banner
พุธ ที่ 18 เดือน มกราคม พ.ศ.2566 แก้ไข admin

จากสลัมถึงห้องเรียน:บนเส้นทางที่ท้าทายและโอกาสไปถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ ของเด็กจนเมืองในมหานครกรุงเทพ

 

จากสลัมถึงห้องเรียน:บนเส้นทางที่ท้าทายและโอกาสไปถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ

 

ของเด็กจนเมืองในมหานครกรุงเทพ 

 

“มหานคร” หรือ “Megacity” เป็นคำสำคัญที่ถูกพูดถึงอย่างต่อเนื่องในกระแสการพัฒนาของศตวรรษปัจจุบัน เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงการตั้งถิ่นฐานและดำรงชีวิตของผู้คนที่มีแนวโน้มขยับย้ายจากชนบทมาอาศัยในเมืองมากขึ้น ด้วยเหตุปัจจัยหลายประการ ตั้งแต่บริการสาธารณะที่ครบครัน กิจกรรมทางสังคมที่ตอบโจทย์ความต้องการชีวิต ไปจนถึงโอกาสในการเข้าถึงการมีงานทำ ส่งผลให้หลายเมืองทั่วโลกเผชิญกับ “ภาวะประชากรขยายตัว” ขณะที่ขนาดเมืองยังคงเท่าเดิม ภาวะเช่นนี้อาจส่งผลดีในการช่วยให้เศรษฐกิจเมืองขยายตัว แต่หากพิจารณารอบด้านอาจต้องคำนึงถึงการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนด้วยเช่นกัน เนื่องจาก “สิ่งแวดล้อม” และ “คุณภาพชีวิตมนุษย์” เป็นฐานหลักของการพัฒนาที่ยั่งยืนซึ่งมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า “เศรษฐกิจ”   

หลายมหานครทั่วโลกจึงมีโจทย์ท้าทายที่คล้ายคลึงกันคือ “จะพัฒนามหานครอย่างไรให้ยั่งยืน” จะสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรเมืองไปพร้อมกันด้วยแนวทางใดได้บ้าง กรุงเทพฯ หนึ่งในมหานครของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เองก็มีโจทย์เดียวกันนั้น ซึ่งที่ผ่านมามีความพยายามออกแบบแนวทางผ่าน “แผนพัฒนากรุงเทพมหานคร ระยะ 20 ปี (พ.ศ.2556 – 2575)” ที่วางเป้าหมายพัฒนากรุงเทพฯ ให้เป็น “มหานครแห่งเอเชีย” หรือ “เมืองหลวงของเอเชีย” ภายใต้ 7 ประเด็นยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1) มหานครแห่งความปลอดภัย 2) มหานครสีเขียว สะดวกสบาย 3) มหานครสำหรับทุกคน 4) มหานครกระชับ 5) มหานครประชาธิปไตย 6) มหานครแห่งเศรษฐกิจและการเรียนรู้ 7) การบริหารจัดการทั่วไป  

ขณะที่นโยบายการพัฒนาของชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนปัจจุบัน มุ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนา 9 เรื่องหลัก ได้แก่ 1) ความปลอดภัยของคนเมือง 2) การสร้างพื้นที่สร้างสรรค์ 3) การจัดการสิ่งแวดล้อม 4) การพัฒนาเศรษฐกิจ 5) การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่ง 6) การยกระดับบริการด้านสุขภาพ 7) การพัฒนาเชิงโครงสร้างและที่อยู่อาศัย 8) การพัฒนาการศึกษา 9) การบริหารจัดการที่ดีและมีส่วนร่วม  

จะเห็นได้ว่า “การพัฒนาการศึกษาและการเรียนรู้” เป็นประเด็นสำคัญที่ปรากฏทั้งในแผนพัฒนากรุงเทพมหานคร ระยะ 20 ปี (พ.ศ.2556 – 2575) และนโยบายหลักของผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ อย่างไรก็ดีเมื่อสำรวจตรวจสอบสถานการณ์การศึกษาของเด็กและเยาวชนในกรุงเทพฯ ปัจจุบัน พบว่าเด็กจำนวนมากไม่สามารถเข้าสู่ระบบการศึกษาและบางส่วนต้องออกจาการศึกษากลางคัน ด้วยเหตุผลเรื่องความยากจน ภาระค่าใช้จ่ายสำหรับการศึกษาเกินความสามารถหาได้ และข้อจำกัดอื่น ๆ อาทิ ข้อบังคับของโรงเรียน รวมถึงความจำเป็นของสภาพการณ์ในครอบครัว   

เพื่อถกคิดและร่วมชี้ช่องแนะแนวทางแก้ปัญหาการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพซึ่งเป็นประเด็นพัฒนาเร่งด่วนของกรุงเทพมหานคร บทความนี้จึงเลือกเพ่งความสนใจแต่เฉพาะ “การพัฒนาการศึกษาที่มีคุณภาพและเข้าถึงได้สำหรับเด็กจนเมืองในกรุงเทพมหานคร” เป็นประเด็นหลัก 

 

