banner
ศุกร์ ที่ 11 เดือน ตุลาคม พ.ศ.2562 แก้ไข admin

ทำไม... ต้องรู้ ข้อเสนอแนะทั่วไป ฉบับที่ 21 เรื่อง เด็กเร่ร่อนบนท้องถนน (ตอนที่ 1)

 

นางสาวทองพูล  บัวศรี

ผู้จัดการโครงการครูข้างถนน  มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก

 

จำได้แม่นอย่างมาก ตั้งแต่ปี 2556  ไม่มีเวลาตั้งตัวเลย  เพราะเจ้าหน้าที่กรมกิจการเด็กและเยาวชน    กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์    ประสานงานมา และทางผู้บริหารของมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก  เลขาธิการมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก สั่งให้ไปประชุม  ที่ประเทศสิงค์โปร เมื่อวันที่ 9-11 ธันวาคม 2556   เรื่อง “Promoting and protecting the rights of Children working and/or living on the street”  ซึ่งก็ถือว่าเรื่องเด็กเร่ร่อนมีหน่วยงานต่างๆว่าต้องมี ข้อคิดเห็นโดยเฉพาะ  เพราะการที่จะแก้ไขปัญหาเรื่องเด็กเร่ร่อนในแต่ละประเทศ  มีความละเอียดอ่อนอย่างมากเพราะเกี่ยวข้องกับหน่วยงานหลายหน่วยงานด้วยกัน   แต่หาเจ้าภาพในการทำงานภาพรวมไม่เจอ

ในการประชุมครั้งนั้นให้ความสำคัญกับ เรื่อง “การคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิเด็กเร่ร่อน”  ครูเองที่เป็นตัวแทนประเทศในครั้งนั้น  ได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์ของการทำงาน  และนำข้อมูลเหล่านั้นมาเผยแพร่ให้ครูข้างถนน ที่ทำบทบาทในการช่วยเหลือเด็กที่ครูสังกัด   โดยผ่านการทำงานของ นางวิสา เบญจมะโน  ซึ่งเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในชุดที่ 2

ได้พยายามผลักดันให้หน่วยงานโดยตรง  คือ กรมกิจการเด็กและเยาวชน จัดการประชุม  ในช่วงปี 2560  เป็นการจัดครั้งสุดท้ายที่ ท่านอธิบดีนภา  เศรษฐกิจ เป็นอธิบดีจัดเสร็จ ท่านก็ย้าย  งานทุกอย่างเหมือนดูดี  แต่ไม่คืบหน้าเลย


จนมาปี 2561 ก็พยายามพบอธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชนอีกครั้ง  ทั้งเลือกคนที่จะทำงานด้วย  ทุกอย่างก็หมดไปกับท่านอธิบดี เพราะเกษียณอายุ   การที่จะพึ่งพาให้มีแผนยุทธศาสตร์ในการทำงานด้านเด็กเร่ร่อน ตามข้อเสนอแนะ ของคณะกรรมการสหประชาชาติ ได้มีความคิดเห็นทั่วไป ฉบับที่ 21 (พ.ศ. 2560) เกี่ยวกับเด็กเร่ร่อนบนท้องถนน 

คนทำงานภาคสนามอย่างครูที่สังกัดองค์กรพัฒนาเอกชน   คือการทำงานช่วยเหลือเด็กเร่ร่อน ให้เป็นตัวอย่าง แล้วเสนอภาครัฐที่มีทั้งงบประมาณ  บุคลากร ความเชี่ยวชาญ ในการช่วยเหลือเด็กเร่ร่อน  ดังการคาดหวัง  เพราะ ประเทศไทยมี พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546  เน้นไปกลุ่มเป้าหมาย ของเด็กเร่ร่อน   แต่ขาดความเข้าใจในการช่วยเหลือ  คนทำงานจึงต้องไปใช้วิธีการช่วยเหลือแบบทีมสหวิชาชีพ   งานนี้  เด็กเร่ร่อนจึงได้รับการช่วยเหลือน้อยลงอย่างมาก  และเด็กเองไม่ต้องการทีมสหวิชาชีพที่เต็มรูปแบบ ตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย

การทำงานช่วยเหลือเด็กเร่ร่อนทั้งภาครัฐและองค์กรพัฒนาเอกชน ได้พยายามช่วยเหลือคนทำงานด้านเด็กในนาม ของ “เครือข่ายเพื่อเด็กเร่ร่อน” มาตั้งแต่ปี 2533 มาตั้งตลอด ซึ่งมีทั้งภาครัฐและเอกชน เป็นสมาชิกหนุนช่วยเด็กเร่ร่อน  แต่ทุกอย่างก็ต้องยุติเมื่อไม่มีงบประมาณในการดำเนินงาน   เดิมเครือข่ายจะช่วยงานด้วยกัน คือ การพัฒนาบุคลากรของคนทำงานด้านเด็กเร่ร่อน  ทั้งเรื่องกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับงานด้านเด็กเร่ร่อน  การแลกเปลี่ยนการทำงานในการศึกษาดูงานทั้งในประเทศที่เป็นเครือข่าย และต่างประเทศ   เพื่อแลกเปลี่ยนการทำงาน หรือการคืนเด็กกลับประเทศต้นทาง    สิ่งเหล่านี้หายไปกว่า 10 ปีแล้ว


สำหรับครูเองเมื่อมารับงานครูข้างถนน  สืบมาจากงานทำงานวิจัยด้วยกันหลายเรื่อง  คือ

           (1)โครงการถอดบทเรียนรูปแบบช่วยเหลือเด็กเร่ร่อน :กรณีครูข้างถนนและบ้านพักสำหรับเด็ก  ในขณะนั้นต้องการที่จะเผยแพร่การทำงานของครูข้างถนน ที่สังกัด องค์กรพัฒนาเอกชน สังกัดกรุงเทพมหานคร   สังกัดครูเทศบาลและครูด้อยโอกาส ในกระทรวงมหาดไทย  และสังกัด สำนักงานการศึกษานอกระบบและตามอัธยาศัย  กระทรวงศึกษาธิการ

                (2)โครงการถอดบทเรียนบ้านแรกรับและบ้านพัฒนาสำหรับเด็กเร่ร่อน  เป็นการถอดงานที่บ้านๆๆ กำลังอยู่ในระหว่างการปิดตัวหรือปิดบ้าน  ด้วยเหตุผลไม่มีงบประมาณ  และบางบ้านก็มาสนใจในการทำเกษตรผสมผสาน  เพื่อการพึ่งตนเอง ทั้งของรัฐและองค์กรพัฒนาเอกชน

                ได้มีการจัดเวทีเพื่อสะท้อนถึงหน่วยงานภาครัฐที่ต้องจัดสรรงบประมาณลงมาช่วยเหลือบ้านที่มีเด็ก  แต่ได้รับการปฏิเสธจากหน่วยงาน ถึงขั้นบอกว่าปิดบ้านองค์กรเอกชนกันเลย   ตั้งแต่นั้นมาองค์กรพัฒนาเอกชนที่มีบ้านดูแลเด็กๆ  ต่างก็ไม่เข้าไปของบประมาณจากรัฐ   แต่ปรับองค์กรของตนเอง  เพื่อดูแลเด็กได้   การทำงานด้านเด็กเร่ร่อนกับภาครัฐก็ห่างกันไปเลยๆ

                (3)โครงการศึกษาแนวทางเชิงนโยบาย(รูปแบบที่เหมาะสม)ในการคุ้มครองสวัสดิภาพแม่และเด็กเร่ร่อนต่างด้าว  ในขณะที่ผู้เขียนเป็นผู้เข้ารับการอบรมผู้นำการเปลี่ยนแปลง ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

                จาก 3 งานวิจัยนี้   ทางมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก โดยนายวัลลภ  ตังคณานุรักษ์ (ครูหยุย) ผู้ริเริ่มโครงการอาสาพัฒนาเด็กเร่ร่อน จนกลายมาเป็นโครงการครูข้างถนน  ต่อเนื่องการทำงานมาถึงปัจจุบันนี้เป็นเวลากว่า 32 ปี  ในการช่วยเหลือเด็กเร่ร่อนไทยและเด็กเร่ร่อนต่างด้าว

                สิ่งที่สะท้อนการทำงานคือเด็กเร่ร่อนยุติการเร่ร่อนพร้อมทั้งได้รับโอกาสทางการศึกษา  ตลอดจนการมีงานทำ  จนถึงการมีครอบครัวของเด็กเร่ร่อนเหล่านั้น

                การทำงานช่วยเหลือเด็กเร่ร่อนไม่ได้ง่ายเลย  ตามทฤษฎีที่ผู้ทรงคุณวุฒิชอบพูดกัน  ด้วยความหลากหลายของเด็กที่ต้องเผชิญในขณะที่เร่ร่อน   อารมณ์ของเด็กที่มีความไม่แน่นอน ตลอดจนคำพูดของคนทั่วไปว่าเป็นกลุ่มที่เหลือขอ 

