banner
พุธ ที่ 26 เดือน สิงหาคม พ.ศ.2558 แก้ไข admin

โอกาสทางการศึกษาของลูกกรรมกรก่อสร้าง กับการทำงานเชิงรุก

       ด้วยโครงการศูนย์เด็กก่อสร้างเดอะพารค์แลนด์ ศรีนครินทร์ มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก ร่วมกับบริษัทนารายณ์พร็อพเพอตี้ จำกัด ได้เปิดโครงการศูนย์เด็กก่อสร้าง ขึ้นในแหล่งก่อสร้างเดอะพารค์แลนด์ ศรีนครินทร์ สร้างคอมโดนิเนียม โดยทางบริษัทเป็นเจ้าของคอมโดมีเนียมในแต่ละแห่งเอง   ทางโครงการศูนย์เด็กก่อสร้างได้เริ่มทำงาน มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 มีการย้ายกันไปเรื่อยๆ หลายแห่ง  ตั้งแต่การย้ายศูนย์เด็กก่อสร้างไปที่ แหล่งก่อสร้างท่าพระ  การย้ายแหล่งก่อสร้างไปที่ บางแค  การย้ายแหล่งก่อสร้างกลับมาที่ ศรีนครินทร์  การย้ายแหล่งก่อสร้างไปที่งามวงศ์วาน  และสิ้นสุดการสนับงบประมาณที่เป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ  ระยะเวลาทั้งสิ้นจำนวน 6 ปี  ที่เด็ก เด็กลูกกรรมกรก่อสร้างได้ดำเนินเพื่อสร้างโอกาสที่ดีให้เด็ก

                   เมื่อต้นปี 2556 ทางโครงการศูนย์เด็กก่อสร้างร่วมกับบริษัท ทีทีเอสเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด  ได้ย้ายศูนย์เด็กก่อสร้างของเรา มาเปิดการเรียนการสอนที่ ซอยอุดมสุข 60 ซึ่งเป็นการดำเนินงานกับบริษัทรับเหมาก่อสร้าง ซึ่งทางบริษัทรับเหมาก่อสร้างจะช่วยรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับค่าน้ำ ค่าไฟ บ้านพักสำหรับครู   แต่สำหรับงบประมาณค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการดำเนินกิจกรรมเป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับอาหารกลางวันเด็ก ค่ารักษาพยาบาล ค่าอุปกรณ์การเรียน การกิจกรรมพิเศษ  ค่าทัศนศึกษาสำหรับเด็ก  ตลอดจนค่าเงินเดือนครู ทางมูลนิธิสร้างสรรค์เด็กต้องรับผิดชอบเอง

                   ในการทำงานของโครงการศูนย์เด็กก่อสร้าง สิ่งที่เราพบ คือ เด็กที่ติดตามพ่อแม่ในช่วงหลังจากปี พ.ศ. 2550  ส่วนมากเป็นกลุ่มเด็กนานาชาติ  ซึ่งมีกลุ่มทั้งที่เป็นชาวกัมพูชา พม่า ลาว ไทยใหญ่ จีนฮ้อ ฯลฯและก็มีเด็กไทยจำนวนหนึ่งที่มาอยู่กับพ่อแม่ในแหล่งก่อสร้าง  เด็กกลุ่มนี้โดยเฉพาะเรื่องการศึกษา เด็กเหล่านี้ไม่มีโอกาสเลย  เพราะช่วงการทำงานของพ่อแม่ที่มีการย้ายถิ่นไปเรื่อยๆทำให้เด็กเองไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสืออย่างต่อเนื่อง  สิ่งที่คณะเจ้าหน้าที่ของศูนย์เด็กก่อสร้างจะทำ คือ เด็กคนไทยที่มีโอกาสในการเข้าเรียน ทางโครงการพยายามจะผลักดันทั้งพ่อและแม่ให้ส่งเด็กเข้าเรียนในโรงเรียนต่างๆ

