ผมก็อยากมีงานทำ...มาเลี้ยงตัวเองเหมือนกันครับ
นางสาวทองพูล บัวศรี
ผู้จัดการโครงการครูข้างถนน มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก
งานของครูข้างถนน มีกลุ่มเป้าหมายที่อยู่บนถนน กว่าเจ็ดกลุ่มด้วยกันในการทำงาน แต่ความกังวลของคนทำงานห่วงที่สุดคือ กลุ่มเด็กเร่ร่อนวัยรุ่น ช่วงอายุตั้งแต่ 9-25 ปี และเด็กเร่ร่อนที่มีครอบครัวแล้วจำนวน 4 ครอบครัว ที่พาลูกกับเมียนอนตามข้างถนน
ทางกรมกิจการเด็กและเยาวชน ได้มีการอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาทักษะชีวิตเด็กเร่ร่อน เรื่อง "เส้นทางสู่อาชีพ" ณ.สวนนงนุช จังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ 10-12 กรกฎาคม 2561 เด็กเร่ร่อนจำนวน 35 คน ซึ่งแบ่งออกเป็นเด็กที่อาศัยอยู่บนถนน
-สถานีรถไฟหัวลำโพง วงเวียน 22 จำนวน 8 คน(ในนี้รวมครอบครัว 2 ครอบครัว มีลูกน้อยมาด้วยพร้อมพ่อ แต่ไม่ได้รวมกิจกรรม พ่อดูแลลูกคนเล็กให้แม่เข้าร่วมกิจกรรมตลอด
-พื้นที่สะพานพุทธ จำนวน 18 คน (มีครอบครัวจำนวน 2 ครอบครัว ซึ่งเป็นเด็กเข้าค่ายกิจกรรมอย่างต่อเนื่องมาหลายครั้ง แต่เด็กทุกคนก็เรียกร้องขอโอกาสที่จะเข้าค่ายเหมือนเด็กปกติทั่วไป) มีอยู่สองรายที่เกินคำว่าเยาวชน แต่ขอติดตามมาด้วย บอกว่ามาทุกครั้งมาเข้าค่ายได้แนวคิดดี ดี ไปทำตัวให้ดีขึ้น เห็นความหมายในการใช้ชีวิตมากขึ้น เหมือนมีแรงบันดาลใจให้อยากยุติการเร่ร่อน แต่เมื่อกลับไปพื้นที่สู่โลกความเป็นจริง แค่ให้เอาชีวิตรอดในแต่ละวันบนถนน มันก็ยากเหมือนกัน แต่ขอโอกาสพวกผมได้เห็นอีกมุมหนึ่งขอสังคม ได้นอนห้องแอร์ ได้กินอาหารที่หลากหลาย ได้มีอาหารว่างกิน ได้พบเพื่อนที่อื่นๆ มันเป็นสิทธิของพวกผมไหมครับ....
