สถานการณ์ของเด็กเร่ร่อนไทย/เด็กเร่ร่อนต่างด้าว..กับ บทบาทของสภาชิกวุฒิสภา ตอนที่ 1
นางสาวทองพูล บัวศรี
ผู้จัดการโครงการครูข้างถนน มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก
เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2562 แกนนำครูข้างถนน กว่า 42 คน พบสมาชิกวุฒิสภา ที่สนใจงานประเด็กเรื่องเด็กเร่ร่อนไทย/เด็กเร่ร่อนต่างด้าว กว่า 12 คน ที่ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ณ.ห้องประชุม 2406 ชั้นที่ 24 อาคารสุขประพฤติ จำนวนผู้ร่วมประชุมทั้งหมดกว่า 54 คน
แกนนำของครูข้างถนน ที่ทำงานช่วยเหลือคนบนถนน ประกอบไปด้วย ภาครัฐได้แก่ สำนักพัฒนาสังคม กรุงเทพมหานคร ,บ้านพักเด็กและครอบครัวกรุงเทพ กรมกิจการเด็กและเยาวชน, บ้านมิตรไมตรี กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ, กรมปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย, สำนักการศึกษานอกระบบและการอัธยาศัย(กลุ่มเป้าหมายพิเศษ) กระทรวงศึกษาธิการ, ภาคองค์กรพัฒนาพัฒนาสังคม ได้แก่ มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก ,มูลนิธิส่งเสริมการพัฒนาบุคคล,มูลนิธิคุณพ่อเรย์ บ้านเด็กพระมหาไถ่, มูลนิธิบ้านกขมิ้น,มูลนิธิสายเด็ก 1387,องค์กร เพื่อน เพื่อ ประเทศไทย,มูลนิธิบ้านครูจา
เป็นครั้งแรกในหลายสิบปี ที่งานช่วยเหลือเด็กบนท้องถนน ได้รับความสนใจ ในการผลักดันให้เกิดฝ่ายนิติบัญญัติ ได้รับรู้ รับทราบ ตลอดจน การทำงานเรียนรู้ ผลักดันเป็นเชิงนโยบาย
นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ (ครูหยุย) สว.ที่ทำงานด้านสังคม มี สว. ที่เข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ พร้อมกับการกล่าวต้อนรับ พร้อมแนะนำที่ สมาชิกวุฒิสภาที่เข้าร่วมจำนวน 12 ท่าน และแต่ละหน่วยงานก็แนะนำการทำงานให้ท่านสมาชิกวุฒิสภา ทราบคราวๆ เมื่อแนะนำตัวเสร็จ ท่านให้เปิดประเด็น เรื่องที่หน่วยงานทำงานช่วยเหลือเด็กเร่ร่อน ต้องการให้ผลักดัน
นางสาวทองพูล บัวศรี ผู้จัดการโครงการครูข้างถนน มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก ขอกล่าวถึงภาพรวมขอคนทำงานช่วยเหลือเด็กเร่ร่อน และปัญหาของเด็กเร่ร่อนบนท้องถนน โดยแบ่งออกเป็น
