จัดการเรียนเป็นรายบุคคล เด็กเร่ร่อนต่างด้าว
นางสาวทองพูล บัวศรี
ผู้จัดการโครงการครูข้างถนน มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก
การทำงานกับเด็กเร่ร่อนต่างด้าว เป็นอะไรที่ต้องคิดหนัก ด้วยเหตุผลหลายประการด้วยกัน เพราะครูเองถูกกล่าวหามาตลอดในการทำงาน ตั้งแต่คำว่า "ส่งเสริมการค้ามนุษย์" "ป้ามหาภัย" "ช่วยพวกเขาทำไม เขาไม่ใช่คนไทย" "คนไทยไม่มีทำแล้วหรือถึงต้องทำกับเด็กต่างด้าว" ล้วนแต่เป็นคำพูดที่ทำให้คนทำงานหมดกำลังใจ
สำหรับการทำงานก็ต้องหาแรงบันดาลใจในการทำงานเหมือนกัน เพราะงานมันยาก กว่าจะคุยกันรู้เลย กว่าจะเข้าไปนั่งในใจของเขา กว่าครอบครัวและกรณีศึกษาจะคุยแล้วเปิดใจกับคนทำงานก็แทบจะถอยกันไปข้างหนึ่ง
กรณีเด็กทั้ง 5 คนนี้ ต้องบอกได้เลยว่ามีลูกเยอะมาก เป็นเด็กในครอบครัวเดียวกัน ที่สู้กันมาทำงานกับครอบครัว คำเดียวที่ได้ยิน "อยากมีงานและเงินใช้" "อยากมีบ้านเหมือนคนอื่น" "อยู่กัมพูชาก็อดตาย" คำพูดเหล่านี้เหมือนเมื่อสักสามสิบปีที่แล้ว ที่คนต่างจังหวัดในประเทศไทยให้เหตุผลที่หอบลูกหอบหลานมาทำงานที่กรุงเทพในงานก่อสร้าง หรือรับจ้างทั่วไป แต่สำหรับครอบครัวนี้ มาขอเงินตั้งแต่สิบห้า-สิบหกปีที่แล้ว
ครูเองเจอครอบครัวนี้ครั้งแรกในปี 2555 โดยพาลูกๆมานั่งระหว่างทางเดินห้างพันธุ์ทิพย์พล่าซ่า กับเซ็นทรัลเวิลด์จำว่าครั้งแรกที่เห็นแม่พาลูกสองคนวิ่งเหมือนว่าครูเป็นตำรวจ ช่วงหลังที่ทำงานด้วยกัน จึงทราบว่า ทุกคนที่อยู่บนถนนเส้นนี้ ทุกคนกล่าวหาว่าครูเป็นสายของตำรวจที่ลงมาเก็บข้อมูลแล้วนำรูปถ่าย ส่งให้ตำรวจกับ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รถสีชมพู่) ที่วิ่งไล่จับอย่างเดียว เมื่อครอบครัวไหนถูกจับ ถือว่าซวยมากเพราะขังคุกอย่างเดียว แยกแม่กับลูกนานเป็นปี เด็กบางคนก็กลับครอบครัวไม่ได้หาครอบครัวไม่เจอ สิ่งเหล่านี้ออกจากปากของกรณีศึกษา
งานนี้ต้องบอกได้เลยว่า ใช้เวลากว่าสี่ปี แม่เด็กจึงปล่อยเด็กมารับนม ขนม ของเล่น เสื้อผ้า ที่พอจะแบ่งปันกัน หรือบางครั้งเด็กก็จะเดินตามสะกดครูว่าไปทางไหน พูดคุยกับคนอื่นอย่างไร มีครั้งหนึ่งตามครูตั้งแต่สยามจนถึงอโศก ครูก็เดินย้อนกลับมาที่สยามอีกฝั่งหนึ่งของถนน เพราะต้องการให้เด็กน้อยสองคนที่เดินตามกลับมาหาแม่ที่นั่งอยู่ที่สยาม เป็นการเดินที่ระยะไกล แต่ได้เห็นอะไรมากมาย ทำให้เด็กสองคนได้เรียนรู้ไปด้วย