-เด็กที่เข้ามายังบ้านเมอร์ซี แต่ยังต้องมีการปรับตัว เข้ามาอยู่ที่บ้านของมูลนิธิฯ ความตั้งใจของเด็ก เด็ก คือการยุติการใช้ชีวิตบนถนน การคืนสู่ครอบครัวของบ้านอีกครั้ง แต่เป็นบ้านของหน่วยงานก่อน กลับมาเรียนรู้การใช้ชีวิตที่มีระเบียบวินัย การมีตารางชีวิตของคนปกติทั่วไป และอยู่ในช่วงการปรับพื้นฐานการเรียน การศึกษานอกระบบ อีกจำนวน 7 คน
งานนี้ทุกคนที่เข้าค่ายและคลุกคลีกับเด็กทุกคนบอกบอกว่า เด็กทุกคนแต่งตัวดีขึ้น เพราะเจ้าหน้าที่ประจำค่ายแจกยาสระผม สบู่ ทุกอย่างตั้งแต่ลงรถให้อาบน้ำก่อนอันดับ การตรงต่อเวลามีมาก รวมกิจกรรมและสนใจในกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง เด็กอยากเรียนรู้และให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี
สำหรับผู้เขียน กับพี่ป้อม พี่แขก ที่เป็นนักกิจกรรมสำหรับเด็กและเยาวชน ผู้เขียนเองทำกิจกรรมที่ร้องรำ ทำเพลงไม่เป็นเลย แค่ตบมือให้เข้าจังหวะก็ยากแล้ว แต่สนใจการทำกระบวนกรเรียนรู้ และทำกระบวนกรกับคนทำงานเป็นส่วนใหญ่ โจทย์ครั้งนี้ให้ทำกับเด็กและเยาวชน เป็นงานท้าทายกับเด็กและเยาวชนเร่ร่อนบนถนนด้วย สิ่งผู้เขียนรู้ดีว่าเด็กและเยาวชนจะสนใจในสิ่งตัวเองสนใจเท่านั้น แล้วจะมาให้เด็กกลุ่มนี้มาสะท้อนการใช้ชีวิต เรื่องอาชีพ ต้องบอกว่าสามคนต้องนั่งปรึกษาหารืองานกันตลอดในการทำกิจกรรม ถอดงานวิชาการเรื่องทักษะชีวิต เรื่องการใช้ชีวิตมาเป็น มาเป็นกิจกรรม ใช้คำถามนำกิจกรรม เช่น คำถามว่า ทำไหมถนนมีอะไรดี พวกๆเด็กยังอยากอยู่ แล้วเด็กอยู่อย่างมีความสุข และบางคนก็เลือกที่จะตายอยู่ที่บนถนนแห่งนี้
คุยกับพี่ป้อมกับพี่แขกตลอดเวลาว่า ผู้เขียนเคยเห็นพี่ทั้งสองเล่นกิจกรรมรวมเงิน พี่ทั้งสองเริ่มกิจกรรมรวมเงิน ตั้งแต่ หญิงมีค่าหนึ่งบาท ผู้ชายห้าสิบสตางค์ จัดกลุ่มรวมกันตามที่วิทยากรบอกจำนวน เช่น จำนวนห้าบาท เด็กหญิงบางคนก็รวมกัน 5 คน กลุ่มเด็กผู้ชายก็รวมเฉพาะผู้ชายห้าคน วิทยากรเปลี่ยนจำนวนไปเรื่อยๆ จนกลายเป็นกลุ่มเดียวกัน ทุกคนมีคุณค่ามูลค่าในกลุ่มขาดใครไปก็ไม่ครบตามจำนวนที่ถูกกำหนด
แล้วมีการสะท้อนกิจกรรมว่าคิดอย่างไร มีเสียงเด็กน้อยคนหนึ่งเขาไม่เคยคิดเลยว่าเหรียญห้าสิบสตางค์ที่เขาขอคนอื่นเมื่อรวมกันหลายเหรียญมันก็เป็นจำนวน ห้าบาท สิบบาทได้ เขาเคยเหวี่ยงเหรียญเหล่าทิ้งแบบไม่ใยดี แต่วันนี้เขาเห็นคุณค่า
