สถานการณ์ของเด็กเร่ร่อนไทย/เด็กเร่ร่อนต่างด้าว..กับ บทบาทของสมาชิกวุฒิสภา ตอนที่ 2
นางสาวทองพูล บัวศรี
ผู้จัดการโครงการครูข้างถนน มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก
เมื่อหน่วยงานภาครัฐที่ทำงานช่วยเหลือเด็กเร่ร่อนไทย/เด็กเร่ร่อนต่างด้าว องค์กรพัฒนาเอกชนก็มีบทบาทในการทำงานที่ทุ่มเทช่วยเหลือคนบนถนนเช่นเดียวกัน
1.องค์กรเพื่อน เพื่อน ประเทศไทย (องค์กรเฟรนด์ ) เป็นองค์กรระหว่างประเทศ ที่มาดำเนินกิจกรรมช่วยเหลือเด็กกัมพูชาในประเทศไทย และเด็กด้อยโอกาสในประเทศไทย ซึ่งดำเนินการในประเทศไทยประมาณ 10 ปี มีการรับทุนจากยูนิเซฟ องค์กร child Hope เป็นต้น
-มีทำงานในประเทศ 2 แห่งด้วยกัน คือกรุงเทพมหานคร กับ จังหวัดสระแก้ว
-งานที่เกี่ยวข้องกับเด็ก คืองานพื้นที่โดยการสำรวจพื้นที่ในกรุงเทพมหานคร และการทำงานกับชุมชน กับกรณีเด็กไทย
-งานปกป้องคุ้มครองมีงานที่ทำงานกับอาสาป้องกันเด็ก เช่น วินมอเตอร์ไซด์ รถรับจ้าง และร้านค้า ที่ส่งเสริมงานป้องกัน กลุ่มจิตอาสา
-งานสนับสนุนเด็กคือมีทุนการศึกษาสำหรับเด็ก และทุนศึกอาชีพสำหรับผู้ปกครอง และมีร้านอาหารที่ฝึกเด็กทำงาน
สำหรับสถานการณ์เด็กไทยออกจากระบบโรงเรียนเยอะมาก โดยเฉพาะเด็กในขุมชน โดยมาจากผู้ปกครองไม่มีค่าใช้จ่ายให้เด็ก ส่งผลให้เด็กเหล่านี้ออกมาจากระบบการศึกษา
2.มูลนิธิคุณพ่อเรย์ บ้านเด็กพระมหาไถ่ เป็นองค์กรที่ตั้งอยู่ พัทยา จังหวัดชลบุรี ซึ่งมีงานภาคสนามอยู่ภายใต้ของมูลนิธิด้วย สถานการณ์ของเด็กเร่ร่อนในพัทยา
-เด็กมีการเคลื่อนย้ายกันเร็วมาก ด้วยเหตุผล คือ การเคลื่อนตัวของเด็กเร่ร่อนที่เข้ามาในพัทยา มีทั้งกลุ่มที่เดินทางมาคนเดียว กับกลุ่มที่เคลื่อนตัวมากับครอบครัวที่มาขอทาน หรือบางกลุ่มมาเพื่อที่จะเดินทางต่อมายังกรุงเทพมหานคร
-ปัญหาของเด็กเร่ร่อนในพัทยาเองมีความซับซ้อนของปัญหาเพิ่มมากขึ้น ด้วยเหตุผลว่า เด็กเองก็ประเมินไม่ได้ว่า เป็นเด็กเร่ร่อนไทย หรือเด็กเร่ร่อนต่างด้าว
-เด็กที่ไม่มีเอกสารแสดงตัวตน ซึ่งเป็นทั้งเด็กไทยที่ยังไม่มีการพิสูจน์กับเด็กต่างด้าวที่มีพ่อเป็นคนต่างชาติ แม่เป็นคนไทย จำนวนหนึ่งที่ไม่มีเอกสารแล้วเด็กทิ้งอยู่ในประเทศไทย แต่เด็กบางคนทั้งพ่อและแม่เป็นคนต่างด้าวทั้งคู่เมื่อมีปัญหาขึ้นมาก็ทิ้งเด็กไว้กับคนเลี้ยง
3.มูลนิธิบ้านครูจา สำนักงานอยู่พัทยา จังหวัดชลบุรี ซึ่งในการทำงานของมูลนิธิบ้านครูจา มีงานที่ติดตามช่วยเหลือเด็กเร่ร่อนที่ถูกละเมิดโดยชาวต่างชาติในการติดตามคดี และมีงานบ้านที่รองรับเด็กเร่ร่อนที่ถูกละเมิดทางเพศ สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปเร็วมากสำหรับเด็กกลุ่มนี้
