banner
ศุกร์ ที่ 24 เดือน สิงหาคม พ.ศ.2561 แก้ไข admin

ขายความสามารถ หรือขายความน่าสงสาร (ตอนที่ สาม)


นางสาวทองพูล   บัวศรี

ผู้จัดการโครงการครูข้างถนน  มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก

 

          บนถนนกลายเป็นที่ทำมาหากินทั้งกลุ่มที่ออกมาขอทาน  ซึ่งกฎหมายไทยถือว่าเป็นผู้กระทำผิด มีโทษทั้งปรับและจำ  ส่วนมากที่จับได้ในขณะนี้คือกลุ่มแม่และเด็กเร่ร่อนต่างด้าวมากกว่า  เพราะเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์

          มีอีกรูปแบบหนึ่งที่กึ่งเป็นผู้แสดงความสามารถ กับ กลุ่มขอทาน ทำให้เกิดความสงสารแล้วคนให้เงินจำนวนมาก ไม่ได้มีการตรวจสอบว่าเงินที่ได้มานั้นคนเหล่านั้นเอาเงินไปทำอะไร   และหลายคนชอบพูดว่าฉันให้ทานเอาบุญมายุ่งยากอะไรกับฉัน  คนบนถนนจึงเห็นกลุ่มเหล่านี้หลายรูปแบบด้วยกัน


          กรณีแรกที่พบ  บนถนนสุขุมวิท  เป็นผู้หญิงที่ตาบอด  มีรูปครอบครัวติดที่หน้ากล่องรับเงิน แต่มีตู้เพลงกับไมค์ที่เดินร้องเพลงไปด้วย และพูดถึงความยากลำบากของครอบครัวของนางสลับกับร้องเพลง  นางจะเริ่มเล่าตั้งแต่ที่บ้านของนาง มีแม่ที่อายุกว่า87 ปี ซึ่งเป็นผู้สูงอายุที่ไม่กล้าให้ออกจากบ้าน จึงจำเป็นให้แม่ของนางอยู่แต่ในบ้าน จ้างคนข้างบ้านดูแลเรื่องอาหาร   แต่แม่ของนางก็อยากจะไปไหนบ้าง กลัวที่สุดคือคือการหายออกจากบ้าน  จึงจำเป็นที่ต้องออกมาบนถนนเป็นค่าใช้จ่ายให้แม่

          นางยังมีลูกอีกสองคนคนโตเรียนมัธยมแล้ว  ส่วนคนเล็กเรียนชั้นประถมศึกษา  เด็กทั้งสองเป็นเด็กดี ช่วยงานบ้านทุกอย่าง  ช่วยเรื่องอาหารการกิน การซักเสื้อผ้า  ทั้งสองคนมีค่าใช้จ่ายในการเรียน ค่ารถ ค่าอาหาร ค่าเสื้อผ้า อุปกรณ์การเรียนอีกมากมายหลายอย่างที่ต้องใช้เงินทั้งนั้น  เสียงที่พูดเคล้าด้วยน้ำเสียงที่เศร้าสร้อย  ความทุกข์เหล่านั้นนางเป็นผู้รับเพียงคนเดียวในครอบครัว


          บางครั้งเพลงที่นางร้องออกมาก็แสดงถึงความหม่นหมองในชีวิตที่นางต้องเผชิญอยู่  แต่นางต้องมีชีวิตอยู่เพื่อคนเหล่านี้ได้มีโอกาสเรียนรู้โลกกว้างที่ยิ่งใหญ่ไพศาล  ตามพัฒนาตามวัยของแต่ละคนในความรับผิดชอบของนาง 

          คนที่เดินสวนกับนางทุกคนยินดีที่จะเอาเงินใส่ล่องให้นาง ทั้งเสียงเพลงและเรื่องที่นางได้บอกกล่าวที่สิ่งมันเกิดขึ้นกับครอบครัวของนาง   ครูเองจะเจอนางบ่อยมากบริเวณถนนสุขุมวิท   อนุสาวรีย์โดยเฉพาะถนนรางน้ำ ที่มีนักท่องเที่ยวเดินท่องราตรี  บางครั้งก็เจอที่พื้นที่พัฒนพงศ์เป็นครั้งคราว  ในแต่ละครั้งใช้เวลาอยู่บนถนนนานกว่าเจ็ด-แปดชั่วโมง  ถึงจะกลับบ้าน  นางบอกว่าไม่ได้ออกมาบนถนนทุกวัน  อาทิตย์หนึ่งประมาณสามครั้ง  ส่วนหนึ่งรับจ้างทำขนมอยู่ที่บ้าน ลูกชายลูกสาวนำไปขายที่โรงเรียนในตอนเช้า  บางครั้งนางก็นำไปขายเอง แต่ลูกๆช่วยกันทำ

