banner
พุธ ที่ 28 เดือน กุมภาพันธ์ พ.ศ.2561 แก้ไข admin

งานเชิงรุก.....กับโอกาสของเด็ก



นางสาวทองพูล   บัวศรี
ผู้จัดการโครงการโรงเรียนเด็กก่อสร้างเคลื่อนที่  มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก      

            ครูค่ะ  วันจันทร์นี้  จะพาน้องน้องหยก(นามสมมุติ)  กับน้องน้ำ (นามสมมุติ)  ไปเปิดบัญชีธนาคารออมสินให้เด็กค่ะ

          ดีมากเลยครูซิ้ม    ก่อนที่จะรับเด็กเข้ามาอยู่ที่บ้านอุปถัมภ์เด็ก  ได้ทำความตกลงกับพ่อว่า เดือนหนึ่งขอพ่อเดือนละ สองพันบาท  เอาเงินเข้าบัญชีให้เด็ก  เพราะพ่อไม่ต้องจ่ายภาระในการเลี้ยงดู โดยเฉพาะค่าขนม ค่าอาหาร  ขอเป็นเงินเข้าบัญชีลูก

          เป็นสร้างหลักประกันในการดูแลลูกของคุณพ่อเอง   เมื่อลูกมาเรียนภาระไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลังแล้ว   เงินพ่อจะเหลือเก็บเป็นทุนการศึกษาให้ลูกเถอะ

          งานนี้ สร้างความผูกพัน และหลักประกันให้เด็ก  ด้วยครอบครัวที่เป็นทั้งพ่อและแม่  พ่อเองก็เห็นว่า น้องหยก กับน้องน้ำ คือแก้วตาดวงใจ 

          การวางแผนอนาคตสำหรับเด็ก เป็นสิ่งที่ต้องวางแผนในอนาคต  เพราะคำว่า "อนาคตเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน"  แต่ต้องมีหลักประกัน

          จำได้อย่างดีว่า   วันหนึ่งลูกชายประมาณ 6-8 คน ต้องออกจากความดูแลของเราเพราะพ้นเกณฑ์อายุที่กำหนด และโตแล้ว  ออกจากเราไปไม่มีเงินติดตัวไปเลย  พวกเขาต้องออกไปอาศัยอยู่ที่วัด  กว่าจะตั้งตัวได้ใช้เวลาอีกหลายปี

          จนครูต้องมารับดูแล  จึงคิด  "โครงการออมเพื่ออนาคต"  ขอเก็บเงินเด็กวันละ 2 บาท  ฝากกับครู พอถึงเดือนก็ไปฝากธนาคาร  มีข้อแม้ว่าจะเบิกเงินได้ก็ต่อเมื่ออกจากมูลนิธิฯ   หลายคนได้เงินก้อนนี้ไปเป็นค่าเช่าบ้าน  เงินค่าคลอดของลูก  ค่ารักษาของพ่อ  การเรียนพิเศษของของตัวเด็กเอง  เป็นค่าให้น้องเรียน   เป็นเงินถุงขวัญเมื่อออกจากการดูแลไปดำเนินชีวิต

          ครั้งนี้ต้องบอก ครูซิ้ม จัดการพ่อของน้องหยก น้องน้ำ ได้ดี   อย่างน้อยสุดกว่าจะเรียนจบภาคบังคับ  เด็กสองคนก็มีเงินก้อนหนึ่งในการดำเนินชีวิต  เป็นหลักประกัน








 

          แล้วเด็กสองคนมาอยู่ที่บ้านอุปถัมภ์เด็ก ได้อย่างไร

          ด้วยทางโครงการโรงเรียนเด็กก่อสร้างเคลื่อนที่  ได้มีรถวิ่งเข้าไปตามแหล่งบ้านพักกรรมกรก่อสร้าง  ซึ่งมีบริษัท 33  ที่กำลังก่อสร้างอาคารกระทรวงยุติธรรมที่ติดอยู่กับถนนแจ้งวัฒนะ

          บ้านพักของกรรมกรก่อสร้างใช้สังกะสี ทั้งหลังเลย  ไม่มีความแข็งแรงเท่าที่ควร  ห้องน้ำ ห้องส้วมอยู่แบบอนาถา   ไม่มีคนดูแลเท่าที่ควร  ดูภายนอกแล้วไม่เหมาะสมสำหรับเด็ก

          แต่ครอบครัวของน้องหยก กับน้องน้ำ ห่างกันแค่คนละปี  อยู่กับพ่อตามลำพัง  เข้ามาอยู่ได้ในบ้านพักกว่าเดือนกว่า  เด็กเองขณะที่ครูซิ้มเข้าไปพบ เด็กน้องสองสาวไม่ได้ไปโรงเรียนมากว่าเดือนแล้ว

          ปัญหาของพ่อกับแม่  ความจริงมันไม่เกี่ยวกับสองสาวหน้าตาน่ารักน่าชังเลย  แต่ส่งผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เลย เด็กน้อยต้องตามพ่อมาอยู่ในแหล่งก่อสร้าง  ซึ่งไม่ปลอดภัยเอาเลย  และที่ต้องเร่ร่อนตามพ่อไปเรื่อย เรื่อย  