กรุงเทพฯ มหานครแห่งความเหลื่อมล้ำ

กรุงเทพฯ เป็นมหานครที่มีประชากรอาศัยอยู่มากเป็นอันดับที่ 26 ของโลก โดยหากอ้างอิงข้อมูลประชากรตามทะเบียนบ้านจะพบว่ามีเพียง 5.5 ล้านคน แต่เมื่อนับรวมประชากรแฝงด้วยจะมีประชากรประมาณ 15 ล้านคน  ใกล้เคียงกับจำนวนประชากรเขตนครโอซากะ (Osaka) – โคเบะ (Kobe) – เคียวโตะ (Kyoto) ของญี่ปุ่น ที่มีอยู่ประมาณ 17 ล้านคน ขณะที่มิติขนาดเศรษฐกิจ กรุงเทพฯ มีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวม 8.2 ล้านล้านบาท ใกล้เคียงกับขนาดเศรษฐกิจของกรุงมะนิลา (Manila) เมืองหลวงของฟิลิปปินส์ 
 

ประชากรที่อาศัยในกรุงเทพฯ มีความหลากหลายเรื่องภูมิลำเนา โดยมีทั้งผู้อาศัยเดิมซึ่งเกิดและเติบโตในกรุงเทพฯ ผู้อพยพย้ายถิ่นจากต่างจังหวัดและผู้อพยพจากประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ เมียนมา ลาว และกัมพูชา โดยส่วนใหญ่มักเข้ามาค้าแรงงานทั้งที่ถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย นอกจากนี้ประชากรในกรุงเทพฯ ยังมีความแตกต่างเรื่องฐานะทางเศรษฐกิจ โดยครอบครัวที่ยากจนมีรายได้เพียง 1,964 บาทต่อคนต่อเดือนซึ่งต่ำกว่าเส้นความยากจนของคนทั้งประเทศที่กำหนดไว้ที่รายได้ 2,762 บาทต่อคนต่อเดือน ยิ่งไปกว่านั้นพบว่าร้อยละ 75 ของครัวเรือนในชุมชนแออัดมีรายได้จากเงินเดือนหรือค่าจ้างเพียงทางเดียว   

 

สถานะของประชากรที่หลากหลายและความแตกต่างของฐานะทางเศรษฐกิจดังกล่าวเป็นความท้าทายของโจทย์การพัฒนาประชากรเมืองอย่างครอบคลุมและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เนื่องจากผู้ที่อพยพมาจากต่างถิ่นจำนวนมากเข้ามาอาศัยในฐานะประชากรแฝง คือไม่ได้มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในพื้นที่ของกรุงเทพฯ ทั้งด้วยเหตุผลส่วนตัวที่ไม่ตัดสินใจย้าย การไม่มีบ้านประจำเพื่อย้ายทะเบียนเข้า และข้อจำกัดทางกฎหมายสำหรับแรงงานข้ามชาติ ล้วนส่งผลต่อสิทธิในการเข้าถึงบริการของรัฐโดยเฉพาะสิทธิในการรักษาพยาบาลและการศึกษาที่อาจไม่ได้รับเทียบเท่ากับผู้ที่มีทะเบียนบ้านในกรุงเทพฯ กลายเป็นว่าแรงงานจำนวนไม่น้อยที่มีส่วนร่วมขับเคลื่อนมหานครกรุงเทพฯ ไม่สามารถได้รับประโยชน์จากการเติบโตของเมืองได้อย่างครอบคลุม 

ขณะที่ความยากจนเป็นอีกหนึ่งโจทย์สำคัญของการพัฒนาประชากรเมืองกรุงเทพฯ เนื่องจากเป็นกับดักที่ฉุดรั้งวงล้อการพัฒนามนุษย์ไม่ให้ขยับขับเคลื่อนไปได้ โดยความไม่สามารถจ่ายเพื่อบริการและกิจกรรมต่าง ๆ ทำให้คนจนเมืองในกรุงเทพฯ ไม่อาจเอื้อมถึงคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สะท้อนภาพความเหลื่อมล้ำที่วนเวียนเป็นวัฏจักรไม่รู้จบสิ้น “มหานคร” จึงไม่ใช่มหานครแห่งความสุขของคนทุกคนอย่างแท้จริง

ยกระดับชีวิตประชากร พัฒนาเมืองที่ยั่งยืน ด้วยการลงทุนด้านการศึกษา 

มีแนวคิดมากมายที่ระบุให้การพัฒนาเมืองหรือการพัฒนามหานครต้องคำนึงถึงการพัฒนาการศึกษาของประชากรเมืองให้มีคุณภาพและสามารถเข้าถึงได้ อาทิแนวคิดการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (smart city) ซึ่งเป็นกระแสนิยมของการพัฒนาเมืองในปัจจุบันก็ให้ความสำคัญกับการพัฒนาประชากรเมืองให้มีความรู้และทักษะที่ดี โดย 1 จาก 7 มิติของการพัฒนา คือ พลเมืองอัจฉริยะ (smart people) ซึ่งเน้นพัฒนาประชากรเมืองให้มีความรู้และสามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์ทั้งในเชิงเศรษฐกิจและการดำรงชีวิต พร้อมกับสร้างสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์และการเรียนรู้นอกระบบ รวมถึงการส่งเสริมการอยู่ร่วมกันด้วยความหลากหลายทางสังคม 

