banner
พฤหัสบดี ที่ 13 เดือน สิงหาคม พ.ศ.2558 แก้ไข admin

ใบเกิด..ความสำคัญกับเด็กเร่ร่อนต่างด้าว

ทองพูล  บัวศรี

ผู้จัดการโครงการครูข้างถนน  มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก

 

                   ครูคะ  ลูกนี้นะคนนี้ ครูก็เห็นตอนฉันท้อง  เพิ่งคลอดออกมาได้ 3 เดือน เวลาใครก็เห็นลูกฉันเขาบอกว่าไม่ใช่ลูกฉัน น่าตาไม่เหมือนกัน  เด็ก”มันอ้วน ขาว น่ารักจัง” เธอต้องไม่เอาลูกใครเขามา เอานั่งขอทานแบบนี้  อีกสักวัน-สองวัน โดนจับค่ะ  ครูฉันโดนจับมาแล้ว สองครั้ง  ส่งสถานีตำรวจมีอยู่ครั้งหนึ่ง  โดน สน.ทองหล่อ จับ เขาแยกแม่แยกลูกทันที ได้คดี”ค้ามนุษย์”  ฉันไปอยู่ทัณฑ์สถานหญิงกลางผคลองเปรม) สามเดือน  ลูกส่งไปอยู่สถานสงเคราะห์เด็กอ่อนรังสิต ฉันไม่ได้เป็นขึ้นศาลไม่ได้ถูกสอบสวน  ถามผู้คุม ผู้คุมก็ไม่ทราบรู้แต่ว่าตำรวจส่งตัวมาอยู่  พอครบสามเดือนเขาก็ปล่อยตัวฉัน  ฉันก็สงสัยว่าฉันทำผิดที่พาลูกมาขอทานใช่ไหม...แต่ฉันไม่มีอะไรจะกินนะ  แล้วนี่ก็ไม่ใช่การค้ามนุษย์  ลูกของฉัน  กว่าจะไปรับลูกได้ใช้เวลาปีกว่า  จนต้องมีผลตรวจ DNA ว่าตรงกันไหม   วันที่ฉันถูกจับ ถูกจับพร้อมกัน 5 ครอบครัว  โดนแบบเดี่ยวกันเลยทั้งห้าครอบครัว แต่พวกเขาออกทีหลังฉันทั้งนั้นเลย เด็กเหล่านี้เป็นลูกฉันที่ฉันคลอดออกมาแต่ไม่มีเอกสารอะไรแสดงว่าเป็นลูกฉัน   เพราะเวลาที่ฉันไปคลอดที่โรงพยาบาลฉันไม่มีเงินจ่าย ทางโรงพยาบาลให้สมุดประจำตัวเด็กมา  แต่ใบรับรองการเกิดว่างเปล่า ไม่มีการเขียนอักษาใดๆเลย   ถึงฉันจะเอาสมุดเล่มนี้ติดตัวเด็กไปด้วยทุกแห่ง   เวลาที่ถูกจับก็จะบอกว่าไม่ใช่แม่ใช่ลูก    ครูช่วยพวกฉันหน่อยเถิดนะ  กลุ่มที่เป็นคนรวย(มีฐานะ แม้เป็นต่างด้าวก็ได้รับใบรับรองการเกิด) แต่พวกฉันยังไม่เคยได้เลย
                สิ่งเหล่านี้ การเป็นครูข้างถนนที่เดินพื้นที่ประจำ ได้รับรู้ รับทราบ มาตลอด แต่ด้วยความไม่ชำนาญด้านกฎหมาย กฎระเบียบ จึงต้องมีการอ่าน ศึกษา ถามผู้เชียวชาญส่วนมากก็จะตอบไปขอไปที จึงจำเป็นต้องลงมือทำที่ละขั้นตอน  และต้องทดลองทำที่ละเคส โดยอาศัยพระราชบัญญัติทะเบียนราษฎร์(ฉบับที่ 2)  พ.ศ. 2551 ในมาตรา 18 จนถึง มาตรา 20 พร้อมกับเอกสารแนวทางปฏิบัติที่ดี ในการแก้ปัญหาภาวะไร้สัญชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้มาจากการประชุมกรรมาธิการอาเซียน แล้วจึงเริ่มต้น

คสที่ หนึ่ง  เด็กเกิดที่โรงพยาบาลบางจาก เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2551

