banner
พุธ ที่ 10 เดือน มิถุนายน พ.ศ.2558 แก้ไข admin

โอกาสทางการศึกษา ของเด็กเร่ร่อนแม่สอด

 


 

 

          เด็กเร่ร่อนที่แม่สอดมีด้วยหรือ..!!.. เป็นคำถามของคนทำงานด้านเด็กเร่ร่อนทั้งประเทศซึ่งมีการประชุมกัน เรื่องการสื่อสาร  แต่คนเขียนบอกว่ามี  ได้ดูรายการของ ThaiPBS    มีรายการหนึ่งที่พูดถึงเด็กเร่ร่อนใช้ชีวิตที่ตลาดริมเมย...และที่สำคัญใช้เกาะระหว่างทั้งสองประเทศอยู่ตรงกลางเป็นที่พักอาศัยอยู่ ทั้งเกี่ยวข้องทั้งขายของผิดกฎหมาย ยาเสพติด  เป็นเสียงบอกเล่าของ หนุ่มสาวที่ทำสารคดีเรื่องนี้..

แต่ปัญหาของเด็กแม่และเด็กเร่ร่อนต่างด้าว ซึ่งออกมาเป็นข่าวสารที่โด่งดังกลับเป็นในทิศทางว่าเด็กเหล่าถูกล่อลวงมาให้มาบังคับขอทาน ขายดอกไม้ ขานแรงงาน เป็นกลุ่มค้ามนุษย์ที่ดังมาในช่วง 2-3 ปี มีการทะลายแก๊งค์....ซึ่งก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจของหน่วยงานองค์กรพํมนาเอกชนระหว่างประเทศลงมาทำกิจกรรมช่วยเหลือเด็กเหล่านี้เป็นจำนวนมาก 

          ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มแม่และเด็กเร่ร่อนจำนวนหนึ่งที่เข้ามาใช้ชีวิตในอำเภอแม่สอด  มีบางกลุ่มที่เข้ามาอยู่ในศูนย์อพยพที่ทางรัฐจัดให้ แต่คนเหล่านี้หลบหนีออกมาจากศูนย์อพยพเพื่อจะหารายได้เลี้ยงครอบครัว มีกลุ่มที่เป็นแรงงานข้ามมาหางานทำในอำเภอแม่สอด ซึ่งเป็นทั้งงานที่ถูกกฎหมายและแรงงานรับจ้างทั่วไป  หรือบางครอบครัวก็อพยพมาอาศัยที่กองขยะทำมาหากินโดยการแยกขยะ หรือบางครอบครัวก็เก็บขยะเหล่านั้นไปขาย  บางครอบครัวก็เข้ามาอยู่ในชุมชนที่อยู่กันมานาน โดยใช้ชีวิตการรับจ้างทั่วไป แต่มีบางครอบครัวได้พาลูกหลานมาขอเงินที่ซอยนานา ในกรุงเทพมหานคร มาขายดอกไม้ โดยกลุ่มแม่และเด็กเหล่านี้ตั้งใจมาทำงานมากกว่าจากการได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกัน   แต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในแม่สอด มีกลุ่มแม่และเด็กหลายประเด็นด้วยกัน ได้แก่

                   -กลุ่มแม่และเด็กเร่ร่อนต่างด้าว เด็กเร่ร่อนต่างด้าว เด็กเร่ร่อนไทย ที่ใช้ชีวิตขอเงิน การเก็บขยะขาย ในตลาดเทศบาล ที่มีให้เห็นจำนวนมาก แต่มีเด็กบางกลุ่มที่เข็นรถขนของ บางคนเข้ามาเป็นคนขายของในตลาดเทศบาล  แต่มีเด็กบางกลุ่มที่ลักสิ่งของในตลาด  จนเป็นที่รำคาญของแม่ค้าในตลาด แต่มีเด็กเร่ร่อนบางคนที่แยกออกจากครอบครัวมาอาศัยนอนตามร้านค้าในช่วงกลางคืน  โกดังเก่าและแผงขายของในช่วงกลางคืน

                   -กลุ่มแม่และเด็กเร่ร่อนต่างด้าว(ชาวพม่า และชนกลุ่มน้อย) ที่มาอาศัยเกาะกลางระหว่างแม่น้ำเมย  ซึ่งมาปลูกบ้านเป็นกระท่อม ซึ่งเป็นดินแดนยังไม่มีประเทศไทยไหนเป็นเจ้าของแต่เป็นที่อยู่อาศัยของครอบครัวเร่ร่อนต่างด้าว  ซึ่งกลุ่มนี้จะมีกลุ่มเด็กที่ไปอยู่บนสะพานขอเงินนักท่องเที่ยวทั้งฝั่งไทยและฝั่งพม่า  มีบางคนที่ขายสินค้าเถือน  และบางคนที่เข้าไปขอเงินนักท่องเที่ยวในตลาดริมเมย  ซึ่งส่วนมากเป็นร้านค้าของคนไทย  จึงทำให้แม่ค้าเหล่านั้นไม่ชอบกลุ่มแม่และเด็กเร่ร่อนเหล่านี้เลย  แต่มีบางครอบครัวเข้ามาเป็นคนขายของประจำร้านค้า  ขายผลไม้ดองให้กับนักท่องเที่ยว

