banner
อังคาร ที่ 25 เดือน ตุลาคม พ.ศ.2559 แก้ไข admin

พวกเรา..รักในหลวง ของปวงประชา

                                                                                    

  นางสาวทองพูล  บัวศรี

ผู้จัดการโครงการครูข้างถนน  มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก

 

                    ตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม 2559 เป็นวันที่คนไทยทุกคนเสียในหลวงของปวงประชาไป อย่างไม่มีวันกลับ(เฉพาะร่างกายของพระองค์ท่าน) แต่ คุณงามความดีที่ทำให้กับประชาชนกลับเพิ่มทวีคูณ ได้เรียนสิ่งรู้ที่พระองค์ทำในทุกด้าน ตั้งแต่ความสงบสุขของบ้านเมือง ด้านความเป็นอยู่ของประชาชนให้มีน้ำใช้ มีดินสมบูรณ์ให้ประชาชนได้ปลูกข้าว ไม้ผล ปลูกป่า เป็นแหล่งอาหาร  การปลูกป่าสามอย่างได้ประโยชน์สี่อย่าง ในหลวงยังย้ำเน้นเรื่องการศึกษาสำหรับเด็กด้อยโอกาส และลูกหลานที่ประสบภัยพิบัติต่างๆ จนมาถึงการเปิดโอกาสให้เด็กเร่ร่อนได้เข้าเรียนโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ และราชประชานุเคราะห์ของพระองค์ท่าน  เน้นย้ำไปถึงการเปิดโอกาสให้เด็กกระทำผิดได้รับการดูแล คืนกลุ่มเด็กเหล่านี้สู่ครอบครัว ชุมชน และสังคม เปิดโอกาสให้มีการฝึกอาชีพ  จนกลายมาเป็นมูลนิธิพระดาบส

                   ทุกคนอยากมาอยู่ในพิธีใด พิธีหนึ่งที่เกี่ยวกับในหลวง เสียงของคุณยายบอกว่าเป็นบุญของตัวเองได้เห็นความยิ่งใหญ่ในใจของประชาชนที่รักในหลวงอย่างมากมาย  สิ่งที่ในหลวงทำให้กับประเทศชาติมากเหลือคณานับ พระองค์ท่านใช้ชีวิตทั้งชีวิตเพื่อประเทศชาติ ลูกของท่านที่อาศัยอยู่ในประเทศอย่างแท้จริง

                   ในฐานะของครูข้างถนน ที่ทำงานเกี่ยวกับเด็กด้อยโอกาส การทำงานจะช่วยเหลือเด็กในแต่ละก็ยากมาก เพราะต้นทุนชีวิตของเด็กเหล่านี้เป็นติดลบ  กว่าที่จะช่วยกันให้เขาตระหนักรู้ว่าตัวเองมีค่า แล้วให้เห็นว่าทั้งครูและเด็กต่างที่จะเรียนรู้ในการทำงาน ดังพระราโชวาทว่า “เมื่อมีโอกาสและมีงานทำ ควรเต็มใจทำ โดยไม่จำเป็นต้องตั้งข้อแม้ หรือเงื่อนไขอันใดไว้ให้เป็นเครื่องกีดขวางคนที่ทำงานได้จริงๆ นั้น ไม่ว่าจะจับงานสิ่งใด ย่อมทำได้เสมอ” บทบาทของครูข้างถนน ที่ต้องลุกเดินหาเด็กเร่ร่อน  จะถือว่างานที่ได้รับมอบหมายมา เป็นงานที่ครูข้างถนน เลือกเอง แล้วทำให้เต็มที  เพื่อประโยชนสูงสุดลงไปที่เด็กเร่ร่อน ครอบครัวเร่ร่อน แม่และเด็กเร่ร่อนต่างด้าว  คนบนถนนได้รับประโยชน์