  

                ด้วยความซับซ้อน  และความแตกต่างของเด็กเร่ร่อน  ซึ่งมีความพิเศษที่บทบาทของครูข้างถนน ที่นั่งในใจเด็กให้ได้  กลวิธีการเข้าหาเด็กจนเด็กเร่ร่อนไว้วางใจ  แล้วมาเริ่มคุยกันใหม่ในการดำเนินชีวิต   การใช้ชีวิตที่สุ่มเสี่ยงของเด็กเร่ร่อนวัยรุ่นเอง  หรือกลายมาเป็นครอบครัวเร่ร่อนอาศัยที่รกร้าง อาศัยตอมอเป็นที่อยู่อาศัย  และไม่ต้องการความช่วยเหลือจากหน่วยงานต่างๆ   สิ่งเหล่านี้เห็นปรากฏตามเมืองหลวงของประเทศ  หรือแม้ตามเมืองใหญ่ก็พบเจอปัญหาเหล่านี้เหมือนกัน

                จากที่ครูได้มีโอกาสไปประชุมที่สิงคโปร์  และมาต่อยอดงานขยายผลไปยังหน่วยงานของภาครัฐและเอกชน  ได้แค่รับรู้ แต่จะมาช่วยอย่างเป็นระบบในการช่วยเหลือเด็กเร่ร่อน    อย่าหาคำตอบให้เหนื่อยและเสียกำลังใจในการทำงาน

                แต่สำหรับครู  คนที่ไปประชุมและต้องขยายงาน  จนต้องแปลเอกสาร ความคิดเห็นทั่วไป ฉบับที่ 21 (พ.ศ. 2560) เกี่ยวกับเด็กเร่ร่อนบนท้องถนน  ให้ความสำคัญกับเอกสารฉบับนี้   ด้วยเหตุผล ความเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์เด็กเร่ร่อนบนท้องถนน ตั้งแต่

                -เด็กเร่ร่อนบนท้องถนนมีฐานะเป็นมนุษย์คนหนึ่ง ที่ต้องรับการเคารพ ได้รับเกียรติ พร้อมทั้งรับสิทธิที่เด็กทุกคนได้รับตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก

                -เด็กเร่ร่อนบนท้องถนนอยากให้ผู้คนที่ไม่เคยได้ใช้ชีวิตอยู่บนท้องถนนมองกลุ่มเด็กเร่ร่อนเป็นคนทั่วไปที่มีศักดิ์ศรี


                -เด็กเร่ร่อนบนท้องถนน ต้องการสถานที่อยู่อาศัย บนถนนอย่างปลอดภัย  และเด็กเร่ร่อนบนท้องถนนไม่ต้องการให้รัฐมอบสถานะที่ผิดกฎหมายให้

                -เด็กเร่ร่อนบนท้องถนน  สามารถอาศัยอยู่บนถนนได้ตามสิทธิที่ควรได้รับ  และเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน ทั้งการศึกษา สาธารณสุข และความปลอดภัย

                -เด็กเร่ร่อนบนท้องถนน ไม่ต้องการความชวยเหลือ แบบการกุศล ความสงสาร  แต่รัฐต้องทำงานกับชุมชน กับครอบครัว เพื่อให้เด็กได้สิทธิ เพื่อเด็กพัฒนาตนเองได้ มีการศึกษา มีอาชีพ

                -ทุกคนที่เกี่ยวข้องกับเด็กเร่ร่อนบนท้องถนนควรให้โอกาสกับเด็กบนท้องถนน ทั้งด้านการศึกษา สาธารณสุข ที่อยู่อย่างปลอดภัย จนถึงการมีอาชีพเลี้ยงตนเองได้

                -เด็กเร่ร่อนบนท้องถนน ต้องการคนที่เข้าใจและให้โอกาส ทำตามฝันของตัวเด็กเร่ร่อนบนท้องถนน

แต่ละคน

                สิ่งที่กล่าวมาข้างต้น เป็นสิ่งที่ได้มาจากกระบวนการหารือกับเด็กเร่ร่อน จำนวน 327 คน จาก 32 ประเทศ หารือระดับภูมิภาค จำนวน 7 ครั้ง ทั้งภาครัฐและประชาสังคม