นโยบายกับทางปฏิบัติ เรื่อง การจดทะเบียนการเกิด
นางสาวทองพูล บัวศรี
ผู้จัดการโครงการครูข้างถนน มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก
ช่วงนี้เป็นช่วงการนำเด็กเร่ร่อนต่างด้าว/เด็กลูกกรรมกรก่อสร้างต่างด้าว เข้าเรียน แต่เกือบทุกโรงเรียนยังเรียกร้องเรื่องใบเกิดของเด็ก ถ้าใครไม่มี..ใช่ว่าโรงเรียนจะรับ ถึงแม้พวกครูถือคัมภีร์ มติ ครม. ปี 35 แก้ไข ปี 2548 ที่ว่าด้วย การเข้าเรียนของเด็กไม่มีเอกสารสามารถเข้าเรียนได้ตั้งแต่ชั้นอนุบาล จนถึง ปริญญาตรี แต่ทุกอย่างเริ่มที่ครั้งแรก ต้องต่อรองให้เข้าเรียนได้ก่อน ส่วนระดับชั้นอื่นก็ว่ากันตามลำดับ
สิ่งที่จะได้ก็ขึ้นอยู่ว่า เมื่อแม่คนต่างด้าว เหล่านี้ไปคลอดลูกที่โรงพยาบาลไหน ซึ่งถ้าคลอดที่โรงพยาบาล อย่างไรก็ต้องได้ใบรับรองการเกิด ที่อยู่ด้านหลังของสมุดสีชมพู แล้วปัญหาที่เกิดขึ้น สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นตรงไหน ที่เป็นปัญหา
(1) แม่เด็กที่คลอดลูก มีค่าคลอดที่ถูกคิดแบบ คนต่างด้าวราคา คลอดตั้งแต่ 8,500 จนถึง 15,000 บาท แบบนี้แม่เด็กหลายร้อยคนที่ไปที่โรงพยาบาล ไม่มีเงินจ่ายแน่นอน เพราะแค่ราคาค่าแรงที่ได้ของพ่อเด็กไม่เกิน 400 บาท แค่กินในแต่ละวันก็ยากแล้ว แล้วที่พักอาศัยอย่างไรก็ต้องเสียเงินอยู่ดี
(2) เมื่อค่าใช้จ่ายในการคลอดสิ่งที่ปรากฏ คือ การไม่มีเงินจ่าย ค้างค่าคลอดกับโรงพยาบาล เมื่อถึงกำหนดออกจากโรงพยาบาล ทางโรงพยาบาลให้ทำสัญญาจะจ่ายค่าคลอด เป็นเอกสารผ่อนจ่าย เดือนละ 1,000 บาท หรือแล้วแต่ละโรงพยาบาลกำหนด สำหรับแม่กับลูกออกจากโรงพยาบาล สิ่งที่โรงพยาบาลยึดไว้ คือ ไม่ออกใบรับรองการเกิดให้ จนกว่าจะจ่ายเงินที่ค้างอยู่ครบตามกำหนด
(3) แม่กับเด็กบางครอบครัว เห็นว่าค่าใช้จ่ายสูงมาก ทางครอบครัวไม่มีเงินที่จะจ่ายให้ จึงมีการพาลูกที่คลอดหนีออกจากโรงพยาบาล จึงไม่มีสมุดสีชมพู และไม่มีใบรับรองการเกิด บางครอบครัวแม่มีเพียงบัตรประจำตัวของแม่ที่เข้าโรงพยาบาล สำหรับลูกมีเพียงแค่สายรัดข้อมือของลูกเท่านั้น
สิ่งเหล่านี้ได้ส่งผลกระทบกับลูก เมื่ออายุ 6 ปี หรือ 7 ปี ที่ต้องเข้าเรียน ทำให้โรงเรียนมีข้อถกเถียงว่าเด็กเหล่านี้มีตัวตนอยู่ไหม ถึงจะมีตัวตนเป็นคนให้เห็น แต่เมื่อไม่มีเอกสารก็ใช่ว่าจะเป็นคนที่สมบูรณ์ทั้งตัวตนและเอกสาร
เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2565 ได้เข้าร่วมประชุมสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นว่าด้วย การเข้าถึงสิทธิด้านสุขภาพของกลุ่มเด็กและเยาวชนไร้รัฐไร้สัญชาติ โดยทางคณะทำงานได้มีมติ ทั้งหมด สามข้อ แต่สำหรับครู ทุกข้อสำคัญหมด โดยเฉพาะ ข้อที่หนึ่ง คือ
