banner
พุธ ที่ 30 เดือน มกราคม พ.ศ.2562 แก้ไข admin

แม่ต้องทำตามกฎหมาย แม้หัวใจต้องการอิสระ

 

นางสาวทองพูล  บัวศรี

ผู้จัดการโครงการครูข้างถนน  มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก

 

          ด้วยการทำงานของครูข้างถนน ความต่อเนื่องในการช่วยเหลือกรณีศึกษา ที่เป็นครอบครัวไม่สิ้นสุด  จึงต้องติดตามของกรณีศึกษาอย่างต่อเนื่อง  การพูดคุยกับกรณีศึกษา ครูเองมีบทเรียนอย่างมาก  ด้วยความรักของแม่ที่ล้น ต้องการที่จะดูแลเด็กเอง กับการใช้เด็กเป็นเครื่องมือ มีแค่เส้นบางๆ เท่านั้น  จะมองมุมไหนของคนทำงานที่แต่ละคนสังกัด  ที่จะช่วยเหลือกรณีในรูปแบบใด  แล้วแต่มุมมองและการช่วยเหลือจริงๆ

          อย่างกรณีของแม่ปลา (นามสมมุติ)  ที่ลูกสองคน ที่ผ่านกระบวนการ และกรณีศึกษา ได้ติดคุกฟรีมาแล้ว  เพราะผู้บังคับใช้กฎหมาย บอกว่า ทั้งแม่และลูก คือการใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการ “ค้ามนุษย์”  งานนี้ติดคุกฟรี  ลูกคนหนึ่งส่งเข้าสถานสงเคราะห์  ลูกอีกคนไปคลอดในเรือนจำ  มันเป็นกระบวนการที่บอกว่าการคุ้มครองสวัสดิภาพ  และให้การช่วยเหลือของกระบวนการ



          เมื่อแม่ลูกมาเจอกันพร้อมกับน้องที่เกิดมาใหม่  ซึ่งเป็นคนละพ่อ  พ่อของลูกคนใหม่ใช้ความรุนแรงในครอบครัว  ถ้าพูดแบบบ้านนอก “แมงดาเกาะหลังเมียกิน”   เมียก็ยอมทุกอย่างเพื่อความรักในตัวของสามี  จนทนกันไม่ไหว  แม่ก็หอบผลผลิตแห่งความรักสองคน กลับบ้านนอก  ให้ลูกไปเรียนหนังสือที่ต่างจังหวัด  สุดท้ายก็ทนความไม่มีกินไม่ได้  ในครอบครัวของยายเมื่อมีหลานกับลูกเพิ่มมากอีก 3 คน รักก็รัก  แต่ไม่มีกินซิเรื่องใหญ่มาก   เกิดการทะเลาะเบาะแว้งกันระหว่างคนในครอบครัว  การตัดสินใจก็เกิดขึ้น พาลูก 2 คนมาหาอยู่หากินบนสะพานลอย ในกรุงเทพมหานคร

          ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2561 ลูกสาวคนโตที่เรียนชั้น ป.1  แม่หอบหิ้วมาด้วย ไม่ได้สอบ  ทางโรงเรียนเดิมคัดชื่อเด็กออกแล้ว  จนครูต้องขอร้องทำเรื่องย้ายโรงเรียน  และครูเองก็รับลูกสาวคนโตมาอยู่ที่บ้านอุปถัมภ์เด็ก ของ มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก ตั้งแต่วันที่ 24 พฤศจิกายน 2561 และได้เข้าเรียนต่อ

          ระหว่างที่แม่กับลูกสาวคนเล็กที่เหลืออยู่บนถนน  ได้มีเรื่องร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่    (1) ศูนย์ปฏิบัติการขอทาน (บ้านมิตรไมตรี)ว่า แม่ลูกคู่นี้ ผิดพระราชบัญญัติควบคุมการขอทาน พ.ศ. 2559  ในมาตรา 13,15,19   เพราะขอทานถือว่าผิดกฎหมาย มีโทษจำคุก 1 เดือน ปรับ 10,000  บาท

          (2) บ้านพักเด็กและครอบครัวกรุงเทพมหานคร  ผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546  ในมาตรา  26  ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งกฎหมายอื่น ไม่ว่าเด็กจะยินยอมหรือไม่ ห้ามมิให้ ผู้ใดกระทำการ ดังต่อไปนี้

              วรรค 5 บังคับ ขู่เข็ญ ชักจูง ส่งเสริม ยินยอม หรือกระทำด้วยประการใดให้เด็กไปขอทาน เด็กเร่ร่อน หรือใช้เด็กเป็นเครื่องมือในการขอทานหรือการกระทำผิด หรือกระทำด้วยประการใดอันเป็นการแสวงประโยชน์โดยมิชอบจากเด็ก

              วรรค 6  ใช้ จ้าง หรือวานเด็กให้ทำงานหรือกระทำการอันอาจเป็นอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจ มีผลกระทบต่อการเจริญเติบโต หรือขัดขวางต่อพัฒนาการของเด็ก

