banner
ศุกร์ ที่ 28 เดือน สิงหาคม พ.ศ.2558 แก้ไข admin

งานครูข้างถนน

          

     ทุกคนคุ้นเคยกับชื่อ “ครูจิ๋ว” เรียกแทนตัวของเธอ มากกว่าชื่อ “ทองพูล  บัวศรี”  ผู้จัดการโครงการ  มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก ทำงานด้านเด็ก โดยเฉพาะเด็กๆในศูนย์เด็กก่อสร้าง เด็ก(และผู้ใหญ่) เร่ร่อน ศึกษาการเคลื่อนย้ายของเด็กเร่ร่อนข้ามเขตจากชายแดนถึงกรุงเทพมหานคร  ทั้งยังดูแล โครงการครูข้างถนน ทั้งภาพรวมและลงพื้นที่  เชื่อมเครือข่ายคนทำงานครูข้างถนน และพัฒนาบุคลากรด้วย ถ้าเราจะพูดถึงใครสักคนที่เข้าใจสถานการณ์ของเด็กและคนเร่ร่อนบนถนนไทยได้อย่างเป็นรอบด้าน และลึกซึ้งในวันนี้คนหนีไม่พ้นครูจิ๋ว
 
 

          ครูจิ๋วทำงานกับมูลนิธิสร้างสรรค์เด็กมาตั้งแต่เรียนจบจนถึงทุกวันนี้  ไม่เคยย้ายองค์กรไปไหนทั้งๆที่งานที่ทำเป็นงานแก้ไขปัญหาทั้งสิ้น  แต่น่าแปลกที่ว่า พลังที่ทำให้ครูจิ๋วมุ่งมั่นทำงานได้อย่างไม่ลดละ กลับมาจากเด็กและผู้ใหญ่ข้างถนนนั่นเอง

          “ใครอยากมาขอทานบ้าง ถ้าเขาไม่ยากจน เราเคยเป็นคนจนมาก่อน เราเคยเป็นคนที่ไม่มีอาหารกินมาก่อน อาหารที่เรายื่นไปให้เขานี่ เรารู้สึกว่าไม่มีคุณค่าอะไรเลย  แต่มันมีคุณค่าสำหรับเด็กหนึ่งชีวิต ทำให้รู้ว่าคนเราไม่ต้องการอะไรเลย ต้องการแค่กิน ปัจจัยขั้นพื้นฐาน แค่นี้จริงๆ”

          การดูแลโครงการศูนย์เด็กก่อสร้างและโครงการครูข้างถนน เป็นส่วนหนึ่งของงานที่ครูจิ๋วดูแลในฐานะของผู้จัดการโครงการ มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก ครูจิ๋วยังคงลงพื้นที่ ทั้งในศูนย์เด็กก่อสร้าง ย่านวัดเสมียนนารี และพื้นที่ใจกลางเมืองหลวงเพื่อเยี่ยมเยียนและให้ความช่วยเหลือคนไร้บ้านกลุ่มต่างๆเป็นประจำ

   

สถานการณ์ข้างถนนที่เปลี่ยนแปลง

·                   สถานการณ์การณ์ตอนนี้มีคนหลายกลุ่มมากที่ออกมาเร่ร่อน สมัยก่อนเราจะเจอแต่เด็กเร่ร่อนอย่างเดียว แต่ปัจจุบันเราเจอคนอย่างน้อยเจ็ดกลุ่มบนถนน  กลุ่มที่ 1) คือเด็กเร่ร่อน หมายถึงเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปีลง  2) วัยรุ่นเร่ร่อน สองกลุ่มนี้เป็นเด็กไทย  3) ครอบครัวเร่ร่อน คือเด็กวัยรุ่นที่แต่งงานกันแล้วเร่ร่อน ไม่สามารถเข้าถึงบริการใดๆทั้งสิ้น และจะขยับขยายไปอยู่ส่วนต่างๆ กลายเป็นคนไร้บ้านและผู้ป่วยข้างถนนในอนาคต 4) เด็กที่เรียนหนังสือแต่มาร้องเพลง มาเปิดกล่อง เราเรียกว่า “มาหารายได้พิเศษ” กลุ่มนี้มีโอกาสเร่ร่อนสูงในอนาคต ถ้าเราไม่สามารถทำงานกับครอบครัวเขาและโรงเรียนได้ เพราะเขารู้สึกว่าการเร่ร่อน การขอทาน ได้เงินเยอะ มีเด็กบางส่วนที่พ่อแม่ให้มา หรือมีปู่ย่าตายายขายสินค้า และเด็กตามมาช่วยขาย 5)ผู้สูงอายุมาขอทานหรือมาขายของ กลุ่มนี้เคยขอทานเป็นอาชีพมาก่อน แล้วเปลี่ยนมาขายของ ที่น่าเป็นห่วงคือ พอขายของไม่ไหวแล้วจะกลายเป็นขอทาน 6)คนพิการมาร้องเพลงขอทาน ตอนนี้มีเยอะมาก งคนเคยอยู่สถานสงเคราะห์คนพิการหรือเป็นโรคเรื้อนแต่ว่าได้รับเบี้ยเลี้ยงไม่พอ  เลยต้องออกมาใช้ชีวิตข้างนอก 7) แม่และเด็กเร่ร่อนต่างด้าว

