banner
ศุกร์ ที่ 23 เดือน มีนาคม พ.ศ.2561 แก้ไข admin

สารพัดโรค...กับคนบนถนน



 นางสาวทองพูล  บัวศรี

ผู้จัดการโครงการครูข้างถนน  มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก

 

          งานของโครงการครูข้างถนน  เป็นงานเชิงรุกที่ต้องลุยไปหาครูบนถนนที่มีความหลากหลายกลุ่ม   สำหรับครูเองจะเน้นในการทำงาน คือกลุ่มเด็กเร่ร่อนไทย ครอบครัวเร่ร่อนไทย  กลุ่มแม่และเด็กเร่ร่อนต่างด้าว  กลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ป่วยสุขภาพจิต  ป่วยเรื้อรัง ป่วยด้วยโรคเอดส์ เป็นต้น  ค่อยๆ ทำเรียนรู้กระบวนการช่วยเหลือในแต่ละกลุ่มที่ไม่เหมือนกัน 

          การทำงานในช่วงปีนี้ดูเหมือนง่าย  แต่การทำงานยากมาก  เพราะกระบวนการช่วยเหลือเกี่ยวข้องกับกฎหมาย 7 ฉบับด้วยกัน  แต่กระบวนการที่ไม่เหมือนกันเลย   คนบังคับใช้ก็ไม่เหมือน  หน่วยงานใคร หน่วยงานมัน  ยึดกฎหมายของตนเองเป็นหลัก   ความซวยเกิดขึ้นกับกรณีศึกษาเป็นหลัก

          ยิ่งคนที่ป่วยอยู่บนถนน มีความหลากหลาย  ซึ่งเข้าไม่ถึงบริการ สวัสดิการ และคนป่วยเองก็ไม่ต้องการที่จะถูกดูถูกว่า เป็นคนสกปรก  ทำให้สถานที่โรงพยาบาลของเขาเปรอะเปื้อน  สายตาของคนที่มองก็แตกต่างกันสิ้นดี   คนเหล่านี้จึงไม่ยอมไปโรงพยาบาลเด็ดขาด

 

          เมื่อตอนที่ลงพื้นที่อีกครั้งกับการเรียนรู้คนบนถนน เมื่อปี พ.ศ. 2555   สิ่งที่เดินบนถนนครั้งแรกที่เจอ  เป็นเด็กผู้หญิงคนหนึ่ง อายุ ประมาณ 17 ปี  ตัวอ้วนใหญ่ รูปร่างใหญ่โต   น้ำไม่อาบ  ไม่เคยหวีผมเลย ยาวพะรุ่งพะรังมาก  อาศัยนอนที่เกาะกลางถนนสุขุมวิท  เดินพูดคนเดียว  อยู่ระหว่างซอยนานาจนถึงสุขุมวิท 11  บางคืนก็เดินทั้งคืน  ครูทำงานประสานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจส่งไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลศรีธัญญา  เข้า-ออก กว่า 8 ครั้ง  เมื่อต้นปีนี้ได้ส่งไปอีกครั้ง  ทางโรงพยาบาลบอกว่าต้องส่งต่อไปยังบ้านกึ่งวิถี  ทำงานต่อเนื่องกันอย่างยาวนาน  แต่ยังไม่ทราบเหมือนกันจะกลับมาบนถนนอีกเมื่อไร

 