                   ในขณะที่ทำงานครูข้างถนนเองก็ใช้ว่าจะทำงานประสบความสำเร็จทุกเคส หรือทุกครอบครัว  ในการแสวงหาทางออกร่วมกัน  ครูข้างถนนเองต้องมีความตั้งใจในการทำงานพร้อมต้องมีหลักในการทำงาน โดยเฉพาะเรื่อง เรื่อง “การเอาชนะใจตน” เพราะงานที่ทำต้องใช้ทั้งแรงกายแรงใจที่ต้องเดนย่ำไปหาเด็ก ยิ่งเคสปฏิเสธในการรับการช่วยเหลือ ก็ต้องทำใจและสิ่งที่สำคัญบางครั้งก็ต้องข่มความรู้สึกของตนเองที่จะไม่โกธรเคส  ต้องใช้สิ่งที่ตามมาคือการให้อภัยและการเรียนรู้ร่วมกัน

                   “ความซื่อสัตย์” ในหน้าที่ เพราะงานของครูข้างถนนไม่ได้ระบุในการปฏิบัติงาน เพียงแต่งานที่ทำต้องใช้ความซื่อสัตย์ ทั้งในหน้าที่คือเวลาการปฏิบัติ ซื่อสัตย์ต่อเคสที่ครูต้องลงไปทำงานด้วย ซื่อสัตย์ต่อเงินบริจาคที่ครูข้างถนนได้ลงไปช่วยเหลือเคส ซื่อสัตย์ต่อคำพูดในการให้คำปรึกษา หรือการหาทางออกร่วมกันระหว่างครูและเคส รวมถึงหน่วยงานที่ต้องส่งต่อหรือรับช่วงจากครูข้างถนนไปทำงานต่อ โดยเฉพาะเรื่องข้อมูล

                   “การพูดจริง ทำจริง” เป็นเรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่ง เรื่องครูข้างถนน พูดอะไร สัญญาอะไรก็ต้องทำให้ได้  อย่างครูข้างถนนมีกรณี เด็กชายแบงค์ เป็นเด็กเร่ร่อนชาวกัมพูชา  ใช้ชีวิตเร่ร่อนที่ชุมชนกีบหมูมากกว่าปี  วันหนึ่งเด็กชายแบงค์เริ่มไปเกี่ยวข้องกับการเดินยา ครูจึงมีการประสานงานกับทีมศูนย์ช่วยเหลือสังคม เพราะเป็นพนักคุ้มครองตามกฎหมาย ส่งเด็กชายแบงค์เข้ารับการคุ้มครองสวัสดิภาพที่บ้านภูมิเวท แต่ครูสัญญากับเด็กชายแบงค์ว่า ว่าครูจะหาครอบครัวให้พบ อาทิตย์ต่อมาก็มีการถ่ายทำการช่วยเหลือเด็กเร่ร่อนแบบบูรณาการกับหน่วยงานภาครัฐ รายการแบ่งออกเป็น 2 ตอน แม่ของแบงค์นอนป่วยอยู่ได้เห็นลูกในทีวี ก็ได้พยายามโทรศัพท์ติดต่อมายังหน่วยงาน  ครูจึงได้ลงไปเยี่ยมเด็กชายแบงค์ให้ได้คุยโทรศัพท์กับแม่  เด็กชายแบงค์เองมีความหวังมากขึ้นที่ได้กลับครอบครัว  เขาได้เดินมากราบที่ตักครู บอกว่าเชื่อแล้วว่าครูทำได้  ครูข้างถนนเมื่อสัญญากับเด็กแล้วอะไรที่ทำได้ต้องรีบทำ  ทำตามที่สัญญากันไว้ด้วย  เรื่องใหญ่สำหรับการทำงาน




