banner
พุธ ที่ 24 เดือน มกราคม พ.ศ.2561 แก้ไข admin

โรงเรียนมาแล้ว โรงเรียนมาแล้ว



นางสาวทองพูล  บัวศรี

ผู้จัดการโครงการโรงเรียนเด็กก่อสร้างเคลื่อนที่  มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก

 

                ด้วยช่วงหลังได้มีโอกาสลงพื้นที่กับโรงเรียนเด็กก่อสร้างเคลื่อนที่    เมื่อปี 2559     ตอนที่คิดโอกาสนี้  ไม่ได้คาดหวังอะไรมาก เพราะเป็นคนที่ชอบหนังสือ  อ่านหนังสือในห้องสมุด อยู่กับหนังสือได้เป็นวัน วัน   บางเล่มที่ชอบอ่านเป็นสิบรอบก็มี   ฝันมาตลอดว่าอยากมีโรงเรียนเคลื่อนที่    

                หลายหน่วยงาน ก๊อบปี้งานไปทำ    เอาแบบรถเคลื่อนที่ไปทำ    แต่ที่ทำสำเร็จและโครงการยังต่อเนื่องคือ   SAVE  THE  CHILREN   JAPAN    ไปดำเนินโครงการที่ประเทศบังคลาเทศ   ซึ่งอยากไปดูงาน  ที่เคยเสนอแบบนี้   สำหรับแหล่งก่อสร้างขนาดเล็ก    แต่ทางประเทศบังคลาเทศ  ดัดแปลงเป็นโรงเรียนไปสอนที่กันดาร  เป็นหมู่บ้านขนาดเล็ก    ทางรัฐบาลใช้รถโรงเรียนเคลื่อนที่ไปพร้อมกับครู  สอนเด็กทุกวัน     และใช้หนังสือแบบหลากหลาย มีอุปกรณ์การเรียนการสอน  ขนม นม อาหาร   พร้อมทั้งอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับของเล่น  เสริมพัฒนาการให้เด็กเล็กด้วย       เป็นคำบอกกล่าวของผู้ประสานงานชาวญี่ปุ่นที่นำเรื่องรถเคลื่อนที่ไปให้ดำเนินการต่อเนื่อง     กลับมาบอกเล่าให้ฟัง

                เมื่อปลายปี 2559    เริ่มมีบริษัทก่อสร้างขนาดเล็กจำนวนหนึ่งที่ติดต่อให้ครูไปเปิดศูนย์เด็กก่อสร้างอีกหลายแห่งด้วยกัน     แต่ด้วยการใช้จ่ายงบประมาณการดำเนินการของศูนย์เด็ก  มีจำนวนสูง  และที่สำคัญคือคนทำงาน  ที่ทำหน้าที่ทุกอย่างในศูนย์เด็ก  หายากมาก


                เมื่อทางผู้บริหารของบริษัทนารายณ์พรอพเพอตี้ จำกัด  อยากคุยกับครูจิ๋ว  ก็บอกว่าอยากทำรถโรงเรียนเคลื่อนที่  ทางบริษัทจึ่งนัดไปดูรถพร้อมกับจัดการเรื่องรถ  ทั้งตกแต่งรถและอุปกรณ์พร้อมทุกอย่างส่งมอบให้กับทางมูลนิธิฯ  ดำเนินการ

                ตอนนี้ทางโรงเรียนเด็กก่อสร้างเคลื่อนที่ดำเนินการไปแล้วกว่า เดือน พื้นที่ที่ดำเนินการกว่า 5 พื้นที่    จนเด็ก เด็กที่เรียนด้วยกันกับโรงเรียนเด็กก่อสร้างเคลื่อนที่    ต้องเรียกร้องว่า โรงเรียนมาช้าจัง   คือหนึ่งอาทิตย์ทั้งเด็กและครูพบกันหนึ่งครั้ง  อยู่ด้วยกันตั้งแต่  10.00  จนถึง  ประมาณบ่าย  14.30 น.  วันละประมาณ สามชั่วโมงครึ่ง   ทั้งเรียนและเล่น    เด็กบอกว่าน้อยไป  อยากให้มาทุกวัน 

