banner
พฤหัสบดี ที่ 7 เดือน กุมภาพันธ์ พ.ศ.2562 แก้ไข admin

เด็กเร่ร่อน..กับเกม ROV


นางสาวทองพูล  บัวศรี

ผู้จัดการโครงการครูข้างถนน  มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก

 

          เมื่อวาน (วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2562) หลังคุยงานกับครูซิ้ม พร้อมทั้งเอกสารของน้องนักศึกษาฝึกงาน  ครูเองก็นั่งกินข้าวเช้า  เตรียมวางแผนการทำงานของครู  ซึ่งจะไม่ออกไปไหนสองวัน  สะสางการเขียนรายงานประจำปี 2561 จำนวน 4 โครงการ ต้องใช้เวลารวบรวมข้อมูล

          เสียงโทรศัพท์มือถือดังถี่ๆรัวๆ  ติดกัน สามครั้ง  ลุกจากการกินข้าวเช้า  ครูซิ้มบอกว่า ครูคะ  น้องเตเต้(นามสมมุติ) ที่ส่งไปยังสถานแรกรับเด็กบ้านปากเกร็ด(บ้านภูมิเวท) หนีออกมาตั้งแต่วันอาทิตย์แล้ว  ทางสถานแรกรับฯได้ไปแจ้งความไว้ที่สถานีตำรวจปากเกร็ด   ฝากครูช่วยดูแลว่าเด็กกลับไปพื้นที่ ที่ตลาดเดชาหรือเปล่า   ครูซิ้มถามว่าจะเอาอย่างไรดีคะครู

          เวลาที่ทำงานกับเด็กเร่ร่อน  คือการทำใจว่าเด็กทุกคนต้องการอิสระในการอยู่บนพื้นที่ถนน เด็กทุกคนอยากกลับไปใช้ชีวิตบนถนน  เพราะจะตื่นกี่โมงก็ได้ตามใจที่ตนเองปรารถนา  ตื่นขึ้นมาก็ขอทาน หรือไปเลือกอาหารในถึงขยะที่พอจะกินได้  กินให้อิ่มท้องไว้ก่อน  แล้วก็เดินขอทานเอาเงินที่ได้เข้าไปร้านเกม   เล่นบ้างนอนบ้าง จ่ายร้านเกมครบก็อยู่ได้ทั้งวันและคืน  บางร้านก็เริ่มมีโปรโมชั่น  ว่า 100 บาท เล่นได้ทั้งวันและคืน  แต่ตอนกลางคืนต้องปิดหน้าร้าน ตามกฎหมายกำหนด ภายในร้านจะเล่นเกมจะนอน หรือมียาเสพก็แล้วแต่เจ้าของร้าน  เพราะมันคือภายในร้านเท่านั้น 



          เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2561 ครูซิ้มขึ้นมาที่ห้องทำงาน บอกกับครูจิ๋วว่า มี คุณนุช (นามสมมุติ) เป็นกลุ่มแขกที่เคยมาเลี้ยงอาหารที่บ้านสร้างสรรค์เด็ก  พร้อมกับมอบเงินจำนวนหนึ่งให้ทางมูลนิธิฯไว้ทำกิจกรรม  บนเด็กเร่ร่อนที่นอนอยู่หน้าร้านสะดวกซื้อ  นอนแบบสลบเลย ปลุกเท่าไรก็ไม่ตื่น  อยากให้ครูลงไปดูหน่อย   ครูจิ๋วจึงบอกครูซิ้มว่าช่วยลงไปพื้นที่ให้ครูก่อน  ไปดำเนินการสอบถามและสร้างความไว้วางใจก่อน   เพราะวันนี้ครูมีงานเอกสารหลายเรื่องที่ต้องส่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  คือกองทุนวิจิตรพงศ์พันธุ์   ต้องสรุปงบประมาณ ตลอดจนเอกสารสรุปงานคร่าวๆ

          ครูซิ้ม กับ ผู้ช่วยครูจอย  ลงพื้นที่ทันที ที่ตลาดเดชา  พร้อมกับคุณนุชที่แจ้งกรณีศึกษา น้องเตเต้ คนเก่งทางทักษะชีวิตการดำรงชีวิตบนถนนอย่างเยี่ยม  เมื่อไปถึงสถานที่น้องเตเต้ ยังไม่ตื่น เลย ปลุกกันอยู่นาน เพราะเวลานั้นก็ สิบโมงกว่าแล้ว