          การทำขนมจะต้องลงทุนมาก  กว่าจะได้ทุนคืนต้องใช้เวลา  ถ้าไม่มีเงินจริงๆนางจะออกมาแสดงความสามารถ คือการร้องเพลงแลกเงิน  เพื่อให้ครอบครัวอยู่ได้ด้วยเงินที่ผู้คนหยิบยืนให้




          กรณีที่สอง  นางจะนอนกราบที่เชิงตีนสะพาน ทางขึ้นรถไฟฟ้า  นางเป็นหญิงที่ชอบแต่งตัวสวยงามเสมอเมื่อมีโอกาสได้เจอ  พยายามที่จะเข้าไปคุยหาทางออกด้วยกัน  เสียงของนางจะออกเสียงรำคาญอยู่เสมอว่า  ถ้าไม่ให้เงิน ไม่ให้ขนมหรือสิ่งของอย่ามานั่งใกล้   ฉันจะนอนกราบกับพื้นแบบนี้มีคนเขาสงสารความบัดซบในชีวิตของนาง  มีคนใจดีให้เงินเพื่อไปดูแลแม่กับลูกของนางเสมอ

          คนอย่างครูก็ตื้ออยู่เสมอว่าชีวิตเป็นแบบนี้จำเป็นต้องให้หน่วยงานภาครัฐที่เขามีงบประมาณมาช่วยแบ่งเบาภาระที่เธอต้องพบเจอทั้งลูกชายที่เป็นดาวชินโดรม พร้อมมีเอกสารบัตรประชาชนของลูกยืนยัน  สิ่งเหล่านี้คือหลักฐานเชิงประจักษ์ หน่วยงานของรัฐต้องการเอกสารเหล่านี้ไปทำเรื่องเบิก เงินงบประมาณมาช่วยเหลือ   แต่เจ้าของปัญหาทำเหมือนไม่สนใจสิ่งที่ครูพยายามที่จะพูดคุยเลย  เพียงแต่กลับตระโกนออกมาว่าไปให้ไกลจากที่เขานอน
 
         ยิ่งบอกว่าแม่ท้องมีอาการป่วยจิตเวชด้วย  ยิ่งเป็นเสียงกระตุ้นให้ครูอยากรู้อยากเห็น    เป็นประการสำคัญ  ว่าจริงตามที่เขียนไหม เพราะมีหลายหน่วยงานที่จะช่วยเหลือได้ ขอให้พาไปพบแม่ที่บ้าน  หาทางออกด้วยกัน  อย่างให้เด็กเกิดมาบนปัญหาที่เธอรับผิดชอบไม่ไหวหรอก  ขอเบอร์โทรศัพท์ติดต่อก็ได้ถ้าไม่สะดวกในวันนี้   


          เสียงตะโกนกลับมาอีกครั้งว่าอย่ามารบกวนเวลาทำมาหากิน  เดี๋ยวตำรวจออกตรวจจะไม่ได้เงินเข้าใจไหม

          สำหรับครูเองกับกรณีศึกษาแบบนี้ไม่ค่อยได้เจอบ่อย  เพราะน้ำเสียงและท่าทางของครูที่ลงงานภาคสนาม  ส่วนมากกรณีศึกษาไม่เคยรังเกียจแบบนี้เลย   ด้วยการใช้ความจริงใจ  การเปิดเผยอย่างตรงไปตรงมา  กรณีศึกษาส่วนใหญ่ถึงจะใช้เวลาก็  ไม่มีใครไล่คนที่อยากจะช่วยเหลือแบบนี้   ส่วนมากที่เจอจะเป็นคนไทย

          กรณีศึกษานี้ไม่ให้ความร่วมมือกับครูใดๆทั้งสิ้น   จึงต้องใช้กระบวนการสืบเสาะหาว่าบ้านพักเขาอยู่บริเวณไหน   วินมอเตอร์ไซด์บอกว่าพวกนี้ส่วนมากไปไวมาไว   มานอนประมาณสักหนึ่งชั่วโมง  แล้วรีบย้ายทีทันที่  มาถึงก็จะนอนราบกราบแบบนี้อย่างรวดเร็วมาก

