กระเป๋าสองใบ...สู่งานวิจัย
แต่ละคนมีชีวิตที่ไม่เหมือนกัน เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ ครั้งนี้ในการมารับงานครูข้างถนนก็เช่นเดียวกันที่มีเสียงมากระทบโสตประสาทว่า เธอทำวิจัยเรื่องเด็กเร่ร่อน เธอต้องได้สัมผัส เธอต้องมาดูแลโครงการครูข้างถนน นี้ถึงจะบอกได้ว่าเป็นทั้งนักวิชาการและนักปฏิบัติงานในฐานะของครูข้างถนน เสียงนี้เป็นเสมือนสิ่งท้าทายในการทำงาน เป็นการเปลี่ยนชีวิตการทำงานครั้งยิ่งใหญ่อีกงานหนึ่งของคนทำงานภาคสนาม เริ่มตั้งปี 2548 ด้วยการทำงานวิจัยเรื่อง การทำงานครูข้างถนน ในพื้นที่ต่างๆ ที่สังกัด กระทรวงมหาดไทย สังกัดสำนักงานการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ครูตำรวจข้างถนน และเพื่อนพ้องน้องพี่ครูข้างถนน ในองค์กรพัฒนาเอกชน มาต่อด้วยงานวิจัยเรื่องบ้านของเด็กเร่ร่อน ซึ่งคนทำงานภาคสนามรู้ดีว่าให้เราทำงานครูข้างถนนดีอย่างไร ถ้าเด็กเร่ร่อนไม่สามารถหยุดเร่ร่อน หรือเข้าบ้านต่างๆของหน่วยงานภาครัฐและองค์กรพัฒนาเอกชน เด็กเหล่านี้ก็ไม่สามารถพัฒนาตนเองได้ จึงเป็นที่มาของการทำวิจัยภาคสนาม แบบนักวิจัยขององค์กรพัฒนาเอกชน ที่เน้นการถอดบทเรียนในการทำงานของเพื่อนพ้องน้องพี่เป็นส่วนใหญ่
เมื่อ ปี 2555 จำได้อย่างดีว่า เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2555 ที่ต้องเข้ามามารับงานเต็มตัวของผู้จัดการโครงการครูข้างถนน เธอจะทำอย่างไรก็ได้ขอให้งานฟื้นขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง เพราะปัญหาเด็กเร่ร่อนจะมีทั้งเด็กต่างด้าวและคนบนถนนที่เป็นคนไทย งานนี้ไม่ได้ง่ายเลยสำหรับเรา จึงเริ่มต้นด้วยการเดินถนน และอ่านเอกสารจากเพื่อนที่ทำงานด้านนี้ แถบหาเอกสารยากมากที่ทำ พร้อมกับสถานการณ์บนถนนก็เปลี่ยนแปลงไปมาก วันแรกที่ลงบนถนนเดินสำรวจแบบนักวิจัยควรที่จะทำ คือเดินไปทุกสายภายในวันเดียวเริ่มต้น สายที่หนึ่ง ประตูน้ำ หน้าห้างพันธุทิพ หน้าเซ็นทรัลเวิรด ผ่านสยามพารากอน ผ่านมาบุญครอง เดินย้อนกลับมาที่สถานีรถไฟฟ้าสยาม สายที่สองนั่งรถไฟฟ้าไปลงที่อโศก เดินย้อนกลับมา สุขุมวิท 11 มาสุขุมวิท 3 ซอยนานา (สำหรับซอยนานา เป็นซอยที่ชาวที่ตะวันวันออกกลางมาใช้ชีวิตในยามกลางวันและยามค่ำคืน