banner
พุธ ที่ 26 เดือน สิงหาคม พ.ศ.2558 แก้ไข admin

วิถีชีวิตเด็กลูกกรรมกรก่อสร้าง

                             เด็กที่ต้องอพยพติดตามพ่อแม่มาอยู่ในแหล่งก่อสร้าง  ในปีพ.ศ.นี้ ทางโครงการศูนย์เด็กก่อสร้าง ได้ย้ายมาซอยอุดมสุข 60  เป็นของบริษัท ที ที เอส เอ็นจีเนียริ่ง จำกัด  ซึ่งเป็นบริษัทรับเหมาก่อสร้าง  ซึ่งในขณะนี้ยังมีคนงานก่อสร้างเข้ามาพักอาศัยที่บ้านพักของกรรมกรก่อสร้างยังไม่ครบ แต่คนก่อสร้างได้แบ่งออกอยู่กันเป็นโซนตามของผู้รับเหมาก่อสร้าง มีผู้รับเหมาทั้งสิ้นตอนนี้มีจำนวน 11 ผู้รับเหมาก่อสร้างด้วยกัน 

                            สภาพของบ้านพัก ส่วนใหญ่ใช้ตู้คอนเทนเนอร์ จำนวน 3 หลังซ้อนกันเป็น 1 แถว  ซึ่งจะจัดให้เป็นอยู่แบบผู้รับเหมา 1 เจ้า  ในช่วงนี้อากาศร้อนอบมาก  ทำให้กลางวันไม่สามารถที่จะอยู่ในบ้านพักได้เลย  ตู้คอนเทอเนอร์ หนึ่งหลังกว้างประมาณ หนึ่งเมตรยี่สิบ  ยาวสิบสองเมตร แบ่งเป็นห้องให้คนงานอยู่ได้ถึง สี่ห้อง ในแต่ละห้องจะอยู่กันหนึ่งครอบครัว ซึ่งใช้ทุกอย่างตั้งแต่ห้องนอน ห้องครัว ห้องดูโทรทัศน์

  

                               การจัดสิ่งที่เอื้ออำนวยให้กับกรรมกรก่อสร้าง ทั้งห้องน้ำ เป็นห้องน้ำรวมที่ใช้ร่วมกัน เพียงแค่แยกว่าชาย/หญิงเท่านั้น อ่างน้ำก้เป็นอ่างน้ำรวมเหมือนกันในขระนี้นี้มีเพียง 2 แห่งเท่านั้น ซึ่งไม่พอกับจำนวนกรรมกรก่อสร้างที่มีอยู่  แต่ในอนาคตเมื่อกรรมกรก่อสร้างเข้ามาเต็มถึงจำนวน พันคนจะเป็นปัญหาแน่นอน  สำหรับถังขยะ ซึ่งทางบริษัทจะมีพ่อบ้านที่ควบคุมดูแลความเป็นระเบียบของกรรมกรก่อสร้าง และมีแม่บ้านในการเก็บขยะ  แต่ปัญหาขยะที่ทิ้งเกลื่อนก็ยังมีให้เห็นอยู่ รวมถึงแอ่งน้ำที่ใช้แล้วส่งกลิ่น มีแมลงวันในช่วงนี้พอสมควร แต่เมื่อใดถึงฤดูฝนจะเกิดกลิ่นขยะ และโรคต่างๆจะเกิดขึ้น 

                               สำหรับคนงานก่อสร้างจะมีคนต่างชาติเข้ามาทำงานเป็นจำนวนมาก เช่นชาวพม่า ชาวกัมพูชา ซึ่งเป็นทั้งกลุ่มที่ถูกต้องตามกฎหมายและไม่ถูกต้องตามกฎหมายไม่ได้ขออนุญาตที่ต้องหลบซ่อนเข้ามาทำงาน ขึ้นอยู่กับผู้รับเหมาซึ่งเป็นผู้ไปขออนุญาตให้มาทำงาน  เช่นชาวพม่า ผู้รับเหมาจะดูแลอย่างดี พาไปขึ้นทะเบียนการทำงาน มีบัตรประกันสังคม  พร้อมพยายามผลักดันให้พ่อแม่ดูแล หลานของตนเอง ในเรื่องการศึกษา  แต่ถ้าเป็นชาวกัมพูชาผู้รับเหมาจะไม่ค่อยสนใจดูแลสุขภาพหรือการดูแลเรื่องความถูกต้องทางกฎหมายเลย  ชาวกัมพูชาจึงมีความไม่มั่นคงมากกว่า                 

