banner
ศุกร์ ที่ 30 เดือน กันยายน พ.ศ.2559 แก้ไข admin

ผู้สูงอายุ...กับการอยู่เพื่อลูกหลาน

 

ทองพูล  บัวศรี

ผู้จัดการโครงการครูข้างถนน  มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก

  

ตั้งแต่ต้นปี 2559 เป็นต้นมา การเดินถนนที่ลงไปพูดคุยกับผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหนึ่งในการทำงานของครูข้างถนน  มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก  เป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก โดยมี การแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มย่อย ได้แก่  (1) ผู้สูงอายุที่เจ็บป่วยเรื้อรังมาใช้ถนนหารายได้ (2)กลุ่มผู้สูงอายุที่ขายท๊อฟฟี่ แพ๊กละ 20 บาท ขายดอกไม้ ร้อยและขายพ่วงมาลัย ขายผลไม้ข้างทาง ตาชั่งชั่งน้ำหนัก รวมถึงผู้แสดงความสามารถร้องเพลงข้างถนน(ศิลปินข้างถนน)  (3)กลุ่มที่นำสินค้ามาขาย  มาจากอำเภอท่าตูม อำเภอจอมพระ  จังหวัดสุรินทร์  ซึ่งจะมีผลิตภัณฑ์สินค้าของชาวบ้านมาขายเป็นของพื้นเมืองและงานหัตถกรรมที่สาน ได้แก่ รองเท้าแตะสาน  ตระกร้าขนาดต่างๆ กระจาด ตัวกวาง ช้าง ม้า ควาย พัด ฯลฯ ของชำร่วย ที่ตุ๊กตาใบหน้าต่างๆ หอบหิ้วกันมาใส่ถุง เพื่อหาสถานที่ขายในกรุงเทพมหานคร

สำหรับครูเองอยากรู้ข้อเท็จจริง   โดยการตั้งสมมุติฐานไว้ว่า  “ทำไมต้องเป็นผู้สูงอายุเท่านั้น”ที่มาขายของ  แล้วคนที่เป็นลูก หรือหลาน ทำไมไม่มาขายเอง  เป็นสิ่งที่ค้างใจของคนทำงาน  จึงวางแผนในการเก็บข้อมูลแบบเชิงสำรวจเล็กๆ  โดยใช้การพูดคุยและสอบถาม เน้นการสร้างความสัมพันธ์แบบลูกหลาน แต่ก็ยังไม่มีโอกาสได้ตามไปถึงที่พัก และบ้านที่ต่างจังหวัด  แต่ข้อมูลที่ได้พอเป็นแนวทางในการทำงาน และวางแผนที่จะช่วยให้ผู้สูงอายุเหล่านี้ได้ขายของอย่างถูกต้อง และมีที่ขายอย่างชัดเจน  ซึ่งแผนยุทธศาสตร์งานผู้สูงอายุมิได้กล่าวถึงผู้สูงอายุที่ต้องดูแลคนอื่น  หรือกลุ่มนี้เลย แล้วหน่วยงานไหนที่จะช่วยให้กลุ่มนี้เข้าถึงสวัสดิการด้านอื่นๆมากกว่า เบี้ยยังชีพ


  

จำนวนที่สอบถามตั้งแต่เดือนมกราคม จนถึงสิ้นเดือนกันยายน 2559  จำนวน 75 คน  เป็นชาย 17 คน  ผู้สูงอายุที่เป็นหญิงจำนวน 58 คน เป็นกลุ่มที่พากันมาขายสินค้า ตั้งแต่พื้นที่ประตูน้ำ  หน้าสยาม มาบุญครอง หน้าเซ็นทรัลเวิรด  ซอยนาน ถนนสุขุมวิท อโศก ท่าขึ้นสถานีรถไฟฟ้าแบริง  และพื้นที่สวนอัมพร  ที่จัดงานกาชาด ช่วงเดือนเมษายน  2559 พื้นที่อนุสาวรีย์ สะพานควาย หน้าจตุจักร(ช่วงเสาร์-อาทิตย์)

