banner
พฤหัสบดี ที่ 29 เดือน ธันวาคม พ.ศ.2559 แก้ไข admin

สถานการณ์ของเด็กเร่ร่อน กลุ่มแม่และเด็กเร่ร่อนต่างด้าว ปี 2559



นางสาวทองพูล  บัวศรี

ผู้จัดการโครงการครูข้างถนน  มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก

 

          ด้วยการทำงานของโครงการครูข้างถนน  มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก ซึ่งพบเด็กเร่ร่อนไทย กลุ่มแม่และเด็กเร่ร่อนไทย กลุ่มพ่อพาเด็กเร่ร่อนกลายเป็นครอบครัวเร่ร่อนไทย  ได้ทำงานรวมถึงกลุ่มแม่และเด็กเร่ร่อนต่างด้าว ที่พาลูกออกมาเร่ร่อนขอทานบนถนน  ในขณะนี้มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเด็กเร่ร่อนกลุ่มนี้หลายฉบับด้วยกัน  ซึ่งแนวปฏิบัติสำหรับเด็กเร่ร่อนกลุ่มนี้แล้วแต่หน่วยงานไหนจะใช้กฎหมาย ดูแลการคุ้มครองสวัสดิภาพ หรือการจับกุม

          ในฐานะครูข้างถนนที่ส่งทำงานบนถนน  คงใช้ความหมายที่ชัดเจน คำว่าเด็กเร่ร่อน  หมายถึง             

           กลุ่มที่ 1 เด็กอาศัยตามท้องถนน คือ “เด็กที่ตัดขาดสายสัมพันธ์กับครอบครัวของเขาและใช้ชีวิตอยู่โดยลำพังตามท้องถนน”  สำหรับเด็กกลุ่มนี้ พื้นที่ในกรุงเทพมหานคร ได้แก่ พื้นที่ หัวลำโพง พื้นที่สะพานพุทธ  พื้นที่สวนลุมพินี  พื้นที่รังสิต พื้นที่ จตุจักร เป็นต้น ส่วนมากเป็นกลุ่มเด็กเร่ร่อนวัยรุ่นไทย การใช้ชีวิตของเด็กเร่ร่อนวัยรุ่นกลุ่มนี้ กลางวันจะนอนตามศูนย์สร้างโอกาส ของสำนักพัฒนาสังคม กรุงเทพมหานคร  เดอะฮับของมูลนิธิสายเด็ก หรือบางกลุ่มจะเข้าไปใช้ร้านเกมเป็นสถานที่หลับนอน  ซึ่งร้านเกมในขณะนี้เปิดให้บริการทั้งวัน ทั้งคืน  ในส่วนกลางคืน เด็กจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับการขายบริการทางเพศ  หรือบางกลุ่มลักขโมย หรือบางคนเอาสิ่งของผู้อื่น   ซึ่งกลุ่มนี้จะเสี่ยงต่อการก่ออาชญากรรม


              กลุ่มที่ 2 เด็กทำงานตามท้องถนน คือ “เด็กที่ใช้เวลาส่วนใหญ่กับการทำงานบนท้องถนน  เพื่อหาเลี้ยงตนเองและครอบครัว และจะกลับไปพักอาศัยกับญาติหรือผู้ปกครอง” สำหรับคนทำงานครูข้างถนน ใช้เรียกกลุ่มนี้ว่ากลุ่มเร่ร่อนชั่วคราว ซึ่งเด็กกลุ่มนี้ออกมาทำงานบนถนน ได้แก่     

            -การเช็คกระจกรถ  ได้แก่พื้นที่ อโศก  แยก อสมท.  ทำงานกันตั้งแต่เวลา 21.00-02.00 น.  โดยเด็กกลุ่มนี้ทำงานเสร็จแล้วจะกลับไปนอนที่บ้านเช่า เช้าขึ้นมาก็จะไปโรงเรียน คือช่วยครอบครัวหารายได้ ปัญหาของเด็กกลุ่มนี้ ตื่นไม่ทันที่จะไปเรียนหนังสือ พาลออกจากโรงเรียนกลางคัน