                               คนงานกลุ่มใหญ่เป็นกลุ่มคนงานวัยรุ่น ที่อายุช่วง 14 -24 ปี เป็นส่วนใหญ่  กรรมกรก่อสร้างจะทำงานแบบผู้รับเหมารายย่อย แล้วขึ้นกับบริษัท กรรมกรก่อสร้างโดยส่วนใหญ่เงินรายได้จะออกเป็นวิค  คือทำงาน 15 วันแล้ว เงินถึงจะออก  ส่วนมากกลุ่มวัยรุ่นเมื่อเงินออกตอนเย็นกลุ่มนี้จะออกไปเที่ยวตามห้างสรรพสินค้าซึ่งมี ห้างเซ็นทรัตบางนา และโลตัส ที่ใกล้  และทีสถานบันเทิงที่ใกล้ คือถนนอุดมสุขทั้งสายจะมีร้านค้าจำนวนมาก        

                              ความใจร้อนวัยรุ่นในแต่ละชาติพันธุ์ ทั้ง พม่า กัมพูชา ลาว หรือคนไทยด้วยกันเอง มีการทะเลาะกันระหว่างผู้รับเหมาก่อสร้าง เมื่อมีการกินสุรา หรือ การหาเรื่องมองหน้ากัน เป็นต้น

 

                                สำหรับเด็กที่ติดตามพ่อแม่มาทำงาน มีเด็กบางกลุ่มที่มีโอกาสได้รับการศึกษาระดับขั้นพื้นฐาน โดยไปเรียนที่โรงเรียนผ่องพลอยอนุสรณ์ จำนวน 9 คน ส่งประสานงานมาเรียนที่บ้านอุปถัมภ์เด็กของมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก  จำนวน  13  คน   เป็นเด็กไทย 9 คน  เป็นเด็กพม่า จำนวน  4  คน  และ ส่งประสานงานไปเรียนที่บ้านบ้านสร้างสรรค์เด็ก คน แต่เด็กในแหล่งก่อสร้างอุดมสุข   มีจำนวนทั้งสิ้น 59  คน ช่วงอายุ 3- 16 ปี   จะเห็นได้ว่าเด็กที่สามารถเข้าเรียนได้จำนวนไม่มากหนัก    และอีกส่วนหนึ่งเป็นกลุ่มเด็กต่างชาติ ที่มีทั้ง เด็กชาวกัมพูชา เด็กพม่า  เด็กลาว  รวมถึงชนกลุ่มน้อย  ที่ยังพูดภาษาไทยไม่ชัด 

                                ชีวิตเด็กๆที่ติดตามพ่อแม่เข้ามาอยู่ด้วยภายในบ้านพักกรรมก่อสร้าง จะประสพสภาพปัญหาที่ทำลายคุณภาพชีวิตลงในหลายต่อหลายแง่มุม  เด็กๆเหล่านี้ในปัจจุบันประมาณกันว่ามีอยู่ไม่ต่ำกว่า 30,000 คน เด็กๆเหล่านี้ต้องประสบกับภาวะต่างๆดังนี้

                               

