ชีวิตคนค่าเท่ากันไหม
ขึ้นชื่อว่าถนน ทุกคนที่ใช้ถนนคงได้เห็นถึงความสกปรก ขยะก็เต็ม สีดำที่เห็นเกาะพื้นดำสนิทมาก เวลาใครจะนั่งลงสักครั้งก็คงเห็นว่า นั่งลงไปได้อย่างไร แต่ถนนในกรุงเทพมหานครเป็นสิ่งที่ช่วยให้คนมีอาชีพทำมาหากินตั้งแต่ นั่งพัก แต่มีคนกลุ่มแม่และเด็กเร่ร่อนต่างด้าวกลุ่มนี้ใช้เป็นที่นั่งขอทาน ใช้เป็นที่นอน ใช้เป็นที่ได้รับอาหารจากคนใจบุญทั้งหลาย บนถนนของคนกลุ่มนี้จึงมีค่ามาก แล้วขึ้นอยู่ว่าแต่ถนนจะมีกลุ่มนักท่องเที่ยวมากน้อยเพียงไร ถ้าถนนล้อมอนุสารีย์ คนต่างจังหวัดเยอะรายได้ที่แม่และเด็กจะได้ก็น้อยไม่พอที่จะมาเลี้ยงคนในครอบครัว แต่ถ้าเป็นถนนราชดำริก็ต้องขึ้นอยู่ว่าสะพานลอยไหนที่นักท่องเที่ยวเดินข้ามบ่อยๆ หากเป็นถนนสายสุขุมวิท ตั้งแต่ซอยนานา(สุขุมวิท 3 ขึ้นไปถึง สุขุมวิท 21 )ไปถึงซอยอโศกเป็นเส้นที่นักท่องเที่ยวหลากหลายชาติ ก็จะได้เงินพอเลี้ยงครอบครัว แต่ก็เสี่ยงโดนจับ คนเหล่านี้ก็ต้องเสี่ยงเอาว่าจะเอาอย่างไร...เขาเลือกเองการถูกจับกับการอยู่รอดของครอบครัว...
เด็กน้อยที่หน้าตาดำ ผิวหนังค่อนข้างดำ บางคนก็ดำสนิท ตัวเล็ก ตาลึกเป็นประกาย ผมยาว เล็บยาว ไม่ใส่รองเท้าวิ่งรอบๆตัวแม่ที่นั่งด้วยการชันเข่า ใส่บางผ้าถุงที่เก่าแก่มาก ดอกลายบนผ้าเลือนหายไปหมดแล้ว พร้อมเสื้อยืดตามคนบริจาค สีขาวค่อนข้างไปทางดำมากกว่า เสื้อบางตัวสีฟ้าก็กลายเป็นดำด้วยการไม่ซัก พร้อมมีกลิ่นของการไม่ได้อาบน้ำก็มี เพราะบางคนใช้ชีวิตหลับนอนบนถนนเลยเพราะไม่มีเงินให้ค่าเช่าบ้าน หรือบางครอบครัวเช่าบ้านไว้แต่ไม่มีเงินจ่าย ก็ต้องพาลูกออกมานอนที่ถนน สิ่งเหล่านี้คนทำงานเป็น “ครูข้างถนน” ต้องพูดคุยหาข้อมูลเพื่อหาทางช่วยกลุ่มนี้ บางครอบครัวทั้งแม่นั่งก้มหน้าก้าตา ยกมือไหว้ค้างไว้ พร้อมมีกระป่องเงินวางอยู่ตรงหน้ามีเหรียญบาท เหรียญห้าบาท เหรียญสิบ โชคดีก็จะมีแบงค์ร้อยใส่ลงในกระป๋อง น้อยครั้งที่จะได้ นั่งกันนานคะกว่าจะได้เศษเงินเขามาเลี้ยงเด็กและครอบครัว...ครูหนูก็อายเป็นเหมือนกันนะ ทั้งฝนตก แดดออกร้อนแสนร้อนก็ต้องทน ลูกหนูก็อยากให้เรียนนะ ยิ่งเวลาเจ็บป่วยยิ่งไปกันใหญ่เลยครู ดีก็แค่ไปซื้อยากิน ยาพาราของครูที่ให้พวกฉันนั้นแหละแก้สารพันเรื่อง ตั้งแต่ปวดหัว ปวดตัว ปวดหลัง ปวดร้อง กลายเป็นยาเทวดาไปเลย ชีวิตพวกฉันกับลูกเลือกไม่ได้หรอกครู...
เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2557 ครูได้ลงพื้นที่ไปตามปกติพร้อมกับน้องนักศึกษา คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อยากตามการทำงานของครูข้างถนนว่าใช้วิธีการอย่างไรพูดคุยกับกลุ่มแม่และเด็กเหล่านี้ เริ่มต้นด้วยครูมีคำถามว่าจะถามอะไรกับครูหรือเปล่า ถ้าเดินไปแล้วอาจจะไม่มีโอกาสได้คุยกันนะ.
พบแม่และเด็กนั่งที่ตีนสะพานบันไดขึ้นไปห้างสรรพสินค้าที่อโศก เดินผ่านก็รู้ทันทีว่าแม่และเด็กยังไม่ได้อะไรเลยแน่นอน แม่ดูแล้วน่าจะอายุไม่เกิน 20 ปี ท่าทางเด็กมาก ส่วนเด็กก็ตัวเหลืองมาก ครูจึงนั่งลงกับพื้นนั่งคุยกับแม่เด็ก
ครู : มาจากที่ไหน กินอะไรมากหรือยัง ครูมีขนมกับนมรับหรือเปล่า
แม่เด็ก : ยังเลยเพิ่งมานั่งได้ประมาณสักห้านาที ให้ลูกกินนมก่อนไหม..
ครู : ทำไมเด็กหลับตาตลอดเลย ตัวเหลืองเป็นอะไรไปหรือเปล่า...เด็กกินอะไรหรือยัง
แม่เด็ก : น้องเจม ป่วยมาอาทิตย์หนึ่งแล้วป้า...ซื้อยาให้กินก็ไม่ดีขึ้นเลย เมื่อวันเสาร์ที่แล้วฝรั่งเมาเดินมาเหยียบน้องเจมที่ตีน ตีนปวมมากเลย ไปซื้อยาแก้อักเสบกับลดไข้ ที่เป็นขวดๆ มาให้กิน กินแล้วก็ยังไม่หายเลย ....วันนี้หนูไม่มีเงินเลยจึงพาลูกออกมา คิดว่าถ้าได้เงินจะพาลูกไปหาหมอ แต่มาเจอป้าเสียก่อน....ไม่อยากเล่าให้ป้าฟังหรอก แต่หนูกลัว ลูกหนูตาย....หนูอยากพาลูกไปโรงพยาบาล
ครู : เธอเชื่อใจป้าไหม..พาลูกไปโรงพยาบาลกันไปไหม....แม่เด็กพยักหน้า ครูไม่ได้พาเธอ ไปหาตำรวจนะ หน้าที่ของครูต้องการให้เด็กได้รับโอกาสในการรักษาพยาบาล ทุกครั้ง
บทบาทของครูทำหน้าที่คือเสนอแนวทางให้ แต่เคสจะเอาหรือไม่เอาต้องให้เคสตัดสินในเรื่องเหล่านั้นด้วยตัวของเคสเอง
หลังจากที่ทุกฝ่ายได้ตกลงกันทั้งครู แม่เด็กน้องเจม และนักศึกษาถือว่าต้องมีส่วนร่วมด้วย พวกเราก็ยืนคอยรถแท๊กซี่ว่าจะพาเคสไปที่โรงพยาบาล แถวๆสุขุมวิท 39 กว่าครึ่งชั่วโมง ไม่มีรถแท๊กซี่สักคันเลย และรถติดมาก พวกเราก็ปรึกษากันต่อถ้าอย่างนั้นพากันขึ้นรถไฟฟ้า BTS ไปลงอนุสาวรีย์ ไปโรงพยาบาลแถวนั้น ซึ่งมีหลายโรงพยาบาล ในขณะนั้นเด็กเกิดอุจจาระลาด สองสามครั้ง ทั้งครูและแม่เด็กต่างก็ช่วยกันเช็คกันความสะอาดเด็ก แต่ในใจครูกังวลมากกลัวว่าเด็กจะไปรอดเพราะอาการอย่างนี้ น่าจะเป็นโอกาสสุดท้ายขอเด็ก ถ้าถ่ายออกเป็นเป็นสีเทาก็หมดหวัง แต่ครูเองก็ทำใจว่าสู้กันอีกยกหนึ่ง เพื่อชีวิตของไอ้ตัวน้อยคนนี้..