                   การดำเนินงานโครงการศูนย์เด็กก่อสร้าง  มูลนิธิสร้างสร้างสรรค์เด็ก โดยมีคุณครูไพโรจน์  จันทะวงศ์  ที่ได้ทุ่มเทในการทำงานเพื่อสร้างโอกาสที่ดีกับเด็กลูกกรรมกรก่อสร้าง  ได้แก่

(1) คือการจัดการเรียนการสอนให้กับเด็กลูกกรรมกรก่อสร้างเอง  โดยเฉลี่ยเด็กที่เข้ามาเรียนที่ศูนย์เด็กอายุตั้งแต่ 2 ปี ที่เริ่มหัดเขียน การเขียนลีลามือ การโยงเส้น หรือ การเขียนตามรอยปะอักษรภาษาไทย  และภาพต่างๆ กระทั้งรูปสัตว์ การเขียนภาษาไทย  โดยเฉพาะการสะกดชื่อตัวเองจากภาษาดั่งเดิม  แล้วมาเขียนเป็นภาษาไทย  เหตุผลเมื่อโตขึ้นมาจะได้เขียนชื่อตนเองได้ ในการเซ็นต์เอกสารต่างๆ  การหัดอ่าน ก.-ฮ. การท่องคำคล้อง เพื่อการจำ โดยเฉพาะคำคล้องที่เป็นทักษะในการใช้ชีวิตอยู่ในแหล่งก่อสร้าง การระบายสีทั้งในกระดาษ และปูนพลาสเตอร์ เป็นรูปต่างๆ จากที่เด็กไม่เคยจับพู่กันเลย จนสามารถระบายสีได้สวยงาม  การตกแต่งหน้ากากต่างๆเป็นรูปตามใจของเด็ก จนกลายเป็นการเล่าละครหุ่นของเด็กได้ ทั้งกลุ่มเด็กเล็กและกลุ่มเด็กโต  การฟังซีดีเพลง ก.-ฮ. พร้อมทั้งแสดงท่าทีได้ของเด็ก แล้วเด็กก็เรียนรู้ตัวอักษรต่างๆ เด็กสามารถผสมคำเองง่ายๆได้ เน้นการผสมสระคำ เพื่อให้เด็กฝึกการเขียนตามคำบอกง่ายๆ   สำหรับวิชาคณิตศาสตร์ เน้นไปที่การนับจำนวนของเงิน  การบวก ลบ อย่างง่ายๆเวลาได้รับค่าแรงของพ่อแม่ คือค่าแรงจะออกเป็นวิค (15 วันจะออกค่าแรงครั้งหนึ่ง)  โดยเน้นให้เด็กได้ทำบัญชีง่ายๆของครอบครัว ว่ารายได้กับค่าใช้จ่ายแตกต่างกันอย่างไร  เน้นการเก็บเงินของครอบครัว เวลาที่ต้องส่งกลับบ้านที่ต่างจังหวัด ตลอดจนเวลาที่พ่อแม่ เด็ก ในครอบครัวไม่สบายที่ต้องใช้เงินรักษา  การใช้จ่ายเงินเท่าที่จำเป็นในเรื่องสิ่งของเครื่องใช้  ตลอดจนการใช้มือถือ หรือสิ่งของที่ฟุ่มเฟื่อย   เด็กที่ผ่านโครงการของศูนย์เด็กก่อสร้างในกลุ่มนี้ไม่น้อยกว่า 1,500 คน  เพราะเด็กก็จะผ่านจากโครงการเร็วมาก  ตามงานที่พ่อแม่ได้ทำ  มีเด็กบางคนที่มีโอกาสเวียนกับมารับบริการอีกครั้งเมื่อมีการย้ายศูนย์เด็กก่อสร้างไปเปิดที่ใหม่

คำอธิบาย: http://i1193.photobucket.com/albums/aa352/fblc_th/Kru%20Jew/Labor%20child/Labor03/E400E140E470E010E140E390E0B0E350E140E350E010-E2E0.jpg

 