ช่วงอายุของผู้สูงอายุของผู้ชาย ในช่วงอายุ 64-68 ปี (ต้องเป็นผู้ที่แข็งแรงพอสมควร เพราะต้องแบกถุงใส่สินค้าสะพายไปเรื่อยๆ เพราะหาสถานที่นั่งขายไม่มีแน่นอน สำหรับผู้สูงอายุผู้หญิง ส่วนมากในช่วงอายุ 55-70 ปี เพราะสภาพร่างกายที่ทำงานหนักมาตลอด ช่วงอายุเหล่านี้ก็ดูเหมือนกับอายุมาจริงๆ

ที่อยู่ดั่งเดิมของผู้สูงอายุ  จำนวนกว่า 70 คนเป็นคนในอำเภอท่าตูม  จังหวัดสุรินทร์  มีเพียง 5 คน ที่มาจากจังหวัดบุรีรัมย์    คำถามที่ถามต่อทำไมคนอำเภอนี้ถึงต้องพากันลงมาขาย   ทุกคนบอกว่า ส่วนมากเคยลงมาทำงานในกรุงเทพ และหลายสิบปีก่อน  คนเหล่านี้เคยลงมาขอเงินในกรุงเทพ  จนมีการตั้งโครงการฝึกอาชีพในอาชีพต่าง พร้อมกับงบประมาณลงไปในพื้นที่ต้นทาง  จนดัดแปลงมาเป็นการนำสินค้ามาขายในปัจจุบันนี้

  

สัมภาษณ์กลุ่มผู้สูงอายุที่มาขายของ ซึ่งเป็นชาวบ้านจากอ.ท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ ที่มาขายงานหัตถกรรม ที่สานด้วยผักตบชวา ตุ๊กตา หน่วยงานราชการลงไปสอนตามงบประมาณของราชการ แต่สินค้าที่ทำแล้วไม่มีคนซื้อ ไม่รู้จะเอาไปขายที่ไหน จึงมีกลุ่มผู้สูงอายุนำนั่งรถไฟฟรีมา หรือถ้ามาไม่ทันค่ารถไฟก็จำนวน 170 บาท มาลงที่สถานีบางซื่อ ตอนนี้ไม่ได้ไปพักที่วัดแล้ว มาเช่าห้องกันอยู่ที่บางซื่อ คืนละ 30-70 บาท ต่อคืน มีบางคนที่เช่าเป็นเดือนประมาณ 1,500-3,000 บาท เพราะกลุ่มผู้สูงอายุจะลงกันมาครั้ง 5-10 วัน เมื่อขายสินค้าหมดก็จะเดินทางกลับไปบ้าน เพื่อไปรับสินค้า หรือบางคนก็จะช่วยเมีย ลูก หลาน ทำให้ได้พอสมควร ผู้สูงอายุก็จะลงมากรุงเทพมหานคร พร้อมกับขายให้หมด

ครูถามว่าระหว่างที่อยู่ต่างจังหวัดกับลงมาขายของที่กรุงเทพสถานที่ไหนลำบากกว่ากัน อยู่บ้านนอกก็ลำบากแบบบ้านนอก แต่ที่กรุงเทพลำบากกว่า แต่ได้เงินใช้ถึงจะหมดไปกับค่าเดินทางอย่างต่ำ 50-100 บาทต่อวัน ค่าน้ำดื่ม วันละ 3-5 ขวด ขวดละ 10-12 บาท ค่าอาหารสามมื้อ มื้อละ 50-70 บาท บางครั้งประหยัดก็กินมื้อเดียวหรือบางครั้งก็มีคนใจดีอย่างที่ชอบเอานม ขนม ยาพารา ยาแก้เป็นลม แบ่งให้ บางคนก็ซื้อข้าวเหนียวหมูปิ้งให้ การนั่งอยู่กับที่ไม่เกินหนึ่งชั่วโมงจะมีคนมาไล่ตลอด เดี๋ยวเวลาประมาณห้าโมงเย็นเจ้าของที่ ที่เช่าเขาจะมากันแล้วพวกคุณตา คุณยายก็ไม่มีสิทธินั่งแล้ว ก็ต้องเดินต่อไปเรื่อยๆ คุณตาคุณยายจะออกจากที่พักกันแต่เช้า กลับที่บ้านเช่าก็ประมาณสี่ทุ่ม