กิจกรรมที่สอง ค่าใช้จ่ายจริง ของเด็กในแต่ละวัน โดยในแต่ละกลุ่มจะได้รับเงินไม่เท่ากัน ตั้งแต่ 120-130 บาท เป็นเงินจริงที่แลกมา ใช้กลุ่มของเด็กและเยาวชนที่มีอยู่แล้วจำนวน ห้ากลุ่ม โดยให้เงินเหรียญ เหรียญบาท เหรียญห้าบาท เหรียญสิบบาท จำนวนกลุ่มละประมาณ 120 บาท เท่านั้น ให้แยกเป็นกองในนำเงินไปใช้จ่ายแต่ละวัน สิ่งที่ออกมา
-ค่าอาหารที่หากินในแต่ละวัน เพียงแค่ 20-25 บาท เท่านั้น เพราะแต่ละคนบนถนน บอกว่าหาอาหารำกินได้ เพราะในถังขยะยังมีอาหารที่คนอื่นทิ้งอีกจำนวนมาก และบางพื้นที่ก็บอกว่าเข้ามากินที่บ้านพัก
-ค่าเสื้อผ้าของลูก /ค่าอาบน้ำ กรณีที่ลูกไปโรงเรียน สำหรับครอบครัวเร่ร่อน จำนวน 30 บาท ต่อวัน รวมถึงค่าเข้าห้องน้ำด้วย ซึ่งไม่เคยคิดเลยว่ามันเป็นค่าใช้จ่าย แสดงว่าบนโลกแห่งนี้ไม่มีอะไรฟรีจริงๆ
-ค่าเด็กไปโรงเรียน จำนวน 20 บาท ต่อวัน เป็นทั้งค่าน้ำและค่าขนม อาหารเช้าและอาหารกลางวันไปกินที่โรงเรียน
-ค่าซ่อม/ค่าน้ำมันมอเตอร์ไซด์ วันละ 10-15 บาท สำหรับเด็กเร่ร่อนที่มีคนเลี้ยง แล้วคนเลี้ยงออกมอเตอร์ไซด์ให้มีจำนวน 3 คน แต่ละคนยืนยันเสียงดังว่า รถต้องเติมน้ำมัน กับค่าซ่อม เช่นการเติมยาง การเช็คอุปกรณ์ บางครั้งก็เสียมากกว่า แต่มีเด็กบางคนในกลุ่มก็บอกว่ามีแค่เดือน สองเดือนเท่านั้น เมื่อไม่มีเงินก็เอาไปจำนำแล้วก็หลุดไป ค่าประดับตัวชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น
-ค่าสบู่/ยาสีฟัน/ผงซักฟอก แยกเป็นรายวัน ประมาณวันละ 5 บาท เท่านั้น เฉพาะครอบครัวสี่ครอบครัวที่เข้าร่วม ยืนยันว่าต้องใช้
-ค่ายา(ยาบ้า/ยาแก้ไอ) /ค่ากาว เป็นเงินจำนวนที่สูงมาก คือทุกกลุ่มตั้งแต่ 30-50 บาท เมื่อเห็นค่าใช้จ่ายแล้ว วิทยากรทั้งสามคนอึ้งคะ เด็กที่อยู่บนถนนใช้ชีวิตที่เสี่ยงมาก เป็นจุดเริ่มต้นของการก่ออาชญากรรม
-ค่าเล่นเกม/เข้าร้านอินเตอร์เน็ต จำนวน 40-60 บาท ต่อคนต่อวัน บางคนไม่มีก็ใช้ใช้วิธีการเข้าร้ายเกมกับเพื่อน เพื่อนเล่นเกมผมเข้าไปนอนในห้องแอร์กับเพื่อน หรือวิธีการก็ใช้การสลับกับเล่น อีกคนก็นอนไป เพราะบางทีไม่อยากนอนที่หัวลำโพงหรือสะพานพุทธ
-บางกลุ่มก็รวมเงินเป็นค่าเช่าห้องรายวันนอน เก็บคนละ 10-20 บาท ที่พักรายวัน วันละ 50 บาท นอนได้ประมาณ 3-5 คน บางครั้งใช้วิธีการสลับกันนอน ยิ่งเพื่อนที่ขายบริการทางเพศ จำเป็นต้องอาบน้ำแต่งตัวดี ก็จะเช่าเป็นประจำ
