ขายพวงมาลัย...ก็ถูกจับ
นางสาวทองพูล บัวศรี
ครอบครัวนี้ทั้งครอบครัว มีลูกสาวสี่คนที่เป็นหลักในการขายพวงมาลัย ซึ่งคนในครอบครัวช่วยกันทำ ด้วยเงินลงทุนของครู จำนวน 700 บาท เพื่อให้แม่ได้เปลี่ยนอาชีพจากที่เมื่อก่อนแม่พาลูกน้อยตระเวนขอทาน ตั้งแต่ประตูน้ำถึงมาบุญครอง.....
เมื่อประมาณเดือนกรกฎาคม ปีที่แล้ว หลังจากพูดคุยกันมากว่าสองปีในเรื่องการเรียนของลูก แม่จึงตัดสินใจที่จะให้เด็กได้เรียนหนังสือ ครูเองก็ดีใจในการตัดสินครั้งนี้ของแม่ แต่บังเอิญยายป่วย หนักอยู่ที่ปอยเปต วันนัดจึงไม่ได้พบกัน การเรียนของเด็ก เด็ก จึงต้องรอไปก่อน
แม่ของเด็กตัวใหญ่มาก รูปร่างสูงขาว เมื่อสอบถามจึงบอกว่าพ่อเป็นคนเวียดนาม แม่เป็นลูกครึ่งเวียดนามกับจีนกัมพูชา เด็กๆ ในครอบครัวของแม่ไทร จึงน่ารักทุกคน ผิวขาวเหลือง ผมสวย ดูแลเสื้อผ้าแบบสะอาด ไม่กลิ่นตัวเลย ด้วยความสะอาดของลูก เวลาใครซื้อพวงมาลัย จึงเกิดอาการเอ็นดูไม่ต้อนทอนเงินเป็นประจำ พวงมาลัยละ 100 บาท คนซื้อบอกเองว่าไม่ต้องทอน
แม่เป็นผู้รับภาระในการตื่นแต่เช้าไปซื้อดอกไม้สดที่ตลาดปากคลองตลาด ทั้งดอกมะลิ ดาวเรือง กล้วยไม้ เส้นเชือก มาถึงบ้านเช่าที่ชุมชนบ่อนไก่เวลาประมาณสัก สิบโมงเช้า เมื่อกินข้าวกันเสร็จลูกที่เด็กหน่อยสี่คนมาช่วยกันร้อยพวงมาลัย
หน้าที่ทำอาหาร ซื้ออาหารให้น้อง ส่วนมากของเป็นลูกสาวคนโตที่อายุประมาณ 15 ปี ที่ชื่อน้องนิล เคยเรียนที่กัมพูชา เพียงแค่ ป.สาม อ่านเขียน เขมรได้นิดหน่อย หลังจากที่ยายเสียชีวิต ชีวิตน้องนิลต้องตามแม่มาอยู่กับพ่อใหม่ที่เมืองไทย
น้องนิลฝันตลอดว่า ทำงานให้เยอะๆ มีเงินมากแล้ว น้องนิลได้เข้าเรียนแน่นอน เพราะคำสัญญาของแม่ เหมือนคัมภีร์อันศักดิ์สิทธิ์ คำพูดของแม่เหมือนพรที่ส่องสว่าง น้องนิลจึงขยันกว่า เด็กคนอื่นๆในรุ่นราวคราวเดียวกัน แม้แต่เชื้อชาติเดียวกัน
หลังจากทุกคนในบ้านช่วยกันร้อยพวงมาลัยกันแล้ว น้องนิล จะ ถือกระจาดกับถัง ที่มีพวงมาลัยหลายสิบพวง มาตั้งที่ตลาดประตูน้ำบ้าง ที่สะพานลอยสยามบ้าง ที่สะพานลอยมาบุญครองบ้าง เริ่มการเป็นแม่ค้าตัวน้อย ตั้งแต่บ่ายสามเป็นประจำ
แม่ค้าตัวน้อย จะมีน้องสาวอีกคนมาช่วย หรือมานั่งเป็นเพื่อนด้วยเหตุที่ว่า น้องนิลพูดภาษาไทยได้เล็กน้อยเท่านั้น .....เพราะเพิ่งเข้ามาเมืองไทย ประมาณ เก้าเดือน เป็นเด็กที่ใครๆ เจอต้องชมว่าโคตรขยันมาก
