banner
พุธ ที่ 10 เดือน มิถุนายน พ.ศ.2558 แก้ไข admin

เด็กเร่ร่อนวัยรุ่นกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปในสังคมไทย

 


                   จากการทำงานของโครงการครูข้างถนน มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก ได้เริ่มมาตั้งแต่ปี 2531 จนถึงปัจจุบันนี้ เป็นระยะเวลากว่า 25 ปี ในการทุ่มเททั้ง ครูข้างถนน อาสาสมัครพิทักษ์เด็กเร่ร่อน ตลอดจนขยายผลต่อการทำงาน ไปยังหน่วยงานภาครัฐและองค์กรพัฒนาเอกชน จนมีครูข้างถนนที่ลงทำงานจำนวนไม่น้อยกว่า 200 คน ทั่วประเทศ  คนทำงานช่วยเหลือเด็กมีจำนวนเพิ่มขึ้นแต่ปัญหาเด็กเร่ร่อนทำไม ไม่ลดลงเลยกลับจะเพิ่มมากขึ้น   เมื่อมีเด็กเร่ร่อนพลัดทิ้งเข้ามาในประเทศไทย  สิ่งเหล่ากำลังเป็นปัญหาของคนทำงานครูข้างถนน  อีกกลุ่มหนึ่งที่จะอดกล่าวถึงไม่ได้ คือกลุ่มเด็กไทยที่เติบโตเป็นเด็กวัยรุ่น  ซึ่งเป็นกลุ่มที่ทำงานยากสุด ในขณะนี้ยังไม่มีบ้านแห่งไหนรับเด็กเร่ร่อนวัยรุ่นไปอยู่หรือทำกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง ด้วยสาเหตุคือเด็กโตเกิน มีความคิดและอิสระมาก อารมณ์ฉุนเฉียวตามวัย ทำงานยากมากที่จะประสบความสำเร็จเพราะมีเงื่อนไขมาก และในขณะเดียวกันคนทำงานครูข้างถนนองค์ความรู้ของคนปฏิบัติงานกับเด็กเร่ร่อนวัยรุ่นก็ยังน้อย  ต้องมีกลวิธีแบบใหม่ที่จะเข้าถึงใจของเด็กเหล่านั้นแล้วพร้อมที่จะพัฒนาตนเอง  แล้วเด็กเร่ร่อนวัยรุ่นเหล่านี้มาจากไหน  ขอแบ่งทีมาของเด็กเหล่านี้ คือ

                   1.เด็กเหล่านี้บางคนที่เป็นเด็กเร่ร่อน ตั้งแต่การเร่ร่อนมากับครอบครัว (ที่มีการย้ายถิ่นฐาน) มาอาศัยถนนเป็นที่อยู่ หรือเป็นที่ทำมาหากิน ส่วนมากครอบครัวเด็กและตัวเด็กจะอยู่ชาญเมือง เช่นพื้นที่ รังสิต มีนบุรี บางกะปิ เป็นต้น  เด็กได้ช่วยครอบครัวในการประกอบอาชีพ ตั้งแต่การเก็บขยะ การขอทาน การรับจ้างทำงาน เมื่อเติบโตขึ้นมาจนอายุประมาณ 12 ปีขึ้นไป เด็กจะรู้จักพึ่งตนเองก็จะออกจากครอบครัวไปหากลุ่มเพื่อน โดยเริ่มไปนอนนอกบ้าน พร้อมกับบางครอบครัวที่พักไม่พอกับที่นอนของลูกในครอบครัว  ลูกคนโตก็จะเสียสละไปใช้ชีวิตเป็นเด็กเร่ร่อนสุดท้ายคือ ไม่กลับครอบครัวอีกเลย  กรณีตัวอย่าง