มีเด็กและผู้หญิงที่แต่งตัวคล้ายชาวมุสลิมมาขอเงินนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ซึ่งแปลกใจกับครูอย่างมาก เพราะไม่เคยเห็นมาก่อน ได้ยินแต่คำบอกเล่าเท่านั้น) สายที่สาม อนุสารีย์ สะพานควาย จตุจักร สายที่สี่ ถนนข้าวสาร บางลำพู สายที่ห้า ฟิวเจอร์พาร์ครังสิต เชียร์รังสิต สายที่หก คือหัวลำโพง สามย่าน พัฒนพงศ์ และการลงเยี่ยมเพื่อนหน่วยงานต่างๆที่ทำงานเหมือนกันในฐานะครูข้างถนน เมื่อลงพื้นที่จริงได้เห็นความเปลี่ยนแปลงบนถนนจำนวนมาก ตั้งแต่กลุ่มคนเป้าหมายที่จะลงทำงาน ซึ่งแยกออกเป็นกลุ่มเป้าหมายหลายกลุ่มด้วยกัน ตั้งแต่กลุ่มผู้สูงอายุ (ขายของ ขอเงิน ) กลุ่มคนพิการ(ตาบอด วณิพก คนโรคเรื้อน) กลุ่มเด็กที่มาหารายได้(เป่าขลุ่ย กีตาร์ ไวโอลิน) กลุ่มเด็กเร่ร่อน (เด็กเร่ร่อนวัยรุ่น ครอบครัวเร่ร่อนวัยรุ่น) กลุ่มคนไร้บ้าน (ผู้ป่วยจิตเวท ผู้ป่วยเรื้อรัง ไม่มีที่พักเป็นหลักแหล่ง) กลุ่มแม่และเด็กเร่ร่อนต่างด้าว(ขอทาน ทำงานรับจ้าง) ซึ่งกลุ่มหลังนี้กำลังมีมากกรุงเทพมหานครและตามใหญ่ๆอีกหลายแห่ง หน่วยงานราชการมองว่าเป็นกลุ่มค้ามนุษย์ มีการเอาลูกคนอื่นมาขอทาน ทำการทารุณ ตีเด็กเหล่านี้อย่างรุนแรง
จากการเดินถนนมาตลอดสิ่งที่พบกับกลุ่มแม่และเด็กเร่ร่อนต่างด้าว คือเขาไม่ไว้ใจใครเลย ช่วงสามเดือนแรกในการลงทำงานบนถนน คือแม่และเด็กเร่ร่อนต่างด้าวเหล่านี้เห็นครู แต่กลุ่มนี้จะเรียกว่า “ป้า” เดินมาโดยหิ้วกระเป๋าสองใบ ใบแรก จะมีนม ขนม ขอเล่น ใบที่สอง มีสมุดระบายสี สี ดินสอ ยาสีฟัน แปรงสีฟัน แป้ง ยาแก้ปวดหัว ยาลดไข้ของเด็ก โดยจะเอานม ขนม ให้เด็กก่อนครั้งแรกไม่มีแม่และเด็กคนไหนเอาของป้าเลย พอเห็นป้าเดินมา สิ่งแรกคือลูกพร้อมอุ้มลูก หิ้วของเดินหนีทันที เพราะทุกครั้งที่ลงพื้นที่พอครูเดินไปแล้วจะมีตำรวจมาจับพวกเขา กลุ่มแม่และเด็กเร่ร่อนต่างด้าวเหล่านั้นเขาเชื่อว่าครูเป็นคนของ ประชาสงเคราะห์ เป็นสายให้ตำรวจ ส่วนพวกตำรวจเขาก็บอกครูเป็นหัวหน้าแก๊งค์ขอทานเหล่านี้ ต่างคนต่างไม้ไว้ใจของครูสักฝ่ายหนึ่ง
จนวันหนึ่งขณะที่เดินอยู่หน้าบิ๊กซีราชประสงค์ มีเด็กที่มานั่งขอทานกับแม่เกิดอาการชักขึ้นมา ครูก็วิ่งพร้อมตระโกนเรียกมอเตอร์ไซด์ ให้ไปส่งที่โรงพยาบาลตำรวจ พอไปถึงที่โรงพยาบาล