เมื่อเห็นค่าใช้จ่าย กับการใช้ชีวิตของเด็กบนถนน ทั้งครอบครัวและตัวเอง มีเสียงเด็กคนหนึ่งบอกว่าผมมันชอบอาศัยคนอื่น อาศัยเพื่อนทั้งนั้นเลย เพราะผมต้องการเพื่อนที่เข้าใจในการใช้ชีวิต เพื่อนกลุ่มนี้เข้าใจมากกว่าพ่อแม่ พี่ น้อง เสียอีก มีกินก็กินด้วยกัน อดก็อดด้วยกัน
กิจกรรมที่สาม เมื่อแต่ละวันมีค่าใช้จ่าย แล้วรายได้มาจากไหน ที่พอจะมีกิน โดยให้เด็กและเยาวชนช่วยเขียนลงมาให้แต่ละเรื่องที่หาเงินได้
-เด็กและเยาวชนบอกว่า บังคับ /ขู่ เอาเงินจากพ่อแม่ที่ทำงานอยู่ในบริเวณที่เด็กอาศัยอยู่ บางครั้งก็ได้เงินมา ตั้งแต่ 30-50 บาท ต่อวัน เมื่อได้เงินมาก็มารวมตัวกัน พากับท่องเที่ยวไปตามที่ต่างๆของกรุงเทพมหานคร บางคนก็ข้ามถิ่นไปถึงสมุทรปราการ ปทุมธานี นครปฐม ตามที่มีเพื่อนเร่ร่อนอยู่ด้วย
-รับจ้างขายของร้านชำ รับจ้างส่งเอกสาร รับจ้างขนของจากรถไปตลาดปากคลอง รับจ้างขายพวงมาลัย รับจ้างเก็บค่าโดยสารเรือข้ามฝาก รับจ้างเช็คกระจก รับจ้างขายพิชซ่า รับจ้างขายผัก รับจ้างขายเรียงเบอร์ รับจ้างขายสลากกินแบ่งรัฐบาล รับจ้างเชิดสิงโต รับจ้างล้างจาน รับจ้างขายขนม รับจ้างขายกล้วยแขก รับจ้างขายดอกจำปี-จำปา รับจ้างเข็นรถในตลาด รับจ้างทำงานแทนคนกวาดขยะ รับจ้างขายยาดมที่สถานีรถไฟ รับจ้างขายผลไม้ เป็นต้น ทุกอย่างไม่มีรายได้แน่นอน รายได้ประมาณ 150-200 บาท ต่อวัน แต่ไม่ได้มีงานทุกวัน และขึ้นอยู่กับอารมณ์ของพวกเด็กๆด้วย อยากมีเงินถึงจะไปทำงาน
-รับจ้างติดคุก มีคนมีจ้างหรือทางผู้รักษากระบวนการยุติธรรม ให้รับแทนตัวจริงเช่น เจ้าของร้านขายซีดี เจ้าของร้านขายละเมิดลิขสิทธิ์ เจ้าของร้านเสื้อผ้า เป็นต้น หรือทางหน่วยงานต้องการผลงานการจับกุม เด็กและเยาวชนก็รับจ้างก่อคดีในท้องที่ เดือนละประมาณ 5 วันบ้าง 10 วันบ้าง แล้วต้องการผลงานเสนอเจ้านาย อย่างน้อยเด็กเหล่านี้มี อาหารกินสามมื้อ เมื่อออกจากโรงพัก เด็กก็จะมีเงินติดตัวออกไปใช้ ครั้งละ 500-1,500 บาท เด็กก็บอกว่าดีกว่าไปนอนที่ถนน เด็กตอบอย่างชาชินกับสิ่งที่เกิดขึ้น
-งานเป็นเด็กเสริฟอาหาร ทำอาหารให้ร้านอาหาร ทำอาหารให้โต๊ะจีน ซึ่งมีงานประจำ วันละ 300 บาท แต่งานจะเริ่มตั้ง สิบเอ็ดโมง จนถึงเที่ยงคืน หรือเก็บของทุกอย่างเสร็จ ทุกอย่างก็ขึ้นอารมณ์กับเด็กเหมือนเดิม สิ่งสำคัญได้กินอิ่มท้อง แต่พวกผมมันขี้เกียจพอมีเงินก็อยากพัก อยากเข้าไปเล่นเกม ผ่อนคลาย ไปเที่ยวที่อื่นๆบ้าง แต่ไปวันไหนก็ได้เงิน แต่เถ้าแก่เลือกคนที่แข็งแรง แต่งกายดี ไม่มีกลิ่นตัว รักษาความสะอาดทั้งตัว