                    ครอบครัวน้องสอง(นามสมมุติ)  พ่อแม่แยกทางกัน เด็กอาศัยอยู่กับพ่อ? พ่อเด็กทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ของเทศบาล และได้มีครอบครัวใหม่มีน้องสาวคู่แฝด  ทั้งบ้านให้ความสนใจและรักใคร่ดูแลเด็กน้องสองคนเป็นพิเศษ  สำหรับน้องสองต้องการจะเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวให้ได้  และตัวสองเองก็เรียนหนังสือที่โรงเรียนแห่งหนึ่งเรียนซ้ำชั้น ชั้นประถมศึกษาปีที่ สามถึงสองปี ทำให้เด็กไม่อยากไปเรียนหนังสือ และมีสิ่งที่ยั่วยุให้เด็กอยากได้มีเงินเลี้ยงตนเอง จึงออกมาขอทานที่หน้าฟิวเจอร์ปาร์ครังสิต โดยมีการนอนกลิ้งกับพื้นทำให้คนที่ผ่านไปผ่านมา ซึ่งครูข้างถนนได้ลงพื้นที่มาพบด้วย  ปัจจุบันเด็กออกจากบ้านแบบถาวรไม่กลับเข้าบ้านปฏิเสธคนในครอบครัว  ในขณะนี้ก็เน้นการพูดคุยกันอยู่  รวมถึงการหาทางออกด้วยการทำงานเพื่อเลี้ยงชีพตนเอง พบเด็กเป็นครั้งคราวที่ใต้สะพานแก้ว

                   ครอบครัวน้องฝน(นามสมุติ) แม่เด็กเสียชีวิต พ่อเด็กต้องดูแลลูกทั้งหมดจำนวน 5 คน พร้อมกับลูกของภรรยาใหม่อีก 1 คน ทางครูข้างถนนเห็นว่าลูก 4 คน ควรได้รับโอกาสทางการศึกษา โดยแบ่งเด็กชายไปเรียนหนังสือที่บ้านสร้างสรรค์เด็ก  เด็กผู้หญิงก็มาอยู่ที่บ้านอุปถัมภ์เด็ก  ในช่วงปิดเทอมทีไรพ่อกับแม่เลี้ยงจะเพียรพยายามมารับเด็กไป โดยให้เด็กออกไปขอทานตามชุมชนต่างๆมาเลี้ยงครอบครัว และแลกกับสิ่งของที่พ่อให้เด็กเองก็ไม่อยากที่จะกลับมาอยู่ยังของบ้านของมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก  แต่ด้วยการติดตามเคสอย่างต่อเนื่องและการใช้กฎหมายเข้าไปผลักดันให้พ่อส่งลูกกลับเข้ามารับบริการ การดูแล การพัฒนาและการมีส่วนร่วม  ในปัจจุบันเด็กผู้ชาย 3 คน ได้ออกจากการเรียนกลางคันและออกไปใช้ชีวิตข้างนอก โดยปราศจากการอยู่กับครอบครัวของพ่อ  ครอบครัวพ่อเด็กเองก็ใช้ชีวิตเร่ร่อนไปตามที่ต่างๆเพราะไม่สามารถปรับตัวเข้ากลุ่มคนไร้บ้านได้ โดยเฉพาะการอยู่อย่างมีหลักเกณฑ์และการเคารพซึ่งกันและกัน  และลูกสาวอีก 1 คน ก็ออกจากโรงเรียนกลางคันมาใช้ชีวิตบนถนนกับครอบครัว  เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เด็กวัยรุ่นข้างถนนเพิ่มขึ้น

                    2.เด็กเร่ร่อนชั่วคราว เคยช่วยพ่อแม่ทำงาน เช่น การเช็คกระจก ขายหนังสือพิมพ์ ขายพวงมาลัย ทำงานรับจ้าง ล้างชามก๋วยเตี๋ยว เข็นผัก ในช่วงกลางคืน  ส่วนในช่วงกลางวันเด็กเหล่านี้บางคนได้มีโอกาสเรียนหนังสือ แต่พอเด็กอายุประมาณสัก  12 ปี ขึ้นไป เมื่อเด็กพึ่งตนเองได้ก็จะออกจากครอบครัว  เพราะครอบครัวไม่ต้องการรับผิดชอบ เด็ก  และเด็กก็รู้สึกว่าตัวเองทำงานเลี้ยงครอบครัวมานานแล้ว เด็กต้องการความอิสระภาพ  จึงออกมารวมกลุ่มกันเอง แล้วใช้ชีวิตไปเรื่อยๆ  พื้นที่ที่พบเด็กเหล่านี้ พื้นอโศก พื้นที่ซอยนานา สี่แยกคลองเตย  สี่แยก อสมท. สี่แยกถนนอยุธยา สี่แยกยมราช เป็นต้น ตัวอย่าง เช่น