1. ขอให้หน่วยงานต่อไปนี้ ร่วมพัฒนา ปรับปรุงมาตรการ หลักเกณฑ์ และแนวปฏิบัติการรับรองการเกิด การจดทะเบียนครบขั้นตอนทันทีหลังการเกิดเพื่อรับรองสิทธิในสัญชาติของเด็กและเยาวชนไร้รัฐไร้สัญชาติในประเทศไทยให้เป็นไปตามกรอบเวลาที่กฎหมายกำหนด ขยายโอกาสการเข้าถึง และขั้นตอนที่คำนึงถึงข้อบัญญัติตามพระราชบัญญัติอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ.2558
1.1 สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง และดำเนินการพัฒนากลไกการทำงานเชิงรุกส่งเสริมการสร้างมาตรการจูงใจและมาตรการติดตามให้กลุ่มคนไร้รัฐไร้สัญชาติมีการฝากครรภ์ และคลอดบุตรในสถานพยาบาลได้รับการจดทะเบียนทันทีหลังคลอดและมีสิทธิตั้งแต่แรกเกิดในการมีชื่อสิทธิในการได้รับสัญชาติเพื่อการเข้าถึงการจดทะเบียนการเกิดถ้วนหน้าจัดทำเอกสารและอบรมการใช้คู่มือสำหรับพัฒนาระบบติดตามให้อาสาสมัครสาธารณสุข และอาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าวในการติดตามหญิงตั้งครรภ์ทุกคนในชุมชน และต้องรายงานให้โรงพยาบาลเพื่อดำเนินการขึ้นทะเบียนเพื่อของบประมาณรายบุคคลจากระบบหลักประกันสุขภาพสำหรับเด็กที่เกิดใหม่ทุกคนในประเทศไทย และ ร่วมกับ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ในการดำเนินการพัฒนาระบบฐานข้อมูลเพื่อจัดเก็บเอกสารรับรองการเกิดที่สถานพยาบาล และกรมการปกครอง สามารถเข้าถึงฐานข้อมูลได้ดำเนินการพัฒนาการรับรองการเกิดและแจ้งเกิดที่คำนึงถึงหลักการไม่สร้างภาระเกินสมควร และติดตามการดำเนินการตามหนังสือเวียนถึงนายทะเบียนจังหวัดทุกจังหวัด และนายทะเบียนกรุงเทพมหานคร ของสำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครอง ที่ มท 0309.1/ว 24 ลงวันที่ 16 กรกฎาคม 2558 เรื่องการออกหนังสือรับรองการเกิด (ท.ร.1/1) และ หนังสือรับรองการตาย (ท.ร.4/1) ที่สามมารถออกหนังสือที่ใช้รับรองการเกิดทั้งในและนอกโรงพยาบาล หรือ สถานพยาบาลได้เลย หากโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลมีโครงการหรือกิจกรรมที่ดำเนินการนอกโรงพยาบาลโดยมีแพทย์บุคลากรสาธารณสุขของโรงพยาบาลฯร่วมกิจกรรมด้วย และครอบคลุมถึงการคลอดที่บ้านหรือพื้นที่ห่างไกลที่ให้บุคคลที่รู้เห็นการเกิดของเด็ก เช่น หมอตำแย ผู้ทำคลอด เพื่อนบ้าน อสม. เป็นพยานหรือเด็กที่ตกสำรวจ สามารถดำเนินการขึ้นทะเบียน ออกหนังสือรับรองการเกิด(ท.ร1/1)ย้อนหลังได้โดย ให้ อสม. เป็นพยาน เพื่อสามารถใช้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการรับแจ้งเกิดที่ยังไม่จำเป็นต้องพิสูจน์สถานะบุคคล