·                   การช่วยเหลือเด็กเร่ร่อนตอนนี้คือ ต้องเจาะเคสบาสเคสเท่านั้น เราไม่สามารถทำงานเหมือน 20 ปี ก่อนที่จับกลุ่มเด็กมานั่งคุย  มาเรียนหนังสือกันได้อีกแล้ว เพราะเด็กสมัยก่อนมีปัญหาไม่ซับซ้อน  คือความยากจนและการไม่มีโอกาส แต่ตอนนี้ไม่ใช่ ความยากจนก็ยังเป็นปัญหา และยังมีปัญหาไม่มีเอกสาร ปัญหาไม่รู้จักคุณค่าของตัวเอง ไม่รักตัวเอง ขายบริการทางเพศ ติดเอดส์ หรือทุกอย่างบวกรวมหมดเลย เราต้องดูไปทีละเคสว่ามีปัญหาอะไรบ้าง ซึ่งยากและหนักกว่าสมัยก่อน แต่ถ้าแก้ได้ จะเป็นตัวอย่างให้หลายเคส การทำงานของครูข้างถนนจึงเปลี่ยนรูปแบบไป คือดูว่าเราสามารถเข้าถึงระบบสวัสดิการของรัฐได้มากแค่ไหน และไม่ใช่เฉพาะเรื่องการศึกษาไทยแล้ว ต้องเป็นระบบสวัสดิการต่างด้าวและการทำงานของประเทศต้นทางด้วย

·                   ในขณะเดียวกัน เรามีครูข้างถนนบางคนที่เรียนจบปริญญาเอก บางคนก็มาจากอดีตเด็กเร่ร่อน บางคนมาจากเด็กที่เราเลี้ยง นี่คือผลผลิตที่เกิดขึ้นเรื่อยๆ บางคนเป็นโปรแกรมเมอร์ เป็นนักออกแบบ พี่ๆที่ผ่านพ้นวิกฤติมาเหล่านี้ เป็นตัวอย่างให้น้อง ทำให้เราเห็นได้ชัดเจน จะมีแนวทางต่อไปอย่างไร

·                   เป็นงานที่ใช้เวลาและการทุ่มเท เพราะสุดท้ายเด็กเร่ร่อนก็เป็นคนคนหนึ่ง ไม่ใช่คุณทำงาน 3 ปี แล้วบอกว่าเด็กได้รับการพัฒนา พูดได้ว่า แม้ชีวิตของเขาได้เข้าไปอยู่ในระบบการศึกษาแล้ว แต่การอยู่ในระบบถึง 16 ปี เราก็แทบจะอยู่กับเขา 16 ปีเหมือนกัน เพราะในชีวิตจริงยังมีปัญหาเยอะแยะ เราต้องคุยกัน เปลี่ยนแปลงกันตลอดเวลา


  

 