                   -ครอบครัวน้องไพร(นามสมมุติ) เด็กมีพี่น้องทั้งหมด 5 คน เด็กมีสองพี่น้องซึ่งเป็นชาวต่างชาติ โดยแม่เป็นสามีใหม่ เด็กทั้งสองจะออกจากที่ชุมชนมาทำงานเช็คกระจกที่สี่แยกอโศกตั้งแต่เวลา 19.00-24.00 น.ทุกวัน โดยเด็กจะเดินทางมาเอง แล้วกลับเองด้วยจักรยาน  ในช่วงกลางวันเด็กเรียนหนังสือ ซึ่งบางวันเด็กนอนหลับที่โรงเรียน หรือบางสัปดาห์เด็กไปเรียนเพียงแค่ 2-3 วันเท่านั้น สุดท้ายในปัจจุบันนี้เด็กออกจากบ้านไปอยู่กับเพื่อนที่ถนนอังรีดูนังต์  แล้วก็เคลื่อนย้ายไปเรื่อยๆ  ส่วนน้องสาวในขณะนี้อายุ 14 ปี มีแฟนที่เป็นเด็กเร่ร่อนเหมือนกันแต่ยังกลับบ้านที่ในชุมชนเป็นครั้งคราว                  

                     -ครอบครัวน้องสมใจ (นามสมมุติ) ที่มีพี่น้องทั้งหมด 5 คน แต่ละคนใช้ชีวิตบนถนน ตั้งแต่แม่ถูกจำจำคุกอยู่ในทัณฑสถานหญิงคลองไผ่  จังหวัดนครราชสีมา  น้องๆทั้งหมดก็ไม่มีบ้านอาศัยบนถนนแล้วแต่เพื่อนพาไป เคลื่อนย้ายไปพัทยา ภูเก็ต เชียงใหม่ สลับกัน  มีโอกาสเจอพี่น้องเป็นครั้งคราว หรือเวลาถูกจับแล้วไปเจอกันที่เรือนจำ  สำหรับน้องสมใจแต่งงานมีลูกแล้ว 3 คน แต่ยังออกมาเช็คกระจกในช่วงกลางคืน โดยสามีดูแลลูก  ซึ่งสมใจจะบอกกับครูข้างถนนว่าชีวิตไม่มีอะไรแน่นอน  โอกาสที่จะพาลูกมานอนบนถนนมีสูงมากเพราะค่าเช่าบ้านเพิ่มขึ้นมาก สามีก็มีงานทำเป็นบางวัน รายจ่ายแน่นอน แต่รายได้ไม่แน่นอนเลย  ขนาดมีมูลนิธิฯช่วยเหลือ นม อาหารเสริม เครื่องใช้ของเด็ก เป็นต้น

                   3.เด็กเร่ร่อนที่ไม่เคยรับบริการจากหน่วยงานไหน ซึ่งจะมีเด็กเร่ร่อนบางคนที่เข้าอยู่ตามแก๊งค์ เด็กเร่ร่อนบางคนเร่ร่อนตั้งแต่อายุ 7 ปีขึ้นไป แล้วใช้ชีวิตเหล่านี้บนถนน โดยมีพี่หัวหน้าแก๊งค์ดูแล อาจจะให้เด็กขอทาน ส่งยา ซื้อของ ขายของ  เด็กเหล่านี้จะไม่เข้ารับบริการจากหน่วยงานไหนทั้งนั้น เพราะมีความเชื่อมั่นในการหากินเลี้ยงตนเอง สิ่งที่พบคือเด็กบางคน เคยกระทำความผิดในเรื่องต่างๆแล้วเข้าไปอยู่ในสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน บางคนถูกส่งไปฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชน เป็นระยะเวลายาวนาน  เมื่อพ้นจากการฝึกอบรมแล้ว ต้องกลับมาใช้ชีวิตบนถนน แต่ก็เข้าไปเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมอีกครั้ง  แต่ครั้งต่อไปก็คือการเข้าไปอยู่ในเรือนจำเพราะอายุสูงเกินเกณฑ์ ต้องเข้าไปจำคุกผู้ใหญ่       