          ต่อด้วยเคสคุณลุงบุญธรรม  อายุ 49 ปี  ป่วยเป็นโรคเท้าช้าง  ดูแลและรักษากันอย่างต่อเนื่องกว่า 3 ปี   ด้วยรายการคนไทยไม่ทิ้งกัน คุณอิ๋ง อิ๋ง  อยากเสนอรายการคนบนถนนที่ต้องการความช่วยเหลือ ประสานงานกับโรงพยาบาลบ้านแพ้ว ส่งตัวไปรักษาที่ราชบุรี  อยู่ได้สามวันก็หนีขึ้นรถไฟกลับมานอนที่สี่แยกอโศก  ช่วงนั้นเป็นช่วงที่มีการชุมนุมทางการเมือง ลุงบุญธรรมอาศัยข้าวอาหารของผู้ชุมนุมประทังชีวิต    ครูลงพื้นที่ไปกล่อมคุณลุงอีกครั้งแล้วได้ข้อตกลงกันว่ารักษาที่โรงพยาบาลพร้อมมิตร  และได้ประสานงานของ หน่วยงาน สปสช. ในเรื่องการรักษาพยาบาล  เพื่อใช้สิทธิในการรักษาโรคเท้าช้าง  เพราะโรคเท้าช้างมีการแพร่ระบาดไปสู่คนอื่น  เขาคือต้นทางของการแพร่ไปสู่คนอื่น  พร้อมเน้นย้ำเสมอว่า  อย่าเอาโรคไปให้คนอื่นเดือดร้อนเพราะโรคของเรา    คุณลุงบุญธรรมจึงยอมที่จะรักษาตัวอีกครั้ง  รักษาตัวได้ประมาณสองเดือนเต็มแผลทุกอย่างเกือบหาย   แต่เหมือนการขาดอิสรเสรี  จึงหนีออกจากโรงพยาบาลอีกครั้ง   ครูเองก็เป็นห่วงเรื่องสุขภาพ  หลังจากนั้นอีกหนึ่งปี ครูไปพบที่ท่าเรือสาทร ไปอาศัยที่นั้น  แผลกลับเน่ามากขึ้น  จึงชวนกันไปหาคุณหมออีกครั้ง แต่งานคุณลุงบุญธรรมบอกว่า  ครูครับ "ปล่อยให้ผมตายเถอะครับ"   สุดท้ายครูก็บอกว่าชีวิตของคุณลุงบุญธรรมเอง  เลือกเองแล้วกัน    แต่ครูได้โทรประสานงานกับหน่วยงานของรัฐให้นำตัวเข้าสถานสงเคราะห์รักษาให้หาย  ไม่อย่างนั้นจะจำกัดพื้นที่ของโรคเท้าช้างไม่ได้

 

          คุณลุงเฮื้อน(นามสมมุติ)  ป้าแอ๋ว (นามสมมุติ) ด้วยร่างกายของทั้งสองท่านนิ้วมือหงิกงอทั้งสองข้าง มีเพียงนิ้วเหยียดตรงเท่านั้น  ส่านอีกสามนิ้วนิ้วกุด หายไปเกือบถึงโคนนิ้ว  ตามตัวมีรอยแผลที่เป็นผื่นแดงหนามาก อาการของผิวหนังแห้งและมีสะเกิด แล้วบางแผลก็มีเลือดไหลออกมา  ข้างข้างหนึ่งใส่ขาเทียม  อีกข้างหนึ่งพันด้วยผ้าพันแผลเต็มทั้งข้าง  แต่มองให้ลึกลงไปอีก มีเลือดไหลซิบ ซิบ ออกมาติดอยู่ที่ผ้าพันแผล   ลุงเฮื้อน แกจะมาพร้อมกับกระสอบปุ๋ยหนึ่งใบ   บางครั้งก็เดินเก็บขยะออกไปด้วย  จึงมีถามไถ่ว่า คุณลุงมาจากไหน เสียงตอบว่ามาโรงพยาบาลโรคเรื้อนที่พระประแดง  พวกเรามีประมาณสิบกว่าคนหนีกันออกมาจากสถานที่เขาจัดให้อยู่   ด้วยหลายเหตุผลว่าทางโรงพยาบาลมีงบประมาณให้ค่าอาหารสามมื้อ แต่พวกเขาขายคูปองทั้งหมด เมื่อมีเวลาเจ็บป่วย หรือคนให้ครอบครัวต้องใช้เงิน  พวกเขาจำเป็นที่ต้องออกมาขอเงิน  การออกมาขอเงินแต่ละครั้งรับความสกปรกต่างๆที่ได้รับจากบนถนน ส่งให้ร่างกายและเชื้อโรคที่อยู่ในตัวแพร่ทำลายกับตัวของคนป่วยเอง   บางคนในกลุ่มเมื่อป่วยก็จะขายเชื้อโรคในร่างกาย คือการเจาะตามแผลครั้งละ 200-300 บาทเพื่อไปเพาะเชื้อโรค  และประเมินว่า โรคเรื้อนที่อยู่ในตัวเองเป็นเชื้อโรคอะไร   มีการแพร่ขยายในร่างกายแบบไหน  กลุ่มคนเหล่านี้เขาใช้ว่าการ "ขายเลือด ขายโรค"  พวกผมทั้งหลายไปทำงานที่ไหนหน่วยงานหรือบริษัท ก็ไม่รับ  แต่พวกผมชีวิตก็ต้องเดินต่อเหมือนคนอื่นมีลูกมีเมียที่ต้องดูแล  แล้วความพิการอย่างที่ครูเห็นจะทำอะไรได้   อาชีพเดียวที่ทำได้  "อาชีพขอทาน" ครับ    ผมเป็นคนไทยมีบัตรพร้อมเพียงแต่ผมป่วยด้วยโรคเวรโรคกรรม  ที่ติดตัวพวกผมมา   ลูกของผมไม่ได้เป็นนะครับ ทางโรงพยาบาลให้ยากิน ฟื้นฟูดูแลกันอย่างใกล้ชิด  บ้านพวกผมก็ไม่มีอาศัยสถานฟื้นฟูเขาจัดให้  อยู่กันจนตายกันไปข้างหนึ่งครับครู    ขอบคุณที่ครูไม่รังเกียจพวกผม  มานั่งคุย เอาข้าวของมาแบ่งปัน นม ขนม เอาไปให้ลูกให้เมียกินอิ่ม  สำหรับเวลากินอาหารต้องระวังครับ  บางอย่างแสลงกับโรคที่เป็นอยู่ครับ 

