ประคองกันไป...เพื่อให้เขายืนได้
นางสาวทองพูล บัวศรี
ผู้จัดการโครงการครูข้างถนน มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก
ได้ค่ะ พี่เฮี้ยง เป็นกรณีศึกษาของใครค่ะ น้องสาม(นามสมมุติ) ตอนนี้อยู่ที่บ้านพักเด็กและครอบครัวกรุงเทพ โดนจับกันมาหมดเลย ลูกเจ็ดคนเอาไปอยู่บนถนนที่ซอยนานา
ตอนนี้ทางบ้านพักเด็กและครอบครัวจะส่งเด็กทั้งหมดไปยังสถานสงเคราะห์ กรณีศึกษานี้น่าจะมีทางออกมากกว่าส่งไปสถานสงเคราะห์ เพราะยังมียายที่คอยดูแลให้ ยังมีป้าอีกสองคนที่คอยประคอง น่าพวกเราทุกคน ช่วยกรณีศึกษานี้อย่างต่อเนื่องวางแผน เด็กก็ไม่จำเป็นที่ต้องพรากครอบครัว พรากพี่ น้อง ไปอยู่กันคนละแห่ง คนละที่
พี่เฮี้ยงค่ะ ครูเห็นด้วยอย่างมากค่ะ ที่หาทางออกร่วมกัน ให้เด็กอยู่กับครอบครัว เพราะความรัก ความอบอุ่น การเห็นแบบอย่างที่ดี ไม่มีในสถานสงเคราะห์ของรัฐและเอกชน
เมื่อมาถึงวันที่ได้พบครอบครัว ยาย พี่สาว พร้อมกับเด็กที่อยู่กับแม่เจ็ดชีวิตด้วยกัน มีการเสนอทางออกหลายวิธีด้วยกัน สุดท้าย คือให้ยายเลี้ยงสามคน อีกสี่คนต้องไปโรงเรียน พี่สาวจะเป็นคอยรับคอยส่ง พร้อมประสานงานที่โรงเรียนทางกรุงเทพมหานครจัดอาหารเช้า-กลางวันให้
สำหรับน้องสามต้องออกหางานทำในช่วงกลางวัน ด้วยวุฒิที่จบเพียง ป.3 เท่านั้น คืองานแม่บ้าน และเสริฟอาหารในช่วงตอนเย็น
ส่วนสามีของน้องสาม เป็นคนต่างด้าว ที่ยังไม่ได้ดำเนินการแปลงสัญชาติ เป็นชาวเนปาล เอกสารต่างๆยังไม่มี ออกจากบ้านมาอยู่บนถนน ตั้งแต่อายุ 9 ปี พร้อมกับพี่สาว อายุ 13 ปี แล้วมาอยู่กินกับน้องสาม
สามีทำงานก็เหมือนกับแทบไม่ได้ใช้เงินเลย ทำงานเท่าไรก็หมดไปกับการรีดไถของบางหน่วยงาน ถึงแม้หลายหน่วยจะช่วยกันเรื่องเอกสาร แต่กว่าสิบปีแล้วก็ยังไม่คืบ เงินจึงหมดไปกับการแลกเปลี่ยนการอยู่นอกคุก ในฐานะของคนต่างด้าวไม่มีเอกสาร
ค่าใช้จ่ายในบ้านทั้งหมดจึงตกอยู่ที่น้องสาม แต่ก็ยังพอไหว มีอาหารแห้งข้าวสารบางส่วนจากหน่วยงานของศูนย์ปฏิบัติการขอทาน และบ้านพักเด็กและครอบครัวกรุงเทพมหานคร
เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา พี่เฮี้ยงทำโครงการไปของบประมาณการทำกิจกรรมหลังเลิกเรียน เชิญชวนเด็กที่เลิกจากโรงเรียนมาสอนเพิ่ม สอนการทำการบ้านอย่างมีความสุขมากของเด็ก เพราะหลังเลิกเรียนเด็กได้กินนม ขนม และมีอาหาร