มีเสียงโทรศัพท์มาที่มูลนิธิสร้างสรรค์เด็กว่ามีเด็กชาย เป็นเด็กชาวกัมพูชา อยู่ห้องพักคนเดียวมา กว่า 7 วัน แม่โดนจับพร้อมกับน้องสาว เด็กไม่ได้กินอะไรเลย จึงให้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ เพื่อสืบข้อเท็จจริง และไปลงบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจนครบาลบางขุนเทียน ซึ่งจะส่งไปยังหน่วยงานภาครัฐ (เคยคุยเคสนี้ในที่ประชุมใหญ่ของภาครัฐ เกิดการตามหาว่าสถานสงเคราะห์ไหนไม่รับ  แต่ความจริงคือสถานสงเคราะห์ไม่รับจริงๆ แม้แต่ผ่าน 1300 ) จึงจำเป็นที่ต้องส่งเด็กชายเลิญ เข้าบ้านสร้างสรรค์เด็ก ของมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก(โดยให้สถานีตำรวจนครบาลบางขุนเทียนทำหนังสือยืนยัน การส่งตัวเด็กเข้ารับการบริการ  เพื่อเน้นว่าองค์กรพัฒนาเอกชนไม่ได้รับเด็กต่างด้าว หรือบุคคลหลบหนีเข้าเมืองมาอย่างผิดกฎหมาย  แต่ไม่มีหน่วยงานไหนรับเด็กเข้าไปคุ้มครองสวัสดิภาพ  ปัจจุบันเด็กได้เข้าเรียนหนังสือ)  สิ่งที่ต้องดำเนินการต่อ  การสร้างความไว้วางใจให้แม่ส่งเด็กหญิงนา ..เข้าเรียนตามพัฒนาการของเด็ก   ทางโครงการครูข้างถนน พูดคุยกันจนแม่ตัดสินใจให้ลูกเข้ามารับบริการที่บ้านอุปถัมภ์เด็ก  (เป็นบ้านสำหรับเด็กผู้หญิงทั้งเด็กกำพร้า เด็กเร่ร่อน เด็กลูกกรรมกรก่อสร้าง เป็นต้น) แล้วทำประวัตินั่งคุยกับแม่ของเด็ก  ว่าเด็กหญิงนา เกิดที่ไหน  แม่จำวันที่เกิดไม่ได้  แต่จำปีเกิดของเด็กได้  สิ่งที่ทางโครงการครูข้างถนนดำเนินการ

(1) ทำหนังสือจากมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก ไปยังโรงพยาบาลบางจากตั้งอยู่ที่ถนนสุขสวัสดิ์  ตำบลบางจาก อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ (มอบนายธนะรัตน์ ธาราภรณ์ เป็นผู้ดำเนินการ)  พร้อมกับให้แม่และเด็กหญิงนา.  เดินทางไปด้วย เพื่อขอใบรับรองการเกิด  ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ประจำโรงพยาบาล จำเด็กพร้อมแม่ได้  จึงได้ใบรับรองการเกิดมา  ใช้เวลารอการตอบจดหมายประมาณ 2 สัปดาห์

(2) หลังจากได้รับใบรับรองการเกิดจากโรงพยาบาลบางจาก เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็นำครอบครัวเด็กไปยังฝ่ายเทศบาลเมืองลัดหลวง  จังหวัดสมุทรปราการ  เพื่อไปออกใบสูติบัตร บุตรบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน พร้อมกับใบทะเบียนประวัติ บุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน สำเร็จด้วยดี  มีการสอบปากคำว่าเป็นแม่ลูกกันจริง  ได้เอกสารในวันที่ 30 เมษายน 2557

เป็นเคสแรกที่เป็นเด็กเร่ร่อนต่างด้าว ที่ได้ใบสูติบัตร  ทางโครงการครูข้างถนนก็ตั้งประเด็นว่าในการช่วยเหลือแม่และเด็กเร่ร่อนต่างด้าวในขณะที่เพิ่งคลอดลูก หรือเด็กที่เกิดหลังจากปี พ.ศ. 2551  ต้องต้องใบเกิดให้เด็กก่อน ซึ่งร่วมด้วยกับทางโครงการศึกษาแนวทางเชิงนโยบาย(รูปแบบที่เหมาะสม)ในการคุ้มครองสวัสดิภาพแม่และเด็กเร่ร่อนต่างด้าว


 

เคสที่ สอง  เด็กเกิดที่โรงพยาบาลเลิศสิน  เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2557