            -ขายดอกจำปา/ดอกจำปี/ขายพวงมาลัย พื้นที่ออกมา ได้แก่ พื้นที่ชุมชนโค้งรถไฟยมราช ซึ่งจากการทำงานมาตลอดหนึ่งปี พบว่ามีครอบครัวที่ใช้เด็กขายดอกจำปา/ดอกจำปี/ขายพ่วงมาลัย/ดอกไม้/กล้วยแขกถุง   มีจำนวนทั้งหมด 11 ครอบครัว  มีเด็กที่ช่วยครอบครัวทำงาน ในขณะนี้มีจำนวน 27 คน บางคนจะขายในช่วงเวลา 17.00-24.00 น. ในช่วงปิดเทอมเด็กจะขายทั้งวัน  ซึ่งเด็กเหล่านี้จะมีเทคนิคการขาย คือการถอดรองเท้า เดินเท้าเปล่าเป็นการเรียกร้องความน่าสงสารกับคนขับรถ  และยังมีครอบครัวกว่า 17 ครอบครัวในชุมชนโค้งรถไฟยมราช ซึ่งมีทั้งผู้สูงอายุ คนพิการ แม่ และเด็ก ออกไปขอเงิน กับนักท่องเที่ยว บางครั้งก็จะนำสินค้าไปขายด้วย ที่ซอยนานาสุขุมวิท ในทุกคืน ตั้งแต่เวลา 19.00-02.00 น.  ทำให้เด็กกลุ่มนี้ไม่ได้เรียนอย่างต่อเนื่อง  และมีเด็กจำนวนกว่า 5 คนที่ขาดเรียนอย่างต่อเนื่องมาแล้ว 9 เดือน



          -กลุ่มเด็กที่ขายขนมหวาน ได้แก่เด็กที่ขายของขนมหวานจะอยู่ที่ชุมชนคลองตัน  กลุ่มนี้ขอทานมาก่อน เป็นเด็กไทย จะขายในช่วง 20.00-02.00 น. เด็กได้เรียนหนังสือแต่กลางคืนต้องช่วยครอบครัวในการหารายได้



          -กลุ่มแม่และเด็ก จำนวน 6 ครอบครัว สามครอบครัวแรกเป็นญาติกันทั้งหมดยายของเด็กจะขายลูกชิ้นมีหลานหนึ่งคน บางครั้งหลานสาวก็จะนอนยาวพร้อมหมาขอเงินเป็นครั้งคราว   ครอบครัวน้องโบว์ขาย ซึ่งมีลูกสามคนแต่มีหมามานอนในช่วงกลางคืนด้วย  ครอบครัวน้องเมย์มีลูกสามคน ขายสบู่และของเล่น จะขายอยู่ที่พื้นที่อโศก เวลาตั้งแต่ 21.00-02.00 น. สำหรับสามครอบครัวนี้จะมีการเผยแพร่และถูกร้องเรียนบน FB อย่างมากมาย พร้อมทั้งคอมเม้นท์จำนวนมาก ในเรื่องเด็กนอนกับหมาพร้อมทั้งมีเป็นคลิปวีดีโอ

ครอบครัวน้องไร่ มีลูก 2 คน ที่พื้นที่หน้าบิ๊กซีราชประสงค์ เวลา 14.00-18.00 น.   ครอบครัวนางทิพ พร้อมลูก 2 คนเป็นขายถัก พร้อมขายสินค้าที่ตนเองถักเลี้ยงครอบครัว  พื้นที่หน้าเซ็นทรัสเวริด์  

ครอบครัวนางปวีณา รัตนสากล  ที่ขายพระและของที่ระลึกเอาเด็กออกไปด้วย 2 คน  พื้นที่หน้าห้างพันธุ์ทิพพล่าซ่า   เคยถูกตำรวจ สน.พญาไท เคยจับค้ามนุษย์ มีการแยกแม่เข้าเรือนจำ จำนวน 84 วัน สำหรับลูกสาวเด็กหญิงอริลสา รัตนสากล ถูกส่งเข้าไปอยู่ที่สถานสงเคราะห์บ้านเด็กพญาไท  ทางอัยการสั่งไม่ฟ้องในกรณีค้ามนุษย์   ทางตำรวจสน. ได้ส่งฟ้อง พรบ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 ในมาตรา 26 (5,6) สั่งปรับ 200 บาท เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2559