 

          “พี่ชายคะป่วยหรือเปล่า หนาวใช่ไหม  มียากินไหม” ครูทักทาย  ผู้ชายคนนั้นหันหน้ามาเห็นร่างกายที่ซูม ซีด และผอมมาก หนังคุ้มกระดูก  เหมือนผีในหนังทั่วไป   นอนซมบนโต๊ะนั่งที่ท่าเรือสาทร แต่ตอนนี้เปรียบเสมือนห้องนอนของพี่ชายที่อายุประมาณ 50 ปี  แล้วผู้ชายคนนี้ก็พูดออกมาว่าผมเป็นเอดส์ครับ  ผมอยากตายแล้ว   ครูจึงเรียกรถพยาบาลโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์มารับ  แล้วคุยกับทางโรงพยาบาล  เจ้าหน้าที่บอกว่าสิทธิของผู้ชายคนนี้รักษาตัวอยู่ที่นี้  แต่เมื่อมีแรงก็อยากออกไปใช้ชีวิตข้างถนนที่เขามาใช้ชีวิตมากว่า 30 ปี  ผมออกจากบ้านมาเมื่ออายุ 14 ปี เข้า เข้า -ออก ออก บ้านจนถึงอายุ 20 ปี จึงมาใช้ชีวิตบนถนนอย่างถาวร  ทั้งเล่นยาทุกชนิด ทั้งขายบริการทางเพศที่ถนนพัฒนพงศ์  เกี่ยวข้องกับแหล่งโลกีย์ทุกชนิด  ผมเป็นเอดส์มากว่าสี่ปีแล้ว  ตอนเป็นแรกๆ เพื่อนๆก็ยังมาเยี่ยมเยียนบ้าง แบ่งปันเงินที่มีอยู่ให้บ้าง  แต่มาระยะหลัง เพื่อนหลายคนก็เป็นแบบผม  มีบางคนเสียชีวิตแล้ว  หลายคนก็ชวนกันไปวัดพระบาทน้ำพุ  แต่ผมเองทำใจไม่ได้  ยังไม่อยากตายครับ  ผมรักษาตามอาการในตัวมีแต่โรคไม่มีภูมิเวลาที่ร้อนมากก็ตัวจะแดงด้วยผื่นที่พุพอง  ก็ต้องอาศัยยาแก้แพ้  บางครั้งหมดแรงเดินไม่ไหวจะมีคนใจดีเรียกรถโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์มารับ แต่เขาต้องแยกห้อง  เขาเอาผมไปขังเดียวอยู่ในห้องปลอดเชื้อ ถึงเวลาก็มีอาหารมาให้พยาบาลทุกคนก็แค่วางไว้หน้าห้อง  เหมือนผมเป็นตัวเชื้อโรค  เวลาไอก็มีเลือดออกมาด้วย เป็นวัณโรคที่ควบคู่กับโรคประจำตัวผม  ต้องรักษาวัณโรค บางครั้งใช้เวลาอยู่กับโรงพยาบาลกว่า 8 เดือน  แต่ผมอยากเป็นนกที่โบยบินไปทุกแห่งของกรุงเทพมหานคร ที่ผมเคยเดิน เคยเก็บขยะ เคยอุจจาระ ปัสสาวะ ตามที่ต่างๆ  ครูครับใครๆ ก็อยากได้อิสรเสรี อยากได้อิสรภาพทางความคิดและการทำงาน   สำหรับเคสนี้รู้จักกันประมาณสองปี  บัดนี้เสียชีวิตแล้ว  คนที่มาทำศพให้คือแม่ สวดสามจบแล้วก็เผาเลย