                     1.ปัญหาสภาพแวดล้อมที่เด็กอาศัยอยู่

                              1.1 ที่อยู่อาศัย หรือ บ้านพักของกรรมกรก่อสร้าง  เป็นห้องพักขนาดเล็ก จำนวน 2 ชั้น เพราะต้องการประหยัดที่ดินในการก่อสร้าง สร้างจากไม้หรือสังกะสี ไม่มีหน้าต่าง ไม่มีที่ระบายอากาศ ทำให้มืดทึบ อับชื้น อากาศไม่ถ่ายเท ไม่ได้รับแสงสว่าง บ้านพักเป็นบ้านแบบชั่วคราว บางแห่งแหล่งก่อสร้างหลังคาที่มุ่งให้รั่ว ทำให้เวลาฝนตก คนงานไม่สามารถนอนได้  และมีบางหลังที่ใช้ตู้คอนเทอเนอร์มาเจาะประตู เจาะหน้าต่าง  ซึ่งมีอากาศร้อนมาก ห้องแคบมาก  และทุกมุมห้องมองไปทึบไปด้วยแผ่นเหล็ก และเวลาเดินหรือวิ่งจะได้ผลกระทบได้ด้วยกันทุกห้อง อย่างนี้จะวางตู้คอนเทอเนอร์เป็น 3 ชั้น ซึ่งสูงมากและเป็นอันตรายเวลาเด็กวิ่งลงมา  บันไดทางขึ้น/หรือลง เป็นแผ่นเหล็กเล็กๆที่เป็นอันตราย

                                1.2 บริเวณรอบบ้านพัก ทั้งสองบริษัทรับเหมา ยกพื้นสูง สร้างเป็น 2 ชั้นหรือที่เป็นตู้คอนเทอเนอร์ 3 ชั้น จะมีการยกพื้นสูง แต่ด้านล่างของบ้านพักกรรมกรก่อสร้าง จะมีน้ำท่วมขัง ชื้นแฉะ  เพราะไม่มีท่อระบายน้ำ หรือมีท่อระบายน้ำ แต่น้ำก็ยังขังอยู่ดี จึงกลายเป็นที่ทิ้งขยะ ทำให้เกิดกลิ่นเน่าเหม็น รวมทั้งยังมีฝุ่นละอองที่ฟุ้งกระจายไปทั่ว จึงให้มียุงเกิดขึ้นมากและมีจำนวนมากด้วย  มีสัตว์คือหนู ที่เข้ามากินสิ่งเน่าเหม็นรวมทั้งหนูวิ่งกันให้เต็มบ้านพัก  แม่บ้านหลายคนเคยถูกหนูที่เท้าบ่อยเวลานอนตอนกลางคืน

                                1.3 เป็นแหล่งอบายมุขในรูปแบบต่างๆไม่ว่าจะเป็นการเล่นการพนัน การเล่นไพ่ทุกชนิด การเล่นไฮโล รวมทั้งยาเสพติด การดื่มสุรา เสร็จแล้วเกิดการทะเลาะเบาะแว้งกันในครอบครัวหรือกับกลุ่มอื่นๆ ซึ่งเนื่องมาจากว่าชุมชนที่อยู่หนาแน่นติดกัน และไม่มีสถานที่พักผ่อนให้วิ่งเล่นได้ เด็กจึงพบเห็นและเลียนแบบพฤติกรรม  หรือบางครั้งใช้เด็กดูต้นทางในการเล่นการพนัน  ทำให้เด็กเองก็อยากเล่นทำเหมทอนผู้ใหญ่

                                 1.4 การโยกย้ายเปลี่ยนแปลงที่อยู่อาศัยบ่อยครั้ง เมื่องานของพ่อแม่หรือผู้ปกครองที่ผู้รับเหมาในแต่ละส่วนหมดลง   เมื่อพ่อแม่หรือผู้รับเหมาย้ายงาน เด็กต้องเคลื่อนย้ายไปเรื่อยๆ ทำให้เด็กไม่ได้รับการศึกษาอย่างต่อเนื่อง  ขาดโอกาสในการพัฒนา โดยเด็กต้องไปเริ่มปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ เพื่อนใหม่  ชีวิตมีการเปลี่ยนแปลงเสมอ เด็กไม่มีเพื่อนที่เข้าใจกัน ตลอดจนต้องปรับตัวเด็กเองกับสถานที่แห่งใหม่  และแหล่งบ้านพักกรรมกรก่อสร้างเหล่านั้นไม่มีศูนย์เด็กก่อสร้าง   เด็กที่พอมีโอกาสได้รับอาหารหรือกิจกรรมบางอย่าง เด็กเหล่านี้ก็ไม่มีโอกาสอีกเลย