จากเรื่องร้องเรียนมีครอบครัวที่เป็นพ่อพร้อมลูก 1 ครอบครัว คือ

ครอบครัวนายพ่วง เร่ร่อนขายของพร้อมลูกอีกสองคน  อยู่ที่บางโฉลง  ได้มีการประสานงานและเลือกการใช้กฎหมาย ระหว่าง พรบ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 ซึ่งต้องมีการแยกพ่อแยกลูกกันในการสงเคราะห์   ถ้าใช้ พรบ.คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง พ.ศ.2557 ใช้การสงเคราะห์ คุ้มครองสวัสดิภาพ  แต่เคสพาเด็กหนี ไม่ยอมรับการสงเคราะห์

อีกกลุ่มที่พบ คือกลุ่มเด็กเร่ร่อนในชุมชน ออกมาใช้ชีวิตนอนตามสถานที่ต่างๆในชุมชน ดำรงชำด้วยการขอเงิน หรือขออาหาร  แต่ในช่วงกลางวันเด็กจะอยู่ในร้านเกม และกลุ่มนี้เด็กออกจากโรงเรียนกลางคัน  แต่ยังมีชื่ออยู่ในโรงเรียน  ได้แก่

1.ชุมชนกีบหมู อยู่ที่คลองสามวา เขตมีนบุรี  คนที่แจ้งมาจำนวน 3 ราย แต่เมื่อลงพื้นที่ลงไปทำงานด้วย พบเด็กทั้งสิ้นจำนวน 11 คน ในขณะนี้มีจำนวน 2 คน อายุ 15 ปี ที่กระทำความผิดในการลักขโมย และการลักทรัพย์เข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด อยู่ที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กบ้านเมตตา เด็กจำนวน 6 คน ส่งเข้ารับการคุ้มครองสวัสดิภาพและการปรับตัวสถานแรกรับบ้านปากเกร็ด(บ้านภูมิเวท) เด็กทั้งหกคน มีครอบครัวอยู่ในชุมชนครอบครัวของเด็กทำงานรับจ้างก่อสร้างเป็นรายวัน เด็กเองมีชื่ออยู่ในโรงเรียน แต่เด็กไม่ยอมไปเรียนซึ่งมีทั้งต่างจังหวัดและโรงเรียนในชุมชน กลางคืนประมาณ 20.00 จนถึงประมาณ 05.00 น. เด็กจะมาขอเงินที่ร้านเหล้าและอาศัยนอนที่หน้าร้านสะดวกซื้อนอนปนกับหมา ในช่วงกลางวันก็จะไปหมกตัวอยู่ในร้านเกม และเริ่มเดินยาให้กับแก๊งค์ในชุมชน จึงจำเป็นต้องได้รับการคุ้มครอง   แต่ยังมีเด็กอยู่ในชุมชนอีก 3 คน ในขณะนี้ครอบครัวดูแลใกล้ชิด แต่ก็ยังใช้ชีวิตอยู่ในร้านเกม




2.ชุมชนลาดพร้าว-วังหิน  ได้รับแจ้งจำนวน 2 ครั้งเด็กในพื้นที่ทั้งหมด 4 คน  2 คนได้รับการคุ้มครองสวัสดิภาพและการปรับตัวสถานแรกรับบ้านปากเกร็ด(บ้านภูมิเวท) หนึ่งคนได้มีมีโอกาสไปเรียนต่อที่โรงเรียนวัดกลางเกร็ด โยมีการทำงานกับครอบครัวเด็ก   แต่อีกสองคนเด็กอยู่ในชุมชน ที่ต้องมีการคุยในเรื่องรายละเอียดเกี่ยวกับช่วยเหลือ เด็กยังอยู่ในร้านเกม