          ครูซิ้มจึงมีการประสานงานกับครูหน่อย เป็นครูที่สังกัดเทศบาลนครรังสิต ในตำแหน่งครูสอนเด็กด้อยโอกาสในเขตเมือง   เมื่อครูหน่อยมาถึง  จึงเล่าสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นกับน้องเตเต้อีกครั้งว่าเกิดอะไรขึ้นกับน้อง

          ในวันนั้น ทางออกที่ดีที่สุดคือส่งน้องเตเต้ ไปยังสถานแรกฯ ด้วยเหตุผล คือสถานแห่งนี้รับเด็กเร่ร่อนโดยตรง ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546  ว่าด้วยการสงเคราะห์เด็กเร่ร่อน  ในครั้งแรกทีมงานของบ้านพักเด็กและครอบครัวปทุมธานี  ไม่ยอมให้ส่ง  แต่ครูจิ๋วเองประสานงานสิบทิศ  จนบ้านแรกฯรับเด็ก  ถือว่าเป็นการทำงานด้วยกันทุกฝ่าย  ตั้งแต่อาสาสมัครก็เห็นวิธีการทำงานของครู  ครูหน่อยเทศบาลนครรังสิตก็เป็นแหล่งข้อมูล  คณะครูโรงเรียนเด็กก่อสร้างเคลื่อนที่ ได้ทำงานอย่างเต็มที่  เด็กเองคิดว่าได้รับประโยชน์สูงสุด   แต่สุดท้ายก็อยู่แม้แค่สี่วันเท่านั้น  คระครูต้องมาศึกษาข้อมูลอีกครั้งว่า สภาพครอบครัวและเหตุปัจจัยของเด็ก

          ฝ่ายครูหน่อย  บอกว่า น้องเตเต้ ออกมานอนในตลาดเดชาตั้งแต่ วันที่ 10 มกราคม 2561  ด้วยว่าไม่ต้องการกลับไปอยู่กับพ่อ ที่เมาเหล้าแล้วใช้ความรุนแรงกับเด็ก  พ่อกับแม่เมื่อหมดรักกันต่างก็มีครอบครัวใหม่ที่สร้างด้วยความรักกันอีกครึ่งหนึ่ง  ส่วนน้องเตเต้เลือกที่จะอยู่กับพ่อ   แต่บทบาทหน้าที่ของพ่อที่ต้องทำหน้าที่  พ่อเลือกที่อยู่กับเพื่อนกลุ่ม รักษาความปลอดภัย (รปภ.)  ส่วนลูกก็แล้วแต่เวรแต่กรรม  เมื่อไม่เลือกจะไปกับแม่ ก็ต้องทิ้งตามยถากรรม  แค่หัวใจบางๆ ของพ่อที่แหลกสลายไปกับแม่  เพราะหมดรักหรือทนพฤติกรรมของพ่อไม่ไหว........พ่อก็จะโหยหาความรักนั้นอยู่  แต่เห็นหน้าลูกความคิดก็วิ่งไปไกล เห็นหน้าแม่แทน....อะไรที่ทำแม่ไม่ได้ทุกอย่างก็ลงกับลูกหมด

          เมื่อลูกน้อยไม่ใช่โซ่ห่วงที่คล้องใจพ่อแม่  ลูกคือตัวแทนอันเจ็บปวด  ลูกเองก็ไม่ทราบหรอกในความรักของพ่อแม่   ลูกได้เรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3  โรงเรียนแห่งหนึ่งที่คลองสอง  พฤติกรรมแห่งการเรียกร้องก็เริ่มขึ้นทันที เด็กน้อยติดเกมอยู่ในร้านเกม  เมื่ออยู่ในร้านสิ่งเร้ามีความสนุกสนานอย่างมาก  ได้เรียนรู้กับสิ่งที่เกิดจากเกม ตั้งแต่อารมณ์ที่ร้อนรุ่ม  ก้าวร้าว  เพื่อเรียกร้องความสนใจ ให้พ่อกลับมาสนใจ    แต่อารมณ์ของพ่อกับความเมาที่ส่งผลให้จิตใจที่ว้าวุ้น กับปัญหาที่ไม่รับผิดชอบในหน้าที่การงาน  ก็ส่งผลกับชีวิตของผู้เป็นพ่ออย่างมาก เพราะนายจ้างก็ต้องให้ออกจากงาน   พ่อเองก็ต้องไปหางานทำใหม่ด้วยวัยที่สูงขึ้น กับความรู้ที่มี งานจึงยาก   บวกกับร่างกายของพ่อด้วยพิษของสุราเรื้อรัง

