banner
เสาร์ ที่ 21 เดือน มีนาคม พ.ศ.2563 แก้ไข admin

การเข้าถึงการศึกษา....ของเด็กเร่ร่อนบนท้องถนน

 

นางสาวทองพูล  บัวศรี

ผู้จัดการโครงการครูข้างถนน  มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก

 

          ด้วยการทำงานในโครงการครูข้างถนน  มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก  ได้มาอยู่ในความรับผิดชอบของครูตั้งแต่กุมภาพันธ์  2555 เป็นต้นมา  ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบการทำงาน และแนวทางการช่วยเหลือ  กลุ่มเป้าหมายเองก็มีความเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างมาก จำแนกตามกลุ่มเป้าหมายได้ 7 ประเภทด้วยกัน

          1.ครูข้างถนนที่ลงไปพบกลุ่มเป้าหมายบนท้องถนน  ต้องมีการจำแนกแนวทางช่วยเหลือเพราะมีกฎหมายที่หลายฉบับที่เข้าเกี่ยวข้อง เช่น

          -พบผู้สูงอายุอยู่ที่บนถนน กฎหมายที่เกี่ยวข้อง คือพระราชบัญญัติผู้สูงอายุแห่งชาติ   พระราชบัญญัติควบคุมการขอทาน พ.ศ. 2559,พระราชบัญญัติคนไร้ที่พึ่ง  แล้วดูว่าผู้สูงอายุรายนั้นมีคนดูแล  หรือต้องดูแลคนอื่นไหม  มีปัญหาอะไรที่ซับซ้อน

          -พบผู้พิการอยู่บนถนน  ตอนนี้มีพระราชบัญญัติควบคุมการขอทาน พ.ศ.2559  จัดให้อยู่ในกลุ่มผู้แสดงความสามารถทั้งหมด  ซึ่งต้องไปขึ้นทะเบียน มีบัตรผู้แสดงความสามารถ มีรายละเอียดในการกระบวนการพัฒนา และเป็นผู้แสดงความสามารถ หลายประเภทด้วยกัน

          2.กลุ่มเป้าหมายที่ครูให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะเขาเหล่านั้นคือทรัพย์กรของประเทศ คือกลุ่มเด็กเร่ร่อนบนท้องถนน  ซึ่งครูเองก็ยังแบ่งกลุ่มเป้าหมายออกเป็น 3 กลุ่มเป็นหลัก คือ

-กลุ่มเด็กเร่ร่อนบนท้องถนน เด็กเร่ร่อนไทยถาวร

-กลุ่มเด็กเร่ร่อนบนท้องถนน เด็กเร่ร่อนไทยชั่วคราว

-กลุ่มเด็กเร่ร่อนบนท้องถนน เด็กเร่ร่อนต่างด้าว

ในแต่ละกลุ่มเป้าหมาย มีรายละเอียดที่ได้มาจากการทำงานภาคสนามแล้วแยกแยะออกมา เพื่อเป็นแนวปฏิบัติ และหาแนวทางช่วยเหลือที่แตกต่างกันด้วย การปฏิบัติเพราะมีตัวกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้องโดยตรง




2.1 กลุ่มเด็กเร่ร่อนบนท้องถนน เด็กเร่ร่อนไทยถาวร

การทำงานกับเด็กที่อาศัยอยู่ตามท้องถนนเพื่อใช้ชีวิต และ/หรือทำงาน ไม่ว่าจะอยู่
ตามลำพัง อยู่กับเพื่อนหรืออยู่กับครอบครัว หรืออยู่อาศัยหรือทำงานบนท้องถนนเป็นช่วง ๆ
ไม่ได้อาศัยอยู่เป็นประจำ

กลุ่มเด็กเร่ร่อนบนท้องถนน ช่วงอายุ 12-17 ปี อาศัยอยู่ใต้ทางด่วน และเด็กและเยาวชน
ก็ย้ายตัวเด็กเองไปตามพื้นที่ที่หากินง่าย เช่น บางครั้งก็ไปสาทร บางครั้งก็ไปเพชรบุรีตัดใหม่ 37
โดยการรับจ้างทั่วไป เช่น การเข็นรถสามล้อตั้งสินค้า บางคนก็เก็บขยะขาย เด็กเร่ร่อนบนท้องถนน
มีจำนวน 21 คน ที่ยังเร่ร่อนอยู่ ช่วยให้มีบัตรประชาชนกลับ คือ ชุมชน ยุติการเร่ร่อน มีงานทำ
ได้เพียง 1 คน

