องมุ่งพัฒนาผู้เรียนให้เป็นคนดี มีวินัย ภูมิใจในชาติ สามารถเชี่ยวชาญได้ตามความถนัดของตน และมีความรับผิดชอบต่อครอบครัว ชุมชนสังคม และประเทศชาติ
ในการดำเนินการให้เด็กเล็กได้รับการดูแลและพัฒนาตามวรรคสอง หรือให้ประชาชนได้รีบการศึกษาตามวรรคสาม รัฐต้องดำเนินการให้ผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการศึกษาตามความถนัดของตน
ให้จัดตั้งกองทุนเพื่อใช้ในการช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษาและเพื่อเสริมสร้างและพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพครู โดยให้รัฐจัดสรรงบประมาณให้แก่กองทุนหรือใช้มาตรการหรือกลไกทางภาษีรวมทั้งการให้บริจาคทรัพย์สินเข้ากองทุนได้รับประโยชน์ในการลดหย่อนภาษี ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ ซึ่งกฎหมายดังกล่าวอย่างน้อยต้องกำหนดให้การบริหารจัดการกองทุนเป็นอิสระและกำหนดให้มีการใช้จ่ายเงินกองทุนเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว
2.พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม ปี พ.ศ. (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 และ (ฉบับที่ 3) 2553
มาตรา 10 การจัดการศึกษา ต้องจัดให้บุคคลมีสิทธิและโอกาสเสมอกันในการรับการศึกษา
ขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่าสิบสองปีที่รัฐต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย
การจัดการศึกษาสำหรับบุคคลซึ่งมีความบกพร่องทางร่างกาย จิตใจ สติปัญญา อารมณ์ สังคม
การสื่อสารและการเรียนรู้ หรือมีร่างกายพิการ หรือทุพพลภาพหรือบุคคลซึ่งไม่สามารถพึ่งตนเองได้
หรือไม่มีผู้ดูแลหรือด้อยโอกาส ต้องจัดให้บุคคลดังกล่าวมีสิทธิและโอกาสได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐาน
เป็นพิเศษ
การศึกษาสำหรับคนพิการในวรรคสอง ให้จัดตั้งแต่แรกเกิดหรือพบความพิการโดยไม่เสีย
ค่าใช้จ่าย และให้บุคคลดังกล่าวมีสิทธิได้รับสิ่งอำนวยความสะดวก สื่อ บริการและความช่วยเหลือ
อื่นใดทางการศึกษา ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง
การจัดการศึกษาสำหรับบุคคลซึ่งมีความสามารถพิเศษ ต้องจัดด้วยรูปแบบที่เหมาะสมโดยคำนึงถึงความสามารถของบุคคลนั้น
มาตรา ๑๗ ให้มีการศึกษาภาคบังคับจำนวนเก้าปี โดยให้เด็กซึ่งมีอายุย่างเข้าปีที่เจ็ด เข้าเรียน
ในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานจนอายุย่างเข้าปีที่สิบหก เว้นแต่สอบได้ชั้นปีที่เก้าของการศึกษาภาคบังคับ
หลักเกณฑ์และวิธีการนับอายุให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
3.พระราชบัญญัติกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ. 2561 โดยเฉพาะมาตรา 5
4.มติ ครม. ปี พ.ศ. 2535 เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2535 เห็นชอบให้กระทรวงศึกษาธิการจัดการศึกษาให้แก่เด็กที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทย โดยได้ยกเลิกระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยหลักฐาน วัน เดือน ปีเกิด ในการรับเด็กเรียนเข้าเรียนในโรงเรียนรัฐบาลและโรงเรียนราษฎร์ พ.ศ. 2522 และประกาศใช้ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยหลักฐาน วัน เดือน ปีเกิดในการรับนักเรียน นักศึกษาเข้าเรียนในสถานศึกษา พ.ศ.2535
เมื่อดำเนินการได้ในระยะหนึ่งจึงเก็บข้อมูลจากการนำไปปฏิบัติที่ยังเป็นปัญหา และจากสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป และเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อ เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2548 เห็นชอบให้จัดการศึกษาแก่บุคคลที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทย และได้มีคู่มือและแนวปฏิบัติสำหรับการจัดการศึกษาแก่บุคคลที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทย
จากอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ข้อคิดเห็นทั่วไปฉบับที่ 21 สำหรับเด็กเร่ร่อนบนท้องถนน จนมาถึงรัฐธรรมนูญที่ได้ระบุอย่างชัดเจนในด้านการศึกษา มีกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง จากการทำงาน โครงการครูข้างถนน ใช้กฎหมายที่มีอยู่ในการให้เด็กเร่ร่อนไทย/เด็กเร่ร่อนต่างด้าวเข้าถึงสิทธิทางด้านการศึกษา
เวลาหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ชอบบอกว่าช่วยเหลือแต่เด็กต่างด้าว ซึ่งคนเหล่านี้เข้าเมืองผิดกฎหมาย ช่วยเหลือทำไหม ขอย้อนกลับให้ไปดู กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ครูดำเนินการและเรียนรู้ไปด้วยกันอย่างเป็นรูปธรรม เวลาที่มีคนพูดว่า ถ้าครูติดคุกจะไม่ไปเยี่ยม.....ครูจะย้อนว่าไปอ่านกฎหมายที่เกี่ยวข้อง จึงเขียนมาเพื่อว่า ครูทำให้เด็กทุกคนที่ครูช่วยเหลือได้เข้าถึงสิทธิอย่างแท้จริงและเป็นรูปธรรม
ครูเองมีบทความที่เกี่ยวข้องเรื่องสิทธิการศึกษา...ในเว็บไซด์ ของมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก ได้แก่
(1)เรื่อง โอกาสทางการศึกษา ของเด็กเร่ร่อนแม่สอด เผยแพร่ เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2556
(2)เรื่อง เด็กเร่ร่อนต่างด้าวเรียนหนังสือ หนูอยากเรียน ผมอยากเรียน เผยแพร่เมื่อ วันที่ 15 กันยายน 2558
(3)เรื่อง อยากเรียน..ต้องได้เรียน ...คุณภาพของเด็กในอาเซียน เผยแพร่เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2559
(4)เรื่อง ห้องเรียน...ข้างถนน การศึกษาทางเลือกและอาชีพ สำหรับเด็กเร่ร่อน (ตอนที่ 5) เผยแพร่เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2561
(5)เรื่อง จัดการเรียนเป็นรายบุคคล เด็กเร่ร่อนต่างด้าว เด็กเร่ร่อนต่างด้าว เผยแพร่เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2561
(6)เรื่อง สร้างโอกาสให้เด็ก…ด้วยการศึกษาเพื่อเปลี่ยนอาชีพแม่ เผยแพร่เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2561
บทบาทของครูข้างถนนจึงให้ความสำคัญกับการศึกษาของเด็กเร่ร่อนทุกคน เพราะการศึกษาเท่านั้นที่จะพัฒนาตนเอง และการมีอาชีพที่เหมาะสมในการดูแลตัวเองและครอบครัวในอนาคต และที่สำคัญมีกฎหมายคุ้มครองคนทำงานด้านนี้ไม่ต้องมาติดคุกเพื่อช่วยเหลือเด็ก