banner
ศุกร์ ที่ 14 เดือน กันยายน พ.ศ.2561 แก้ไข admin

สร้างโอกาสให้เด็ก…ด้วยการศึกษาเพื่อเปลี่ยนอาชีพแม่

 

นางสาวทองพูล บัวศรี

ผู้จัดการโครงการครูข้างถนน  มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก

 

บนถนนสุขุมวิท สายถนนที่ยาวเป็นถนนสายเศรษฐกิจ นักท่องเที่ยวจำนวนมากที่มุ่งตรงมาเสพความสนุกสนานจากแหล่งบันเทิงที่หลากหลาย แต่มีกลุ่ม "แม่และเด็กเร่ร่อนต่างด้าว" จำนวนมากที่ออกมาขอทาน จนคนทำงานที่เกี่ยวข้องว่าเด็กที่ติดตามแม่มาบนถนน ถือว่าเป็นการ ค้ามนุษย์

ฉันเป็นครูข้างถนนที่เดินจากพระโขนงต่ออโศกเรื่อยมาจนถึงซอยนานา เป็นซอยที่มีทั้งเด็กต่างด้าว เด็กไทยจากชุมชนใต้รถไฟยมราช ออกมาขอทาน วันที่ฉันพบมากที่สุด คือ วันศุกร์ แต่กว่าฉันจะได้พูดคุย สนทนาด้วยใช้เวลากว่า 8 เดือนถึง 2 ปีกว่า แม่และเด็กจะเปิดใจการทำงานของฉันจะถือกระเป๋าสองใบ ซึ่งมีทั้งขนม/นม อาหารแห้ง อุปกรณ์การเรียน อุปกรณ์ทำแผล ช่วงการทำแรก ๆ ฉันถูกขนานนามว่า ป้ามหาภัยเหตุก็คือเวลาที่ฉันลงไปคุยกับแม่และเด็ก ฉันเดินคล้อยหลังสักประมาณ 2 ชั่วโมง แม่และเด็กก็จะถูกจับ ส่วนตำรวจฉันก็จะถูกกล่าวหาว่าเป็นหัวหน้าแก๊งค์ขอทาน เสียงจากหน่วยงานต่าง ๆ ก็บอกฉันว่า ฉันเป็นพวกส่งเสริมการค้ามนุษย์




ฉันจึงเปลี่ยนแนวคิดที่จะลงพื้นที่ข้างถนน เริ่มต้นด้วยว่า เด็กที่มากับแม่เห็นหน้าฉันทุกคนต้องอิ่มฉันจึงแบกทุกอย่างที่กินได้ลงพื้นที่อย่างต่อเนื่องสัปดาห์ละสามครั้งในช่วงกลางวัน กลางคืน สลับกันไปโดยสร้างอาสาสมัครในพื้นที่ที่เป็นพ่อค้า แม่ค้า คิวมอเตอร์ไซด์ เป็นผู้ส่งข่าวให้ฉัน โดยเฉพาะเวลาที่เด็กป่วย เด็กป่วยเป็นโอกาสทองของฉันที่จะเข้าไปต่อรองเรื่องใครนำเด็กออกมาขอทาน ฉันจึงใช้ความจริงใจ จริงจัง หาทางออกร่วมกันและต้องลบภาพ ลบคำว่า ป้ามหาภัยออกไปก่อน

โอกาสเข้ามาหาฉันด้วยมีแม่และเด็กเร่ร่อนคู่หนึ่ง ลูกเกิดเป็นลมจัดอยู่หน้าบิ๊กซีราชประสงค์ อาสาสมัครของฉันเป็นชายหนุ่มขายเสื้อผ้ามือสอง เป็นเสื้อผ้านำเข้ามาจากญี่ปุ่นโทรหาฉันทันที ฉันลงพื้นที่อยู่ที่หน้าห้างพันธุ์ทิพย์พลาซ่า นั่งมอเตอร์ไซต์มาหาเด็กทันที มาถึงฉันช้อนตัวเด็ก โยนกระเป๋า 2 ใบให้แม่ ตะโกนบอกแม่ว่า ตามฉันไปที่โรงพยาบาลตำรวจ เมื่อถึงโรงพยาบาล พยาบาลถามฉันว่า เ)นเด็กไทย หรือ เด็กต่างด้าว ฉันบอกเป็นเด็กขอทานต่างด้าว ทุกคนไม่ทำอะไรเลย ฉันจึงขอพยาบาลโทรหาท่านรองผู้อำนวยการโรงพยาบาล(พล.ต.อ.อัมรินทร์) ทันที ท่านเป็นหลานคุณหญิงจันทนี สันตะบุตร ในขณะนั้นท่านเป็นประธานมูลนิธิของฉัน ท่านลงมาทันทีมาเจอเด็ก จัดการฉีดยาให้น้ำเกลือ เด็กน้อยดีขึ้นได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องจนมาถึงปัจจุบัน