(2)  กลุ่มที่ประสานงานเข้าเรียน เมื่อเริ่มโครงการที่เดอะพาร์คแลนศรีนครินทร์ ทางโครงการศูนย์เด็กก่อสร้าง ร่วมกับพ่อแม่เด็ก สามารถพูดคุยจนพ่อแม่นำลูกไปเรียนที่โรงเรียนผ่องพลอยอนุสรณ์ ได้ถึง 16 คน ซึ่งช่วงแรกเด็กต้องย้ายจากต่างจังหวัดเข้าทะเบียนบ้านของครูในเขตบางนา เพราะกรุงเทพมหานครจะรับได้เฉพาะเด็กที่อาศัยอยู่ในเขต กรุงเทพมหานครเท่านั้น   ผู้ปกครองเด็กทุกคนจึงยอมเสียค่าใช้จ่ายย้ายรายชื่อลูกเข้าทะเบียนบ้านของครูบางคน ซึ่งมีการเสียเข้าทะเบียนคนละประมาณ 1,500-2,000 บาท เด็กก็เรียนได้ประมาณ 1 ปี ก็มีการย้ายไซด์การก่อสร้างไปที่ท่าพระ  มีเด็กบางส่วนที่รวมตัวกัน โดยผู้ปกครองที่มีรถกะบะรับ-ส่งเด็กวันที่ไปเรียน  ในปัจจุบันนี้เหลืออยู่ประมาณ 9 คน  ที่ผู้ปกครองเด็กไปรวมกันเช่าบ้านแล้วมีแม่เด็กหนึ่งคนดูแลประจำ อีกส่วนหนึ่งจำนวน 6 คน กลับไปเรียนที่ต่างจังหวัด โดยมีตา ยาย ปู่ ย่า ดูแล

 

(3) ประสานงานกับโครงการช่วยเหลือเด็กและครอบครัว เป็นอีกโครงการหนึ่งของมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก  เพื่อหาโรงเรียนที่เหมาะสม เพราะพ่อแม่เด็กอยากให้ลูกเรียนต่อ แต่มีปัญหาเรื่องการเคลื่อนย้ายบ่อยของงานก่อสร้าง และเด็กบางคนก็ยังอยากเรียนต่อเป็นทางออกอีกหนึ่งรูปแบบ ในการส่งเสริมให้เด็กได้รับการศึกษามากที่สุด ดังตัวอย่าง ได้แก่

 เด็กชายประมวล เด็กหญิงมนต์  เพียรจันทร์   ซึ่งเรียนจบ ป.6 จากโรงเรียนผ่องพลอยอนุสรณ์  แล้วไม่สามารถหาที่เรียนได้เพราะทั้งพ่อและแม่อยากที่จะดูแลลูกเอง   จึงมีการประสานงานไปเรียนที่โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์บางกรวย ในปัจจุบันเด็กก็ยังเรียนอย่างต่อเนื่อง  แม่ของเด็กจะไปรับวันศุกร์ทุกอาทิตย์  แล้วไปส่งต่อเย็นของวันอาทิตย์

 น้องส้ม  ที่เรียนในระดับมัธยมศึกษา ปีที่ เกิดภาวะวิกฤติของครอบครัว และวิกฤติของเด็กเอง  ที่จำเป็นต้องรักษาตัวเองและเรียนหนังสือไปด้วย  จึงได้ประสานงานกับโครงการช่วยเหลือเด็กและครอบครัว  ประสานส่งต่อไปที่โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์พิษณุโลก  ปัจจุบันเด็กจบการศึกษา กำลังเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยราชภัฎพิษณุโลก ปีที่

 

(4)    ประสานงานเด็กลูกกรรมกรก่อสร้าง ส่งต่อเข้ามาบ้านอุปถัมภ์เด็ก จำนวน 15 คน ที่ได้รับการศึกษาในระบบโรงเรียน ทั้งเด็กไทยและเด็กนานาชาติ กว่าแต่ละครอบครัวของเด็กต้องใช้เวลานานมาก บางครอบครัวทำงานกันอย่างยาวนานประมาณ 2-3 ปี ก็มี แต่บางครอบครัวพาลูกมาให้หาที่เรียนให้ หรือการจากกลางคัน เพื่อให้ลูกได้เรียนต่อ มีความรู้ เพื่อหวังว่าลูกจะไม่ต้องลำบากเหมือนพ่อแม่ หางานทำได้ดีกว่าการเป็นกรรมกรก่อสร้าง ดังตัวอย่าง เช่น

