ครูพงษ์ จากเด็กด้อยโอกาส สู่ครูข้างถนนแห่งหัวลำโพง
จากลูกคนงานก่อสร้างที่ไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือ ต้องคอยอพยพตามพ่อและแม่ไปตามเพิงพักคนงานที่ต่างๆ จนวันหนึ่งได้มีโอกาสเข้าไปอยู่ในมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก นอกจากโอกาสทางการศึกษา เขาได้ค้นพบคำว่า ''ชีวิตใหม่'' ที่นี่ จนถึงปัจจุบันเขายังคงน้อมรับใช้มูลนิธิด้วยการเป็นครูข้างถนน ให้โอกาสเด็กด้อยโอกาส ที่วันหนึ่งเขาเคยยืนอยู่ ณ จุดนั้นมาก่อน
''ธนะรัตน์ ธารากรณ์'' หรือครูพงษ์ เจ้าหน้าที่โครงการครูข้างถนน ซึ่งปัจจุบันรับผิดชอบบริเวณหัวลำโพง แหล่งเร่ร่อนและที่อยู่อาศัยใหญ่ของเด็กด้อยโอกาสในกรุงเทพมหานคร เล่าให้ฟังถึงอดีตที่เคยเป็นเด็กด้อยโอกาสลูกคนงานก่อสร้าง ไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือ อยู่อาศัยในเพิงพักคนงาน รับหนังสือพิมพ์ไปขายตามสี่แยกไฟแดง ก่อนที่มูลนิธิสร้างสรรค์เด็กจะมีโครงการรับลูกของคนงานก่อสร้างมาเลี้ยงดูเป็นรุ่นแรกของมูลนิธิ จึงได้มีโอกาสศึกษาเล่าเรียน เมื่อเวลาผ่านไปก็ต้องทำหน้าที่ผู้ช่วยครู ดูแลเด็กรุ่นน้องที่เข้ามาอยู่ในมูลนิธิ และสะพายเป้ มีขนม ข้าว น้ำ หนังสือวาดภาพ เกมบิงโกลงพื้นที่ตามครูไปยังสถานที่ต่างๆ เพื่อหาและช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาส ทำอย่างนี้จนกระทั่งเรียนจบระดับมหาวิทยาลัย โดยมูลนิธิช่วยเหลือมาตลอด
"พอเรียนจบ เรายังคงทำงานเป็นผู้ช่วยครู คิดเรื่องการตอบแทนมากกว่า เรายืนอยู่ได้ทุกวันนี้เพราะที่นี่ ถ้าไม่มีมูลนิธิ ป่านนี้คงอิเหละเขะขะไปแล้ว แล้วอีกอย่างเรามองว่าปัญหาที่มันเกิดขึ้น เราเจอปัญหามาก่อน เราเลยรู้ว่าความต้องการของเด็กส่วนใหญ่คืออะไร เรารู้เลยว่าตอนเด็กๆ อยากกินไอติม แต่แม่ไม่มีให้เราต้องทำอย่างไร ก็ต้องขโมยเหล็ก อะลูมิเนียมของคนงานไปขาย และตอนที่เราสะพายเป้ตามครูไป เด็กเร่ร่อนเขายกมือสวัสดีเรา สวัสดีครับครู ทั้งที่จริงพวกเขาไม่เคยสวัสดีใครง่ายๆ จึงรู้สึกว่าเราเป็นเหมือนครูแล้ว"
ครูพงษ์ บอกว่า พวกเด็กเร่ร่อนลำบากกว่าเราเยอะ เรายังมีพ่อ มีแม่ แต่เขาไม่มีใคร ต้องมานอนริมถนน จึงอยากให้เขาไปอยู่มูลนิธิของเรา เราเห็นมาตั้งแต่เด็กแล้วว่ามูลนิธิของเราทำงานลักษณะไหน หากจะทำงานอื่นก็ทำได้ แต่รู้สึกว่าเราจะทำอะไรตอบแทนมูลนิธิได้บ้าง ในการที่เขาให้เราเรียนจนจบ จึงเริ่มมาเป็นครูทันที โดยไม่เคยไปสมัครงานที่ไหน
