banner
ศุกร์ ที่ 19 เดือน กุมภาพันธ์ พ.ศ.2559 แก้ไข admin

จากการทำงานมา 10 ปี บนพื้นที่หัวลำโพง…..

               



             จากการทำงานลงพื้นที่หัวลำโพงเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา รูปแบบของการทำงานครูข้างถนนกับเด็กเร่ร่อนซึ่งมีพฤติกรรมเสี่ยงที่ใช้ชีวิตบนถนนและบนรางรถไฟ เริ่มจากตัวครู หรือเรียกว่าครูข้างถนน ครูตื่นนอนตั้งแต่ตี 5 เพื่อเตรียมตัวและเตรียมความพร้อมที่บ้านสร้างสรรค์เด็ก ภาระหน้าที่ต้องจัดเตรียมอุปกรณ์ เช่น ของเล่น กระดาษวาดรูป เกม รวมไปถึงข้าวเปล่า 5 ถุง และปลากระป๋อง มาม่า ขนม และยารักษาสามัญประจำบ้าน สิ่งของเหล่านี้ เพื่อนำไปให้ความช่วยเหลือเด็กเร่ร่รอนในพื้นที่หัวลำโพง                                                                                                                                                      
               เวลา 08.00 น. เดินทางด้วยรถเมล์สาย 95 จากรามอินทรา กม.2 ถึงสถานีรถไฟหลักสี่ แล้วรอโดยสารรถไฟจากสถานีหลักสี่ปลายทางหัวลำโพง  ทำงานตั้งแต่ 10.00 น. ถึงเวลา 20.00 น. 
 พอรถไฟจอดที่ชานชาลาที่ 5 เราก็พบกับเด็กๆที่ใช้ชีวิตเร่ร่อนบริเวณหัวลำโพง วิ่งเก็บของขาย เช่น ขวดน้ำพลาสติก กระดาษหนังสือพิมพ์ พร้อมกับเศษอาหารที่ผู้โดยสารกินหลงเหลืออยู่ เช่น ไก่ย่างข้าวเหนียว ข้าวกล่อง ขนนปัง  ซึ่งภาพเหล่านี้ผู้โดยสารที่ยืนคอยรถไฟเห็นจนเป็นเรื่องปกติ แต่สายตาของกลุ่มคนเหล่านั้น ไม่ทำให้ชีวิตของเด็กเร่ร่อนกลุ่มหนึ่งเปลี่ยนแปลงได้ แต่สิ่งหนึ่งที่เด็กๆเห็น และวิ่งเข้ามาหาเมื่อเจอ คือครู เด็กๆแสดงอาการด้วยความดีใจ บ้างก็ยกมือไหว้ บ้างก็วิ่งเข้ามากอด ด้วยความดีใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่เด็กๆกลุ่มนี้รู้ทันที่ว่าครูของเค้ามาแล้ว เด็กๆทั้งหมดเดินตามครูมาที่จุดนัดพบ ที่ชาลชลาที่ 2 และที่ศูนย์ มพด. ตรงวัดดีด้วด เพื่อนำอุปกรณ์ที่ฝากไว้ที่ศูนย์ มพด. เช่นผ้ายางปูนั่งเป็นอุปกรณ์สำคัญ เอาไว้สำหรับปูนั่งทำกิจกรรมกับเด็กๆ  พอจัดการอุปกรณ์ทุกอย่างเรียบร้อย เด็กๆแต่ละคนนั่งรอบวงพากันเล่นตามใจชอบ เช่น วาดรูประบายสี เล่นเกม เรียนหนังสือ บางคนก็มานอน จะสังเกตุเห็นได้ว่าเด็กเร่ร่อนกลุ่มนี้ ให้ความสนใจกับกิจกรรมที่ครูเตรียมมา โดยเฉพาะกิจกรรมวาดภาพระบายสี ถึงแม้ว่าเด็กบางคนจะมีอายุมากไม่เหมาะสมกับการวาดรูประบายสี แต่สิ่งหนึ่งที่สะท้อนความรู้สึกครู คือเด็กอยากขีด อยากเขียน อยากจับปากกา ดินสอ เด็กๆทุกคนอยากเรียนหนังสือ แต่บางสิ่ง บางอย่างที่ทำให้ชีวิตของเด็กเร่ร่อนกลุ่มนี้ขาดโอกาส ทางการศึกษา ขาดความอบอุ่นจากครอบครัว ขาดอาหารที่ควรรับประทานให้ครบ 5 หมู่ตามมาตรฐาน องค์การอนามัยโลกกำหนด