                เด็กที่ศูนย์ราชการส่วนมากจะพบกันทุกวันจันทร์    ซึ่งทางครูมักจะมีงานจรเข้ามาเสมอ   หรือบางสัปดาห์ ก็ลงพื้นที่ได้ในช่วงบ่าย   เพราะต้องไปประสานงานหลายเรื่อง    น้องพลอยบอกว่าทำไหมโรงเรียนของครูช่างมาช้าเหลือเกิน  รอนานไปหน่อยนะ   มาทุกวันได้ไหม       พอน้องพลอยพูดอย่างนี้ ผู้ปกครองเด็กก็รีบเสริมทันทีว่า     น้องพลอยอยากอ่าน  เขียน ฟัง พูด  กับครู   รอคอยครูมาเล่านิทานหรือเปิดนิทานให้เด็กดูในขณะที่รอการบ้าน       อยากฟังนิทานที่ครูอ่านให้ฟัง   อยากเล่นของครูแม้มันจะเก่าแต่เด็กทุกคนก็ชอบ    มีบางคนแอบหยิบติดมือได้ด้วยนะ     ครูครับ โรงเรียนของทุกวันไม่ได้หรือ....


                พอถึงวันอังคาร  เป็นบริษัท 33   ซึ่งคิดว่าเด็กน้อย แต่เป็นพื้นที่เดียวที่มีเคสให้ครูได้ดำเนินการต่อจากการจัดการเรียนการสอนมากที่สุด     ทั้งส่งเด็กเข้าโครงการบ้านอุปถัมภ์เด็ก   ทั้งพาครอบครัววัยรุ่น ต้องการคำแนะนำเรื่องการวางแผนครอบครัว  ทั้งขอคำแนะนำเรื่องพัฒนาการของเด็ก  ส่วนมากกลุ่มนี้เป็นเด็กไทย   โรงเรียนเด็กก่อสร้างเคลื่อนที่สำหรับ แหล่งก่อสร้างแห่งนี้เป็นเหมือนแก้วสารพัดนึก   และหวังกับครูเป็นอย่างมากที่จะแก้ปัญหาให้เขาทันที      จึงต้องบอกว่าปัญหาทุกปัญหามีทางออกจะช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับเวลาและ   ระยะเวลาในการหาแนวทางร่วมกัน     เจ้าของปัญหาต้องร่วมกันหาทางออกด้วยกัน  ครูเป็นเพียงผู้แนะนำแนวทาง     ส่วนคนที่ต้องแก้ปัญหา  คือเจ้าของปัญหา     ใช้ใจในการแก้ โดยเน้นแนวทางในเชิงบวก

                สำหรับที่บ้านพักกรรมกรก่อสร้างของเดอะพรอพ      ส่วนมากไม่ได้มีโอกาสได้คุยกับแม่หรือพ่อเด็ก  เพราะพ่อแม่ทำงานที่อยู่ใกล้ ใกล้ กับคอมโดมเนียมที่กำลังสร้าง    แต่เด็กเรียกร้องกับครูอยู่เสมอให้มาทุกวัน   เด็กโคตรตั้งใจเรียนเลย     เป็นเด็กกัมพูชาทั้งหมด    ผมอยากเขียน   ครูครับผมอยากอ่าน  ผมอยากระบายสี     หนูอยากทำสร้อยข้อมือ      หนูอยากทำกระปุกออมสิน      ครูครับผมขอยืมหนังสืออ่าน    อ่านไม่ออก  ดูรูปเอาแล้วกัน        แต่ผมต้องระวังไม่ให้น้องเอาหนังสือไปฉีกครับ       ครูมาทุกวันเถอะครับ  ผมจะได้พาน้องมาเรียนด้วย     ไม่อย่างนั้นน้องผมกินขนมจนเงินแม่ไม่เหลือเลย   เวลาที่ครูมาอย่างน้อยน้องผมก็กินนมของครู     ลดค่าขนมน้องได้มากครับ.....



               
               พอถึงวันพฤหัส แม่บ้านจะโทรมาหาครูแต่เช้า วันนี้เข้าไหม   มากี่คน  มากี่โมง  แม่บ้านคอยเตรียมอาหารส้มตำ  กับข้าวไว้ให้ครูกับผู้ปกครองเด็กสลับกัน  กลายเป็นคนในครอบครัวของอิตาเลี่ยนไทยไปแล้ว  เพราะบริษัทนี้ทั้งหมดคือคนไทย    เด็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึง  สามขวบ  ส่วนมากรอครูพร้อมกับโรงเรียนเด็กก่อสร้างเคลื่อนที่   เพราะรถครูมีของเล่นเยอะมาก     ถึงของเล่นจะเป็นของเก่า  แต่เด็กทุกคนได้มีโอกาสจับ ถือ เล่น  ได้ปาบ้าง  โยนบ้าง   ได้ออกกำลังกาย ตอนที่ครูมากัน   เพราะไม่อย่างนั้นเด็กแต่ละคนก็หมกตัวกันอยู่แต่ในห้อง     เปิดแอร์กันทั้งวัน    พอครูมาเท่านั้น    เด็กทั้งหลายก็จะจูงกันมารวมกันที่สนาม    สำหรับให้รถจอดได้
   เปิดรถเห็นหนังสือนิทาน  เด็กทุกคนชอบมาก   แค่ดูรูป ร้องไห้ให้แม่ขอยืมเก็บเอาไว้ในวันที่ครูไม่มา     