คณะที่พวกเราขึ้นรถไฟฟ้าจากสถานีอโศก มาถึงอนุสาวรีย์ใช้เวลา 20 นาที บนรถไฟฟ้าในช่วงเย็นก็แน่นไปด้วยคนที่แน่นแบบปลากระป๋อง เพรราะทุกคนก็อยากเดินทางกลับบ้านของตนเองกันทั้งนั้น พวกเราจึงต้องเบียดขึ้น โชคดีที่มีเด็กผู้ชายคนหนึ่งลุกให้แม่และเด็กนั่ง เด็กก็ร้องไห้อุจจาระของเด็กก็ออกมาตลอดเวลา กางเกง สองสามตัวเปลี่ยนกันตลอด เสียงนักศึกษาถามว่าครู ที่เขาว่ากลุ่มแม่และเด็กที่เป็นแก๊งค์ขอทาน เป็นพวกค้ามนุษย์ ครูคิดว่าอย่างไร ครูจึงชี้ให้นักศึกษาดูว่าแม่เอานมยัดใส่ปากลูกที่กำลังให้ลูกกินนม เห็นภาพนี้ ใช่ค้ามนุษย์ไหม....ลองหาคำตอบเอง ถ้าไม่ใช่แม่เขาจะไม่เดินตามพวกเราพาลูกมาโรงพยาบาลหรอก เพราะเขาไม่รู้จักเรา แต่ที่เขาเดินตามเรามาโรงพยาบาลครั้งนี้เพราะเขาก็ต้องการให้ลูกเขาได้หายได้รักษาที่โรงพยาบาล ถ้าพวกเขาพากันไปเอง พวกเขาจะไม่ได้รับการรักษา เดี่ยวเราลองดูว่าพวกเราจะเจออะไรกันบ้าง นักศึกษาถามต่อว่า ถ้าโรงพยาบาลเขาไม่รับรักษา หน้าที่ของครูคือการต่อรองให้กลุ่มแม่และเด็กเร่อนกลุ่มนี้ได้รับการรักษาไปก่อน อย่างอื่นคอยมาพูดคุยกัน....เดี๋ยวพวกเราลองดูนะ..
เมื่อลงจากรถไฟฟ้าสถานีอนุสาวรีย์ พวกเรากับแม่ก็ต้องวิ่งคะ เพราะอาการของเด็กเริ่มหายใจขัดๆแล้ว รีบวิ่งกันมาที่โรงพยาบาลราชวิถีก่อน ไปที่ฝ่ายคัดกรอง
คำถามแรกของเจ้าหน้าที่ : ใช่คนไทยไหม
ครู : บอกว่าไม่ใช่ เป็นกลุ่มแม่และเด็กเร่ร่อนชาวกัมพูชา
เจ้าหน้าที่ : ที่โรงพยาบาลไม่มีหมอที่จะรักษาเด็ก และที่สำคัญไม่เครื่องมือสำหรับเด็กเลย ขอให้ไปโรงพยาบาลเด็ก ที่อยู่ถัดจากเราไป
ขณะที่เจ้าหน้าที่อธิบายเราเด็กก็อุจจาระมาอีก แต่คราวนี้ไหลเป็น น้ำเลย เจ้าหน้าที่ก็รีบไล่ให้เราไปห้องน้ำแล้วก็รีบไป โรงพยาบาลโน้นเลยนะ ครูโกรธมาก แต่ไม่ได้แสดงออกมา รีบพากันไปห้องน้ำ รีบล้างก้นเด็ก เปลี่ยนกางเกงใหม่หมด
แล้วพวกเราก็พากันอุ้มเด็กพร้อมกระเป๋าของแม่มาที่โรงพยาบาลเด็ก มาถึงก็ถามเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยก็ชี้ว่าคุณต้องมาที่ชั้นหนึ่งก่อน แล้วคอยไปชั้นสอง ซึ่งในขณะนั้นโรงพยาบาลกำลังมีการก่อสร้างอยู่ แผนกงานเด็กทั้งหมดต้องย้ายไปอยู่ด้านหลัง พอมาถึงฝ่ายคัดกรองก็บอกว่า เป็นอะไรกับเด็ก คุณเป็นใคร พอเห็นเด็กก็ไล่ขึ้นชั้นสอง หน้าห้องฉุกเฉิน พยาบาลหน้าห้อง ก็ถามว่าคุณเป็นอะไรกับเด็กปากก็พูด แต่มือก็จับตัวเด็ก ยกชั่งน้ำหนัก แล้วก็ถามว่าเด็กตัวเหลืองมาก พยาบาลอีกคนก็วิ่งเข้าที่ห้องฉุกเฉินตามคุณหมอ คุณหมอก็ให้แม่เอาลูกใส่เครื่องพ่นที่ปากที่จมูกก่อน เด็กก็สำลักออกมาทั้งเลือดและเสมหะเต็มไปหมด อุจาจาระก็ไหล คุณหมอก็มองครู ครูก็ไม่ได้สนใจรีบพากันไปทำความสะอาดตัวเด็กก่อนเลย พยาบาลเดินมาที่ห้องน้ำเอาชุดเด็กพร้อมมาขนหนูมาให้เช็คตัว แล้วก็บอกคุณปล่อยเด็กให้อาการหนักอย่างนี้ได้อย่างไร เสร็จแล้วรีบไปห้องฉุกเฉินเลยนะ