3.ชุมชนประชาอุทิศ  ได้รับการร้องเรียนจำนวน 2 ครั้ง มีเด็กทั้งหมด 6 คน เด็กชายห้าคน เด็กหญิง 1 คน  เป็นพื้นที่ทำงานที่ยากมาก  เพราะเด็กไปฝังตัวอยู่ในร้านเกม  และเส้นทางในการพบเด็กมีหลายเส้นทางด้วยกัน  ได้พบเด็กในขณะนี้จำนวน 1 เคส กำลังดำเนินการช่วยเหลืออยู่

4.เด็กมาจากชุมชนคลองเตย แต่มานอนที่แยกอโศกในร้านแมคโดนัท ที่ปากซอยสุขุมวิท 19 จำนวน 4 คน  ในขณะนี้นำส่งเข้าสถานแรกรับบ้านปากเกร็ด(บ้านภูมิเวท) จำนวน 1 ราย  ซึ่งเด็กคนนี้เคยอยู่มาก่อนแล้ว มีอามารับกลับไปอยู่กับพ่อแม่ แต่เด็กก็ยังชี้วิตในร้านแมคกว่า ห้าเดือน

5.เด็กที่อออกมาจากชุมชนแยก อสมท. จำนวน 4 คน แต่เด็กกลุ่มนี้ส่วนมากจะรับจ้างเข็นรถขายของในช่วงกลางคืน  ส่วนมากเป็นเด็กอายุ 13-15 ปี  และในช่วงกลางวันเด็กเหล่านี้อยู่ในร้านเกม ในขณะนี้ไม่ให้ความร่วมมือในทุกเรื่อง และทุกหน่วยงาน

(3) เด็กอยู่กับครอบครัวเร่ร่อนตามท้องถนน “เด็กที่อยู่กับครอบครัวที่เร่ร่อน อาศัยอยู่ตามท้องถนน เป็นสถานที่ทำงานและหารายได้” กลุ่มนี้จะเน้นไปกับกลุ่มแม่และเด็กเร่ร่อนต่างด้าวที่พาลูกออกมาขอทาน ในปี 2559 พบครอบครัวทั้งหมด 98 ครอบครัว เด็กที่ออกมาพร้อมแม่กับยาย กว่า จำนวน 203 คน โดยครูข้างถนนได้ลงทำงานในพื้นที่ อโศก ประตูน้ำ สยาม รังสิต ถนนข้าวสาร สำโรงเป็นต้น  สิ่งที่ได้ดำเนินการ

-นำเด็กที่เคยเป็นอดีตขอทานต่างด้าวจำนวน 40 คน  ได้แก่ โรงเรียนวัดมหาวงษ์  โรงเรียนคลองด่าน  โรงเรียนเตรียมอุดมพัฒนาการ(สมุทรปราการ) ครอบครัวจำนวน 28 ครอบครัว ในนี้มีอีก 5 ครอบครัว ที่ยังพาลูกออกไปขอทาน


-เด็กได้รับรับการจดทะเบียนการเกิด จำนวน 9 ราย แต่ที่ยังไม่ได้รับใบเกิดของลูกอีกจำนวน 101 ราย ด้วยเหตุที่แม่กับเด็กคลอดกันเอง แม่บางส่วนกลับประเทศต้นทาง บางครอบครัวโรงพยาบาลไม่ให้ใบเกิดเพราะค้างเรื่องค่าใช้จ่าย  มีเทศบาลไม่ให้ต้องมีมีการสอบสวน แต่หาคนไทยที่มารับรองไม่ได้ เด็กจึงไม่ได้รับใบแจ้งเกิด

-มีการคุ้มครองสวัสดิภาพแม่เด็กที่ถูกจับในข้อหา “ค้ามนุษย์” ในข้อหาหลบหนีเข้าเมือง ในข้อหา พรบ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546  และข้อหา พรบ.ขอทาน พ.ศ. 2559  ยังขาดแนวปฏิบัติไปในทิศทางเดียวกัน   ตัวอย่าง