ทางพยาบาลก็ถามว่า : มีประกันอะไรไหม จะให้เก็บค่ารักษาพยาบาลกับใคร เข้าเมืองถูกกฎหมายไหม
ครูตอบ : ไม่อะไรสักอย่าง ขอให้ช่วยเด็กก่อนได้ไหมเรื่องค่ารักษาพยาบาลครูรับผิดชอบเอง
พยาบาล ถามต่อ : ครูเป็นใคร มาเกี่ยวข้องกับเด็กกลุ่มนี้อย่างไร (เด็กก็ยังอุ้มอยู่ในแขนทั้งสองขา อยู่....ครูขอติดต่อ รอง ผู้อำนวยการ โรงพยาบาล เพราะเป็นหลานประธานมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก หลานคุณหญิงจันทนี สันตะบุตร รอท่านลงมา ก็สั่งให้รักษาทันที แถบบอกว่า ถ้าเป็นเคสที่มาจากครูจิ๋ว ให้ดำเนินการรักษาพยาบาลไปก่อน ครูเขาทำงานกับเด็กกลุ่มนี้ หน้าที่ของเราคือรักษาไปก่อนให้เด็กมีชีวิตรอด
ครู : ขอบคุณมาก แทนเด็กๆๆทุกคนที่ทางโรงพยาบาลเปิดให้กับเด็กกลุ่มนี้ ครูมีอะไรก็ติดต่อทางโรงพยาบาลได้เลย
แม่เด็ก : ครูเพื่อนฉันมันบอกว่าเห็นครู(ป้ามหาภัย) ฉันก็เลยตอบว่า ป้าอยู่กับฉันที่โรงพยาบาลตำรวจ ป้ากำลังคุยกับพยาบาลในการรักษาลูกฉัน ป้าเป็นคนดี ช่วยเหลือพวกเราด้วยความจริงใจ ฉันจะบอกพวกเราทุกคนว่า “ป้า”พยายามหาทางช่วยเหลือเราจริง
กว่าจะได้ใจ ความไว้วางใจจากพวกเขาต้องใช้เวลากว่า สองปี เป็นการยืนยันว่า ป้า ลงไปทำงานกับเขาจริง เด็กๆๆหลายคนที่เห็นป้าเดินไปที่สะพานลอย หรือพบเจอกันระหว่างทาง เด็กก็จะวิ่งมาเปิด
”กระเป๋าสองใบ”ของป้าดูทุกครั้งว่ามีขนมอะไร มีของเล่นอะไร หรือบางครั้งก็บอกตรงๆว่าเด็กไม่ได้กินมาตั้งแต่เช้า.. ก็จะพากันไปซื้ออาหารมานั่งกินกันที่สะพานลอย มีหลายเหตุการณ์เหมือนกันขณะที่กำลังกินข้าวอยู่ตำรวจเดินมาตีนสะพานลอย ทั้งแม่และเด็กต่างก็วิ่งหนีกันสุดชีวิต โดยไม่สนใจข้าวของที่มีอยู่ ครูช็อคกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น บอกตรงๆว่ารับไม่ได้ คนเหล่านี้คืออาชญากรค้ายาหรือเปล่า หรือเขาเป็นผู้ก่อการร้าย
ภาพที่เห็นมันค้างคาใจครูเป็นอย่างมาก ขอเจาะลึกประวัติแม่และเด็กเร่ร่อนต่างด้าว ทีมาขอทานบนสะพานลอยอย่างจริงด้วยการลงพื้นที่ ลงไปเยี่ยมพวกเขา ไปเรียนภาษากัมพูชา เพื่อสื่อสารกับเขาให้ได้ อยากรู้จริงๆกับการเดินทางมาขอเงินในประเทศ อย่างที่หลายหน่วยงานว่ามาเป็นแก๊งค์ บังคับให้ขอทาน ไม่ใช่ลูกหลาน แต่ไปซื้อเด็กมา สิ่งเหล่านี้คือวาทกรรมสำหรับกลุ่มแม่และเด็กเร่ร่อนต่างด้าว