                    ครูข้างถนน จะเดินบนถนนไปเรื่อยๆยิ่งลงพื้นที่มากก็พบคนที่ต้องช่วยเหลือมากเหมือนกัน พบครอบครัวนี้ทั้งครอบครัว พบแม่หนึ่งคน ลูก สามคน คนโตเป็นเด็กผู้ชาย อยู่ในช่วงอายุ 8-9 ปี  น้องคนที่สอง อายุ 6-7 ปีเป็นเด็กผู้หญิงน่ารักมาก วิ่งเร็วมาก  บอกว่าป้าคะหนูหิวจริงๆยังไม่ได้กินอะไรตั้งแต่เช้า มาพบครอบครัวนี้ตอนประมาณสี่โมงเย็น...คนทำงานอย่างเราก็เข่าอ่อนเหมือนกัน ตั้งแต่เช้ายังไม่ได้กินอะไรเลย...ส่วนคนที่สามเพิ่งคลอดเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2557 คลอดได้ประมาณสัก 1 เดือนแล้ว เสียค่าคลอดเอง  แต่วันนี้ไม่ได้เอาเอกสารมาด้วย อยู่ที่บ้านเช่า  จึงให้เบอร์โทรศัพท์ติดต่อกัน  สุดท้ายได้ไปซื้ออาหารมากินด้วยกันที่สะพานลอย จึงเป็นจุดเริ่มต้น  แม่เด็กก็เริ่มบอกว่าถ้าวันนั้นลูกหนูไม่มีนมกินโทรหาป้าได้ไหม  โอ้โฮเป็นคนแรกที่แม่เด็กชาวกัมพูชาจะโทรมาหาขอความช่วยเหลือ เป็นนิมิตรที่ดีที่จะได้มีโอกาสเยี่ยมบ้าน    จนถึงกลางเดือนมิถุนายน 2557 แม่เด็กชื่อ นางที ก็โทรมาจริงๆบอกว่าลูกป่วยนอนอยู่ที่บ้านเช่า ชุมชนแห่งหนึ่งในกรุงเทพ วันนั้นเป็นวันเสาร์ก็ตัดสินไปหาทันทีโอกาสเหล่านี้ไม่ได้ง่ายๆที่จะเข้าบ้านของพวกเขา  แล้วพากันไปหาหมอที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ครูก็จ่ายค่าใช้จ่ายเต็ม เด็กต้องฉีดยา มียากิน พร้อมทั้งซื้อนมและอาหารไว้ให้ด้วย  ซึ่งช่วงนั้นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของไทยด้วย แล้ววันนี้ก็ได้เอกสารของลูกนางที  เป็นครั้งแรกที่ได้เห็นสภาพบ้านเช่าคืนละ 50 บาท ที่พวกเขาบอกว่าเป็นแค่ที่ซุกหัวนอน  เมื่อเห็นสภาพแล้วจึงบอกได้แต่ว่าที่ซุกหัวนอนจริงๆ แค่ได้นอนก็เต็มบ้านแล้ว โดยไม่ต้องนั่งหรือยืนเลย  ทางโครงการครูข้างถนนได้ดำเนินการดังนี้


(1) ทางโครงการครูข้างถนน ได้ทำหนังสือถึง ผู้อำนวยการสำนักงานเขตบางรัก ขอตรวจสอบหลักฐานการเกิดของ เด็กชายแดง  ไม่ทราบนามสกุล  เกิดที่โรงพยาบาลเลิศสิน  ทำหนังสือไปถึงสำนักงานเขตบางรักตั้งแต่วัน 18 กรกฎาคม 2557  ซึ่งก็ยังไม่ได้รับคำตอบ หรือมีหนังสือเป็นทางการแต่ประการใด

(2 ในช่วงนั้นก็เกิดวิกฤตครอบครัวกับนางที  ลูกชายคนโตก็ถูกจับ ถูกส่งไปยัง สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองที่สวนพลู  นางทีกับน้องๆเป็นห่วงลูกชายคนโตมาก เพราะเด็กต้องไปคนเดียว  แม่ลูกจึงไปติดต่อกับ ตม.  แล้วเจตนาแม่คือให้ถูกจับพื่อจะได้พบลูก  จึงโดนจับกันทั้งครอบครัว ขาดการติดต่อกับไปประมาณ 5 เดือน  เรื่องเอกสารของเด็กชายแดงก็ยังค้าอยู่

(3) ประมาณต้นเดือนมกราคม 2558  ได้นัดพบกันเรื่องที่จะเอาสิ่งของไปให้  ถูกจับทั้งครอบครัวเป็นรอบที่สอง  แต่ครั้งนี้ถูกส่งไปยังสถานแรกรับคนไร้ที่พึ่ง  ในกระบวนการจัดระเบียบขอทาน  แล้วมีการตรวจ DNA แม่ลูกกันทั้งหมดสองคน  ลูกชายคนโตให้อยู่กับญาติที่ปอยเปต เพราะเด็กเริ่มโตแล้วซนมาก ไม่ชอบอยู่ที่บ้านเช่า จึงไม่ได้เอามาด้วย

(4) จนกระทั่งเดือนมีนาคม ได้พบกันอีกครั้งหนึ่ง เด็กผู้หญิงก็วิ่งมาหา จูงมือครูไปหาแม่  แล้วก็เล่าสารทุกข์สุกดิบให้ฟังอย่างละเอียด ถึงการถูกจับ  จึงนัดกันไปที่บ้านเช่าเอารถไปรับที่ชุมชน กว่าจะหากันเจอ ขณะที่เราทำงานด้วยกันกว่าปีกว่าแล้วนะ  ความไว้วางใจก็ยังไม่สนิท  แต่ก็ขึ้นตู้ของมูลนิธิสร้างสรรค์เด็กไปสำนักงานเขตด้วย  จึงบอกว่าถ้าเป็นรถตู้สีขาว มีชื่อมูลนิธิสร้างสรรค์เด็กขึ้นได้  และที่สำคัญถ้าวันไหนครูไม่ได้ลงเคส  เธอจะได้รู้จักครูข้างถนนอีกคนเป็นครูผู้ชาย   ซึ่งความจริงให้ตามหาเธอมาตลอดแต่ไม่มีโอกาสได้เจอกัน  บทเรียนการทำงานเหมือนกันเคสเหล่านี้จะต้องทำงานต่อเนื่องแล้วกัดไม่ปล่อย...ลงพื้นที่ให้มันบ่อยๆๆๆ...

