\"ครูข้างถนน\" ยิ่งกว่าร้านเซเว่นฯ พันธกิจนี้....ไม่มีคำว่า\"ปิดเทอม
"ออกเดินตามท้องถนน ไปให้ทั่วทุกซอกทุกมุม โดยไม่มีมิติเวลา" เป็นภารกิจหลักของผู้ที่ถูกเรียกว่า "ครูข้างถนน"
นางสาวทองพูล บัวศรี หรือครูจิ๋ว มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก ครูข้างถนนผู้เป็นฮีโร่ของเด็กเร่ร่อน เท้าความถึงอดีตหนหลังกว่า 25 ปีที่ทุ่มเท คลุกคลี ผลักดัน แม้แต่เบิกทางให้เด็กข้างถนนหรือเด็กเร่ร่อนเหล่านี้ได้ประสบกับคำว่า "โอกาส" "สวัสดิการ" "การศึกษา" ตลอดจนทางเลือกในการดำเนินชีวิต ประกอบอาชีพเพื่อเลี้ยงตนเองได้ในอนาคต
เมื่อถามถึงนิยามของ "ครูข้างถนน" ครูจิ๋วบอกว่า "ครูข้างถนน คือผู้เบิกโอกาสให้คนบนถนนทุกคนได้รับสวัสดิการ โดยกระบวนของเราจะค้นหา สร้างความไว้วางใจ เสนอทางเลือก ตลอดจนให้การศึกษาและสงเคราะห์เป็นรายกรณี แม้กระทั่งต้องทำหน้าที่สัปเหร่อเผาศพ ให้พวกเขาจากไปอย่างมีศักดิ์ศรีและคุณค่า"
หน้าที่ของครูข้างถนนก็คือการเดินไปบนถนน ทุกตรอกซอกซอย ทั้งกลางวันและกลางคืน ไม่มีวันหยุด ไม่มีปิดเทอม ต้องเตรียมพร้อมทุกขณะ เมื่อไหร่ที่เด็กๆ ต้องการความช่วยเหลือ ต้องพร้อมที่จะลงไปช่วยทันที ขอแค่พวกเขานึกถึงเราก็พอ เด็กเหล่านี้เป็นกลุ่มคนที่ถูกละเลยในสังคม หน้าที่ของครูข้างถนนทุกคนต้องการทำให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษา ให้พวกเขาได้รับสาธารณสุข อนามัย วัคซีน ได้รับการรักษาที่พึงจะได้ตามสวัสดิการของรัฐ ตลอดจนหาหลักฐาน เอกสารของเขาตามสิทธิพลเมืองพึงมี
หากโอกาสที่ได้พบเจอเด็กข้างถนนที่เพิ่งออกมาใช้ชีวิตเร่ร่อนได้ไม่นาน ยิ่งเป็นการช่วยดึงเด็กเหล่านี้ให้กลับมาดีได้เร็วตามไปด้วยเท่านั้น
ปัญหาใหญ่ที่ก่อให้เกิดคนเร่ร่อน เด็กข้างถนน ก็คือ โครงสร้างทางเศรษฐกิจที่มีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ช่องว่างระหว่างชนชั้นคนรวยและคนจนที่มีระยะห่าง ซึ่งปัญหาครอบครัวก็เป็นสาเหตุหลักที่ผลัดดันให้เกิด แม้แต่โรงเรียนเองก็เป็นส่วนหนึ่งที่สร้างปม เนื่องจากเด็กเหล่านี้ขาดเอกสาร หลักฐาน เพื่อยืนยันตัวเอง โรงเรียนจึงกลับเป็นฝ่ายผลักไสพวกเขาออกไปเผชิญกับโลกข้างถนน