-เด็กเร่ร่อนที่ถูกล่อลวงในการถูกละเมิดทางเพศ จากชาวต่างชาติมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น เป็นจำนวนหลายร้อยคดีด้วยที่ต้องติดตาม และต้องทำงานกับตำรวจสากล และเจ้าหน้าที่ดีเอสไอ สิ่งที่เกิดขึ้นกับแม่หม้ายที่มีลูกติดเป็นลูกผู้หญิง คนต่างชาติจะมีการล่วงละเมิดลูกเลี้ยงที่เกิดขึ้นในพัทยาจำนวน กว่า 30 คดี ซึ่งผู้ต้องหาเป็นชาวต่างชาติทั้งสิ้น
-เด็กเร่ร่อนวัยรุ่นช่วงอายุ 12-18 ปี ที่ออกมาใช้ชีวิตด้วยตนเอง จะหมกตัวอยู่ในร้านเกม ร้านเกมตอนนี้เปรียบเสมือน แหล่งก่ออาชญากรรม เพราะเปิดรูปแบบทั้งวันทั้งคืน พร้อมมีโปรโมทชั่นให้กับเด็กเร่ร่อนวัยรุ่น เช่นเหมาทั้งวันและคืน แถมมาม่าให้สองซอง มีน้ำร้อนและมีขนมขายให้ตลอดเวลา เมื่อเด็กและเยาวชนเงินหมด จะให้เด็กและเยาวชนเหล่านั้นทำงาน ตั้งแต่การไปกับแขกชาวต่างชาติ (จะมีชาวต่างชาติซื้อขายบริการทางเพศ ผ่านไลน์กรุ๊ปลับเฉพาะ นัดกันที่ห้องพัก หรือสถานที่ตกลงกัน) เดินยาเสพติดให้กับนักท่องเที่ยว เอาของไปฝาก ตามสถานที่ต่างๆ บางคนก็เป็นผู้จำหน่ายเองเลย ร้านเกมเป็นเพียงทางผ่านในการนัดแนะกัน
-เด็กนักเรียนออกจากโรงเรียนกลางคันมากขึ้นโดยเฉพาะเด็กหญิง เมื่ออกจากโรงเรียนเด็กจะจับกลุ่มมั่วสุม จนกลายมาเป็นแม่เล้าจิ๋ว แล้วมีเครือข่ายในสังกัดของคนที่เป็นหัวหน้ากลุ่มจำนวน 3-7 คน กระจายตัวในพัทยา โดยการใช้กาติดต่อผ่านมือถือทางไลน์ และเฟคบุซส่วนตัวของเด็กเอง ราคา ของเด็ก ตั้งแต่ 2,000-3,000 บาท
-ในขณะนี้ที่พัทยาเป็นแหล่งผลิตสื่อลามกจำนวนมาก และเผยแพร่สื่อที่ล่วงละเมิดเด็กชายและเด็กหญิงแล้วนำไปขายให้กับชาวต่างชาติ และในขณะเดียวชาวต่างชาติใช้พัทยาเป็นแหล่งติดต่อการขายภาพลามกของเด็กให้กับชาวต่างชาติกันเอง กระบวนการทำงานต้องใช้ทีมสหวิชาชีพเข้ามาร่วมในกรณีที่เด็กตกเป็นเหยื่อในการค้ามนุษย์ ปัญหาที่พบคือไม่สามารถดำเนินกับชาวต่างชาติที่ก่อคดีได้ทันท่วงที เพราะกลุ่มคนเหล่านี้จะออกจากประเทศรวดเร็วมาก
4.มูลนิธิส่งเสริมการพัฒนาบุคคล มีคุณสำราญ อรุณธาดา และ ครูนาง ในขณะนี้งานที่ดำเนินการ ได้แบ่งงานออกเป็นบ้านที่รองรับเด็กมีจำนวน 3 หลัง มีงานศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก มีงานชุมชนแม่บ้าน มีงานด้านสิทธิเด็ก และแผนกงานครูข้างถนน ปัญหาที่พบในการดำเนินงานช่วยเหลือ
