แม่จำเป็นของ.....เด็กเร่ร่อนไทย/ต่างด้าว
ผู้จัดการโครงการครูข้างถนน มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก
เมื่อเดือนสิงหาคม 2561 ได้รับการติดต่อจากครูจ๋า (ภรรยาของ คุณนที สรวารินทร์ มูลนิธิอิสรชน) ว่ามีน้องคนหนึ่งที่เก่งงานศิลปะ ต้องการวาดภาพเกี่ยวกับ "แม่" ในบทบาทต่างๆ จำนวนทั้ง 13 คน ซึ่งน้องได้วาดแล้วบางส่วน สำหรับครู อยากให้เขียนและกล่าวถึงในบทบาทของ "แม่จำเป็นของ..เด็กเร่ร่อนไทย/ต่างด้าว เคยเขียนเรื่องเหล่านี้แล้วแต่เป็นเพียงครอบครัวเดียวเท่านั้น จึงรวบรวมในการดำเนินและการใช้บทบาทของแม่ ที่ไม่ได้มีลูกของตัวเอง ในการทำงาน จะมีการโชว์ผลงานทั้งหมดในเดือนพฤศจิกายน 2561 สถานที่ทางทีมงานจะบอกอีกครั้ง รายได้ ช่วยงานทำงานของมูลนิธิอิสรชน ที่ช่วยเหลือคนด้อยโอกาสทางสังคมที่อยู่บนถนน
กลุ่มเด็กเร่ร่อนที่อยู่บนถนนจำนวนมาก จะประกอบไปด้วยกลุ่มเด็กเร่ร่อนไทยที่เริ่มเป็นวัยรุ่น ด้วยการออกมาจากบ้านของตนเองหรือเด็กบางกลุ่มก็ออกมาจากสถานที่เด็กเคยอาศัยอยู่ทั้งบ้านรัฐและเอกชน ด้วยในขณะที่มีการเปลี่ยนแปลงทั้งร่างกายและจิตใจ อยากออกจากบ้านอยากใช้ชีวิตจริงของเด็กๆเองก็เป็นความโหยหาอย่างแน่วแน่ในใจเด็ก สิ่งที่กับเด็กเร่ร่อนเด็กไทย
(1)เมื่อได้ข้อมูลจากพื้นที่ เมื่อลงไปพบเด็ก ก็ทำหน้าที่ติดตามด้วยความห่วงใย เฝ้าค้นหา เฝ้าดูว่า เด็กเร่ร่อนกลุ่มนี้เขาอยู่กันอย่างไร อยู่กับใคร ทำสำคัญเกี่ยวข้องกับยาเสพติดหรือไม่ ทำอะไรที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรม มีคู่ครองมาอยู่ด้วยมีการป้องกันตัวเองแค่ไหน โดยเฉพาะกลุ่มที่อยู่ใต้ทางด่วนสุขุมวิท อยู่ด้วยกันกว่า 9 คน มีการแบ่งปันอาหารแห้ง มาม่า สิ่งของเครื่องใช้ ให้ได้ในระดับหนึ่งที่พอพึ่งตัวเองได้บ้าง
(2)กรณีเมื่อเจ็บป่วย เช่นเด็กชายชาตรี (เล็ก) ที่ชุมชนกีบหมู เล่นกับหมาที่มานอนเคียงคู่กันตลอดที่หน้าร้านสะดวกซื้อ หมากัดที่ฝามือด้านซ้ายมือ เมื่อกัดครั้งแรกวันพุธ เด็กเร่ร่อนพร้อมเพื่อนกว่า 5 คน พากันไปทำแผลที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง คุณหมอแค่ทำแผลให้เท่านั้น แผลเกิดอักเสบเป็นหนอง และได้ลงไปพบตอนวันเสาร์เช้ามืดเพื่อมีรายการไปถ่ายทำ แต่ต้องพาไปโรงพยาบาลสินแพทย์ ซึ่งต้องกรีดแผลรีดเอาหนองออก แล้วเย็บแผล รักษาแผล ค่าใช้จ่ายกว่า