banner
ศุกร์ ที่ 28 เดือน มิถุนายน พ.ศ.2562 แก้ไข admin

การรอคอยของน้องเดฟ อดีตเด็กเร่ร่อน (ตอนที่3 ได้คนไทยเพิ่มอีกคน)

 

นางสาวทองพูล  บัวศรี

ผู้จัดการโครงการครูข้างถนน  มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก

 

          เมื่อกระบวนการครูลงชุมชนหลักเขต เรียบร้อย แล้วทุกคนที่เกี่ยวข้อง ผู้ใหญ่บ้าน 2 หมู่บ้าน ประธานสภาชุมชน  คุณยายจิต  คุณยายสำรวย คนที่เคยเลี้ยงมาก่อน  พร้อมใจที่จะไปเป็นพยานบุคคล  สำหรับงานต่อไปคือพาน้องเดฟขึ้นมา บุรีรัมย์    ในใจครูต้องรีบทำให้เสร็จ เพราะแต่คนอายุมาก  อย่างไรคือน้องเดฟกลับชุมชนก่อน และทำบัตรประชาชนใบแรก แสดงความเป็นคนไทย  ตลอด 17 ปีที่ใช้ชีวิตเป็นคนที่อยู่ในประเทศไทยเท่านั้น

          ครูรีบโทรหาครอบครัวแม่อุ้มทันที  ว่าในวันอังคารหน้าครูจะไปรับน้องเดฟ กลับไปทำบัตรประชาชนที่บุรีรัมย์ ในวันที่ 11 มิถุนายน 2562  แต่เช้านะ  เพราะต้องใช้เวลาเดินทางกว่า 7-8 ชั่วโมง  สำหรับครูได้ความอนุเคราะห์ จากพี่ป้อม  (คุณวัณณา แสนงาม)  และทีมงานของครู คือครูซิ้ม ครูจอย ขับรถให้

          พอถึงเช้า วันที่ 11 มิถุนายน 2562 ทั้งน้องเดฟ และครูตื่นเต้นกันทั้งคู่.. ครูไปถึงที่ต่อมอใต้ทางด่วน พบน้องเดฟอาบน้ำแต่งตัวเรียบร้อย แล้วบอกว่า ผมอาบน้ำตั้งแต่ตีห้า 

          น้องเดฟ ไม่มีเสื้อผ้าหรือกระเป๋าอะไรหรือ   น้องเดฟตอบว่ามีแค่เสื้อผ้าที่ใส่อยู่ครับ  แต่ครูเตรียม เสื้อผ้าใส่กระเป๋าพร้อมเครื่องใช้ส่วนตัว  โดยมีกางเกงใน จำนวน หกตัว เสื้อยึด จำนวน 4 ตัว กางเกงขาสั้นไม่มี  กะว่าจะไปหาซื้อให้ที่บุรีรัมย์

          พากันนั่งรถไฟฟ้า รถตู้ รถแท็กซี่ มาถึงที่มูลนิธิฯ  กินข้าวเช้ากันอย่างมีความหวัง  ครูนะหวังมากว่าไปครั้งนี้จะสำเร็จด้วยดี



          เมื่อถึงเวลานัดคือ สิบโมงเช้า  คณะของพวกเราก็ออกเดินทางกัน โดยมีน้องเดฟเพิ่มมาอีกคน   ตลอดทางครูถามอะไรน้องเดฟก็ตอบ พร้อมเล่าเรื่องราวที่อยู่บนถนน  กับสมาชิกอีก 18 คน  ที่ครูเองบางคนก็เข้าไม่ถึง เช่น น้องเวปที่เพิ่งมารวมตัวกัน  เด็กทุกคนจบเพียงแค่ประถมศึกษา แบบครึ่งๆๆ กลาง  คือไม่มีใครเกิน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4  แค่เขียนชื่อตัวเองได้เท่านั้น  อ่านผสมคำยังไม่ได้เลย   สถานที่พักก็ย้ายกันไปเรื่อยๆ  ประตูน้ำบ้าง  สีลมบ้าง เพชรบุรีบ้าง   มีบางคนที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับยา   สำหรับผมไม่เกี่ยวข้องแต่เวลาตำรวจมาจะบอกว่า ให้ไปช่วยราชการก่อน  ในฐานะของเด็กต่างด้าว   ทุกคนมีบ้านหมดครับครู  แต่ไม่อยากอยู่บ้าน  แต่ผมคนเดียวไม่มีใครเลยครับ