                   4.เด็กเร่ร่อนที่เคยเข้าไปอยู่เป็นเด็กในสถานสงเคราะห์หรือบ้านขององค์กรพัฒนาเอกชน ซึ่งเรียนหนังสือในระดับหนึ่ง แต่เมื่อย่างก้าวเข้าสู่วัยรุ่น ไม่อยากถูกตีตราว่าเป็นเด็กสถานสงเคราะห์หรือองค์กรพัฒนาเอกชน  จึ่งออกมาใช้ชีวิตภายนอก และตัวเด็กเองก็คิดว่าตัวเองเป็นผู้ใหญ่อยากใช้การเผชิญชีวิตด้วยตนเอง โดยอาศัยบนถนนเป็นที่อยู่อาศัย และทำมาหากิน  สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้เด็กเร่ร่อนวัยรุ่นเหล่านี้มั่นใจว่าตัวเองพึ่งตนเองได้ แต่ปัญหาที่พบคือการวมตัวกันเป็นแก๊งค์  ซึ่งส่งผลให้เด็กเร่ร่อนวัยรุ่นเหล่านี้กลับใช้ชีวิตที่เสี่ยงเป็นอย่างมาก

                   -ครอบครัวของน้องส้ม (นามสมุติ) ที่ได้มีโอกาสเข้าไปอยู่ในสถานสงเคราะห์บ้านราชวิถี เข้าเรียนหนังสือตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 แล้วเกิดความไม่เข้าใจกันระหว่างเพื่อนที่อยู่ด้วยกันในสถานสงเคราะห์ พร้อมกับแม่ที่เคยเร่ร่อนอยู่ในพื้นที่หัวลำโพง ไปเยี่ยมลูกที่สถานสงเคราะห์ เด็กจึงอยากกลับมาอยู่กับแม่ที่ถนน  ทำให้น้องส้มตามแม่ออกมาอยู่บนถนน แม่ก็รับกลับมาทั้งที่ไม่พร้อม ไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่งนอนตามพื้นที่สาธารณะไปทั้ว ตั้งแต่สนามหลวงจนถึงพื้นที่หัวลำโพง ปัจจุบันตามหาทั้งครอบครัวไม่พบ แต่ได้รับทราบว่าไปขายบริการ สิ่งเหล่านี้คือสภาพที่เกิดขึ้นจริงในงานภาคสนาม

 

สิ่งที่ดำรงชีวิตของเด็กเร่ร่อนวัยรุ่น

1. เด็กขอทาน เก็บขยะขาย ขายเรียงเบอร์ ส่วนมากเป็นเด็กเร่ร่อนที่อายุน้อย และเร่ร่อนมาพร้อมครอบครัว เด็กเหล่านี้จะใช้การขอทาน และเก็บขยะเป็นการหารายได้เลี้ยงครอบครัว ทำงานพร้อมกับคนในครอบครัว มักจะพบได้ในครอบครัวเร่ร่อน กลุ่มเด็กเร่ร่อนวัยรุ่น ที่พบบ่อยคือกลุ่มที่ตัวโต หรือบางคนก็เจ็บป่วย ต้องหากินซื้อข้าวหรือซื้อยา เพื่อให้ชีวิตตัวเองอยู่รอดในขณะนั้น  ซึ่งกลุ่มเด็กเร่ร่อนวัยรุ่น ถ้ามาขอทานถือว่าเป็นการเสียศักดิ์ศรีของพวกเขา

2. เด็กขายดอกไม้ ขายพวงมาลัย ขายพลุ เข็นรถรับจ้างขนของระหว่างชายแดน รับจ้างกางร่มให้นักท่องเที่ยว รับจ้างถ่ายรูปกับนักท่องเทียว ส่วนมากเป็นเด็กเร่ร่อนที่พ่อแม่ใช้เด็กมาขาย พบมากในจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ภูเก็ต สระแก้ว เป็นต้น สำหรับในกรุงเทพมหานคร คือวัยรุ่นที่ออกมาเข็นผัก  เช่นตลาดปากคลองตลาด  ตลาดพระโขนง  ตลาดสี่มุมเมืองรังสิต  ตลาดไทย ซึ่งจะตื่นมาแต่เช้า แล้วพอบ่ายๆเด็กเร่ร่อนกลุ่มนี้จะหาที่นอน

