banner
พฤหัสบดี ที่ 24 เดือน ธันวาคม พ.ศ.2563 แก้ไข admin

โควิด-19 ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (ตอนที่ 1 ทุนการศึกษา)

 นางสาวทองพูล   บัวศรี

ผู้จัดการโครงการครูข้างถนน  มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก

 

          ด้วยการเกิดโรคโควิด-19  ในประเทศไทย  มีเพื่อนพ้อง น้องพี่  แม้แต่คนในครอบครัว  ถามคำถามแบบคลาสิคมาก   “เหนื่อยไหม”   ถ้าจะตอบว่าไม่เหนื่อย  ช่างโลกสวยประมาณไหน

          ครู ตอบ ว่าเหนื่อยมาก   ด้วยเหตุผล กลุ่มเป้าหมายของครู เป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะติดโควิด-19   แต่ช่างโชคดี   ไม่มีเด็กเร่ร่อน /ไม่มีคนไร้บ้าน /เด็กลูกกรรมกรก่อสร้างติดสักคนเดียวเลย

          แต่สำหรับทางโครงการครูข้างถนน โรงเรียนเด็กก่อสร้างเคลื่อนที่  ลุยแบบว่า  “โอกาสทำงานรีบทำ  เพราะมันคือโอกาสให้พวกเราทำงานเต็มที่  ได้แสดงความสามารถ พร้อมหลักการคิด หลักการทำ ”

          งานที่ทำสามารถแยกออกเป็น

          1.การมอบถุงยังชีพ กับกลุ่มเป้าหมายที่ทางโครงการดำเนินการ  คือ กลุ่มเด็กลูกกรรมกรก่อสร้าง  จำนวนกว่า 508 ครอบครัว  เด็กกว่า 693 คน เด็กนักเรียนที่กระจายตัวอยู่ในพื้นที่ 17 แห่ง  ชุมชน 2 ชุมชน   จำนวนเด็ก  222  คน

          กลุ่มเป้าหมายเด็กเร่ร่อนไทยถาวร พื้นที่ ใต้ทางด่วน จำนวน 13 ครอบครัว  เด็กอีก  41 คน เดิมเด็กเหล่านี้ หากินกับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ (เด็กเร่ร่อนวัยรุ่น) ปัญหาที่พบคือพอมีโควิด-19 เกิดขึ้น  การหากินแทบไม่ได้เลย หันมาแกะเสนลวดทองแดงบ้าง เก็บขยะบ้าง  สิ่งที่รุ้มเร้าเด็กคือ เรื่องบัตรประชาชนตัวของเด็ก  เพราะด้วยชื่ออยู่ทะเบียนบ้านกลาง  ทำอะไรไม่ได้เลย  แทบโดนจับได้ตลอดเวลา  เป็นเหยือของกฎหมายที่มีการบังคับใช้แบบตามใจของผู้บังคับกฎหมาย


          กลุ่มเป้าหมายเด็กเร่ร่อนไทยชั่วคราว  พื้นที่ ชุมชนโค้งรถไฟยมราช  ชุมชนคลองส้มป่อย  ชุมชนเพชรบุรีตัดใหม่ ซอย 5,ซอย 7  ชุมชนแยกคลองตัน  ฯลฯ  กลุ่มนี้หนักหน่วงมาก  ต้องขออธิบายทีละชุมชน

          กลุ่มเป้าหมายเด็กเร่ร่อนต่างด้าว พื้นที่ชุมชนเปรมฤทัย สำโรงเหนือ ครูมุ้ยช่วยดูแลประคับประคอง เรื่องอาหาร ทาโครงการฯไปช่วย 2 ครั้งเท่านั้น  แต่เรื่องการศึกษาของเด็กโรงเรียนวัดมหาวงศ์  ทางโครงการฯจ่ายค่าใช้จ่ายเด็กที่โรงเรียน จำนวน 32 คน,   พื้นที่สเตรท  ดูแลเรื่องอาหารและการศึกษาของเด็ก จำนวน เด็ก 5 คน ,ชุมชนบ่อนไก่  ดูแลเรื่องอาหาร และการศึกษาของเด็ก  จำนวน เด็ก 15 คน  และกลุ่มเด็กที่ไม่มีที่อยู่แน่นอน เร่ร่อนไปเรื่อยๆ

          2.สำหรับกลุ่มที่เรียน  ได้มีการประสานงานกับ “กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา”  ในเรื่องอุปกรณ์การเรียน  กระเป๋า รองเท้าสำหรับเด็ก  จำนวน 307 คน  ใช้การผ่านไปทางงานวิจัย คณะครุศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