 

          “แม่คะเด็กน้อยคนนี้อายุกี่ปีแล้ว” ครูถาม  ลูกนั่งอยู่ในอ้อมกอดของแม่ที่หน้าปากซอยสุขุมวิท 3 ซอยนานา ที่เป็นแหล่งของแม่และเด็กนั่งกันขอทานอยู่  ชื่อน้องเซียนอายุ 7 ปี ตัวเล็กปากแหว่งเพดานโหว่   “แม่มีเอกสารใดๆ ของลูกไหม ไม่มีเอกสารใดเลย  ออกมาบ่อยไหม เดี๋ยวครูประสานงานให้ เพื่อนำเด็กไปรักษาปากก่อนนะ”    เจอกันแค่สองครั้งก็ไม่เจออีกเลย  จนมาปี 2558  ครูจิ๋วเจอพ่อตาบอดโดยมีเด็กผู้หญิงอายุราว 12 ปีจูงพ่อมาด้วย จึงเขาไปถามแต่ในความคิดของครูไปไกลกว่านั้นมากมายแล้ว โกธรมากบอกตามตรง พ่อตาบอดลูบขาลูกสาวได้อย่างไร มันไม่ถูก จึงจับตัวลูกสาวมานั่งคุยจึงรู้ความจริงว่าแม่ของเด็กตกรถมอเตอร์ไซด์เดินไม่ได้มาสามเดือนแล้ว  จึงมอบให้เจ้าหน้าที่ไปดำเนินการพาแม่ไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลสมุทรปราการ ค่ารักษาที่ต้องจ่ายเพิ่มอีกสามพันบาท จึงมีการประสานงานกับองค์กรเพื่อน ประเทศไทย กลายเป็นครอบครัวเดียวกัน   เมื่อปี 2560 เจอน้องเซียนอีกครั้งในขณะที่จูงพ่อออกมาขอทาน หรือบางครั้งก็หอบหิ้วอุปกรณ์การร้องเพลงมาใช้วิถีผู้แสดงความสามารถแต่ไม่มีบัตร  พ่อของเด็กต้องการไม้เท้าคนพิการเวลาที่เดินไปไหนได้จะได้เคาะทางเท้าได้ว่า เดินตรงทางไหม เป็นการฝึกของคนพิการทางสายตา   เพราะครูประสานงานกับทีมงานสภากาชาดไทยอีกครั้งในการเตรียมตัวน้องเซียนผ่าตัดปากแหว่างเพดานโหว่   ทุกอย่างประสานงานกันเรียบร้อย   เมื่อเดือนตุลาคมน้องเซียนถูกจับในกรณีที่ออกมาเร่ร่อนคนเดียวที่พื้นที่สยาม  ส่งตัวเข้าที่สถานแรกรับเด็กชายบ้านภูมิเวท   ปัจจุบันส่งกลับไปที่องค์คุดุ๊ก(ปอยเปต) ส่งไปเรียนภาษากัมพูชาพร้อมกับฝึกอาชีพ  แต่เรื่องสุขภาพของเด็กต้องหยุดไว้ก่อน

 