-เรื่องเด็กเร่ร่อนติดเกมเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้เด็กใช้ชีวิตที่เสี่ยงเพื่อหารายได้มาเลี้ยงครอบครัว หรือตนเอง ตั้งแต่การขายยาเสพติด การลักขโมย และการรับจ้างติดคุก ในพื้นที่สะพานพุทธ และบางคนก็กลายเป็นครอบครัวเร่ร่อน ถึงแม้จะมีลูกเข้าเรียนก็ตามจำนวนกว่า 7 ครอบครัว
-เด็กที่เข้ามาสู่บ้านของมูลนิธิฯแล้ว ยังมีเด็กอีกจำนวนมากที่ไม่มีเอกสารทางทะเบียน หรือบางคนหาครอบครัวของเด็กก็ไม่พบ ทำให้เด็กไม่มีสิทธิใดๆทั้งสิ้น เมื่อเวลาเจ้ฐป่วยขึ้นมาทางมูลนิธิฯต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลเต็ม
-เด็กที่ดูแลอยู่ในขณะนี้จำนวนหนึ่ง ที่มาปัญหาเรื่องการเรียนรู้บกพร่องสมาธิ(LD) การศึกษาจึงไม่ใช่คำตอบสำหรับเด็กกลุ่มตามระบบในโรงเรียน ทางมูลนิธิฯได้ดำเนินการเปิดการเรียนการสอน โดยใช้หลักสูตรการศึกษานอกโรงเรียน แต่ต้องให้เด็ก อ่าน ออก เขียนได้ก่อน
-สำหรับเด็กที่ร้องขอให้ทางมูลนิธิฯช่วยเหลือ คือกลุ่มเด็กที่ค้างเงินค่าอุปกรณ์การเรียน หรือเงินสนับสนุนให้โรงเรียน โดยเฉพาะโรงเรียนเอกชนสำหรับมาก ที่ทางโรงเรียนไม่ให้เอกสารการเรียนจนกว่าผู้ปกครองหรือหน่วยงานต้องจ่ายให้ครบ จึงเป็นปัญหาเด็กไม่สามารถไปเรียนต่อยังโรงเรียนอื่นที่เหมาะสมกับเด็ก ทำให้เด็กบางคนต้องออกจากโรงเรียนกลางคัน แนวทางแก้ไขจึงต้องหารือทางออกกับศูนย์เฉพาะกิจช่วยเหลือนักเรียน ของกระทรวงศึกษาธิการ
-เด็กที่ดูแลในชุมชน เด็กบางคนเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด โดยตกเป็นเครื่องมือของผู้ใหญ่ ให้เด็กถูกจับ เพราะผู้ปกครองคิดว่าใช้เด็กแล้ว เด็กไม่มีโทษ เพียงแต่เด็กเข้ารับการฝึกอบรม และเด็กที่อายุต่ำกว่า 10 ปี เด็กไม่ต้องรับโทษ จึงใช้เด็กเป็นเครื่องมือจำนวนมาก ทำให้เด็กออกจากโรงเรียนกลางคัน หรือบางครอบครัวที่เด็กต้องอยู่ตามลำพัง เพราะพ่อแม่ติดคุกเนื่องจากขายยาเสพติด
-การท้องไม่พร้อมที่เกิดขึ้นกับเด็ก ที่ทางมูลนิธิฯดูแลอยู่ในชุมชน จะเกิดขึ้นมาก แล้วส่งผลกระทบให้เด็กเหล่านี้ออกจากโรงเรียนกลางคัน แล้วกลายเป็นครอบครัววัยรุ่นที่ไม่พร้อมที่จะดูแลลุกของตนเอง
-หน่วยงานของกรมกิจเด็กและเยาวชน ที่ต้องให้หน่วยงานหรือบุคคลที่ดูแลเด็ก เกิน 6 คนขึ้นไปต้องขึ้นทะเบียน เป็นสถานสงเคราะห์ และมีหลักปฏิบัติที่เน้นแต่เรื่องของอาคารสถานที่ ที่พัก แต่ไม่ได้ลงมาทำงานส่งเสริมการทำงานด้วยกัน หรือลดค่าใช้จ่าย ให้หน่วยงานองค์กรเอกชนที่กำลังประสบปัญหาเรื่องงบประมาณในการดำเนินการ