                   -ชุมชนหลังมัสยิด  เป็นชาวมุสลิมที่อพยพมาจากพม่า อยู่ในชุมชนนี้มานานแล้ว และกำลังที่จะต้องย้ายไปอยู่ที่อื่น แต่กลุ่มนนี้ส่วนมากแม่และเด็กเร่ร่อนต่างด้าวจะพากันมาขอเงินที่ ซอยนานาในกรุงเทพ  ซึ่งมีครอบครัวหนึ่งมาทำงานในกรุงเทพตั้งแต่รุ่นแม่จนมารุ่นลูกกว่า 20 ปี  และเพิ่งจะโดดจับในกรณีการค้ามนุษย์เมื่อปี ๒๕๕๖  เพราะเด็กที่ไปขายดอกไม้เป็นหลาน  เมื่อตรวจ DNA ออกมาจึงว่าเป็นการค้ามนุษย์บังคับหลานให้ทำงาน  แต่สภาพความเป็นจริงคือคนกลุ่มนี้จะรวมตัวกันอยู่ที่ชุมชนมีนบุรี  ซึ่งมีญาติที่เคยอยู่ในชุมชนนี้ไปแต่งงานมีครอบครัว จึงอาศัยอยู่กลางคืนก็จะพาลูกหลานออกไปขายดอกไม้ ขายลูกอม หรือเด็กเล็กๆๆบางคนก็จะขอทาน ที่ซอยนานา  เพราะซอยนี้จะเป็นนักท่องเที่ยวชาวตะวันออกกลาง เป็นส่วนใหญ่  เด็กในชุมชนไม่คอยได้เรียนหนังสือ เพราะเมื่อเด็กโตขึ้นมาแต่ละครอบครัวก็จะพาลูกไปทำงานด้วย  ส่วนมากจะเก็บขยะขาย และมีครอบครัวที่ทำงานเป็นกรรมกรก่อสร้าง  มีกลุ่มเด็กผู้หญิงที่เข้ามาขอเงินในกรุงเทพมหานครแล้วขายบริการทางเพศ  ส่งให้เด็กเกิดการเรียนแบบไปกลับไปชุมชนเดิม  แล้วไปดำเนินชีวิตที่เสี่ยงต่อการติดโรคเอดส์  และยาเสพติด  เมื่อกลับมาในชุมชนอีกครั้งเด็กเหล่านี้ติดเอดส์มาด้วย

                   -ชุมชนคอกควาย เป็นชุมชนที่ชาวพม่าอพยพมาอยู่จำนวนมาก แต่มีปัญหาเรื่องยาเสพติด และ ความไม่ปลอดภัย  แต่ครอบครัวเหล่านี้อยู่ในชุมชนแห่งนี้มามากกว่า ๑๓ ปี เด็กบางคนที่ได้เข้าสู่ระบบศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โรงเรียนของรัฐ ศูนย์การเรียนรู้ของชาวพม่า   แต่มีเด็กบางครอบครัวที่ยังไม่เข้าสู่ระบบการศึกษา เพราะยังต้องช่วยครอบครัวทำงาน  และมีเด็กบางคนในชุมชนที่ออกกลางคันมาทำงานและออกไปเร่ร่อนในที่ต่างๆ เพื่อตนเองและครอบครัว

                   -ชุมชนกองขยะของเทศบาล  มีครอบครัวที่อยู่รอบกองขยะจำนวนกว่า ๕๐ ครอบครัว ซึ่งเป็นครอบครัวเร่ร่อนที่เป็นชาวพม่าทั้งหมด  มีเด็กบางครอบครัวเท่านั้นที่ได้มีโอกาสเข้าเรียนที่ศูนย์การเรียนรู้  แต่บางครอบครัวก็ให้เด็กออกเก็บขยะเพื่อหารายได้มาเลี่ยงคนในครอบครัว  สิ่งที่คนเหล่านี้พบคือ ความสกปรกที่มีผลต่อลมหายใจของเด็กเหล่านี้ ร่างกายที่เกิดเป็นแผลพุพอง  สภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมกับเด็ก พร้อมทั้งบ้านที่ปลูกรอบกองขยะจะได้รับกลิ่นขยะตลอดเวลา  ไม่มีน้ำดื่มที่สะอาดไว้ใช้และส่งผลต่อสุขภาพของเด็กและผู้สูงอายุ