"เราทำมาแต่เล็กจนโต ตั้งแต่เป็นผู้ช่วยครู เพียงแต่เราขยับบทบาทขึ้นมาเป็นครู แต่ก่อนเราอาจจะเตรียมอุปกรณ์ตามที่ครูสั่ง แต่ตอนนี้เราทำงานด้วยตัวเอง ต้องซื่อสัตย์ เพราะงานภาคสนามไม่กำหนดเวลา จะลงตอนไหนก็ได้ หนีเที่ยวก็ได้ งานมูลนิธิสอนให้เราซื่อสัตย์กับงาน และรักในงานที่ทำ อุปกรณ์ทุกอย่าง เราต้องรู้ว่าเตรียมอะไรบ้างกับเด็กแต่ละกลุ่ม และเราจะช่วยเขาอย่างไรเมื่อพบเจอ ซึ่งตรงนี้เราอาศัยว่ามาทุกวัน มีของให้ทุกวัน เอาขนมให้ ชวนกินข้าว พอเขาไว้ใจ เราก็พาไปบ้านสร้างสรรค์เด็ก เด็กที่มาหัวลำโพงเขาไม่รู้หรอกว่ามีอันตรายอะไรบ้าง ถ้าเราไปเจอก่อนก็ถือว่าโชคดี ได้อธิบายให้ความรู้ ง่ายต่อการทำให้เขากลับตัว ส่วนคนที่มาอยู่ฝังตัวไปเจอคนไม่ดีก่อนก็ถูกแนะนำไปในทางไม่ดี คราวนี้ก็ยากต่อการดึงเขากลับมา"
แม้ชื่อของปัญหาคือปัญหาเด็กเร่ร่อนและเด็กด้อยโอกาส แต่ครูพงษ์ บอกว่า ความจริงมันไม่ใช่ปัญหาของเด็กแต่มันเป็นปัญหาของผู้ใหญ่ ถามเด็กดูสิ ใครอยากออกมาเร่ร่อนไหม ไม่มีหรอกถ้าเกิดพ่อแม่อยู่ด้วยกัน พี่น้องอยู่ด้วยกัน แต่ปัญหาคือ พ่อแม่ทะเลาะกัน พ่อแม่แยกทางกัน ผลกระทบอยู่ที่เด็กทันที พ่อไปทางแม่ไปทาง อยู่กับญาติ ญาติก็ไม่รัก ถูกใช้งานทำนู่นทำนี่ เขาก็รู้สึกเบื่อ อ้างว้าง เขาก็ต้องผจญภัย แม้ไม่รู้ว่าชีวิตการเร่ร่อนเป็นอย่างไร แต่พอได้มาใช้ชีวิตบนถนนแล้ว พวกเขาก็ติดกับ มันอิสระ ทำอะไรก็ได้ ดมสารระเหย จินตนาการได้ทุกอย่าง ว่าครอบครัวทุกคนอยู่พร้อมหน้าพร้อมตา บ้างทำผิดโดยที่ไม่ต้องกลัวกฎหมาย ทีนี้พอถึงเวลาจะกลับไปสู่ครอบครัวก็ยาก ต้องใช้เวลาในการเยียวยา หน้าที่ในแต่ละวันของครูพงษ์คือการเตรียมสิ่งของ ขนม น้ำ ของเล่น สมุดวาดเขียนเล็กๆ น้อยๆ ใส่ไว้ในเป้ติดตัวไปยังหัวลำโพง จากนั้นก็เริ่มเดินสำรวจเด็กในระแวกนั้น ด้วยประสบการณ์ดูว่าเด็กคนไหนมีปัญหาหรือมีพิรุธ ครูพงษ์จะเดินตามอยู่ห่างๆ เพื่อสังเกตพฤติกรรมว่าจะเดินไปไหน วนไปวนมาหรือไม่ ท่าทางวอกแวกหรือเปล่า เมื่อมั่นใจแล้วครูพงษ์ก็จะเข้าไปทักทาย ถ้าเด็กตกใจหรือไม่ตอบ ก็จะใช้ความถี่คือถ้าอีกวันเจออีกก็จะทัก แล้วก็ชวนกินข้าว กินขนม สร้างความเป็นกันเอง ก่อนจะแสดงตัวว่าเป็นครูจากมูลนิธิ ให้เด็กเชื่อใจก่อนจะลองชวนให้ไปดูบ้านที่มูลนิธิ ถ้าเด็กชอบอยู่ได้ก็ให้อยู่ แต่ถ้าไปลองอยู่แล้วไม่ชอบก็สามารถกลับมาเร่ร่อนได้ แต่เด็กที่กลับออกมาก็จะรู้ว่าครูพงษ์เป็นครูที่มาจากมูลนิธิที่ต้องการช่วยเหลือจริงๆ