เมื่อเข้าห้องฉุกเฉินครั้งนี้สอง คุณหมอก็มายืนล้อมเด็กจำไม่ผิดเลยคุณหมอสี่คน พร้อมกับพยาบาล อีกสามคน ช่วยกันใช้เครื่องชุดใหญ่ใส่ที่ทั้งปากและจมูก ส่วนนางพยาบาลก็กดตัวเด็ก ซึ่งในขณะนั้นทุกคนไล่ครูและแม่ออกไปข้างนอกก่อน ครูจึงมาบอกนักศึกษาให้กลับไปก่อนเพราะเวลากว่าสองทุ่มแล้วไม่ต้องห่วง เดี๋ยวครูจัดการเอง ก่อนกลับนักศึกษาวิ่งไปซื้อน้ำ นม ขนม และแพมเฟิลสำหรับเด็ก ทั้งแม่และครูในใจต่างไม่ดีกันเลย ครูพยายามแบบใจเย็นมากๆ ต้องตั้งสติให้ดีจะปลอบโยนแม่อย่างไร ถ้าเด็กอาการหนักขนาดนี้ ประเมินจากทั้งคุณหมอและพยาบาล สุดท้ายคุณหมอก็เรียกครูเข้าไป
คุณหมอ : ครูไปเจอเด็กที่ไหน อาการของเด็กหนักมาก ถ้าต้องให้รอดต้องใช้เครื่องช่วย หายใจชุดใหญ่นะ แต่ทางเราจะดูแลอย่างเต็มที แต่ยังไม่รู้นะต้องดูอาการในแต่ละวันของเด็กก่อน ต้องใช้เงินพอสมควร ครูไหวไหม
ครู : ขอปรึกษา ครูหยุยก่อนนะ ขอเวลา ห้านาที ซึ่งในใจครูจะมีคนมามอบเงินให้จำนวน 50,000 บาท จากการทำสมุดทำมือ จะมามอบวันเสาร์หน้าแต่ขอใช้ก่อน จึงโทรหาคนที่จะมอบให้ทันทีของใช้เงินก่อน แล้วจึงโทรบอกครูหยุยว่า ครูพาเด็กมาที่โรงพยาบาลเด็กอาการติดเชื้อในปอดรุนแรงมากจำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจขออนุมัติเงิน ซึ่งครูหยุยก็บอกว่าเดี๋ยวจัดการให้ ขาดอีกห้าหมื่น สำรองไว้ก่อนหนึ่งแสนบาท ครูจึงเดินไปหาคุณหมอ ซึ่งในขณะนั้นทุกคนกังวลกันมากเห็นสีหน้าทุกคน ครูจึงบอกว่า คุณหมอจัดการเลยคะ ใช้เครื่องช่วยหายใจให้เด็ก เรื่องค่าใช้จ่ายทางเรามีจ่ายแล้วคะ
คุณหมอ : ทุกคนยิ้มออกมา แล้วเดินเชิญครูนั่งเพื่ออธิบายขั้นตอนการรักษาพยาบาล ว่าต้องทำอะไรบ้าง ค่ารักษาพยาบาลต้องจ่ายอะไรบ้าง
สำหรับครูในขณะนั้นในใจมันยิ้มคะ อย่างน้อยสุดเราทำเต็มที่ เราสู้กันอีกยกสำหรับค่าใช้จ่าย และที่สำคัญสุดการทำงานอย่างนี้มันต้องใช้ใจต่อใจกับทุกภาคส่วน แล้วก็เริ่มการจ่ายเงินในคืนนี้โดยการซื้อยา จ่ายค่าเอ๊กเรย์ ค่าตรวจเลือด ค่าตรวจปัสสาวะ ค่าตรวจอุจจาระ ทุกอย่างเร่งด่วนหมดคะ ครูวิ่งขึ้น-วิ่งลงระหว่างชั้น สาม ชั้นสี่ เป็นสิบรอบ แต่มันมีความสุขคะ..กว่าจะเสร็จทุกอย่างในคืนนั้นก็เกือบเที่ยงคืน ในขณะที่เจ้าหน้าทีเข็นรถเด็กชายเจม เจ้าหน้าที่หันมาบอกว่า ครูวันนี้ครูทำบุญกับหนึ่งชีวิตเลยนะ เด็กคนนี้รอดเพราะครูตัดสินใจนะ...