banner
พุธ ที่ 11 เดือน ตุลาคม พ.ศ.2560 แก้ไข admin

ทุกข์ของแม่และเด็กเร่ร่อนต่างด้าว ในกระบวนการยุติธรรม (ตอนที่หนึ่ง)

 
นางสาวทองพูล  บัวศรี

ผู้จัดการโครงการครูข้างถนน  มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก

           จากที่ต้องมารับผิดชอบในการทำงานของโครงการครูข้างถนน   มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก  มีการปรับเปลี่ยนงาน และแบ่งการทำงานตามกลุ่มเป้าหมายอย่างชัดเจน และวิธีการทำงานและช่วยเหลือเคสก็มีความแตกต่างกัน  ในแต่ละกลุ่มหรือในตัวเคสเองก็แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง     กลุ่มที่ครูทำงานเองมีความรู้สึกว่าการบังคับใช้กฎหมายของไทยยังมีการใช้กฎหมายกับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นกลุ่ม “แม่และเด็กเร่ร่อนต่างด้าว ”

          มีเรื่องที่จะเล่าจากชีวิตจริงของเคส  ตั้งแต่รับงานครูข้างถนน จากปี พ.ศ. 2555  จนมาถึงปัจจุบัน  สิ่งที่กลุ่มแม่และเด็กเร่ร่อนต่างด้าว ที่ออกมาขอทานบนถนน  เวลาที่พวกเขาถูกจับ  กระบวนการในการดำเนินการช่วยเหลือ  ขอแยกเป็น

          กลุ่มที่แม่และเด็กเร่ร่อนต่างด้าวถูกจับ ตั้งแต่พื้นที่อโศกจนถึงพระโขนง  ข้อหาที่ได้รับคือ “ข้อหาค้ามนุษย์”  เป็นส่วนใหญ่  เมื่อจับมีบางครั้งที่เคสถูกรีดไถจากผู้บังคับใช้กฎหมายแลกกับอิสรภาพ   แต่อย่างแม่และเด็กเหล่านั้นจะถูกส่งเข้าไปเรือนจำ จำนวน 84 วัน  ลูกเล็กเหล่านี้จะถูกแยกออกไปยังสถานสงเคราะห์ของรัฐ ตามสถานที่ต่างๆ เช่น สถานสงเคราะห์เด็กอ่อนพญาไท  สถานสงเคราะห์เด็กอ่อนบ้านปากเกร็ด  หรือสถานสงเคราะห์เด็กอ่อนรังสิต ฯลฯ  แล้วแต่เจ้าหน้าที่ที่บังคับใช้กฎหมายที่จะเลือกส่ง (ยังไม่มีแนวปฏิบัติไปในทิศทางเดียวกัน)  เมื่อตำรวจส่งแม่เหล่านี้เข้าเรือนจำแล้ว อยู่จนครบ 7 ผลัด ผลัดละ 12 วัน ด้วยเหตุผลว่าต้องสอบสวนสืบหาข้อเท็จจริง แม่เหล่านี้อยู่ในเรือนจำ 84 วัน หลายเคสจะถูกไปศาลอาญา  หลายเคสปล่อยตัวเพราะไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ แต่เรื่องของเด็กที่ถูกส่งไป  ต้องไปติดต่อของรับเคสเอง  ซึ่งต้องมีหลักฐานยืนยันคือใบเกิดของเด็ก(โดยส่วนมากไม่มีเพราะแม่เองเมื่อคลอดมักจะพาลูกออกจากโรงพยาบาลเนื่องด้วยค่ารักษาพยาบาล  เพราะฉะนั้นเอกสารชิ้นนี้แทบจะไม่มีติดตัวเด็กเลย  เอกสารที่สำคัญผลตรวจ DNA  ซึ่งโดยปกติตำรวจที่จับจะต้องมีการตรวจ DNA  ส่งตรวจก่อนก่อนจะส่งเข้าเรือนจำ  ส่วนมากจะไม่ได้รับ  เอกสารที่สามคือ คำสั่งอัยการสั่งไม่ฟ้อง (ส่วนมากจะไม่เอกสารชิ้นนี้ ผู้บังคับใช้กฎหมายจะบอกเพียงว่า แค่ผลัดฟ้อง แล้วปล่อย)  การที่สถานสงเคราะห์จะตามหาแม่หรือแม่ตามหาลูกก็จะเกิดขึ้น  ว่าจะพิสูจน์ว่าเป็นแม่ลูก กว่าจะคืนมาเป็นครอบครัวใช้เวลาอีก 8 เดือน จนถึง 2 ปี   ความเป็นครอบครัวแม่ลูกหายไประหว่างการขอคืนลูก  คือสายสัมพันธ์ เด็กบางคนไม่ยอมให้แม่อุ้มเลย


  