-งานที่เสี่ยงต่อชีวิตของพวกผม คือขโมยเงินคนในครอบครัว ร้านขายทั่วไป ปล้นผู้โดยสารตามสถานีรถไฟหัวลำโพง ทุบตู้บริจาค ส่งยา ส่งเด็ก รู้ทั้งรู้ว่าผิดกฎหมาย บางครั้งมันหิว หรืออยากยา ก็ต้องทำ ส่วนมากเพื่อนจะด่า แต่ถ้าจะเอาชีวิตให้รอดก็ต้องช่วยกัน มีบางครั้งเป็นแม่เล้าขายเพื่อนให้แขก เพื่อนก็ยินดีช่วยเพราะเห็นเพื่อนลงแดง(อยากยา เสี้ยมยาเต็มที่)
-งานที่ไม่ต้องลงทุน คือการขอทาน เก็บขยะ ขายแรงงานเป็นกรรมกรก่อสร้าง แต่เด็กจะเลือกเป็นงานสุดท้าย เพราะมันเหนื่อย และต้องถูกสายตาที่รังเกียจของคนทั่วไป มีบางครั้งก็มีคนบ่นว่าโตแล้วยังจะมาขออีก มีมือเท้า ดี ไม่อายเด็กที่เขาทำงานบ้างหรือไร เสียงเหล่าดังแว่วมากระทบหูทุกวัน
งานที่ทำงานให้เด็กและเยาวชนกลุ่มนี้มีรายได้มาเลี้ยงชีวิต ไม่ใช่อาชีพที่สุจริต แต่เด็กบอกว่า ความรู้ก็ไม่มี ทำได้แค่นี้ก็ดีแล้ว
กิจกรรมที่สี่ ให้บอกเล่าว่าอยู่บนถนนกันมากี่ปีแล้ว มีเหตุผลอะไรที่ยังอยากอยู่บนถนน ความลำบากที่เด็กต้องพบเจอมีอะไรบ้าง เด็กและเยาวชนส่วนใหญ่อยู่กันตั้งแต่ 2-17 ปี ถ้าอย่างนี้ไม่มีเด็กใหม่เข้ามาในพื้นเลยหรือ เด็กคนหนึ่งตอบว่า ถ้ามีเด็กใหม่เข้ามาพื้นที่จะรีบโทรหาครูโดยด่วนที่สุด ให้เอาน้องใหม่ออกจากพื้นที่โดยเร็ว ส่งเข้าบ้านหรือส่งกลับครอบครัว ไม่ต้องการให้ใครมาใช้ชีวิตอย่างพวกผมหลอกครู อยากเป็นคนดีเหมือนกัน แต่พวกผมมันใช้ชีวิตลึกไปแล้วครับ... ความสุขที่อยู่บนถนน
-ได้ท่องเที่ยวตามที่ต่างๆที่ไม่เคยไป เช่นไปพัทยา ภูเก็ต เชียงใหม่ บางแสน ตามคนที่ซื้อบริการ บางครั้งก็ได้นั่งรถยี่ห้อดังๆ มีบางครั้งได้นั่งเครื่องบิน ด้วย จะกลับเมื่อไรก็ได้ ไม่มีความกังวล สนุกสนานไปกับเพื่อนเรื่อยๆ
-ไม่ต้องฟังเสียงด่าจากแม่ แม่ด่าทุกครั้งที่เห็นหน้า เรื่องนี้เด็กและเยาวชนกำลังสื่อสารเรื่องช่องว่างระหว่างวัยอย่างชัดเจน
-มีเพื่อนที่รัก และเข้าใจ คุยกันรู้เรื่อง รู้จักโลกภายนอกที่กว้างใหญ่ไพศาล ทั้งดูหนังกาลางแปลง เที่ยวผับ เที่ยวบาร์ ไปนั่งเฝ้าผู้หญิงที่ตัวเองรัก หรือถูกหลอกก็มี แสดงว่าพวกผมมีค่า คนถึงมาหลอกพวกผมได้
-พบมีความสุข เพราะถนนคือบ้านของพวกผม
สิ่งที่เป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิตบนถนน
-เวลาป่วยไม่มีใครดูแล โดยเฉพาะที่ป่วยจากโรค HIV /วัณโรค หรือติดเชื้อในกระแส เกิดอุบัติเหตุ เห็นเพื่อนตายข้างถนน ทำให้อยากกลับบ้านหรือยุติการใช้ชีวิต