เจ็ดพันบาทเพื่อรักษาชีวิตของเด็กน้อยหนึ่งชีวิต เพราะติดเชื้อในกระแสเลือดไปเรียบร้อยแล้ว จึงต้องยื้อชีวิตของเด็กเอาไว้ โทรหาแม่ตัวจริง แต่เด็กชายเลือกมาอยู่กับครูที่เป็นพียงแม่จำเป็นชั่วคราวเท่านั้น จนกว่าจะรักษาตัวกว่าสามเดือน รักษาร่างกายแต่ด้านจิตใจข้างในของเด็กบาดแผลลึกมาก เด็กคิดตลอดเวลาว่าเป็นส่วนเกินของแม่ แม่รักเจ้าชาตรีอย่างมาก จึงกลายเป็นตัวเชื่อมระหว่างแม่กับลูก
(3)ต้องไปเป็นแม่จำเป็น เรื่องเด็กเร่ร่อนใช้ชีวิตบนถนน เมื่อต้องเข้าสู่กระบวนทีมสหวิชาชีพ ที่สถานีตำรวจ ทั้งที่สถานีตำรวจโชคชัย สถานีตำรวจบางชัน สถานีตำรวจทองหล่อ สถานีตำรวจปทุมวัน เป็นต้น เมื่อประสานงานกับกับทีมบ้านพักเด็กและครอบครัวกรุงเทพ ต้องขอลงบันทึกประจำวันเองว่า ครูลงพื้นที่ไปพบเด็กเพื่อป้องกันว่าเด็กเหล่านี้ไม่มีความผิดทางกฎหมาย แต่เด็กมีสิทธิที่อาศัยบนถนน แต่ต้องไม่ไปเกี่ยวข้องกับอาชญากรรม
(4)หาสถานที่ให้เด็กอยู่ โดยเฉพาะเด็กเร่ร่อนวัยรุ่น มีเด็กอยู่หกคน ที่ชุมชนกีบหมูเหมือนกัน เมื่อครอบครัวของเด็กไม่สามารถที่จะดูแลเด็กได้ในกรณีที่เด็กอยู่ในร้านเกม มีการพูดคุยกับแม่ของเด็กเหล่านี้ บอกเป็นเสียงเดียวกันว่ายกลูกให้ครูจัดการไปเลย เพราะฉันแค่ทำมาหากินก็หมดเวลาแล้ว ไม่มีเวลาไปตามพฤติกรรมของลูกๆเหล่านี้ พวกมันสร้างปัญหาให้ครอบครัวเดี๋ยวตำรวจโทรหา เดี๋ยวครูที่โรงเรียนโทรหา เจ้าหน้าที่คณะกรรมการชุมชนโทรหา ไม่ไหวแล้วครู ครูจะฉันจัดการอย่างไรตามสบาย เริ่มต้นที่ครอบครัวน้องพละพลก่อน มีการประสานงานกับสถานแรกรับบ้านภูมิเวทที่จะส่งเด็กเข้ารับการคุ้มครอง ในขณะนี้ เด็กชายพละพล เรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ที่วัดกลางเกร็ด เป็นผู้ช่วยแม่ครัวที่สถานแรกรับ เด็กมีความสุขมากขึ้น ได้เรียน ได้ฝึกอาชีพ ได้เสริมทักษะชีวิตด้านต่างๆ ที่สำคัญตัดต่อการส่งยา สัญญาว่าจะไปเยี่ยมทุกสองอาทิตย์ เดือนละ 2 ครั้ง ทำหน้าที่แทนแม่ที่ไม่เคยไปเยี่ยมลูกเลยกว่า สามปีแล้ว แต่เด็กได้พบครูแทนก็บอกว่าครูไม่ทิ้งผม เวลาเยี่ยมเด็กก็พบพร้อมๆกันที่ได้ส่งเด็กคนอื่นด้วย เด็กๆจะพูดเป็นเสียงเดียวกันผมขอโอกาสนะครู