การเป็นลูกสาวคนโต จึงเป็นลูกสาวที่พ่อกับแม่รักมาก แต่ก็เหนื่อยยากสุด เห็นทำงานตลอด ไม่เคยปริปากบ่นสักคำ การทำงานทุกอย่างถือได้ว่าเป็นเด็กยอดกตัญญูต่อแม่
แม่เองก็เปลี่ยนตนเองเยอะมาก จากการทำงานมาด้วยกันประมาณสองปี เห็นความคิดประเด็นเรื่องการศึกษาของลูก แม่ให้ความสำคัญมากขึ้น คุยลงรายละเอียดกันมากขึ้น พอพูดกันเรื่องลูก แม่และพ่อก็ไว้วางใจครูมากขึ้น เห็นจากเวลาลูกใครถูกจับแล้วหาลูกกันไม่เจอ ก็จะให้โทรหาครู...เพื่อตามหาลูก
แต่พอมาถึงครอบครัวของไทร แม่ของน้องนิล โทรหาครู และตามหากันอยู่ สามวันกว่าจะทราบว่าลูกว่าเด็กอยู่ที่ไหน
เริ่มตั้งแต่ เมื่อรับโทรศัพท์ของแม่น้องนิลว่า น้องนิลนั่งขายพวงมาลัยที่ใต้สะพานลอยเยื้องกับสยาม ติดกับหน้าวัดปทุมวนาราม น้องนิลนั่งขายอย่างนี้มาหลายเดือน ตำรวจทุกคนก็เห็นว่าเด็กทำมาหากิน ไม่ได้เกะกะทางเท้า หรือนั่งขอทานเมื่อไร ลูกค้าที่อุดหนุนทุกคนต่างชื่นชมในความขยันของน้องนิล แต่มีผู้บังคับใช้กฎหมายอยู่สองคนที่จับทุกคนที่ไม่ชอบหน้า และพูดใส่ทุกคนว่าผมอยู่ตรงนี้ใครจะมาขาย ขายพวงมาลัย มาขอทานหรือมาร้องเพลง จะจับให้หมด เพราะมันคือหน้าที่ คนเฒ่าคนแก่จับหมด
สุดท้ายน้องนิลก็โดนจับจนได้ แล้วไม่ยอมแจ้งครอบครัวของน้องนิลว่า ส่งเด็กไปที่ไหน จนต้องตามหากันให้จ้าละหวั่น เพราะเวลาที่เด็กถูกจับ ผู้ที่จับเด็กไปต้องแจ้งกับพ่อแม่ของเด็กว่าส่งไปที่ไหน แม่ไปตามที่สถานีทุกอย่างก็บอกว่ามีปัญญาก็ไปหาเอาเอง นี่หรือคำว่า “หน้าที่” ของผู้บังคับใช้กฎหมาย เมื่อครูต้องไปติดตามหาเด็กจนพบ เจ้าหน้าที่ จะบอกว่าอย่างไรตำรวจต้องรู้ว่าเอาเด็กส่งไปที่ไหน ตำรวจจะรู้ดี เพียงแต่จะบอกหรือไม่บอก ซึ่งตามหน้าที่ ต้องบอก
คำว่า “หน้าที่” นั้นยิ่งใหญ่เสมอ แต่ ผู้บังคับใช้กฎหมาย เงียบได้เหมือนกัน เพราะค่าบอกเหล่านี้คือเงิน ใช่ไหม..บางครั้งผลประโยชน์ที่เรียกว่า เงินทอน ก็ยังหาเงินกับคนจนอยู่เสมอ มีคำกล่าวว่า เงินคนจนไม่มีปากไม่มีเสียง
เมื่อรู้ว่าน้องนิล อยู่ที่บ้านพักเด็กและครอบครัวกรุงเทพ ในวันรุ่งขึ้นจึงพาแม่ไปเยี่ยม ที่บ้านพักเด็ก น้ำตาของน้องนิลเมื่อเห็นแม่ ทั้งคู่น้ำตาไหลพรากแบบไม่ขาดสายเลย ครูเองต้องเบือนหน้าหนีอีกครั้งเพราะไม่อยากเห็นน้ำตา เพราะความเจ็บจี๊ดในใจจะเกิดทุกครั้ง เด็กเหล่านี้ แม่เด็กคนนี้ ไม่ใช่ลูกหลานของท่านใช่ไหม ความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นถ้าเกิดกับลูกหลานของผู้บังคับใช้กฎหมายจะให้เกิดแบบนี้ไหม