          ครูเองรับรู้ความในใจถึงแม้น้องเดฟจะไม่บอก  แต่ความรู้สึกอยากมีบ้าน อยากมีครอบครัว  คิดถึงแม่ คิดถึงยาย  ดูจากการดูแลลูกของแม่อุ้ม ทั้งน้องปอ และน้องแป้ง รักครอบครัวแม่อุ้มเสมือนครอบครัวตัวเอง  ดูแลน้องเป็นอย่างดี

          ระหว่างทางครูทุกคน ก็ทำความรู้จักกับน้องเดฟไปเรื่อยๆ  ตอนกินอาหารกลางวัน น้องเดฟดูเหมือนจะเกรงใจครู  แต่ครูตักอาหารให้ แบ่งข้าวที่กินไม่หมด ให้ช่วยครู ครูไม่อยากทิ้งข้าว  อาการเกรงใจเริ่มหายไป พูดคุยเป็นกันเองมากขึ้น

          การพูดคุยกันถึงที่นอน น้องเดฟมีอาการว่าผมไม่มีเสื้อผ้ามาเลย  ครูจึงบอกว่าครูรู้ ครูเตรียมใส่กระเป๋าสีดำพร้อมผ้าห่มมาให้ มีเสื้อผ้ากับกางเกงในอีกจำนวนหนึ่ง เครื่องใช้ผ้าขนหนู ยาสีฟันแปรงสีฟัน สบู่ ยาสระผม แป้ง  มาให้พร้อมแล้ว

          เสียงพี่ป้อมแซว มาว่า ดูแลเหมือนลูกชายเลยนะ   ตอบพี่ป้อมอยู่บนถนนอะไรก็ทิ้งหมดเพราะนานๆจะได้อาบน้ำสักครั้งหนึ่ง   มีอะไรก็ใช้ เพราะการอาบน้ำทุกวัน  มันคือการเสียเงินครั้งละ 20-30 บาท  จึงเก็บเงินไว้ซื้ออาหารกินในแต่ละวัน แต่ละมื้อ

          มาถึงบุรีรัมย์ฝนตกตลอดทาง  ถึงแม้จะมาถึงค่ำ ฝนก็ตกอย่างหนักมาก  เข้าที่พักกันเรียบร้อย  สำหรับครูคือนอนไม่หลับ  ข่มตาให้หลับอย่างไรก็กังวลกับชีวิตของน้องเดฟในวันพรุ่งนี้

          เช้า 12 มิถุนายน 2562  สำหรับครูตื่นเต้นมาก  มารับท่านผู้อำนวยการ กำลา สาลี  กันที่หน้าสถานีรถไฟบุรีรัมย์   คือต้องบอกกล่าวเล่าสิบกับน้องเดฟ  คือ ชื่อจริงของเด็ก นายจิตติพงษ์  อภัยแสน  ให้ลืมชื่อเก่าที่คิดว่าชื่อนั้นไปได้เลย  

          ถามน้องเดฟว่า ตื่นเต้นไหม  น้องเดฟตอบว่าสุดๆ เลยครู

          มาถึงหมู่บ้านไผ่สีทอง หมูที่ 13 ตั้งแต่ 9.30 น. ซึ่งกำลังมีการลงทะเบียนเกษตรกร  ทางครูกับพี่ป้อม เอาตัวน้องเดฟเข้าไปที่ประชุม  ทุกคนจำได้ว่า เป็นลูก “ไอ้ไอซ์”  ชื่อเล่นของแม่น้องเดฟ  คำถามมากมายที่เบ่งกันออกมาจน ไม่ได้ตอบ  เสียงเจ้าหน้าที่บอกว่าถ้าลงทะเบียนกันไม่เสร็จห้ามใครไปไหนทั้งนั้น 

          ทกคนเลยมานั่งคอยกันที่บ้านของท่านประธานสภาชุมชน  มะม่วง มะยม กล้วย ถูกแบ่งปันกันมาให้พวกเราได้กิน  ยายสำรวยมาถึงก็มากอดเจ้าเดฟ  เจ้าส่งขนมที่ซื้อมาฝาก ยายแก่บอกว่าคิดถึง โตมากมายจริงๆ  เป็นหนุ่มแล้ว