                สำหรับพื้นที่น้องใหม่ คือ เดอะพลัม   เวลาเดินทางข้ามสะพานข้ามไปทางรามอินทรา   มีแจ้งวัฒนะ เลี้ยวเข้าซอยไป    มีทางเข้าถึงบ้านพักกรรมกรก่อสร้าง    มีเด็กจำนวนมากที่สุดตอนนี้ กว่า 50 กว่าคนทั้งแม่และเด็ก    มีโรงเรือนที่ทางพ่อบ้านทำไว้ให้    เป็นหลังคาสูง    เอารถโรงเรียนเด็กก่อสร้างไปจอดเทียบตรงหน้าได้เลย      แล้วทั้งแม่และเด็กจะยกโต๊ะยาว  มาตั้งเรียงกัน  กว่า หกแถว    เมื่อสอนอะไรไปแม่จะเป็นคนเรียนแล้วเด็กก็จะเรียนจากแม่อีกครั้ง 

                สำหรับพื้นที่นี้    เมื่อเด็กมองเห็นรถโรงเรียนเด็กก่อสร้างเคลื่อนที่เลี้ยวเข้ามา   เด็กจะวิ่งตามรถ  ล้อมรถกันเลย  จนครูและอาสาสมัครต้องตระโกนว่าให้ถอยออกไป     เด็กน้อยทั้งหลาย  ก็จะตระโกนบอกเพื่อน เพื่อน หรือครูว่า     โรงเรียนมาแล้ว     โรงเรียนมาแล้ว       โรงเรียนมาแล้ว     โรงเรียนมาแล้ว      ทั้งเพื่อนและแม่ก็จะรีบกันออกจากห้องห้องพักมารอกันที่โรงเรือน   


                สำหรับเด็กวัยรุ่นทั้งหลายที่ไม่ได้ไปทำงาน     ก็จะออกมานั่งตามขั้นบันได   ดูครูสอนหรืออาสาสมัครที่ลงมาทำกิจกรรม      มีแผ่นใบอักษรที่เกี่ยวกับพยัญชนะไทยกับภาษากัมพูชาเทียบกัน   อาสาสมัครต้องการเอามาให้เด็กเรียน  แต่สุดท้าย  กลายเป็นเด็กวัยรุ่นกับแม่เด็ก  ขอไปถ่ายเอกสารแจกจ่ายกันเอง    เพราะทุกคนอยากอ่าน อยากเขียนได้   กลายเป็นสิ่งที่เรียกร้องว่า  ควรที่จะสอนอ่านด้วย     ครูซิ้มจึงจัดให้อาสาสมัครช่วยสอนแม่เด็ก

                สำหรับเด็กกลุ่มที่เรียนไม่เลิกคือกลุ่มเด็กโตกว่า สิบคน   อยากทั้งอ่านและเขียน  ยิ่งสำคัญคืออยากอ่านได้      เขามีเหตุผลว่า  เวลาที่ออกจากนอกบ้านพักกรรมกรก่อสร้างจะได้อ่านผสมคำถูก    จะได้จำทางได้    อยู่ในเมืองไทยแบบไม่ต้องกลัว

                โรงเรียนมาแล้ว    โรงเรียนมาแล้ว     เด็กๆ  ได้เห็นโรงเรียนของครูเป็นสิ่งที่มีค่า  เป็นสิ่งที่ต้องรอคอย  และบอกว่าอยากให้มาทุกวัน     สิ่งเหล่านี้เสริมกำลังใจให้ครูที่ทำงานทั้งครูซิ้ม   และครูเอก    พร้อมด้วยน้องเจมส์   น้องจอม  ทั้งสองนักศึกษาฝึกงาน   มีพลังเป็นอย่างมากในการหากิจกรรมมาให้เด็กๆ 

                ในปี 2561    สองบ้านพักกรรมกรก่อสร้างจะ หมดการก่อสร้าง จำเป็นต้องย้ายไปที่อื่น   ทางโรงเรียนเด็กก่อสร้างเคลื่อนที่กำลังสำรวจพื้นที่เพิ่มเติมในการทำงาน      โรงเรียนของพวกเรากำลังจะนำความรู้ไปหาเด็กๆ  พร้อมกิจกรรมที่หลากหลายอีก  หลายพื้นที่ด้วยกันนะ