  

อยากให้รัฐช่วยอะไร คุณตาคุณยายบอกว่าอยากได้ที่นั่งขายของเป็นเรื่องเป็นราว ถ้ามีที่นั่งขายก็จะได้ไม่ต้องเดินแบกถุงไปตามที่ต่างเพราะถุงมันหนักมาก บ่าไหล่ทรุดหมดแล้ว ขาปวดไปหมดก็ต้องทนเอา เพราะต้องขายให้ได้มากที่สุดบางครั้งต้องเอาทุนไปคืนชาวบ้านคนอื่นๆด้วย คุณแก่อย่างพวกฉันกลายเป็นหลักของครอบครัวเพราะต้องมีรายได้ไม่อย่างนั้นอดตายกันทั้งบ้านซึ่งมีภาระกันอีก 5-6 คน ส่วนมากก็จะเป็นหลานที่ถูกส่งให้ไปเลี้ยง

เงินเบี้ยยังชีพพอไหม มันไม่พอหรอกเพราะภาระของหลาน เช่น ค่ารถหลานไปเรียน ค่าอาหาร ค่าป่วยของหลาน ค่าอยู่ค่ากินในครอบครัว อย่าหวังว่าพ่อแม่ของหลานจะส่ง บางครั้งก็เอาตัวเองไม่รอด ซึ่งเป็นจำเป็นคือผู้สูงอายุเริ่มป่วยกันมาก เมื่อเงินไม่พอก็ไม่ไปหาหมอก็กลายเป็นโรคเรื้อรัง บางคนก็ไม่ยอมรักษาด้วยเก็บเงินไว้ให้หลาน ผู้สูงอายุที่ต้องทำงานหนัก ต้องรับภาระ คนในครอบครัว โรคภัยที่ผู้สูงอายุจะมาเป็นแพ๊กเก็จ ทุกคนป่วยกันหมดแต่ใครจะเป็นมากเป็นน้อยก็แล้วแต่คน บางคนเป็นโรคเบาหวาน ตามมาด้วยโรคความดัน โรคหัวใจ ป่วยน้อยสุดคือการปวดเมื่อยตามตัว บางวันก็ระบมเพราะการปวด การหิ้วของหนัก  หรือบางคนก็อยู่คนเดียว กลายเป็นปัญหาสังคมอีกกลุ่มหนึ่งอย่างชัดเจน

          จำนวนผู้สูงอายุมาขายของเฉพาะที่ลงไปสำรวจพูดคุย ทั้งพื้นที่สยาม มาบุญครอง ประตูน้ำ และงานกาชาดจำนวนกว่า 57 คน ยังไม่หมดเพราะส่วนหนึ่งกลับบ้านไปทำบุญที่บ้านต่างจังหวัดกันแล้ว จะกลับมาอีกครั้ง พร้อมข้าวของที่ทางบ้านช่วยกันทำ หรือบางคนก็ไปหาซื้อมาจากกลุ่มแม่บ้าน  เพราะอยู่ที่บ้านสิ่งของที่ทำมันขายไม่ได้ สำหรับการลงพื้นที่ประจำ เริ่มมีคนหน้าใหม่ที่เป็นผู้สูงอายุผู้หญิงเพิ่มมาขึ้นมาก  และมีช่วงเด็กวัยรุ่นที่เป็นผู้หญิง อายุช่วง 25-35 ปี ประมาณ 6 คน สิ่งที่สังเกตเห็นจะขายสินค้าไม่ค่อยได้  ถึงแม้มีบางคนที่สื่อสารภาษาอังกฤษได้


   

          ประเภทสินค้าที่นำมาขายในกรุงเทพ มีตั้งแต่การสานผักตบชวา เป็นรองเท้า ตัวสัตว์ต่างๆ ส่วนมากเน้นการทำงานในครอบครัว  การทำตุ๊กตาเป็นตัวการ์ตูนยอดฮิตซึ่งบางตัวก็เป็นของชำร่วยในงานแต่งงาน  ตระกร้าใส่ของ พัดมีหลายรูปแบบ ทั้งการสานเอง การเย็บเอง หรือบางอันก็ใช้การเพิ่มมูลค่าด้วยการติดภาพสวยบนตัวพัด  มีบางคนที่เน้นไปที่ผลิตภัณฑ์เท่าที่ทำงานได้เช่น กล้วยฉาบ เยื่อใยบวม เม็ดมะขามคั่ว มะขามเปียก  บางคนก็ไปซื้อขนมหรือลูกอมมาใส่ถุงเล็ก 6 เม็ด 20 บาท ขนมเวลาซื้อมาก็ใส่ถุง 3 ชิ้น 20 บาท ห่อกระดาษทิชชูห่อละ 10 บาท เป็นต้น

