banner
ศุกร์ ที่ 16 เดือน สิงหาคม พ.ศ.2562 แก้ไข admin

อยากเรียน...ทำไมมันยากจัง (ตอนที่ 1 เรื่องการศึกษา)

 

นางสาวทองพูล  บัวศรี

ผู้จัดการโครงการครูข้างถนน  มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก

 

          เสียงโทรศัพท์ ปลุกครูจากภวังค์ความคิด หลายเรื่องด้วยกัน  ด้วยหลังจากจ่ายค่าใช้จ่ายค่า คอมพิวเตอร์ของเด็ก ค่าครูสอนภาษาจีน และภาษาอังกฤษ  ค่าประกันอุบัติเหตุ  ค่าครูสอนเด็กเล็กชั้นอนุบาล  ความคิดตามสโลแกนว่า  “เด็กเรียนฟรี  แต่ความจริงคือเสียเงิน”

            ครูค่ะ ครอบครัวของหนูเคยเจอครูที่ สถานสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่งนนทบุรี  วันนั้นครูพา เด็กหญิงยวน กับ เด็กหญิงหยั๋งเออ  มาส่งเพื่อให้ตรวจ DNA   หนูก็ถามเพื่อนๆกว่าสิบกว่าครอบครัว  ว่าผู้หญิงตัวเล็กๆๆเป็นใคร มาจากไหน  ทำไมเจ้าหน้าที่ที่สถานสงเคราะห์ ยกมือไหว้ทุกคน  แม้แต่กรณีศึกษาอย่างพวกเราก็ยกมือไหว้กันทุกครอบครัวเลย  มีครอบครัวนางทีมด ร้องไห้กับผู้หญิงคนนี้ด้วย

          เวลามาเยี่ยมก็ได้เยี่ยมกับแม่เด็ก  แถมมีเครื่องใช้อุปกรณ์ทำความสะอาด สบู่ ยาสระผม ยาสีฟัน  ผงซักฟอก มาแบ่งปันให้ครอบครัวแม่กับเด็กชาวกัมพูชา

          ในแต่ละครั้งก็จะมีเสียงของกลุ่มเด็กเรียกครู...บางครั้งก็ได้เข้าไปนั่งที่ห้องพบนักสังคมสงเคราะห์  เด็กๆก็จะบอกความต้องการ  แต่มีบางคนก็เล่าเรื่องราวของแม่บ้าน ที่ไม่ดูแลสนใจกับเด็กเร่ร่อนต่างด้าว  ในขณะเดียวกันก็มีกลุ่มแม่และเด็ก ที่ครูเองไม่รู้จัก เพราะมาจากพื้นที่อื่นๆ  ที่ครูเองไม่ได้ลงพื้นที่  แต่ถูกจับมา   แต่เมื่อเด็กนั่งมองครูก็จะบอกให้เด็กแบ่งขนม ข้าวของเครื่องใช้ให้เด็กกลุ่มด้วย  ครูเลยกลายเป็นสิ่งกล่าวขวัญ  แม้ครูเองจะไม่รู้จักกับเด็กก็ตาม

          เมื่อปลายเดือนพฤษภาคม 2562  ครูได้รับโทรศัพท์ ว่ามีสามครอบครัว มีเด็กจำนวนทั้งสิ้น 5 คน  อาศัยบ้านเช่าที่บริเวณดอนเมือง  อยากให้ลูกหลานได้เรียนหนังสือ  ได้ข้อมูลมาจากเพื่อนๆที่อยู่ในสถานสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่งด้วยกัน  ครูคะช่วยพวกเราด้วย ต้องการให้ลูกได้เข้าเรียนอ่านออก เขียนได้  เวลาไปไหนจะได้ไม่หลงทางนะครู