  

 

                                2.ปัญหาด้านความปลอดภัย

                                ลูกกรรมกรก่อสร้างที่ต้องติดตามพ่อแม่เข้าไปในแหล่งก่อสร้าง ขณะที่พ่อแม่เด็กต้องทำงาน ตัวเด็กต้องเสี่ยงกับอันตรายเพียงลำพังเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นกองเศษไม้ ตะปูที่หล่นตามพื้น เศษเหล็ก หลุมหรือท่อที่ขุดไว้  ดังที่เคยปรากฏตกอยู่ในสิ่งแวดล้อมของงานก่อสร้างที่เป็นอันตราย  ประการนี้ชัดเจนเพราะมีผลถึงแก่ชีวิตทันที  ดังหลายต่อหลายกรณีที่เกิดขึ้น ดังในปี 2526 ตึกที่กำลังก่อสร้างที่อำเภอลำลูกกา  จังหวัดปทุมธานี  ได้พังครืนลงมาฝังกลบคนงานตายทั้งเป็น จำนวน 10  ชีวิต  และเด็กๆอีก 5 ชีวิต  หรือกรณีเด็กหญิงสร้อยเพชร  บุญน้อย อายุ 3 ปี ได้ตกลงไปตายในรูเสาเข็ม เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์  2528 ป่วยการที่จะพูดถึงอีกมากมายหลายกรณีที่ตกตึก  ถูกของแข็งหล่นใส่ เหยียบตะปู เหล็กขูดและ ทิ่ม  

                                เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2556  มีเด็กที่ได้รับอุบัติเหตุจากการเดิน ระหว่างแผ่นเหล็กที่มาวางไว้ที่หน้าศูนย์เด็กก่อสร้างอุดมสุข เกิดการเดินแบบกระดกขึ้นหล่นลงไปทับหัวนิ้มโป้งเท้าของเด็ก  ทำให้เล็บหลุดและกระดูกแตก  ต้องได้รับการเย็บและดูแลอย่างต่อเนื่อง  สำหรับอุบัติเหตุ เช่นการเหยียบตระปู หรือแผ่นเหล็ก  เด็กได้รับอุบัติเหตุกันเป็นประจำ หรือการหล่นลงมาจากห้องพักของกรรมกรก่อสร้างเองก็มีเป็นประจำ

                               

                      3.ปัญหาด้านสุขภาพ  ที่เกิดขึ้นกับเด็กลูกกรรมกรก่อสร้าง

                                3.1 การขาดสารอาหารในเด็กลูกกรรมก่อสร้างเกิดขึ้นเสมอ เนื่องจากภาวะรายได้ของครอบครัวต่ำ การรับประทานอาหารที่ไม่ถูกหลักโภชนาการ เช่น การรับประทานอาหารที่ง่าย ราคาถูก ไม่ครบตามหลักโภชนาการ เช่น มาม่า ปลากระป๋อง ขนมจีน เป็นต้น  น้ำดื่มไม่สะอาดเพราะมาจากแหล่งเดียวกันกับน้ำที่ใช้ในการก่อสร้าง  และอาหารเช้ากับเย็นเด็กบางคนไม่มีโอกาสได้กิน และพ่อแม่บางคนตัดความรำคาญมักจะซื้อขนมหวานหรือน้ำอัดลมให้เด็กกินตามแฟชั่นทางโทรทัศน์                    