          ระยะเวลาที่มานำสินค้ามาขาย ขึ้นอยู่แต่ละคน  ด้วยเหตุผลเรื่องสุขภาพ แต่โดยปกติเดือนหนึ่งจะลงมาจำนวน 2 ครั้ง ครั้งหนึ่งก็จะมาอยู่ยาวตั้งแต่ 7-10 วัน หรือบางคนก็มาอยู่จนกว่าจะขายสินค้าที่นำมาขายหมด  แล้วก็จะกลับบ้านไปนำสินค้า แต่บางรายก็กลับไปช่วยครอบครัวทำ  บางคนก็ไปหาซื้อคนที่ทำอยู่แล้วในราคาต้นทุน  เป็นจึงเป็นสิ่งที่พึ่งพาอาศัยกันในหมู่บ้าน ส่วนมากจะได้ขึ้นไปพักเดือนหนึ่งไม่เกิน 10 วัน  ไม่อย่างนั้นครอบครัวไม่มีรายได้ก็จะพากันอดทั้งครอบครัว

          การจัดเก็บสิ่งของที่เอามาขาย ส่วนมากจะใช้ถุงพลาสติคใบใหญ่ ซึ่งเป็นถุงเหนี่ยว ได้แก่ สีแดง สีเหนียว สีน้ำเงิน  ราคา 6 ใบ 100 บาท เป็นเหนียวมาก  เวลาใส่ก็ใส่ให้พอเหมาะ  และใช้ผ้าข้าวม้าผูกเวลาสะพ่ายใส่บ่าจะได้ไม่เจ็บ  และต้องเอามาให้พอดีกับการขาย ใช้กระดาษหนังสือพิมพ์ห่อหุ้มสินค้า  หรือบางคนก็เป็นการกันชื้นเป็นอย่างดี

  

เทคนิคการขายจะเป็นความสามารถเฉพาะตัว มีผู้สูงอายุที่เป็นผู้หญิงบางคนจะมีตระกร้าที่สานคล้ายตระกร้าใส่ของไปทำบุญที่วัด  นำมาใส่ของ โดยเอาตัวตุ๊กตาห้อยรอบ รอบ ปากตระกร้า ซึ่งสวยและเก๋  เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เชิญชวนนักท่องเที่ยวซื้อ เวลาเดินก็ตระโกนไปด้วยช่วยป้าหน่อย หรือช่วยซื้อหน่อย ช่วยยายด้วยวันนี้ยังขายไม่ได้เลย บางคนใช้ตระกร้าพลาสติค เป็นแบบแบนราบ แล้วนั่งกับพื้นซีเมนต์ ยกตระกร้าสูงกว่าหัว  นั่งระหว่างทางลงรถไฟฟ้า (ใครได้ที่นั่งเหล่านี้ จะเป็นช่วงที่ขายดีโดยเฉพาะในช่วงตอนเย็นที่คนเดินทางกันมาก) แต่จะถูกเทศกิจไล่เพราะไปกีดขวางทางเดินของประชาชนทั่วไป  ส่วนผู้ชายส่วนมากที่เห็นจะมีแผ่นพลาสติคปูที่พื้นก่อน นำงานหัตถกรรมมาเรียงตั้งแต่รองเท้า ช้าง  ส่วนมากจะเขียนป้ายติดไว้เท่านั้น  จะไม่มีการพูดหรือเรียกลูกค้า แต่ถ้าเป็นกลุ่มผู้สูงอายุผู้หญิงจะมีเทคนิคเยอะกว่า