(5) ไปสำนักงานเขตบางรัก พบเจ้าหน้าที่ พอเห็นเอกสารที่ครูจิ๋วถ่ายไว้อีกชุดหนึ่ง ซึ่งตรงกับชุดที่ทางมูลนิธิสร้างสรรค์เด็กได้ทำหนังสือไว้ เจ้าหน้าที่สำนักงานเขตบางรักบอกว่ารอเคสนี้มานาน และเอกสารทางโรงพยาบาลเลิศสินได้ทำไว้กับสำนักงานเขตบางรัก ในกรณีที่แม่และเด็กไม่มีเอกสาร จะมีการถ่ายรูปแม่และเด็กไว้  พอแม่และเด็กติดต่อมาหรือมาติดต่อด้วยตัวเองก็จะเทียบรูปแม่และเด็กทันที  ซึ่งเคสนี้ก็เป็นจริง ก็เป็นเคสแรกที่ทางโครงการครูข้างถนนทำได้อย่างถูกต้อง  และเป็นกรณีศึกษาที่จะไปนำไปบอกกล่าวกับหน่วยงานต่างๆ  ได้เอกสารใบเกิดของเด็กชายแดง เลิน  เมื่อ วันที่ 11 มีนาคม  2558

เป็นอีกเคสหนึ่งในการทำใบสูติบัตรของเด็ก ที่ทางโรงพยาบาลเลิศสิน ได้มีการทำงานเอกสารความร่วมมือ กับทางสำนักงานเขต ทำให้เกิดผลประโยชน์สูงสุดกับแม่และเด็กเร่ร่อนต่างด้าว (โยเฉพาะแม่ที่ไปคลอดลูกแล้วไม่มีเอกสารใดๆ)       

  

 

เคสที่ สาม  เด็กเกิดที่โรงพยาบาลราชวิถี  เมื่อวันที่  5 มิถุนายน  2557

ครูได้ลงพื้นที่พบแม่และเด็กเร่ร่อนต่างด้าว เมื่อประมาณต้นเดือน กุมภาพันธ์ 2558 เป็นเคสที่พบบนสะพานลอยเกือบ สิบครั้ง  ครั้งนี้พบเคสพร้อมลูกที่เพิ่งเกิดที่สะพานลอยเชือมสกายวอลล์สถานีรถไฟฟ้าสยาม  สิ่งที่เคสบอกกับครูช่วยฉันหน่อยนะ ฉันอยากได้ใบเกิดขอลูก  เพราะกลับไปประเทศกัมพูชา เด็กจะได้เข้าทะเบียนบ้านของพ่อได้ ไม่อย่างนั้นฉันอุ้มเข้าประเทศไม่ได้  เพราะตำรวจว่าฉันไม่เอาเด็กที่ไหนมาเข้าประเทศ  ฉันนะกลับประเทศได้แต่ลูกฉันกลับประเทศไม่ได้  ลูกฉันไม่ใช่เด็กไทยอยู่ในประเทศไทย มีตัวตนนะครู แต่ไม่มีเอกสารใดๆๆเลย

                   ครูก็เริ่มต้น ด้วยการโทรหาครูพง (นายธนะรันต์ ธาะภรณ์ ผู้ช่วยผู้จัดการโครงการครูข้างถนน) ให้ลงมาพบ  เพราะครูผู้ชายใส่เสื้อเชิ๊ตที่ปักอักษรใดๆๆก็ตาม  กลุ่มแม่และเด็กจะวิ่งหนีกันทันทีเข้าใจมาว่าตำรวจหรือคนของรัฐที่มีหน้าที่จับ เพราะฉะนั้นเขาจะไม่ไว้วางใจใครเป็นเด็ดขาด  เริ่มต้นด้วยขั้นตอน

(1) ครูข้างถนนลงมาทำรายละเอียดของเคส ตั้งแต่ชื่อ พ่อเด็ก ชื่อแม่เด็ก  ไปคลอดทีโรงพยาบาลไหน  ค้างค่าใช้จ่ายหรือเปล่า  มีสมุดสีชมพู ด้านหลังจะมีใบรับรองการเกิดของเด็ก  แต่บังเอิญที่โรงพยาบาลราชวิถีไม่ได้กรอกเอกสารของเด็ก แต่สามารถไปแจ้งเกิดได้เลยที่โรงพยาบาล

(2) พาแม่และเด็ก ไปโรงพยาบาลราชวิถีด้วยกัน ค่าใช้จ่ายการคลอดไม่มีปัญหาสำหรับเคสนี้ แม่แจ้งบันทึกการเกิดของลูกคนละชื่อ

(3) แม่ของเด็กมีเอกสารขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าว จึงเอาเอกสารมายืนยันและเปลี่ยนแปลงรายการชื่อของแม่ ที่โรงพยาบาลราชวิถีเป็นสถานที่เดียวที่สามารถออกสูติบัตรที่โรงพยาบาลได้ เพราะความร่วมมือกับทางสำนักงานเขตพญาไท

(4) เด็กได้รับใบสูจิบัตร โดยระบุ บุตรคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ

สำหรับเคสนี้เป็นการกลัวของแม่เด็กที่ไม่กล้าไปแจ้งเกิดลูกที่โรงพยาบาล  จนครูข้างถนนต้องดำเนินการ  เด็กหญิงลินดา เจีย  จึงได้ใบเกิด  แม่เด็กดีใจมาก เพราะเพิ่งโดนจับมาในกรณีที่เป็นคดี “ค้ามนุษย์ เพราะไม่มีใบเกิดของลูก ถูกกักตัวอยู่ที่ ตม.มา 21 วัน  เพิ่งจะส่งกลับไปประเทศกัมพูชา ทางด่านบ้านแหลม ซึ่งไกลมาก ฉันเองก็เดินทางกลับไปปอยเปตไม่ถูก นั่งรถทั้งวันกว่างจะถึงปอยเปต  เมื่อไปถึงบ้านก็ไม่มีอะไรจะกินอยู่ก็อด แล้วก็ตายเปล่าจึงพาลูกย้อนกลับมาหาสามีที่แหล่งก่อสร้างอีกครั้ง  คำบอกเล่าเหล่านี้จะออกมาจากเคสเมื่อทั้งครูและแม่เด็กได้รู้จักกันดีขึ้น

 

 

เคสที่สี่    เด็กหญิง  ยะนา ไม่มีนามสกุล วันที่ 25 มิถุนายน 2558

            เมื่อครูข้างถนน ได้จัดทำประวัติครอบครัวของแม่และเด็กเร่ร่อนต่างด้าวที่ชุมชนเปรมฤทัย  ได้มีแม่ลูกคู่หนึ่งมาขอความช่วยเหลือ ในวันนั้เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน  2558 ไม่ได้ลงบันทึกการช่วยเหลือ  โดยขอให้พาไปโรงพยาบาล เพราะลูกสาวอายุ 17 ปี มีลูกและสามีก็กลับประเทศกัมพูชา   ซึ่งนางดา ตัง ซึ่งกำลังตั้งครรภ์อายุครรภ์ประมาณ 8 เดือน  มีเอกสารเข้าประเทศแต่เอกสารหมดอายุ

          เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2558 ได้มีการโทรประสานกับโครงการให้การศึกษาเปรมฤทัย  (ครูมุ้ย) ว่าพาลูกไปคลอดที่โรงพยาบาลบางจาก ทางโครงการครูข้างถนนได้ดำเนินดังนี้

(1)  ทางโครงการครูข้างถนน ได้ลงไปประสานงานกับเคสที่โรงพยาบาลบางจาก ซึ่งต้องเสียค่าใช้จ่ายในการคลอดจำนวน 5,000 บาท  ซึ่งทางครอบครัวมีเพียง 3,000  บาท  โดยทางโครงการฯจะขอความอนุเคราะห์ โดยคุยกับทางโรงพยาบาลบางจาก  แต่ทางเจ้าหน้าที่ในการพูดคุยว่า ทางโรงพยาบาลไม่มีฝ่ายสังคมสงเคราะห์ ทางโครงการฯจะช่วยเหลือเคสก็ช่วยเลย โดยไม่ต้องมาคุย (เป็นคำบอกเล่าจากเจ้าหน้าที่ที่ลงไปประสานงาน )  ทางโครงการครูข้างถนนจึงให้ยายของเด็กจ่ายไปตามความเป็นจริงที่มี

(2) ด้านเอกสารของเด็กใบรับรองการเกิด เมือทางแม่ไม่เอาเอกสารมายืนยัน  ทางเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลไม่ได้ลงสัญชาติให้เด็ก  ด้วยเหตุผลการค้างค่าใช้จ่าย

(3) ทางโครงการครูข้างถนน จึงพาเด็กและแม่ไปที่เทศบาลเมืองลัดหลวงในการทำใบสูติบัตรเด็ก  โดยระบุว่า บุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน

สำหรับเคสนี้ เรื่องค่าใช้จ่ายในการคลอดเด็กก็ยังมีการผูกกับเรื่องเอกสารการเกิดของเด็ก ถึงแม้ว่า กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยจะมีเอกสารเวียนไปตามโรงพยาบาลต่างๆก็ตาม หรือ เทศบาลด้วย   เรื่องกฎหมาย กฎระเบียบ  แต่ยังขึ้นอย่กับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที

 

เคสที่ห้า   เด็กชายเพีย วันที่ 1 พฤศจิกายน 2557

          เป็นเคสที่แม่เด็กอุ้มเด็กมาที่โครงการศึกษาชุมชนเปรมฤทัย ที่บ้านครูมุ้ย   ซึ่งในวันที่

1 มิถุนายน 2558นั้น เด็กป่วยมาก  มีอาการไข้ขึ้นสูง มีอาการชักมาแล้วหนึ่งครั้ง ไข้สูงมากทั้งกินยาลดไข้ก็ยังไม่หายดี แม่อุ้มมาอาการไม่ดีเลย จึงอนุเคราะห์ให้พาเด็กไปรักษาพยาบาลก่อน  ทั้งพ่อแม่เด็กไม่มีเอกสารแสดงตัวใดๆทั้งสิ้น  ได้ถ่ายรูปสมุดบันทึกประจำตัวของ เด็กชาย เพีย  ไม่มีนามสกุลไว้  คลอดที่โรงพยาบาลบางจาก  แต่ไม่มีใบรับรองการเกิด สิ่งที่ทางโครงการครูข้างถนน ดำเนินการ