"การที่เราเคยอยู่มูลนิธิ เป็นเด็กด้อยโอกาสมาก่อน ทำให้เรารู้จักเสียสละ รู้จักการให้คนอื่นโดยไม่หวังผล หากถามว่าเรียนรู้จากอะไร ก็เรียนรู้จากครูในมูลนิธิ ครูสอนให้เราเห็นคุณค่าของการให้ เห็นคุณค่าของคนที่ลำบากกว่า รู้จักประหยัด อดออม ไม่ฟุ่มเฟือย เราก็พยายามใช้ทั้งหมดมาสอนเด็กๆ เพราะไม่อยากให้พวกเขามาเร่ร่อน อยากให้เขากลับสู่ครอบครัว หรืออาจจะไปอยู่ที่มูลนิธิ เทียบเมื่อก่อนมันเป็นแค่ปัญหาครอบครัวแตกแยกไม่เหมือนตอนนี้ที่เป็นปัญหาซับซ้อน คือปัญหายาเสพย์ติด การใช้สารระเหย ปล้น เรื่องเพศ เป็นปัญหาครบวงจร ถามว่าจะไปอยู่บ้านเราง่ายๆ มันไม่ง่าย พอมีแฟน มีอะไรกับแฟน จะไปแยกชาย หญิงเขาก็ไม่อยู่แล้ว เพราะอิสระอยู่ที่ตัวเขา มันมีความท้าทายในกลุ่มเพื่อน และรายได้ที่รู้สึกว่าหาง่าย ไม่เสียเวลาเรียน เวลาเด็กเข้าไปในองค์กรก็ต้องมีกติกา เขาต้องไปปรับตัวกับกฎ เขาเลยไม่ชอบ"
ครูพงษ์ บอกว่า เด็กเร่ร่อนบริเวณหัวลำโพงจะมีอยู่ด้วยกันหลายกลุ่ม อาจเป็นพวกเก็บขวดขาย พวกนี้บางคนก็อาจมือไวขโมยของ ซึ่งตอนนี้ทางหัวลำโพงก็จะคอยกันเด็กพวกนี้ไม่ให้เข้ามา บางกลุ่มก็เป็นพวกเขามาขอทาน ส่วนที่แย่สุดคือกลุ่มค้าประเวณีซึ่งมีทั้งชายและหญิง เราก็พยายามนำความรู้ไปคุยกับเด็ก เรื่องความร้ายแรงของโรคเอดส์ ว่าคนเป็นโรคนี้เยอะนะ และมันก็รักษาไม่หาย ซึ่งก็ยอมรับว่าให้เรามาทำหรือแก้ปัญหาคนเดียวคงไม่ได้
"ถามว่าท้อมั้ย มันก็มีบ้าง แต่เราคิดถึงการเสียสละ การให้ คิดว่าการที่เราทำเราก็ได้กับตัวเราเอง ไม่มีปัญหา ไม่ทุกข์ใจ พ่อแม่เราอยู่สบาย มันเหมือนเราได้บุญโดยที่ไม่ต้องเข้าวัด แล้วเรามีลูก ความดีมันก็ตกไปถึงลูกของเราเอง พอคิดแบบนี้เราก็สบายใจ อุปสรรคที่ผ่านมาเราไม่เคยย้อนกลับไปเจ็บปวดเลย กลับเป็นแรงดันให้เราสูงขึ้น เราไม่อยากให้เด็กมีชีวิตแบบเราเมื่อครั้งเป็นเด็ก เราก็คอยพยุงเขา ทำได้แค่นี้ก็พอใจแล้ว"
สิ้นเสียงหวูดรถไฟ ขบวนแล้วขบวนเล่า ผู้คนที่เดินกันขวักไขว่ เคลื่อนย้ายออกไป บ้างเคลื่อนย้ายเข้ามา ชายคนหนึ่งยังคงจับจ้องชีวิตเยาวชนอีกหลายชีวิตในที่แห่งนี้ ด้วยสายตาแห่งความเสียสละและศรัทธา.