          ครูเมื่อได้ข้อมูลเรื่องร้องขอความช่วยเหลือแล้ว  จึงบอกกับคุณครูมลวิภา ลีลายุทธ(ครูซิ้ม)  ช่วยดำเนินการให้ครูหน่อย  เพราะนโยบายว่าเด็กที่อยากเรียนต้องได้เรียน  แต่ทางปฏิบัติไม่ได้เป็นเช่นที่กล่าวไว้  โดยเฉพาะการบังคับใช้กฎหมายและมติคณะรัฐมนตรี 2535 แก้ไขปี 2548  ขั้นตอนในการดำเนินการ เด็กอยากเรียน ต้องได้เรียน  ไม่ได้เป็นจริง

(1)ได้ลงไปเยี่ยมครอบครัวของเด็กเร่ร่อนต่างด้าว มาเช่าบ้านที่อยู่ที่ดอนเมือง อยู่กันมา

นานแล้ว เป็นเวลากว่า 10ปี มีทั้งหมด 5 คน  ด้วยครอบครัวนี้มีลูก 2 คน เป็นชายคนหญิงคน  คนโตที่เป็นผู้ชาย อายุกว่า 11 ปี ไม่มีเอกสารใดๆที่แสดงตนที่เกี่ยวข้องกับไทย  สำหรับน้องคนเล็ก เกิดที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งที่ จังหวัดสมุทรปราการ  แต่ไม่ได้ใบเกิดมาเพราะค้างค่าใช้จ่ายในขณะที่น้องคนเล็กคลอด  แล้วก็ไม่เคยกลับไปโรงพยาบาลอีกเลย 


          มีหลานสาวคนสวย ใบหน้าคม ตามเข้มมา อายุ 12 ปี พ่อแม่ของสาวน้อยตายหมด มาอยู่กับครอบครัวของน้า แล้วก็กลายเป็นสมาชิกของครอบครัว  ต้องทำมาหากินด้วยการขอทานไปทั่ว ตั้งแต่ตลาดรังสิต ฟิวเจอร์  สะพานลอยสนามบินดอนเมือง  ด้วยออกจากบ้านเช่ากันตั้งแต่ ตีห้า กลับกันมาอีกครั้งก็ สิบ-สิบเอ็ดโมง  มานอนพักผ่อน  ทุกคนก็จะเก็บตัวกันอยู่ในบ้าน   จนประมาณบ่ายสามก็จะออกจากบ้านไปทำงาน กลับกันมาอีกครั้งก็ประมาณ สองทุ่ม  ใช้ความเมตตาของนักท่องเที่ยวเป็นส่วนใหญ่ สำหรับคนไทยส่วนมากจะซื้อเป็นอาหารให้  อย่างน้อยสุดคือมีอาหารกินในแต่ละมื้อ  ชีวิตของพวกเราก็พออยู่ได้

          สำหรับลูกคนเล็กเกิดที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งที่ สมุทรปราการ มีใบรับรองการเกิด แต่นางพยาบาลบอกว่าค้างค่าคลอด มีเงินมาจ่ายเมื่อใดก็มารับใบรับรองการเกิด  (เหตุการณ์แบบนี้สำหรับครูคือการคุ้นเคยเป็นอย่างมาก  เพราะกรณีศึกษาที่เป็นแม่และเด็กค้างกันเกือบทุกคน  บางคนหอบลูกหนี ก็มีเพราะค่าใช้จ่ายเป็นหลักหมื่น )  สำหรับน้องคนสวยค้างค่าคลอด ทั้งสิ้นจำนวนกว่าเจ็ดพันบาท  แม่เด็กก็หันมาหาครูซิ้มทันที  ครูซิ้มโทรมาประสานกับครูก่อน จึงบอกว่าไปว่าช่วยได้เต็มที่ไม่เกินสามพันบาท ที่ต้องจ่ายให้โรงพยาบาลเพื่อแลกกับใบรับรองการเกิด