          พ่อเองก็ต้องทำงานเพื่อรายได้เหล่านั้นมาเลี้ยงลูก พร้อมกับต้องดูแลคนงาน ที่ต้องรับผิดชอบกว่าอีกสิบคน   เวลาที่พ่อออกไปทำงาน ลูกสาวทั้งสองจะอยู่ให้ห้องที่พัก  โดยพ่อของสองสาวคล้องลูกกุญแจไว้ด้านนอก

          เวลาเที่ยง พ่อก็จะรีบมากินข้าวพร้อมลูกสาวที่น่ารัก  ก่อนออกจากห้องพัก พ่อทำทุกอย่างเพื่อลูกน้อย เตรียมทุกอย่างไว้พร้อม  แต่พ่อก็จำใจที่ต้องให้ลูกน้อยรออยู่ที่ห้องพัก  เพราะในไซด์งานก่อสร้างไม่อนุญาตให้เด็กเข้าไปด้วย

          ในวันที่ครูซิ้มเข้าไปทำกิจกรรมกับเด็ก เด็ก ที่บริษัท 33 ได้พบเด็กน้อยสองคนอยู่ที่ห้องพัก  ครูซิ้มได้คอยจนพ่อของเด็กกลับมาตอนเที่ยง ...

          จึงได้มีโอกาสพบกัน พูดคุยถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในครอบครัว แล้วส่งผลทั้งหมดมาที่เด็กน้อยสองคน

          พ่อเด็กพูดไป ร้องไห้ไป  พูดอย่างไม่อาย  ผมไม่อยากให้ลูกมาระเห่เร่ร่อนกับผม  ผมอยากให้เขาอยู่เป็นที่  แล้วได้เรียนหนังสือ  ตอนนี้ลูกผมขาดโรงเรียนมากว่าสองเดือนแล้ว  น้ำตาลูกผู้ชายไหลอาบแก้ม  ตาแดงกล่ำ  

          ครูซิ้มได้เสนอทางออกสอง สาม ทางด้วยกัน  จึงมาตกว่า ที่มูลนิธิสร้างสรรค์เด็กมีบ้านอีกหลัง เป็นบ้านอุปถัมภ์เด็ก  ส่งเด็กให้เข้าเรียนก่อน  มีที่อยู่อาศัยอย่างปลอดภัย  เช้าทุกเช้า เด็กได้ไปโรงเรียนกันทุกครั้ง  พ่อกับเด็กมาดูก่อนก็ได้  แล้วค่อยตัดสินใจ

          ครูซิ้มโทรหาครูทันที่ว่าให้ช่วยประสานงานกับครูแอ๋ว  ผู้จัดการบ้านอุปถัมภ์เด็ก แล้วเล่าเรื่องทันที  อยากให้เด็กมาอยู่ที่บ้านอุปถัมภ์เด็กก่อน  มาคุยกันก่อน ให้โอกาสเด็กได้เรียนหนังสือ  อย่างน้อยสุด เด็กๆ ไม่ต้องถูกขังอยู่ที่ห้องพัก  ห้องพักไม่ปลอดภัย  ใครไปทำอะไรเด็กที่ไม่ดีได้   อย่าให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้กับเด็กที่เราพบเห็น








          วันรุ่งขึ้นครูซิ้มพาเด็ก พ่อเด็ก มาคุยกับครูที่มูลนิธิฯ  พ่อเด็กเห็นสถานที่ได้พูดคุยกับครูแอ๋ว  พ่อตัดสินกับน้องหยก น้องน้ำ ว่าจะอยู่ที่บ้านอุปถัมภ์เด็กก่อน

          เด็กทั้งสองคน วันนั้นได้ใส่ชุดนักเรียนใหม่ทันที  ไปเรียนที่โรงเรียนวัดหลักสี่  สำหรับการย้ายเด็กจากโรงเรียนเก่า พ่อกับครูซิ้มจัดการทั้งประวัติและเอกสารทั้งหมด  ใช้เวลากว่าสองวันเอกสารจะครบ แต่เด็กน้อยได้ไปโรงเรียนแล้ว

          การมีโอกาสช่วยเด็กเหล่านี้ เพราะเวลาที่ครอบครัวเกิดวิกฤติขึ้นมา  ต้องมีหน่วยงายช่วยกันประคองให้มีทางเลือกสำหรับเด็กให้มากที่สุด

          งานเชิงรุกจึงมีความเป็นอย่างมาก  โดยเฉพาะกลุ่มคนเล็กคนน้อย ที่ไม่มีโอกาสเข้าถึงสวัสดิการ  และที่สำคัญ เด็กทั้งสองคนเป็นคนไทย  ที่ควรจะมีสิทธิในด้านการศึกษา การรักษาพยาบาล  การมีที่พักอย่างปลอดภัย  และโอกาสในการเพิ่มทักษะชีวิตด้านต่างๆ

          วันนี้เด็กทั้งสองคน มีสมุดฝากธนาคารออมสิน  มีโอกาสไปโรงเรียนทุกวัน  พ่อทำงานอย่างสบายใจ เพราะลูกมีคนดูแล  และได้เรียนหนังสือ   แต่ที่สำคัญพ่อก็ต้องจัดการการเงินฝากไว้ให้ลูก เป็นอีกวิธีการหนึ่ง  เพื่อความรัก ความผูกพัน สายใยที่ความรักของคนในครอบครัว