          เมื่ออารมณ์ของพ่อไม่มั่นคงก็ส่งผลถึงลูกชายที่เคยเป็นหัวแก้ว หัวแหวน กลายเป็นตัวถ่วงความเป็นอยู่ พ่อกับลูกเคยต่างคน ต่างอยู่ ต่างความคิด   สถานที่ตลาดเดชาจึงเป็นสถานที่เดียวที่เด็กคุ้นเคยในการทำงานขอเงินกับคนที่รู้จัก  เพราะพ่อค้า แม่ค้า ทุกคนรู้จักเด็กเป็นอย่างดี   แต่ความชั่วโมงบินการอยู่บนถนนของน้องเตเต้มีมาก  ความเอาตัวรอดของเด็กจึงมีสูง   ใครไม่ให้ก็ไม่ง้อ  ใครให้ก็เอา  แล้วการที่เด็กเลือกนอนร้านสะดวกซื้อมีคนเข้า-ออกตลอดเวลา  คนนอกตลาดเห็นเด็กน้อยแล้วก็สางสารให้ทั้งเงินและอาหาร  ตื่นขึ้นมาก็มีอาหารกิน มีเงินที่วางกองไว้ให้อีก   เสียงแม่ค้าบอกว่าไปส่งไหนก็ไม่อยู่   แล้วจะมาอยู่ตรงนี้ได้อย่างไร

          ข้อมูลเบื้องหลังที่สำคัญ เพราะครูหน่อยแห่งเทศบาลนครรังสิต  บอกว่าพบเด็กเมื่อวันที่ 10 มกราคม 62  แต่ดูจากสภาพร่างกายและความช่ำชองสถานที่  คงใช้ชีวิตหลายเดือนมาแล้ว   แต่ครูหน่อยก็ประสานงานกับทีมงานของบ้านพักเด็กและครอบครัวปทุมธานี  ได้นำรถ มารับเด็กเข้าพักที่บ้านพักเด็กฯ   ช่วงบ่ายเจ้าน้องเตเต้ก็กลับมานอนที่เดิม  แถบคุยด้วยว่า  ส่งไปที่ไหนก็ก็ออกมาได้  เพราะผมอยากอยู่ที่พื้นที่    ผมคิดถึงพ่อ

          เช้านี้ที่กำลังนั่งเขียนบทความอยู่  ครูเองก็ต้องศึกษา เกมที่น้องเตเต้เล่น คือ ROV หรือ Realm of Valor เป็นเกมแนว MOBA Mobile เป็นเกมที่คนทั่วโลกเล่นด้วยกันได้  และกำลังนิยมอย่างต่อเนื่องมาหลายปีแล้ว  ด้วยกราฟฟิกของเกมสวย  ตัวฮีโร่แต่ละตัวมีความโดดเด่นด้วยเครื่องแต่งกายทันสมัยและเร้าใจเป็นอย่างมาก  ภาษาที่ใช้ในเกมในแอพพลิเคชั่นเป็นภาษาไทย (เด็กจึงติดกันอย่างมาก เล่นกันข้ามวันข้ามคืนกันเลยทีเดียว) ตัวฮีโร่ที่มีอยู่ในเกม มีทักษะที่มีจุดเด่นต่างกัน และมีตัวฮีโร่ให้เลือกมากมาย  มีการอัปเดตอยู่เรื่อยๆ เนื่องจากเป็นเกมที่ได้รับความนิยมต่อเนื่อง  มีลูกค้าจำนวนมาก เวลาเล่นต้องใช้ทีมสนับสนุนซึ่งกันและกัน

          จุดเสียของเกมนี้ก็มีจำนวนมากเหมือนกัน คือเงินในเกมนั้นหาค่อนข้างยาก ทั้งนั้นการซื้อตัวฮีโร่แต่ละตัวจะต้องอดใจ รอกันนานหน่อย  ตัวฮีโร่ฟรีมีให้เลือกน้อย (ทุกตัวต้องใช้เงินซื้อ)เท่านั้น

          แต่สำหรับเด็กที่ติดเกมนี้ เด็กเร่ร่อนบางคนถึงยอมออกจากบ้าน  เพราะในบ้านไม่มีสิ่งเร้าใจ  ในร้านเกมมีสิ่งเร้าใจและให้การเรียนรู้มากกว่า  ท้าทายในความมัน  โดยไม่ได้สนใจเงินในกระเป๋าของครอบครัวเลย