ปล่อยให้แม่ลูกเขานั่งคุยกันว่าสองชั่วโมง ครูเองต้องหางานมาทำเพื่อรอเวลาให้แม่ลูกอยู่ด้วยกัน จนหมดเวลา ถึงการพรากจากครอบครัวของน้องนิล น้องนิลเองมีสีหน้ายิ้มแย้มมากขึ้น
เมื่อออกจากบ้านพักเด็กและครอบครัวมา ยืนคุยกับแม่ที่ป้ายรถเมล์ แม่ของน้องนิลเดินมาขอกอดครูแล้วยกมือกราบที่อก ครูเองตกใจ แต่แม่บอกว่าเหมือนพระมาโปรดเพราะถ้าหาลูกไม่เจอก็ไม่รู้ว่าชาตินี้จะได้เจอลูกอีกหรือเปล่า
เพราะพวกแม่เอง ก็จะไม่รู้ว่าลูกอยู่ที่ไหน การถูกจับก็เหมือนตัวกฎหมายทำร้ายครอบครัว เกิดการพลัดพรากความเป็นครอบครัวไปเลย แม่เด็กหลายคนถึงกราบครูเมื่อหากันจนเจอ อย่างน้อยว่าก็ทราบว่าลูกอยู่ที่สถานสงเคราะห์ในเมืองไทยหรือ สถานสงเคราะห์กัมพูชา
เมื่อถึงเวลาเจ้าหน้าที่ของบ้านพักเด็ก จะโทรหาแม่ให้แม่มาพบเพื่อคุยวางแผนในการดำเนินการรับลูกหรือการติดตามหาเอกสารของลูก โดยต้องมีกระบวนการกันอีกยาวหลายเดือน
ขั้นตอนที่ 1 แม่ต้องไปนำเอกสารของลูกที่เป็นใบเกิดและทะเบียนบ้าน ที่เด็กมีชื่ออยู่ในประเทศกัมพูชา เพื่อเป็นการยืนยันว่าเป็นแม่ลูกกัน แล้วมาแปลเป็นภาษาไทย ส่งทั้งหมดมาที่บ้านพักเด็กและครอบครัว
ขั้นตอนที่ 2 เด็กจะต้องถูกส่งไปตรวจมวลกระดูกของเด็ก โดยเด็กหญิงนิล อายุ 15 ปี ตามที่เอกสารของแม่ยืนยันหรือเปล่า จึงถามเจ้าหน้าที่ว่าเด็กที่เข้ามาบ้านพักเด็กและครอบครัว จำเป็นต้องตรวจทุกคนด้วยหรือ สิ่งเหล่านี้คือค่าใช้จ่ายของรัฐ เจ้าหน้าที่บอกว่าต้องทำตามหน้าที่ คำว่า “หน้าที่” อีกแล้ว สำหรับครู เด็กไม่จำเป็นต้องตรวจทุกคน ยกเว้นกลุ่มที่เกี่ยวข้องการคดี “ค้ามนุษย์” อย่างกรณีของเด็กหญิงนิล อายุ 15 ปี ขายพวงมาลัยเท่านั้น
ขั้นตอนที่ 3 ตามกระบวน ต้องส่งเด็กไปยังสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เพราะเด็กเข้าเมืองมาผิดกฎหมาย แล้วให้ทาง ตม.ผลักดันกลับประเทศ
ครูถามว่ากรณีส่งเด็กคนเดียวเข้า ตม. ได้ด้วยใช่ไหม ทางเจ้าหน้าที่จึงไปปรึกษากันว่าในกรณีของน้องนิล ถ้าทุกอย่างทำตามขั้นตอนแล้ว ประเด็นสุดท้ายอาจจะให้ครูเซ็นรับรองว่าเห็นเด็กและครอบครัว จึงบอกว่าครูทำงานกับครอบครัวนี้มาสองปีแล้ว
ปีการศึกษาหน้าครูจะพยายามอย่างยิ่งที่จะให้เด็กได้เข้าเรียน เหมือนเด็กคนอื่นเขา แต่อย่างไรก็ยังอยากให้เด็กออกมาทำงาน ขายพวงมาลัยก็ได้ เพราะไม่ได้ใช้แรงงานเด็ก แต่ฝึกเด็กทำงาน และเด็กเหล่านี้ก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์