ตั้งแต่วันนั้นมาเด็กสองคนก็เริ่มพูดคุย เห็นที่ไหนก็รีบวิ่งมาหากระเป๋าของครูที่บรรจุ นม ขนม บางครั้งก็ขอสมุดระบายสีกับสีไม้ ไประบายที่บ้าน ในช่วงนั้นลูกคนโตของครอบครัวนี้ยังเดินทางระหว่างกัมพูชากับไทย เด็กได้เรียนบ้าง เด็กเองก็มีความสุขเห็นได้ชัด เพราะทุกคนที่เจอหน้ากันเด็กจะขอแต่อุปกรณ์การเรียนไปใช้ เด็กน่าจะเรียนได้แค่ ป.3 เท่านั้น ก็ต้องออกมาอย่างถาวร มาช่วยครอบครัวทำมาหากิน ครูเองก็เริ่มทำงานกับครอบครัวนี้
(1) พยายามเปลี่ยนอาชีพของครอบครัวนี้เพราะลูกสาว คนโต และลูกชายคนที่สอง ยอมจ่ายค่าเรียนการร้อยมาลัยที่ศูนย์ฝึกอาชีพสวนลุมพินี ต้นปี 2558 พร้อมกับให้ครอบครัวไปทำงานรับจ้างที่ชุมชนบ่อนไก่ เพราะมีเจ้าของร้านมาลัยมาจ้างร้อยพวงละ 1 บาท ดอกไม้และสิ่งของทั้งหมดเป็นของเจ้าของร้านดอกไม้ ครอบครัวนี้ฝึกทำกันทั้งครอบครัว ซึ่งมีรายได้พอสมควรเลี้ยงลูกจำนวนมากได้บ้าง ถือว่า ได้อาชีพติดตัวอยู่ แล้วก็ขยับขยายมาขายดอกไม้เองบนถนน โดยช่วงเช้าแม่จะไปซื้อดอกไม้แล้วกลับมาช่วยกันทำ ช่วงเย็น ลูกทั้งหมดสามคนแบกกระจาด กระป๋องมาตั้งร้านค้ากันคนละมุมถนน ตั้งแต่ประตูน้ำ หน้าห้างสยาม จนมาถึงสะพานลอยตรงหอศิลปะของกรุงเทพมหานคร ครูก็เป็นลูกค้าคนหนึ่งเป็นประจำ แต่ครูมีกรณีศึกษาอีก สี่ครอบครัว ที่เปลี่ยนจากขอทานมาขายดอกไม้ ในการทำงานก็ถือได้ว่าเป็นการหาทางเลือกอาชีพดีกว่าไปนั่งขอทาน
(2) เมื่อปลายเดือนธันวาคม 2560 ลูกสาวคนโตของครอบครัวนี้ถูกจับ ในบันทึกรายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2561 เวลาประมาณ 20.40 น. จนท. สน........... ได้ดำเนินการเชิญตัวบุคคลที่นั่งขายพวงมาลัย ชาวกัมพูชา จำนวน 1 คน ชื่อ น.ส.นิน อายุ 15 ปี ซึ่งได้ทำการนั่งขายพวงมาลัยอยู่บริเวณหน้าวัดปทุมวันวนาราม แขวง-เขต ปทุมวัน กทม. ซึ่งครอบครัวมีการใช้แรงงานเด็กอันรูปแบบอันเลวร้าย และใช้แรงงานเด็กที่ไม่เหมาะสมตามวัย และเด็กไม่มีเอกสารหลักฐานในการแสดงตัวตนบุคคล จึงขอความอนุเคราะห์บ้านพักเด็กและครอบครัวกรุงเทพมหานคร รับเด็กเข้าคุ้มครองสวัสดิภาพต่อไป
มีลิงค์บทความ ขายพวงมาลัย.....ก็ถูกจับ http://www.fblcthai.org/?name=news&file=readnews&id=134
กระบวนการกว่าจะหาลูกเจอว่าถูกส่งไปที่ไหนก็ต้องใช้เวลา งานนี้ครูจึงต้องเข้าไปช่วยอีกครั้งในการตามหา น้องนิน ความผูกพันของครอบครัวนี้ก็เริ่มมีมากขึ้นเลยๆ ด้วยความจริงใจของครูที่ลงทำงาน