(1)กลุ่มเป้าหมายที่ครูข้างถนน ลงทำงานช่วยเหลือคน ในปัจจุบัน มีทั้งกลุ่มเด็กเร่ร่อนไทย ที่เป็นเด็กเร่ร่อนวัยรุ่นที่ไม่เปิดเผยตัว และกลุ่มเป้าหมายที่เป็นกลุ่มแม่และเด็กเร่ร่อนต่างด้าว สภาพปัญหาที่มีความซับซ้อน ตั้งแต่เรื่องเด็กเร่ร่อนไม่มีเอกสารแสดงตัวตนว่าเป็นใคร มาจากไหน หรือเป็นเด็กสัญชาติอะไร ,เด็กติดเกมอยู่ในร้านเกม ระยะเวลา 1-3 ปี ออกจากโรงเรียนกลางคัน ไม่เข้าบ้าน รวมกลุ่มลักทรัพย์หรือบางกลุ่มใช้การปล้น นำเงินที่ได้มาหมดไปกับการเล่นเกม, เด็กเร่ร่อนเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด รับจ้างติดคุก สุ่มเสี่ยงกับการก่ออาชญากรรม, เด็กมีการเคลื่อนย้ายตัวกันเร็วมาก และไม่สนใจในบริการของรัฐที่จัดให้ บอกเพียงว่ามันยุ่งยาก ขาดความจริงใจของคนที่ลงมาพบ จัดแล้วก็ส่ง แล้วไม่สนใจกระบวนการคืนเด็กกลับครอบครัว, ไม่มีหน่วยงานไหนที่มีบ้านสำหรับเด็กเร่ร่อนวัยรุ่น ทำให้เด็กที่อยากยุติตัวเองไม่มีสถานที่รองรับ, สำหรับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นแม่และเด็กเร่ร่อนต่างด้าว เมื่อถูกจับใช้กฎหมายที่หลากหลายจากผู้บังคับใช้กฎหมาย ตั้งแต่การค้ามนุษย์,การนำเด็กออกมาแสวงหาประโยชน์,การเลี้ยงดูไม่เหมาะสม,การขอทาน ทำให้กลุ่มนี้โดยกระทำทางกฎหมายที่หน่วยงานต่างๆเลือกใช้ เป็นต้น
(2) หน่วยงานที่ต้องเข้ามาดูแลเรื่องแผนปฏิบัติการของเด็กเร่ร่อน ขาดยุทธศาสตร์ในการทำงานช่วยเหลือเด็กเร่ร่อนอย่างเป็นระบบ ตามคำแนะนำของคณะกรรมการสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ ความเห็นทั่วไปฉบับที่ 21 (พ.ศ.2560) เกี่ยวกับเด็กเร่ร่อนบนท้องถนน ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ได้จัดสรรงบประมาณในการพัฒนาตัวเด็กเร่ร่อน(ค่ายพัฒนาทักษะชีวิต) และบุคลากรที่ทำงานช่วยเหลือเด็กเร่ร่อน ไม่มีโอกาสได้พบปะ แลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ตลอดจนการเพิ่มทักษะของครูที่ทำงานช่วยเหลือเด็กเร่ร่อน ในเรื่องกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
(3) ปัญหาความมั่นคงของคนทำงานช่วยเหลือเด็กเร่ร่อน ขาดความมั่นคงในอาชีพและการเงิน ไม่มีการบรรจุเป็นพนักงานของรัฐ งบประมาณในการช่วยเหลือกรณีศึกษา ตลอดจนเรื่องการพัฒนาบุคลากรในการช่วยเหลือเด็กเร่ร่อนที่ควรมีการพบปะกัน ในจำนวน 180-200 คน
ทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นภาพรวมปัญหาในการทำงานของครูข้างถนน ที่ช่วยเหลือเด็กและครูบนถนน หลังจากนั้น นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ (ครูหยุย)ได้เชิญหน่วยงานที่เข้าแลกเปลี่ยน เล่างาน
1.นายธนกฤต วิเศษฤทธิ์ ตัวแทนของ กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ปัจจุบันมีครูสอนเด็กด้อยโอกาส ตามเทศบาลและเทศบาลนครจำนวน 111 แห่ง จำนวนครู 160 คน สิ่งที่พบในขณะที่ดำเนินการคือ