สถานที่และเวลาที่ขายของผู้สูงอายุกล่านี้ มีเวลาที่หลากหลายแล้วแต่พื้นที่ เช่น เวลาที่นั่งขายสินค้า บางคนก็จะเริ่มงานกันตั้งแต่เวลา เจ็ดโมงเช้า ส่วนมากจะอยู่แถวสะพานควาย ตลาดเยาวราช  ตลาดสะพานใหม่ ตลาดรังสิต   

 สิบโมงกว่าจะมีเกาะกลางพญาไท(อนุสาวรีย์) จะมีอยู่ประมาณ 3-5 คน สลับเวลากันมาเดินขาย ที่อนุสาวรีย์จะมีช่วงเย็น เป็นผู้สูงอายุผู้ชาย 2 คน ในตระกร้าจะเป็นท๊อฟฟี่มากกว่า  และจะยกมื้อไว้สูงเหนือหัวจะร้องขอเงินมากกว่าขายสินค้า  คนจะให้มากกว่า และหลายคนก็จะไม่เอาสินค้าที่แก่ขาย  

สำหรับพื้นที่สยาม มาบุญครอง บนสกายวอลล์ ทางเชื่อมสยามกับมาบุญครอง หน้าพิพิธภัณฑ์ศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร  ส่วนมากจะนั่งอยู่กับที่ ตั้งแต่เวลาบ่ายสองจนถึงห้าโมงเย็น เพราะหลังจากนั้นพื้นที่เหล่านี้จะเป็นของคนที่มาเช่า  กลุ่มคนเหล่านี้ก็จะหาพื้นที่ระหว่างทางเดินสะพานลอยเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นกลุ่มที่จะขายได้มากที่สุด เพราะนักท่องเที่ยวหลากหลายเชื้อชาติ

พื้นที่พัฒนพงศ์ จะเน้นช่วงตั้งแต่ ทุ่มหนึ่งจนถึงเวลา ห้าทุ่ม ส่วนมากจะเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ชาย สินค้าที่ขายจะเน้นรองเท้าแตะที่สาน เป็นส่วนใหญ่  เพราะนักท่องเที่ยวจะซื้อไปฝากญาติหรือเพื่อน เป็นชาวตะวันตกที่ซื้อ




พื้นที่ประตูน้ำ หน้าเซ็นทรัสเวริด  ส่วนมากจะเป็นผู้สูงอายุผู้หญิง  ส่วนมากมักจะเดินพร้อมตระกร้า ส่วนมากเป็นนักท่องเที่ยวชาวจีน สิงค์โปร์ ไต้หวัน ฮ่องกง  มากกว่ากลุ่มนี้เน้นเศษสตางค์เหรียญที่ได้มาจากการซื้อสินค้าเป็นส่วนใหญ่

พื้นที่จากเอกมัยจนมาถึงอโศก ซอยนานา เน้นกลุ่มผู้สูงอายุที่เป็นผู้หญิงดินขายสินค้ามากกว่า  ส่วนมากจะเดินในช่วงกลางวัน  พอเหนื่อยก็จะหลบพักที่สวนเบญจสิริ  มีที่นั่งและบางคนก็นอนเอาแรงเป็นครั้งคราว  เมื่อมีแรงก็จะเดินต่อ

ความสนใจของลูกค้าที่ซื้อสินค้าของกลุ่มผู้สูงอายุกลุ่มนี้  มีทั้งที่เป็นชาวตะวันตก และกลุ่มเอเชียด้วยกัน มีชาวตะวันออกที่เป็นชาวมุสลิม(แขกขาว) จะเน้นสินค้าที่เป็นรูปช้าง ทั้งงานผ้าและงานสาน  ส่วนรองเท้าแตะสานเป็นชาวตะวักตก ส่วนมากขนาดจะใหญ่เป็นพิเศษ   ส่วนรูปสัตว์ประเภทต่างๆจะเป็นชาวสิงค์โปร์ที่ชอบซื้อ  สังเกตจากนักท่องเที่ยวขณะที่พูดคุยกับกลุ่มผู้สูงอายุกลุ่มนี้

คำถามที่ติดใจครูอย่างมาก ทำไมต้องให้ผู้สูงอายุมาขายสินค้าเหล่านี้ หลายคนช่วยกันตอบว่า และให้เหตุผลเป็นเสียงเดียวกัน