                   งานครูข้างถนน ต้องหาทางออกให้เคสที่เราต้องทำงานด้วยต้องอาศัยเรื่อง “ความเพียร” “อ่อนโยน แต่ไม่อ่อนแอ”  ต้องคู่กันคะ เพราะเคสที่ทำงานด้วยต้องใช้เวลา โดยเฉพาะกลุ่มแม่และเด็กเร่ร่อนต่างด้าว ต้องใช้เวลาที่พวกเขาจะไว้ใจครูข้างถนน บางครอบครัวใช้เวลาอย่างน้อย 8 เดือน ถึง 2 ปี ครูข้างถนนต้องลงไปคุยกันบ่อย ให้เห็นหน้ากันทุกอาทิตย์ จนกว่าเขาจะพูดว่า เขามีทุกข์หรือต้องการความช่วยเหลืออะไร  เมื่อได้เคสหนึ่ง เคสต่อไปก็ตามมา อย่างเช่น กรณี เด็กชายธม เป็นโรคลมชักแม่มีปัญหาเรื่องสุขภาพจิต  พาลูกเร่ร่อนขอเงินที่หน้าห้างบิ๊กซี มาตลอด วันหนึ่งเกิดเด็กชายธม เป็นลมชักขึ้นมา อาสาสมัครของครูข้างถนน โทรหาครู ซึ่งกำลังเดินอยู่ที่ประตูน้ำ ก็ขึ้นมอเตอร์ไซด์มาทันที่ พอมาถึงก็รับเด็กไปโรงพยาบาลแล้วเหวี่ยงกระเป๋าให้แม่ถือตามมาที่โรงพยาบาลตำรวจ  มาถึงโรงพยาบาลตำรวจก็เช่นเดียวกัน พยาบาลถามว่าใช้เด็กไทยไหม บอกว่าเป็นเด็กต่างด้าวทางเจ้าหน้าที่ก็เฉย  จึงต้องโทรศัพท์ขอพบท่านรองผู้อำนวยการโรงพยาบาล  พอท่านมาถึงจึงสั่งพยาบาลดำเนินการช่วยเหลือทันที่ และสั่งว่าต่อไปนี้เป็นเคสที่มาจากครูให้ช่วยเหลือทุกคน  งานนี้ได้ผลหลายประการ ด้วยทางกลุ่มแม่และเด็กเร่ร่อนต่างด้าว ต่างไม่เคยเชื่อใจครูก็หันมาเชื่อใจ ไว้วางใจ  ใช้เวลากว่าปีที่ซื้อใจเคสได้ ใช้ต้องอ่อนโยน ที่จะคุยกับเคส ใช้ความเพียรลงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง หารแนวทางออกร่วมกัน สำหรับครอบครัวนี้ได้รับการดูแลทั้งแม่และลูกตามหลักสิทธิมนุษยชนที่ควรได้รับขั้นพื้นฐานในฐานะพลเมืองของอาเซียน          




                   การทำงานกับเคสหรือกรณีที่ครูข้างถนน ต้องย้ำเตือนเรื่อง “ความรู้ตน” ของครูข้างถนน ว่ามีบทบาทที่จะช่วยเหลือกรณีเหล่านั้นแค่ไหน เพราะมีกฎหมายกำกับตลอดเวลา แต่บางครั้งก็ต้องใช้กรณีนอกกรอบบ้างเพราะกฎหมายที่เอาเปรียบครอบครัวเหล่านั้นละเมิดสิทธิมนุษย์ชนกับกรณี ของนางเกีย นอม  ที่ถูกจับทั้งครอบครัว เรื่อง ค้ามนุษย์  อัยการสั่งไม่ฟ้องเรื่องค้ามนุษย์ แต่กระบวนการกฎหมายผลักให้ไปใช้ พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 และ พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546  ในขณะนี้คดีได้ถึงคำพิพากษาแล้ว ปรับ 6,000 บาท จำคุก 4 เดือน โทษจำคุกให้รอการจำคุก 1 ปี  ผลดีถึงที่สุดแล้ว แต่หน่วยงานภาครัฐต้องการทำคดีนี้ให้เข้าสู่ระบบ  ครูจึงขอร้องครอบครัวว่า “คนเราจะต้องรับและจะต้องให้”  การคุยกับครอบครัวเพื่อเป็นตัวอย่างในกรณีส่งกลับแบบกระบวนการ MOU ซึ่งก็กระตุ้นให้ดำเนินการให้เร็วที่สุด เพราะทางกฎหมายละเมิดความเป็นครอบครัวกว่า 2 ปีแล้ว