ในปัจจุบัน งานของครูข้างถนนไม่ได้มีหน้าที่ช่วยเหลือเฉพาะเด็กอีกต่อไปแล้ว นั่นก็เพราะกลุ่มคนข้างถนนขยายจำนวนแต่ละช่วงวัยขึ้น โดยครูจิ๋วจัดแบ่งประเภทออกได้เป็น 8 กลุ่ม ครูจิ๋วเล่าว่า จากเดิมเด็กเร่ร่อนเหล่านี้มีเพียง เด็กเร่ร่อนชั่วคราว และ เด็กเร่ร่อนถาวร แต่ขณะนี้มีเพิ่มเติมคือ กลุ่มเด็กเร่ร่อนวัยรุ่น ซึ่งเป็นกลุ่มที่น่าเป็นห่วงและกำลังเป็นปัญหาในการรับมือ ทำงานได้ยากมาก เนื่องจากเด็กเหล่านี้มีแนวโน้มในการก่ออาชญากรรม จากวัยที่เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ซึ่งยังไม่มีหน่วยงานใดที่ทำงานกับเด็กอย่างจริงจังคอยช่วยเหลือ
นอกจาก 3 ประเภทข้างต้นแล้วยังมีกลุ่ม ครอบครัวเร่ร่อน เกิดจากเด็กเร่ร่อนแต่งงานกันเอง เกิดเป็นครอบครัวเร่ร่อน ที่สามี ภรรยา มีอายุระหว่าง 16-18 ปี และอพยพย้ายถิ่นไปเรื่อยๆ ถัดมากลุ่มที่ 5 เป็นกลุ่ม เด็กนักเรียนที่หารายได้พิเศษ เห็นได้จากการตั้งกล่องบริจาค หรือแสดงดนตรี กิจกรรมต่างๆ เปิดหมวก หารายได้ กลุ่มที่ 6 เด็กชนกลุ่มน้อย เป็นเด็กต่างชาติที่มาอยู่ในเมืองไทย เด็กเหล่านี้จะหารายได้จากการขายของตามแหล่งท่องเที่ยว เช่น องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) ซอยนานา ฯลฯ และเป็นลักษณะการรวมกลุ่มหลากอายุ
กลุ่มที่ 7 กลุ่มผู้สูงอายุเร่ร่อน คนกลุ่มนี้มีจำนวนมาก แบ่งเป็นกลุ่มคนที่มาจากต่างจังหวัด นำเครื่องจักสานมาเร่ขาย กลุ่มผู้สูงอายุที่มาขอทาน เป็นคนมาจากชุมชนจนถึงผู้ป่วย และกลุ่มผู้สูงอายุที่ยังมีภาระต้องหาเงินไปเลี้ยงดูลูกหลาน กลุ่มสุดท้ายคือ กลุ่มคนพิการ แบ่งออกเป็น กลุ่มคนตาบอดที่ทำบัตรวณิพกตาม พ.ร.บ.2484 ที่อนุญาตให้จดทะเบียนเป็นวณิพก ขอทานได้โดยไม่ผิดกฎหมาย กลุ่มคนพิการจากอุบัติเหตุ ได้รับเบี้ยเลี้ยงคนพิการ แต่ไม่เพียงพอ จึงต้องออกมาหารายได้ตามท้องถนน และกลุ่มแม่ลูกเขมรต่างด้าวขอทานในไทย เข้าในประเทศเพื่อมาหาชีวิตที่ดีกว่า หารายได้เพื่อเลี้ยงดูลูก
สิ่งที่ประทังชีวิตของเด็กข้างถนนให้มีชีวิตอยู่รอดไปวันๆ นั้น ก็คือ การขอทาน การเก็บขยะ ของเก่า กระดาษ ขวดน้ำไปขาย รับจ้างทำงานเล็กๆ น้อยๆ อาทิ เข็นผัก ขนของ ตลอดจนขายบริการทางเพศ ร่วมประเวณี สู่วงจรถ่ายวิดีโอ คลิป หนังโป๊ พบในกลุ่มเด็กผู้ชายมาก เนื่องจากเด็กผู้หญิงเมื่อโตจะเข้าสู่วงจรของบรรดาแม่เล้าที่หวังกอบโกยประโยชน์เข้าสู่ตัวเอง หรือแม้แต่เข้าไปเกี่ยวข้องกับอบายมุข ส่งยาเสพติด เพื่อเลี้ยงตัวเอง โดยเด็กที่เข้าสู่วังวนแห่งความเสี่ยง วงจรชีวิตเด็กเหล่านี้ก็ยิ่งมีอายุสั้นตามไปด้วย และการจะเข้าไปช่วยเหลือยิ่งยากไปตามลำดับ เพราะพวกเขามักคิดว่าสามารถช่วยเหลือตัวเองด้วยอาชีพเหล่านี้ได้