                   ซึ่งทีมงานบ้านพักเด็กและครอบครัว  ได้ลงมาทำบันทึกไปแล้ว เมื่อเดือนกันยายน  2561  ในเรื่องการจัดการหาที่พักอาศัย และการดูแลเด็กทั้ง 2 คน  ซึ่งข้อมูลนี้ไม่ได้บอกครู  บอกเพียงว่า เขามีสิทธิอยู่ หน่วยงานภาครัฐไม่มีสิทธิที่จะพรากแม่ พรากลูกไม่ได้   และตัวแม่เองก็อยู่ในภาวะที่เลี้ยงดูเด็ก  แม่มีความรักความผูกพันที่มากมาย  ขอเลี้ยงดูเอง   แค่ไม่มีบ้านเท่านั้นเขาก็อยู่ได้  มันคืออิสระเสรีภาพ ของคน  จะนอนตรงไหน จะอยู่ตรงไหนก็ได้

 

                   ทางบ้านพักเด็กและครอบครัวเองได้ลงพื้นที่ จำนวน 2 ครั้งด้วยกัน  ลงพื้นที่สะพานลอยหน้าพันธุ์ทิพย์พลาซ่า  กับสะพายลอยอนุสาวรีย์  เพราะให้เด็กออกเดินไปขอเงินคนที่เดินไป-เดินมา  ใช้สะพานลอย  ส่วนแม่ของเด็ก นั่งเป่าขลุ่ย แล้วเขียนบนกล่องบริจาคว่าเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย   มีอาสาสมัคร พาครอบครัวนี้ไปส่งที่ บ้านพักเด็กและครอบครัวกรุงเทพมหานคร   เมื่อไปถึงบ้านแล้ว  แม่ปลาไม่ยอมจะพักอาศัยที่บ้านพักเด็กและครอบครัวฯ  โดยให้เหตุผลว่า  แม่สามารถดูแลเด็กได้   จึงมีการบันทึกเป็นครั้งที่ สอง

          (3) ทำผิดเรื่องการไม่รักษาความสะอาด มีสิ่งของจำนวนมากที่ขนมาเก็บไว้ที่หัวสะพานลอยเป็นพื้นที่สาธารณะ  ขยะเต็มไปหมด  งานเจ้าหน้าที่เทศกิจ กับ เจ้าหน้าที่สำนักงานอนามัย เขตพญาไท เป็นผู้กล่าวหา   แต่งานนี้ผิดจริงๆๆๆ  เพราะข้าวของแม่ลูกมีจำนวนเยอะมาก  เก็บไม่เป็นระเบียบ  ทุกครั้งที่ครูลงพื้นที่เหมือนข้าวของมีจำนวนกองใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ  จนกลายเป็นสถานที่สกปรกมาก  วันที่ครูลงไปเจ้าหน้าที่เทศกิจจะมาถ่ายรูปอยู่เสมอ  แม้แต่เวลาที่นั่งคุยกัน   และบอกทุกครั้งเรื่องการเก็บเอาเฉพาะของที่จำเป็น  อะไรที่ไม่จำเป็นต้องเก็บทิ้งบ้าง  เพราะสถานที่ตรงนี้ไม่ใช่บ้านของแม่กับลูก   มีคำแก้ตัวของแม่ปลา  จนครูเองก็หมดแรงพูดไปเอง

          (4) ทำผิดเรื่องการกีดขวางทางคนเดิน   เพราะว่า ช่วงกลางคืนแม่ลูกจะมาปูผ้าห่มนอนที่เป็นทางเดินบนสะพายลอย   เรื่องนี้ผิดอย่างมาก  เพราะการนอนกีดขวางแบบนี้ เหมาะเป็นการเดินทางเท้า และคนสัญจรไป-มา  ตลอดทั้งคืน   ครูเองลงไปนอนกับแม่-ลูก เมื่อ วันที่ 4 ธันวาคม 2561  ด้วยเหตุผล คือต้องเอาความเป็นจริงมาอธิบาย กับแม่   แต่แม่ก็ยังยืนว่าพื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่ ของนิติบุคคล  และทางแม่ได้ไปคุยกับเจ้าของโรงแรมแล้วว่าให้อาศัยอยู่ได้  แม่มีสิทธิที่จะพาลูกมานอนตรงนี้    งานนี้เจ้าหน้าที่เทศกิจส่ายหัว    ด้วยแม่มีความรู้ได้กฎหมายหลายเรื่องพร้อมกับเสียงที่ดังโวยวายเป็นอย่างมาก

          และยังมีความผิดอีก 3 เรื่อง  เรื่องการขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่   เรื่องส่งเสียงดัง เพราะในขณะนี้ขอทานด้วยเป็นผู้แสดงความสามารถด้วย  แต่ไม่มีบัตร   และบางครั้งเข้ากึ่งการขายบริการทางเพศ  แล้วไม่ดูแลเด็กให้เหมาะสม ปล่อยให้ลูกนอนคนเดียว   เริ่มมีนักท่องเที่ยวมาซื้อบริการ แล้วเข้าพักที่โรงแรม