          3.เมื่อลงลึกไปในแต่ละกรณีศึกษา  เรื่อง ทุนการศึกษาสำหรับเด็ก ยังมีความสำคัญเป็นอย่างมาก  ต้องใช้วิธีการไล่เจาะรายละเอียด  เยี่ยมทั้งครอบครัว ที่พักอาศัย และทั้งที่โรงเรียน/สถานที่เด็กทำงาน ตลอดจนบนท้องถนนที่ครอบครัวของเด็กออกไปทำมาหากิน  ครูเองก็ต้องแยกการใช้เงิน เพื่อให้เด็กได้รับประโยชน์สูงสุด อยู่ในโรงเรียนให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้  

          3.1 มีกรณีของแม่ที่ร้องขอ ความช่วยเหลือในขณะที่ ฝนตกหนักมาก เมื่อวันที่ 20-25 กันยายน  2563  ร้องขอเงินจำนวน 400  บาท  ครูตัดสินใจทันที ให้เอาเงินส่วนตัวจ่ายไปก่อน  แล้วค่อยหาวิธีการช่วยเหลือ 

          เดิมแม่มีการถักงานขายให้กับนักท่องเที่ยวชาวจีน /ชาวยุโรป ที่มาเที่ยว  แต่เมื่อทุกอย่างยุติการท่องเที่ยว  แทบหาเงินไม่ได้เลย แค่เช่าบ้านแต่ละเดือนยากมาก ค่ากินสามคนแม่ลูก ทุกวัน วันละ 3 มื้อ ก็แค่เอาตัวรอดก็เก่งมากเลย  งานนี้ประสานขอทุนจากโครงการทุนการศึกษา  มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก โอนเงินทุนสำรองให้เด็กก่อน  เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม  2563  คนละ 2,000 บาท  อย่างน้อย ประคับประคองกันไปก่อน   เมื่อสัปดาห์วันที่ 10-11 ธันวาคม 2563  แม่ป่วยมากเป็นลม ลูกๆ ต้องหามส่งโรงพยาบาลภูมิพล  ลูก 2 คน พากันไปถึงโรงพยาบาล ยังโชคดีมีบัตรรักษา 30 บาท

          3.2 มีกรรมการชุมชนคลองส้มป่อย  ว่าเด็กอยู่กันตามลำพัง คนโตออกจากโรงเรียนแล้วไปรับจ้างส่งสินค้าที่ตลาด  ได้เงินมาเป็นค่าอาหารของน้องและตัวเอง  พร้อมจ่ายค่าเช่าบ้าน

          สำหรับ “น้องไก่” นามสมมุติได้ ทุนปัญญาภิวัฒน์เรียน ที่ศูนย์สะพานควาย ในระดับ ปวช.ปีที่ 1  โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่สิ่งที่ต้องจ่ายคือ ชุดนักเรียนพร้อม รองเท้า  ค่าใช้จ่ายพาหนะไปโรงเรียน วันละ 90  บาท พร้อมทั้งค่าอาหารกลางวันที่เด็กต้องกิน  โดยฝึกงาน 3 เดือน จะมีรายได้มาจากการฝึกงาน   แต่ช่วงเรียน สำหรับช่วงที่ต้องเรียนมีค่าใช้จ่ายเป็นค่าพาหนะไปเรียนหนังสือ(ภาคทฤษฎี)   จึงประสานขอทุนการศึกษา โครงการทุนการศึกษา  มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก  จำนวน 1 ทุน  เป็นเงิน 5,000  บาท เน้นจ่ายเป็นรายเดือน เดือนละ 1,000 บาท พยุงกันไปก่อน เด็กตั้งใจเรียนมาก เพื่อให้เด็กได้รับโอกาสสูงสุดตามศักยภาพที่เด็กกับครูจะสู้กันไปด้วยกัน ให้มาตั้งแต่เดือนตุลาคม  2563  เดือนนี้เป็นเดือนที่ 3  แล้ว  

          3.3.เป็นน้องสาว  ของน้องไก่  ชื่อ “น้องสมหญิง”  เรียนจบ ป.6  กำลังไปเรียนที่โรงเรียนวัดปทุมวนาราม (เป็นโรงเรียนขยายโอกาสของกรุงเทพมหานคร)   ไม่เสียค่าใช้จ่ายเรื่องบำรุงการศึกษา  แต่สิ่งสำคัญ คือค่ารถ ค่าอาหาร ไปเรียนวันละ 50 บาท  เดิมที่ครูโรงเรียนเก่าช่วยเหลือให้เด็กไปทำความสะอาด ที่โรงเรียนจ้างเด็ก วันละ 50 บาท พอไหม ไม่พอค่ะ 

          ครูจึงประสานงานโครงการทุนการศึกษา  มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก จำนวน 3,000 บาท โอนเมื่อวันที่ 17  ธันวาคม  2563  และมีประสานงานกับครูที่โรงเรียนเดิม พร้อมกับคุณครูที่โรงเรียนแห่งใหม่ด้วย   งานนี้เด็กตั้งใจเรียนพร้อมหาค่าใช้จ่ายสำหรับตัวเด็กเอง   งานนี้ครูเร่งรัดทุกเรื่อง  เพื่อให้เด็กมีที่ยืนตามช่วงชั้นที่เด็กต้องการเรียน