          ประมาณสัก 10.30 น. ครูจอยจึงขับมอเตอร์ไซด์ไปส่งบ้านยายจิต  ที่บ้านติดกับที่ดินที่แกปลูกข้าว  น้องเดฟกับยายได้คุยกัน  คงเล่าสารทุกข์สุขดิบกัน  ไล่ความเป็นมา  แต่ส่วนลึกๆอยากให้ความรักกลับคืนสู่ครอบครัวของน้องเดฟอีกครั้ง   และยายให้เห็นความสำคัญกับหลาน  

 

          ครูเองปรารถนาอย่างแรงกล้ามาก  คือให้น้องเดฟยุติการเร่ร่อนในกรุงเทพ   อยู่กับยายที่ในหมู่บ้านแห่งนี้  ทำงานทำการตามที่มีอยู่ในชุมชน

          กว่าจะเสร็จก็เกือบเที่ยงครึ่ง  ทั้งหมดจึงพากันขึ้นออกไปสำนักทะเบียนราษฎร์ คือผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 3, ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 13, ประธานสภาชุมชน, คุณยายจิต  จำนวน 4 คน รวมพวกเราอีก 5 คน พร้อมน้องเดฟด้วย  แวะไปกินข้าวกลางวันกันก่อน   แต่ความรู้สึกของครูกังวลเพราะยายจิต  จำอะไรไม่ค่อยได้  กลัวทางปลัดอาวุโส จะไม่เชื่อ

          พวกเรามาถึงสำนักทะเบียนที่แยกออกมาจากอำเภอเมือง  มีสถานที่กว้างขวางพอสมควร  และช่างโชคดีมามีคนมาทำเอกสารน้อยมาก  ทางเจ้าหน้าที่จึงเชิญครูไปคุยกับปลัดอาวุโส  ครูจึงนำเอกสารทั้งหมดที่รับรองโดยสำนักงานเขตหลักสี่  ประกอบด้วยใบเกิดของน้องเดฟ  ชื่อในทะเบียนบ้าน  ใบแสดงว่าเด็กชายจิตติพงศ์  อภัยแสน ยังไม่ได้ทำบัตรประชาชน  บัตรประชาชนของพ่อและแม่ 

          นายไชยยันต์ พาสว่าง ปลัดอำเภอ(เจ้าพนักงานปกครองชำนาญการพิเศษ) ได้สอบถ้อยคำบุคคลที่เกี่ยวข้อง  โดยคนแรกที่สอบ คือนางจิตร ระจีฟ้า อายุ 61 ปี ที่เกี่ยวข้องเป็นยายของเด็ก  คำตอบของยายแต่ละเรื่อง ทำให้หัวใจของบีบรัดตลอดเวลา  เพราะปกติแกจะเมา พูดเรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง  เพราะแกจำชื่อหลานชายสลับกันทั้งสามคนเลย  แต่ทุกอย่างก็ผ่านไปด้วยดี


          คนที่สองคือ ผู้ใหญ่บ้านหมูที่ 13 ชื่อ นายสนิ่ม เรืองรัมย์   ได้รับรองว่าเด็กชายจิตติพงศ์ อภัยแสน เป็นลูกของนายการุณ  อภัยแสน  กับนางสาวสมศรี ยิ่งสุข  ตอนเด็ก เด็กคนนี้อยู่ในหมู่บ้านแห่งนี้ พร้อมด้วยได้เรียนหนังสือ แล้วครอบครัวนี้ก็ย้ายไปทำงานที่กรุงเทพมหานคร แต่ทะเบียนบ้านของครอบครัวนี้ยังอยู่ในหมู่บ้านนี้   และเด็กคนนี้มีชื่อในทะเบียนกับบุคคลที่ปรากฏอยู่เป็นคนเดียวกันที่จะมาทำบัตรประชาชน

          คนที่สาม คือผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 3 ชื่อ นายทรงศักดิ์  โคกรัมย์  ได้รับรองว่า เด็กชายจิตติพงศ์  อภัยแสน  เป็นเด็กที่เติบโตมาอยู่ในชุมชนหลักเขต  ด้วยชุมชนนี้มีอยู่สองหมู่บ้าน โดยนางสำรวย  เกรัมย์ เป็นผู้ที่เลี้ยงดูเด็กมาตั้งแต่ยังเล็ก  รับรองว่าเด็กคนนี้เป็นคนเดียวกับที่มีชื่อในทะเบียนบ้าน