ขณะที่ผลวิจัยขององค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาติ หรือ ยูนิเซฟ เมื่อปี 2557  ที่ชื่อว่า “The Investment Case for Education and Equity” คาดการณ์ว่าหากสอนนักเรียนทุกคนในประเทศกำลังพัฒนาให้อ่านออกเขียนได้ จะสามารถลดจำนวนคนยากจนทั่วโลกได้ถึง 171 ล้านคน สะท้อนว่าการศึกษามีความสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตและเลื่อนสถานะทางสังคม (social mobility)  

นอกจากนี้หากพิจารณาในเชิงความคุ้มค่าของการลงทุนเพื่อการศึกษาจากผลการวิจัยของ ศาสตราจารย์เจมส์ เจ. เฮกแมน นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล จาก University of Chicago พบว่า การลงทุนให้เด็กได้รับการเรียนรู้และพัฒนาการที่สมวัยในช่วง 5 ปีแรกของชีวิตจะให้ผลตอบแทนมากถึงร้อยละ 7-10 

 

แนวคิดเหล่านี้สอดคล้องกับทฤษฎี Endogenous growth ซึ่งเป็นทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ที่อธิบายถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจระยะยาวที่เกิดจากปัจจัยภายใน และเชื่อว่าการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนนั้น นอกจากจะเกิดจากการสะสมทุนทางกายภาพแล้วยังต้องอาศัยการพัฒนาด้านทุนมนุษย์เป็นปัจจัยสำคัญด้วย นอกจากนี้การศึกษายังช่วยเปลี่ยนแปลงกระบวนการคิดของประชากรเมืองให้มีความสามารถคิดวิเคราะห์และเชื่อมโยงตนเองกับการพัฒนาเมืองอย่างรู้คำนึงรอบด้าน 

การพัฒนากรุงเทพฯ ให้เป็นมหานครที่เติบโตอย่างยั่งยืนจึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการวางแผน ออกแบบนโยบายและลงทุนเพื่อสนับสนุนให้ประชากรเมืองสามารถเข้าถึงการศึกษา การเรียนรู้ และพัฒนาทักษะได้อย่างเต็มที่ อันจะเป็นดอกผลต่อการพัฒนามิติอื่น ๆ ของกรุงเทพฯ ตามมา 

“เข้าไม่ถึง จ่ายไม่ไหว ภาระล้นเกิน” แลหลังทางแสนเข็ญของเด็กจนเมือง

ดังที่กล่าวในเบื้องต้นว่า “การศึกษาคือความคุ้มค่าระยะยาวของการพัฒนาเมือง” อย่างไรก็ดีสำหรับกรุงเทพฯ นั้นมีความคล้ายคลึงกับมหานครอื่น ๆ ในภูมิภาคเดียวกัน อย่างเมืองจากาตาร์ ของอินโดนีเซีย และมะนิลาของฟิลิปปินส์ นั่นคือมี  “ความยากจน” เป็นกับดักสำคัญที่ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาได้อย่างเต็มที่ โดยสถานการณ์และอุปสรรคทางการศึกษาของเด็กจนเมืองในกรุงเทพฯ โดยสรุปเบื้องต้น มีดังนี้

·       กรุงเทพฯ มีชุมชนแออัด 641 ชุมชน ประกอบด้วย 146,462 ครัวเรือน ประชากร 579,630 คน ร้อยละ 30 ของจำนวนดังกล่าวเป็นเด็กและเยาวชน โดยลักษณะของครอบครัวเด็กยากจนในกรุงเทพฯ มีอยู่ 15 กลุ่ม อาทิ แรงงานเด็ก เด็กในชุมชนแออัด แม่วัยใส หรือเด็กชาติพันธุ์ เด็กเหล่านี้มีภาวะเสี่ยงออกนอกระบบการศึกษา

·       จากการสำรวจเด็กยากจนในกรุงเทพฯ โดยสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พบว่าเด็กยากจนพิเศษ 1,408 คน มีร้อยละ 4 ที่ยังใช้น้ำบาดาล ร้อยละ 59 ไม่มีโทรทัศน์ ร้อยละ 1.7 ไม่มีไฟฟ้าใช้ และมีเด็กยากจนพิเศษเพียง 7 คนที่มีคอมพิวเตอร์สำหรับเรียนออนไลน์

 

·       ข้อมูลสำนักงานสถิติและสังคมแห่งชาติปี 2565 ระบุว่าภาระค่าใช้จ่ายทางการศึกษาของเด็กกรุงเทพฯ เฉพาะที่มีอายุ 15 ปีลงมา มีมูลค่าสูงถึง 37,257 บาท เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของประเทศซึ่งอยู่ที่ 17,832 บาท พบว่าต่างกันเกือบ 2 เท่า  

 

·       การสำรวจกลุ่มตัวอย่างเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาในชุมชนแออัดของพื้นที่กรุงเทพฯ จาก 6 ชุมชน จำนวน 1,018 คน พบว่าส่วนใหญ่เลือกลาออกกลางคันเพราะความยากจน (ร้อยละ 22.38) รองลงมาคือปัญหาครอบครัว (ร้อยละ 13.40) ถูกผลักออกจากโรงเรียน (ร้อยละ 10.77) ได้รับความรุนแรง (ร้อยละ 5.52) เกิดจากปัญหาสุขภาพ (ร้อยละ 3.87) ไม่ได้รับสวัสดิการด้านการศึกษา (ร้อยละ 2.76) และต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม (ร้อยละ 2.35)

