โควิด -19 เด็กลูกกรรมกรก่อสร้าง (ตอนที่ 4)
นางสาวทองพูล บัวศรี
ผู้จัดการโครงการครูข้างถนน มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก
ตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม 2563 เป็นต้น ทางโครงการครูข้างถนน กับโรงเรียนเด็กก่อสร้างเคลื่อนที่ แทบจะปรับการทำงานเป็นเนื้อนาเดียวกัน ด้วยเหตุผลคนน้อยมาก การทำงานบางครั้งต้องใช้พลัง กำลัง ขอคน เพื่อปรับกิจกรรม และงานลงพื้นที่ เพื่อให้เป็นประโยชน์สูงสุดถึงเด็ก
สำหรับพื้นที่หลัก ในการทำงานกับเด็กลูกกรรมกรก่อสร้าง คือพื้นที่ บ้านพักคนงานก่อสร้างสุขาภิบาล 5 เขตสายไหม
งานพื้นที่จริง คือ การทะลุ พื้นศูนย์กำจัดขยะสายไหม ซึ่งรู้มาว่ามีคนงานที่เก็บ/คัดแยกขยะ เป็นจำนวน หลายร้อยคน มีกลุ่มชาวกัมพูชา ที่อยู่/กินในศูนย์กำจัดขยะสายไหม เป็น 100 คน โดยเฉพาะเด็ก ไม่ได้เรียนหนังสือ สุขภาวะทางร่างกาย/ทางการหายใจ ไม่ดีเลย เป็นเสียงบอกเล่าของ คนงานด้านสุขภาพ บอกกล่าวเล่าต่อกันมา
เมื่อไปถึงหน้างาน ทางครูซิ้มได้ไปติดต่อ กับเจ้าหน้าที่ เขาบอกเสียงดังฟังชัดว่า เขามีบริษัทที่เข้ารับจ้างการกำจัดขยะอย่างดี ดูแลคนงานอย่างดี ถ้าอยากเข้าไปดูต้องทำหนังสือถึง ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร ครูจึงล่าถอยมาก่อน ขอหาวิธีการเข้าไปให้ได้ในอนาคต ด้วยมีการบอกกล่าวเรื่องสุขภาพของเด็ก
แต่เลยมาประมาณสัก 1 กิโลเมตร คือมีบ้านพักคนงานก่อสร้างขนาดใหญ่ จำนวน หลายร้อยห้องพักคนงานก่อสร้าง จึงบอกทีมงานว่าขอลุยพื้นที่นี้หน่อย เพื่อผลพลอยได้ ลูกหลานคนงานที่คัดแยกขยะจะออกมาทำกิจกรรมกับ
เมื่อเข้าไปการพูดคุยกับคนงานก่อสร้าง พื้นที่เช่นขนาดใหญ่กว่า 30 ไร่ เป็นบ่อที่ถูกขุดหน้าดินเอาไปถมที่อื่นแล้ว มีป่าที่ปกคลุมไปด้วยต้นธูป ต้นโสน ฯลฯ โดยสร้างบ้านพักคนโคนดิน ข้างล่างมีกลิ่นขยะเต็มไปหมด มีน้ำขัง เป็นแหล่งของการเพาะพันธุ์ยุงอย่างดีมาก
บริษัทที่เช่าพื้นที่นี้ คือ บริษัทแลนด์แอนเฮาส์ จำกัด (เคยทำงานสนับสนุนงบประมาณในการจัดศูนย์เด็กก่อสร้างในสมัยปี 2532-2535 แล้วมีหน่วยงานระหว่างประเทศขอเข้ามาดูงาน แล้วเอาป้ายมาติดว่า ศูนย์เด็กก่อสร้างที่ทางโครงการฯดำเนินการสนับสนุนโดยองค์กรระหว่างประเทศ ทางโครงการฯยุติการดำเนินการ แล้วงานการช่วยเหลือเด็กลูกกรรมกรก่อสร้าง ทางหน่วยงานนั้นประสานงานให้ กรมพัฒนาชุมชน ลงมาดำเนินการได้ 3 เดือน แล้วต้องยุติตั้งแต่ ปี 2536) บทเรียนของครูเหมือนกัน กับ หน่วยงานระหว่างประเทศ ด้านเด็ก
ซักไซ้กันต่อว่า มีคนงานก่อสร้างจำนวนมากไหม มีผู้รับเหมาก่อสร้างเดินมาคุยด้วยว่า บ้านพักคนงานนี้ มีคนงานสังกัด 3 บริษัท และมีคนงานต่างด้าวที่อยู่ตั้งแต่ก่อนประกาศ โควิด-19 ช่วงเดือนมีนาคม เป็นต้นมาก็อาศัย ผักที่ขึ้นในแคมป์ หาปลา แต่ก็ไม่พอกินกัน เขาห้ามออกเลย ประตูใหญ่ที่ผ่านมานั้น ปิดตายเลยครับ
เป็นความโชคดี ที่คนงานเพิ่งได้ทำงาน คนงานเหล่านี้ เป็นคนลาว (มีเด็กลาว) เป็นคนกัมพูชา (มีเด็กได้เรียน) เป็นคนพม่า (ส่วนมากเป็นเด็กเล็ก) จำนวนกว่า 50 คน
ทางโรงเรียนเด็กก่อสร้างเคลื่อนที่ กลับมาเตรียมถุงยังชีพ เพื่อเป็นสื่อในการได้เข้าเยี่ยมครอบครัวของเด็กแต่ละคน ทำต่อเนื่องมาอย่างน้อย 10 ครั้ง มอบถุงยังชีพ จำนวน 2 ครั้ง
สิ่งที่สำคัญ ในวันที่ครูลงพื้นที่ คือการเรียกร้องอยากให้ครูลงไปทำกิจกรรม เพราะเด็กอีกจำนวนกว่า 35 คนที่ไม่มีโอกาสได้ไปโรงเรียน
โรงเรียนเด็กก่อสร้างเคลื่อนที่ จึงเป็น ที่ยึดของเด็ก
มาอีกนะครู หนูจะได้เรียนหนังสือ
หนูอยากเรียนหนังสือ
ในแต่ละพื้นที่ การขออนุญาตเข้าไปทำกิจกรรมก็ยากมาก
แต่เด็กอยากเรียน อยากเรียน
จากสภาวะโควิด-19 ที่เกิดขึ้นกับคนที่อยู่ในประเทศ ทีมงานของโรงเรียนเด็กก่อสร้างเคลื่อนที่ ก็ยังทำงาน เคียงบ่า เคียงไหล่ กับงานครูข้างถนน เด็กลูกกรรมกรก่อสร้างก็เป็นกลุ่มที่เหมือนถูกกักตัวไม่ให้ออกนอกพื้นที่ โดยเฉพาะเด็กที่เป็นลูกหลานแรงงานต่างด้าว
การทำงาน คือ การปฏิบัติธรรม อีกรูปแบบหนึ่ง สิ่งที่สำคัญ รถที่วิ่งนำสิ่งของที่เด็กลูกกรรมกรก่อสร้างต้องการ คือสะพานบุญ ของคนที่บริจาค โรงเรียนก่อสร้างเคลื่อนที่เหมือนสายพานนำสิ่งเหล่านี้ ไปให้ผู้ที่ต้องการ
โควิด-19 คือ การเปลี่ยนแปลงให้ทีมงานได้ทำงานอย่างต่อเนื่อง