-น้องพิม และน้องกรร  ใช้เวลากว่า 1 ปี ที่คุยกับครอบครัวที่ส่งลูกมาเรียนที่บ้านอุปถัมภ์เด็ก โดยน้องพิม เรียนเข้าเรียนตั้งแต่อนุบาล ปัจจุบันเรียนชั้น ประถมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนวัดหลักสี่ แล้วน้องมีปัญหาเรื่องการเรียนรู้ คือ (LD) มีความบกพร่องในการเรียนรู้ช้า และถ้าปล่อยอยู่ในแหล่งก่อสร้างจะขาดความปลอดภัยในชีวิต เป็นการสร้างโอกาสกับน้องพิมในเรื่องการศึกษาและการปรับตัว  และน้องกรร ส่งมาอยู่ที่บ้านสร้างสรรค์เด็ก เรียน ชั้นประถมศึกษา ปีที่ 1  โรงเรียนวัดกลางคลองสี่

-ครอบครัวของน้องฝาย น้องโบ น้องหนึ่ง  เป็นสามพี่น้องที่พ่อแม่ทำงานเป็นกรรมกรก่อสร้าง ซึ่งเด็กมีโอกาสเรียนหนังสือบ้าง หยุดเรียนบ้าง เป็นครั้งคราว  จึงมีการพูดคุยกันกับครอบครัวในการวางแผนครอบครัวให้เด็กได้รับการศึกษาต่อเนื่อง  จึงส่งเด็กทั้งหมดมาที่บ้านอุปถัมภ์เด็ก  เข้าเรียนที่โรงเรียนวัดหลักสี่

-ครอบครัวของน้องจารุณี  พ่อของน้องจารุณีเสียชีวิต ทางปู่ ย่า ต้องการหลาน แต่ไม่ให้แม่เข้าไปเกี่ยวข้องหรือเยียมเยือนเด็ก  แม่เด็กจึงตัดสินใจเอาน้องจารุณีมาเข้าเรียนกลางคันที่โรงเรียนวัดหลักสี่ ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 และจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ปัจจุบันไปเรียนต่อระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่จังหวัดร้อยเอ็ด บ้านของแม่ อยู่กับป้า

-ครอบครัวน้องชาย น้องชายเป็นลูกชายที่ติดพ่อมา  พ่อของน้องชายมีภรรยาใหม่  ซึ่งภรรยาใหม่มีลูกของตนเอง 2 คน การย้ายงานของพ่อทำให้น้องชายไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือ  แต่ครอบครัวนี้ พ่อเองก็ไม่มีเวลาที่ดูแลลูกเลย น้องชายมาอยู่ที่บ้านอุปถัมภ์เด็กได้ 2 ปี ต่อนี้ไปอยู่ที่บ้านสร้างสรรค์เด็ก เรียนหนังสือชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 แล้ว แม่เลี้ยงก็ยังมาเยี่ยมเป็นประจำ

-ครอบครัวน้องโบว์ ซึ่งครอบครัวนี้มีพี่น้องทั้งหมด 5 คน ซึ่งมีพี่ชายเรียนหนังสืออยู่ที่โรงเรียนผ่องพลอย  แต่สำหรับน้องโบว์ทางครูศูนย์เด็กก่อสร้างได้ทำงานกับครอบครัวนี้ 3 ปี กว่าที่จะส่งน้องโบว์เข้าบ้านอุปถัมภ์เด็ก ปัจจุบันเรียนหนังสือชั้นประถมศึกษาปีที่ 1

คำอธิบาย: http://i1193.photobucket.com/albums/aa352/fblc_th/Kru%20Jew/Labor%20child/Labor03/E190E490E2D0E070E420E1A0E0B0E4C0.jpg

 

สำหรับกลุ่มเด็กนานาชาติ ทางโครงการศูนย์เด็กก่อสร้าง ก็เปิดโอกาสทางการศึกษา

   ในศูนย์เด็กก่อสร้างมีเด็กนานาชาติจำนวนมาก ที่เข้ามารับบริการ ทั้งการอ่าน เขียน พูด ฟัง เป็นสิ่งที่เด็กได้รับ  ทางศูนย์เด็กก่อสร้างก็ได้ดำเนินการเหมือนกัน