3. เด็กเร่ร่อนขายบริการทางเพศ เด็กเร่ร่อนที่เข้าสู่การขายบริการทางเพศ เริ่มจากเด็กเร่ร่อนที่เป็นวัยรุ่น ที่สามารถขายตัวได้ เด็กเหล่านี้แต่งตัวจะดูสะอาดส่วนมากคนที่ต้องการซื้อบริการจะเป็นชาวต่างชาติ และชายไทย แต่มีเด็กเร่ร่อนกลุ่มหนึ่งที่ถูกละเมิดทางเพศแบบไม่เต็มใจโดยเป็นชาวต่างชาติที่มีการอัดวีดีโอ หรือมีการปั้มขายแผ่นซีดี  การร่วมเพศกับเด็กเร่ร่อนชาย ในขณะนี้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น แต่ในปัจจุบันเด็กเหล่านี้ก็มีชายไทยใช้บริการ  หรือบางคนกลายเป็นแม่เล้าหาเด็กเร่ร่อนชายขายบริการทางเพศ  ในขณะเดียวกันเด็กเร่ร่อนเริ่มเข้าสู่งานบริการทางเพศมากขึ้น เพราะการทำงานสบายได้เงินจำนวนมาก และต้องการได้เงินมาดูแลเพื่อนเพื่อให้เป็นที่ยอมรับของกลุ่มเพื่อน หรือบางคนหาเงินมาเพื่อดูแลครอบครัวของตนเอง ส่วนมากจะมีเพศสัมพันธ์โดยไม่มีการป้องกันจากโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์    ในปัจจุบันนี้มีเด็กเร่ร่อนวัยรุ่น ที่ติดเชื้อโรคเอดส์ และยังมีอาชีพขายบริการทางเพศ ที่ยังอยู่ในพื้นที่ และยังขายบริการทางเพศ  เช่น พื้นที่พัฒนพงศ์  พื้นที่สะพานพุทธ  พื้นที่สวนลุมพินี พื้นที่สนามหลวง แต่ในต่างจังหวัดที่พบเด็กเร่ร่อนขายบริการทางเพศ ได้แก่ เชียงใหม่ พัทยา ภูเก็ต เชียงราย  อุดรธานี  อุบลราชธานี  นครราชสีมา  ครูข้างถนนได้เพิ่มอีกหนึ่งบทบาท คือ เป็นสัปเรอเผาศพเด็กเร่ร่อนที่ตายเพราะโรคเอดส์ 

4. เด็กเร่ร่อนที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรม เด็กเร่ร่อนที่โตเป็นวัยรุ่นจะทำงานหาอาชีพที่เป็นหลักแหล่งนั้นไม่มี บางคนเข้าไปเกี่ยวข้องกับการขายยาเสพติด เป็นตัวแทนส่งยา หรือเกี่ยวข้องกับการลักทรัพย์ ปล้น ขโมย และการขายซีดีเถื่อน เด็กเร่ร่อนส่วนมากเข้า-ออกสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนในแต่ละจังหวัดคนละหลายครั้ง  ใช้ชีวิตบนถนนเหมือนเคยก่อนที่จะถูกจับ ชีวิตที่หลักลอย ไม่มี่ที่อยู่อาศัย และที่สำคัญตัวเด็กเองไม่ต้องการที่จะปรับให้ตัวเองเหมือนเด็กเยาวชนทั่วไป  พร้อมทั้งขาดโอกาสทางการศึกษา จึงไม่สามารถที่จะเลือกงานทำได้  สุดท้ายเยาวชนต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำ  ส่วนใหญ่พบเด็กกลุ่มนี้ในจังหวัดอุดรธานี ขอนแก่น เชียงใหม่  สำหรับกรุงเทพมหานคร ได้แก่ พื้นย่านสะพานพุทธ สวนลุมพินี เป็นต้น 