งานที่ทำอยู่

·                   งานที่ครูจิ๋วรับผิดชอบในมูลนิธิสร้างสรรค์เด็กมีสามส่วน  ส่วนที่ 1 เป็นงานดูแลโครงการสองโครงการ คือ โครงการศูนย์เด็กก่อสร้าง ในฐานะที่ปรึกษาโครงการ กับโครงการครูข้างถนน ที่ดูทั้งภาพรวมและลงพื้นที่เพื่อพูดคุยกับเด็กเร่ร่อนต่างด้าวด้วย  ส่วนที่ 2 ไม่เชิงเป็นงานแต่เป็นการรวมเครือข่ายการทำงาน เพราะครูข้างถนนไม่ได้มีแต่มูลนิธิสร้างสรรค์เด็กแห่งเดียว แต่มีทั้งหน่วยงานของรัฐและเอกชน เช่น กศน.(สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย)ที่สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ  เทศบาลสังกัดกระทรวงมหาดไทย ตำรวจสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ศูนย์สร้างโอกาสเด็ก สังกัด กรุงเทพมหานคร และ เอ็นจีโออีก 22 แห่ง  ตอนนี้ครูข้างถนนมีประมาณ 180-200 คน กระจายกันอยู่ตามพื้นที่ต่างๆการรวมครูข้างถนนเหล่านี้จะเป็นลักษณะให้มีโอกาสได้คุยกัน ในขณะเดียวกันก็ต้องมีการแลกเปลี่ยนกันด้วยว่า แต่ละพื้นที่เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร

·                   ปี 2559 ที่เราจะเปิดอาเซียน งานที่เราทำจะเปลี่ยนแปลงไปมาก อย่างตอนนี้ศูนย์เด็กก่อสร้างก็เป็นเด็กนานาชาติ กระบวนการเรียนการสอน การทำกิจกรรม หรือการทำงานกับเด็กก็ต้องเปลี่ยนแปลงไปเยอะมาก สำหรับเด็กเร่ร่อนตอนนี้เราไม่ได้ทำหน้าที่ช่วยแค่เด็กไทย เพราะบริบทความเปลี่ยนแปลงขยายขึ้นมาเป็นอาเซียน เด็กพม่า เด็กเขมรที่ตามแม่มาขอทานในเมืองก็รูปแบบหนึ่ง เด็กเขมรที่ด่านจันทบุรี สระแก้วก็อีกรูปแบบหนึ่ง  ปัญหาและรายละเอียดจะต่างกันโดยสิ้นเชิง ครูต้องเท่าทันการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น งานอีกชิ้นที่ต้องทำกับเครือข่ายจึงเป็นงานพัฒนาบุคลากร  ครูจิ๋วเชื่อมั่นว่า ไม่ว่าจะสอนเด็กก่อสร้าง เด็กเร่ร่อน ครูทุกคนมีองค์ความรู้เขาอยู่กับปัญหาแต่สื่อสารไม่ได้

·                   ส่วนที่ 3 คือดูการเคลื่อนย้ายของเด็กเร่ร่อน เพราะสุดท้ายเด็กทุกคนจะเข้ามาส่วนกลางหมด  ถ้าเรารู้ก่อน จะได้สกัดกั้นตั้งแต่ต้นทาง  เพื่อจะได้ไม่เคลื่อนย้ายมากรุงเทพมหานครหมด เด็กๆได้เรียนหนังสือ พ่อแม่อยู่กับที่

·                   งานที่ครูจิ๋วรุกมากๆ เราเน้นที่ประเด็นแม่และเด็กเร่ร่อนต่างด้าวขอทาน  เราได้มีโอกาสคุยกับเขา และพบว่าเขาไม่ได้เกี่ยวข้องกับค้ามนุษย์เลย  เพราะองค์ประกอบการค้ามนุษย์มาจากเรื่องเงิน การถูกบังคับบมา ที่สำคัญต้องเป็นการแสวงหาผลประโยชน์จากเด็ก  แต่แม่และเด็กเขมรมาเพราะความยากจน  ต้องการมีชีวิตที่ดีกว่า เราเห็นตัวอย่างจากแหล่งก่อสร้าง เวลาเงินไม่ออก แม่จะพาลูกไปขอทาน