(1) เด็กที่มาเรียน แต่มีโอกาสเรียนที่ประเทศต้นทางของตนเอง สิ่งที่สนับสนุน คือ การสนับสนุน อุปกรณ์ในการเรียน สมุด ปากกา สีไม้ สีเทียน กระเป๋า รองเท้า ที่มีการแบ่งปันกัน กลุ่มนี้มีประมาณ 13 คน ที่ติดตามพ่อแม่ในช่วงการปิดเรียนที่ประเทศต้นทาง เช่น กัมพูชา พม่า ลาว  แต่เด็กกลุ่มนี้ก็อยากฝึกการพูดภาษาไทย

(2) กลุ่มที่เด็กเคยเรียนหนังสือมาก่อนในศูนย์อพยพ หรือโรงเรียนที่เด็กนานาชาติเคยอาศัยอยู่  แล้วต้องออกกลางคันมาอยู่ในแหล่งก่อสร้างกับพ่อแม่ ทำให้ไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือ จนทางศูนย์เด็กก่อสร้างไปพบ จึงยื่นโอกาสให้เด็กอีกครั้ง เช่น

-ครอบครัวของน้องจิน พ่อแม่เป็นชาวพม่า ที่ออกมาจากศูนย์อพยพ ที่จังหวัดกาญจนบุรี มาขึ้นทะเบียนเป็นแรงงาน ขอทำงานแรงงานก่อสร้าง ซึ่งมีลูกทั้งหมด 3 คน เป็นผู้ชาย 2 คน ผู้หญิง 1 คน ส่วนเด็กผู้ชายได้ฝากไว้กับย่าซึ่งมีอายุมาก ลูกสาวพามาด้วยและไม่มีโอกาสได้เรียนมาแล้ว 2 ปี จนครูไพโรจน์ จันทะวงศ์ นำครอบตรัวประสานงานมาที่ บ้านอุปถัมภ์เด็ก ส่งต่อมาเพื่อให้เด็กได้รับโอกาสทางการศึกษา ทางคุณครูเริ่มต้นตั้งแต่

คำอธิบาย: http://i1193.photobucket.com/albums/aa352/fblc_th/Kru%20Jew/Labor%20child/Labor03/E040E230E2D0E1A0E040E230E310E270E190E490E2D0E070E080E340E190.jpg

(1)พาเด็กไปสมัครเรียนที่โรงเรียนวัดหลักสี่(ทองใบทิวารีวิทยา)ถ้าโรงเรียนรับแต่ต้องขอผลการเรียนทั้งหมดของเด็ก ซึ่งเป็นอะไรที่หายากมาก เพราะเด็กไม่มีเอกสาร มีบัตรที่นำหน้าด้วยเลข"0" จึงประสานไปที่โรงเรียนเดิม

(2)ประสานงานด้วยโทรศัพท์ ซึ่งได้รับคำตอบว่าไม่มีอะไร ขอให้ทำหนังสือไปขอรับ ทางฝ่ายทะเบียนจะพยายามหาให้เท่าทีมี

(3) ครูจิ๋ว กับคุณครูไพโรจน์  จันทะวงศ์  ตัดสินใจทันที่ เพราะถ้ารอช้าเด็กเปลี่ยนใจ จะไม่เรียนอีก เพราะเด็กเริ่มเป็นสาว กำลังหาคู่อยู่ ซึ่งในแหล่งก่อสร้างเด็กมีครอบครัวกันเร็วมาก จึงประสานงานพาพ่อและเด็กไปที่โรงเรียนเสาหงษ์ จังหวัดกาญจนบุรี ใช้เวลาไป-กลับกว่า 16 ชั่วโมง ในการขอเอกสารรับรองการเรียนของเด็ก และโชคดีมากที่คุณครูคนเก่าได้เก็บเอกสารของเด็กไว้ จึงมากลับมายื่นที่โรงรียนวัดหลักสี่