(3) เมื่อกลางเดือนเมษายน 2561 แม่อยากให้น้องนาด กับน้องนุช เข้าเรียนในโรงเรียนที่ใกล้ชุมชนบ่อนไก่ คือโรงเรียนปลูกจิต สังกัดกรุงเทพมหานคร แต่ถ้าโรงเรียนไม่รับ อ้างว่ารู้ระเบียบ เกี่ยวกับ “คู่มือและแนวปฏิบัติสำหรับการจัดการศึกษาแก่บุคคลที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทย ปี 2535 แก้ไข ปี 2548 ของ กระทรวงศึกษาธิการ แต่ทางโรงเรียนไม่รับ จึงต้องนำเด็กสองคนไปเรียนที่ศูนย์เด็กเล็กใต้แฟลตบ่อนไก่ เด็กไปเรียนบ้าง ไม่ได้เรียนบ้าง เพราะค่าใช้จ่ายเดือนละ 300 บาท ที่ต้องจ่าย ทางครอบครัวมีบ้างไม่มีบ้าง ก็ได้เรียนรู้ด้วยกันมาขึ้น ได้เห็นว่าครูเองก็ต้องการให้เด็กได้เรียนหนังสือสู้กับความคิดเห็นของครูในโรงเรียน แต่เทอมการศึกษาหน้าขอเปิดศึกกันอีกรอบหนึ่ง สำหรับการเรียนของเด็กเหล่านี้ ครั้งนี้ครูก็ต้องทบทวนและเตรียมความพร้อมที่จะเห็นได้อ่านออก เขียนได้บ้าง เขียนชื่อตัวเองเป็น
(4) เมื่อ วันที่ 15 สิงหาคม 2561 แม่ของน้องนิน ได้คลอดลูกคนที่ 7 ในครอบครัว เกิดเมื่อวันแม่ 12 สิงหาคม 2561 ทางครอบครัวอยากได้ใบเกิดของลูก อพร้อมทั้งที่ต้องมีการแปลเอกสาร ครูจึงได้ไปเยี่ยมแม่น้องนิน เด็กที่เกิดใหม่ชื่อเด็กหญิงวีเนีย ทาลัค มีปัญหาเรื่องสุขภาพ คือตัวเหลือง แต่น้ำหนักของน้องดีมาก 3.7 กิโลกรัม ตัวใหญ่กว่าเด็กคนอื่น สิ่งที่ต้องทำในวันที่ไปพบ
- ครอบครัวนี้จะออกจากโรงพยาบาล แต่ค่าใช้สูงมากถึง 14,882 บาท แบ่งออกเป็นค่าใช้จ่ายของลูก 4,882 บาท (แม่มีเงินเพียง 2,000 บาท ) ทางโรงพยาบาลอนุเคราะห์ให้เด็กอีก 2,882 บาท สำหรับเด็กไม่มีอะไรที่ติดค้างกับโรงพยาบาล
-กรณีของแม่ ค่าใช้ค่าทั้งหมด 10,000 บาท แม่ต้องทำหนังสือยอมรับสภาพหนี้กับทางโรงพยาบาล โดยมีการผ่อนเดือน 1,000 บาท แม่รับสภาพหนี้ ครูเป็นพยาน แต่จะโดนเรียกเก็บเงินเมื่อไร หรือจะต้องจ่าย ค่อยว่ากันในอนาคต
-คุณหมอได้พยายามเรี่ยไร ในการฝังเข็มให้กับแม่ซึ่งปัจจุบันอายุ 37 ปี แล้ว ไม่ควรที่จะมีลูกอีก การฝังเข็มครั้งนี้ไม่มีรายการฟรีนะค่ะ อนุเคราะห์ค่าฝังเข็มอีก 3,575 บาท แต่ถ้าครูเองก็ต้องจ่ายค่าใช้จ่ายเล็กๆน้อยๆไม่ต่ำกว่าหนึ่งพันบาท
-ประสานงานกับหน่วยงานองค์กร ประเทศไทย ในการแปลเอกสารให้กับครอบครัว เมื่อนำเอกสารไปขอรับใบรับรองการเกิด แล้วนำไปแจ้งที่สำนักงานเขต เพื่อรับใบเกิดของเด็กหญิงตัวน้อย
-เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2561 ไปรับใบรับรองการเกิด ครูโดนด่าพร้อมกับพ่อแม่ของเด็กแบบ ไม่ต้องมองหน้าข้าราชการในสำนักงานเขต คือการไม่ได้ทำหน้าที่ของตนเอง ดีกว่าว่า/บ่น คนอื่น เหตุผลหนึ่ง ที่ทำให้แม่ต่างด้าวทั้งหลายไม่กล้าไปรับใบรับรองการเกิดของลูก เหตุผลที่สองเรื่องค่าใช้จ่ายที่ค้างกับโรงพยาบาล จนไปถึงกับการไม่พาลูกไปฉีดวัคซีนตามที่กำหนด ทำให้เด็กไม่ได้รับวัคซีนขั้นพื้นฐาน ในวันนั้นทั้งครูและครอบครัวต้องวิ่งในให้วุ่น ทั้งเรื่องเอกสารและการถ่ายเอกสาร ครูจึงบอกพ่อกับแม่เด็กให้นั่งรอ ครูประสานเองจะง่ายกว่า กว่าจะเสร็จก็ใช้เวลาสี่-ห้าชั่วโมง แต่ละคนก็หิวจนจะหน้ามืดไปตามๆกัน