กลุ่มครอบครัวเร่ร่อนบนท้องถนน มีจำนวน 7 ครอบครัว สิ่งที่ดำเนินการมีการพูดคุยให้เห็นความสำคัญของเด็กเร่ร่อนที่ต้องมีที่พักอาศัยปลอดภัยเพราะเด็กผู้หญิงเริ่มมีการวางแผนชีวิตบ้าง
เป็นครั้งคราว อีกสิ่ง คือ การพยุงให้ครอบครัวดำเนินชีวิต และให้ลูกสาวไปเรียนหนังสือทุกวัน
ที่โรงเรียนวัดมักกะสัน เด็กยังไปเรียนอย่างสม่ำเสมอ แต่เด็กและเยาวชนครอบครัวเร่ร่อนกลุ่มนี้
มีบางครั้งที่ยังใช้ชีวิตขอเงินที่ซอยนานา ซึ่งเด็กและเยาวชนเสี่ยงต่อการก่ออาชญากรรม ติดยาเสพติด หรือเป็นผู้จำหน่ายยา การเข้าสู่กระบวนการรับจ้างติดคุก มีบางกรณีศึกษาที่เข้าสู่การขายบริการ
ทางเพศ และมีการสลับคู่ในการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนกันไปเรื่อย ๆ

2.2  กลุ่มเด็กเร่ร่อนบนท้องถนน เด็กเร่ร่อนไทยชั่วคราว


เด็กที่มีความสัมพันธ์กับพื้นที่สาธารณะหรือเด็กที่อยู่บนถนนเป็นที่ทำมาหากิน
และมีความสำคัญในชีวิตประจำวัน และอัตลักษณ์ รวมถึงครอบครัวเร่ร่อน

เด็กเร่ร่อนบนท้องถนนชั่วคราว งานที่ได้ดำเนินการในขณะนี้มีอยู่ จำนวน 105 คน เด็กและครอบครัวออกจากบ้านเช่าที่อยู่ในชุมชนโค้งรถไฟยมราช ชุมชนเพชรบุรีตัดใหม่ ซอย 5 และซอย 7 ชุมชนบ่อนไก่ ชุมชนพระประแดง ชุมชนคลองตัน เป็นต้น โดยออกมาทำมาหากิน เช่น การขายพวงมาลัย ขายดอกจำปี ขายสินค้า ตามสี่แยกต่าง ๆ และมีเด็กอีกกลุ่มที่ออกมาขอเงินที่ซอยนานา ซอย 5, 7, 9, 11 ถนนสุขุมวิท โดยเด็กเหล่านี้มาจากชุมชน จำนวน 5-7 ชุมชน ที่อยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร และสมุทรปราการ เป็นกลุ่มเด็กที่ได้เรียนหนังสือ ตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึงมัธยมศึกษามีทั้งโรงเรียน
ที่สังกัดกรุงเทพมหานครและสำนักคณะกรรมการขั้นพื้นฐาน และมีเด็กบางคนที่ต้องออกจากโรงเรียนกลางคัน เพราะครอบครัวของเด็กรับผิดชอบไม่ไหวเรื่องค่าใช้จ่ายให้เด็กไปโรงเรียน สิ่งที่ทางโครงการครูข้างถนน มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก ได้ดำเนินการ คือ

(1) การลงพื้นที่ด้วยวิธีการแบบงานโครงการครูข้างถนน เดินเท้าเปล่าลงไปพื้นที่ โดยเน้น
การสร้างความไว้วางใจ เมื่อมีความจริงใจต่อกัน ไว้เนื้อเชื่อใจ ครอบครัว และตัวเด็กจะบอก
ความต้องการ สิ่งใดที่เกี่ยวกับเรื่องอุปกรณ์การเรียนที่เด็กต้องการ เช่น รองเท้า กระเป๋า ถุงเท้า
ชุดเนตรนารี ชุดลูกเสือ บางอย่างที่จัดหาให้ได้จะช่วยทันที