 3.2 การเจ็บป่วยจากโรคต่างๆ ในสภาพที่เด็กลูกกรรมกรก่อสร้างต้องอาศัยอยู่ในแหล่งก่อสร้างนั้น ทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยบ่อยครั้ง สาเหตุมาจากฝุ่นละออง อากาศเสีย เสียงเครื่องจักรที่ทำงาน น้ำเน่า ขยะมูลฝอยที่มีอยู่กลาดเกลื้อน มีเชื้อโรค หรือสัตว์ที่เป็นพาหนะนำโรคชนิดต่างๆ ได้แก่ ยุง แมลงวัน หนู หรือแมลงสาบ  โรคที่เด็กเจ็บป่วยกันมาก คือไข้หวัดใหญ่ อีสุกอีใส ไข้เลือดออก โรคหิด เหา โดยเฉพาะเด็กผู้หญิงที่ไว้ผมยาว และไม่รักษาความสะอาด เป็นต้น                         

                                3.3 ความสะอาดของร่างกายของเด็ก ขึ้นอยู่กับความใส่ใจของพ่อแม่ผู้ปกครอง เด็กลูกกรรมกรก่อสร้างบางคนไม่ได้รับการดูแลรักษาความสะอาดเท่าที่ควร มักไม่ชอบอาบน้ำ สระผม ทำให้บางครั้งผมเหนียวมาก และมีเห่าด้วยโดยเฉพาะเด็กผู้หญิง เล็บมือดำ ฟันผุ และเป็นโรคผิวหนังพุพอง ขึ้นตามตัวโดยเฉพาะเด็กผู้ชาย  เด็กไม่ชอบใส่รองเท้าจึงทำให้เกิดตะปูหรือเหล็กทิ่มที่เท้าบ่อยมาก

                                3.4 การรักษาพยาบาล จากสภาวะปัญหารายได้ครอบครัวน้อย การโยกย้ายบ่อยครั้ง และการขาดความรู้ความเข้าใจในการดูแลรักษาพยาบาลลูก ส่งผลถึงการดูแลรักษาเด็กที่ไม่ถูกต้องเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นการฉีดวัคซีนที่จำเป็น การรับประทานยาต่างๆ การไปพบแพทย์ เป็นต้น

                                 

                                4.ปัญหาครอบครัว  ที่ส่งผลกระทบกับเด็กลูกกรรมก่อสร้าง

                                งานกรรมกรก่อสร้าง เป็นงานที่ต้องใช้แรงงานเพื่อแลกกับค่าตอบแทน ซึ่งผลตอบแทนของงานก่อสร้างจ่ายให้ตามแรงงานขั้นต่ำหรืสูงกว่าเล็กน้อย  ในปัจจุบัน ค่าแรงงานกรรมการผู้หญิงอยู่ระหว่าง 150-180 บาท ส่วนกรรมกรก่อสร้างชาย อยู่ระหว่าง 180-200 บาท แล้วแต่นายจ้าง และความขยันของคนงาน ส่วนกรรมกรก่อสร้างที่เป็นระดับช่าง ได้แก่ ช่างไม้ ช่างปูน ช่างเชื่อม ช่างไฟฟ้า ค่าแรงงานวันละ 230-250 บาท โดยจ้างเป็นรายวัน หากวันใดไม่ทำงานก็ไม่ได้รับค่าแรงของวันนั้น โดยปกติในเงินที่จ่ายนั้นจะจ่ายให้เป็น วิคใน 1 วิค แบ่งเป็น การทำงาน 10 หรือ 15 วัน แล้วแต่ผู้รับเหมากับบริษัทจะตกลงกัน  ทำให้เงินที่ได้รับน้อย ไม่เพียงพอกับการใช้จ่าย เมื่อเกิดขัดสนสามารถกู้หรือเชื่อสินค้าจากร้านค้าภายในแหล่งก่อสร้างแล้วเซ็นต์ไว้ รอเงินออกจึงนำมาจ่ายทีหลัง แต่ที่แหล่งก่อสร้างนี้ผู้รับเหมารายย่อยแต่ละรายจะมีร้านค้าของตนเองโดยให้คนงานเซ็นต์เชื่อไว้ก่อน แต่ราคาอาหารแพงมาก  จากปัญหาที่กล่าวมาก ทำให้พ่อแม่ต้องทำงานมากขึ้น บางครั้งทำล่วงเวลา (O.T.) จนดึกดื่น ทำทุกวันไม่มีวันหยุด จึงมีการปล่อยให้เด็กอยู่ภายในบ้านพักเพียงลำพัง เด็กจึงเกิดภาวะโดดเดี่ยว ขาดความรักความอบอุ่น การดูแลเอาใจใส่ที่เพียงพอ พ่อแม่ลูกขาดความใกล้ชิด ขาดความเข้าใจซึ่งกันและกัน