(1) ผู้สูงอายุอย่างพวกฉันทั้งหลายเคยมากรุงเทพมหานครกันก่อนหน้านี้แล้ว  บางคนเคยมาทำงานก่อสร้าง รับจ้างทั่วไป บางคนบอกว่า เมื่อสิบกว่าปีเคยมาขอทานด้วยซ้ำ

(2) รู้จักกรุงเทพเป็นอย่างดี และรู้สึกว่าผู้สูงอายุอย่างพวกฉัน เป็นคนที่มี “คุณค่า” เพราะได้ช่วยเหลือครอบครัว  อยู่บ้านนอกก็ช่วยงานไม่ได้เต็มที่ มาขายของยังพอมีเงินเลี้ยงครอบครัว ยังหาเงินให้คนในครอบครัวได้ใช้ หลานยังเห็นความสำคัญของ ปู่ ย่า ตา ยาย

(3) ขายของด้วย ขายความน่าสงสารด้วย  แต่พวกฉันทำงานนะ พวกฉันไม่ใช่กลุ่มที่มาขอทาน เหนื่อยกว่าแต่ก่อนมาก ค่าใช้จ่ายก็สูงขึ้นมาก แต่ฉันจะได้อาหารช่วยได้เยอะเมื่อคนซื้อน้ำ อาหาร หรือขนม นม มาให้ ก็ทำให้มีเงินเหลือกลับไปให้ครอบครัว  ครั้งละพันสองพันบ้างก็พออยู่ได้  จะคอยแต่เงินของลูกสาวลูกชาย เดือนไม่เกินห้าร้อยบาทอดตายกันพอดี  แค่พอมีอยู่มีกินเท่านั้น



  

คำถามสุดท้ายที่ถาม งานที่ทำทุกวันนี้เหนื่อยไหม อยากเลิกไหม ทุกคนตอบว่าเหนื่อย  แต่มีความสุขที่ขายสินค้าได้นั้นหมายถึงคนทางบ้านจะมีเงินพอใช้ให้หลานได้ไปโรงเรียน ซื้อขนม เมื่อป่วยมีโอกาสไปหาหมอบ้าง หรือพอมีเงินซื้ออุปกรณ์ใหม่บ้านเข้าบ้าน เช่นพัดลม เสื่อ ผ้าห่ม เสื้อสักตัว  เป็นต้น แค่นี้ก็พอใจแล้ว

ตัวอย่างลุงชัย (นามสมมุติ)อายุ 67 ปี แล้ว ลุงจะปูเสื่อนั่งขายที่หน้าสยาม เยื้องกับหน้าโรง

หนังลิโด สินค้าส่วนมากเป็นเครื่องจักรสาน  แต่ครั้งก็จะนำมาไม่ต่ำกว่าร้อยถึงสองร้อยชิ้น  คนที่มาซื้อส่วนมากจะเป็นฝรั่ง เพราะของลุงชัยจะเป็นไซด์ขนาดฝั่งทั้งนั้น โดยเฉพาะรองเท้าแตะ  ช่วงนั้นที่นักท่องเที่ยวมามากช่วงนั้นจะขายได้เยอะ บางครั้งถูกเหมาเป็นร้อยคู่ก็มี กำลังคู่ละ 10-15 บาท ลุงก็ขายแล้ว เพื่อเอาทุนไปคืนชาวบ้านที่ทำพร้อมกับเป็นทุนทำสินค้านชุดใหม่  ลุงมาขายของแบบนี้กว่า 20 ปีแล้ว ตั้งแต่เป็นหนุ่มตอนนี้ก็ต้องทำ เพราะมีหลานมาให้เลี้ยง 3 คน เป็นภาระที่หนักเหมือนกัน ลูกชายกับลูกสะใภ้ส่งให้เดือนละ 1,500 บาท แค่ค่ารถไปโรงเรียน ค่าขนม ค่าอุปกรณ์การเรียนก็หมดแล้ว  ค่าอาหารสามมื้อลุงกับป้าต้องช่วยกัน  และก็ฝึกหลานช่วยกันทำด้วย  ลุงจะลงมากรุงเทพเดือนละสามครั้ง  แต่สินค้าโดยส่วนใหญ่เน้นไปที่ครอบครัว ซื้อมาบ้างเช่นตัวมังกร นก แมงป่อง เป็น ถ้าเป็นรองเท้าส่วนมากจะเป็นของยายและหลานช่วยกัน  ตอนนี้อุปกรณ์ที่เป็นเชือกและผักตบชวา ราคาแพงขึ้น และต้องไปรับที่สุพรรณบุรีเท่านั้น  บางรายทำไม่ดีจะขึ้นรา พอมาทำรองเท้าแตะก็จะเปื่อยง่าย  ต้นทุนจึงเพิ่มขึ้น  และค่าใช้จ่ายในแต่ละวันก็ต้องประหยัดสุด  เคยอาศัยวัดนอนคืนละ 30 บาท ต่อนี้ทางวัดไม่อนุญาตแล้วต้องเช่าบ้าน อย่างน้อยคืนละ 50-70 บาทต่อคืน  ทั้งหมดที่ทำทุกวันนี้ก็เพื่อหลานอีกสามคน สำหรับตากับยายก็พร้อมที่จะตายแล้ว  เสียงลุงชัยบอกทิ้งท้าย