          คนที่ สี่ คือประธานสภาเทศบาลตำบลหลักเขต นายประกิจ  เกรัมย์  ได้รับรองว่า เด็กชายจิตติพงศ์  อภัยแสน  เป็นบุคคลคนเดียวกันที่มีชื่ออยู่ในทะเบียน  และเลี้ยงดูมาตั้งแต่ยังเล็ก และอาศัยอยู่ในชุมชนแห่งนี้

          คนที่สำคัญที่สุด  คือสอบถ้อยคำ ของเด็กชายจิตติพงศ์ อภัยแสน  ตอนที่ย้ายมาอยู่กรุงเทพมหานคร  พ่อกับแม่มาทำงานก่อสร้าง  เด็กชายฯก็ยังได้ช่วยงานพ่อแม่   แต่เมื่อพ่อทะเลาะกับแม่  แล้วแม่ถูกจับไป ตัวเด็กเองถูกส่งไปที่สถานแรกรับบ้านภูมิเวท (ครูได้ทำบันทึกการทำงาน และมีเอกสารทางราชการยืนยันตัวเองพร้อมของพ่อแม่)  ท่านปลัดบอกว่าเธอโชคดีมากที่มีคนในชุมชนเห็นว่าเป็นลูกหลานของคนในชุมชน




          แต่เธอโชคดีมากกว่าคือเธอมีครูที่มีเอกสารพร้อมทั้งหมด  มีการบันทึกที่พบเธอตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559  จนถึงปัจจุบัน  แสดงว่าครูเขาใส่ใจเธอเป็นอย่างมาก  เมื่อได้บัตรประชาชนแล้วอย่าลืมขอบคุณครูให้มากๆนะ

          แล้วท่านปลัดก็เซ็นต์เอกสาร พร้อมทั้งแนบบันทึกถ้อยคำของพยานบุคคล และเอกสารบันทึกของครู  บอกว่าเป็นตัวอย่างที่สืบค้นเป็นเวลากว่าสามปี   เด็กคนนี้ช่างโชคดีจริงๆ  จึงบอกว่ายังมีน้องชายอีก 2 คน  ที่ต้องมาดำเนินการ  แต่ครูคงได้ตามหาพ่อให้เจอก่อน  แล้วจะดำเนินส่วนของน้องชายได้  แต่มีชื่อในทะเบียนเพียงอีก 1 คนเท่านั้น  อีกคนหนึ่งเขาย้ายไปอยู่สถานสงเคราะห์เด็กหญิงอุดรธานี

          ครูดีใจเป็นครั้งที่ 2 เมื่อยู่กับน้องเดฟ แล้วบอกกับครูว่า ครูครับผมขออยู่กับยายก่อนนะ  จริงๆใช่ไหมน้องเดฟ  เขาพยักหน้าครูเขากอดน้องเดฟพร้อมบอกว่าเป็นสิ่งที่ครูปรารถนาอย่างยิ่ง  มันเป็นการคืนเด็กสู่ครอบครัว สู่ชุมชน  ขอบใจมากน้องเดฟที่เลือกครอบครัวของตัวเอง  ครูกะว่าจะคุยกับเธอหลังจากได้บัตรประชาชน

          สำหรับครูถือว่าเป็นการทำงานครูข้างถนนที่ย้อนไปยุคแรกๆ ของการทำงาน คือตามหาบ้านเด็กแล้วคืนเด็กให้ครอบครัว  แต่ปัญหาปัจจุบันซับซ้อนมาก คือเด็กไม่มีเอกสารแสดงตัวตน และเด็กได้เรียนหนังสือเพียงชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 เท่านั้น  เรื่องการศึกษาค่อยว่ากันอีกครั้ง

          เมื่อเจ้าหน้าที่เรียกเอกสารที่ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 13  เขียนรับรองสมาชิกคนใหม่ พร้อมเอกสารรับรองในการทำบัตรประชาชน  น้องเดฟก็ไปเปลี่ยนเสื้อผ้าตัวใหม่  หล่อมากสำหรับครู


 

          เมื่อถูกเรียกไปทำบัตรประชาชน พร้อมทั้งถ่ายรูป  ครูจึงแซวว่าตื่นเต้นไหม  น้องเดฟบอกว่ามือสั่น เหงื่อเต็มมือเลยค่ะ  ต้องเช็ดไม่รู้กี่รอบในขณะที่ต้องพิมพ์ลายนิ้วมือ   จนเจ้าหน้าที่บอกว่าตื่นเต้นใช่ไหม   น้องเดฟพยักหน้า