(1) เคส นางเกีย นอม ถูกจับในข้อหา “ ค้ามนุษย์ และหลบหนีเข้าเมือง” เมื่องวันที่ 17 มกราคม 2558 โดยแยกแม่เข้าเรือนจำ 84 วัน และมาติดที่โรงพักอีก 45 วัน  คดีนี้อัยการสั่งไม่ฟ้อง เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2558  แยกลูกทั้งสามคน เด็กหญิงกิมลี ไปยังสถานคุ้มครองและพัฒนาบ้านเกร็ดตระการ พร้อมส่งเด็กกลับไปที่ประเทศกัมพูชา เด็กอยู่ที่ CWCC  เด็กอีกสองคนอยู่ที่สถานสงเคราะห์เด็กอ่อนพญาไท  แม่พยายามได้มาเยี่ยม และได้ถูกเชิญมายัง ศูนย์ปฏิบัติคนไร้ที่พึ่งและขอทาน(ศปข) ให้มาอยู่ที่สถานแรกรับคนไร้ที่พึ่ง(นนทบุรี) พร้อมลูกอีกสองคน  กว่าจะมีการตัดสินใช้ เวลากว่า 22 เดือน  มีการส่งกลับ ไป จังหวัดพระตระปอง ประเทศกัมพูชา  เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน  2559 และมีการทำงานกับองค์กรพัฒนาเอกชนประเทศกัมพูชา  เคสกรณีเหล่านี้ที่ยังไม่มีมีโอกาสรับลูกของตนเองคืนสู่ครอบครัวอีกจำนวนกว่า 29 ครอบครัว

(2) เคสที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง จับปัญหาที่พบคือการแยกแม่ แยกลูก  แม่จะส่งเข้า ตม. ส่งลูกเข้ารับการคุ้มครองที่สถานสงเคราะห์ แต่กระบวนการจะให้ศาลตัดสิน พบว่า ศาลแขวงไม่รับหรือมาใช้ศาลเยาวชนและครอบครัวตัดสิน   แต่บังเอิญสองเคสนี้มีอาการป่วยที่รุนแรง กระบวนการคืนแม่คืนลูกพบปัญหาคือการคืนแม่ลูกกับสู่ครอบครัว

(3) ตำรวจ ปคม.กับตำรวจพื้นที่จับ  ให้ข้อหาไว้ก่อน คือ ข้อหา “ค้ามนุษย์”  ซึ่งเป็นการติดคุก ฟรี  แล้วแยกลูกส่งเข้าสถานคุ้มครองกว่ากระบวนการจะเสร็จสิ้นใช้ระยะเวลายาวนานมาก

(4) เมื่อมีคณะทำงานศูนย์ปฏิบัติคนไร้ที่พึ่งและขอทาน(ศปข) จับหรือเชิญตัวมาเพื่อการคัดกรอง และการตรวจ DNA แต่เคสเหล่านี้มีเด็กที่ยังเรียนหนังสือ หรืออยู่ภายนอก จะดำเนินการอย่างไรในการคุ้มครองเด็กที่ไม่ได้ออกไปกับแม่  แต่ใครจะดูแลหรือสงเคราะห์ชั่วคราว อย่างไร  เพื่อให้เด็กที่อยู่ตามลำพัง สามารถยังชีพเลี้ยงตนเองและน้อง  รวมถึงกระบวนการปกป้องคุ้มครองไม่ให้ใครมาเอาเปรียบหรือถูกละเมิดซ้ำ  สำหรับกรณีนี้เคสต้องได้ไปโรงเรียนเพราะเด็กทั้งสามคนเรียนหนังสือทั้งหมด  สิ่งที่ต้องช่วยเหลือคือเงินค่าเช่าห้อง  เงินค่าอาหารของเด็ก 4 คนในแต่มื้อ  เงินที่เด็กไปโรงเรียน หน่วยงานที่เกี่ยงข้องต้องมีงบฉุกเฉิน

หมายเหตุ ในการทำงานโครงการครูข้างถนน ได้เขียนเป็นบทความ เรื่องเล่า และเรื่องสั้น ในแต่ละเรื่องที่ทางโครงการฯได้ดำเนินการ  

 

                                        ...............................................................