-ทางมูลนิธิบ้านนกขมิ้น มีโครงการที่รับบริจาค ของที่ไม่ใช้ในแต่ละครอบครัว ทางมูลนิธิฯ แปรมาเป็นเงินหรือสิ่งของที่จำเป็นลงไปช่วยเหลือครอบครัวของเด็กที่ยากจนในชุมชน ครอบครัวที่ไม่มีที่อยู่อาศัย และเน้นฝึกเด็กนำสิ่งของเหล่านี้จัดเป็นตลาดนัดแลกเปลี่ยนสินค้า
-สถานการณ์ในการแจ้งข้อมูลขอความช่วยเหลือมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ที่อยู่ในชุมชนต่างๆ ครอบครัวที่เคลื่อนย้ายไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ส่งผลให้เด็กไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือ และการรักษาพยาบาลเมื่อเด็กเจ็บป่วย ทำให้เด็กไม่ได้เข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน เด็กอีกจำนวนหนึ่งที่อยู่ในชุมชนแออัดที่ไม่มีเอกสารแสดงตัว ซึ่งเป็นมาตั้งแต่ตายายของเด็ก
6.มูลนิธิสายเด็ก 1387 บ้านเดอะฮับ สถานที่ตั้งอยู่ที่หัวลำโพง บริการให้กับเด็กเร่ร่อนวัยรุ่น โดยมีการฝึกอาชีพ การจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรของการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ส่วนมากเด็กและเยาวชนที่มาใช้ที่เดอะฮับเป็นกลุ่มเด็กที่เคยอยู่ในสถานสงเคราะห์ มาก่อน แต่หนีออกจากหน่วยงาน หรือมีเด็กบางคนที่ออกมาจากของเด็กและเยาวชน มีจำนวนถึง 125 คนที่กระจายตัวกันรอบพื้นที่หัวลำโพง สภาพปัญหาที่พบ
-เด็กและเยาวชนส่วนหนึ่งไม่มีเอกสารแสดงตัวของเด็กและเยาวชนเอง ส่งผลให้เด็กไม่อยากไปโรงเรียนแล้วออกจากโรงเรียนและหน่วยงานที่เด็กเคยอาศัยอยู่ แต่พอโตขึ้นมามีปัญหาเรื่องการแสดงตัวตนว่าเป็นเด็กไทยหรือเด็กต่างด้าว ทำให้เด็กกลุ่มนี้เข้าไปเกี่ยวข้องยาเสพติด การก่ออาชญากรรม ลักทรัพย์ ลักขโมย จนถึงการรวมตัวปล้นทรัพย์สินผู้อื่น จนถึงการรับจ้างติดคุก เป็นต้น
-เด็กและเยาวชนส่วนหนึ่งเข้าไปสู่การขายบริการ เมื่อเริ่มเจ็บป่วยเด็กทุกคนจะมีความวิตกกังวลในเรื่องการติดเชื้อเอดส์ แต่เด็กเองก็ไม่ใส่ถุงยางอนามัยในขณะที่มีเพศสัมพันธ์ทั้งเด็กและเยาวชนหญิง-ชาย ทำให้มีการระบาดเกี่ยวโรคความสัมพันธ์ทางเพศ มีการค้าประเวณีอย่างเปิดเผย
ข้อเสนอแนะจากสมาชิกวุฒิสภา
1.ต้องการอยากให้มีการถอดบทเรียน นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ (ครูหยุย) ในการเริ่มต้นงานช่วยเหลือเด็กข้างถนน เพื่อให้เห็นตัวอย่างในการช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง มีรูปแบบการช่วยเหลือด้วยความหลากหลายวิธีการ ตลอดจนการเชื่อมทำงานทั้งภาครัฐและองค์กรพัฒนาเอกชน จนเป็นเครือข่ายในการทำงาน ตลอดจนการส่งต่อกรณีศึกษาที่เหมาะสมกับหน่วยงานต่างๆ