                   ทุกครั้งการทำงานร่วมกันระหว่างครูข้างถนนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ “ความพอดี” งานครูข้างถนนเป็นงานร้อน เพราะทุกครอบครัวที่ครูเข้าไปเกี่ยวข้องมีปัญหาที่ต้องเข้าไปเกี่ยวข้อง เพราะกฎหมายที่เกิดขึ้นในการช่วยเหลือเด็กมีหลายฉบับ งานของครูข้างถนน ต้องพิจารณาให้ดีว่าจะช่วยเหลือกรณีศึกษาอย่างไร กฎหมายฉบับไหนที่จะช่วยเด็กได้ประโยชน์สูงสุด ต้องใช้ความรอบครอบ รอบรู้  และเอาใจเขามาใส่ใจเรา ต้องอาศัยการศึกษา คือ “หนังสือเป็นออมสิน” ซึ่งต้องอ่านให้มากแล้วแล้วนำไปปฎิบัติจริง  คอย คอย ทำ ที่ละเรื่อง ซึ่งต้องไปพระราชดำรัสว่า  “เดินที่ละก้าว กินข้าวที่ละคำ ทำที่ละเรื่อง เวลาจะที่ทำเลือกเรื่องที่ง่ายที่สุดก่อน ทำให้เป็นขั้นเป็นตอน แล้วเก็บรายละเอียด กลับมาทบทวนการทำงานต่อไป  ”

 สิ่งที่ต้องการเห็นคือกลุ่มเด็กเร่ร่อนต่างด้าวที่ทุกหน่วยงานว่าพัฒนาไม่ได้ เพราะเด็กเหล่านี้อดีตคือกลุ่มเด็กที่ติดตามพ่อแม่ไปขอทาน  แต่วันนี้เขามีที่ยืนทางการศึกษา เด็กได้เรียนหนังสือตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึงมัธยมศึกษา ตอนต้น  คือผลผลิตของการให้โอกาส ตลอดจนการได้มีโอกาสทางการศึกษา  ได้อ่าน ได้เขียน ได้พูด ได้ฟัง  เขาเหล่านั้นคือทรัพย์กรของอาเซียนที่มีคุณค่า หนังสือคือออมสิน จริง ทุกประการ

                   งานนี้ ครูเองก็ได้ศึกษาการทำงานของครูข้างถนน ตั้งแต่งานครูข้างถนน เริ่มต้นตั้งแต่ ปี 2530 จนถึงปี พ.ศ. 2549  ส่วนมากเป็นงานที่ภาคสนามเน้นหนักในการทำงานจัดการรายกรณี และกลุ่มเด็กเร่ร่อนไทย  ซึ่งครูเองก็ได้แค่การเรียนรู้ เพราะทำงานงานบางเรื่องแค่ผู้ประสานเครือขายเพื่อเด็กเร่ร่อน




                   ในปี 2548 จนถึง 2555  งานนี้เริ่มใกล้ชิด ในบทบาทของนักวิจัยอิสระ หรือการถอดบทเรียนการทำงานของครูข้างถนน  เพราะทุกครั้งที่มีโอกาสไปเยี่ยมเยียน มีความรู้สึกว่าครูข้างถนน ไม่มีที่ยืนบนงานวิชาการ  จึงอยากให้คนทั่วไปได้รู้จักของครูข้างถนนในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศและอยู่ซอกซอยบนถนนสายต่างๆของสังคม

                   ในปี 2555  ซึ่งต้องมารับงานครูข้างถนนจริง จริง ในฐานะ ของ “ผู้จัดการโครงการครูข้างถนน  มูลนิธิสร้างสรรค์ ”  ทุกคนถามว่าหนักใจไหม หนักใจมาก เพราะต้องกลับมาฟื้นฟูงานครูข้างถนน ที่ครูข้างถนนที่ได้ทำ  กลับมาให้สังคมได้รู้จักอีกครั้ง เรื่องใหญ่มาก โดนกระทบเยอะมาก ทั้งแนวคิดในการช่วยเหลือคนบนถนน แม้กระทั่งหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง  เวลาท้อจากการทำงาน จะหันไปดูรูปในหลาวงที่ติดอยู่ข้างฝาห้องทำงานที่เรียงอยู่  และจะย้ำเตือนเสมอเรื่อง พระบรมราโชวาท