กิจกรรมจึงผ่านมาด้วยดี ทำกิจกรรมร่วมกันเป็นเวลากว่า 60 ครั้ง ก่อนที่จะปิดโครงการ ต้องพบว่า พี่สาวและสามี ของสามีน้องสามถูกจับในข้อหา เข้าเมืองผิดกฎหมายกว่า 30 ปี
พี่สาวเพิ่งจะคลอดลูกคนเล็กได้เพียงสามวันเท่านั้น และที่สำคัญยังมีลูกอีกสี่คน เมื่อพี่สาวและสามีถูกจับไป พยายามจะวิ่งหาเอกสารที่ครอบครัวหนีนี้แปลงสัญชาติแล้ว แต่ที่สำคัญทั้งสองคนพี่น้องยังไม่ได้ทำอะไรทั้งสิ้น ด้วยเหตุผลเดียวคือหนีออกจากบ้าน ทางครอบครัวก็ยังไม่ได้ดำเนินการ เพราะต้องให้เจ้าตัวไปยืนยันที่สำนักงานเขต
จนเวลาล่วงเลยมาอย่างยาวนานกว่า 30 ปี ตอนนี้ก็ต้องช่วยดูแลเด็กๆ คือยาย ที่ต้องดูแลหลานลูกของน้องสาม 7 คน และเด็กอีกครอบครัวของพี่สาวสามีของน้องสาม จำนวน อีก 5 คน รวมเป็น 12 ชีวิต ข้าวต้องหุงทีละ สองหม้อ กินข้าวคลุกกับน้ำปลาก็ได้ ขอเป็นข้าวมีสำรองไว้ให้เด็กๆ
พี่เฮี้ยงโทรมา อยากให้ครูจิ๋วลงไปเยี่ยมหาแนวทางช่วยเหลือกันก่อน ช่วยกันประคองชีวิตเด็กน้อยกว่า 12 ชีวิต พร้อมผู้ใหญ่อีก 3 ชีวิต เพราะคนที่จะมีรายได้มาเลี้ยงเด็กๆ ค่าเช่าบ้าน ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า มีเพียงคนเดียวเท่านั้น
เมื่อได้รับการประสานงาน วันรุ่งขึ้นลงพื้นที่ ที่ชุมชนโค้งรถไฟยมราช ลงไปพร้อมข้าวสาร มาม่า ปลากระป๋อง เครื่องครัว นม และขนมจำนวนมากหน่อย เพื่อให้เด็กๆ ได้กินนมที่อิ่มท้องไว้ก่อน
พอลงพื้นที่ พบกับสภาพเด็กน้อยที่เพิ่งคลอดได้ไม่ถึงอาทิตย์ นอนอยู่บนเปลที่ใช้ผ้าข้าวม้าผูกติกกับคานไว้ของข้าง ตรงกลางเอาเด็กน้อยนอน อยู่บนเปลด้วยไม่ได้สวมเสื้อผ้าเพราะอากาศร้อนมาก บวกกับกลิ่นของขยะที่ตั้งอยู่หน้าห้องเช่าพอดี แต่ยายก็บอกว่าจำเป็นต้องอยู่ที่นี้ เพราะข้างในค่าเช่าแพงมาก มาอาศัยหาไม้มาปลูกแต่ก็ยังเสียค่าเช่าที่ดิน เกือบเท่าค่าเช่าบ้านเลย
คนจนไม่มีทางเลือกเสียงของยายบอกกับครูว่า ครั้งนี้ต้องเลี้ยงเด็ก 12 คน มากที่สุดเท่าที่เคยเลี้ยงมา จะทำอย่างไรก็เกิดมาแล้ว กำลังกินกำลังนอน คงต้องดูแลกันไปก่อนกว่าพ่อแม่ของเด็กจะออกมา แต่ก็ไม่รู้ว่าอยู่กันอย่างนี้กี่เดือน กี่ปี ประคองกันไปก่อนนะครู ครูอย่างเพิ่งทิ้งกันนะ