ส่วนแม่เด็กมาถึงพร้อมข้าวของพะรุงพะรัง เพราะต้องหิ้วกระเป๋าของฉันอีกสองใบมาด้วย โทรศัพท์ของแม่เด็กก็ดังทันทีว่าลูกของเธอเป็นอะไร แม่เด็กบอกกับเพื่อนชาวกัมพูชาว่าลูกป่วย อีครูมันพาลูกมาโรงพยาบาลอีครูมันเป็นคนดี เป็นคนช่วยเหลือมันช่วยจริง ๆ หมอไม่รักษา ครูเขาก็ต่อรองจนหมอรักษาแล้วก็ตรวจสุขภาพกูด้วยเสียงล่ำลือแพร่สะพัดไปยังกลุ่มแม่และเด็กเร่ร่อนที่มาจากชุมชนเปรมฤทัย ชุมชนบ่อนไก่ ชุมชนคลองตัน บ้านร้างตรงข้ามสถานีทองหล่อ

ฉันถือว่าครั้งนี้เป็นโอกาสทองของฉัน ศึกษาชีวิตแม่และเด็กแต่ละคู่ ขอถ่ายรูปทำประวัติให้บอกความต้องการมา แม่และเด็กเปิดปากเล่าการเดินทางเข้ามาในเมืองไทย บางครอบครัวมาตั้งแต่อายุสิบกว่าขวบปัจจุบันสามสิบสี่แล้ว มาอยู่แบบผิดกฎหมายเข้าเรือนจำติดอยู่ใน ตม. อยู่ในสถานแรกรับคนไร้ที่พึ่งกว่า 24 ครั้ง  จนกลายเป็นล่ามผู้ช่วยข้าราชการในบ้านที่ติดอยู่ คดีที่แม่และเด็กเจอคือค้ามนุษย์ แม่และเด็กเล่าเคล้าไปด้วยน้ำตา ฉันเริ่มศึกษากฎหมายระเบียบต่าง ๆ และติดตามแม่และเด็กที่ถูกจับเข้าไปเยี่ยมในเรือนจำ/ตม. ประกันตัวที่โรงพัก ช่วยเหลือเด็กที่อยู่ตามลำพังตามห้องเช่าให้รอดจากการอดตาย ได้ทำงานกับครูมุ้ยที่เช่าบ้านอยู่ในชุมชนเปรมฤทัย ฉันก็เริ่มเดินทางทุกวันศุกร์ไปดูที่โรงเกลือและปอยเปตจนเห็นความทุกข์ยาก ให้เด็กและแม่บอกความต้องการของตัวเอง ทุกคนบอกอยากเรียนหนังสือ ฉันก็นำเรื่องความต้องการของพวกเขาคุยกับผู้อำนวยการโรงเรียนวัดมหาวงษ์ก่อน แล้วเดินไปหาครูมุ้ยร่วมกันทำงาน ฉันจะเดินสำรวจบนถนน

  

ครูมุ้ยเป็นหน่วยตั้งรับในพื้นที่ทุกวันเสาร์ – อาทิตย์ เด็กจะไปอ่านเขียนภาษาไทยกับครูมุ้ยที่บ้าน ในช่วงเดือนพฤษภาคม จะนำเด็กขอทานที่แม่อยากให้ลูกเรียนไปทดสอบเข้าเรียนอยู่ในช่วงชั้นการเรียนว่าชั้นไหน บางคนอายุ 10 ปี เมื่อเรียน ป.1 เด็กเรียนแม่บางคนบอกกับฉันว่า ออกุลเจริญเป็นสิบครั้งว่าเขาอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้เลย ภาษากัมพูชาเองก็เขียนไม่ได้ไม่อยากให้ลูกต้องลำบาก ขอทานเลี้ยงครอบครัวอย่างเขา

