banner
พุธ ที่ 3 เดือน ตุลาคม พ.ศ.2561 แก้ไข admin

วันเยาวชน........กับครอบครัววัยใสที่ถูกไล่ออกจากโรงเรียน

 

นางสาวทองพูล  บัวศรี

ผู้จัดการโครงการครูข้างถนน  มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก

 

          ด้วยได้รับเชิญให้เป็นวิทยากร กับ การฝึกอบรมโครงการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการเสริมสร้างศักยภาพผู้ปฏิบัติงานเจ้าหน้าที่ศูนย์เฉพาะกิจคุ้มครองและช่วยเหลือนักเรียน ให้กับนักวิชาการปฏิบัติการประจำพื้นที่สำนักงานเขตการศึกษา จำนวน 2 ครั้ง เมื่อวันที่ 10-11 กันยายน และ 19-20 กันยายน 2561  

          โดยเฉพาะเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2561 คือวันเยาวชนแห่งชาติ  แต่บนเวทีในการสัมมนากับร้อนมาก  เพราะผู้ดำเนินรายการ ถามคำถามกับครูว่า   กฎหมายฉบับไหนที่บังคับใช้ไม่เป็นจริงกับเด็กในโรงเรียน

          ครูย้ำบนเวทีกับผู้ดำเนินรายการบนเวทีอีกครั้ง ว่าเป็นคำถามนี้ให้ตอบใช่ไหม   ผู้ดำเนินรายการเหมือนเตรียมคำถามมาอย่างดี  ครูนิ่งก่อนที่จะน็อกกับผู้บริหารโรงเรียน/ผู้อำนวยการเขตพื้นที่  หัวหน้ากลุ่มส่งเสริม  ที่อยู่บนเวทีร่วมกันหมด   ย้ำอีกรอบเพื่อให้แน่ใจในคำถาม


          กฎหมายที่ไม่เคยถูกปฏิบัติเลย  คือ พระราชบัญญัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559  โดยเฉพาะ

มาตรา 5  วัยรุ่นมีสิทธิตัดสินใจด้วยตนเอง และมีสิทธิได้รับข้อมูลข่าวสารและความรู้ได้รับบริการอนามัยเจริญพันธุ์ ได้รับการรักษาความลับและความเป็นส่วนตัว ได้รับจัดสวัสดิการสังคม อย่างเสมอภาคและไม่ถูกเลือกปฏิบัติ และได้รับสิทธิอื่นใดที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ ตามพระราชบัญญัตินี้อย่างถูกต้อง ครบถ้วน และเพียงพอ

มาตรา 6 ให้สถานศึกษาดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ดังต่อไปนี้

        (1)จัดให้มีการเรียนการสอนเรื่องเพศวิถีศึกษาให้เหมาะสมกับช่วงวัยของนักเรียนหรือนักศึกษา

                  (2)จัดหาและพัฒนาผู้สอนให้สามารถสอนเพศวิถีศึกษาและให้คำปรึกษาเรื่องการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นแก่นักเรียนหรือนักศึกษา

                 (3)จัดให้มีระบบการดูแล ช่วยเหลือ และคุ้มครองนักเรียนหรือนักศึกษาซึ่งตั้งครรภ์ให้ได้รับการศึกษาด้วยรูปแบบที่เหมาะสมและต่อเนื่อง รวมทั้งจัดให้มีระบบการส่งต่อให้ได้รับบริการอนามัยการเจริญพันธุ์และการจัดสวัสดิการสังคมอย่างเหมาะสม

                   การกำหนดประเภทของสถานศึกษาและการดำเนินการของสถานศึกษาแต่ละประเภท ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์  วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง       มาตรา 9 ให้มีการจัดสวัสดิการสังคมที่เกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ดังต่อไปนี้

          (1)ส่งเสริมสนับสนุนให้สภาเด็กและเยาวชนระดับจังหวัด และระดับอำเภอสร้างเครือข่ายเด็กและเยาวชนในพื้นที่เพื่อเป็นแกนนำป้องกัน แก้ไข และเฝ้าระวังปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น

          (2)ส่งเสริมสนับสนุนให้หน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานของเอกชนที่เกี่ยวข้อง ทำหน้าที่ประสานงานเฝ้าระวัง และให้ความช่วยเหลือแก่วัยรุ่นที่ตั้งครรภ์และครอบครัว

          (3)จัดให้มีการฝึกอาชีพตามความสนใจและความถนัดแก่วัยรุ่นที่ตั้งครรภ์ก่อนและหลังคลอดที่ประสงค์จะเข้ารับการฝึกอาชีพ และประสานงานเพื่อจัดหางานให้ได้ประกอบอาชีพตามความเหมาะสม

          (4)จัดหาครอบครัวทดแทนในกรณีที่วัยรุ่นไม่สามารถเลี้ยงดูบุตรด้วยตนเองได้

          (5)การจัดสวัสดิการสังคมในด้านอื่นๆเพื่อส่งเสริมการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น

      การดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์  วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง

ดังข้อกฎหมายที่กำหนด ถ้าทุกหน่วยงานที่รับผิดชอบบูรณาการในการทำงานช่วยเหลืออย่างจริงจัง  เด็กที่เป็นวัยรุ่นตั้งครรภ์ไม่พร้อมจะมีทางออกเสมอ  เด็กออกจะไม่ออกจากโรงเรียน

 

การแก้ไขเรื่องนี้ยังมียุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นระดับชาติ พ.ศ.2560-2569  ตามพระราชบัญญัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559  โดยขับเคลื่อนผ่านยุทธศาสตร์ 5 ข้อ ดังนี้

ยุทธศาสตร์ที่ 1 พัฒนาระบบการศึกษาที่ส่งเสริมการเรียนรู้ด้านเพศวิถีศึกษาและทักษะชีวิตที่มีคุณภาพ และมีระบบการดูแลช่วยเหลือที่เหมาะสม

ยุทธศาสตร์ที่ 2 ส่งเสริมบทบาทครอบครัว ชุมชน และสถานประกอบกิจการในการเลี้ยงดู สร้างสัมพันธ์ภาพ และการสื่อสารด้านสุขภาวะทางเพศของวัยรุ่น

ยุทธศาสตร์ที่ 3  พัฒนาระบบบริการสุขภาพทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ที่มีคุณภาพ และเป็นมิตร

ยุทธศาสตร์ที่ 4  พัฒนาระบบการดูแลช่วยเหลือ การคุ้มครองสิทธิอนามัยการเจริญพันธุ์ และการจัดสวัสดิการสังคมในกลุ่มวัยรุ่น

ยุทธศาสตร์ที่ 5  ส่งเสริมการบูรณาการการจัดการฐานข้อมูล งานวิจัย และการจัดการความรู้

 

ทั้งตัวกฎหมายและยุทธศาสตร์ที่เขียนไว้ และการบูรณาการในการทำงาน ไม่น่าจะมีปัญหาสำหรับ ครอบครัววัยรุ่น  แต่ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ในแหล่งก่อสร้าง  ที่ทางโครงการโรงเรียนเด็กก่อสร้างเคลื่อนที่ลงพื้นที่ จำนวน 13 แหล่งก่อสร้างกลับพบข้อมูลเชิงประจักษ์ ของ  "เด็กเลี้ยงเด็ก"  จำนวนมาก ที่ต้องการหาทางออกด้วย

ดังผู้เขียนได้เคยเขียน เรื่อง " พ่อ แม่ วัยรุ่น กับการวางแผนครอบครัว" (คลิ้กเพื่ออ่านบทความ)

 

  ด้วยโครงการโรงเรียนเด็กก่อสร้างเคลื่อนที่ได้ลงพื้นที่ไปพบกับเด็กที่ออกจากโรงเรียนกลางคัน (ถูกไล่ออกมาเพราะ มีเพศสัมพันธ์กันในวัยเรียน ) ตามกฎหมายที่เกิดขึ้น ทางโรงเรียนต้องหาสถานที่เรียน หรือวิธีการที่จะให้เด็กอยู่ในระบบการศึกษาในระบบ  นอกระบบการศึกษานอกโรงเรียน  และการฝึกอาชีพ)  ซึ่งต้องเป็นไปตามกฎหมาย

ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ไม่เป็นเช่นนั้น  กรณีตัวอย่างที่กล่าวถึงของปัญหาครอบครัววัยรุ่นที่ลงทำงานแล้วเจอมาก และทางโครงการได้ดำเนินการ

1.เรื่องการวางแผนครอบครัวของวัยรุ่น  ที่มีการโฆษณากันว่า ฟรี  ทางปฏิบัติจริงๆ  คือเสียเงินทั้งนั้น โดยเฉพาะเรื่องการฝังเข็ม   เพื่อการยึดอายุไม่ให้มีบุตรในช่วงที่ฝังเข็มอยู่

2. อย่างกรณีตัวอย่าง ที่พ่ออายุเพียง 17 ปี แม่อายุเพียง 15 ปี  ลูกที่เกิดมาแล้ว อายุ 10 เดือน  แม่ไม่มีน้ำนมให้ลูกกิน  เด็กเล็กที่เกิดขึ้นมาจึงต้องกินนมข้นหวาน (นมกระป๋อง) เพราะรายได้ของพ่อและแม่ไม่เอื้อในการซื้อนม

3. อารมณ์ของพ่อและแม่วัยรุ่น  มีอารมณ์ร้อนด้วยกันทั้งสิ้น  กรณีศึกษาที่ทางโครงการทำงานด้วย ต้องมีการพูดคุยกันอย่างสม่ำเสมอ คือการให้คำปรึกษาตลอดเวลา ตั้งแต่การเลี้ยงดูเด็กเล็ก ซึ่งเหมือนกัน "เด็กเลี้ยงเด็ก"  เกี่ยวข้องกับค่าใช้จ่ายที่พ่อของเด็กได้รับ กับค่าใช้จ่ายของความเป็นครอบครัวใหม่ ที่มีแต่จ่ายกับจ่ายเท่านั้น