ขณะที่ “ทองพูล บัวศรี” หรือ “ครูจิ๋ว” มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก ซึ่งทำงานส่งเสริมและช่วยเด็กจนเมืองให้สามารถเข้าถึงการศึกษามานานมากกว่า 20 ปี ฉายภาพสถานการณ์ทางการศึกษาของเด็กจนเมืองให้เห็นชัดขึ้นว่าเมื่อพูดถึงการศึกษาของเด็กจนเมืองเราต้องแบ่งพิจารณา เนื่องจากเด็กเหล่านั้นมีหลายกลุ่ม และกระบวนการจัดการศึกษาก็แตกต่างกัน อย่างไรก็ตามโดยหลัก ๆ แล้วเราแบ่งเด็กจนเมืองออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่

·       กลุ่มแรก เด็กเร่ร่อนไทย ซึ่งได้แก่ เด็กเร่ร่อนขอทาน และเด็กที่ขายสินค้าตามท้องถนน เด็กกลุ่มนี้อาจเร่ร่อนชั่วคราวหรือเร่ร่อนถาวร โดยส่วนมากเคยอยู่ในระบบการศึกษาไทยแต่ต้องออกจากมากลางคันหรือระหว่างภาคการศึกษา ด้วยเหตุผลที่เป็นไปได้หลายประการ อาทิ ความยากจน ยาเสพติด และปัญหาครอบครัว โดยระบบการศึกษาที่เหมาะสมสำหรับเด็กกลุ่มนี้คือการศึกษานอกระบบ (กศน.) ในรูปแบบที่เรียนหนังสือพร้อมกับการฝึกอาชีพไปด้วย

 

·       กลุ่มที่สอง เด็กเร่ร่อนต่างด้าว เป็นลูกของแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านที่เข้ามาทำงานในไทย การจัดการศึกษาให้เด็กกลุ่มนี้มีความยากมากที่สุดเนื่องจากเด็กไม่มีเลขประจำตัวประชาชนไทย ทำให้การเข้าถึงสิทธิทางการศึกษาในกรุงเทพฯ อาจมีข้อจำกัดและไม่ครอบคลุมเท่าเด็กไทยทั่วไป แนวทางแก้ปัญหาเฉพาะหน้าปัจจุบันคือการขอให้เด็กได้รับอักษร G และเลข 13 หลักตามหลัง ซึ่งเป็นใบเบิกทางสำคัญให้เด็กต่างด้าวสามารถเข้าสู่ระบบการศึกษาไทยได้  

·       กลุ่มสุดท้าย ลูกกรรมกรก่อสร้าง เป็นเด็กที่ปักหลักอาศัยและเคลื่อนย้ายที่อยู่ตามพื้นที่ของโครงการก่อสร้างต่าง ๆ โดยมากเด็กกลุ่มนี้มีภูมิลำเนาอยู่ต่างจังหวัด และต้องเผชิญกับปัญหาการย้ายโรงเรียนบ่อยซึ่งอาจกระทบให้การเรียนขาดความต่อเนื่อง 

“ครูข้างถนน” ตัวแบบการแผ่วทางให้เด็กจนเมืองได้เรียนหนังสือ

 

สถานการณ์และอุปสรรคท้าทายในการเข้าถึงการศึกษาของเด็กจนเมืองข้างต้นเป็นประเด็นสำคัญที่ภาครัฐและภาคส่วนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องร่วมมือกันมองหาแนวทางแก้ไขทั้งในเชิงนโยบายและกระบวนการเชิงปฏิบัติ เพื่อพัฒนาตัวแบบ (model) ของการเปิดทางให้เด็กจนเมืองได้เข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพและเหมาะสมกับความต้องการหรือข้อจำกัดโดยไม่ต้องออกจากการเรียนกลางคัน

ทั้งนี้หากพิจารณาจากความริเริ่มดำเนินการและเห็นผลมาบ้างแล้ว “โครงการครูข้างถนน” และ “โรงเรียนเด็กก่อสร้างเคลื่อนที่” ของมูลนิธิสร้างสรรค์เด็กเป็นสองตัวแบบที่น่าศึกษาทั้งเชิงวิธีคิดและเชิงกระบวนการ ดังเช่นที่ ครูจิ๋ว เผยว่า “วิธีคิดหลักของมูลนิสร้างสรรค์เด็กคือการทำให้เด็กทุกคนในกรุงเทพฯ ได้เรียนหนังสือ เราจะพยายามหาลู่ทาง วิธีการที่จะพาพวกเขาเข้าสู่ระบบการศึกษา เพราะจะช่วยยกระดับชีวิตของพวกเขาให้สามารถเติบโตได้อย่างดีในมหานครแห่งนี้”  