-ความมั่นคงของคนทำงาน ยังเป็นเพียงลูกจ้างชั่วคราว ของเทศบาลหรือเทศบาลนครต่างๆ ซึ่งมีครูบางคนที่ ทำงานต่อเนื่องมากกว่า 15 ปี ทางกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นกำลังดำเนินการ ในการปรับตำแหน่งการทำงานที่เหมาะสม ทั้งวุฒิการทำงานและประสบการณ์ในการทำงาน กำลังดำเนินการเปิดกรอบในการทำงาน ครูด้อยโอกาส 1 คน ดูแลเด็กจำนวน 20 คน
-หน่วยงานเทศบาล หรือเทศบาลนคร เมื่อกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น จัดสรรงบประมาณไปยังหน่วยงานปฏิบัติ สิ่งที่พบคือ จัดสรรให้บุคคลการไปทำงานไม่ตรงสายงานที่จัดสรรให้ บางเทศบาลไปให้นั่งหน้าห้องนายกเทศบาล บางคนให้ไปทำงานธุรการ ซึ่งไม่ใช่บทบาทของครูสอยเด็กด้อยโอกาส ที่ต้องงานในชุมชนเทศบาลที่ต้องช่วยเหลือเด็กเร่ร่อน เด็กออกจากโรงเรียนกลางคัน เด็กด้อยโอกาสกลุ่มอื่นๆ
ตัวอย่างของเทศบาลนครรังสิต สิ่งที่ดำเนินการช่วยเหลือ
-ลงพื้นที่ปฏิบัติงานในพื้นที่รังสิต ,ชุมชนที่อยู่ในเขตเทศบาลรังสิต ช่วยเหลือกลุ่มเด็กพิการติดเตียง พาไปทำบัตรเด็กพิการ,เด็กเร่ร่อน,เด็กที่ออกจากโรงเรียนกลางคัน และกลุ่มที่ยากจนเป็นพิเศษ เพื่อให้เด็กเหล่านี้เข้าถึงสวัสดิการมากที่สุด เป็นต้น
-ประสานงานกับหน่วยงานของในเทศบาล ที่เข้ามาดูแล ตั้งแต่ฝ่ายทะเบียนราษฎร์,ฝ่ายสาธารณสุข เมื่อเกิดการเจ็บป่วย, ฝ่ายการศึกษา ที่ต้องส่งเด็กเข้าเรียนในโรงเรียน และทุนการศึกษาสำหรับเด็กที่ต้องดูแลให้อยู่ในระบบโรงเรียน เป็นต้น
-ส่งต่อเด็กในกรณีที่ต้องหาทางออกร่วมกัน ในพื้นที่ เด็กเร่ร่อนใช้ชีวิตอยู่ในร้านเกมจำนวนมาก และไม่ได้เรียนต่อ ใช้ชีวิตกลุ่มเสี่ยงการก่ออาชญากรรม เป็นต้น
2.สำนักงานการศึกษานอกระบบและตามอัธยาศัย(กลุ่มเป้าหมายพิเศษ) กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งในปัจจุบันมีครูสอนเด็กด้อยโอกาส จำนวน 43 คน นักศึกษาที่ดูแลอยู่ในขณะนี้จำนวน 975 คน ดูแลทั้งหมด จำนวน 22 จังหวัด 24 อำเภอ เน้นไปที่กลุ่มเป้าหมาย เด็กเร่ร่อน,เด็กลูกกรรมกรก่อสร้าง,เด็กที่ออกจากโรงเรียนกลางคัน
-เน้นการจัดกระบวนการให้เด็กด้อยโอกาสเหล่านี้เข้าถึงการศึกษา การฝึกอาชีพ เพื่อการพัฒนาตนเอง อย่างที่ กลุ่มการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย จังหวัดขอนแก่น ที่ทำงานร่วมกับเทศบาลนครขอนแก่น โดยการจัดการศึกษากับเด็กกลุ่มชายขอบ กลุ่มชุมชนสามเหลี่ยม พร้อมทั้งการฝึกอาชีพที่ชุมชนบ้านโล่งแตก มีครูที่ดำเนินการจำนวน 6 คน ซึ่งเป็นตัวอย่างระดับประเทศที่มีการศึกษาดูงานของทุกหน่วยงาน