                                นอกจากนี้ การทะเลาะวิวาทภายในครอบครัวก็เป็นปัญหาที่สำคัญ เพราะในการทะเลาะวิวาทนั้นอาจมีการทำร้ายร่างกายเด็ก หรือใช้เด็กเป็นที่รองรับอารมณ์ของพ่อแม่ มีการดุด่า ทุบตี ซึ่งก่อให้เกิดการเก็บกด คับข้องใจ จดจำสิ่งที่ตนได้รับ เด็กสามารถเลียนแบบสิ่งเหล่านี้ไปใช้กับการแก้ปัญหาของตน การทะเลาะวิวาทที่เกิดขึ้นในครอบครัวเกิดจากหลายสาเหตุ

                                ปัญหาหนึ่ง คือครอบครัวก่อสร้างในปัจจุบันนี้ส่วนใหญ่ ครอบครัววัยรุ่น (พบจากการสำรวจในชุมชนแหล่งก่อสร้างอุดมสุข 60 ) อายุของพ่อแม่ที่ส่งลูกมาเรียนที่ศูนย์เด็กก่อสร้าง อยู่ในช่วงอายุ 18-23 ปี เป็นส่วนใหญ่ และมีลูกจำนวน 2 คน พ่อแม่เหล่านี้มีการทะเลาะกันบ่อยมากเกิดจากการหึงหวง และเรื่องชู้สาว  บางครอบครัวเลิกล้างกันทำให้เด็กมีปัญหาขาดความรักความอบอุ่น และมีพฤติกรรมเรียกร้องความสนใจ และก้าวร้าว เด็กบางคนถูกทิ้งให้ตา ยาย เป็นคนดูแล  ซึ่งก็เหมือนเป็นการเพิ่มภาระให้กับกลุ่มผู้สูงอายุอีกครั้ง

 

 

                                5.ปัญหาสวัสดิการ

                                สำหรับเด็กลูกกรรมกรก่อสร้างโดยตรงแล้ว  สวัสดิการที่เกิดขึ้นนั้นเป็นผลพวงมาจากการเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวกรรมกรก่อสร้าง กล่าวคือ สวัสดิการที่พักอาศัย ห้องน้ำ น้ำดื่ม ไปฟ้า เป็นต้น เป็นสวัสดิการพื้นฐานที่ทางบริษัทรับเหมาที่เจ้าของโครงการจัดให้  เนื่องมาจากเป็นลูกจ้างชั่วคราวรายวันไม่มีสัญญาว่าจ้าง จึงไม่ได้รับเต็มที่

 

                                6.ปัญหาการศึกษา ของเด็กลูกกรรมกรก่อสร้าง

                                การศึกษาเป็นประเด็นหนึ่งที่เด็กลูกกรรมกรก่อสร้าง  เพราะเด็กเหล่านี้ยังอยู่ในวัยที่ควรศึกษาเล่าเรียน แต่ด้วยภาวะหลายประการทำให้เด็กไม่ได้รับการศึกษาเท่าที่ควร ขาดโอกาสในการเรียนรู้เหมือนเด็กคนอื่น

                                 6.1 สภาพตัวเด็กเอง เด็กมีพฤติกรรมที่หลากหลายแตกต่าง โดยเฉพาะเด็กที่เข้ามาอยู่ในศูนย์เด็กก่อสร้าง ที่พบว่า เด็กมีวัยที่แตกต่างกัน มีพฤติกรรมก้าวร้าว พูดจาหยาบคาย และเด็กไม่เคยเรียนมาก่อนเลย การพัฒนาจึงช้ากว่าเด็กทั่วไป

                          สำหรับเด็กก่อสร้างที่ไปเรียนในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร หรือโรงเรียนใกล้เคียงแหล่งก่อสร้าง พบว่าเด็กเรียนช้ากว่าเด็กปกติทั่วไป  ไม่ค่อยสนใจเรียน มีพฤติกรรมก้าวร้าว ต่อปากต่อคำกับครูและเพื่อน เห็นแก่ตัวไม่ยอมช่วยเหลือตนเอง เรียกร้องความสนใจจากครูและเพื่อนสูงมาก

                                 6.2 ผู้ปกครอง พ่อแม่ ปัจจัยที่ทำให้พ่อแม่ไม่ส่งเรียนบุตรหลานเรียนนั้นมีหลายประการด้วยกันคือ รายได้ที่น้อย สภาพงานที่ไม่แน่นอน มีการย้ายที่ทำงานบ่อยครั้ง ไม่เห็นความสำคัญหรือความจำเป็นที่จะส่งเรียน เป็นต้น ในขณะเดียวกันผู้ปกครองบางกลุ่มเมื่อส่งบุตรหลานเข้าเรียนแล้ว กลับผลักภาระการดูแลให้เป็นของครูผู้สอนแต่ฝ่ายเดียว  ไม่สนใจที่จะร่วมกันสั่งสอนอบรม พัฒนาเด็กไปพร้อมกัน  และเมื่อส่งเด็กไปโรงเรียนผู้ปกครองจะให้เด็กออกเพราะเรื่องค่าใช้จ่ายมากเกินไปถึงแม้ว่า นโยบายการศึกษาจะให้เด็กเรียนฟรี 12 ปี แต่มีค่าใช้จ่ายอื่นๆมาก

                                  6.3 ในขณะนี้ แหล่งก่อสร้างในกรุงเทพมหานคร มีเพียงแหล่งก่อสร้างเดียวที่มีครู เจ้าหน้าที่ ที่อยู่ประจำศูนย์เด็กก่อสร้าง  การที่มีศูนย์เด็กก็จะทำให้เด็กได้รับโอกาสเพิ่มขึ้นทั้งการเสริมทักษะ รับอาหารที่มีคุณค่าเพิ่มขึ้น  การได้โอกาสทัศนศึกษา  เป็นต้น

                                  6.4 หลักสูตร สำหรับเด็กลูกกรรมกรก่อสร้างนั้นไม่มีหลักสูตรเฉพาะสำหรับกลุ่มการเรียนการสอนส่วนใหญ่ยึดแบบเรียนของสำนักพิมพ์ที่จัดทำขึ้นสำหรับเด็กปกติที่เรียนในโรงเรียนทั่วไป ซึ่งไม่เหมาะสมหรือสอดคล้องกับวิถีชีวิตของเด็กกลุ่มนี้ และที่สำคัญการมาเรียนของเด็กมีหลายลักษณะ หลายกลุ่มด้วยกัน  ทำให้การสอนเด็กบางครั้งต้องเริ่มต้นกันใหม่ตลอดเวลา  เด็กโตบางคนก็เขียนหนังสือไม่ได้ อ่านไม่ได้ ก็ต้องใช้ การฝึกอ่าน ฝึกเขียนเหมือนเด็กอนุบาล