·                   ใครอยากมาเป็นขอทานบ้าง ถ้าเขาไม่ยากจน เราเคยเป็นคนจนมาก่อน เราเคยเป็นคนที่ไม่มีอาหารกินมาก่อน  อาหารที่เรายื่นไปให้เขานี่ เรารู้สึกว่าไม่มีคุณค่าอะไรเลย แต่มันมีคุณค่าสำหรับเด็กหนึ่งชีวิต  ทำให้รู้ว่าคนเราไม่ต้องการอะไรเลย  ต้องการแค่กิน ปัจจัยขั้นพื้นฐาน แค่นี้จริงๆ

     

พลังขับเคลื่อนครูจิ๋ว

·                   ครูจิ๋วเคยเป็นเด็กด้อยโอกาสคนหนึ่ง ครอบครัวแตกแยก พ่อมีครอบครัวใหม่ แม่เป็นชาวนาธรรมดาที่ถูกคลุมถุงชนให้แต่งงาน สิ่งที่ครูจิ๋วได้จากครอบครัว คือทั้งยายทั้งแม่รักครอบครัวมาก  เรารู้สึกว่าได้รับความรักเต็มที่ เราได้รับโอกาสจากคุณครูทุกคน ตั้งแต่ประถมศึกษา มัธยมศึกษา วิทยาลัยครู  จนถึงระดับมหาวิทยาลัย เราได้รับเกียรติจากครูที่ดูแลเรา บอกว่าทางนี้เป็นทางที่ถูก ทางนี้ผิด เป็นคนที่รับมาตลอด  เคยรับทุนการศึกษา ของานพิเศษครูทำ ทำงานด้วยเรียนด้วยมาตลอด เรียนจบสาขาพัฒนาชุมชนจากวิทยาลัยครูพระนครศรีอยุธยา  พอถึงเวลาหนึ่ง เราอยากแบ่งปันแต่เราไม่มีเงินให้หรอก  เราให้ด้วยความรัก เรามีแนวทางจะทำ เราหาโอกาสให้แบบนี้เราทำให้ได้  ครูจิ๋วเลยเลือกงานที่อยากทำ อยู่กับมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก ตั้งแต่ปี 2531 จนถึงปัจจุบัน

·                   งานแรกของครูจิ๋วคือเป็นครูสอนเด็กในเขตก่อสร้าง เป็นสิ่งที่ท้าทายมาก ที่เรียนในตำราแทบจะพับเก็บไปเลย ต้องมาคิดใหม่ สร้างงานใหม่ หัวใจสำคัญคือเจ้านายเรา(คุณหญิงจันทนี  สันตะบุตร ปรธานมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก) ไม่เคยปิดกั๋นความคิดเราทำให้เรามีความสุข  เราเห็นเด็กของเราก้าวหน้าไปข้างหน้าทีละก้าว เห็นเด็กมีอนาคตจบไปเป็นผู้ช่วยพยาบาล เรียนต่อปริญญาตรี โท เอก เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย เป็นส่วนหนึ่งที่ทำงานในมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก เป็นผลผลิตที่ไม่ได้ออกมาจากตัวเงิน

·                   ครูจิ๋วมีโอกาสเรียนปริญญาโทที่นิด้า  คนเขาชอบบอกว่าพวกเอ็นจีโอทั้งหลายทำงานวิจัยไม่เป็น  ครูจิ๋วเลยรู้สึกว่าต้องเอางานวิจัยมาถอดงานของเรา ทำเป็นตัวอย่างว่าครูข้างถนน ครูศุนย์เด็กก่อสร้างก็ลุกขึ้นมาทำงานวิจัยได้ เมื่อเราเข้ามาสู่งานวิชาการ เราก็มาพิสูจน์ให้เพื่อนน้องพี่เห็นว่า งานภาคสนาม งานวิชาการ ต้องคู่กัน


    