(2) ต้องลงเยี่ยมบ้านที่ชุมชน จำนวนทั้งสิ้น 27 ครอบครัว เพื่อประคองบางครอบครัว
ให้อยู่รอดปลอดภัยพร้อมทั้งเด็กต้องได้เรียน เช่น ข้าวสาร อาหารแห้ง มาม่า ขนม เป็นต้น จำนวนกว่า 3 ครอบครัว เพื่อให้เด็กได้มีกินในแต่ละช่วงเวลา

(3) การทำประวัติเด็กเป็นรายครอบครัวแล้วลงรายละเอียดเด็กแต่ละคนที่ออกไปขอทาน
ที่ซอยนานา ประวัติการศึกษาของเด็ก ประวัติด้านสุขภาพ รวมถึงเอกสารแสดงตนเองเด็กแต่ละคน และการทำงานผ่านแม่เด็กที่มีอิทธิพลเป็นอย่างมากกับการขอทานของเด็กในช่วงกลางคืน

(4) ในขณะนี้มี 1 ครอบครัว ที่แม่ของเด็กล้มกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียง เด็กและเยาวชนทั้ง
4 คน ต้องออกมาขายพวงมาลัยขายดอกจำปีเพื่อเอาเงินไปดูแลแม่ แต่เด็กและเยาวชน 3 คน ติดกาว ที่ต้องร่วมกับองค์กรที่เคยดูแลเด็กมาก่อนในการนำเด็กไปบำบัดกาว

สองคนในจำนวนที่ดูแลต้องมีการพูดคุยเพราะเด็กต้องขายดอกจำปี โดยมีการกำหนดมาจากยายและแม่ คนแรกเป็นเด็กผู้หญิงที่เรียนในระดับประถมศึกษาปีที่ 4 ขายพวงมาลัยวันละ 60 พวง
ถึงจะได้เงินเป็นค่าอาหารในการดูแลครอบครัว อีกครอบครัว 1 แม่ป่วยเป็นเบาหวานถูกตัดขา
ลูกชายต้องช่วยครอบครัวในการขายพวงมาลัยเพื่อมีเงินค่าใช้จ่ายสำหรับการเปิดเทอม เด็กทั้งสองคน
ต้องได้รับการดูแลและเฝ้ามองพยุงให้ได้เรียนในภาคการเรียนที่ 2

2.3 กลุ่มเด็กเร่ร่อนบนท้องถนน เด็กเร่ร่อนต่างด้าว

เด็กที่ใช้เวลาจำนวนมากบนถนนหรือตลาด สวนสาธารณะ สี่แยก และสถานีรถประจำทาง สถานีรถไฟ บ้านร้าง ตึกร้าง และใช้ถนนเป็นที่ทำมาหากิน และเคลื่อนย้ายมาจากประเทศต้นทาง ได้แก่ กลุ่มเด็กเร่ร่อนต่างด้าว

กลุ่มแม่และเด็กเร่ร่อนต่างด้าวที่ใช้ชีวิตบนถนนมากกว่าอยู่ที่บ้านเช่า หรือประเทศต้นทางของแม่และเด็กเร่ร่อนบนท้องถนน สำหรับกลุ่มนี้ทำงานกันมานานตั้งแต่ ปี 2555 ซึ่งมีการ
เริ่มเก็บข้อมูลว่าเด็กกลุ่มนี้เป็นใคร มาจากไหน ทำไมต้องช่วยเหลือ เรื่องการทำความเข้าใจ
เรื่องใหญ่มาก เพราะเกี่ยวข้องกับการเข้าประเทศที่ผิดกฎหมายไทย

ข้อหาที่ครูได้รับจากการทำงานช่วยเหลือกับกลุ่มแม่และเด็กเร่ร่อนบนท้องถนนต่างด้าว คือ “ป้ามหาภัย” เพราะเริ่มแรกไม่มีใครรู้จักในการทำงานช่วยเหลือเด็กเร่ร่อนบนท้องถนน