ยายเองก็เป็นนิ่วที่ท้องน้อย ปวดท้องเป็นระยะ แต่ก็พยายามอดทน เพื่อเลี้ยงเด็ก เด็ก ในช่วงวันจันทร์ ถึง วันศุกร์ ตื่นขึ้นมาก็ หาอาหารเช้า ข้าวหุงเป็นหม้อ ไข่ต้ม ไข่เจียว ผัดผัก ต้มกระดูกไก่ บางครั้งก็ต้มวุ้นเส้น ต้มมาม่า ต้มหมี่ ผัดหมี่ ยำปลากระป๋อง ต้มปลากระป๋อง ฯลฯ แล้วแต่สิ่งของที่มี ทำที่ละอย่างแต่ให้อิ่มด้วยกันทั้งหมด ส่วนหนึ่ง 7 คนไปโรงเรียน บางวันอาหารเช้าไปอาศัยที่โรงเรียนพร้อมอาหารกลางวัน บางเย็นครูจะใส่กับข้าวที่เหลือ แบ่งปันมาให้เด็กกินต่อมื้อเย็นของแต่ละวัน จึงมีอาหารหลายอย่าง อย่างละนิดอย่างละหน่อยเป็นต้น
สำหรับตัวเล็กกินนมที่ครูเอามาให้ แต่ต้องระมัดระวังเรื่องท้องเสียเหมือนกัน เจ้าหนุ่ยตัวเล็กไม่เคยร้องไห้เลย ให้กินอะไรก็กิน ตอนนี้ก็เกือบสามเดือนกับการจากพ่อแม่ของตัวเอง กลับมาครั้งนี้จะจำหน้าพ่อแม่ได้หรือเปล่ายังไม่แน่ใจเลย
ส่วนยายเองในช่วงกลางวันจะงัวอยู่กับเด็กห้าคน สามคนพอช่วยตัวเองได้ จะเข้าเรียนปีหน้าสามคน อีกสองคน คนหนึ่ง 1 ปี 8 เดือน อีกคนก็เพิ่งสามเดือน เรื่องเสื้อผ้าของเด็ก เด็ก น้องสามจัดการตากเป็นราวเลยนะ แต่ส่วนมากเด็ก เด็ก ไม่ชอบใส่เสื้อเพราะมันร้อน ทั้งห้องมีเพียงพัดลมแค่ตัวเดียวเท่านั้น
สำหรับอาหารการกินช่วงกลางวัน ก็จะเน้นสิ่งของที่บริจาคมาทำให้มากที่สุด ไม่ยอมเอาเงินที่มีออกไปซื้อเพราะต้องเก็บเป็นค่าเช่าที่ดิน กับเวลาที่เด็ก เด็ก ป่วยเพราะมีรายได้คนเดียว นมกับขนมก็จัดการแบ่งมาจากที่ครูให้บ้าง ก็กินได้ถึงสองสามอาทิตย์
ครูเองก็ประสานงานกับสองหน่วยงาน เพื่อการประคองกรณีศึกษานี้ด้วยกันคือ ศูนย์ปฏิบัติการขอทานกรุงเทพมหานคร กับบ้านพักเด็กและครอบครัวกรุงเทพมหานคร ซึ่งทางโครงการครูข้างถนน มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก จะนำสิ่งของไปให้ในช่วงต้นเดือนสัปดาห์แรกของเดือน สัปดาห์ที่สาม ของ และสี่ เป็นของทั้งสองหน่วยงาน ทุกอย่างที่นำไปให้ คือการให้เด็กได้รอด ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐาน ทั้งการประคองให้เด็กเหล่านี้อยู่กับครอบครัวให้มากที่สุด
มียายที่ทำหน้าที่เสริมพลังครอบครัวของน้องสาม กับเด็ก 12 คน ยายเป็นคุณยายที่ยอดเยี่ยมมาก การเลี้ยงดู การดูแล ด้วยความรัก ความอบอุ่น สิ่งเหล่านี้ให้มีเงินก็หาซื้อไม่ได้ ความรักของยายไม่สามารถตีเป็นตัวเงินได้ แต่คือพื้นฐานสำคัญของความเป็นครอบครัว ติดตัวเด็กไปตลอด ถึงไม่มีเงินแต่เต็มอิ่มด้วยความรัก ความปรารถนาของคนหนึ่งที่เลี้ยงดูมา
หน้าที่ของหน่วยงานต่างๆ คือเสริมทุน งบประมาณ หรือสิ่งของอำนวยให้ยาย และแม่ได้ทำหน้าที่ของคนในครอบครัวให้มากที่สุด