          บัตรประชาชนบัตรแรก ที่น้องเดฟรอคอยมากอย่างยาวนาน  งานนี้ต้องขอบคุณผู้ใหญ่ใจดีทุกคน  ที่ช่วยเหลือเด็ก 1 คน ให้ได้คืนครอบครัว คืนสู่ชุมชน  มันเป็นสิ่งที่วิเศษสุดๆ กับการให้โอกาสคน

          แล้วทุกคนก็ขึ้นรถตู้กับชุมชนหลักเขตอย่างมีความสุข  ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 13  เคยที่จะทำหลักฐานอย่างครูแต่เป็นอีกหน่วยงานหนึ่ง  แต่ทำไม่สำเร็จ  ต้องบอกว่าหลักฐานที่ครูนำมาในครั้งนี้ชัดเจน  และเป็นทางการอย่างมาก   ผู้ใหญ่คุยตลอดทางอย่างมีความสุข

          พวกเราจึงไปส่งผู้ใหญ่ทั้ง 2 ท่าน และท่านประธานสภาเทศบาลตำบลหลักเขตก่อน  ก่อนที่ครูจะไปนายเดฟ กับยายจิตร ที่บ้าน  เพราะครูเตรียมข้าวสารมาประมาณ 30 กิโลกรัม  เครื่องใช้ ขนม และเครื่องครัวมามอบให้ด้วย  นายเดฟเองถูกเรียนใหม่  ดูจะตื่นเต้นเป็นอย่างมาก  บวกกับครูเองกังวลการใช้ชีวิต  จึงให้เงินติดตัวนายเดฟ ไว้สำหรับซื้อกินบ้าง   แต่ทุกอย่างที่บ้านต่างจังหวัดต้องทำกินเอง  ถึงจะอยู่รอด   แต่ครูก็บอกแล้วว่าต้องปรับตัวให้ได้   ที่ชุมชนแห่งนี้คือสถานที่เริ่มต้นชีวิตใหม่...

          เมื่อส่งน้องเดฟเสร็จก็เย็นมาก  กลับมานอนในเมืองบุรีรัมย์อีกครั้ง  เผื่อการเดินทางกลับพรุ่งนี้ เย็นนี้ขอประชุมบนโต๊ะอาหารหน่อยแล้วกันนะ


          สำหรับครูบทเรียนครั้งนี้มีหลายประการด้วยกันคือ

1.การทำงานครูข้างถนน ต้องกัดไม่ปล่อย หาแนวทางไปเรื่อยๆ เพราะปัญหาซับซ้อนมาก ทั้งเอกสารและความไว้วางใจครู สำหรับกรณีของนายเดฟ ใช้เวลากว่า 3 ปี แล้วติดตามอย่างต่อเนื่อง  การช่วยเหลือเด็กเร่ร่อนไม่มีอะไรเสร็จแค่วันเดียว

2.การช่วยเหลือนายเดฟได้ 1 คน จะช่วยเหลือน้องอีก 2 คน ที่มีชื่อในทะเบียนบ้าน

3.คนนำทางก็สำคัญในการสื่อสาร  ต้องขอบคุณ ท่านผู้อำนวยการกำลา สาลี  ที่ช่วยเหลือและนำทาง 2 ครั้ง พร้อมเป็นล่ามที่สำคัญเวลาพูดภาษากัมพูชากัน  เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ให้ แค่นั่งเฉยๆ ทุกคนยังเกรงใจเป็นอย่างมาก

4.บุคคลที่เป็นพยานแวดล้อม ให้ความสำคัญกับเด็กในชุมชนของเขา  เพราะเด็กของสมบัติของชุมชน  กรณีนี้เป็นตัวอย่างที่ดีทั้งยายของเด็ก ผู้ใหญ่บ้าน ประธานสภาเทศบาลตำบลหลักเขต  และประชาชนที่ยืนยันว่าเป็นลูกหลาน

5.ต้องขอบคุณ ปลัดอาวุโส พร้อมทีมงาน ทั้งหมดที่ให้อำนวยความสะดวก แล้วบอกว่าเป็นการเรียนรู้ด้วยกัน

          ประการสุดท้ายสำหรับครู ขอบคุณทุกคนที่ให้โอกาสเด็กเร่ร่อนได้มีที่ยืน ในครอบครัว ในชุมชน  และเป็นคนไทยโดยสมบูรณ์  ขอบคุณจริงๆ