          3.4 เป็นเด็กสาวน้อยน่ารัก  ที่เห็นมาตั้งแต่เล็กแล้ว  ตอนนี้เรียนฉันมัธยมศึกษาปีที่ 3 ชื่อ “น้องซี”  แม่ขับมอเตอร์ไซด์รับจ้าง  ตั้งแต่เกิดโควิด-19 ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 สภาพคล่องขอแม่ไม่มีเลย  เมื่อเดือนกรกฎาคม 2563  เปิดเทอมการศึกษา  เด็กเรียนที่โรงเรียนดัง  ที่หลายคนแย่งกันเข้าเรียน เด็กสอบได้ เพราะเดิมอยู่ที่ชุมชนโค้งรถไฟยมราช  ค่าใช้จ่ายเทอมการศึกษาแรก  จำนวน 3,200  บาท

          แม่เด็กประสานงานสำหรับเทอมการศึกษาที่ 2  จำนวน 3,000  บาท  ทุกอย่างต้องจ่ายก่อน ปีใหม่  ครูเลยต้องตัดสินใจ ที่ ใช้เงิน โครงการครูข้างถนน ที่ขอจาก “กองทุนวิจิตรพงศ์พันธ์”  เป็นค่าใช้จ่ายให้เด็กไปก่อน

          3.5  สาวน้อยน่ารัก ที่ยายเลี้ยงมาตั้งแต่เล็ก  โตขึ้นมาก เรียนสูงก็ต้องใช้เงินมาก เรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3  เช่นกัน เทอมการศึกษาแรก 3,200 บาท และเทอมการศึกษานี้ อีก 3,000 บาท  เพราะถ้าใช้ทุนเรื่องอื่นๆ ก็ไม่พอจ่ายอยู่ดี  สำหรับการศึกษา ครูอยากให้จบการศึกษา ม.3  หลังจากนั้นเด็กจะออกไปทำงาน หรืออะไรก็ให้ได้วุฒิการศึกษาติดตัวไป

          สำหรับสาวน้อยนี้  คุณยายเองก็เจอความเหนื่อยล้า กับพฤติกรรมกำลังวัยรุ่นของหลานสาว  สาวน้อยยืนยันว่าจะเรียนเท่านี้  ก็สู้กับจนจบ  ครูใช้ทุนการศึกษา คือ “กองทุนวิจิตรพงศ์พันธุ์” ที่ผ่านมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก
 

          3.6 เป็นสาวน้อยมีพี่น้อง 3 คน คนนี้เป็นคนโต เรียนมัธยมศึกษาปีที่ 3  มีน้องคนรอง เข้า ม.1  ครูต้องบอกว่าครูช่วยเฉพาะ ม.3  เพื่อให้มีโอกาสเรียนจบตามช่วงชั้น  เทอมแรก 3,200  บาท สำหรับเทอมนี้ 3,000 บาท   ให้ครูซิ้มจัดการ เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม  จำนวน 3 กรณีศึกษาไปก่อน

          แต่แม่เด็กว่าขอให้ช่วยน้องสาวด้วย  สำหรับครูเองก็หมุนเงินไม่ทัน  จึงบอกว่า ปีหน้าค่อยว่ากันใหม่

          3.7 เป็นสาวน้อย ชาวกัมพูชา อายุ 18 ปี เรียนที่โรงเรียนมัธยมวัดด่าน เรียน ม. ฝ่ายธุรกิจโรงแรม ค่าเทอมพร้อมอุปกรณ์การเรียน เสื้อผ้า ชุดพละ ชุดการโรงเรียน ชุดสัญลักษณ์ประจำจังหวัด  เทอมการศึกษาแรก 10,150 บาท  สำหรับเทอมสองที่ต้องจ่าย 3,300 บาท

          เรียนฟรีแต่เสียสตางค์  ครูพูดมาตลอด  สิ่งที่เล่าผ่านบทความครั้งนี้  ไม่มีอะไรฟรีในโลกนี้

เรียน คือการลงทุนอีกชนิดหนึ่ง  เด็กทุกคนก็อยากก้าวข้ามให้ได้

          ตอนนี้ยังมีเด็กที่ต้องการความช่วยเหลืออีกจำนวน 7 คน  ที่ครูเองก็ใช้ระยะเวลาเหมือนกันผ่อนคลายการหางบแต่ละคนตรงไหนดี   เมื่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยก็อยู่ในภาวะทดถอย  ผู้ปกครองเด็กเองก็เครียด ไม่รู้จะไปหาเงินที่ไหนจ่ายค่าบำรุงการศึกษาของลูก    สถานการณ์แบบนี้  หน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงก็เร่งรัดให้ผู้ปกครองจ่าย

          สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจริงๆ กับผู้ปกครองเด็กทุกคน   ภาวะจำยอม....