                                  6.5 กฎระเบียบข้อบังคับในการสมัครเรียนมีความยุ่งยากในเรื่องของหลักฐานต่างๆไม่ว่าจะเป็นใบเกิด ทะเบียนบ้าน ซึ่งเด็กลูกกรรมกรก่อสร้างมีการย้ายถิ่นฐานที่อยู่บ่อยครั้งบางครอบครัวไม่มีทะเบียนบ้าน ดังนั้นการประสานงานระหว่างหน่วยงานที่รับผิดชอบยังไม่ดีพอ ไม่มีการยืดหยุ่นให้เหมาะสมได้   สิ่งที่พบในแหล่งก่อสร้างเดอะพารค์แลนด์ ศรีนครินทร์ คือผู้ปกครองนำเด็กลูกกรรมกรก่อสร้างไปเข้าเรียน จะต้องย้ายเด็กเข้ามาในเขตพื้นที่การศึกษา ถ้าไม่ย้ายเด็กเหล่านี้ไม่สามารถเข้าเรียนได้  เมื่อย้ายเข้ามาจะต้องเสียเงินให้กับเจ้าของบ้านเลขที่ที่ให้เด็กนำชื่อเข้าทะเบียนบ้าน รายละ 3,000-5,000 บาท จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ผู้ปกครองไม่ยอมให้ลูกได้เรียน

                                 6.6 งบประมาณ ในการจัดการเรียนการสอนในศูนย์เด็กก่อสร้างย่อมมีค่าใช้จ่าย ค่าสื่ออุปกรณ์การเรียนที่สูง งบประมาณที่นำมาใช้กับเด็กกลุ่มนี้ยังมีน้อยมาก เพราะต้องนำไปใช้ในส่วนที่เป็นคนส่วนมากและหลากหลายเรื่องก่อน

                                 6.7 บริษัทก่อสร้าง/เจ้าของโครงการก่อสร้าง/ผู้รับเหมาก่อสร้าง  ในการจะจัดสวัสดิการให้กับเด็กลูกกรรมกรก่อสร้าง  โดยการจัดเป็นศูนย์เด็ก ศูนย์การเรียนรู้ ในแหล่งก่อสร้างนั้นค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนสูง ทำให้หลายบริษัทบ่ายเบี่ยงที่จะจัดให้ โดยอ้างถึงการไม่มีนโยบาย ไม่มีการจัดความช่วยเหลือเช่นนี้มาก่อน เป็นต้น

 

 

 

                                7. เด็กลูกกรรมกรก่อสร้างบางส่วนจะตกเป็นผู้ใช้แรงงานและแรงงานไร้ฝีมือตั้งแต่ยังเด็ก 

โดยเด็กๆที่ย่างเข้าวัยตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป  จะเข้าร่วมหาเงินช่วยเหลือครอบครัว  ด้วยการเป็นจับกัง แบก หาม ขุด ถอนตะปู ผูกเหล็ก  เด็กเหล่านี้เมื่อเข้าไปสู่ระบบการทำงานจะไม่สนใจในการเรียนเพิ่มเติมอีกเลย  และสิ่งเป็นกลุ่มต่างชาติก็จะไม่สนใจ ยกเว้นบางคนที่มีความต้องการอยากเรียน หรือเรียนรู้งานก่อสร้างเพิ่มเติม เช่นการดูแบบเป็น  การสื่อสารกับเจ้าของบริษัท หรือโฟร์แมนได้  ก็จะมีความพยายามหัดพูด อ่าน เขียน ภาษาไทยบ้าง

ถึงแม้จะมีกฎหมายไม่ให้เด็กทำงาน แต่โดยส่วนใหญ่พ่อแม่จะเอาไปทำงานด้วยโดยให้เป็นลูกมือ หรือบางครั้งก็เหมางานเอง  และพ่อแม่เป็นห่วงว่าถ้าไม่เอาเด็กไปด้วยจะไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด และการเล่นเกมส์  แล้วพ่อแม่ไม่สามารถดูแลเด็กเหล่านี้ได้

เหล่านี้ คือสภาพของเด็กลูกกรรมกรก่อสร้าง ที่ยังต้องฝากชีวิตไปวันๆเสมือนยิปซีที่ร่อนเร่  ติดตามพ่อแม่วนเวียนไปเรื่อยๆไม่มีบ้านที่แน่นอน  ต้องปรับตัวและผจญกับสภาพใหม่ในแหล่งใหม่อยู่ไม่รู้สิ้นสุดจนกว่าจะทำงานหรืออาจจะโชคดีมีหลักแหล่งแน่นอนในอนาคต

 

 

 

                                     .