                                                                                                                          
                ระหว่างที่ครูสอนหนังสือ เด็กๆให้ความสนใจเป็นอย่างดี แต่สิ่งหนึ่งที่เด็กๆสนใจมากกว่าคือเสียงวูดรถไฟที่กำลังเข้าจอด ณ ชาลชลาหนึ่ง เสียงผู้ประกาศของนายสถานี ว่ารถไฟกำลังจะเข้าจอดชานชาลานี้ เด็กๆก็ขอตัวไปทำหน้าที่ของตัวเองอย่างเช่นที่เคยเป็นมา นั้นคือ เก็บขวดพลาสติก เก็บอาหารที่ผู้โดยสารกินเหลือ เปิดเบาะที่นั่งรถไฟเศษสตางค์อาจจะตกหล่นอยู่บ้างไม่มากก็น้อย นั้นคือความหวังที่ยิ่งใหญ่ของเด็กๆ เด็กๆบางคนไม่ไปตามเพื่อนๆนั่งเล่นกับครูหรือวาดภาพระบายสีจนเสร็จ หรือบางคนก็กลับมาทำต่อให้เสร็จ พอสักพักเด็กๆก็วิ่งเก็บของบนรถไฟ บางคนก็เดินขอทาน เดินตามผู้โดยสารที่เพิ่งลงจากขบวนรถไฟ หรือผู้โดยสารที่รอเดินทางขึ้นรถไฟไปต่างจังหวัด  สักประมาณ 10 นาที เด็กๆก็จะกลับมานั่งกับครูเหมือนเดิม  เหมือนไม่มีไรเกิดขึ้น ใกล้เวลาเที่ยงกินข้าว  เด็กที่มีอาหารของเขาเองที่เก็บได้บนรถไฟ ก็จะนำมารวมกับของครูที่นำมาจากบ้านสร้างสรรค์เด็กพร้อมกับให้เด็กที่ครูเชื่อใจได้ ไปซื้อแกงมาเพิ่มอีก 3-4 ถุง จะได้พอกินกับเด็กๆและครู ที่ต้องบอกว่าหาเด็กที่เชื่อใจได้นั้น เป็นเพราะครั้งหนึ่ง ครูให้เงินเด็กไป 100 บาท ไปซื้อแกงมากินกันเมื่อเดิม แต่รอแล้วรอเล่า นานเหลือเกินจนผิดปกติ จนครูรู้ว่าเงินที่ให้กับเด็กนั้นหายไปแล้วพร้อมกับตัวเด็กเอง สิ่งที่ยืนยันมากกว่าคือเพื่อนของเด็กวิ่งมาบอกว่า ครูมันหนีไปแล้วเอาเงินครูไปด้วย วันนั้นอาหารไม่พอกิน มีเท่าไรก็กินกันเท่านั้น  เมื่อพร้อมทั้งครูและเด็กนั่งเป็นวง  มีทั้งกินในถุง กินใส่จาน จานกระดาษ จานโฟม พอกินเสร็จเรียบร้อยแล้วเด็กๆก็จะรู้หน้าที่ตัวเองทำความสะอาด หลังจากนั้น เริ่มทำกิจกรรมกันตามเดิม บางคนจะขอไปนอนพักที่บนรถไฟ เนื่องจากเด็กรู้ดีว่ารถไฟขบวนนี้จะออกกี่โมง


 

                     บางคนไปอาบน้ำในย่านคือที่จอดเก็บรถไฟ  และเป็นที่ดมกาวของเด็ก กับใช้นอนในตอนกลางคืน เพราะสถานที่แห่งนี้ลับตาผู้คน ยามก็ดูแลไม่ทั่วถึง เด็กๆจะใช้ชีวิตแบบนี้เป็นประจำ พอเด็กๆบางคนเริ่มโต คิดหางานทำก็จะขอนายสถานีทำงานล้างรถไฟ หรือขนของขึ้นรถไฟ ได้วันต่อวัน เด็กที่ใช้ชีวิตเร่ร่อนอย่างเดียว ครูจะสังเกตุและพิจารณาว่าเด็กคนไหนที่คิดว่าเราชักชวนเข้าบ้านสร้างสรรค์เด็กได้ง่ายมากที่สุด   ครูจะพยายามพูดคุยและใกล้ชิดกับเด็ก หาข้อมูลเกี่ยวกับตัวเด็กให้มากที่สุด และพยามพาออกจากกลุ่มเพื่อนๆที่ไม่ยอมไปไหน  เพราะรู้ว่าไปแล้วไม่มีความสุขเพราะเด็กบางคนใช้ชีวิตเร่อร่อนมานาน บวกกับการโดนตำรวจจับ หรือ กรมประชาสงเคราะห์จับ ส่งไปบ้านแรกรับ หรือโดยตำรวจทำร้ายร่างการ หรือให้ทำความสะอาดโรงพัก หรือที่เด็กๆเรียกกันว่าช่วยราชการ แล้วก็ปล่อยออกมา เด็กๆเลยไม่ไว้วางใจครูที่จะพาเพื่อนๆไปบ้านสร้างสรรค์เด็ก  แต่ก็จะมีเด็กโตที่ เด็กๆให้ความเคารพและเชื่อบางไม่เชื่อบาง คอยเป็นหูเป็นตา หรือช่วยเหลือครูคอยบอกกับน้องๆว่าให้ไปอยู่ที่บ้านครู แม้กระทั้งเด็กที่เพิ่งออกมาเร่ร่อน หรือมาใหม่ครูก็ต้องรีบเข้าหาเพื่อพูดคุยสร้างความใกล้ชิดให้เด็กไว้วางใจมากที่สุด ทั้งนี้  เพื่อช่วยเหลือเด็กออกจากพื้นที่ได้ง่าย  ก่อนที่จะติดใจกับวิถีชีวิตเร่ร่อนกับเพื่อนๆ