(5)ค้นหา ติดตามเอกสารของเด็กเร่ร่อนไทยที่ออกจากสถานสงเคราะห์หรือหน่วยงานของเอกชน ซึ่งเป็นเด็กวัยรุ่นกว่า 9 คน ที่ไม่มีเอกสารแสดงตัวตนของเด็ก มีการติดตามหาแม่ตัวจริง บางคนแม่ได้เสียชีวิตไปแล้ว บางคนแม่อยู่ในสถานสงเคราะห์ของรัฐแต่จำไม่ได้ จึงต้องทำหน้าที่แทนแม่ทั้งเซ็นเอกสารรับรอง การตามเอกสารด้วยกันเป็นการเรียนรู้ด้วยกัน ในขณะนี้ทำได้บ้าง ยังค้างอยู่อีก 4 คน เด็กบางคนบอกว่าทำหน้าที่ยิ่งกว่าของแม่ของตัวเองอีก พาเด็กไปทำบัตรประชาชนเพื่อให้เป็นไทยอย่างสมบูรณ์ มีสองครอบครัวที่แม่ของเด็กเป็นครอบครับวัยรุ่นทั้งทำเอกสาร ออกค่าใช้จ่ายในการคลอดหลานที่โรงพยาบาลได้กลายเป็นยายอย่างสมบูรณ์แบบ
(6)หาสถานที่เรียน/สถานที่ฝึกงาน/สถานที่ทำงาน มีเด็กบางที่ครูต้องส่งให้มีโอกาสเข้าเรียนตามสิทธิของเด็กมีอยู่ หาอุปกรณ์การเรียน เสื้อผ้า รองเท้าให้เด็กได้มีโอกาส โดยเฉพาะเด็กที่ชุมชนโค้งรถไฟยมราชจำนวนกว่า 42 คน จำนวน 27 ครอบครัว ถึงช่วงวันศุกร์-วันอาทิตย์ เด็กจะออกไปขอทานที่ซอยนานาก็ตาม มีเด็กเร่ร่อนวัยรุ่นบางคนก็ส่งเข้าฝึกอาชีพ หรือการสร้างอาสาสมัครเข้าไปทำงานด้วย เพื่อให้เด็กได้มีคนที่เข้าใจและพูดคุยเมื่อมีปัญหาต่างๆ
(7) เมื่อเด็กคนใดที่ต้องเสียชีวิตลง หน้าที่ของครูได้กลับมาทำหน้าที่ของแม่อีกครั้ง เด็กบางคนถึงกราบลาแม่ตั้งแต่ไปส่งตัวไว้สถานที่รักษา/ดูแลคนป่วยระยะสุดท้าย เด็กของเราจะตายเพราะโรคแทรกซ้อนที่มาจากโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง เป็นคนส่งวิญญาณของเด็ก เด็ก เหล่านั้นไปสู่ภพภูมิที่ดี สิ่งที่เขาร้องครูตลอดเวลาว่า เกิดมาชาติชาติของกลับมาทดแทนบุญคุณที่ยังไม่ได้ตอบแทน
กรณีที่เป็นกลุ่มแม่และเด็กเร่ร่อนต่างด้าว ความเป็นจำเป็นมีหลายบทบาทด้วยกัน
(1)กลุ่มแม่และเด็กเร่ร่อนต่างด้าว ได้ทำหน้าที่ ติดตามเอกสาร คือใบเกิด ด้วยกลุ่มนี้เข้าเมืองผิดกฎหมาย หรือบางคนไม่มีเงินที่จะคลอดลูก หรือบางครอบครัว การมีเอกสารใบเกิดได้ยืนยันความเป็นแม่เป็นลูก แต่ไม่มีเอกสารใดๆ เวลาเมื่อถูกจับจะต้องมีการตรวจ DNA ต้องใช้เวลายาวนานมาก การที่จะดำเนินการได้แต่ละกรณีศึกษายากมาก
(2)เมื่อกลุ่มแม่และเด็กถูกจับ สิ่งที่คนกลุ่มนี้จะได้รับ คือ ข้อหา “ค้ามนุษย์” หรือ “แสวงหาประโยชน์จากเด็กอันนำเด็กมาเป็นข้อทาน” หรือ “การเลี้ยงดูไม่เหมาะสม” หรือ “การเข้ามาในประเทศไม่มีเอกสาร” บางคนโดนทุกกรณีที่กล่าวมาข้างต้น สิ่งที่เกิดขึ้น เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายจะดำเนินการคือ
-การแยกแม่เข้าเรือนจำ ส่งลูกเข้าสถานสงเคราะห์ ครูจะมีหน้าที่แทนแม่ทันทีคือตามหาลูกว่าส่งไปอยู่สถานสงเคราะห์ไหน เพื่อนำข้อมูลเหล่านี้ไปบอกกล่าวกับคนในครอบครัว หรือแม่ที่อยู่ในเรือนจำ
-การติดตามคดีของแม่ บางกรณีที่อัยการสั่งไม่ฟ้อง โดยส่วนมากอัยการสั่งไม่ฟ้อง ต้องไปขอคัดคำพิพากษา มาเพื่อให้คำแนะนำกับแม่และเด็กคนอื่นๆต่อ และติดตามว่ามีคดีอื่นอีกหรือเปล่า บางกรณีศึกษาใช้เวลากว่า 22 เดือนก็มีว่าคดีจะสิ้นสุด คำพิพากษาของศาลไม่เหมือนกัน บางกรณีตั้งข้อหา “ค้ามนุษย์” แต่มาลงโทษ เรื่องคดี “หลบหนีเข้าเมือง” จึงใช้กรณีศึกษา ศึกษาขั้นตอนที่หาแนวทางช่วยเหลือที่ละกรณี
-การประสานงานรับเด็ก ส่งให้แม่ เพื่อการส่งกลับประเทศ กรณีนางเทศ ขุด กับนางอูจะหลับ ถูกตำรวจถูกคนเข้าเมืองจับ แม่ทั้งสองคนป่วยเป็นวัณโรค โดยอยู่ในห้องกักนานกว่าเดือน ได้แค่ยาแก้ปวดกิน ซึ่งยาวัณโรคหมด ทำให้ร่างกายทั้งสองคนผอมมาก บวกกับทางสามีต้องการให้ครูเข้าไปเยี่ยม การไปเยี่ยมเป็นการตระโกนคุยกัน ที่กั้นห่างกันประมาณ 3 เมตร ครูต้องตัดสินใจโทรประสานงานเจ้าของคดี เพื่อติดตามเรื่องลูกว่า เจ้าหน้าที่ได้ส่งลูกไปอยู่ที่สถานสงเคราะห์ไหน อีกวิธีการหนึ่งโทรหานักสังคมสงเคราะห์ทุกสถาน จนรู้ว่าอยู่สถานสงเคราะห์เด็กอ่อนปากเกร็ด ทางเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการตรวจวัณโรคและร่างกายของเด็ก ในขณะนั้นเด็กยังไม่ติดจากแม่ จนสุดท้ายครูเองก็เป็นแม่จำเป็นที่ต้องไปรับเด็กมาจากสถานสงเคราะห์ นำเด็กส่งให้แม่ แม่ทั้งสองคนก้มกราบ กล่าวขอบคุณแล้วขอบคุณอีก ให้การคืนลูกสู่อ้อมอกแม่อีกครั้ง ทั้งสองกรณีได้กลับประเทศพร้อมลูก
-เป็นแม่จำเป็นที่ต้องเซ็นชื่อรับเด็ก เมื่อแม่ตัวจริงออกจากเรือนจำ แล้วมาตามหาลูก เพื่อต้องการจะรับลูกกลับครอบครัว แม่เด็กเองจะหมดความน่าเชื่อถือ ส่วนมากจะเป็นหน้าที่ของครูที่ต้องมีหนังสือรับรองของทางโครงการครูข้างถนนที่ทำหน้าที่เซ็นรับรอง ตรงนี้แหละคือการต่อรองว่าครูเซนเป็นผู้ปกครองเด็กแล้ว แม่ตัวจริงห้ามนำเด็กออกมากับแม่บนถนนอีก ถ้าพาเด็กออกมาบนถนนเป็นครั้งที่สอง/สาม ครูจะให้หน่วยงานราชการกันตัวไว้ดูแลเลย ถ้าเจอคำขู่เหล่านี้ส่วนมากแม่กับเด็กจะไม่ออกมา เพราะครูจะไม่ชอบเซ็นเอกสารให้ แม่เด็กจะรู้ดีเพราะพวกเราพูดคุยเรื่องเหล่านี้บ่อยมาก