สำหรับโครงการครูข้างถนน ครูจิ๋วเล่าให้ฟังว่าริเริ่มมาตั้งแต่ปี 2532 โดยแนวคิดหลักของโครงการมุ่งไปที่การสร้างพื้นที่ด่านแรกของการเปิดประตูสู่การศึกษาให้กับเด็กจนเมือง ขณะที่ในเชิงกระบวนการเน้นการทำงานเชิงรุกและเข้าถึงพื้นที่ โดยให้ครูในโครงการเดินทางไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ที่มีเด็กจนเมืองอาศัยอยู่ พร้อมกับกระเป๋าสองใบ ใบแรกบรรจุอุปกรณ์การเรียน ส่วนใบที่สองจะบรรจุอาหาร นม ขนม และยารักษาโรค จากนั้นให้ดำเนินการตามกระบวนการซึ่งมีอยู่ดังนี้  

·       แจกจ่ายอุปกรณ์การเรียนและอาหารแก่เด็ก  

·       ทำกิจกรรมสร้างเสริมการเรียนรู้และสร้างความไว้วางใจ 

 

·       ให้คำปรึกษาและแสวงหาทางออกแก่เด็กและครอบครัวของเด็กในเรื่องต่าง ๆ อาทิ การคืนสู่ครอบครัวเดิม  การกลับไปเรียนหนังสือ การฝึกอาชีพ การบวชสามเณร  การเข้าสู่บ้านขององค์กรพัฒนาเอกชน และสถานสงเคราะห์ของรัฐ

 

·       การผลักดันให้เด็กที่พบเจอได้เข้าสู่ระบบการศึกษา โดยใช้การทำงานเชิงประสานงานระหว่างครูข้างถนน อาสาสมัครในพื้นที่ และผู้ปกครองเด็ก ตั้งต้นจากการสำรวจเด็กที่ต้องการความช่วยเหลือ จากนั้นประสานให้อาสาสมัครในพื้นที่ช่วยตรวจสอบว่าเด็กคนดังกล่าวได้เรียนหนังสืออยู่หรือไม่ เรียนอยู่ที่ไหน ก่อนจะติดต่อไปยังผู้ปกครองเด็กเพื่อให้ความช่วยเหลือตามความต้องการ ซึ่งบางรายอาจช่วยเหลือเพียงการสนับสนุนอุปกรณ์การเรียน เครื่องแบบนักเรียน แต่บางรายอาจต้องช่วยนำเข้าโรงเรียนไปจนถึงช่วยดูแลผู้เจ็บป่วยในครอบครัว เพื่อให้เด็กได้เรียนอย่างเต็มที่ 

·       สุดท้ายคือการติดตามเด็กในโครงการซึ่งครอบคลุมทั้งการเรียนและชีวิตความเป็นอยู่ 

ครูจิ๋ว ยังระบุถึงข้อกังวลและอุปสรรคที่พบเจอจากการดำเนินโครงการดังกล่าว ว่า “เด็กเขาจะไม่พูดกับเรา เพราะเขาไม่ไว้วางใจเรา เราก็จะติดต่อกับอาสาสมัครในพื้นที่เพื่อสืบสาวว่าเด็กคนนั้น คนนี้ ได้เรียนหนังสือหรือเปล่า จากนั้นเราก็จะติดตามไปถึงบ้าน แต่ก่อนปี 2563 เขาไม่ให้เราเข้าบ้านเลย เพราะเขาไม่วางใจเรา จนเมื่อโควิด-19 ระบาด เขายอมให้เราได้เยี่ยมถึงบ้านเพื่อแลกกับความช่วยเหลือ จึงทำให้เราได้เห็นสภาพบ้านและสภาพความเป็นอยู่จริง ๆ ของเขา”  

อีกหนึ่งตัวแบบคือ “โรงเรียนเด็กก่อสร้างเคลื่อนที่” จะมีลักษณะของการดำเนินการที่คล้ายคลึงกับโครงการครูข้างถนน คือมีทั้งการจัดกิจกรรม ให้คำปรึกษา และนำเข้าสู่ระบบการศึกษา ต่างกันแต่เพียงกลุ่มเป้าหมายของโครงการนี้มุ่งไปที่ลูกของกรรมกรก่อสร้างตามแหล่งก่อสร้างต่าง ๆ เป็นหลัก โดยใช้รถที่ดัดแปลงให้มีความพร้อมสำหรับบริการเป็นพาหนะกลางสำหรับการลงพื้นที่ 

อย่างไรก็ดี ทั้งสองโครงการกำลังเผชิญข้อจำกัดเรื่องเงินสนับสนุนการดำเนินการที่ต้องใช้มากขึ้นเพื่อดูแลเด็กทุกคนอย่างทั่วถึง ซึ่งครูจิ๋วเปิดเผยว่าปัจจุบันมูลนิธิสร้างสรรค์เด็กได้รับเงินสนับสนุนหลักจากสองแหล่งเท่านั้น คือกองทุนวิกฤติพัวพันและกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา และแม้เด็กจะได้รับสิทธิในการเรียนฟรีพร้อมกับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลแต่ก็ยังไม่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายเพื่อการศึกษาทั้งหมด ซึ่งมูลนิธิต้องรับผิดชอบต่อ โดยเฉพาะเด็กที่เป็นลูกของแรงงานข้ามชาติ ครูจิ๋วระบุว่าค่าใช้จ่ายของเด็ก 1 คนต่อ 1 ภาคการศึกษาอยู่ที่ประมาณ​ 7,000 – 10,000 บาท ประกอบด้วย ค่าอุปกรณ์การเรียน ค่าเครื่องแต่งกาย ค่าคอมพิวเตอร์ ค่าประกันอุบัติเหตุ รวมถึงค่าครูสอนภาษาอังกฤษ  