                ในปัจจุบันพื้นที่หัวลำโพงยังคงมีเด็กเร่ร่อนที่ใช้ชีวิตอยู่  แต่รูปแบบการเร่ร่อนอาจจะเปลี่ยนแปลงไปมากกับการใช้ชีวิตบนถนน ซื่งปัจจุบันมีแต่กลุ่มเด็กวัยรุ่นเป็นส่วนใหญ่ที่ใช้ชีวิตเร่ร่อน โดยบางกลุ่มถึงกับเช่าห้องพักรายวันอาศัยอยู่ บางกลุ่มก็จะออกมาใช้ชีวิตในตอนกลางคืนเท่านั้น ที่เห็นกันทุกครั้งไปจะเป็นกลุ่มเด็กเร่ร่อนจริงๆ จะใช้ชีวิติอยู่บนถนน บางวันก็เจอเช้าบ่ายเย็น บางวันจะไม่ค่อยพบสักเท่าไรเนื่องจากเด็กๆจะเข้าไปอาศัยนอนในศูนย์บริการเอกชนช่วงเช้าจนถึงเย็น แต่ละวันที่ศูนย์มีข้าวเลี้ยง 3 มื้อ พร้อมขนม ศูนย์จะปิดตอน 6 โมงเย็น หลักจากนั้นเด็กก็จะออกมาใช้ชีวิตอยู่ตามถนนทั่วๆไป ถ้าเป็นกลุ่มเด็กผู้ชายก็จะมานั่งดมกาวที่วงเวียน 22 และที่ทางลงรถไฟใต้ดินตรงข้ามหัวลำโพง โดยวิธีหาเงินก็จะเปลี่ยนไปจากเดิมจะเดินขอ แต่วิธีการใหม่ที่กลุ่มเด็กๆเขาเรียกกันว่ากระทืบปล้น  จะหาเหยื่อเป็นคนเมา และผู้สู้อายุ ที่มาไม่ทันโดยสารรถไฟ และผู้สันจรไปมา








                ถ้าเป็นกลุ่มเด็กผู้หญิงวัยรุ่นก็จะค้าประเวณีเป็นส่วนใหญ่ ตามวงเวียน 22 แถวหัวลำโพง ในส่วนนี้เด็กผู้ชายบางคนก็ขายบริการเหมือนกัน จะเป็นแบบนี้อยู่ตลอด เราจะพบกับเด็กกลุ่มนี้ได้ในเวลาตอนกลางคืน พอดึกมากเด็กๆก็จะมารวมตัวกันหน้าศูนย์หรือเป็นที่นอน เพื่อรอศูนย์เปิดตอน 9 โมงเช้า เด็กบางคนก็จะนอนตามที่ต่างๆ เช่น บริเวณทางลงรถไฟใต้ดินตรงข้ามหัวลำโพง หรือวงเวียน 22 เจริญกรุง หรือโป๊ะเรือรถที่ว่างร้าง ศาลเจ้าพ่อ เป็นต้น พอรู้ว่าศูนย์ใกล้เปิดแล้วเด็กก็จะทะยอยกันเข้ามาที่ศูนย์

                ชีวิตของเด็กเร่ร่อนกลุ่มนี้จะเป็นอย่างไร ไม่สามารถรู้ได้เลยว่าชีวิตที่กำลังเดินทางจะไปทางซ้าย หรือจะเดินไปทางขวาพวกเค้าจะเจออะไร หรือเป็นอย่างไร แต่สิ่งหนึ่งที่เด็กๆกำลังเดินทางคือ เส้นทางที่พวกเค้ากำหนดเอง และเลือกเอง 

                                           
                                     โดย นายธนะรัตน์  ธาราภรณ์