 “ ...การทำความดีนั้น สำคัญที่สุดอยู่ที่ตัวเอง ผู้อื่นไม่สำคัญและไม่มีความจำเป็นอันใดที่จะต้องเป็นห่วง หรือต้องรอคอยเขาด้วย เมื่อได้ลงมือลงแรงกระทำแล้ว ถึงจะมีใครร่วมมือด้วยหรือไม่ก็ตาม  ผลดีที่ทำจะต้องเกิดขึ้นแน่นอน และยิ่งทำมากเข้า นานเข้า ยั่งยืนเข้า ผลดีก็ยิ่งเพิ่มพูนมากขึ้น และแผ่ขายกว้างออกไปทุกที คนที่ไม่เคยทำดีเพราะเขาไม่เคยเห็นผลก็จะได้เห็น และหันเข้ามาตามอย่าง...”  โดยเฉพาะกลุ่มแม่และเด็กเร่ร่อนต่างด้าว เพราะหลายหน่วยงานจะตั้งคำถามตลอด  แต่ครูก็จะบอกเสมอว่าขอทำได้ไหม  ของทดลองรูปแบบการช่วยเหลือ ให้เห็นโมเดล ในการทำงานกับคนกลุ่มนี้ ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มด้อยโอกาสสุด เป็นกลุ่มคนชายขอบที่มาให้เห็นตัวเป็น เป็น เพราะเขามีตัวตนอยู่ ในกรุงเทพมหานคร  แต่ครูเองก็ไม่ได้ปฏิเสธการทำงานร่วมกับผู้อื่น ใช้ความอดทน อดกลั้น เน้นการทำงานเชิงประสานงาน  ผลประโยชน์สูงสุดลงไปที่เด็กและครอบครัว



  


                   สำหรับตัวครูเองก็ต้องเรียนรู้ในการจัดการเคสมากขึ้น การมีสติ สมาธิ มาดูแลใจตนเองในขณะที่ทำงาน การออกกำลังกายซึ่งเป็นยาวิเศษ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง พร้อมกับประชาชนที่สูญเสียพระองค์ท่าน

                   การใช้การสร้างงาน การทำงานที่ได้รับมอบหมายจากหน่วยงานทำให้เต็มที่ ดังที่บอกว่า “เป็นครูใช่ไหม  ฝากเด็ก ๆ ด้วย”  เด็กของเราพิเศษกว่าเด็กกลุ่มอื่นเพราะเขาไม่อยากอยู่ในระบบโรงเรียน เพราะเขามีของดีอยู่ในตัวตนของเขา เพียงแต่เขายังเดินไม่ถูกทาง  หน้าที่ของครูข้างถนน จึงต้องช่วยให้กลับเดินทางที่เขาเลือก ให้เขาคุณค่าในตนเอง  แล้วฟื้นพวกเขากลับคืนครอบครัว ชุมชน และสังคมอย่างมีที่ยืน ดังพระราชดำรัส “...ครูที่แท้จริงนั้นต้องเป็นผู้ทำแต่ความดี คือต้องหมั่นขยัน และอุตสาหะ พากเพียร ต้องเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และเสียสละ ต้องหนักแน่นอดทน และอดกลั่น สำรวม ระหว่างความประพฤติปฏิบัติของตน ให้อยู่ในระเบียบ แบบแผนที่ดีงาม รวมทั้งต้องซื่อสัตย์ รักษาความจริงใจ วางใจเป็นกลาง ไม่ปล่อยไปตามอำนาจอคติ...”

                        สิ่งเหล่านี้ของน้อมรับใส่เกล้าใสกระหม่อม น้อมนำไปปฏิบัติ ดัง “ ขอเป็นข้ารองบาท ทุกชาติไป”