ฟื้นฟูพลังตัวเอง

·                   สิ่งที่เราว่าเป็นปัญหาแทบตาย พอเห็นเขาไม่มีจะกิน อะไรใหญ่กว่ากัน ปัญหาร้อยแปดที่เราทะเลาะกับนาย ทะเลาะกับหน่วยงานที่สู้แล้วยังไม่ได้ผล กี่ปีแล้วที่มันยังไม่ยังไม่เดิน  แค่เขาหยิบขนมเราไปกินเท่านี้ก็จบแล้ว สุดท้ายก็แค่นี้ไม่มีอะไร ตอนลงพื้นที่ใหม่ๆจากที่เด็กเคยเห็นป้าแล้วพาลูกวิ่งหนี เดี๋ยวนี้เห็นป้า เด็กวิ่งมาหาถุงขนมป้า แค่นี้สำเร็จ  แค่นี้ทำให้รู้ว่าคนไม่ต้องการอะไรเลย ห้องเช่าเขาก็มีที่แค่ซุกหัวนอนสี่คนแม่ลูกพอดีตัวนั่งกินข้าวก็เบียดกัน ค่าเช่าคืนละ 50 บาท ทำให้เรารู้สึกว่า โอ้โอ ชีวิตมันสู้แล้วเราล่ะ ค่ารถก็เบิกได้ อาจจะเหนื่อยหน่อยตอนที่ลงทำงาน ค่าอาหารการกินเรายังเบิกได้ โอกาสทางการศึกษาเราก็ยังมี นี่เป็นสิ่งที่ทำให้ครูจิ๋วลงพื้นที่แล้วแฮบปี้มาก ทำให้เรามีกำลังใจ

·                   เรารู้สึกว่าทุกปัญหามีทางออก แต่จะใช้รูแบบไหนเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าใจเรามองเป็นปัญหา มันก็เป็นปัญหาตลอดชีวิต  ถ้ามองว่ามันทำให้เราต้องแก้ เราก็จะแก้ ขึ้นอยู่กับมุมมองว่าเป็นบวกหรือลบ  ครูจิ๋วมองบวกเพราะคิดว่ามองลบเมื่อไรจะทำให้เราหดหู่  ถ้ามองบวกจะทำให้เราเห็นทางแก้  ยอมรับว่าปัญหาเยอะไปหมด  แต่คิดว่าเป็นโอกาสให้เราได้ฝึกสมอง ได้รู้สึกว่าเราจะแกร่งกับงานตรงนี้ หือเราจะถอย ถ้าเราแกร่ง มันจะหาทางออกได้เอง แต่ถ้าเราถอย จะทำให้เรารู้สึกว่ามันหมดแล้ว เพราะเราถอยเอง

·                   อาจารย์ชัยวัฒน์ ถิระพพพันธุ์ เคยถามว่าไม่เหนื่อยเหรอ  ทำไมจะไม่เหนื่อย แต่ถ้าทำให้มันสนุก วันนี้ยังทำงานไม่หายมันเลย  พรุ่งนี้ต้องทำต่อให้ได้  ทำให้เรามีกำลังใจในการทำงาน

·                   เวลาเหนื่อยก็นอนดูทีวีที่ห้อง ยิ่งถ้าดูทีวีรายการที่เกี่ยวข้องกับงานเรานะ มันได้อะไรเยอะมาก  อย่างดูหนังเรื่อง The Chorus เป็นร้อยรอบ แต่ละรอบได้อะไรไม่เหมือนกันเลย หรือ Salaam  Bombay ! ดูเป็นร้อยรอบเหมือนกัน ดูแต่ละครั้งได้อะไรไม่เหมือนกัน ทำให้เราได้เห็นว่าอารมณ์พลุ่งพล่านจะแก้ปัญหาอย่างไร ทำไมคนเรายังสู้ได้ แล้วจบ ปิด ทำงานต่อ หรือวันไหนขี้เกียจมาก ก็ขอนอนอารมณ์พวกนี้ก็มีไม่ใช่ไม่มี  แต่ในความรู้สึกของเรา นี่คืองานทุกวินาที เราคิดว่าไปประชุมที่ไหนๆคือกำไร  เราได้เห็นความแปลก วิถีชีวิต ได้เห็นอะไรต่างๆมากมาย