แปลกแต่จริง งานหนัก คนรู้จักไม่มี เพราะงานของครูข้างถนนไม่เห็นเป็นรูปธรรม เราต้องการชักนำพวกเขาเข้าสู่สถานที่ที่เรียกว่าบ้านที่ตรงตามจริต ซึ่งหมายถึง บ้านที่เหมาะสม สอดคล้องกับสภาวะของเด็ก ที่จะช่วยเด็กได้รู้จักกับการศึกษา การฝึกทักษะอาชีพตามความต้องการในแต่ละคน
ครูข้างถนนทำงานแบ่งเป็นเครือข่ายช่วยกันออกไปสำรวจตามแต่ละเขตท้องที่ ย่านที่ครูจิ๋วออกไปสัญจรคือ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ พันธุ์ทิพย์ ประตูน้ำ สยาม เซ็นทรัลเวิลด์ มาบุญครอง ซอยนานา ด้วยตัวคนเดียวไม่มีขอบเขตของเวลาเป็นตัวกำหนด สิ่งที่พบมากที่สุดในย่านดังกล่าวจะเป็นกลุ่มแม่และเด็กเขมร 90% มีเพียงแม่เด็กไทยแค่ 10% โดยใช้วิธีนั่งขอทาน
เมื่อเจอกับกลุ่มคนเร่ร่อนเหล่านี้ สิ่งแรกที่ครูจิ๋วทำคือ เด็กจะต้องอิ่ม ได้นม ได้ขนม นำของกินไปมอบให้ หรือหากเจ็บป่วย ไม่สบาย ก็จะพาไปยังโรงพยาบาล โดยแต่ละกรณีต้องใช้เวลานานหลายเดือนกว่าพวกเขาจะไว้ใจและยอมพูดคุย เปิดเผยเรื่องส่วนตัว ช่วงนี้จึงเป็นระยะแห่งการซื้อใจกัน เริ่มต้นที่ความห่วงใย ก็จะได้รับความไว้ใจกลับมา ช่วงนาทีทองสำหรับครูข้างถนนก็คือ เวลาเจ็บป่วยของคนเหล่านี้ที่จะร้องขอความช่วยเหลือ จึงเป็นโอกาสทองที่ครูจะเข้าถึงได้ดีที่สุด
อะไรคือความแตกต่างระหว่างครูข้างถนนกับครู อาจารย์ในระบบ??
สิ่งแรกที่เห็นได้ก็คือ ครูข้างถนนไม่มีโรงเรียน ไม่มีห้องเรียนที่ใช้สอนเด็ก แต่เราใช้วิธี สอนใจต่อใจ อย่างที่ 2 การสอนของเราไม่มีหลักสูตรตายตัว แต่เป็นการสร้าง หลักสูตรชีวิตใหม่ และสุดท้ายในเรื่องการประเมินผลเราไม่มีการวัดผลเชิงปริมาณ เราดูว่า เด็กมีโอกาสที่ดีขึ้นหรือยัง สรุปว่า "ครูข้างถนนใช้ใจ สื่อใจ ซื้อใจ ไว้ใจ นั่นเอง" ครูจิ๋วกล่าว
ต่อคำถามที่ว่า ยิ่งในช่วงหน้าร้อน อากาศร้อนแบบนี้ เด็กข้างถนน เขาทำอย่างไร?? ในหน้าร้อนอย่างนี้พวกเขาจะต้องหาสถานที่ใกล้กับน้ำ และหลีกเลี่ยงการออกมาตอนกลางวัน เปลี่ยนรูปแบบ ปรับเปลี่ยนเวลา มาใช้ชีวิตในช่วงกลางคืนแทน ให้ผ่านพ้นไปได้แต่ละวัน
หากถามว่าอากาศร้อนจัดขนาดนี้ ครูข้างถนนคงลำบากกันอย่างมาก หรือช่วงอากาศแบบใดลำบากกว่ากัน??