มาถึงขั้นตอนสุดท้ายที่พ่อแม่ต้องเซ็นต์เอกสาร ดีที่พ่อแม่ทั้งคู่เขียนภาษากัมพูชาได้ เป็นแรงกระตุ้นอีกครั้งสำหรับและเด็กที่เป็นลูกครอบครัวนี้อีก 4 คน ที่ไม่เคยเรียนหนังสือกันเลย แล้วจะทำอย่างไร เป็นคำถามสำหรับครูที่ต้องหาคำตอบ ทนไม่ได้ที่เด็กจะเขียนหนังสือไม่ได้เลย
ครูต้องเริ่มต้นกับเด็กทั้งสี่คนที่เป็นครอบครัวนี้ แต่ยังมีเด็กอีกสามคนที่รุ่นเดียวกันที่ไม่เคยเรียนหนังสือเลยแต่ก็อยู่ในชุมชน ครูจึงเริ่มต้นด้วย
1.คุยกับครอบครัวในตอนบ่ายวันนั้นเลย ครูจะจัดการเรียนการสอนให้ลูกครอบครัวนี้ทั้งสี่คน อย่างน้อย ต้องอ่าน ออก เขียน ได้บ้าง ครูรู้ว่าลูกของครอบครัวนี้เอาตัวรอดแต่เมื่อไรต้องต้องอ่าน ต้องเขียน ทำไม่ได้เลยไม่ใช่คำตอบของครู ครอบครัวจึงบอกว่าครูสอนพวกเขาเลย ครูจึงต้องไล่เรียงอายุของลูก สูงสุดคือ 16 ปี, 14 ปี, 13 ปี, 12 ปี, 7 ปี, 3 ปี และ ตัวเด็กน้อยที่เพิ่งเกิด จำนวนเด็ก 4 คน อยู่เมืองไทย ลูกอีก 2 คน กับกับยายที่กัมพูชา
2.ค้น รื้อ หา เอกสารการสอนเด็กตั้งแต่เริ่มต้น ตั้งแต่การคัดลายมือ ถึงจะมีเด็กคนหนึ่งที่เรียนมาบ้าง ก็ต้องจัดการใหม่ จนได้เอกสารมาระดับหนึ่งที่ต้องทำ คือการการทำเป็นรายบุคคล เพราะมีความพร้อมไม่เหมือนกัน มีเอกสารพอสมควรกับการเริ่มต้น
3. เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2561 จึงจัดเป็นห้องเรียนเคลื่อนที่เรียกเด็กทั้งสี่คนมากรับเอกสาร อธิบาย ว่าต้องทำอะไรบ้าง เริ่มต้นต้องแต่การคัด ก จนถึง ฮ ระบายสี ห้ามออกจากเส้น เขียน และคัดอีกครั้งหนึ่ง ทุกอย่างต้องทำให้เสร็จ แล้วสัปดาห์หน้ามาพบกัน
เด็กๆ ตื่นเต้นกันมาก รับสมุดรับหนังสือไป แต่สิ่งที่ครูต้องหาคือหนังสือฝึกการอ่าน ตั้งแต่เล่มที่หนึ่ง จนถึงเล่มที่สี่
หนังสือเขียนตามรอย และฝึกการเขียนชื่อตัวเองอีกครั้ง งานคัดเป็น 100 รอบแน่นอน เด็กขอเอกสาร ไปเผื่อด้วย ครูจึงต้องบอกว่าขอเวลาหาเอกสารก่อนนะ
ถือว่าเป็นการจัดการเรียนการสอนอีกครึ่งที่ต้องการให้เด็กได้รับโอกาสทางการศึกษาเป็นรายบุคคลก่อน ถ้าจะพัฒนาจนเข้าเรียนได้ก็ถือว่าเป็นความโชคดีของเด็กเร่ร่อนต่างด้าว แต่พื้นฐานต้องทำให้ได้ก่อน
เรียนรู้ไปด้วยกันนะเด็ก เด็ก ของครูข้าง 7 ชีวิตด้วยกัน....