          เมื่อปลายปี 2559  ครูได้รับแจ้งว่าแม่ของเด็กถูกจับไปที่ห้องกักกันของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองมาสองเดือนแล้ว  แม่ทั้งสองป่วยเป็นวัณโรคขาดยาไม่มีกินต่อเนื่อง  ในใจครูความฉิบหายกำลังมาเยือนไม่รู้หรือว่าวัณโรคติดกันได้ง่ายขนาดไหน  ลูกของแม่ทั้งสองคนอยู่ที่สถานสงเคราะห์เด็กอ่อนบ้านปากเกร็ด   ครูจึงประสานงานกับตำรวจเจ้าของคดีความจึงรู้ว่าใครเป็นเจ้าของจึงขออธิบายว่า กักแม่ไว้อย่างนี้ลูกไว้อีกสถานที่หนึ่ง  คุณรู้ไหมว่าแม่เป็นวัณโรคแล้วนอนรวมกัน 100 คน ป่านนี้ติดกันไปหมดแล้วนะ   แล้วหน่วยงานไหนจะรับผิดชอบกับการติดวัณโรคแบบนี้   คืนนั้นห้องกักทั้งหมดถูกส่งกลับประเทศทันที   วันรุ่งขึ้นครูก็ไปกับตำรวจเจ้าของคดีไปรับเด็กออกมาส่งให้แม่อีกคืนหนึ่งก็ส่งกลับทันที  แต่ครูก็ทำงานต่อเนื่องในเรื่องการฉีดวัคซีนที่แม่เป็นวัณโรค   มีแม่ทั้งหมดสี่ครอบครัว เด็กทั้งหมดกว่า 13 คน  ต้องประสานหาเงินที่จะตรวจสุภาพของเด็ก ในขณะนี้จะต้องมีเด็กรักษาตัวอย่างต่อเนื่องไปเก้าเดือนจำนวน 4 คน จากสองครอบครัว 

 

          เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2561 ที่เพิ่งผ่านมา คนไร้บ้านคนหนึ่งถีบจักรยานมา ล้มตรงป้ายรถเมล์ที่ครูนั่งอยู่กำลังโทรประสานงานเรื่องการรักษาของเด็ก ทุกอย่างต้องหยุดหมด พาผู้ชายคนนี้ไปที่โรงพยาบาล  คำถามคำแรกมีเอกสารไหม  ครูเองก็พยายามถาม พยายามคุย กลิ่นสุราของชายหนุ่มผู้นี้ก็โชยออกมาจากปาก  คุณหมอจึงจับไปทำแผล แต่ไม่ได้เย็บแผลที่แตกที่หัว  ด้วยเหตุผลคนป่วยไม่ยอม  บอกว่าเดี๋ยวก็หาย   คุณหมอที่เดินมาบอกว่าห้ามครูไปจับตัวคนป่วย คุณหมอสงสัยว่าจะเป็นโรคเอดส์  เพราะตามตัวมีแต่แผลเป็นตุ่ม ผิวหนังแห้งดำอย่างมาก   สุดท้ายเขาก็เดินออกจากโรงพยาบาลกลับไปใช้ชีวิตข้างถนน  เพราะโทรหาหน่วยงานที่มีบ้านรองรับทุกบ้านรับไม่ได้เพราะเมาและคิดว่ามีโรคประจำตัว  และวัณโรคน่าจะมี  แค่สงสัยก็หมดสิทธิเข้าถึงบริการของรัฐที่โฆษณาอย่างดี

 

          เมื่อต้นเดือนมีนาคม 2561  มีอีกครอบครัวหนึ่งซึ่งเรียกร้องให้ครูพาไปโรงพยาบาลราชวิถี  เพราะโรคผิวหนังซึ่งเวลาร้อนมากจะมีเหมือนไข่หนอนออกมาตามผิวหนังเต็มไปหมด  จึงไปตรวจเพราะความกังวลของครูและตัวเคสเอง  ผลออกมาคือเป็นโรคไทรอยด์เป็นพิษ  ที่ต้องหากระบวนการในการรักษาและที่สำคัญคือพาเคสเข้าถึงสิทธิ  แต่คนต่างด้าวสิทธิเหล่านี้ไม่มี ไม่มีบัตร ไม่มีสิทธิ  แม้จะตาย ก็อาจจะตายเหมือหมาข้างถนน

          ความเจ็บป่วยที่เล่ามาเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นยังมีมากมายของผู้คนที่เข้าไม่ถึงสิทธิในการที่จะให้ชีวิตเด็กเร่ร่อน คนเร่ร่อนอยู่รอดในด้านการรักษาพยาบาลเพราะต้องแลกมาด้วยเงินถึงจะได้รับการดูแล  หรือแม้กระทั่งการได้ยากิน