·                   ตอนที่ครูจิ๋วเครียดจากการทำงานจนป่วย  ปากเบี้ยว กลับบ้านไปแล้วแม่นั่งร้องไห้ ทั้งที่ไม่ได้ร้องไห้มานาน เรามีความรู้สึกทันทีว่า ฉันบาปที่ทำให้แม่ร้องไห้ ทำให้เราต้องกลับมาดูแลตัวเองด้วย ให้เราดูแลคนอื่นดีขนาดไหน แต่เราไม่ดูแลตัวเองให้ดี เราก็จะทำให้คนอื่นเป็นทุกข์ จุดเปลี่ยนตรงนี้สำคัญมาก ครูจิ๋วยังบ้างานเหมือนเดิมไหม ก็ยังบ้าเหมือนเดิม แต่เริ่มกินอาหารตรงเวลา มื้อเช้าเป็มื้อสำคัญมาก บอกตัวเองว่า ถ้าอยากทำงานตรงนี้ต่อ ต้องดูแลตัวเอง  เราได้เห็นตัวอย่างของเพื่อนคนทำงานในองค์กรพัฒนาเอกชนจะเครยดกันหมด พักผ่อนน้อย เป็นมะเร็งตายเยอะมาก

 

ผู้นำไม่จำเป็นต้องนำทุกเรื่อง

·                   สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับคนเป็นผู้นำคือ ต้องรู้จักเนื้องานของตัวเองอย่างชัดเจนและแจ่มกระจ่างในงานที่คุณอยากทำ อันที่ 2 งานกับชีวิตดำเนินอยู่ขอให้สอดคล้องไปด้วยกัน  เพราะมันเป็นแบบอย่างการใช้ชีวิต  ประหยัดเป็นอย่างไร ซื่อสัตย์กับเนื้อหาอย่างไร แบบอย่างที่ซื่อสัตย์กับเงินบริจาคและใช้อย่างไร  เป็นแบบอย่างที่ไม่สามารถสอนกันได้  อันที่ 3 ต้องมีความยุติธรรมกับคนที่แม้จะไม่ใช่องค์กรเดียวกัน และที่สำคัญอีกอย่างคือ การสร้างเวทีให้คนอื่นๆให้ยืนเท่าเทียมกับเรา ให้เขาได้เรียนรู้อย่างค่อยเป็นค่อยไป และเราต้องไม่ถอย ถึงจะใช้เวลานาน

·                   ในการทำงาน  เราไม่ต้องเป็นผู้นำทุกเรื่อง บทบาทสำคัญที่ผู้นำต้องมีคือการสนับสนุน การสร้างเครือข่าย การสร้างพื้นที่ การสร้างเวที การพัฒนาศักยภาพไปพร้อมๆกัน ต้องรู้ว่าอะไรรุก อะไรรับ ไม่ใช่ว่าคุณจะรุกอย่างเดียว ไม่อย่างนั้นเราจะไม่ได้กัลยาณมิตรในการทำงาน บางงานบางพื้นที่ครูจิ๋วไม่รู้เรื่อง  อย่างพื้นที่เชียงราย ครูจิ๋วจะรู้ดีกว่าครูน้ำได้อย่างไร  พื้นที่พัทยา ครูจิ๋วจะรู้ดีกว่าครูจาได้อย่างไร  พื้นที่หัวลำโพง ครูจิ๋วจะรู้ดีกว่าครูพงษ์ได้อย่างไร  เราทำหน้าที่ประคับประคอง เสริมอะไรได้เราเสริม เราให้เกียรติกันและกัน ครูจิ๋วไม่ได้คิดว่าทำงานคนเดียว เป็นแค่คนเปิดพื้นที่  แต่ทุกคนที่ทำงานเป็นกัลยาณมิตรของครูจิ๋วทั้งหมด  ไม่ว่าจะทำงานมา 10 ปี 20 ปี หรือ 3 เดือน เป็นเพื่อนพ้องน้องพี่ที่เราต้องเรียนรู้ด้วยกัน  บางเรื่องก็ทำต่อไปด้วยกัน  บางเรื่องเราอาจเป็นผู้นำ  บางเรื่องเราต้องถอยให้เขาเป็นผู้นำ  ต้องรู้จังหวะ รู้ว้าใครเด่นอะไร

·                   ผู้นำที่ดี ยิ่งสูงยิ่งถ่อมตัว อย่าให้เป็นยิ่งสูงยิ่งหนาว  ยิ่งสูงยิ่งไม่รู้อะไรเลย อีกอันคือ ถึงเป็นผู้นำก็ต้องเป็นผู้ตามให้เป็น บางเรื่องเราไม่ต้องนำ  บางเรื่องคนอื่นนำ เราอยู่ข้างหลัง ถ้าเขาทำได้ดี วันนั้นแหละเราจะได้เพื่อนร่วมทางอย่างแท้จริง