          ตัวอย่างที่มีหลายเคส ที่ประสบกับปัญหาเมื่อแม่ลูกถูกจับคดี “ค้ามนุษย์”  ขอยกตัวอย่าง เคสนางนา (นามสมุติ)  พร้อมลูกอีก 1 คน  เมื่อวันพฤหัสที่ 14 กันยายน 2560 เดิมนางนามีลูกทั้งหมด 6 คน  ซึ่งมีทั้งหมด สามสามีด้วยกัน

          ด้วยลูกชายคนแรกอายุ 22 ปี กับสามีคนแรก ปัจจุบันเป็นหัวเรียวหัวแรงในการทำงาน พร้อมส่งให้น้อง อีกสามคนได้เรียนหนังสือ  ซึ่งสามีคนที่สอง มีลูกด้วยกันสอง ซึ่งกำลังเรียนหนังสือชั้นประถมศึกษา ปีที่ 6  และลูกคนที่สามกำลังเรียนหนังสือชั้นประถมศึกษา ปีที่ สี่  โรงเรียนแห่งหนึ่งในสมุทรปราการ เด็กทั้งสองคนเรียนหนังสือได้ดีมาก

          สำหรับลูกชายคนโต จากที่อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้  ทั้งภาษาไทยและภาษาของประเทศตนเอง  สภาพเหล่านี้คือความเป็นจริงที่เด็กไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือ ในการที่จะทำงาน โอกาสเลือกงาน เยาวชนเหล่านี้ไม่มีโอกาสแม้จะเลือกงาน  แต่ก็อยากได้งานที่เงินพอเพียงกับคนในครอบครัว  เป็นทั้งยาม รับจ้างแบกข้าวสาร  รับจ้างทุกชนิดเพียงแค่ได้เงิน  เหมือนกรรมบังเพราะไม่มีเงินที่จะขึ้นทะเบียนแรงงาน  นายจ้างเลิกจ้างเพราะไม่มีเอกสารเหล่านี้เหมือนช่องให้ผู้บังคับกฎหมายเปิดการตรวจค้นแรงงานที่ผิดกฎหมาย  จนสุดท้ายไม่มีงานทำ

          แม่กับน้องช้าง  ซึ่งเคยเข้าไปอยู่ในสถานคนไร้ที่พึ่ง ดูแลกันเป็นระยะ  แต่ไม่เคยคิดว่าสามมีคนที่สาม ที่เป็นพ่อของลูกคนที่สี่  หลังจากนั้นมีท้องอีกท้อง  เมื่อคลอดออกมาเป็นแฝดค่ะ เป็นลูกชายอีกสองคน  เดิมชีวิตก็จะเอาไม่รอด เมื่อคนกินมาอีกสองคน  ชีวิตที่ สามีทำงานทำงานเหมือนลูกชาย  ไหนที่จะหางานทำ แล้วต้องคอยหลบซ่อนเพราะเป็นแรงงานที่ผิดกฎหมาย


          ครูค่ะ ครอบครัวของฉันก็ไม่อยากที่จะทำผิดกฎหมายประเทศไทยหรอกนะ   แต่จะเอาเงินที่ไหนไปขึ้นทะเบียนสองคนเป็นหลักหลายพันบาท  แค่หากินในแต่ละวัน  มีอาหารกินให้ครบสามมื้อ ก็แทบไม่พอแล้ว

          ยิ่งเมื่อเดือนเมษายน 2560  คลอดลูกออกมาเป็นแฝดชายอีกสองคน  มีคนมาช่วยกิน ช่วยใช้ของสองคน  หนักกว่านั้นคือนมผง   ถึงแม้ว่านมจากแม่ไม่พอ   หลายคนก็พยายามที่จะช่วยกันทุกวิถีทาง  เพราะทุกคนสงสารเจ้าแฝด

          เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2560  อดทนไม่ไว้  ไม่มีจะกิน ฝนก็ตกมาหลายวัน  ถึงสองคนที่เรียนหนังสือจะอยู่กับครู แต่อีกสี่ชีวิตสำหรับลูก พ่อกับแม่  รวมเป็นหกชีวิต อดกันมาสองวันเต็ม ทนหิวกันไม่ไหว

          ครูฉันก็เลยเอาลูกแฝดคนโต  ออกมาขอเงิน  พูดอย่างอาย  เพื่อให้ชีวิตมันรอด  ค่าห้องสองพันกว่าบาทก็จะต้องจ่ายเขาสิ้นเดือนนี้   สามีกับลูกชายทำงานวันหนึ่งหยุดไปสามวัน  แต่ละวันจะเอาอย่างไร  ฉันมานั่งที่อโศก  ฉันพบตำรวจนอกเครื่องแบบส่งฉันพร้อมลูกไปที่ สถานีตำรวจแห่งหนึ่ง

          งานนี้ฉันต่อรองว่าฉันพาลูกมาขอเงิน  ส่งฉันพร้อมลูกไปยังสถานคนไร้ที่พึ่ง  ตามพระราชบัญญัติควบคุมการขอทาน เพราะครูเป็นคนไปอธิบายพวกเราทุกคน  แต่ตำรวจบอกว่า  ฉันผิดคดี “ค้ามนุษย์”


  