          ข้อมูลเหล่านี้ส่งเป็นทอด ทอด   มายังครู  และทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดจะลงปฏิบัติงานกับแม่ปลาก กับลูก   เพราะหน่วยงานต้องการส่งแม่ปลาคนสวยไปรักษาโรคที่กล่าวอ้างมาทั้งหมด  เพราะถ้าเป็นโรคต่างๆจะได้รักษา  และไม่มีโทษที่โกหกประชาชน   สำหรับเด็กจะส่งเข้าบ้านพักเด็กและครอบครัว  แต่ถ้าเด็กเลือกที่จะไปกับครูก็ได้นะ  อยากให้ครูลงด้วย

          เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2562  จึงเป็นการทำงานแบบบูรณาการพร้อมเพรียงกันทุกหน่วยงาน  นัดกันเวลา 10.00 น.  ครูเองไปสาย แต่หน่วยงานมารอกันแล้ว

          สำหรับครูรับตัวเด็กอย่างเดียว  เมื่อไปถึงครูไปนั่งคุยกับแม่ก่อน ชิงลงมือก่อนคนเขา  อธิบายกับแม่ว่า  งานนี้ครูช่วยอะไรกับแม่ไม่ได้จริงๆ   ครูคุยมาตลอดเวลา ตั้งแต่เอาตัวน้องอริสา  กลับไปเรียนแล้วอยู่กับครู      สำหรับน้องเนย์คนสวย ให้อยู่กับครูเถอะ น้องจะได้ไปอยู่กับพี่

          ในขณะที่ครูนั่งคุยอยู่ที่หัวสะพายลอยในขณะนั้น   หันไปมองอีกครั้ง นับจำนวนคนที่ลงในพื้นที่ครั้งนี้กว่า 30 คน   จึงบอกแม่เด็กว่า  ไปรักษาตัวตามที่เขียนไว้ข้างกล่อง รักษาให้หาย  ส่วนลูกให้ครูจิ๋วดูแลไปก่อนนะ  อย่างไรก็ไปอยู่กับพี่สาว     แม่จึงแต่งตัวใหม่ พร้อมเก็บของที่มีค่าติดตัวไปโรงพักกันด้วย

          น้องเนย์ไม่ให้ใคร คนใด จับตัว   มาอยู่บนตักครูจิ๋ว  เกาะมือครูจิ๋วเมื่อเดินลงสะพานลอยมาด้วยกัน  แม่ปลาเดินตามหลัง  ครูกับน้องเนย์มานั่งที่เบาะหลังของ รถสีชมพู่ ของ 1300 

          มาถึงสถานีตำรวจพญาไท   ทีมงานแยกออกเป็น 2 กลุ่ม  บ้านพักเด็กและครอบครัวกรุงเทพมหานคร  ศูนย์ปฏิบัติการขอทาน  เทศกิจ  สำนักงานอนามัย  คุยกับแม่  เอาบันทึกข้อตกลง สองฉบับที่ทำกัน  ไปคุยกันหาข้อตกลงกัน

          ส่วนน้องเนย์ มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.พญาไท มาซักถาม  เจ้าหน้าที่ศูนย์อนามัยมาพูดคุย  เด็กไม่ยอมพูด  เหนียวคอ  กอดคอ หน้าคลอเคลียกับครูอย่างเดียว  พูดกระซิบผ่านหน้าครูอย่างเดียว  จะไปบ้านครูจิ๋ว ไปหาพี่น้ำ   ไปอยู่กับครูจิ๋ว     กระบวนการบนโรงพักกว่าสองชั่วโมง  มีน้องนักศึกษาที่มาฝึกงาน พยายามจะพูดกับเด็ก  น้องเนย์ก็เงียบไม่มีปฏิกริยาใดๆ ตอบกลับ   ทุกหน่วยเลยถอยกันไปกับเด็กน้อย

          จนถึงเวลา ที่มีการตัดสินใจ น้องเนย์บอกว่าไปกับครู   ทางตำรวจจึงลงบันทึกประจำวันให้  ส่วนแม่ไปเก็บของแล้วส่งต่อไปโรงพยาบาลเจ้าพระยา   ทางโรงพยาบาลรับตัวไว้ดูแล อีกยาวเพราะมีหลายโรคด้วยกัน

          สำหรับการทำงานในครั้งนี้ ครูบอกเพียงว่าเด็กเลือกครู  แสดงว่าการเดินเท้าเปล่าลงเยี่ยมกรณีศึกษาอย่างสม่ำเสมอ เป็น  “ ทางเลือกทางรอด”  ของกรณีศึกษา  เมื่อจำเป็นต้องเลือก  เพื่อให้ลูกได้รับประโยชน์สูงสุด   สถานสงเคราะห์ของรัฐ กรณีศึกษาก็ไม่เลือกที่จะส่งลูกไป