4. ยาเสพติดมีการระบาดในแหล่งก่อสร้างจำนวนมาก  คนเป็นพ่อต้องการใช้แรงงานมาก เพื่อให้มีแรงทำงานทำงานก็ดื่มน้ำที่ผสม พ่อเด็กเองก็เกิดการติดยา  ทำให้มีอารมณ์รุนแรงบางครั้งก็ต้องมาลงกับเมียวัยรุ่น กับลูกที่เล็กและไม่แข็งแรงด้วย  ทั้งความกดดันของคนรอบข้าง   พ่อของเด็กเองอยู่ในภาวะกดดัน   ครั้งล่าสุดพ่อวัยรุ่นตีเมียวัยรุ่น เละทั้งหน้าตาและร่างกาย  จนต้องถูกไล่ออกจากที่บ้านพักในแหล่งก่อสร้าง  พ่อแม่วัยรุ่นทั้งคู่ตอนนี้ต้องระเห่เร่ร่อนกลับบ้านเดิม

5.ทั้งพ่อวัยรุ่น และแม่วัยรุ่น ถูกกดดันไม่เป็นที่ต้องการของครอบครัวเดิม เพราะว่า ทำให้ชื่อเสียงตระกูลเสียหาย เพราะเรียนไม่จบ   กลายเป็นว่าครอบครัวของผู้ชาย และผู้หญิง ไม่ต้องการหลานที่เกิดขึ้นมาใหม่  กลายว่าเด็กน้อยที่เกิดขึ้นมาใหม่ไม่เป็นที่ต้องการครอบครัวทั้งสองฝ่าย  อนาคตของเด็กน้อยที่เกิดขึ้นมาที่กลายเป็นภาระ จะดำเนินการอย่างไร

6.มีการปรึกษาทางด้านกฎหมายแม่ของฝ่ายหญิงเกลียดลูกเขยมาก  ว่ามาทำลายอนาคตของลูกสาว  เตรียมการแจ้งความเรื่อง การพรากผู้เยาว์    ถ้าเกิดเป็นคดีความขึ้นมา พ่อแม่ของเด็กที่เกิดขึ้นมาใหม่จะต้องพลัดพลาดจากการเป็นครอบครัว สุดท้ายกลายเป็นศัตรูกัน  เพราะพ่อแม่ของแต่ละฝ่ายไม่ยินดีที่จะหาทางออกร่วมกัน  เด็กน้อยที่เกิดขึ้นมาแล้วใครจะดูแล

7.เมื่อมีครอบครัววัยรุ่น  ทางโรงเรียนทุกโรงเรียนไม่ต้องการให้เด็กได้เรียนต่อ พยายามผลักเด็กออกจากระบบโรงเรียน  บางโรงเรียนส่งรายชื่อเด็กเข้าไปสู่ระบบการศึกษานอกโรงเรียนทันที  เพราะกลัวเรื่องการเสียชื่อชื่อของโรงเรียน  ซึ่งในมาตรา 5  มาตรา 9 ของกฎหมาย  จึงเป็นเพียงนโยบายที่เขียนขึ้นในกระดาษเท่านั้น  ทางปฏิบัติที่เกิดขึ้นจึงเป็นจริงได้ยากที่สุด


 

เมื่อพูดถึงตรงนี้ ครูจึงถามท่านผู้ร่วมอภิปรายทุกท่านว่าจริงไหม   ทุกท่านพยักหน้ารับความเป็นจริง  ถ้าทุกหน่วยงานพูดความเป็นจริงมากขึ้นการทำงานก็จะได้หาทางออกได้มาขึ้น

ในขณะนี้ที่กำลังพูดถึงกันอยู่กำลังอยู่ในภาวะของครูเอง  มีเด็กผู้ชายเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 2  อายุ 14 ปี  เด็กผู้หญิงกำลังเรียน มัธยมศึกษาปีที่ 3  เป็นสามีภรรยากัน    ตาของฝ่ายหญิงทุกเย็นวันศุกร์ จะไปรับฝ่ายชาย มานอนที่บ้านฝ่ายหญิง พอถึงวันเสาร์-อาทิตย์ คู่สามีภรรยาวัยรุ่น ต้องออกไปขายหมูปิ้ง ทุกเช้า  เพื่อหาเงินมาเตรียมความเป็นครอบครัว

พอถึงกลางวันวันอาทิตย์ ตาของฝ่ายหญิงจะไปส่งที่บ้านฝ่ายชาย  วันจันทร์ ถึง วันศุกร์  ทั้งสองคนก็เป็นนักเรียนตามปกติ ไปเรียนหนังสือ

แม่ของฝ่ายชายเครียดจนถึงต้องเข้าโรงพยาบาลมาเป็นสิบครั้ง ทั้งความเสียใจ และกังวลว่า ลูกชายจะถูกดำเนินคดี เรื่อง การพรากผู้เยาว์ ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้น ทุกคนในครอบครัวต้องกลับมาดูแลเอาใจใส่ ถึงแม้มีปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างของวัยรุ่น  โรงเรียนต้องเข้ามาช่วยหาทางออก ตัววัยรุ่นเอง และครอบครัว  ตลอดจนสังคมต้องให้โอกาสด้วย