ในช่วงนั้น ครูเองได้มีโอกาสเข้าอบรมในโครงการ ผู้นำการเปลี่ยนแปลงทางสังคม รุ่นที่ 2 ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งมีเงือนข่า ผู้เข้าอบรมต้องเป็นข้าราชการของกระทรวง และบุคลากรขององค์กรพัฒนาเอกชน ที่ต้องทำงานร่วมกันในอนาคต โดยเรียนรู้ทางวิชาการจำนวน 5 ครั้ง พร้อมทั้งศึกษาดูงานภายในประเทศและต่างประเทศเกี่ยวกับงานสวัสดิการสังคม และที่สำคัญคือการทำโครงการพิเศษร่วมกัน ทางครูเองก็คิดมาตลอดเรื่อง แม่และเด็กเร่ร่อนต่างด้าว คือกลุ่มเป้าหมายอยากศึกษารายละเอียดลงลึก พร้อมทั้งข้อเสนอเชิงนโยบายที่จะทำร่วมกันในการแก้ไขปัญหาในระดับอาเซียน
จึงเป็นที่มาว่า กระเป๋าสองใบ....มาสู่งานวิจัย โครงการแนวทางเชิงนโยบาย(รูปแบบที่เหมาะสม)ในการคุ้มครองสวัสดิภาพแม่และเด็กเร่ร่อนต่างด้าว เมื่อมาสู่งานวิจัยครั้งนี้ เริ่มต้นด้วยการทำงานสมาชิกทั้งหมด 6 คน ด้วยกันหนึ่งปี แต่ปัจจุบันเกือบ สองปีด้วยกันแล้ว ด้วยเหตุผลหลายประการด้วยกัน ว่าการทำงานด้วยกันแบบนี้ มีข้อดีอะไรบ้าง หนึ่งต้องบอกว่าสมาชิกของโครงการได้ทำงานร่วมกันอย่างจริงจังถึงบางคนคนที่มาร่วมงานกันไม่ครบทุกคนก็มาเป็นส่วนใหญ่ พร้อมรู้จักกันมากขึ้น สองเป็นการเรียนรู้ที่มาจากการปฏิบัติ ทั้งการลงงานภาคสนามตามพื้นที่ทั้งในประเทศและประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นต้นทางของเด็กเหล่านี้ สามการเปลี่ยนแปลงของสมาชิกในโครงการเองเริ่มเข้าใจในประเด็นมากขึ้น ได้เห็นสภาพความเป็นจริงในพื้นที่ ว่าแม่และเด็กเร่ร่อนต่างด้าวในพื้นที่ต่างๆประสบปัญหาอะไร ทัศนคติของหน่วยงานที่ต้องทำงานด้วยเขามองกลุ่มเหล่านี้อย่างไร สี่การเรียนรู้ร่วมกันในมุมมองของแต่ละสมาชิกที่สังกัดมาสู่ข้อสรุปร่วมกันในงานเอกสาร สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นที่เป็นประโยชน์ทั้งคนทำงานโครงการพิเศษ และที่สำคัญได้แสวงหาทางออกของกลุ่มเป้าหมาย และประโยชน์สูงสุดในการคุ้มครองแม่และเด็กเร่ร่อนต่างด้าว
ทองพูล บัวศรี (ครูจิ๋ว)
ผู้จัดการโครงการครูข้างถนนมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก
หัวหน้าโครงการศึกษาแนวทางเชิงนโยบาย(รูปแบบที่เหมาะสม)
ในการคุ้มครองสวัสดิภาพแม่และเด็กเร่ร่อนต่างด้าว