ฉันรุกต่อกับทางโรงเรียนเสนอกิจกรรมที่หลากหลายให้กับคณะครูและผู้อำนวยการโรงเรียน เป็นโชคดีของเด็ก เด็กที่คณะครูสร้างมีที่ยืนให้เด็กเป็นนักกีฬาของโรงเรียน จัดให้เด็กพูดภาษากัมพูชาวันละคำ เด็กก็ช่วยสร้างชื่อเสียงให้กับโรงเรียน ฉันกับครูมุ้ยก็เริ่มทำงานกับครอบครัวต่อเพราะอยากลบภาพว่า พวกขอทานเป็นอาชีพ เพราะหาเงินได้ง่ายที่สุด พวกนี้ชอบความสบาย ฉันทั้งติดตามกระบวนการงานยุติธรรมต่อแม่เหล่านี้  ศึกษาขั้นตอนในการส่งกลับ ช่องโหว่ของกฎหมายมีเยอะมาก การตีความของผู้ใช้กฎหมายเอาเปรียบแม่เหล่านี้ติดคุก 84 วัน แยกลูกส่งสถานสงเคราะห์แบบนี้เป็นการใช้ดุลพินิจที่เอาเงินแม่และเด็ก




งานนี้ฉันทนไม่ได้แน่ ครอบครัวไหนอยากให้เด็กเข้าเรียน ฉันให้เข้าเรียน ฉันหาเงินมาสนับสนุนการเรียนของเด็กที่ใคร ๆ ก็บอกว่า ต้องจับเท่านั้น แต่ฉันลงลึกถึงครอบครัวส่งให้เรียน อ่านออก เขียน ฉันต้องการให้เด็กมีที่ยืนบนสังคม ฉันเชื่อมั่นว่าเด็กทุกคนพัฒนา เพราะทุกคนให้โอกาสกับเด็ก

สิ่งเหล่านี้ที่ฉันทำอย่างต่อเนื่องลบภาพของเด็กขอทาน ขอเพียงโอกาส เด็กทุกคนมีศักยภาพ เด็กทุกคนคือพลเมืองอาเซียนที่มีคุณภาพด้วยการศึกษาภาษาใดภาษาหนึ่งของอาเซียน  เพราะรุ่นพ่อแม่ของเด็กเองไม่เคยเรียนทั้งภาต้นทางของประเทศตนเอง  และการอ่าน การเขียน การพูด การฟัง ภาไทย

เมื่อครูทั้งสองคนเปิดโอกาสอย่างนี้ ซึ่งไม่ใช่แค่ครูสองคนเท่านั้น คณะครูที่โรงเรียนวัดมหาวงศ์ และโรงเรียนอื่นๆกว่า 10 โรง ที่เปิดการศึกษา  โดยทางคณะผู้บริหารเปิดหัวใจ เปิดตา  และได้เห็น “คู่มือและแนวปฏิบัติสำหรับการจัดการศึกษาแก่บุคคลที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎรหรทอไม่มีสัญชาติไทย”   เดิม เป็นมติ ครม.ปี2535  แก้ไข ปี 2548  ว่าด้วยให้เด็กไม่เอกสารทางทะเบียนเข้าเรียน




คัมภีร์เล่มนี้จึงเสมือนข้อต่อรองในการทำงานของครูข้างถนน  เพราะเด็กทุกคนที่อยู่ในประเทศไทยมีโอกาสเข้าเรียน  ถึงแม้จะไม่มีเอกสารใดๆเลย   เป็นไปตามอนุสัญญาว่าด้วยว่าสิทธิเด็ก  ซึ่งประเทศไทยเคยมีข้อสงวน  แต่ในปัจจุบันได้ยกเลิกแล้ว  เด็กที่อยู่บนแผ่นดินไทยทุกคนจึงมีโอกาสทางการศึกษา