          สำหรับพ่อกับแม่ของเด็ก เป็นคนพิการต่างด้าว คือพ่อพิการที่ขา  ส่วนแม่พิการที่แขน  จึงเป็นจุดขายความน่าสงสารได้  แต่การยืนยันของสามีภรรยาคู่นี้ การขอทานไม่ได้มีรายได้เหมือนแต่ก่อน  แค่หาเลี้ยงในแต่ละวันก็พอแล้ว  แต่ถ้าแม่กับลูกถูกจับเมื่อไร  ความหายนะก็เกิดขึ้นกับครอบครัวทันที  ถึงแม้จะอยู่ในไทยแบบผิดกฎหมาย แต่ก็ยังดีกว่าอยู่ที่กัมพูชา  อย่างไรก็ยังมีกินอยู่บ้าง

          (2)ครูซิ้มพาเด็กทั้งสามคน พร้อมพ่อกับแม่เด็กไปโรงเรียนที่สังกัด กรุงเทพมหานคร  ผู้อำนวยการโรงเรียนเสียงดัง ฟังชัดว่า  เด็กต้องมีเอกสาร คนเล็กพอให้เรียนได้แต่ต้องไปเอาใบเกิดมา  ระเบียบที่มีผมก็รับทราบนะ  แต่ไปหาเอกสารมาดีกว่า  ผมไม่อยากตอบคำถามกับสำนักการศึกษาของ กรุงเทพมหานคร   นี้คือข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในภาคสนาม

          เอกสารที่ทางสำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร  ไม่มีความหมายในการดำเนินการกับผู้อำนวยการโรงเรียน ถึงจะเป็นคู่มือและแนวปฏิบัติสำหรับการจัดการศึกษาแก่บุคคลที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทย  โดยเฉพาะคำนำ ในเอกสารฉบับนี้ ว่า  “มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2548 เห็นชอบเกี่ยวกับการจัดการศึกษาแก่บุคคลที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทย  โดยการขยายโอกาสทางการศึกษาให้ทุกคนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยสามารถเข้าเรียนได้โดยไม่จำกัดระดับ ประเภท หรือพื้นที่ทางการศึกษา  ประกอบกับนโยบายกรุงเทพมหานครในส่วนของการศึกษากำหนดว่า  “เด็กที่ไม่มีหลักฐานตามกฎหมายว่าด้วยทะเบียนราษฎรให้โรงเรียนรับเข้าเรียนโดยให้ถือปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยหลักฐาน ในการรับนักเรียนนักศึกษาเข้าเรียนในสถานศึกษา พ.ศ. 2548”  เป็นเพียงเอกสารที่ประดับในโรงเรียนต่างๆ  แต่ในทัศนของครู ขึ้นอยู่กับทัศนคติของผู้อำนวยการโรงเรียน เท่านั้น

          ด้วยครูเองที่พาเด็กไม่มีเอกสารเข้าเรียน โรงเรียนหลายสิบโรงเรียนที่รับเด็กพร้อมทั้งดำเนินการ ตามหลักปฎิบัติของ “คู่มือและแนวปฏิบัติสำหรับการจัดการศึกษาแก่บุคคลที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทย ให้เด็กได้มีโอกาสเข้าเรียน”  ตั้งแต่ระดับอนุบาล  ประถมศึกษา  และมัธยมศึกษา

          ครูหลายคนที่บอกกับครู  ให้เรียนเถิดเพราะว่าไม่ต้องจ่ายอะไรเพิ่มเติม เพราะจำนวนครูที่สอนอยู่ก็เท่าเดิม  จำนวนเด็กที่เข้าเรียนน้อยลงทุกปี  อาคารเรียนเก้าอี้ก็เท่าเดิม  มีเด็กที่เข้าเรียนก็ได้ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่แล้ว   สำหรับอาหารกลางวันเด็กเหล่านี้ก็มีคูปองค่าหัวเหมือนเด็กปกติด้วย

          การสร้างที่ยืนทางการศึกษาของเด็ก คือการสร้างโอกาสให้เด็กมีคุณภาพ  เขาเหล่าคือทรัพยากรคุณภาพของอาเซียน    “เด็กที่อยากเรียน  ต้องได้เรียน”   เป็นเพียงแค่สโลแกนเท่านั้น