ทั้งนี้ หากตรวจสอบรายละเอียดของค่าใช้จ่ายดังกล่าวจะพบว่ามีบางรายการที่เป็นค่าใช้จ่ายเกินความจำเป็น อาทิ ค่าเครื่องแต่งกาย พบว่าเด็กหนึ่งคนต้องซื้อชุดอย่างน้อย 6 ชุด ได้แก่ ชุดนักเรียน ชุดยุวกาชาด ชุดปฏิบัติธรรม  ชุดสัญลักษณ์ประจำจังหวัด ชุดพละ และชุดลูกเสือ ซึ่งเฉพาะชุดลูกเสือมีราคากว่า 1,000 – 2,000 บาท โดยครูจิ๋ว ระบุว่า “ชุดเหล่านี้แม้จะเป็นอุปกรณ์เสริมแต่กลับกลายเป็นภาระของครอบครัว มากไปกว่านั้นกฎระเบียบของโรงเรียนยังบีบบังคับให้เด็กต้องทำตาม โดยหากไม่สวมชุดดังกล่าวตามวันที่โรงเรียนกำหนดจะส่งผลให้นักเรียนถูกหักคะแนนพฤติกรรมและคะแนนทักษะชีวิตอย่างน้อย 20 คะแนน สุดท้ายก็จะกระทบกับผลการเรียนเด็ก” นอกจากนี้ยังมีค่าเดินทางไปโรงเรียนที่เด็กต้องรับผิดชอบซึ่งในแต่ละวันต้องจ่ายถึง 30 – 100 บาท ขึ้นอยู่กับระยะทางระหว่างบ้านและโรงเรียน เหล่านี้ล้วนเป็นอุปสรรคสำคัญที่ขวางกั้นให้เด็กเข้าถึงการศึกษาได้ยากและลำบากขึ้น

“เพิ่มงบการศึกษา เสริมบริการสาธารณะ ทบทวนระเบียบโรงเรียน” สามโจทย์คิดขจัดกับดักการศึกษา  

ข้อมูลจากครูจิ๋วชี้ชัดให้เห็นว่าแม้จะพยายามออกแบบแนวทางเพื่อช่วยให้เด็กจนเมืองเข้าถึงการศึกษาอย่างเต็มที่เพียงใด แต่ก็ยังมีปัจจัยขวางกั้นอย่างน้อย 3 ประการที่สร้างความยากลำบากแก่เด็กจนเมืองในกรุงเทพฯ ได้แก่ งบประมาณสนับสนุนเพื่อการศึกษาที่จำกัด บริการสาธารณะที่ไม่เกื้อหนุนในการเข้าถึงการศึกษา และกฎระเบียบของโรงเรียนไทยที่สร้างภาระเกินความจำเป็น

ประการแรก งบประมาณสนับสนุนเพื่อการศึกษาที่จำกัด นอกจากข้อมูลจากมูลนิธิสร้างสรรค์เด็กที่ระบุถึงการได้รับเงินสนับสนุนที่ไม่สอดคล้องกับสภาพปัญหาข้างต้นแล้ว หากพิจารณางบประมาณที่กรุงเทพมหานครจัดสรรเพื่อการศึกษา จะพบว่างบส่วนที่ถูกจัดไว้ลำดับท้ายสุด โดยปี 2564 กรุงเทพมหานคร มีงบประมาณรายจ่ายประจำปีทั้งสิ้น 76,451 ล้านบาท ส่วนปี 2565 งบประมาณสูงขึ้นเป็น 79,855 ล้านบาท แต่งบประมาณส่วนใหญ่ใช้ไปกับสำนักการระบายน้ำมากที่สุดกว่า 7,000 ล้านบาท ส่วนงานด้านการศึกษาถูกจัดไว้ลำดับท้ายสุดด้วยงบประมาณ 786 ล้านบาท ลดลงจากปี 2564 ที่เคยได้รับงบประมาณ 900 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมให้การพัฒนาประชากรเมืองโดยเฉพาะการศึกษาเด็กจนเมืองให้มีคุณภาพและเอื้อต่อการเข้าถึงได้ง่ายขึ้น กรุงเทพมหานครจึงอาจต้องทบทวนการสนับสนุนงบประมาณด้านการศึกษาให้เพิ่มมากขึ้นหรือไม่ เพื่อให้สามารถกระจายงบประมาณสนับสนุนแก่ทุกภาคส่วนที่ขับเคลื่อนการศึกษาได้อย่างทั่วถึง โดยเฉพาะภาคส่วนที่ทำงานหน้าด่านนำทำงานเชิงพื้นที่นำเด็กเข้าสู่ระบบการศึกษา

 