 

กรณีที่สาม เป็นผู้หญิงที่จะนั่งที่ทางขึ้นสถานีรถไฟฟ้าหมอชิต  ในช่วงเช้าที่คนเดินทางกันอย่างเร่งด่วน  เพราะทุกอย่างรีบเร่งกันมาก จึงไม่ค่อยเห็นการใส่สตางค์ในกล่องบริจาคแต่ในแต่ละวัน นางก็จะแต่งตัวไม่เหมือนกัน  บางวันนางจะปิดตาข้างหนึ่ง มีทั้งอุปกรณ์การทำแผล  บางวันนางก็จะมีตู้เพลงเปิดเพลงแล้วก็จะร้องคลอไปด้วย  แต่กล่องบริจาคจะเป็นกล่องเดิม  แต่วิธีการขายความน่าสงสารจะแตกต่างกันไป

ครูเมื่อได้มีโอกาสได้พบเจอจะเข้าไปคุยกับนางเสมอแบ่งปันสิ่งของที่หิ้วให้เป็นครั้งคราว  คำตอบที่ได้มาก็ไม่เหมือนกันสักครั้ง  เพราะทุกครั้งจะถามว่าไปหาโรงพยาบาลไหน  ได้คำตอบที่หลากหลายทั้ง โรงพยาบาลราชวิถี  โรงพยาบาลศิริราช  โรงพยาบาลนพรัตน์    จึงถามต่อถึงชื่อคนไข้   เพราะคนที่เป็นมะเร็งจะต้องดูแลในห้องที่ปลอดเชื้อ  อยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด  คำตอบที่ได้มาแทบไม่ได้ยินเลย คือ คนมันจะอดตายกันทั้งบ้านแล้วจะมามั่วนอนรอความตายได้อย่างไร 

ดูสภาพภายนอกคือความน่าสงสาร  เงินที่ได้ส่วนมากคือ ขายความน่าสงสาร   จึงบอกว่าครูมาจากองค์กรพัฒนาเอกชนที่ต้องการช่วยเหลือ   เขาชะงักไป  บอกเพียงว่า ไม่ต้องการความช่วยเหลือ  เอาแค่เจ้าหน้าที่เทศกิจอนุญาตให้นั่งตรงนี้ในช่วงเช้าได้ทุกวัน  ฉันพอใจแล้ว  ได้นั่งแบบนี้ก็บุญแล้วพอมีเงินเอาไปดูแลคนในครอบครัว


ครูหันไปมองเจ้าหน้าที่เทศกิจในแต่ละวันจะมานั่งที่เต็นท์  วันละสามคน  ทุกคนหันมาแล้วพยักหน้า ว่าให้นั่งเอง    มีเสียงหญิงสาวที่เดินมาตามหลังว่าตำรวจเหล่านี้เก็บเงินกับคนนี้วันละหนึ่งบาททุกวัน เป็นค่าที่นั่ง   หญิงคนนั้นยังบอกอีกว่าตกลงคนที่จนหาเงินเลี้ยงคนเป็น   เป็นอะไรที่บอกไม่ถูก   โลกมันเปลี่ยนแปลง

ครูเลยย้อนถามว่า น้อง   ตกลงหญิงคนที่นั่งเป็นคนป่วยจริงๆหรือ  น้องบอกว่าพี่ก็คงเห็นเหมือนกัน  หนูเดินทางมาสองปีแล้วก็เห็นอาทิตย์ละสี่วันที่มานั่งตรงนี้   ตอนเย็นจะมีอีกชุดหนึ่งนะ  ทำเหมือนกันเลยแต่เป็นชาวต่างชาติหาเงินกลับประเทศลูกสามคน

 

สิ่งที่เกิดขึ้นแสดงว่าทุกคนรู้กฎหมายพระราชบัญญัติควบคุมการขอทาน พ.ศ. 2559   จึงมีรูปแบบที่เกิดขึ้นมาใหม่   ถ้าจะมองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปรากฏการณ์ของคนจนที่หารูปแบบในการให้คนได้แบ่งปันกัน

แต่สำหรับคนทำงานอย่างครูก็ต้องศึกษาให้ละเอียดถึงความเปลี่ยนแปลงเพื่อคนที่อยู่ข้างหลังให้รอดตาย   งานแสดงถึงสวัสดิการที่รัฐให้ไม่เพียงพอกับคนจน ที่จนจริงๆ