-เด็กที่ไม่เคยผ่านระบบการศึกษามาเลย พอมาเข้าเรียนของครูสอนเด็กด้อยโอกาส ส่วนมากพบปัญหา คือเด็กไม่อยากเรียนหนังสือตามหน่วยงานการ เดิมการทำงานเป็นเพียงแค่ การสอนตามทักษะชีวิต ครู 1 คน ต่อเด็ก 20 คน เมื่อมีการเปลี่ยนตามภารกิจ ครูที่สอนเด็กด้อยโอกาสจะคิดตามค่าหัวเด็กที่มาเรียน คือประถมศึกษา จำนวน 900 บาทต่อคน เด็กที่เข้ามาเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น 1,150 บาทต่อคน ทำให้ครูไม่ได้ทำกิจกรรมในการค้นหาเด็ก
-ในอนาคต จะเพิ่มกระบวนการพัฒนาอาชีพให้กับเด็กด้อยโอกาส เพื่อสอดคล้องตามวิถีของกลุ่มเด็กด้อยโอกาสต่อไป
3.ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคม กรุงเทพมหานคร พร้อมทีมเจ้าหน้าพัฒนาสังคมจำนวน 9 คน ที่เข้าร่วมประชุม
-เดิมโครงการครูข้างถนน ได้รับการพัฒนาครูและฝึกอบรมมาจากครูข้างถนน มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก ซึ่งเริ่มต้นมาในปี 2534 เป็นต้นมา ต่อมาทางยูนิเซฟ ได้ให้งบประมาณดำเนินการ มาสร้างเป็นศูนย์สร้างโอกาสตามพื้นที่ต่างๆจำนวน 7 แห่ง โดยการใช้ตู้คอนเทนเนอร์ มาดำเนินการ เพื่อเป็นจุดรวมว่ามีสถานที่และเด็กเร่ร่อน ครอบครัวเร่ร่อน ตลอดจนกลุ่มเสี่ยงเข้ามาที่ศูนย์สร้างโอกาส
-เรื่องเจ้าหน้าที่ ทางกรุงเทพมหานคร ให้มีตำแหน่งเป็นเจ้าหน้าที่พัฒนาสังคม จำนวน 2 คน ประจำศูนย์สร้างโอกาส โดยมีวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรี ลักษณะการจ้างงานเป็นแบบลูกจ้างชั่วคราว มีเงินเดือนจำนวน 15,000 บาท มีค่าประกันสังคมให้กับเจ้าหน้าที่,มีการเบิกค่ารักษาพยาบาลครอบครัวได้, มีโบนัส ในแต่ละปี 1.5 ต่อเดือน,มีสิทธิลาพักร้อนได้ 10 วัน การดูแลเจ้าหน้าที่กรุงเทพมหานครดูแลเป็นอย่างดี
-ทางกรุงเทพมหานคร มีงบประมาณเรื่องครอบครัว คนพิการ ผู้สูงอายุ เพื่อสร้างครอบครัวให้เข็มแข็ง งบประมาณเพียงพอต่อการทำงานช่วยเหลือกรณีศึกษา
-ในฐานะของกรุงเทพมหานคร เป็นองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น มีคณะกรรมการคุ้มครองเด็กกรุงเทพมหานคร โดยมีสำนักงานพัฒนาสังคมเป็นฝ่ายเลขานุการ มีกองทุนคุ้มครองเด็กสนับสนุนกับเด็กด้อยโอกาสที่มีทะเบียนบ้านในกรุงเทพมหานคร
ตัวอย่างการดำเนินการศูนย์สร้างโอกาสพระรามแปด โดยมีครูเชาว์ดำเนินการ
-การทำงานช่วยเหลือเด็กในชุมชน เด็กทุกคนได้ไปโรงเรียนทุกคน พร้อมกับทำงานกับโรงเรียนด้วย และศูนย์เด็กเล็ก โดยการลงพื้นที่ในชุมชน
-การดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วยติดเตียงในการมอบอุปกรณ์ทั้งเครื่องใช้ เพื่อครอบครัวของผู้ป่วยดำเนินชีวิตตามปกติได้ พร้อมทั้งการรับสวัสดิการจากรัฐ
-การเสริมกิจกรรมเด็กหลังเลิกเรียน พร้อมทั้งการสอนเด็กที่เรียนช้า ในชั้นเรียนบกพร่องทางการเรียนรู้ (LD) พร้อมทั้งเปิดโอกาสหน่วยงานและจิตอาสามาทำกิจกรรมให้เด็ก
-ขยายการทำงานไปเพิ่มอีก 6 ชุมชน
4.บ้านพักเด็กและครอบครัวกรุงเทพมหานคร กรมกิจเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคม สิ่งดำเนินการช่วยเหลือกลุ่มเด็กด้อยโอกาส ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ
2546
-จัดพนักงานของรัฐตามกฎหมายไปช่วยประชุมทีมสหวิชาชีพ ที่โรงพัก ในกรณีที่พบเด็กเร่ร่อน โดยได้ทำงานกับทางโครงการครูข้างถนน มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก จำนวน 18 กรณีศึกษา ที่มีการส่งต่อเด็ก เข้าสถานแรกรับเด็กชายบ้านปากเกร็ด
-ทำงานหน้าที่ประสานงานการคุ้มครองเด็ก ในกรณีที่ต้องรักษาพยาบาลต่อเนื่อง ตลอดจนการวัดไอคิวเด็ก และประสานงานหน่วยงานที่เหมาะสมสำหรับเด็กแต่ละกรณีศึกษา
-ในกรณีของเด็กผู้หญิงจะมีบ้านรองรับเด็กในการคุ้มครองเด็กที่มาจาก การเร่ร่อน,การประพฤติตัวไม่เหมาะสม,การใช้แรงงานเด็ก หรือการส่งต่อมาจากหน่วยงานผู้บังคับใช้กฎหมายโดยตรง เป็นต้น
5.บ้านมิตรไมตรีกรุงเทพมหานคร กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ปฎิบัติตามพระราชบัญญัติควบคุมการขอทาน พ.ศ 2559
-คัดกรองด้วยศูนย์ปฏิบัติการขอทาน กลุ่มแม่และเด็กเร่ร่อนต่างด้าว ในกรณีที่เป็นแม่กับลูก จะส่งต่อไปยังสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งนนทบุรี เพื่อพิสูจน์ความเป็นแม่ลูก ด้วยผลตรวจ DNA ค่าใช้จ่ายแพงมากทำให้ มีการคืนเด็กกลับประเทศต้นทางที่ล่าช้ามาก
-สิ่งที่ทางบ้านไมตรีพบปัญหาคือ ชาวต่างด้าวมีปัญหาเรื่องสุขภาพ ทั้งแม่และเด็กเป็นวัณโรค ที่ต้องมีการรักษาอย่างต่อเนื่อง แต่ขาดงบประมาณในการดำเนิน
-ในปัจจุบันที่พบ คือปัญหาของคนไทยที่ออกมาเร่ร่อน ขอทาน จำนวนเพิ่มมากขึ้นเพราะในครอบครัวมีภาระที่ต้องดูแลคนพิการ ผู้ป่วยติดเตียง จนถึงต้องรับผิดชอบคนในครอบครัว เมื่อค่าใช้จ่ายไม่พอจึงต้องดิ้นร้นกันออกมาใช้ถนน เป็นสถานที่ทำมาหากิน
สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงการบอกกล่าวในหน่วยงานของรัฐ ที่ทำงานช่วยเหลือคนบนถนน ซึ่งมีตอนต่อไปที่จะดำเนินการ และข้อเสนอแนะจากสมาชิกวุฒิสภาต่อไป