ประการต่อมา บริการสาธารณะที่ไม่เกื้อหนุนสำหรับการเข้าถึงการศึกษา ดังที่ครูจิ๋วเปิดเผยว่าเด็กต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปโรงเรียน นั่นหมายความว่าภายในหนึ่งเดือน หากนับเฉพาะวันที่โรงเรียนเปิดทำการเรียนการสอน ครอบครัวยากจนในกรุงเทพฯ ซึ่งมีรายได้เพียงเดือนละ 1,964 บาท ต้องจ่ายค่าเดินทางให้ลูกไปโรงเรียนอย่างน้อยสุดคือ 660 บาท และอาจมากสุดที่ 2,200 บาท นับว่าเป็นรายจ่ายที่หลายครอบครัวยากจนอาจไม่สามารถจ่ายได้ การแก้ปัญหานี้จึงต้องมองไปถึงระบบขนส่งสาธารณะของเมืองที่ควรขยายให้ครอบคลุมทุกพื้นที่และบริการฟรีแก่นักเรียนหรือเรียกเก็บค่าบริการในอัตราถูก เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปกลับโรงเรียนของเด็กจนเมือง ดังเช่นกรณีศึกษาเมืองจากาตาร์ ที่ดำเนินนโยบายออกบัตร “Kartu Jakarta Pinta” ให้เด็กจนเมือง ซึ่งเป็นบัตรที่เติมเงินให้สำหรับไว้จ่ายค่าการศึกษารายเดือนซึ่งครอบคลุมถึงค่าเดินทางไปกลับโรงเรียน   

ประการสุดท้าย กฎระเบียบของโรงเรียนไทยที่สร้างภาระเกินความจำเป็น รัฐบาลกลางโดยเฉพาะกระทรวงศึกษาธิการและกรุงเทพมหานครอาจต้องทบทวนกฎบังคับที่ก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายส่วนเกินโดยเฉพาะเรื่อง “เครื่องแบบการแต่งกาย” อาจยกเลิกทั้งหมดหรือปรับลดให้เหลือเพียงชุดนักเรียนและชุดพละ เพื่อไม่ให้เป็นปัจจัยบังคับที่จะส่งผลกระทบต่อการเรียนและวัดผลการเรียนของเด็ก

สวมแว่นนโยบายชัชชาติ ส่องทางข้างหน้าด้วยความหวัง

แม้ความหวังของการพัฒนาการศึกษาในกรุงเทพฯ ให้มีคุณภาพและเข้าถึงได้ อาจฝากไว้กับหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าหัวเรือหลักคือกรุงเทพมหานครภายใต้การนำของชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ซึ่งได้มอบความหวังผ่านนโยบายการศึกษาไว้ถึง 31 นโยบาย อาทิ 

·       นโยบายเรียนฟรี ชุดฟรี ไม่มีเก็บเพิ่ม โดยรัฐบาลและกรุงเทพมหานครจะเพิ่มเงินอุดหนุนค่าชุดนักเรียนและอุปกรณ์การเรียนให้สอดคล้องกับราคาตลาด ครอบคลุมราคาเสื้อ กางเกง ถุงเท้า รองเท้า กระเป๋า และอุปกรณ์การเรียนอื่น ๆ  

·       นโยบายดูแลนักเรียนที่หลุดจากระบบการศึกษาและป้องกันกลุ่มเสี่ยงหลุดออกจากระบบ โดยกรุงเทพมหานครจะสร้างทางเลือกให้กับเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษาให้สามารถกลับเข้ามาเรียนหนังสือได้ หรือเลือกฝึกอาชีพพัฒนาทักษะยุคใหม่ตอบโจทย์ตลาดงาน พร้อมกันนั้นจะมีการจะดำเนินงานร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ในการค้นหานักเรียนกลุ่มเสี่ยงที่จะหลุดจากระบบ เมื่อระบุตัวตนได้แล้วจะดำเนินการป้องกันผ่านการให้ทุนการศึกษา หรือ ค่าใช้จ่ายประจำวัน เช่น ค่าเดินทาง เพื่อช่วยป้องกันไม่ให้นักเรียนหลุดออกจากระบบการศึกษาเพิ่มเติม  

 

·       นโยบายดูแลห้องสมุดชุมชน บ้านหนังสือ ให้มีความทันสมัยน่าใช้งาน โดยกรุงเทพมหานครดูแล ปรับปรุงสภาพ รูปแบบของพื้นที่บ้านหนังสือซึ่งเป็นโครงการห้องสมุดขนาดย่อมจำนวน 117 แห่งให้มีความร่วมสมัย เป็นมิตร น่าใช้งาน ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนพูดคุยแบบผ่อนคลาย และตอบสนองต่อวิถีชีวิตของประชาชนมากขึ้น  

ถึงตรงนี้ อย่างน้อยที่สุดคงได้เห็นภาพฉากการศึกษาของเด็กจนเมืองแจ่มชัดขึ้นว่าเป็นอย่างไร มีปัญหาและความท้าทายใดที่ต้องเร่งจัดการ และแนวนโยบาย กระบวนการ รวมถึงการสนับสนุนควรตั้งต้นและออกแบบอย่างไรให้สอดรับกับสภาพความเป็นจริง แน่นอนที่สุดว่าหากพัฒนาการศึกษาให้มีคุณภาพและเข้าถึงได้อย่างครอบคลุมย่อมส่งผลให้ประชากรเมืองมีทักษะความรู้ที่สูงขึ้น เป็นพลเมืองที่รู้คิดวิเคราะห์ เข้าถึงงานที่มีคุณภาพ ช่วยให้เกิดการเลื่อนสถานะทางสังคม ยกระดับคุณภาพชีวิต อันจะนำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนามหานครที่ยั่งยืน