เป็นมติที่ได้ประชุมกัน และคณะทำงานพยายามจะทำให้เกิดการปฏิบัติที่เป็นจริง
แต่สำหรับโครงการครูข้างถนน และโรงเรียนเด็กก่อสร้างเคลื่อนที่ ได้พบเด็กเร่ร่อนต่างด้าว/เด็กลูกกรรมกรก่อสร้าง ที่เกิดในโรงพยาบาล/สถานพยาบาล แต่ไม่ได้ใบรับรองการเกิด ด้วยหลายกรณีด้วยกัน เช่น
ครอบครัวที่ 1 เป็นเด็กผู้ชาย 2 คน คนโตอายุ 13 ปี คนที่สอง อายุ 10 ปี ได้เข้าเรียนเพราะพ่อเด็กนำเด็กไปเรียนหนังสือ โรงเรียนที่อยู่ใกล้กับบ้านพักคนงานก่อสร้าง แต่ทั้ง 2 คน มีเพียงสมุดสีชมพู ที่ได้ระบุชื่อ โรงพยาบาล วันเดือนปีเกิดของเด็ก
ทางครูเองได้มอบหมายให้ครูมลวิภา ลีลายุทธ (ครูซิ้ม) กับ ผู้ช่วยครูรักษ์ยิ้ม ภูรีเลิศ ดำเนินการ ตั้งแต่ เดือนกรกฎาคม 2564 ซึ่งได้พาครอบครัวไปติดต่อที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในจังหวัดสมุทรปราการ เมื่อไปที่โรงพยาบาล คือ ยังค้างค่าคลอด กว่า 10,000 บาท และปรากฏว่า มีการต่อรองกันอย่างหนักมาก สุดท้ายทางโครงการฯก็จ่ายไปกว่าสามพันบาท เป็นการอนุเคราะห์ขั้นสูงสุดของโรงพยาบาล ในช่วงปลายปี 2564 ประมาณเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2564 ซึ่งครูซิ้มได้พาครอบครัวไปติดต่อทางโรงพยาบาลกว่า 5 ครั้ง )
สำหรับครอบครัวนี้ ได้ใบรับรองการเกิดกับเด็กทั้ง 2 คน เมื่อพาครอบครัวไปติดต่อที่เทศบาล เพื่อไปทำใบเกิด สิ่งที่เกิดขึ้น คือ ทางเทศบาลไม่ให้ใบเกิด โดยอ้างว่าเด็กโตมาก และการทิ้งระยะเวลายาวนานกว่า 10 ปี จะทำใบเกิดได้ (การแจ้งเกิดย้อนหลัง) ต้องมีการตรวจ DNA เท่านั้น คือค่าใช้จ่ายสูงมาก ด้วยเด็กทั้ง 2 คน เฉพาะคนพ่อค่าตรวจอย่างเดียวก็ไม่น้อยกว่า 18,000 บาทแล้ว และตัวเด็กทั้ง 2 คน ตรวจคู่กับแม่ ก็ไม่ต่ำกว่า อีก 18,000 บาท รวมกันแล้ว 36,000 บาท ทางโครงการไม่มีเงินจ่ายคะ
เสียงเจ้าหน้าที่ยังก้องอยู่ในหู ทำไมต้องช่วยเด็กเหล่านี้ด้วย ...... ครูเคยคุยกับทีมตลอดว่า เรื่องผู้ใหญ่จะเข้าเมืองถูกกฎหมาย หรือ ผิดกฎหมาย ก็เอาผิดกับผู้ใหญ่ สำหรับเด็กเข้ามีสิทธิที่จะได้รับสิทธิตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิ เพื่อไม่ให้เด็กเหล่านี้ไร้รัฐไร้สัญชาติ
ทัศนคติคำเดียว จริงๆ ในเมื่อมีกฎหมายรองรับ แล้วไม่ทำ
ครอบครัวที่ 2 เป็นครอบครัวชาวกัมพูชา มีลูกติดแม่ 2 คน คนโตอายุ 7 ปี คนน้องอายุ 6 ปี คนโตเรียนชั้นอนุบาล 3 และคนน้องเรียนชั้นอนุบาล 2 ครั้งแรกโรงเรียนไม่ยอมรับ บอกว่าเด็กไม่มีการระบุ วันเดือนปีเกิดของเด็ก จนสุดท้ายเด็กได้เข้าเรียน เพราะแม่ได้เอาบัตรที่เกิดที่รักษาตัวโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในจังหวัดสมุทรปราการมาแสดงจนเด็กได้เข้าเรียน แต่ครูยังต้องทำเรื่องใบเกิดต่อ เพื่อให้เด็กได้มีใบเกิด จะได้ไม่เป็นคนไร้รัฐไร้สัญชาติ