ครูข้างถนนที่ผู้ใหญ่บางคนกล่าวว่าแทบไม่แตกต่างอะไรกับพวกเด็กเร่ร่อนเหล่านี้ กลับตอบว่า ไม่ว่าจะเป็นช่วงฤดูไหนก็ไม่ลำบากสำหรับเราเลย เด็กๆ และคนบนถนนเหล่านี้ลำบากกว่าเรามากนัก เราในฐานะครู มีหน้าที่ต้องดูแล ช่วยเหลือ เป็นให้ได้ทั้งไปรษณีย์ พาหนะ หรือแม้แต่ตัวเชื่อม ที่จะนำสิ่งของ อาหาร เครื่องดื่ม โอกาสที่จะมีชีวิตที่ดีขึ้นได้ไปให้กับเขา
"ต้องขอบคุณพวกเขาที่ให้โอกาสเราได้ทำความดี คำดูถูกต่างๆ เราได้ยินจนชินชาแล้ว สิ่งที่เราทำ เราต้องการช่วยเหลือเด็กมากกว่า เราอยู่กันด้วยใจเท่านั้น น้ำหล่อเลี้ยงในชีวิตครูข้างถนนอย่างเราก็คือ การที่เด็กเหล่านี้เปิดใจยอมรับเรา และต่อไปเขาสามารถที่จะช่วยเหลือตัวเองได้ ประสบกับความสำเร็จ มีชีวิตที่ดีขึ้น ก็สุขใจอย่างมากแล้ว" ครูจิ๋วกล่าว
ในประเทศไทย มีจำนวนครูข้างถนนทั้งสิ้น 138 คน จาก 37 จังหวัด สังกัด 16-17 หน่วยงาน อาทิ กทม., เทศบาล, การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ซึ่งอัตราเงินเดือนของครูข้างถนนขึ้นอยู่กับหน่วยงาน ตลอดจนประสบการณ์อายุในการทำงาน เริ่มต้นตั้งแต่ 8,000-10,040 บาท แม้ผู้ที่ทำงานมากว่า 25 ปี ยังได้รับอัตราเงินเดือนมากกว่า 15,000 บาทเพียงเล็กน้อย
พวกเขาเหล่านี้ต่างปฏิบัติหน้าที่ทำด้วยใจอย่างแท้จริง ใช้ใจซื้อใจ เพื่อให้เด็กเหล่านี้มีที่ยืนในสังคม "เราจะไม่หยุดสอนจนกว่าพวกเขาจะมีโอกาสได้เรียนรู้และมีชีวิตที่ดีขึ้น"
ในขณะที่พวกเขาทำงานอย่างหนัก แต่งบประมาณในการทำงานกับเด็กนับวันยิ่งน้อยลงไป หลายหน่วยงานที่เคยให้ความช่วยเหลือบางแห่งต้องปิดตัวลง หลายปัญหาที่ต้องเผชิญ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม สาธารณสุข ด้านการศึกษาที่มีมาก หากมีพื้นที่ที่ช่วยสนับสนุนเพิ่มเติม ก็จะช่วยเด็กให้มีโอกาสมากขึ้น
อากาศร้อน แต่เรื่องราวที่ได้รับคำบอกกล่าวกลับร้อนยิ่งกว่า คำถามเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน ขณะที่เด็กเร่ร่อนและครูที่กำลังกลายเป็นคนร่อนเร่จะถูกลอยแพต่อ โดยไม่มีใครเหลียวแลหรือ