(1)    ทางโครงการครูข้างถนนทำประวัติครอบครัวของเด็กคราวๆ เพราะทั้งพ่อและแม่ ไม่มีเอกสารแสดงตัวตนเลย  มีแต่เพียงสมุดบันทึกสุขภาพของเด็กและบัตรประจำตัวที่ไปโรงพยาบาล เป็นหลักฐานไว้ก่อน

(2)    ได้พาแม่เด็กไปทำเอกสารใบเกิดลูกที่เทศบาลเมืองลัดหลวง  โดยใบสูติบัตร ระบุ บุตรคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ

สำหรับเคสนี้เมื่อคลอดลูกที่โรงพยาบาลบางจาก ไม่มีเงินจ่ายค่าใช้จ่าย จึงไม่กล้าที่จะไปแจ้งของใบเกิดลูก ซึ่งค้างมาประมาณ หนึ่งปี  และด้วยทั้งพ่อและแม่ก็ไม่มีเอกสาร  ที่สองคนเกิดที่ประเทศไทย เมื่อ 20 ปีที่แล้ว เอกสารทางประเทศกัมพูชาก็ไม่มีทั้งสิน เป็นประด็นปัญหาสำหรับเด็กและเยาวชนที่ไม่มีเอกสารทั้งสองประเทศ

 

 

เคสที่หก  เด็กหญิงนี  เกิดวันทื่ 7 กรกฎาคม 2558

          เป็นเคสแม่น้องฟ้า (นางอูจารับ อายุ 38 ปี) เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2558 เสียงโทรศัพท์ที่ดังมาก ดังเป็นสิบครั้ง  ครูจิ๋วคะ ครูมุ้ยเอง ครูมุ้ยอยู่สถานีตำรวจทองหล่อ  ตั้งแต่เมื่อคืนตอนสี่ทุ่ม ติดต่อใครไม่ได้เลย ครูแวะมารับเด็กก่อนไปที่บ้านนะ  ตอนนี้ใช้ชื่อครูจิ๋ว ประกันตัวเด็กไปแล้วนะ  ตอนแรกขอเด็กเพียงแค่สี่คน แล้วทางพนักงานสอบสวอนุญาติให้เด็กทั้งหมด 11 คน  ห้ามให้ใครมารับกลับจนกว่าคดีจะเสร็จ ต้องพาเด็กไปพบอัยการและทีมสหวิชาชีพอีก

          ในบรรดาแม่เด็กเร่ร่อนต่างด้าวในการโดนจับครั้งนี้  มีนางอูจับรับ  อยู่ด้วยซึ่งในขณะนั้นเพิ่งตั้งครรภ์ลูกได้เพียง 5 เดือน  สุดท้ายแม่กลุ่มนี้ก็ไปติดคุกอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพ 84 วัน  เป็นการผลัดฟ้อง ผลัดละ 12 วัน จำนวน 7 ผลัด  แล้วก็ปล่อยตัวออกมา

          เมื่อวันปล่อยออกมา ครูได้ลงไปพูดคุยเรื่องการห้ามเด็กไปออกไปกับแม่ขอเงินอีกเป็นอันขาด  แล้วก็นำเด็กที่ต้องเข้าเรียนที่โรงเรียนวัดมหาวงษ์อีก 6 คน  ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเด็กที่ขอประกันตัวออกมา ซึ่งเด็กก็อยากเรียนหนังสือกันมาก  เด็กๆๆเองก็ไม่ต้องออกออกไปกับแม่บางคนก็จะอ้างว่าหนูได้เรียนแล้ว  หนูอยากเรียนหนังสือ  ซึ่งครูเองก็พยายามต้องการให้เด็กได้เรียนหนังสือจริงๆ ก็ทำทุกวิถีทางให้เด็กได้รับโอกาสนี้


          เหตุเกิดจนได้ เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2558 นางอูจับรับ ได้พาน้องฟ้า ที่ได้เรียนหนังสือ เด็กใส่ชุดนักเรียนมาด้วย พากันมานั่งที่ซอยนานา  วันนั้นเป็นวันที่ทีมงานของอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ลงเยี่ยมพื้นที่  ซึ่งนางอูจับรับเองก็ท้อง 8 เดือนเต็มแล้ว ซึ่งไม่มีทั้งค่าเช่าบ้านที่ค้างมา 3 เดือน  ค่านมลูกคนที่สอง อายุขวบกว่าๆ  พร้อมทั้งค่าคลอดลูกก็ไม่มี  อาหารการกินของลูกไม่มี   แล้วนางก็เล่าต่อว่านั่งได้เงิน 30 บาท ก็ถูกเชิญตัวมาที่ศูนย์ปฎิบัติการคนขอทานนอน หนึ่งคืน  ฉันก็บอกว่ารู้จักครูจิ๋ว   ครูจิ๋วช่วยประกันตัวลูกเขา แถมด้วย พาไปโรงเรียน จ่ายค่าเล่าเรียนให้หมด  แต่ฉันไม่มีเงินให้ลูกไปกินโรงเรียน  อย่าไปบอกแก่นะว่าฉันถูกจับอีกครั้ง แก่ยิ่งไม่ให้ฉันออกมาอยู่  แต่ฉันอดจริงๆๆ สุดท้ายทางเจ้าหน้าที่ก็ส่งครอบครัวกลับไปที่บ้านครูมุ้ย   เจ้าน้องฟ้ามันเก็บกระเป๋าเสื้อผ้าไปอยู่กับครูมุ้ยเลย   ลูกฉันมันบอกว่าอยากเรียนขอให้เขาเรียนเถิด  อย่าให้ออกไปถนนอีกนะ...