แต่ใช่ว่าทุกเรื่องที่กล่าวมาเด็กจะได้มีโอกาส  เพราะยังมีความซับซ้อนอีกหลายเรื่อง

          (1)เด็กที่จะเรียนหนังสือในโรงเรียนได้  ต้องมีใบรับรองการเกิด หรือ ใบเกิด  ว่าเด็กมีเอกสารหรือมีเลข 13 หลัก  และมีหลักบานการเป็นแม่เป็นลูกกันอย่างแท้จริง    ซึ่งเด็กส่วนใหญ่ไม่มีเอกสารทางด้านนี้เลย

          (2)เด็กทุกคนต้องมีพื้นฐานในการอ่าน เขียน ภาษาไทย มาบ้าง เพราะในการเรียนโรงเรียนไทย ต้องใช้หลักสูตรภาษาไทย  จึงเป็นปัญหาอีกข้อหนึ่งที่สำคัญ ทำให้เด็กเข้าไม่ถึงการศึกษา

          (3)ผู้ปกครองส่วนใหญ่สู้เรื่องค่าใช้จ่ายของเด็กที่เป็นค่าพาหนะ ค่าอาหาร ค่าอุปกรณ์การเรียนบางส่วนไม่ไหว  ถึงแม้จะให้ฟรีบางรายการ  จึงเป็นการตัดสิทธิทางการศึกษาของเด็กเร่ร่อนต่างด้าว ไป

          สำหรับผู้ปกครองที่เต็มใจสู้ด้วยหัวใจอยากให้ลูกได้เรียนหนังสือ  ดังตัวอย่างที่ชุมชนเปรมฤทัย ครูทำงานกับครอบครัวเด็กซึ่งขอทานทั้งหมดกว่า 27 ครอบครัว  แต่วันนี้ครอบครัวเหล่านี้เปลี่ยนอาชีพไปแล้ว  เหลือเพียง 4-5 ครอบครัวเท่านั้นที่ยังออกไปขอทานเป็นครั้งคราว




          อาชีพที่พ่อแม่เด็กไปทำงานส่วนมากเป็น พนักงานในโรงงาน   ทำงานก่อสร้าง  รับจ้างขายของหน้าร้าน  หรือบางคนก็ทำอาหารชาวกัมพูชาขายเอง   

          วันนี้ครอบครัวของ นางจินดา (นาสมมุติ)  ซึ่งมีลูก 6 คน คนเล็กสองขวบที่คลอดสถานสงเคราะห์แห่งหนึ่ง เป็นครอบครัวที่ คนทำงานอย่างครูลงแรง ลงเงิน ลงเวลา ลูกสามคนได้เรียน อีกหนึ่งคนพิการลงกลับไปอยู่กับญาติ อีกสองคนหกขวบ ซนสุดๆๆๆ วันนี้ลงไปคุยกับผู้อำนวยการโรงเรียนหาทางออก เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย สิ่งที่ต้องจ่ายเด็กไปเรียน วันละ 120 บาท ค่าขนมสองคน 60 บาท ค่ากับข้าว มือละสองถุง 180 บาท ค่าใช้จ่ายวันละ 360 บาท แม่รับจ้างเด็ดพริกได้วันละ 300 บาท กิโลละ 10 บาท และยังมีค่าเช่าบ้านเดือนละ 3,400 บาท ทุกคนในบ้านต้องลดค่าใช้จ่าย ลดจนไม่มีจะกินแล้ว เดิมกรณีนี้ครูช่วยมา 2 ปี ขึ้น 3 ปี ตอนนี้ฝึกเด็กขายของ ครูที่โรงเรียนช่วยหาคูปองรับข้าวสารอาหารแห้งทุกสัปดาห์ แม่เองสู้ จริงๆๆๆ ครูดูอยู่ห่างๆแบบห่วงๆๆ เปิดเทอมคงต้องช่วยแน่นอน แต่ให้ดิ้นให้สุดๆๆๆ

          เสียงแม่แบบสั่นเครือว่าต้องสู้กันค่ะ   สำหรับครูเองจะประคองอยู่ข้างหลังให้บทบาทของแม่ทำให้เต็มที่ก่อน  สิ่งที่เห็นคือครอบครัวนี้ให้ความสำคัญกับการศึกษาของลูก   เพราะการศึกษาคือการสร้างโอกาสที่ดีให้
เด็ก