5. เด็กเร่ร่อนกับยาเสพติด สารเสพติดที่พบมากที่สุด คือ การดมกาว เด็กเร่ร่อนส่วนใหญ่เคยมีประสบการณ์การใช้ยาเสพติด ทั้งกาว ยาบ้า กัญชา หรือกระทั่ง เฮโรอีน ก่อนจะมาทำเป็นอาชีพผู้ขายหรือส่งยา เด็กที่ทำอาชีพนี้ และเด้กทุกคนที่พึ่งพายาเสพติดมีมั้งที่เกิดจากเพื่อนชักชวน และความอยากลองของตนเอง ทั้งๆที่เด็กทราบถึงผลร้ายของสารเสพติดเป็นอย่างดี ซึ่งตามคำบอกเล่าของเด็กบอกว่า เวลาดมกาวจะมีอาการดึงดาว คือเขาจะมองเห็นหน้าแม่อยู่บนดาวดวงนั้น จึงเอื้อมมือคว้าให้แม่มาอยู่ใกล้ๆอยากได้ครอบครัวอบอุ่นก็นั่งดึงดาวเอา สมมุติเป็นพ่อแม่พี่น้องที่รักกันเป็นดี ห่วงใยตัวเด็กเร่ร่อน

สำหรับเด็กเร่ร่อนวัยรุ่นที่ติดกาว เคยมีครูหน่อง (ธีรพันธ์ ศุกกระกาญจนะ) รองเลขาธิการมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก หัวหน้าโครงการครูข้างถนนคนแรก(ปัจจุบันเสียชีวิตตั้งแต่ปี 2540) เคยพาผู้เขียนไปทำงานกิจกรรมการออกค่ายเด็กเร่ร่อนแก้ไขปัญหายาเสพติด กรณีกาว  โดยพาเด็กเร่ร่อนเหล่านี้ไปค่ายที่น้ำตกเอราวัญ  ที่จังหวัดกาญจนบุรี ไปกันประมาณ 10 วัน โดยเน้นให้เด็กได้ผ่อนคลาย กลางวันจะพาเด็กเดินทางไกลไปตามแหล่งธรรมชาติ ให้ใช้แรงให้หมด  ส่วนครูจะทำอาหารไว้ให้เต็มที่เมื่อเด็กหิวก็จะกลับมากิน จนอิ่มแล้วให้เด็กนอน  แต่มีข้อแม้ว่าจะต้องอยู่ไกลห่างจากร้านขายทุกแห่งชาติ ครูต้องเตรียมทุกอย่างไปพร้อม คือสิบวันนั้นทั้งเด็กและครูอยู่กันในบ้านจริงๆๆ เสร็จแล้วก็มานั่งคุยกันเรื่องชีวิตทั้งครูและเด็กว่าผ่านอะไรกันมาบ้าง  แล้วให้เด็กช่วยกันวางแผนว่าจะทำอย่างไรกับชีวิตตนเอง ในวันที่สองถึง สิบ  ส่วนวันสุดท้ายต่างคนต่างได้ใจเด็กกันแล้วก็แบ่งครูไปคุยเราเรียกกันว่า สยบเสือ(ในเด็กเลือกว่าจะเอาอย่างไรกับชีวิตเมื่อกลับถึงกรุงเทพ)  จะมีเด็กส่วนหนึ่งที่เลิกกาว เพราะอย่างน้อยห่างมาแล้วสิบวัน  เป็นกิจกรรมที่ต้องนำกลับมาดำเนินการกับเด็กรุ่นนี้ใหม่