          ท้องฉันก็โตขึ้นทุกวัน จนใกล้คลอดก็โทรบอกครูจิ๋วแล้ว  ครูก็บอกให้ไปคลอดที่ โรงพยาบาลบางจาก ฉันไม่มีเงินเลย โทรหาครูทุกคนช่วงนั้นทุกคนคงยุ่งมาก  ฉันก็ไปคลอดค่าใช้จ่ายทั้งหมด 5,000 บาท รวมถึงค่าอาหารของฉันด้วยนะ  ทางโรงพยาบาลคิดหมด  สามีฉันก็ตกงานเพราะไม่มีบัตรใครก็ไม่อยากจ้าง  ฉันก็ไปบังคับให้เขาไปยืมเงินมาได้ 1,000 บาท  ฉันถึงได้พาลูกออกมาได้  แต่ลูกฉันหมอต้องตรวจอีกหลายรอบ  ฉันไม่มีเงิน  แค่ค่ารถแท๊กซี่กลับจากโรงพยาบาลฉันยังต้องยืมคนอื่นเขาเลย  แล้วถึงได้เดินมาหาครูมุ้ยที่บ้าน

          เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2558  ครูจิ๋วก็ลงไปเยี่ยมนางอูจับรับอีกครั้ง   ซึ่งได้รับอุปกรณ์เครื่องใช้สำหรับเด็กอ่อนมาจากสำโรงการแพทย์  จึงได้ลงเยี่ยมเคสพูดคุย ดูความเป็นอยู่ และดูเอกสารใบรับรองการเกิด ของเด็กหญิง  ด้านหลังสมุดสีชมพูว่างเปล่าคะ (ซึ่งโดยปกติก็ต้องมีการกรอกแต่ครั้งนี้ว่างเปล่าไปหมด)  ซึ่งก็เป็นห่วงอย่างมากในเรื่องการทำใบเกิดให้เด็กเพราะถ้าปล่อยทิ้งไว้นานๆทสงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ให้แน่ จึงต้องรีบจัดการ โดยทางโครงการครูข้างถนนได้ดำเนิน

(1)  ในช่วงวันที่ 16 กรกฎาคม 2558 ซึ่งมีนักศึกษาโครงการ 360 องศา  ของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ  อยากที่ลงเยี่ยมบ้านและติดตามการทำเอกสารใบเกิดให้เด็ก  จึงมอบให้ครูพง (นายธนะรัตน์ ธาราภรณ์)  กับครูมุ้ย (นางจารนัย เอียงอิ่ม) ไปดำเนินการ  โดยการไปรับตัวแม่และเด็กที่ชุมชนไปที่โรงพยาบาล  ทางโรงพยาบาลให้ไปติดต่อที่เทศบาล

(2) ทางคณะจึงพากันไปที่เทศบาลเมืองลัดหลวง  ซึ่งเป้นเทศบาลที่ทางโครงการครูข้างถนน ได้ดำเนินการมาแล้ว 3 เคส  เคสนี้เป็นเคสที่ 4  แต่ทางโครงการครูข้างถนน ยังมีเคสค้างอยู่อีก 6 เคสที่ต้องดำเนินการ  จึงต้องขอใช้เวลาในการรวบรวมเอกสารพร้อมตัวคน  จึงอยากทำโครงการพิเศษฯให้หน่วยงานต้นสังกัดได้รับรู้  เรื่องนี้เป็นงานต่อไป  ซึ่งเด็กหญิง นี  ได้ใบเกิดของเด็กมา  ในบรรดา 3 คน มีใบเกิดแล้ว 1 คน สำหรับครอบครัวนี้ ยังขาดอีก 2 คน  เด็กหญิงนี ได้รับใบสูจิบัตร โดยระบุ

บุตรบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน

(3) ทางนักศึกษา ได้ทำวีดีโอ สำหรับเรื่องนี้ ชื่อ “ด้อยโอกาสเพราะกระดาษแผ่นเดียว”  ซึ่งได้พูดถึงความด้อยโอกาสในกรณีที่เด็กเหล่านี้ไม่มีใบเกิด  ได้เผยแพร่เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2558

สำหรับกรณีนี้การที่โรงพยาบาลไม่ได้กรอกรายละเอียดการเกิดของลูกให้ เพราะการค้างค่าคลอด  ซึ่งรายจ่ายที่ค้างชำระค่าคลอด กับการออกเอกสารใบรับรองการเกิดให้เด็กที่คลอดมันคนละเรื่องเดียวกัน  แต่ ทางโรงพยาบาลเอาเข้ามาเกี่ยวกัน 