          คุณยายเนียง(นามสมมุติ)  อายุ 81 ปี แก่ขายของที่พื้นที่สยามมากว่า 20 ปีเหมือนกัน ลูกแก่มีสามคน ตายไปแล้วหนึ่งคน แต่สำคัญหลานห้าคน แต่ส่งมาให้แกดูแลสามคน  คือครอบครัวลูกคนที่ตาย แม่ก็ไปมีครอบครัวใหม่ หลานอยุช่วง 7-11 ปี เป็นผู้หญิงหมด ลูกสะใภ้ส่งค่าใช้จ่ายให้เดือนละหนึ่งพันบาทซึ่งมันไม่พอกับบวกกับเงินเบี้ยยังชีพเดือนละ 800 บาท ก็ไม่พอ แค่ค่าเดินทางของหลานไปโรงเรียนก็หมดแล้ว  ค่าใช้จ่ายที่ค่าอาหาร ค่าอาหาร ค่าใช้จ่ายในบ้านค่าน้ำค่าไฟก็หมดแล้ว  ส่วนมากฉันจะกลับไปบ้านเดือนละแค่สองครั้งเท่านั้น  ฉันจะต้องหาเงินให้มากที่สุด ฉันไม่ค่อยมีสินค้ามาขายมีบ้านเช่นตุ๊กตา ช้าง เป็นต้น เน้นไปที่ของที่หลานทำให้ แต่ฉันเน้นไปที่ขอเงิน เวลาฉันนั่งพับเพียบกับพื้นไม่มีอะไรรองที่ก้น ของที่มีจะชูสูงพ้นหัว  เวลาคนซื้อจะซื้อตัวหนึ่งแค่ 35 บาท คนซื้อโดยส่วนใหญ่ก็จะให้แบงก์ร้อย  แล้วบอกว่าไม่ต้องทอนให้ยายเลย  ใครขายสินค้าไม่ได้ฉันพอขายได้ วันละ สาม-สี่ร้อยบาท พอหักค่าใช้แล้วก็จะเหลือประมาณ ห้าสิบบาทถึงร้อยต่อวัน ฉันจะเก็บเอาไว้ให้หลานในเรื่องการศึกษา  ตอนนี้ฉันลงมากรุงเทพก็จะให้หลานคนโตดูแลน้อง น้อง หลานฉันเป็นผู้หญิงหมด มีลูกสาวที่ปลูกบ้านข้างบ้านดูแลด้วย  ตอนนี้หลานก็ยังไม่มีพฤติกรรมน่าเป็นห่วง แต่ในอนาคตฉันก็ไม่รู้ แต่สุดท้ายฉันทำให้ดีที่สุดเรื่องอื่นแล้วแต่เวรแต่กรรม



  