6.เด็กเร่ร่อนวัยรุ่นเองเมื่ออยู่ในพื้นที่ แล้วต้องการให้เพื่อนยอมรับตน เด็กเหล่านี้มีการทะเลาะเบาะแว้งกันระหว่างพื้นที่  จึงให้เด็กบางคนบาดเย็บ ที่ต้องนอนโรงพยาบาล ซึ่งไม่เป็นสาเหตุ แต่สำหรับเด็กเร่ร่อนวัยรุ่นเองถือว่าเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะเกี่ยวข้องกับศักดิ์ศรีของเด็กเอง  ซึ่งกลุ่มแต่ละฝ่ายก็ต้องหัวหน้าแก๊งค์ที่ไม่เปิดเผยตัว และมีการเกี่ยวข้องกับเรื่องการลักทรัย์ การจี้ การปล้น  โดยใช้กำลังเป็นส่วนใหญ่  เมื่อเกิดเรื่องเด็กเหล่านี้ก็จะพากันหลบออกจากพื้นที่ชั่วคราว  หรือบางก็ถูกจับเข้าสู่เรือนจำ  ก็ไม่พ้นวัฏจักร เข้า-ออกเรือนจำเป็นประจำ จนเป็นผู้ใหญ่

7.เด็กเร่ร่อนวัยรุ่นบางคนมีอาชีพขายซีดี ส่วนมากเป็นซีดีเถือน โดยรับจ้างเจ้าของอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเจ้าของจริงไปเปิดเผยตัว หรือบางคนก็รับจ้างติดคุกแทนเจ้าของร้านเหล่านั้น  พวกเด็กๆๆเหล่านี้จะใช้คำว่า “ช่วยราชการ”  ซึ่งบางคนก็เป็นคนส่งข่าวให้กับตำรวจเป็นครั้งคราว โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ขายสินค้ากลางคืน  เด็กเหล่านี้ถึงแม้จะโตแล้วก็เป็นเหยือได้เหมือนกับเด็กเร่ร่อนตัวเล็กๆเหมือนกัน

 

ทางออกสำหรับเด็กเร่ร่อนวัยรุ่น

1.เด็กเร่ร่อนวัยรุ่น ถึงอย่างไรก็ยังต้องบ้าน  แต่ต้องเป็นบ้านที่เข้าใจเด็ก  ให้เด็กเร่ร่อน  วัยรุ่นได้ออกแบบการมีส่วนร่วม
การจัดกิจกรรมในบรรยากาศแห่งความเป็นครอบครัวเดียวกัน พร้อมทั้งมีกระบวนการเพิ่มทักษะชีวิต การจัดการชีวิตของเด็ก เช่น ค่าใช้จ่ายเงิน การมีตารางชีวิตร่วมกัน การวิเคราะห์ข่าว หนัง และมุมมองการใช้ชีวิตในเชิงบวก การไม่ไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด การเป็นอาสาสมัคร การเรียนรู้สถานกาณ์จริงในเรื่องต่าง เป็นต้น และบ้านที่เป็นธรรมชาติอย่างมาก พร้อมทั้งการทำงานเกษตร  สำหรับเด็กบางคนที่ถนัดและชอบ มีน้ำ มีต้นไม้ มีมุมต่างๆ มีสัตว์เลี้ยง เป็นต้น

2.ต้องมีการฝึกอาชีพที่หลากหลายเป็นจริงได้สำหรับเด็ก  และที่สำคัญอาชีพเหล่านั้น ต้องทำมาหากินได้จริงๆและต้องคู่กับการศึกษานอกระบบและตามอัธยาศัย โดยเน้นเมื่อเด็กพร้อมเมื่อไรก็เรียน “การสมัครไม่มีรอบ สอบไม่มีรุ่น” เพราะเมื่อเด็กต้องออกไปทำงานวุฒิการศึกษาจะเป็นส่วนสำคัญของเด็กด้วย

3.กระบวนการขึ้นศาล ในกรณีที่เด็กเร่ร่อนถูกล่วงละเมิดทางเพศ ต้องเร็ว และจัดการกับชาวต่างชาติให้เร็วที่สุด  จึงต้องมีงบประมาณก้อนหนึ่งในเรื่องการตรวจสุขภาพของเด็กโดยเร่งด่วน จึงควรที่จะมี “กองทุนของเด็ก” เพราะบางครั้งต้องใช้ในช่วงกลางคืน

อย่างไรก็ตามถึงบทบาทครูข้างถนนจะทำงานกันอย่างเต็มที่ แต่จะทำให้เด็กเร่ร่อนวัยรุ่นพ้นถนนสักคนก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย จำเป็นต้องมีการทำงานเป็นทีม มีเพื่อนพ้องน้องพี่ที่ทำงานร่วมกัน