เมื่อต้นเดือน มิถุนายน 2565 ครูซิ้มได้ไปประสานงานกับโรงพยาบาลที่เด็กคลอด แล้วมีการยื่นสมุดสีชมพูให้กับเจ้าหน้าที่ห้องคลอด ครั้งแรกทางเจ้าหน้าที่ไม่ยอมค้นให้ ด้วยความเห็นใจว่า ครูซิ้มนั่งอ้อนวอน ยกเหตุผลมากมายหลายประการ ที่สำคัญคือเด็กมาคลอดที่โรงพยาบาลแห่งนี้จริงๆ ทางเจ้าหน้าที่จึงค้นให้ และบอกว่ามีใบรับรองการเกิด แค่มีนะ
ทางเจ้าหน้าที่บอกให้ครูซิ้มมาทำจดหมายถึงผู้อำนวยการโรงพยาบาล เพื่อขอใบรับรองการเกิด ทางครูซิ้มก็เน้นย้ำว่าใช้เวลาเท่าไร เจ้าหน้าที่ตอบว่า อาจใช้เวลากว่า 6 เดือน
แต่ละกรณีศึกษาทำไหมใช้เวลานานจัง ในเมื่อมีเอกสารทุกอย่างพร้อมแล้ว ก็ดำเนินการได้ ทุกอย่างก็ใช้คำว่า “คอย คอย คอยโอกาสจริงๆ”
ครอบครัวที่ 3 เป็นครอบครัวที่ครูเองดูแลมาอย่างต่อเนื่อง เป็นเด็กผู้หญิง ที่ไปคลอดที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในจังหวัดสมุทรปราการ (โรงพยาบาลเดียวกับครอบครัวที่ 2 ) แต่สำหรับครอบครัวนี้ คนที่หนึ่ง เป็นเด็กพิการส่งกลับไปกัมพูชาที่อยู่กับญาติ เพราะชอบออกจากที่พัก แล้วเดินเร่ร่อนไปเรื่อยๆไม่กลับบ้าน จึงจำเป็นที่ต้องส่งกลับประเทศ คนที่สอง ตอนนี้กำลังเรียน มัธยมศึกษาปีที่ 6 คนที่สามกำลังเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 คนที่ สี่กำลังเรียนชั้นมัธยมศึกษา ปีที่ 1 คนที่ห้ากำลังเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 สำหรับน้อง คนที่หก ไม่มีเอกสารใดๆเลย ปัจจุบันอายุ 7 ปี แล้ว สำหรับลูกคนที่เจ็ดเพิ่งจะคลอดได้ 2 เดือน และครูให้เข้าโครงการทำหมัน คนนี้มีใบเกิดพร้อม
สำหรับน้องคนที่หก มีเพียงข้อรัดข้อมือเด็กเท่านั้น ครูซิ้มไปประสานที่โรงพยาบาล จนรู้ว่าเด็กเกิด วันที่ 1 มิถุนายน 2558 ชื่อเด็กหญิงน้ำฟ้า ไม่มีนามสกุล ที่สำคัญของเด็กคือไม่มีสมุดสีชมพู่ ด้วยเหตุผลเดียว แม่ของเด็กไม่มีเงินจ่ายค่าคลอดจำนวน 8,500 บาท แก่โรงพยาบาล จึงได้พาลูกหนีออกมาตั้งแต่ 7 ปีก่อน ผลพวงทั้งหลายจึงตกอยู่กับเด็ก
ครูเองพาไปฝากเรียน โรงเรียน 3 แห่ง ไม่มีโรงเรียนที่ไหนรับสักแห่งด้วยเหตุผลง่ายๆ คือไม่มีเอกสารใดๆ ที่แสดงว่าเด็กคนนี้มีตัวตนอยู่จริงและไม่มีเอกสารฐานแสดงตัวตน
นี้แสดงว่ากฎหมาย/มติ ครม. ไม่ว่าเรื่องอะไร ก็สู้ทัศนคติของคนไม่ได้ เมื่อมีการปฏิเสธ นั่นแสดงถึงสิทธิเรื่องอื่นๆก็จบ การบังคับใช้กฎหมายของประเทศเป็นปัญหาใหญ่ พอกับทัศนคติของเจ้าหน้าที่