(4) นำเด็กกลับมาสมัครเรียนอักครั้งที่โรงเรียนวัดหลักสี่ ทางโรงเรียนยินดีรับเป็นอย่างดี และได้พยายามหาเงินสนันสนุน เพราะเด็กมากลางคันยังไม่ได้ย้ายมาอยู่ในเขตหลักสี่ ซึ่งปัจจุบันเด็กเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ส่วนเรื่องเอกสารต่างๆยังไม่ได้ดำเนินการ แต่ขอเพียงให้เด็กได้โอกาสทางการศึกษาก่อน

-ครอบครัวของน้องสา กับน้องดาว  เป็นชาวพม่าเหมือนกัน ที่อพยพตามพ่อแม่มาอยู่ในแหล่งก่อสร้าง เป็นเวลาปีกว่าที่ไม่ได้เรียนต่อ จนมีการพูดคุยกัน  แม่เด็กจึงยอมนำเด็กมาอยู่บ้านอุปถัมภ์เด็ก  ปัจจุบัน น้องสา เรียนชั้นประถมศึกษาปีที น้องดาวเรียนชั้นอนุบาล โรงเรียนวัดหลักสี่

-ครอบครัวน้องนาง เป็นชาวพม่า ที่เคยเรียนหนังสือที่โรงเรียน เขตบางแค  พ่อแม่ย้ายงานบ่อยเหมือนกัน เด็กไม่ได้เรียนหนังสือปีกว่าเหมือนกัน เพราะย้ายงานบ่อยมาก ทำให้เข้า-ออกโรงเรียนบ่อยมาก ทำไปคือก็หยุดเรียนไปเลย  ในตอนนี้ประสานงานเข้าบ้านอุปถัมภ์เด็ก เด็กเรียนหนังสือชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนวัดหลักสี่

         คำอธิบาย: http://i1193.photobucket.com/albums/aa352/fblc_th/Kru%20Jew/Labor%20child/Labor03/E190E490E2D0E070E2A0E320E190E490E2D0E070E140E320E270.jpg

                   การที่เด็กคนหนึ่งจะมีโอกาสในเรื่องการศึกษา ของเด็กลูกกรรมกรก่อสร้าง  ต้องใช้เวลามากในการพูดคุยกับครอบครัวที่ให้เห็นความสำคัญของการศึกษา เพื่อเปิดโอกาสให้ลูกได้รับการศึกษาเช่นกัน  ไม่อย่างนั้นครอบครัวก็จะกักเด็กไว้แล้วบอกกับครูว่าเป็นห่วงและรักเด็กเหล่านั้น  ความรักความอบอุ่นในครอบครัว หาซื้อไม่ได้ แต่ในขณะเดียวกันสิทธิของเด็กในเรื่องการศึกษาก็มีความจำเป็นที่ต้องให้เด็ก  การประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งโรงเรียนของเด็ก หรือโรงเรียนที่จะเข้าเรียน มี ขั้นตอนมากมาย แต่เป็นสิ่งหนึ่งคือการทำงานประสานกัน ทำงานด้วยหัวใจแห่งความปรารถนาดีให้เด็กได้มีโอกาส  แต่สิ่งทั้งหมดก็ต้องขึ้นที่ตัวเด็กด้วยว่าจะมีการปรับตัว และเรียนรู้ที่จะอยู่รวมกันผู้อื่นได้อย่าง  ตัวอย่างที่กล่าวมาข้างต้น  เจ้าหน้าที่โครงการครูศูนย์เด็กก่อสร้าง ต้องทำงานทุกรูปแบบทั้งการเรียนการสอน  การทำงานกับครอบครัวเด็ก  การทำงานกับชุมชน  และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกส่วน ที่จะรวมกันเปิดโอกาสทางการศึกษา และเสนอทางเลือกที่หลากหลายให้กับเด็กลูกกรรมกรก่อสร้าง ที่มีทียืนสังคมเหมือนเด็กทั่วไป   ขอบขอบคุณที่ช่วยกันสร้างโอกาสที่ดีกับเด็กด้อยโอกาสทุกคน