·                   ที่จำเป็นที่สุดคือ ต้องเป็นผู้เรียนรู้ตลอดชีวิต เป็นนักอ่าน นักฟัง พูดให้น้อย และเขียนให้มาก เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้นำรุ่นใหม่ เราฟังให้มากแล้วค่อยมาวางระบบ วางแผน ยิ่งฟังมากเท่าไร ยิ่งได้ประโยชน์ เป็นสิ่งที่เราต้องปรับตัวเอง ผู้นำต้องครบเครื่อง คือต้องทั้งพูดทั้งนำได้ ใช้ชีวิตตัวเองได้ รักในเนื้องาน รักเพื่อนพ้องร่วมงาน ที่สำคัญอีกอันคือ ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตในการดำเนินชีวิตและกับเพื่อนพ้องน้องพี่ของเรา

     

จากภาคสนามสู่งานวิจัย

·                   ครูหยุย (วัลลภ  ตังคณานุรักษ์  เลขาธิการมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก ) บอกว่า เราทำงานไม่มีเกษียณอายุ กะไว้ว่าถ้าอายุ 60  เราไม่มีแรงลงพื้นที่ ก็ต้องปรับเปลี่ยนให้ลูกน้องที่แข็งแรงกว่าลงภาคสนาม และเรากลายมาเป็นที่ปรึกษากับเป็นนักวิชาการ กำลังดูว่างานภาคสนามจะนำไปสู่วิชาการได้แค่ไหน คนทำงานภาคสนามจะได้ไม่กลัววิชาการต้องเรียนรู้ด้วยตัวเอง ทั้งงานเอกสารที่ออกมากับข้อเท็จจริงในภารสนาม ต้องเป็นเสนอแนะและชี้แนวทางว่า ถ้าเขาลงภาคสนามแล้วต้องเก็บอะไรบ้าง เตรียมตัวรับความเปลี่ยนแปลงแบบไหน ตอนนี้ผู้ใหญ่หลายคนที่ไม่ได้ลงภาคสนามแล้ว เขาจะพูดแต่เรื่องเก่าเมื่อ 20 ปีก่อน ซึ่งมันไม่ใช่แล้วในความรู้สึกเรา เพราะวันนี้มันเปลี่ยนไปแล้วแต่ก่อนเราเคยสอนว่าต้องมีอุปกรณ์แบบนี้ ข้อมูลแบบนี้ แต่ตอนนี้ถนนมันเปลี่ยน กลายเป็นที่ทำมาหากิน ค้า มีสิ่งซ่อนอยู่ข้างหลัง ถ้าคุณไม่สัมภาษณ์ ไม่สัมผัส ก็ไม่เห็น


    


Tips

     ครูจิ๋วเป็นคนที่ชอบทดลองทำ อาจจะสำเร็จอีก 3-4 ปีข้างหน้า แต่เราเป็นคนขอลองทำ  ทำให้งานของเราสามารถเดินไปได้  ครูจิ๋วคิดอยู่ตลอดเวลาว่า แต่ละวันที่เหลืออยู่เป็นวันที่ครูจิ๋วได้ทำอะไรให้แก่สังคม ก็จะทำเต็มที่ เพราะไม่รู้ว่าจะตายเมื่อไร  โอกาสแบบนี้ไม่ได้มีกันทุกคน  คุณหญิงจันทนี  สันตะบุตร  ประธานมูลนิธิสร้างสรรค์เด็กบอกกับครูจิ๋วว่า เธอน่ะโชคดีมากที่ได้ทำงานตามความฝันและได้บุญด้วย  งานพวกนี้น้อยคนที่จะมีโอกาสได้ทำ และที่ทำแบบยั้งยืนยงก็มีไม่กี่คนหรอก  ถ้ามีลมหายใจอยู่ก็ขอทำเต็มที่ 

 

 

 

 


จาก หนังสือ นำร่วม ร่วมนำ ความหมายของการนำผ่านชีวิตและการงาน เล่ม 1

ของโครงการผู้นำแห่งอนาคต คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เมื่อ เดือน เมษายน  2558