                   -โกดังจักยานเก่า เป็นอีกสถานที่หนึ่งที่เด็กเร่ร่อนวัยรุ่นเข้าไปทำงานเป็นแรงงานราคาถูก และมีแรงงานต่างชาติที่เข้ามาทำงาน โดยการล้างจักรยาน การพ่นสีจักรยานใหม่ทั้งคัน  บางครอบครัวมีการอพยพมาไกลจึงมาปลูกบ้านอยู่รอบๆๆโกดัง  แต่มีเด็กบางคนที่ใช้ข้ามท่าเรือมาทำงานแบบเช้ามา-เย็นกลับไปนอนที่ฝั่งพม่า  เพราะท่าเรือสินค้าอยู่ในระหว่างสองฝั่งระระหว่างกลางของโกดัง  ซึ่งการเดินทางจึงสะดวกมาก  แต่ค่าแรงงานน้อยมาก แต่สภาพแวดล้อมที่เด็กทำงานไม่ปลอดภัย

                   สิ่งเหล่านี้ที่เกิดขึ้นกับแม่และเด็กเร่ร่อนต่างด้าวที่แม่สอด  และจะทวีปัญหาเพิ่มมากขึ้น เพราะประเทศกำลังประกาศให้เป็นเขตเมืองเศรษฐกิจของประเทศ  ในขณะนี้ถึงแม้จะมีหน่วยงานองค์กรพัฒนาเอกชนระหว่างประเทศ และองค์กรพัฒนาเอกชนไทย จำนวนมากที่ลงมาทำงานกับเด็กต่างด้าวเหล่านี้  ทั้งยังเปิดโอกาสให้เด็กได้เข้าถึงระบบการศึกษาในระบบโรงเรียน เด็กเหล่านี้จะได้อักษร “G” นำหน้าในโรงเรียนกว่า ๘,๗๓๔ คน และยังมีเด็กที่ได้รับการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย  และยังมีศูนย์การเรียนรู้อีกจำนวนกว่า  ๖๕  แห่ง มีเด็กที่ได้เข้าเรียน จำนวนกว่า ๑๓,๐๒๙ คน (เป็นกลุ่มที่จดทะเบียนกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เขต ๒)  แต่เด็กอีกจำนวนมากก็ยังไม่ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานในฐานะของคนที่เป็นพลเมืองในอาเซียนร่วมกัน

          สิ่งที่เป็นข้อกังวลสำหรับกลุ่มแม่และเด็กในพื้นที่มาสอด จังหวัดตาก

(๑) เด็กบางกลุ่มยังไม่มีโอกาสเข้าถึงระบบการศึกษาทั้งสองประเทศ  ทั้งประเทศพม่า และประเทศไทย มีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายในเรื่องการศึกษา ค่าอาหาร ค่าพาหนะในการเดินทาง  ตลอดจนการไม่ให้ความสำคัญของครอบครัวเด็ก  ถึงแม้ที่ประเทศพม่าจะมีการเทียบโอนหลักสูตร หรือศูนย์การเรียนรู้จะใช้หลักสูตรของพม่าก็ตาม   หรือกลุ่มเด็กที่ออกกลางคัน

(๒) การที่เด็กเร่ร่อนบางคนตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ เหยื่อการทำงานเป็นแรงงาน ซึ่งขาดระบบการติดตาม และการประเมินครอบครัวสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง  รวมไปถึงครอบครัวเด็กเหล่านี้ก็ต้องดิ้นร้นเพื่อเลี้ยงคนในครอบครัวทำให้ไม่สามารถรอการฟ้องร้อง หรือการเป็นคดี  ทำให้ไม่มีเหยื่อในกรณีที่ต้องขึ้นศาล  การติดตามเด็กเหล่านี้บ้านของครอบครัวบางครั้งก็เข้าไปไม่ถึง เพราะประเทศพม่าเองก็ไม่ยอมรับชนกลุ่มน้อยเป็นพลเมืองของประเทศตนเอง  และขาดความร่วมมือจาหหน่วยงานภาครัฐของประเทศต้นทาง

(๓) เด็กไม่มีสิทธิได้รับสวัสดิการต่างๆ ตั้งแต่การรักษาพยาบาลเมื่อป่วยขึ้นมา การมีเอกสารแสดงตัวตนของเด็กว่าเป็นเด็กที่เป็นทรัพยากรมนุษย์ของประเทศไหน สิทธิด้านต่างๆก็หมดไป  แต่ตัวตนของเด็กก็เดินให้เห็นทั้งสองประเทศ  มีเด็กบางคนที่จะเข้ารับสวัสดิการกับหน่วยงานต่างๆจำเป็นต้องมีเอกสารแสดง  แต่เด็กบางคนไม่มีทั้งเอกสารแสดงความเป็นมนุษย์ทั้งสองประเทศ

(๔) เด็กตกเป็นเหยื่อในการก่ออาชญากรรมหรือการต้องคดีแทน ซึ่งเด็กเหล่านี้กลายเป็นผู้ต้องรับโทษ ทำให้เด็กและเยาวชนไม่มีโอกาสได้รับอิสระ และได้อยู่กับครอบครัว  โดยเฉพาะงานที่ผิดกฎหมาย เช่นการขนสินค้าเถื่อน หรือยาเสพติด