(1) เด็กเร่ร่อนต่างด้าวบนท้องถนนที่ออกมาขอทาน ในระยะเวลาตั้งแต่ ปี 2555 จนถึงตุลาคม 2562 ที่นำเข้าเรียนในโรงเรียนต่าง ๆ จำนวน 210 คน แต่มีเด็กที่ออกจากการเรียนกลางคัน
บางครอบครัวก็กลับประเทศของตนเอง แต่ปัจจุบันมีเด็กทั้งสิ้นจำนวน 83 คน ที่เรียนอยู่และเด็กต่างด้าวบนท้องถนน เมื่อเข้าเรียนได้อักษร “
G” ตามสิทธิของเด็กแต่ละคน โดยทางโครงการครูข้างถนน
จ่ายค่าใช้จ่ายที่โรงเรียนก่อนเปิดภาคการศึกษา ทางโครงการการศึกษาเด็กชุมชนเปรมฤทัย
ทำกิจกรรมเสริมทักษะพิเศษในช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ และการเฝ้าระวังให้เด็กได้ไปโรงเรียนทุกวัน


(2) แต่ยังมีครอบครัวของเด็กอีก 7 ครอบครัว จำนวน 11-16 คน ที่ยังออกมาเร่ร่อนขอทานบนท้องถนนอยู่ ถูกจับในกรณีต่าง ๆ มากมาย และที่สำคัญแต่ละเรื่องที่ถูกจับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง
ไม่เคยใช้การคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็ก ทางครูจึงต้องติดตามเพราะมีบางกรณีศึกษา
ที่เด็กถูกทิ้งไว้ที่บ้านเช่า/หรือในชุมชน

(3) มีจำนวน 9 ครอบครัว ที่เป็นเด็กเร่ร่อนต่างด้าวที่พ่อ/แม่ป่วยเป็นวัณโรค ปัจจุบันได้รักษาที่หายขาดจำนวน 4 ครอบครัว แต่อีก 5 ครอบครัวยังไม่ได้ดำเนินการเพราะขาดซึ่งงบประมาณ
ในการพาไปรักษา

(4) เด็กที่เกิดขึ้นมาใหม่ที่เกิดในโรงพยาบาล เด็กต้องได้ใบเกิดจากการทำงานเพิ่งดำเนินการได้ประมาณเพียง 19 กรณีศึกษาเท่านั้น แต่ยังพบอีกจำนวนกว่า 130 คน ที่เด็กยังไม่ได้ใบเกิดจากโรงพยาบาลและเทศบาล/อำเภอในเขตสมุทรปราการ เป็นต้น

ทั้ง 3 กลุ่มเป้าหมายสำหรับการทำงานของโครงการครูข้างถนน มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก เน้นอย่างมากคือ การเข้าถึงการศึกษา และเน้นมากที่สุดคือการเข้าถึงการศึกษาในระบบการศึกษา ที่สังกัดของโรงเรียนในกรุงเทพมหานคร  ตั้งแต่โรงเรียน วัด วัดสัมมนานัมบริหาร(วัดญวณ) โรงเรียนวัดพญายัง  โรงเรียนกิ่งเพชร  โรงเรียนบ้านครัว โรงเรียนเจ้าพระยา  โรงเรียนวัดมักกะสัน โรงเรียนราชวินิตมัธยม  โรงเรียนวัดพิชัย  โรงเรียนคลองสุเหร่า โรงเรียนประชาอุทิศ โรงเรียนทุ่งสองห้อง เป็นต้น

โรงเรียนที่สังกัดเขตพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ  ได้แก่ โรงเรียนวัดมหาวงษ์  โรงเรียนเตรียมอุดมสมุทรปราการ  โรงเรียนโยธินประดิษฐ์   โรงเรียนวัดด่านสำโรง  โรงเรียนมัธยมวัดด่าน  เป็นต้น

สำหรับในปี 2562  เน้นให้เด็กเข้าถึงการศึกษา กว่า จำนวน 197  คน  ซึ่งก็มีเด็กเร่ร่อนบนท้องถนน ที่ต้องออกกลางคันจำนวนหนึ่ง  ซึ่งมาจากหลายสาเหตุด้วยกัน

การเข้าถึงการศึกษา ของเด็กเร่ร่อนบนท้องถนน ทั้งเด็กไทยและเด็กต่างด้าว เขาเหล่านั้นคือ สิทธิขั้นพื้นฐานที่ควรจะได้