          ทางผู้บังคับใช้กฎหมายก็บอกว่าให้ไปเชิญสามีและลูกมาทุกคน  สามีฉันเอาลูกมาที่สถานีตำรวจ  โทรหาครู   ครูอธิบายกับผู้บังคับใช้กฎหมายว่า ตกลงจับในข้อหาอะไร  พวกเราก็ยอมรับหมดเพราะมันผิดสองกฎหมายเท่านั้น  คือ พระราชบัญญัติควบคุมการขอทาน  กับ พระราชบัญญัติตรวจคนเข้าเมือง  อันนี้ผิดแน่ๆๆ

          ตำรวจบอกว่าไม่มีเงินปรับ จ่าย ก็ เอาคดี “ค้ามนุษย์” ไป  แยกแม่กับลูก  เอาลูกแฝดคนโตไปอยู่ที่สถานสงเคราะห์  รอจนกว่าแม่จะครบ 7 ผลัด  จำนวนกว่า 84 วัน

          ความเป็นมืออาชีพในการจับว่าเป็นคดี “ค้ามนุษย์” เข้าหลักการสามข้อที่กำหนดไหม  ครูเองก็พยายามทักท้วง  เหมือนผู้ปฏิบัติบอกว่าคุณจะรู้ดีกว่าคนใช้กฎหมายได้อย่างไร  อธิบายเท่าไรก็ไม่ฟัง  จนครูรู้สึกว่า  คนปฏิบัติเขาใช้กฎหมายมากกว่าความเป็นคน

          การที่เคสนี้ผิดไหม  ผิดตามกฎหมายสองฉบับที่บอก  ถ้าเป็นประโยชน์กับเคส  คือการใช้พระราชบัญญัติควบคุมการขอทาน พ.ศ.2559  โดยคำนึงถึง  มาตรา22 ผู้ใดแสวงหาประโยชน์จากผู้ทําการขอทานโดยการใช้ จ้าง วาน สนับสนุน ยุยงส่งเสริม หรือกระทําด้วยวิธีการอื่นใดให้ผู้อื่นทําการขอทาน ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ ถ้าการกระทําความผิดตามวรรคหนึ่ง เป็นการกระทําดังต่อไปนี้ ผู้กระทําต้องระวางโทษจําคุก ไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

(1) กระทําต่อหญิงมีครรภ์ ผู้สูงอายุ คนวิกลจริต คนพิการหรือทุพพลภาพ หรือผู้เจ็บป่วย

(๒) ร่วมกันกระทําหรือกระทํากับบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป

(๓) กระทําโดยนําผู้อื่นจากภายนอกราชอาณาจักรให้มาขอทานในราชอาณาจักร

(๔) กระทําโดยผู้ปกครองหรือผู้ดูแลของผู้ทําการขอทาน

(๕) กระทําโดยพนักงานเจ้าหน้าที่

(๖) กระทําโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีอํานาจหน้าที่ดูแลหรือให้คําปรึกษา

บุคคลตาม (1) ความในวรรคหนึ่งและวรรคสอง (1) (2) และ (4) ไม่ใช้บังคับกับการกระทําระหว่างบุพการี และผู้สืบสันดาน

ในกรณีของนางนา พร้อมลูก  ใช้มาตรานี้ วรรคสุดท้าย จะถูกส่งไปยัง สถานคนไร้ที่พึ่ง แม่ลูกไม่ได้แยกกัน อยู่ด้วยกัน 

ขั้นตอนต่อไปก็คือการตรวจผล DNA ว่าใช่แม่ลูกกันไหม  ถ้าไม่ใช่ก็จะได้ส่งไปที่ศูนย์ปราบปรามการค้ามนุษย์   แต่ไม่ใช่กระบวนการต่อไปส่งไปที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง  แต่ต้องไปถูกปรับที่สถานีตำรวจก่อน  เพราะการขอทานมีการกำหนดโทษ  เมื่อไปเสียค่าปรับแล้ว  ส่งตัวไปยังสำนักงานตำรวจคนเข้าเมือง  (กระบวนการนี้ขึ้นอยู่กับสำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมือง)จะผลักดันกลับอย่างไร  เมื่อไร ส่งที่ไหน 

สำหรับทางออก  ควรที่จะต้องมีการจัดเสวนาหาแนวทางปฏิบัติอย่างเป็นธรรมสำหรับคนขอทาน  และกลุ่มแม่และเด็กเร่ร่อนต่างด้าวแบบนี้  ไม่อย่างนั้นคนกลุ่มนี้ก็ตกเป็นเหยื่อทางกระบวนการยุติธรรม  จับมาก็ผิดหมด    แล้วจะรวมกันแก้อย่างไร  เป็นโจทย์ที่ต้องช่วยกันคิด

ไม่อย่างนั้นคนทำงานภาคสนามอย่างครู เห็นความผลัดพรากของแม่กับลูก  พี่กับน้อง  เห็นแล้วต้องบอกว่า “กรรม  กรรม  กรรม กรรม ” เพราะคนมันไม่เท่ากัน