จดทะเบียนการเกิด ใบเกิด มีความสำคัญกับเด็กเร่ร่อนต่างด้าวอย่างไร

เด็กเร่ร่อนต่างด้าวที่เข้ามาเกิดในประเทศไทยพร้อมกับแม่เร่ร่อนต่างด้าว ที่อุ้มท้องเก้าเดือนมาใช้ชีวิตในประเทศไทย ตั้งแต่การขอทาน การทำงานร้บจ้างทำงานสารพัดเพื่อให้เอาเงินมาเลี้ยงคนในครอบครัวของพวกเขา ขอใบเกิดให้กับเด็กเร่ร่อนต่างด้าวที่เกิดในไทย มีคำถามตามมาทันทีแล้วมันเกิดประโยชน์กับเด็กอย่างไร มีประโยชน์แน่นอนตั้งแต่

(1) เป็นการรับรองความเป็นตัวตนของเด็ก เพราะเป็นเอกสารพิสูจน์ตัวบุคคลของเด็กแต่ละคน ด้วยว่าเด็กคนนี้เกิดจากแม่คนนี้ เป็นการยืนยันความสัมพันธ์ของแม่ลูกซึ่งเสมือนจุดเกาะเกี่ยว และสามารถใช้เป็นเอกสารที่จะนำราชื่อเด็กเด็กเข้าทะเบียนบ้านตามสัญชาติของพ่อแม่ เป็นพลเมืองตามพ่อแม่ของเด็ก และที่สำคัญเด็กเหล่านี้รู้ที่มาของครอบครัวตนเอง

(2)  ช่วยในการพิสูจน์ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ของเด็กแต่ละคน  ซึ่งจะเป็นปรระโยชน์กับเด็กมากในกรณีที่ต้องถูกจับใน คดี “ค้ามนุษย์”  ได้มีใบเกิดยืนยันความเป็นครอบครัวของเด็กกับครอบครัว หรือในกรณีที่เด็กเหล่านี้ถูกทิ้งหรือพลัดหลง  ก็ยังตามหาหาชื่อบาและมารดา ได้

(3) ช่วยในการพิสูจน์อายุของเด็ก จะช่วยเด็กเป็นอย่างมากสำหรับการเข้าเรียนของเด็กในโรงเรียนเพราะอายุของเด็กชัดเจน  ซึ่งจะเป็นไปตามพัฒนาการของเด็ก มีการประเมินเหมือนเด็กไทย เพราะเด็กต่างด้าวที่เข้ามาเรียนในโรงเรียนปัจจุบันนี้เรียนหลักสูตรภาษาไทย  และเด็กเหล่านี้จะถูกประเมินการเรียนรู้เป็นประจำ

(4) ช่วยในการพิสูจน์สถานที่เกิดของเด็กแน่ชัดว่าเกิดที่ไหน ที่โรงพยาบาลใด...เพื่อเป็นการเรียนรู้และรู้จำนวนเด็กต่างด้าวที่มาอยู่ในประเทศไทย โดยเฉพาะตัวเลขที่ใช้ร่วมกันอย่างเป็นทางการ พร้อมทั้งหน่วยงานภาครัฐด้านสาธารณสุขสามารถใช้ข้อมูลการจดทะเบียนการเกิดวางแผนทางด้านสาธารณสุขต่อไป เช่น การีควัคซีน การควบคุมโรคติดต่อ การระบาดของโลก  เป็นต้น

(5) ช่วยในการกำหนดสัญชาติของเด็กได้ชัดเจนเกิดในประเทศไทยไม่ใช่ทุกคนต้องได้สัญชาติไทย และที่สำคัญเป็นกระบวนการที่สำคัญในการรับรองเด็กว่ามีตัวตนในทางกฎหมาย (แม้จะไม่มีสถานะถูกต้องตามกฎหมายก็ตาม )

(6) ช่วยให้เด็กสามารถกลับไปยังประเทศบ้านเกิดหรือประเทศของพ่อแม่ได้ คือเด็กทุกคนต้องมีที่อยู่ประเทศของตนเอง....แต่ในทางปฏิบัติยังพบเจอปัญหาระหว่างทางการดำเนินการอีกมาก

จากการดำเนินการของโครงการครูข้างถนน ในการจดทะเบียนการเกิด ซึ่งได้มาซึ่งใบเกิด(ใบสูจิบัตร)ของเด็กเร่ร่อนต่างด้าว ในแง่กฎหมาย กฎระเบียบข้อปฎิบัติ มีพร้อม แต่สิ่งที่ต้องดำเนินการคือคนปฏิบัติที่ยังขาดความรู้ ความเข้าใจ  ส่งผลให้เด็กเร่ร่อนต่างด้าวที่เกิดมาหลัง พ.ศ. 2551  ยังไม่ได้รับการปฏิบัติดังเขาเป็นพลเมืองคนหนึ่งของอาเซียน

 

 ..........................................................................................................