-เวลาที่หิวมากๆ จะคิดถึงพ่อแม่พี่น้อง แต่ก็ไม่อยากกลับไป เพราะไม่ชอบคำพูดและสายตา ที่เข้าบ้านเพราะไปไม่รอด หิวมาก ก็ใช้การเก็บเศษอาหารจากถังขยะประทังชีวิตไปก่อน
เมื่อเด็กและเยาวชนเล่าถึงเรื่องนี้ ครูถามต่อว่า ส่งบ้านของหน่วยงานต่างๆที่มี เสียงคนหนึ่งที่อายุมากสุด ผมเข้ามาทุกบ้านแล้วครับ ทุกบ้านมีกฎระเบียบหมด ครูที่อยู่ในบ้านก็โมโหร้ายพอๆๆกับคนในครอบครัวผมเหมือนกัน เป็นเสียงสะท้อนที่หาทางออกไปเจอ (มีรายละเอียดเฉพาะมากทั้งรัฐและเอกชนเยอะมาก)
กิจกรรมที่ห้า ถ้าต้องการทำให้ไปถึงการมีอาชีพที่ทุกคนเขียนไว้ มีความฝันต้องทำอะไรบ้าง อาชีพที่เขียนไว้ อยากเป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง อยากมีร้านอาหารของตัวเอง อยากทำงานร้านสะดวกซื้อ อยากเป็นนักฟุตบอลอาชีพ(จำนวนกว่า 15 คน เพราะเด็กได้รับโอกาสไปเรียนฟุตบอลที่สนาม) อยากทำงานเป็นพนักงานเทศกิจ (มีเยาวชนคนหนึ่งที่กำลังสอบอยู่) สิ่งที่ต้องทำให้ถึงความฝันคือ
-ทุกคนต้องกลับไปเรียน การศึกษานอกระบบและตามอัธยาศัย ให้จบตามช่วงชั้นเรียนของเด็ก
-คนที่อยากเป็นนักฟุตบอลต้องทุ่มเทในการฝึกสอบให้มาก และต้องไปฝึกที่สนามหรือเข้าสมัครตามสโมสรของ ที่มูลนิธิส่งเสริมการพัฒนาบุคคล มี FC ขององค์กรเอง เด็กที่อยากเป็นนักฟุตบอลต้องเข้าบ้านของเมอรซี่ เป็นอันดับแรก ยุติการเร่ร่อน วาสงอนาคตในการฝึกสอบอย่างหนักและซื่อตรง ตรงต่อเวลา ต้องไม่มียาเสพติดทุกชนิด
-สิ่งสุดท้ายคืออยากกระทำผิดเรื่องอะไรทั้งสิ้น เพราะเด็กเร่ร่อนมีประวัติก่ออาชญากรรม ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไม่ได้ลบประวัติให้ หน่วยงานไหนขอไปก็เจอ เรื่องนี้ตัดสิทธิ์ความฝันของพวกเราทุกคน อย่าทำผิดทุกกรณี
จบกิจกรรมด้วยความรู้สึกของเด็กและเยาวชนที่ช่วยกันสะท้อนว่า กิจกรรมครั้งก่อนมองแต่คนอื่นที่ต้องมาช่วยพวกผม แต่กิจกรรมมาสำรวจตัวตน กลุ่มของพวกผมเอง ถ้าอยากมีงานทำต้องทำอะไรบ้าง เหมือนอนาคตมีจริง แค่ตัวเรารู้จักตัวเราเอง
ครูเองมีเด็ก เด็กที่จบการศึกษา และมีครอบครัวที่ดีหลายคน อย่างกรณีของ พี่อ๋า เล่าประวัติและประสบการณ์การทำงานให้ฟัง เด็กทุกคนนั่งกันเงียบ เพราะมันคือเรื่องจริงของพี่ที่เคยเร่ร่อน ตอนนี้มีครอบครัวมีลูก เพราะทุกคนมีความฝัน มีอาชีพมีงานทำ งานทุกงานขอให้ทำเถอะ ที่สุจริต ไม่เบียดเบียนคนอื่นเขา