          น้องเตเต้ บอกกับครูว่า ที่สถานแรกรับฯไม่มีอะไรให้ทำ มีเพียงแค่ชิงช้า ไม่มีอะไรให้เร้าใจ เกมก็ไม่มีให้เด็กได้เล่น  อาการติดเกมปรากฏอย่างชัดเจน   ครูซิ้มได้นำตัวเด็กมาให้ครูจิ๋วได้พูดคุย  เลยต้องคุยกันเฉพาะครู ครูซิ้ม นักศึกษาฝึกงาน    มอบหมายกับน้องมายด์ ศึกษาดูแลเคสเป็นกรณีศึกษาทีต้องเรียนรู้   งานทั้งหมดต้องเริ่มต้นใหม่ทั้งหมด

(1)   ให้น้องมายด์ จัดการพาไปอาบน้ำก่อน  กลิ่นตัวพร้อมเสื้อผ้าที่ใส่มาแล้วสามวันที่ไม่ได้ซัก

เนื้อตัวที่มีเปื้อนด้วยดิน  เปื้อนไปทั้งตัว  ขัดที่เท้าและนิ้วมือ  และเน้นคำพูดเชิงบวก  ให้เห็นคุณค่าในตนเอง  พร้อมที่จะต้องพัฒนาตนเอง   อย่าให้พ่อต้องเดือดร้อน

(2)   สร้างความไว้วางใจใหม่ทั้งหมด   คุยเป็นเรื่องๆ  เน้นว่าเด็กไทยทุกคนต้องไปเรียนหนังสือ

อายุเพียงแค่นี้ใช้ชีวิตบนถนน เด็กไทยทุกคนต้องเรียนอย่างน้อย 12 ปี แต่น้องเรียนแค่ ป.3 เท่านั้น  ไม่อย่างนั้นพ่อมีความผิดที่ไม่ส่งลูกเรียน  (เมื่อพูดถึงตรงนี้ เด็กเตเต้ เอามือปิดหูทันที  พร้อมกับพูดขึ้นว่า กลับเรียนก็ได้)   จะเห็นได้ว่า เด็กยังรักพ่ออยู่

(3)   หาข้อมูลเกี่ยวกับโรงเรียนแสงสรรค์ คลองสอง  ว่าเด็กไม่ได้ไปโรงเรียนนานแค่ไหน  ทาง

โรงเรียนคัดชื่อเด็กออกจากโรงเรียนแล้วหรือยัง  เพราะได้ใช้ข้อมูลที่ได้เป็นการต่อรองกับเด็ก  ส่วนเรื่องการเรียนเด็กจะส่งไปอยู่ที่ไหน   ค่อยมาพูดคุยกันอีกครั้ง  เตรียมปรึกษาอีกโครงการหนึ่ง  ถึงจะต้องตรวจสุขภาพ ก็ดำเนินการ ใช้งบประมาณของมูลนิธิฯ  

(4)   สร้างอาสาสมัครที่ตลาดเดชาเพราะเหตุว่า  เด็กติดสถานที่และคุ้นเคยที่ตลาดแห่งนี้  โดยคุย

กับผู้จัดการร้านสะดวกเฝ้าระวังให้ด้วย  แล้วลงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ลงไปพบให้ได้เกือบทุกวัน เลือกช่วงเวลาที่เหมาะสม

(5)   ต้องคุยกับพ่อเด็ก ในเรื่องการศึกษา  ทั้งครูและพ่อต้องมาร่วมมือกันอีกครั้ง  ถึงเด็กยังติด

เกมอยู่ก็ต้องหาทางออกร่วมกัน 

          แม้หลายหน่วยงานหาแนวทางช่วยเหลือเด็กเร่ร่อนที่ติดเกม อยู่กับร้านเกม  ทุกหน่วยงานต้องช่วยกัน  ตั้งแต่อาสาสมัครที่แจ้งว่าพบเด็ก  ครูหน่อย เทศบาลนครรังสิต  ทีมงานบ้านพักเด็กและครอบครัวปทุมธานี   คณะครูของโรงเรียนเด็กก่อสร้างเคลื่อนที่ ครูซิ้ม ผู้ช่วยครูจอย  น้องมายด์    แม้แต่ตัวครูเอง  ถึงไม่ได้ลงไปทำกรณีศึกษาด้วยตัวเองก็ตาม