(3)กรณีที่เจ็บป่วยที่ต้องการรักษาพยาบาลระยะเวลายาวนาน กรณีน้องเจมส์ อายุ 8 เดือน ป่วยเป็น ท้องเสียอย่างรุนแรง และติดเชื้อ เด็กไม่มีเอกสาร ไม่มีหลักประกันการรักษาพยาบาลใดๆทั้งสิ้น ค่ารักษาพยาบาลต้องจ่ายเองทั้งหมด 56,332 บาท แต่ใช้เป็นกรณีตัวอย่างในการรักษาพยาบาลเด็กต่างด้าวขั้นพื้นฐาน ครูเองต้องมาเป็นแม่จำเป็นสลับกันเฝ้านอนที่นอนโรงพยาบาลนานกว่า 14 วัน ที่สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติ กับการดูแลลูกคนโตของนาง เพราะจะให้เอามาไว้ที่โรงพยาบาลก็กลัวการติดเชื้อ ไม่เหมาะกับการดูแลเด็กด้วย ยกเป็นกรณีตัวอย่างที่จะมาวางแผนช่วยเด็กเร่ร่อนต่างด้าวในอนาคตเรื่องวัคซีนสำหรับเด็ก
-มีเด็กกลุ่มที่อยู่บนถนน ครูจะเดินลงพื้นที่อย่างสม่ำเสมอสัปดาห์ละ 3 วัน ต่อเนื่อง ส่วนมากลงพื้นที่กลางคืน สิ่งที่เด็กต้องการคือยาแก้ปวดหัว ยาแก้แพ้ บางครั้งต้องทำตัวเป็นตู้ยาเคลื่อนที่ตามมุมถนนต่างๆ ลงมือทำแผลเอง หรือบางครั้งต้องส่งตัวไปโรงพยาบาลโดยด่วน กรณีของเด็กชายเซีย (เป็นเด็กชาวกัมพูชา เป็นโรคลมชักอยู่แล้ว) แม่ของเด็กพาเด็กมาที่บิ๊กซีราชประสงค์ เกิดเป็นลมชักขึ้นมา ทุกคนได้แต่ยืนมอง ครูจึงต้องอุ้มเด็กนั่งมอเตอร์ไซด์พาไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ จนเป็นผลพลอยได้ว่า แม่และเด็กเมื่อป่วยกะทันหัน สามารถนำตัวเข้ารักษาโรงพยาบาลตำรวจก่อนได้เลย เรื่องการรักษาไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องการถูกจับ ดำเนินคดี ทำให้แม่และเด็กกลุ่มนี้เริ่มมีทางออกเมื่อเวลาป่วย ไม่ต้องให้คนตายภายในห้องพัก แต่มีหน่วยงานรักษาก่อน
(4)เมื่อเด็กย่างเข้า 6-10 ปี ที่เป็นกลุ่มเด็กเร่ร่อนต่างด้าว เริ่มมาตั้งแต่ปี 2555 จนถึงปัจจุบันที่มีเด็กเร่ร่อนเหล่านี้เข้าเรียนหนังสือกว่า 92 คน มีทั้งเด็กพม่า เด็กกัมพูชา เด็กลาว เด็กโรฮิงยา เป็นต้น ได้เข้าเรียนในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร และเด็กสังกัดสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในจังหวัดสมุทรปราการ ,นนทบุรี,ปทุมธานี เป็นต้น ทำบทบาทเหมือนแม่ที่ต้องพาลูกๆไปฝากเรียน ซึ่งเด็กเหล่านี้มีแม่ตัวจริงมาด้วย เป็นบางคนเท่านั้น การให้ปากคำให้รายละเอียดทั้งหมด รวมถึงการเซ็นชื่อในเอกสารนำเด็กเข้าเรียนเป็นหน้าที่ของครู การจ่ายค่าใช้จ่ายในการเรียนทั้งหมด ชุดนักเรียน