2.แนวทางแก้ไข สำหรับเด็กเร่ร่อนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายที่เข้าถึงยาก การทำงานกลุ่มนี้ต้องใช้วิธีการหลากหลายเห็นที่ต้องมีงบประมาณในการพัฒนาตัวเด็ก การพัฒนาครูทั้งในด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้อง การส่งตัวกรณีศึกษา เพื่อให้มีทางเลือกทางรอด การทำเอกสารแสดงตัวตนให้กับเด็ก ตลอดจนการมีนโยบายที่ชัดเจนในการทำงานตามยุทธศาสตร์ที่กำหนดตาม เอาสารความคิดเห็นทั่วไปฉบับที่ 21 ว่าเด็กเร่ร่อนบนท้องถนน
3.ความสำคัญและการมีตัวตนของเด็กเร่ร่อนและเด็กกลุ่มที่ว่า เด็กเร่ร่อนไทยจำนวน 30,000 คน เด็กเร่ร่อนต่างด้าว 20,000 คน รวมเป็น 50,000 คน ตัวตนอยู่ที่ไหน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ และองค์กรพัฒนาเอกชน ทางหน่วยงานภาครัฐว่ามีเด็กกลุ่ม เท่าไรที่ดูแลได้ ยกตัวอย่าง ข้อมูลจากกรมกิจการเด็กและเยาวชนดูแลเด็กที่เข้าสถานสงเคราะห์ทั้งหมด จำนวน 4,323 คน แล้วเด็กอื่นอาศัยอยู่ที่ไหน และหน่วยงานไหนดูแลเท่าไร จำนวนเด็กเร่ร่อนเหล่านี้จะมาคิดเป็นเงินงบประมาณที่ดูแลเด็กได้ เน้นการกระจายเงินและกระจายการทำงานที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ในการให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามาช่วยเหลือเด็กกลุ่ม
4.ต้องมีการอธิบายภาพรวมของเด็กกลุ่มนี้พร้อมเด็กกลุ่มเสี่ยง ที่เป็นเชิงสถิติและหน่วยงานที่ดำเนินการช่วยเหลือ เพื่อให้เจ้าหน้าที่รัฐเห็นความสำคัญ โดยเฉพาะในเรื่องงบประมาณที่ต้องการให้เด็กเหล่านี้พัฒนาเป็นทรัพย์กรของประเทศ ต้องใช้เงินเป็นรายบุคคลต่อเดือน ต่อปี เท่าไร เน้นไปที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ต้องมีข้อมูลและสถิติจนกระบวนการช่วยเหลืออย่างเป็นระบบ
5.หน่วยงานหลักตามกฎหมายที่ดูแลเด็กเร่ร่อน เด็กกลุ่มเสี่ยงต้องมีแผนยุทธศาสตร์ในการพัฒนาเด็ก พัฒนาบุคลากรที่ทำงานด้านนี้อย่างชัดเจนในด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้อง พร้อมกับพัฒนาบุคลากรในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้งานของแต่ละหน่วยงาน จนถึงการศึกษาดูงานของประเทศในอาเซียน เน้นการสร้างเครือข่ายระหว่างประเทศ เพราะมีเด็กเร่ร่อนในอาเซียนมาอยู่ในประเทศ และต้องจัดสรรงบประมาณสนับสนุนองค์กรพัฒนาเอกชนที่ดูแลเด็ก ภาคประชาสังคม เพิ่มคนทำงานด้านนี้ให้เพิ่มมากขึ้น