          คุณยายบุญมี  อายุ 74 ปี คนนี้แก่ชอบเดินขายของตั้งแต่ประตูน้ำจนถึงพันธุ์ทิพย์พล่าซ่า จนถึงสยาม  แก่บอกว่าแก่ไม่อยากนั่งคนอื่นชอบมองว่าแก่ขอทาน  ในขณะที่ฉันมีของมาขาย  แต่ฉันจะได้เงินพวกแขกขาวที่ซื้อของของฉัน  ฉันมีหลาน 2 คนที่ต้องดูแล พ่อแม่กับมันตายหมด  มันเลยกลายเป็นภาระคนแก่อย่างฉัน  หลานฉันมันเกเร ไม่ชอบเรียนหนังสือชายคน หญิงคนหนึ่ง อยู่บ้านกับปวดหัวกับมันฉันจึงมากรุงเทพมหานครตามเพื่อน เพื่อน มาพอได้เงินเป็นค่ากินค่าอยู่ เหลือใช้ก็ส่งให้หลาน  ฉันมีบ้านเป็นกระต๊อบปลูกบนที่ดินคนอื่นเขา ตระกร้าใส่ของของแก่สวยมาก แต่ฉันไม่ชอบคุยกับคนอื่น แต่กับอีหนูฉันชอบคุยให้กำลังใจคนแก่เก่งมาก และยังมีนมกับขนมให้ฉันได้กินตอนค่ำมืด 

          ในเดือนกันยายน เป็นเดือนที่ฝนตกมากในกรุงเทพมหานคร มีความลำบากมาก เพราะที่วางสินค้าส่วนมากที่ไหนก็มีแต่ฝนตก ข้าวของที่เป็นหัตถกรรมทั้งหลายก็จะชื้น และขึ้นรา  นักท่องเที่ยวก็จะหลบกันแต่อยู่ในห้าง เพราะกลัวเปียกฝน  เป็นเหตุผลหนึ่งซึ่งในแต่ละวันจะขายไม่ได้เลย และพบผู้สูงอายุหน้าใหม่หลายคน  ที่พอจะคุยด้วยทุกคนเดินหนี  แต่มีบางคนก็จะถามว่าเป็นครูใช่ไหม  ได้ยินคนเล่าให้ฟังว่าแบ่งนม ขนม ให้คนขายของอยู่เสมอ ขอให้มีอายุมั่น ขวัญยืน เจริญ เจริญ อย่าได้เจ็บ ได้ป่วย ทำมาค้าขึ้น ขอให้รวย ยิ่ง ยิ่ง ขึ้นไป ทำอะไรก็ให้รุ่งเรือง เงินไหลมาเทมา คำอวยพรที่มากมายเหล่านี้ของน้อมรับ แล้วยกมือขอบคุณทุกครั้งที่ได้แบ่งสิ่งของ  ยิ่งในช่วงเดือนนี้ฝนตกมากกว่าจะขายของได้แต่ชิ้น ขายยากมาก นมกับขนม จึงเป็นที่ต้องการ

          ชีวิตเหล่านี้ไม่ได้หาเงินหรือขายของเพื่อเลี้ยงตนเองนะ ส่วนมากจากที่สอบถามเพื่อลูกหลานทั้งนั้น เกินภาระที่ผู้สูงอายุต้องรับผิดชอบ  เคยมีข้อเสนอแนะหลายครั้งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ดูแลผู้สูงอายุ

          1.กลุ่มเหล่านี้ต้องได้รับการดูแลเรื่องการจัดหาสถานที่ขายของให้เป็นเรื่องราว ไม่ต้องแย่งกับพ่อขายแม่บ้านที่ต้องเสียเงินค่าเช่าที่วางของ  โดยเฉพาะหน้าพิพิธภัณฑ์ศูนย์วัฒนธรรมกรุงเทพ หรือหน้ากระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

          2.การดูแลหลาน ซึ่งเป็นภาระของผู้สูงอายุเหล่านี้  ควรที่ต้องมีหน่วยงานเข้าไปสำรวจ เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือระยะยาว

          3.การประคับประคองให้ผู้สูงอายุเหล่านี้ช่วยเหลือตนเอง หลาน และครอบครัว เพื่อการตัดตอนไม่ให้ผู้สูงอายุต้องออกมาจากบ้านเร่ร่อนใช้ชีวิตในกรุงเทพ แต่กลับชนบทเป็นขวัญและกำลังใจให้ลูกหลาน