ด้วยเหตุผลสำคัญกลุ่มแม่และเด็กเหล่านี้ไม่มีเงินก้อนใหญ่ที่จะจ่ายให้กับทางโรงเรียน แต่สิ่งที่แม่กับเด็กทุกจ่าย คือค่าอาหารเด็ก ค่าพาหนะเด็กไปเรียน ไม่น้อยกว่าวันละ 40-80 บาทต่อคน แต่กรณีฉุกเฉิน ก็มีเงินไว้สำรอง สำหรับบางเรื่อง นี้คือการสร้างโอกาสให้เข้าถึงการศึกษา เพื่อยุติการออกมาขอทาน/การเร่ร่อน เผื่อให้เด็กเหล่านี้เป็นพลเมืองอาเซียนที่มีคุณภาพ
(5)เมื่อแม่เด็กป่วยเป็นวัณโรค กลุ่มแม่และเด็กต่างด้าว พวกเขาเฉยเมยกับสิ่งเหล่านี้มาก แต่มันเป็นโรคที่ร้ายแรง สำหรับสังคมไทย ใช้เวลากว่าห้าปี เพื่อให้แม่และลูกได้มีโอกาสตรวจทดสอบการติดวัณโรค สำหรับสี่ครอบครัว และได้รักษาตัวอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนการได้รับวัคซีนวัณโรค ต้องดำเนินการสี่สามครอบครัว กำลังมีการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
(6)กรณีที่แม่และลูกถูกจับ แล้วทิ้งให้เด็กอยู่ตามลำพัง อย่างกรณีของครอบครัวนางจันดา มีลูกทั้งหมด 6 คน เด็กสองคนจะติดตามแม่เข้าสถานคนไร้ที่พึ่ง มีเด็ก 4 คน ที่ต้องดูแลเพราะเด็กอีกสามคนเรียนหนังสือ ซึ่งครอบครัวนี้พ่อของเด็กอยู่ในเรือนจำ เป็นแม่จำเป็นมากกว่าสามปีแล้ว จ่ายทั้งค่าเช่าบ้าน ค่าใช้จ่ายเด็กไปโรงเรียน พร้อมทั้งค่าใช้จ่ายขณะที่อยู่ในบ้านช่วงเสาร์-อาทิตย์ ลงไปสร้างอาสาสมัครดูแลเด็กในชุมชน และเจ้าของบ้านเช่าช่วยดูแลอีกต่อหนึ่ง
(7)การติดตามหาเด็กเร่ร่อนต่างด้าวจำนวนกว่า 15 คน ที่ถูกจับแล้วไปรู้ว่าส่งไปอยู่สถานคนไร้ที่พึ่งนนทบุรี หรือสถานคุ้มครองและฟื้นฟูพัฒนาอาชีพบ้านเกร็ดตระการ หรือ บ้านพักเด็กและครอบครัวกรุงเทพมหานคร การติดตามทำแทนแม่ของเด็กทั้งหมดเพราะด้วยแม่ไม่มีเอกสาร จึงจำเป็นต้องบอกว่าเด็กเหล่านี้ทางโครงการครูข้างถนน ดำเนินกิจกรรมช่วยเหลือ เช่นที่เด็กเร่ร่อน 6 รายที่ตามหาแม่พบแล้ว แต่ทางทีมสหวิชาชีพเห็นว่าถ้าเด็กยังเร่ร่อน หรือคืนเด็กสู่ครอบครัวในขณะนี้เด็กเสี่ยงก่ออาชญากรรม การขายบริการ จึงขอส่งตัวเด็กไปฝึกอาชีพและเรียนหนังสือที่บ้านพักขององค์กรพัฒนาเอกชนที่ประเทศกัมพูชา ได้ทำงานระหว่างประเทศเพื่อการส่งกลับอย่างยั่งยืน
สิ่งที่กล่าวมาข้างต้นเป็นอีกรูปแบบหนึ่ง คนทำงานต้องค้นหาแนวทางแก้ไข ให้กรณีศึกษาที่มีแม่ตัวจริงที่ทำงานเคียงคู่กับแม่จำเป็นอย่างจริงจัง ทั้งเด็กเร่ร่อนไทย/เด็กเร่ร่อนต่างด้าว