6.หลักการบูรณาการในการทำงานช่วยเหลือของทั้งภาครัฐและองค์กรพัฒนาเอกชน คือการระดมทุน ทรัพย์กร ของธุรกิจ เอกชน โดยใช้ระบบภาษีเป็นแรงจูงใจ เพื่อนำเงินเหล่านั้นมาร่วมในการแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งนำพนักงานของบริษัทเหล่านั้นมาเรียนรู้ชีวิต แลกเปลี่ยนการใช้ชีวิตในสังคม
7.เด็กและเยาวชนเร่ร่อนไทย/เร่ร่อนต่างด้าว ทำอย่างไรที่จะให้เข้าถึง “กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา” ตามพระราชบัญญัติกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ. 2561 เน้นช่วยเหลือเด็กที่ต้องการความช่วยเหลือ โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมายเรื่องเด็กเร่ร่อน เด็กกลุ่มเสี่ยง เด็กพิการ ตลอดจนเด็กที่ยากจนพิเศษ
8.การทำงานระหว่างประเทศโดยเฉพาะเมื่อเป็นเด็กเร่ร่อนต่างด้าว กลุ่มที่ต้องส่งกลับประเทศ ทุกประเทศในอาเซียนควรที่จะมีการลงบันทึก MOU ในการส่งคืนประเทศต้นทาง เพราะต้องทำงานเพื่อพัฒนาเด็กด้วยกัน เด็กเหล่านี้คือพลเมืองอาเซียนที่ต้องมีคุณภาพทางการศึกษา โดยการใช้กลไกปฏิญญาอาเซียน เพราะได้มีสร้างเครือข่ายความคุ้มครองเด็กอาเซียน เพื่อมุ่งเน้นให้เด็กทุกคนได้รับผลประโยชน์สูงสุดในการใช้กลไก
จากการพูดคุยแลกเปลี่ยนในครั้งนี้ สมาชิกวุฒิสภาทุกท่าน ได้ให้กำลังครูข้างถนนทุกท่าน ตลอดจนหน่วยงานต้นสังกัดที่ต้องทำให้เกิดขึ้นเป็นจริง โดยเฉพาะการดูแลเรื่องสวัสดิการของคนทำงานครูข้างถนน การแลกเปลี่ยนการทำงานแบบเครือข่าย ครูหยุยเน้นย้ำว่า เครือข่ายของคนทำงานช่วยเหลือเด็กเร่ร่อน เป็นเครือข่ายที่เข็มแข็งในการทำงานช่วยเหลือเด็กเร่ร่อน เพราะงานหนัก เงินเดือนน้อย แต่ทุกคนก็ยังทำงาน
นายกุลธร เลิศสุริยะกุล ประธานเครือข่ายคนทำงานด้านเด็กเร่ร่อน เป็นคนพูดคนสุดท้าย กล่าวขอบคุณข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ จากทุกท่าน เพราะงานด้านเด็กเร่ร่อนที่ ได้มีโอกาสสัมผัสเมื่อ 30 ปีที่แล้ว วันนี้มีปัญหาที่ซับซ้อนมากขึ้นในการแก้ไขปัญหาให้เด็กเร่ร่อน ทางเครือข่ายฯกำลังจะร่วมทำงานแก้ไขปัญหาเด็กเร่ร่อนในกรุงเทพ ผ่านงานและงบประมาณ ทาง “กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา”
ครูหยุย กล่าวขอบคุณอีกครั้ง และจะพบกันอีกหลายครั้งในการทำงานด้วยกัน เพื่อให้เด็กเร่ร่อนได้มีที่ยืน และใช้กลไกทางกฎหมายให้เด็กได้โอกาสคืนสู่ครอบครัว ชุมชน สังคม อย่างปราณีต