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ

#SDG4 การศึกษาที่มีคุณภาพ

- (4.1) สร้างหลักประกันว่าเด็กชายและเด็กหญิงทุกคนสำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาที่มีคุณภาพ เท่าเทียม โดยไม่มีค่าใช้จ่าย นำไปสู่ผลลัพธ์ทางการเรียนที่มีประสิทธิผล ภายในปี 2573

- (4.2) สร้างหลักประกันว่าเด็กชายและเด็กหญิงทุกคนเข้าถึงการพัฒนา การดูแล และการจัดการศึกษาระดับก่อนประถมศึกษา สำหรับเด็กปฐมวัย ที่มีคุณภาพ เพื่อให้เด็กเหล่านั้นมีความพร้อมสำหรับการศึกษาระดับประถมศึกษา ภายในปี 2573

- (4.3) สร้างหลักประกันให้ชายและหญิงทุกคนเข้าถึงการศึกษาด้านเทคนิค อาชีวศึกษา อุดมศึกษา รวมถึงมหาวิทยาลัยที่มีคุณภาพในราคาที่สามารถจ่ายได้ ภายในปี 2573

- (4.4) เพิ่มจำนวนเยาวชนและผู้ใหญ่ที่มีทักษะที่เกี่ยวข้อง รวมถึงทักษะทางด้านเทคนิคและอาชีพสำหรับการจ้างงาน การมีงานที่มีคุณค่า และการเป็นผู้ประกอบการ ภายในปี 2573

- (4.5) ขจัดความเหลี่อมล้ำทางเพศด้านการศึกษา และสร้างหลักประกันว่ากลุ่มที่เปราะบางซึ่งรวมถึงผู้พิการ ชนพื้นเมือง และเด็ก เข้าถึงการศึกษาและการฝึกอาชีพทุกระดับอย่างเท่าเทียม ภายในปี 2573

- (4.6) สร้างหลักประกันว่าเยาวชนทุกคนและสัดส่วนของผู้ใหญ่ในทั้งชายและหญิง สามารถอ่านออกเขียนได้และคำนวณได้ ภายในปี 2573

- (4.a) สร้างและยกระดับอุปกรณ์และเครื่องมือทางการศึกษาที่อ่อนไหวต่อเด็ก ผู้พิการ และเพศภาวะ และให้มีสภาพแวดล้อมทางการเรียนรู้ที่ปลอดภัย ปราศจากความรุนแรง ครอบคลุมและมีประสิทธิผลสำหรับทุกคน

#SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำ

- (10.2) ให้อำนาจและส่งเสริมความครอบคลุมด้านสังคม เศรษฐกิจและการเมืองสำหรับทุกคน โดยไม่คำนึงถึงอายุ เพศ ความบกพร่องทางร่างกาย เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ แหล่งกำเนิด ศาสนา หรือสถานะทางเศรษฐกิจหรือสถานะอื่น ๆ ภายในปี 2573

- (10.3 สร้างหลักประกันว่าจะมีโอกาสที่เท่าเทียมและลดความไม่เสมอภาคของผลลัพธ์ รวมถึงการขจัดกฎหมาย นโยบาย และแนวทางปฏิบัติที่เลือกปฏิบัติ และส่งเสริมการออกกฎหมาย นโยบาย และการปฏิบัติที่เหมาะสมในเรื่องนี้

#SDG11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน

- (11.2) ภายในปี 2573 จัดให้ทุกคนเข้าถึงระบบคมนาคมขนส่งที่ยั่งยืน เข้าถึงได้ ปลอดภัย ในราคาที่สามารถจ่ายได้ พัฒนาความปลอดภัยทางถนน โดยการขยายการขนส่งสาธารณะ โดยคำนึงถึงกลุ่มคนที่อยู่ในสถานการณ์ที่เปราะบาง ผู้หญิง เด็ก ผู้มีความบกพร่องทางร่างกาย และผู้สูงอายุ เป็นพิเศษ

- (11.3) ยกระดับการพัฒนาเมืองและขีดความสามารถให้ครอบคลุมและยั่งยืน เพื่อการวางแผนและการบริหารจัดการการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์อย่างมีส่วนร่วม บูรณาการและยั่งยืนในทุกประเทศ ภายในปี 2573

#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

- (17.14) ยกระดับความสอดคล้องเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

- (17.17) สนับสนุนและส่งเสริมหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาครัฐ-ภาคเอกชน และประชาสังคม สร้างบนประสบการณ์และกลยุทธ์ด้านทรัพยากรของหุ้นส่วน

แหล่งที่มา
โจทย์ของผู้ว่าฯ ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา พร้อมการพัฒนาเมือง (Way Magazine) 

-  มองผ่านวิสัยทัศน์การพัฒนา กรุงเทพฯ มหานครแห่งเอเชีย (The Urbanis)  

-  งานของครูข้างถนน มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก (GotoKnow)

-  การส่งเสริมเมืองอัจฉริยะ (Depa) 

- ทุกคนรู้ แฟนคลับรู้ : การลงทุนเพื่อการศึกษาสำคัญเพียงใด? (ธนาคารแห่งประเทศไทย)