ครูได้แต่ยิ้มคะ....แต่ในใจครูคิดไปถึงระบบสาธารณะสุขของคนต่างด้าวต้องเป็นจริงอย่างไร ถ้าวันนี้ครูไม่มีเงินไม่มีหน่วยงานเด็กคนนี้ตายใช่ไหม.....ไม่คิดจะโทษใครนะ... แต่ต้องคิดต่อว่าแล้วคนกลุ่มนี้จะเข้าระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลอย่างไร คืนนี้เราจ่ายทั้งหมดไป 15,650 บาทเป็นเงินสด เหนื่อยกายเพราะวิ่งมากไปหน่อยพร้อมทั้งลุ้นตลอดเวลาแต่สบายใจคะ
ในช่วงเช้าขอวันรุ่งขึ้น ครูจึงได้มีโอกาสเตรียมข้าวของเครื่องมาเยี่ยมน้องเจมทุกวัน น้องเจมรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลทั้งหมดจำนวน 12 วัน สามวันแรกยังลุ้นอยู่คะ น้องเจมยังหลับสนิทอาการยังเหมือนหนักอยู่ คุณหมอก็ปลอบใจครูทุกวัน ส่วนแม่เด็กก็ให้เฝ้าลูก แม่เด็กน้อมน้อบมาก ครูขอเพียงอย่างเดียวในขณะที่ลูกป่วยขอให้แม่หยุดทุกอย่างเฝ้าลูกให้หายก่อน ค่ารักษาพยาบาลของเด็กทางครูรับผิดชอบเองพร้อมอาหารการกินของแม่ ซึ่งทางโรงพยาบาลจะจัดอาหารให้แม่เด็กเพิ่มให้อีกหนึ่งทุกวัน ครูจะมาเยี่ยมทุกวัน จนทั้งคุณหมอและพยาบาลแซวว่าเป็นลูกครูเมื่อชาติที่แล้ว ทุกครั้งในช่วงสามวัน ที่ยังไม่มีปฏิกิริยาตอบสนอง ครูจะเข้าไปกอดทุกครั้งกระซิบว่าเจ้าน้องเจมหนูต้องสู้ด้วยนะ อย่าให้ครูสู้อยู่คนเดียว สู้ด้วยกันจ๊ะ ฟื้นกลับมาเป็นน้อเจมคนเก่งของป้าอีกครั้ง นั่งภาวนาด้วยกันเป็นครึ่งชั่วโมง ถ่ายทอดความรักความปราถนาดีด้วยกันทุกวัน วิกฤติครั้งนี้จะเป็นตัวอย่างให้เด็กเร่ร่อนต่างด้าวอีกหลายหมื่นคนเลยนะ
ค่ารักษาพยาบาล ทางเราจะจ่ายกับทางโรงพยาบาลทุกสามวันครั้ง น้องเจมใช้เวลาในการรักษาตัวในโรงพยาบาลจำนวน 12 วัน หมดค่าใช้จ่ายไปทั้งสิ้นจำนวน 52,236 บาท ฝ่ายนักสังคมสงเคราะห์เชิญครูไปพบ แล้วอธิบายถึงการซื้อหลักประกันสุขภาพให้เด็กกลุ่มนี้ โอ้โฮฟังแล้วใจมันชื่นเลยคะว่าจะช่วยลดค่าใช้จ่าย รีบเดินไปที่โรงพยาบาลราชวิถีอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งในใจก็ไม่กล้านะ...เพราะเพิ่งโดนปฏิเสธเคส แต่ก็ไปฝ่ายขายหลักประกัน ไปถึงบอกว่าจะมาซื้อหลักประกันให้เด็ก เขาบอกว่าต้องให้พ่อแม่มาและต้องมีพาสเปอร์ครบ เอกสารครบทุกอย่างถึงจะซื้อให้ได้ คุณเป็นใคร...มาซื้อให้เด็กไม่ได้ เดินงอย คอตก กลับมาเลยคะ...ไม่เป็นไรมันต้องมีหนทางให้คนเหล่านี้ซิ จะจนปัญญาโดยไม่มีหลักประกันให้คนเลยหรือ...
นางสาวทองพูล บัวศรี
ผู้จัดการโครงการครูข้างถนน มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก